วันที่ 18 พฤษภาคม 2024

กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุขพร้อมแล้วเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ

People Unity News : กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุข พร้อมแล้ว เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ ย้ำ มาตรการรัดกุม ไม่เสี่ยงโควิด-19 ระบาดระลอก 2

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.63 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV)  ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว คาดว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ โดยมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม มีข้อปฏิบัติก่อนการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง, ทำประกันสุขภาพประกันโควิด-19 ตามข้อกำหนดของรัฐบาล , แจ้งข้อมูลกับบริษัทผู้ประสานงานก่อนการเดินทาง ทั้งโปรแกรมการเดินทางและกำหนดการที่อยู่ในประเทศไทย ผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ ตั๋วเครื่องบินทั้งมาและกลับ ลงนามในหนังสือยินยอมยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลไทยกำหนด ฯลฯ โดยเมื่อเดินทางถึงไทยแล้ว จะต้องมีการกักตัว 14 วัน

“ส่วนที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิดจะให้นักท่องเที่ยวกักตัว 7 วันนั้น ขณะนี้ยังไม่เริ่ม โดยจะเริ่มจากการกักตัว 14 วันก่อน แล้วค่อยพิจารณาคลายมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเข้าการหารือในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อีกครั้งในวันที่ 28 ก.ย.นี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการเดินทางนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดเล็ก หรือ เครื่องบินส่วนตัว ทุกเที่ยวบินจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศปก.กต. หรือ ศปก.ศบค. ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประมาณการรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1,200 คนต่อเดือน รายได้อยู่ที่ 1,030,732,800 บาท และคาดว่า 1 ปีจะมีนักท่องเที่ยว 14,400 คน โดยประมาณการรายได้ 12,368,793,600 บาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย ว่าไม่เสี่ยงต่อการระบาดระลอก 2 ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันมากกว่า 100 วัน ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆของโลก นอกจากนี้ ชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความประสงค์ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว และใช้ชีวิตพร้อมครอบครัว แบบพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศต่างๆทั่วโลก ดังนั้น ไทยจึงจะใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากได้ผลกระทบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

Advertising  

พล.อ.ประยุทธ์​ ชมพรรณไม้เมืองหนาว จ.ระยอง ยันเดินหน้าทุกโครงการเพื่ออนาคต

People Unity News : 9 สิงหาคม 2566 นายกฯ ​ยิ้ม หลังชมพรรณไม้เมืองหนาว จ.ระยอง ยันเดินหน้าทุกโครงการเพื่ออนาคต ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง บอก​ไม่ขอออกความเห็นการเมือง​ พ้อเป็นคนไม่สำคัญ​ ไม่ทราบเพื่อไทยประกาศสลายขั้ว ตั้งรัฐบาลพิเศษ

พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ เดินทางมายังโครงการนำพลังงานความเย็นเหลือใช้จากการเปลี่ยนสถานะของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืชเมืองหนาว ต่อยอดด้านการเกษตรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ซึ่งจุดนี้มีนายสาธิต​ ปิตุเตชะ​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข​ ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ​ร่วมคณะด้วย

ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ เดินทางมาถึง ได้ทักทายสื่อมวลชน โดยระบุว่า​มีความสุขจริงๆ เย็นดีเหลือเกิน​ มิน่าไม่เห็นเลยพวกนี้ ซึ่งภายในอาคารมีการควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 15 องศาเซลเซียส​ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้นไปบริเวณห้องรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินการ​ ก่อนจะลงมาร่วมถ่ายรูปกับดอกไม้ภายในอาคาร

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์​ ได้ให้​สัมภาษณ์​ถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการในครั้งนี้ว่า ตนได้รับรายงานมาโดยตลอด ซึ่งทั้งหมดเป็นความร่วมมือร่วมใจของเราที่ทำกันมาหลายปีด้วยกันตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาครั้งแรก เพราะเราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้ ซึ่งต้องส่งเสริมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้มีความพร้อม เลยต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางเรือ​ ทางอากาศ ให้พร้อม เพราะจะเป็นแรงจูงใจให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน จากการดำเนินการมีความก้าวหน้าไปมาก​ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องพัฒนาและเข้าใจร่วมกัน และตนไม่อะไรกับใครเลย เพียงแต่ขอความเข้าใจว่าจะต้องเดินหน้าประเทศกันไปอย่างไร​ เพื่อเดินหน้าสู่อนาคต​

“ตนถึงบอกว่าวันนี้ต้องมีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อดีตไม่ดีก็อย่าทำ อะไรที่ดีทำซะ ทำต่อเนื่อง ทำต่อไป ปัจจุบันคือทำให้คนรุ่นหลังเพื่ออนาคต ซึ่งใครมีหน้าที่ตรงนี้ก็ต้องมองทั้ง 3 อย่าง เราเลือกที่รัก​มักที่ชัง​ใครไม่ได้ เพราะคนไทยทั้งหมด 70 ล้านคน เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้เขาทั้งหมด ไม่ว่าจะมากจะน้อยก็แล้วแต่ศักยภาพที่เรามีอยู่​ พร้อมขอสื่อมวลชนอย่าถามเลยเรื่องเก่าๆ​ เรื่องในอดีต​ ตนยังไม่ตอบ วันนี้พูดถึงอนาคตแล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อสื่อมวลชนถามว่าแล้วปัจจุบันเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์​ ถามกลับสื่อมวลชนว่า “ปัจจุบันคืออะไร การเมือง”

เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้แต่ละกระทรวงเตรียมเอกสารส่งต่อให้รัฐบาลใหม่​ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า “ก็ใช่​ ต้องส่งเขาไง นี่แหละคือคำว่าส่งต่อ”

ทั้งนี้ หากโครงการอะไรจะเดินได้ การเมืองจะต้องนิ่งด้วยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวพร้อมชี้นิ้วมายังสื่อมวลชน “บอกเขาสิ บอกการเมืองเขา ตนไม่ใช่ตอนนี้”

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยประกาศชูข้อเสนอตั้งรัฐบาลพิเศษสลายขั้วการเมือง เพื่อแก้วิกฤติการเมืองกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ถามกลับสื่อว่า “มีหรือ มีที่ไหน​ ไม่รู้สิ ก็แล้วแต่​ นึกถึงประเทศชาติ​ ประชาชน​ก็แล้วกัน​ จะทำอะไรก็ทำได้ทั้งหมดแหละ”

พร้อมย้ำว่า ตนไม่มีความเห็นไง ทำไมต้องมีความเห็นด้วยจ๊ะ สื่อมวลชนจึงกล่าวว่าเพราะนายกฯ เป็นคนสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์​ ชี้นิ้วเข้าหาตัวเอง พร้อมระบุว่า “อย่าคิด ฉันเป็นคนไม่สำคัญ ให้ไปฟังเพลงดูสิ เพลงคนไม่สำคัญ​“ ก่อนเดินออกจากวงสัมภาษณ์

ผู้สื่อข่าวยังถามว่าตกลง พล.อ.ประยุทธ์ สำคัญหรือไม่สำคัญ นายกรัฐมนตรีได้กล่าว​ระหว่างเดินว่า​ “ถามอยู่ได้​ เดี๋ยวก็พลาดจนได้แหละ”

ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางกลับ ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่าแต่แฟนคลับยังเห็นว่านายกฯ เป็นคนสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ เอามือป้องปาก และพูดว่า “เหรอ ทีตอนนี้เห็นว่าสำคัญขึ้นมาเชียวล่ะ” จากนั้นได้ก้าวขึ้นไปนั่งบนรถ และกล่าวอีกว่า “วันนี้มาทั้งวันไม่เหนื่อย แต่เหนื่อยกับคำถามสื่อที่ถามกันนี่แหละ” จากนั้นได้ยิ้มอย่างอารมณ์ดี และส่งสัญลักษณ์ I love you และ Mini Heart ก่อนเดินทางกลับ

Advertisement

บอร์ด กพช.เห็นชอบอัตราส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.005 บาท/ลิตร 1 ปี 0.05 บาท/ลิตร 2 ปี ลดภาระประชาชน

People Unity News : บอร์ด กพช. เห็นชอบกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานฯ ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี บรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วันนี้ (5 พ.ย.64) เวลา 14.00 น. ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วย ซึ่ง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุม  ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลวางนโยบายอย่างเป็นขั้นตอนเกี่ยวกับมิติการใช้พลังงานสะอาดและการลดก๊าซเรือนกระจกที่ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในเวทีโลกในการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ที่สก็อตแลนที่ผ่านมา ร่วมกับนานาขาติ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก  ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้เตรียมพร้อมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศโดยแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย และให้สอดคล้องกับนโยบายการใช้พลังงานสะอาดตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของโลก ขณะเดียวกัน การลงทุนด้านพลังงานต่างๆต้องมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่มีการผูกขาด สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังด้วย

โอกาสนี้  นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบกับการกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนซ้า และน้ำมันเตาในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวล 3 ปี   เพราะเป็นความจำเป็นในการลดภาระและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้  นายกรัฐมนตรียังขอให้ กกพ. ให้เร่งดำเนินการเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้เกิดผลโดยเร็ว เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าจากขยะถือเป็นพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดที่จะนำไปสู่การลดโลกร้อน และยังสามารถแก้ปัญหาบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยต้องคำนึงไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศด้วย พร้อมให้กระทรวงมหาดไทยและกกพ. ได้จัดตั้งกลไกดำเนินงานร่วมกันในการพิจารณากลั่นกรองโครงการโรงไฟฟ้าขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการกำหนด TOR ให้มีความชัดเจนมีความโปร่งใสเพื่อไม่เกิดข้อขัดแข้งตามมาในอนาคต

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญๆ  ดังนี้

1 ) ปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตา ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งยังเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 ปีละ 4,000 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนและกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท

2) ทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Price Review) จากสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท PETRONAS LNG LTD.,  จากสถานการณ์ตลาด LNG ในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงื่อนไขสัญญาระหว่าง บริษัท ปตท. และ PETRONAS นั้นก็ให้คู่สัญญาเปิดเจรจา Price Review ได้ในระหว่างปีที่ 5 ของสัญญา ปตท. จึงขอเจรจาในปี 2564 เพื่อปรับลดราคา LNG โดยได้ข้อสรุปผลการเจรจา LNG Price Review สามารถปรับลดสูตรราคา LNG SPA ลงเฉลี่ย -7% ซึ่งสามารถลดต้นทุนการจัดหา LNG ลงประมาณ 900 – 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือรวมประมาณ 4,500 – 5,000 ล้านบาทในปี 2565 – 2569 หรือลดต้นทุนค่า Ft ประมาณ 0.42 สตางค์ต่อหน่วย และ กพช.มอบหมายให้บริษัท ปตท.ฯ เสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาต่อไป

3) เห็นชอบบรรจุโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ.ระยอง ซึ่งมีกำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 10.8 ล้านตัน ต่อปี (ขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี) ไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการฯ ตามแผนดำเนินงานของ EEC และสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

4) เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าและการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ดังนี้ โครงการน้ำงึม 3 ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.8934 บาทต่อหน่วย โครงการปากแบง ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.7935 บาทต่อหน่วย โครงการปากลาย ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.9426 บาทต่อหน่วย โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดสัญญาและมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง  และโครงการปากลาย ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป. ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำจาก สปป. ลาว นั้น สอดคล้องตามกรอบ “แผนพลังงานชาติ” ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และสอดคล้องทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด ลดการปล่อย CO2 อีกด้วย

5) ที่ประชุมเห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 – 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี โดยมอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินการแต่ละโครงการต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

Advertising

นายกฯ ไม่สบายใจตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ ระบุ เป็นนโยบายหลักรัฐบาลต้องถูกยกระดับขึ้น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 ธันวาคม 2566 นายกฯ ไม่สบายใจตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ ระบุ เป็นนโยบายหลักรัฐบาลต้องถูกยกระดับขึ้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปตรวจราชการจังหวัดกาญจนบุรี พบปะพี่น้องประชาชน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ในฐานะอดีตนายก อบจ. กาญจนบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เก่า และมี สส.กาญจนบุรี ให้การต้อนรับ ได้แก่ นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.เขต 1 พรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ แม้นทิม สส.เขต 2 พรรคเพื่อไทย นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สส.เขต 3 พรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.เขต 4 พรรคเพื่อไทย และ นายพนม โพธิ์แก้ว สส. เขต 5 พรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกันยังมีประชาชนถือป้ายต้อนรับนายกรัฐมนตรี และถือป้ายสนับสนุนเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยนายกรัฐมนตรี เดินทักทายประชาชนที่มาให้กำลังใจ และกล่าวว่า ยินดีที่ได้กลับมาจังหวัดกาญจนบุรีอีกครั้ง หลังจากการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาประมาณ 3 เดือน พบว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาเยอะ แต่มีรัฐมนตรีและทีมงานที่พร้อมจะรับใช้ประชาชนอย่างเต็มที่ เสียงสะท้อน เสียงเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนที่มาที่นี่เหมือนกันหมด คือ เรื่องของปากท้อง ปัญหาหนี้สิน ปัญหายาเสพติด พื้นที่ทำกิน ราคาเกษตร การค้าขายระหว่างพรมแดน รัฐบาลนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องของหนี้สิน รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา หนี้นอกระบบต้องหมดไป จะเป็นการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ระหว่างนายอำเภอกับผู้กำกับการตำรวจทุกจังหวัด เมื่อมีเสียงเรียกร้อง หรือมีปัญหากับการถูกเรียกทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม หรือการข่มขู่เจ้าหน้าที่ ทุกคนพร้อมที่จะให้บริการกับประชาชน ดังนั้นอย่ากลัว ให้เดินออกมาพูดคุยกัน รัฐบาลให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ยอมรับการรีดไถที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม

ส่วนเรื่องปัญหายาเสพติด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นปัญหาที่กัดก่อนสังคมไทยมานานมาก เรื่องของวงจรการค้ายาเสพติด ไม่ว่าจะจากชายแดน ได้มีการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงเข้ามาจัดการประสานงานกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ และพื้นที่ โดยจะเร่งรัดตัดวงจรยาเสพติด หากจับได้พิสูจน์ทราบแล้ว จะทำลายทันที เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัยของสังคม

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เรื่องการค้าการลงทุน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาล ยืนยัน ทำงานอย่างเข้มแข็ง ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องประชาชน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเข้มแข็งขึ้น แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ คือ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เชื่อว่า พี่น้องหลายคนเป็นห่วง ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่จะยกระดับค่าแรงขั้นต่ำ โดยจะต้องมีการพูดคุยกันในเวทีที่เหมาะสม เพราะเป็นเรื่องที่เรายอมรับไม่ได้และต้องแก้ไขกันต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่หลังจากการเลือกตั้งยังไม่มีรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรีมาเยี่ยมเยียนที่จังหวัดกาญจนบุรีเลย จึงถือเป็นมิติใหม่หลังจากได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องให้เข้ามาบริหาร และเดินทางมารับฟังพูดคุยปัญหาที่พี่น้องทุกคนมีอยู่วันนี้ พร้อมมีรัฐมนตรีมาหลายคน ฝากการสื่อสารเข้ามาด้วยว่า อยากให้ทำอะไรบ้าง ขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลนี้พร้อมและทำงานอย่างเต็มที่

Advertisement

รัฐบาลดัน “น้ำบูดูสายบุรี” สู่ตลาดโลก

People Unity News : 18 ธันวาคม 2565 รองโฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ หนุน ศอ.บต.จับมือเชฟชุมพล ดัน “น้ำบูดูสายบุรี” สู่ตลาดโลก รังสรรค์เมนูขยายตลาดกลุ่มใหม่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่นชมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดัน soft power อัตลักษณ์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่มรายได้แก่ประชาชน โดยล่าสุด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีโครงการเรือธง “สายบุรี บูดู สู่ตลาดโลก” ซึ่งจะร่วมมือกับเชฟชุมพล แจ้งไพร ในการพัฒนารสชาติน้ำบูดูให้ตรงกับรสนิยมผู้บริโภคต่างชาติมากขึ้น รวมถึงพัฒนาเมนูอาหารที่มีน้ำบูดูเป็นส่วนประกอบให้หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการบริโภค สร้างความสนใจจากผู้บริโภคกลุ่มใหม่

นางสาวรัชดา กล่าวว่า น้ำบูดูเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และมาเลเซีย และเป็นสินค้าเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ ผลิตเป็นอุตสาหกรรมส่งในประเทศและส่งออกไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ตลาดส่งออกสินค้าน้ำบูดูของไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทาง ศอ.บต.จึงกำหนดโครงการเรือธงขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการบริโภคในประเทศและขยายตลาดสู่ตลาดฮาลาลทั่วโลกให้มากยิ่งขึ้น โดยเลือกน้ำบูดู อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่นำร่อง เพราะเป็นแหล่งผลิตใหญ่ เป็นต้นน้ำในการพัฒนาน้ำบูดูให้เป็นที่รู้จัก ที่ผ่านมามีการแปรรูปให้ทานง่ายขึ้น เช่น ทำเป็นผงบรรจุซอง อัดแท่งใส่กล่อง เพื่อยืดอายุการรับประทาน มีหลายระดับความเค็มให้เลือก และพัฒนาให้เป็นส่วนผสมของอาหารอื่นๆ

ภายใต้โครงการ “สายบุรี บูดู สู่ตลาดโลก” ทาง ศอ.บต จะเป็นหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ภาคเอกชน และประชาชน มีเชฟชุมพลฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องคุณภาพ รสชาติ และรังสรรค์เมนูน้ำบูดูเพื่อส่งเสริมการบริโภค เพิ่มเติมจาก ข้าวยำ บูดูทรงเครื่อง ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปเป็นอย่างดี ขณะที่ภาคเอกชนที่จะเข้าร่วม จะต้องมีโรงงานที่กระบวนการผลิตได้มาตรฐานสากลและฮาลาล ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในห่วงโซ่การผลิตด้วย นั่นหมายความว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในละแวกได้เป็นจำนวนมาก ครอบคลุมกลุ่มชาวประมง เกษตรกร และกลุ่มแม่บ้าน ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

“เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในงานแถลงผลงานการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฯ ได้สั่งซื้อน้ำบูดูจากบูธที่มาร่วมแสดงผลงาน ท่านบอกว่าชอบทาน และยังกล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า น้ำบูดู จะเป็นอีกหนึ่งสินค้า soft power ที่จะสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้แก่คนในพื้นที่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดฮาลาล เพราะสินค้าจากประเทศไทยมีชื่อเสียงดีอยู่แล้ว รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและสันติสุขอันยั่งยืนของปลายด้ามขวานไทย” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

“จุรินทร์”โชว์ 13 ความสำเร็จของไทยบนเวทีรมต.ศก.อาเซียน

People Unity News : “จุรินทร์”นำสรุป 13 เรื่อง เป็นผลความสำเร็จประเทศไทย ในฐานะประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน มั่นใจคืบหน้าและสำเร็จทั้งหมด

วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนฐานะประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 เปิดเผยผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 ว่า ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันในฐานะประธานอาเซียน (Priority Economic Deliverables) ในคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยินดีกับความสำเร็จและรับทราบความคืบหน้า Priority Economic Deliverables โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นถือเป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดสุดท้ายที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งตนทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ถัดจากนี้ก็เป็นการประชุม ASEAN SUMMIT ที่ท่านนายกฯ(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ) จะต้องเป็นประธานแล้ว

การประชุมครั้งสุดท้ายสำหรับที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปผลความสำเร็จของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ สำหรับด้านเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามเสาหลัก 1 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการที่จะผลักดันประเด็นสำคัญใน 3 หัวข้อใหญ่ คือ หัวข้อที่ 1 ก็คือในเรื่องของการเตรียมการรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หัวข้อที่ 2 การเชื่อมโยง หัวข้อที่ 3 การเดินหน้าไปด้วยกันไปสู่ความยั่งยืน ซึ่ง 3 หัวข้อนี้เป็นหัวข้อใหญ่และภายใต้ 3 หัวข้อนี้จะแปลงออกไปเป็นประเด็นสำคัญสำคัญทั้งหมด 13 ประเด็นด้วยกัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ซึ่งทั้ง 13 ประเด็นนั้นขอเรียนให้ได้รับทราบว่ามีความคืบหน้าและมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จครบทั้ง 13 ประเด็นภายในสิ้นปีนี้ในขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานที่ประชุมอาเซียน สำหรับปีต่อไปเป็นหน้าที่ของประเทศเวียดนามและต้องรอดูต่อไปว่าเวียดนามจะกำหนดประเด็นในการผลักดันเรื่องอะไรต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับ 13 ประเด็นในรายละเอียดนั้นขออนุญาตเรียนให้ทราบว่าประกอบด้วย
1 .แผนงานด้านดิจิตอลของอาเซียน
2 .แผนงานในการส่งเสริมนวัตกรรมอาเซียน
3 .การเตรียมการสำหรับการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือเรื่องของการใช้แรงงานพัฒนาแรงงานคนเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรการใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต
4.การเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
5 .การเตรียมการที่จะนำ SME ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เช่น การค้าออนไลน์ เป็นต้น
6 .การดำเนินการในเรื่อง ASEAN Single Window การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันที่ต้องมี อำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์ และไม่ซ้ำซ้อนทำให้การส่งออกระหว่างการคล่องตัวยิ่งขึ้น
7.เรื่องการผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วอย่างน้อยสามคู่ คือ ระหว่างไทยฟิลิปปินส์ ระหว่างไทยอินโดนีเซีย และระหว่างไทยกับมาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือของแบงค์ชาติของเรากับธนาคารพาณิชย์ของสามประเทศ
8.ก็คือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบที่เรียกว่า PPP
9 .การร่วมมือกันระหว่างอาเซียนในการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การใช้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว
10 .คือการแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันผลักดันให้ RCEP ซึ่งอาเซียนเป็นศูนย์กลางของ RCEPจบภายในสิ้นปีนี้
11 .ในเรื่องของการผลักดันเครือข่าย IUU ของอาเซียน คือ การทำประมงอาเซียนที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน
12 .เรื่องการส่งเสริมตลาดทุนของอาเซียนในประเทศต่างๆเพื่อเมื่อจะรับบริษัทเข้าไปจดทะเบียนโดยคำนึงถึงเป้าหมายของบริษัทนั้นนั้นที่มุ่งเน้นความยังยืนเช่น สิ่งแวดล้อมเป็นต้น
13 .ประเด็นสุดท้าย คือ การผลักดันให้มีการลงนาม ศูนย์พลังงานอาเซียนระหว่าง มหาวิทยาลัยต่างๆในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพ

ทั้ง 13 ประเด็นใน 13 หัวข้อใหญ่ที่ประเทศไทยได้กำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกันในฐานะประธานอาเซียนนี้ขอเรียนว่าเรามั่นใจว่าสิ้นปีนี้ จะสามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จครบทั้ง 13 หัวข้อ

ส่วนการลงนามวันนี้ (พิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน) เป็นการลงนามในพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งเป็นการปรับปรุงกลไกระงับข้อผิดพลาดที่เราใช้มา 10 กว่าปีมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทเที่ยวนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนกระบวนการต่างๆเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกอาเซียนเช่นการระบุชัดเจน ในเรื่องขั้นตอนระยะเวลาฟ้องร้องว่าใช้ระยะเวลากี่วันการพิจารณาคดีจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงระยะเวลาเท่าไร อย่างไร และมีการเพิ่มกลไกทางเลือกให้คู่พิพาทเลือกได้ เช่น อาจไม่ต้องไปสู่คณะลูกขุนแต่ใช้อนุญาโตตุลาการได้เป็นต้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้พิพาทรวมทั้งประเทศที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องข้อกฎหมายแนวทางการปฏิบัติต่างๆนี่คือพิธีสารที่จะมีการลงนามในเรื่องของกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนหลักใหญ่จะล้อกับหลักการของ WTO ที่ใช้กัน

ก.พาณิชย์-ก.เกษตรฯ ชูวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”

People Unity News : พาณิชย์-เกษตรฯ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนําการผลิต ณ กระทรวงพาณิชย์ (สนามบินนํ้า) โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มจีดีพีประเทศ และเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการ พร้อมร่วมกันสร้าง Single Big Data โดยใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน สร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” สร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับ มุ่งพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรถือเป็นรากฐานของประเทศและมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรอย่างเป็นระบบ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรไทยสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายได้อย่างเหมาะสม มีการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังคำนึงถึงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินนโยบายและมาตรการที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” ควบคู่กับการทำเกษตรสมัยใหม่ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและล้นตลาด นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินนโยบายสนับสนุนในด้านอื่นๆ อาทิ การบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากภัยแล้งและอุทกภัย การส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย เช่น สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรอง GAP การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและบริการที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง เช่น สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรพรีเมี่ยม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผ่านระบบเกษตรแปลงใหญ่ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ในทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาเกษตรกรเป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่มีความเข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน มีศักยภาพในการบริหารจัดการการผลิตอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ผ่านตลาดออนไลน์ ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center หรือ NABC) และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritechand Innovation Center หรือ AIC) เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและพี่น้องเกษตรกรสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตและการตลาด รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม และเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะและเกษตรสมัยใหม่

“ภาคเกษตรของไทยถือเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะสนับสนุนการผลิต ควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งสินค้าเกษตรทั่วไป สินค้าที่ได้มาตรฐาน และสินค้าพรีเมี่ยม ให้ตรงตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม การพัฒนาภาคเกษตรของประเทศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และเกษตรกร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นให้เกิดการปรับตัว เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพต่อไป” นายเฉลิมชัย กล่าว

Advertising

ประยุทธ์ พอใจส่งออกยางพารา ครองแชมป์โลก

People Unity News : 13 สิงหาคม 65 นายกฯ พอใจผลงานส่งออกยางพารา ครองแชมป์โลก ก.เกษตร ออก 6 มาตรการเสริม เจาะตลาดใหม่ ดันราคายางเพิ่ม

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้แนวทาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของรัฐบาล ทำให้ยอดการส่งออกยางพาราครึ่งปีแรกปี 2565 ของไทย ครองตำแหน่งผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานว่า ช่วง ม.ค.-มิ.ย. ปีนี้ มีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยาง 2.19 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 แสนล้านบาท จีนนำเข้ายางไทยเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 49% ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 7% ญี่ปุ่น 6% เกาหลีใต้ 4%

สำหรับแผนการขยายตลาดสู่ตลาดใหม่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ทำการระดมสมองจากทูตเกษตรทุกภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลและออกมาตรการเชิงรุก ซึ่งได้ข้อสรุป 6 มาตรการ ดังนี้

1.มาตรการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก เช่น การผลิตสื่อดิจิทัลเผยแพร่ในตลาดต่างประเทศ

2.มาตรการการตลาดเชิงรุก เน้นความต้องการผลิตภัณฑ์ยางรายตัวสินค้าและรายประเทศคู่ค้า (product based &country based) เช่น ความต้องการยางจักรยานและยางรถบัสเพิ่มขึ้นในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและผลิตภัณฑ์ยางที่อียูแบนสินค้าจากรัสเซีย หรือผลิตภัณฑ์ยางที่รัสเซียระงับการนำเข้าจากอียู

3.มาตรการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน สวนยางยั่งยืนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อตอบโจทย์ ประเด็นสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นเรื่องที่หลายประเทศในยุโรปให้ความสำคัญ

4.มาตรการระยะสั้นรายไตรมาส เพื่อการบริหารจัดการตามปฏิทินฤดูการผลิตประจำปี โดยมอบ กยท. ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรหารือกันเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกัน

5.มาตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ยางมูลค่าสูง เน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เช่น วัสดุภัณฑ์ก่อสร้างบ้านและอาคาร ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง สถาบันยางและผู้ประกอบการ ผ่านการทำงานร่วมระหว่าง กยท. และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์AIC) นำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้จริง

6.มาตรการเชิงกลไกการตลาด เช่น การบริหารซัพพลายและดีมานด์ กลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริง และระบบการประมูลยางออนไลน์เป็นระบบที่เปิดกว้างเพิ่มผู้ซื้อทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการกำหนดราคาโดยผู้ซื้อน้อยราย หรือการฮั้วหรือการผูกขาด

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ในแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคายาง และพอใจผลงานกระทรวงเกษตรฯ ที่สามารถผลักดันให้ประเทศไทยครองแชมป์ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะมาสู่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ นายกฯได้เน้นย้ำเรื่องการใช้นวัตกรรมพัฒนาสินค้ายางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า และเจาะตลาดประเทศใหม่ๆ

Advertisement

Verified by ExactMetrics