วันที่ 5 พฤษภาคม 2024

ครม.เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน

People Unity : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (30 กรกฎาคม 2562) มีมติรับทราบสถานการณ์และแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้ ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิถุนายน 2562 ถึงปัจจุบัน) ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการและเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลร่วมการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ และดำเนินการแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วง ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร สรุปได้ดังนี้

1.สถานการณ์และแนวโน้ม

สภาพฝน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนปี 2562 จะมีปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศน้อยกว่าปี 2561 และน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5-10 % (ปีที่แล้วต่ำกว่าค่าปกติ 3%) โดยช่วงต้นเดือนกรกฎาคม บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนลดลง และมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศ 10,729 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุ (น้อยกว่าปริมาณน้ำปี 2561 อยู่ 11,484 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุ รวม 19 แห่ง ปริมาตรระหว่างร้อยละ 30 – 50 รวม 10 แห่ง และปริมาตรมากกว่าร้อยละ 50 รวม 6 แห่ง ซึ่งถือว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อย

สถานการณ์การเพาะปลูกข้าวปี 2562/63 จากข้อมูลการสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร  ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 จำนวน 47.88 ล้านไร่ ยังไม่ปลูกอีก 12.45 ล้านไร่ ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบ พบว่า ฝนทิ้งช่วงจะส่งผลต่อปริมาณ คุณภาพ ผลผลิตของเกษตรกรจะลดลงหรือเสียหาย และผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตรกร ปัจจุบันยังไม่มีรายงานความเสียหายและไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯตามระเบียบกระทรวงการคลัง

2.แนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการทันที และเตรียมการแก้ไขในระยะยาว โดยบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ทันที และมีแผนปฏิบัติที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป

การเผชิญเหตุระยะเร่งด่วน

1.ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับกองทัพ โดยกองทัพสนับสนุนอากาศยานเพิ่ม จำนวน 7 ลำ จากกองทัพบก 1 ลำ กองทัพอากาศ 5 ลำ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 ลำ พร้อมกำลังพล 88 นาย

2.สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที และสร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด ดำเนินการ ดังนี้

2.1 ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง รวมทั้งจัดทำชุดข้อมูลแนวโน้ม/สถานการณ์น้ำในอนาคต วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น วิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในไร่นา การสะสมน้ำต้นทุน และความชื้นในดิน เป็นต้น เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร และผู้ใช้น้ำได้ตระหนักและเข้าใจสถานการณ์ความเสี่ยง และให้ความร่วมมือในระดับที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล แนวโน้ม เรียนรู้ที่จะปรับตัวและบรรเทาผลกระทบให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น วิธีการดูแลรักษาพืชในภาวะแห้งแล้งฝนทิ้งช่วง ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยทดแทนการเพาะปลูกข้าวในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2562

2.2 การจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องจักรเครื่องมือสนับสนุนอื่นๆทั้งประเทศ จำนวน 4,850 หน่วย เพื่อสนับสนุนและพร้อมให้การช่วยเหลือทันท่วงที กระจายอยู่ตามโครงการชลประทานทุกจังหวัด และเตรียมพร้อมแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ใกล้เคียงระบบชลประทาน สำหรับการแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

2.3 แจ้งเตือนให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มทำการปลูกข้าว ให้ชะลอการปลูกไปจนกว่าจะสิ้นสุดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือจนกว่าปริมาณและการกระจายของฝนมีความสม่ำเสมอ และหากมีภาวะการขาดแคลนน้ำให้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด รวมทั้ง สร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้มีการใช้น้ำประหยัดอย่างต่อเนื่อง

2.4 วางแผนการเพาะปลูกพืชและปฏิทินการเพาะปลูกเป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะในฤดูแล้งปี 2562/63 ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ

2.5 จัดตั้ง War room ทุกจังหวัด เร่งสำรวจพื้นที่ประสบฝนทิ้งช่วงทุกจังหวัดพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบฝนทิ้งช่วง และแนะนำให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือปรับปรุงทะเบียนก่อนเกิดความเสียหาย

3.ปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ และเพิ่มความเข้มงวดติดตาม กำกับ การจัดสรรน้ำในระดับพื้นที่เพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเพียงพอถึงฤดูแล้งปี 2562/63 ดำเนินการ ดังนี้

3.1 เก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด ไม่ระบายน้ำจากเขื่อนจนกว่าปริมาณน้ำจะมากกว่าเส้นควบคุมตอนล่าง และบริหารปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงสู่ระบบคลองชลประทาน แทนการบริหารน้ำที่ระบายจากเขื่อน

3.2 พื้นที่ดอนที่ยังไม่ได้ปลูก ให้ประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ หรือสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของผลผลิต สำหรับพื้นที่เพาะปลูกแล้ว จะดำเนินมาตรการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่

3.3 จัดแผนหมุนเวียน/จัดรอบเวรการใช้น้ำในระบบลุ่มน้ำ และบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรอย่างเข้มงวด และสอดคล้องกับสถานการณ์

3.4 พิจารณาการใช้น้ำจากแก้มลิงธรรมชาติ และเสริมแหล่งน้ำด้วยบ่อน้ำบาดาล ในพื้นที่ที่เป็นที่ดอน

3.5 การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เมื่อประเมินน้ำฝนที่ตกลงมาแล้ว พบว่ามีความจำเป็นต้องปรับลดแผนการระบายน้ำ เพื่อประหยัดการใช้น้ำตลอดฤดูฝน และให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ สำหรับการอุปบริโภค บริโภค ในปี 2563 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเป็นไปได้ตามแผนที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้

1) ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ อาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดทำปฏิทินการรับน้ำส่งให้กรมชลประทาน

2) ลำน้ำหรือคลองส่งน้ำที่มีความจำเป็นต้องรับน้ำเข้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำ ให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุด ซึ่งกรมชลประทานจะกำหนดอัตราการรับน้ำที่เหมาะสมให้

3) ขอความร่วมมือ ไม่ให้เกษตรกร ทำการปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดมีความจำเป็นจะต้องสูบน้ำเพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

4) สถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่นสามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ ทั้งนี้ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทาน

5) ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีนและในระบบชลประทาน

6) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คูคลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากทำให้ต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย

การช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้น

1.การบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้เพื่อเสริมสภาพคล่องของเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกรที่ประสบภัยฝนทิ้งช่วง โดยการสนับสนุนเงินทุนแก่สมาชิกสหกรณ์ สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สหกรณ์วงเงิน 1,600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 3 – 5 ปี โดยมีวงเงินกู้ให้สมาชิกรายละไม่เกิน 30,000 – 50,000บาท ผ่านการดำเนินโครงการ 3 โครงการ ได้แก่

1.1 โครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 600 ล้านบาท มี 2 กิจกรรม ได้แก่ ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อพัฒนาอาชีพ และเพื่อจัดหาแหล่งน้ำทำการเกษตร

1.2 โครงการจัดหาแหล่งน้ำให้สมาชิกสหกรณ์ วงเงิน 400 ล้านบาท

1.3  โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ วงเงิน 600 ล้านบาท

2. การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือ ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือภายใน 90 วัน

3.โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 1,260 บาท และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 1,500 บาท

4.เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิถุนายน – สิงหาคม 2562) ตามความต้องการพันธุ์ข้าวของเกษตร โดยต้องคำนึงปริมาณน้ำและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

การดำเนินการในระยะต่อไป

1.ประเมินความเสี่ยงต่อปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคต เพื่อนำไปสู่การบริหารความต้องการน้ำภาคเกษตรและวางแผนการเพาะปลูกพืชที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำ โดยกำหนดปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำ

2.ประเมินความเสี่ยงต่อระดับความมั่นคงด้านอาหาร และผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร การดำรงชีวิต และสภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกร รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง

3.ประเมินความเสี่ยง ต่อการปฏิบัติงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยวิเคราะห์มาตรการ งบประมาณที่จะช่วยเหลือเยียวยา และสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากพบความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิต เกษตรกรเสียโอกาสในการผลิต และกระทบต่อรายได้ในครัวเรือนจนอาจทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถปรับตัวและมีความพร้อมที่จะเผชิญเหตุ และสามารถบริหารความเสี่ยงได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง เช่น มาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน มาตรการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตและการตลาด โดยยึดหลักที่จะไม่สร้างภาระงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีศักยภาพ และความพร้อมที่จะรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วง ในอนาคตได้ดีกว่าปัจจุบัน รวมทั้ง เป็นมาตรการที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบได้ในห้วงเวลาที่เหมาะสมหรือทันต่อสถานการณ์ต่อไป

เศรษฐกิจ : ครม.เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน

People Unity : post 31 กรกฎาคม 2562 เวลา 12.30 น.

ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ 10,000 ล้าน ให้ อบจ. อบต. เทศบาล พัทยา กทม. กู้ทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

People Unity News : ธ.ก.ส. หนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมฟื้นเศรษฐกิจ จัดสินเชื่อวงเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR – 2.25% ต่อปี  ให้ อบจ. อบต. เทศบาล เมืองพัทยาและ กทม. ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาต่างๆ  เพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินทุนหมุนเวียน สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และหนุนแรงงานคืนถิ่นให้มีอาชีพเลี้ยงตนเองได้ สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

27 กันยายน 2564 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มอัตราการเติบโตของ GDP ภายในประเทศที่ลดต่ำลง อันเนื่องจากการลงทุนในภาคเอกชนชะลอตัว  ดังนั้น เพื่อให้องค์กรภาครัฐทั่วประเทศ ซึ่งมีบทบาทในการดูแลประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงลดปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานคืนถิ่น ให้มีอาชีพเลี้ยงตนเองได้และยังเป็นการป้องกันปัญหาทางสังคม ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนาต่างๆ อัตราดอกเบี้ย MLR – ไม่เกิน 2.25% ต่อปี (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ ร้อยละ 4.875 ต่อปี) ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่นๆตามที่ธนาคารกำหนด

สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร โดยนำสินเชื่อดังกล่าวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือค่าลงทุน อาทิ   การสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ โรงสีข้าวชุมชน ตลาดจำหน่ายสินค้า การส่งเสริมพัฒนากลุ่มอาชีพต่างๆ ปรับปรุงพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน การศึกษา อบรม สัมมนา ดูงานหรือฝึกงานในด้านการส่งเสริมอาชีพ หรือเพื่อการศึกษาของบุคคลในครอบครัวของประชาชนในพื้นที่ การสร้างสนามกีฬา สวนสาธารณะ ศูนย์การแพทย์ชุมชน การเสริมสร้างการเข้าถึงระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงความต้องการทางด้านการแพทย์ การจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เป็นต้น

ทั้งนี้ อปท. จะต้องดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนสินเชื่อต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อปท. และมีการตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้คืนแก่ธนาคาร วงเงินกู้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้เงินกู้ โดยวิเคราะห์จากแผนการดำเนินงาน งบการเงิน ระดับขีดความสามารถในการก่อหนี้ของ อปท. แต่ละแห่ง ซึ่งกำหนดจากความสามารถในการจัดเก็บรายได้ และรายได้จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลาง ในส่วนของการชำระคืน กรณีเป็นทุนหมุนเวียนหรือเป็นค่าใช้จ่าย ชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน กรณีพิเศษ ไม่เกิน 18 เดือน กรณีเป็นค่าลงทุน ชำระคืนรายงวด ไม่เกิน 10 ปี (ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายผูกพันของ อปท.) ทั้งนี้ อปท. ที่มีความสนใจและต้องการขอรับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

Advertising

“สมคิด” สั่งรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่อง รักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 62

People unity : “สมคิด” ให้รัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2562

วันนี้ (13 มีนาคม 2562) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดสัมมนาผู้บริหารสูงสุดรัฐวิสาหกิจ หรือ “SOE CEO Forum” ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้บริหารสูงสุด (CEO) ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง เข้าร่วมการสัมมนา SOE CEO Forum ในครั้งนี้ ซึ่ง SOE CEO Forum เป็นการสัมมนาที่ได้จัดให้มีอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารนโยบายต่างๆ รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง CEO ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ระหว่างกัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความสำคัญของรัฐวิสาหกิจในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2558 – 2561 อัตราการเติบโตของ GDP ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมากจนทำให้ปี 2561 ประเทศไทยมี GDP เท่ากับ 4.1% จากที่ในปี 2557 ที่ GDP เติบโตต่ำกว่า 1% จากการลงทุนและการดำเนินโครงการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลของรัฐวิสากิจ

ทั้งนี้ นายสมคิด ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้

1.สานต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนใน EEC และการพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนตามภารกิจ

2.เร่งรัดสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้สามารถสนับสนุนการดำเนินการตามภารกิจ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการสาธารณะแก่ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งลงทุนและพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

3.เร่งการพัฒนาการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากขึ้น และให้มีการใช้ข้อมูลที่มีร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆแก่ประชาชน

4.ร่วมมือกันให้มากขึ้นในการพัฒนาการทำงาน ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน มีการแบ่งปันความรู้และทรัพยากรและสร้างนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ

5.ขอให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพพิจารณาสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถต่อยอดในการพัฒนางานต่างๆของรัฐวิสาหกิจ

ด้าน นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. เปิดเผยว่า ในการสัมมนา SOE CEO Forum ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้ CEO ของรัฐวิสาหกิจรับทราบสถานการณ์ต่างๆในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมต่อความท้าทายปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจเสนอแนะและให้ความเห็นต่อการพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ โดยที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจถือเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการลงทุน การดำเนินนโยบายรัฐบาล และการนำส่งรายได้แผ่นดิน รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 รัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์รวมจำนวน 15 ล้านล้านบาท เติบโต 25% จากปี 2556 และมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 4 แสนล้านบาท เติบโต 21% ทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถนำส่งรายได้แผ่นดินสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23% จากปี 2556 นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจยังเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนภาครัฐ โดยในปี 2561 รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบลงทุน 3.8 แสนล้านบาท เติบโต 70% จากปี 2556 อีกทั้งรัฐวิสาหกิจได้ดำเนินโครงการที่สำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นให้แก่เศรษฐกิจของประเทศด้วย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) การสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ และการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 มีความท้าทายต่อการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ อาทิ เรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง สงครามทางการค้า รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของประชาชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝากให้รัฐวิสาหกิจร่วมมือกันและเตรียมความพร้อมต่อความท้าทายต่างๆ โดยให้ใช้ Technology และ Big Data ให้มากขึ้น เพื่อให้ยังคงเป็นกำลังสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อไปได้ และให้ สคร. สนับสนุนการทำงานของรัฐวิสาหกิจในเชิงรุกอย่างเต็มที่ในฐานะ Active Partner

เศรษฐกิจ : “สมคิด” สั่งรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่อง รักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 62

People unity : post 13 มีนาคม 2562 เวลา 21.40 น.

ชัยวุฒิ เผย Thailand pass พร้อมใช้งาน 100% แล้ว รับนักท่องเที่ยวลงทะเบียนผ่านดิจิทัล

People Unity News : ชัยวุฒิ เผย Thailand pass พร้อมใช้งาน 100% แล้ว รับนักท่องเที่ยวลงทะเบียนผ่านดิจิทัล

18 พฤศจิกายน 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยัน Thailand pass หรือระบบลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อขอรับเอกสารรับรองก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ขณะนี้พร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยระบบดิจิทัล 100% ต้อนรับการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ

เรื่องนี้เป็นไปตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี ต่อการดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศ เพื่อประสิทธิภาพและความชัดเจนของข้อมูล และลดปัญหาการรอคอย ไม่เป็นภาระของนักท่องเที่ยว

ซึ่งวันนี้สามารถเชื่อมโยงระบบต่างๆ โดยไม่ต้องถือกระดาษ เอกสารใดๆมา เพียงแค่ผู้เดินทางกรอกข้อมูลใน Thailand pass ที่ต้นทาง เมื่อมาถึงเมืองไทย เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด หรือให้หมายเลขหนังสือเดินทาง การตรวจสอบก็จะรวดเร็วมากขึ้น มั่นใจว่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยว ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์ในเดือนมีนาคม ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

Advertising

ปตท.คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมประจำปี 2565

People Unity News : 24 มีนาคม 2566 สคร. จัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565“รัฐวิสาหกิจไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน GROW GREEN BALANCE”

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (GROW GREEN BALANCE)” โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในงาน พร้อมทั้งให้เกียรติมอบรางวัลและมอบนโยบายให้แก่รัฐวิสาหกิจ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยการจัดงานในปีนี้มีการมอบรางวัลทั้งสิ้น 11 ประเภทรางวัล

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการ สคร. เปิดเผยว่า สคร. ได้มีการจัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น หรือ SOE Awards อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพและนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งได้รับการตอบรับในการเข้าร่วมงานจากรัฐวิสาหกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีตลอดมา โดยการจัดงานในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (GROW GREEN BALANCE)” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

สำหรับผลรางวัล SOE Award ประจำปี 2566 ทั้ง 11 ประเภทรางวัล มีดังนี้

1.​รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น

​(1) ประเภทเกียรติยศ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

​(2) ประเภทดีเด่น ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และธนาคารอาคารสงเคราะห์

2.รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น

​(1) ประเภทเกียรติยศ ได้แก่ ธนาคารออมสิน

​(2) ประเภทดีเด่น ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารอาคารสงเคราะห์

3.รางวัลการพัฒนาองค์กรดีเด่น ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

4.รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น – ไม่มีผู้ที่ได้รับรางวัล –

5.รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

6.รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน

7.รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น

​​(1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารอาคารสงเคราะห์

​​(2) ประเภทชมเชย ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน

8.รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น แบ่งรางวัลเป็น 2 ด้าน ประกอบด้วย

​8.1 ด้านความคิดสร้างสรรค์

​​(1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ การประปานครหลวง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน

​​(2) ประเภทชมเชย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

​8.2 ด้านนวัตกรรม

​​(1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และธนาคารอาคารสงเคราะห์

​(2) ประเภทชมเชย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และธนาคารออมสิน การยาสูบแห่งประเทศไทย องค์การเภสัชกรรม องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

9.รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น

​(1) ประเภทดีเด่น จำนวน 1 คู่ความร่วมมือ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

​(2) ประเภทเชิดชูเกียรติ จำนวน 1 คู่ความร่วมมือ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

10.รางวัลบริการดีเด่น ได้แก่ ธนาคารออมสิน การประปานครหลวง และธนาคารอาคารสงเคราะห์

11.รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมประจำปี 2565 ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

Advertisement

S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมอง Stable Outlook

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 พฤศจิกายน 2566 S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 2.5 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2567 เนื่องจากการดำเนินมาตรการทางการคลังและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2566 – 2569 ขณะที่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ในช่วงปี 2567 – 2569 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะยังคงเน้นการลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแผนแม่บท โดยคาดว่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private-Partnerships) จะมีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งการลงทุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

2) หนี้ภาครัฐบาลสุทธิ (Net General Government Debt) อยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลตั้งแต่ปี 2567 – 2569 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (Services Exports) เป็นสำคัญ

3) ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ระดับรายได้ต่อหัว (Per Capita Income) ความเข้มแข็งทางการคลัง และเสถียรภาพทางการเมือง

Advertisement

“ศักดิ์สยาม”สั่งขบ.ใช้ AIทำงาน-สั่งศึกษาติดGPSรถยนต์ส่วนบุคคล

People Unity : “ศักดิ์สยาม” ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก สั่งขบ.ใช้ AIทำงาน-สั่งศึกษาติด GPSรถยนต์ส่วนบุคคล

วันที่ 21 ต.ค.2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนางสาวกอบกุล โมทนา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม โดยมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ให้การต้อนรับ ที่กรมการขนส่งทางบก

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้มอบนโยบายการบริหารงาน ให้กับผู้บริหาร ข้าราชการกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยมีนโยบายหลักๆ11 เรื่อง ทั้งนี้ โดยเน้นหนักเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกศึกษารายละเอียดเรื่องของการนำเทคโนโลยี (AI) มีปรับใช้เพื่อความสะดวกและแม่นยำมากขึ้น รวมถึงกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจังหลายเรื่อง ซึ่งทั้งหมดกระทรวงคมนาคมวางเป้าหมายที่จะลดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนลงให้ได้มากที่สุด

“ประเด็นสำคัญที่ต้องการให้เร่งดำเนินการ คือ การติดตั้งระบบ GPS รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์จากโรงงาน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ตั้งแต่ต้นทาง ภาคเอกชนค่ายรถต่าง ๆ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เนื่องจากการควบคุมจีพีเอสรถทุกคันจะมีการเข้าถึงสิทธิ์ข้อมูลต่าง ๆ ในการเดินทางต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้รถ และในอนาคตก็จะมีแหล่งข้อมูลการใช้รถขนาดใหญ่ที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัย โดยมีกรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานที่ monitor ข้อมูลเหล่านี้ ส่วนการปฏิบัติที่จะขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวไปสู่ผู้กระทำนั้น กรมการขนส่งทางบกจะเริ่มทำการศึกษาและคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เพื่อให้ได้ข้อสรุปกับการนำนโยบายเหล่านี้มาใช้” นายศักดิ์ กล่าว

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงการกระทำผิดกฎหมายจราจรแล้ว จะต้องมีการถูกตัดแต้มนั้น กรณีดังกล่าวมอบให้กรมการขนส่งทางบกเก็บฐานข้อมูลในกรณีของผู้ใช้รถที่มีใบอนุญาตจะมีคะแนน 100 คะแนนเต็ม แต่หากมีการกระทำผิดกฎหมายจราจรก็จะมีการทยอยหักแต้มไปเรื่อย ๆ และเมื่อมีการหักจนครบเพดานขั้นต่ำที่วางไว้จะถูกยึดใบอนุญาตถาวร เช่นเดียวกับรถแต่ละคันหากมีการบันทึกข้อมูลการกระทำผิดซ้ำจะถูกจำหน่ายทะเบียนรถคันนั้นออกจากระบบ ซึ่งทั้งหมดกระทรวงคมนาคมจะนำมาเป็นแนวทางดูแลงานด้านความปลอดภัยและเพิ่มวินัยจราจรให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกำกับดูแลด้านกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่จะนำระบบสินบนนำจับมากำกับดูแลงานความปลอดภัยของรถสาธารณะ โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หากพบรถของผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเงื่อนไขความปลอดภัย สามารถแจ้งดำเนินคดี เช่น กรณีที่ผู้ประกอบการทำผิดและต้องเสียเบี้ยปรับ 50,000 บาท อาจจะหักเงินดังกล่าวเป็นสินบนนำจับ 10% มอบให้แก่ผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งเรื่องเหล่านี้ขอให้กรมการขนส่งทางบกไปลองศึกษาข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

ด้าน นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกพร้อมรับมอบนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติโดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลและจัดทำแผนการดำเนินการอย่างรอบด้านและเร่งดำเนินการติดตามประเมินผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีแผนปฏิบัติราชการกรมการขนส่งทางบก ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายรัฐบาล และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม (พ.ศ. 2563-2565) โดยดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด 3S ประกอบด้วย S (Safety & Security) คือ ควบคุม กำกับ ดูแลระบบการขนส่งทางถนนทุกรูปแบบให้มีความปลอดภัยและมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงและปลอดภัย S (Sustainability) คือ ควบคุม กำกับ ดูแลระบบการขนส่งทางถนนทุกรูปแบบให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ทุกกลุ่ม

ไข่ไก่แพงขึ้นอีก 20 สตางค์ แตะ 3.80 บาท/ฟอง ตั้งแต่พรุ่งนี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 เมษายน 2567 เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ โดยเป็นการขยับราคาห่างจากรอบที่แล้วไม่ถึง 2 สัปดาห์ สาเหตุเพราะช่วงนี้อากาศร้อนยิ่งขึ้นอีก ปริมาณไข่ไก่ลดและขนาดฟองเล็กลง ประกอบกับสงครามในต่างประเทศ ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่วอนผู้บริโภคเข้าใจและขออย่าตกใจ ปริมาณไข่ไก่แม้น้อยลง 5-10% แต่ยังเพียงพอบริโภค

เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด ออกประกาศแจ้งสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ปรับราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกรขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์ หรือแผงละ 6 บาท ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (29 เมษายน 2567) เป็นต้นไป ส่งให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับจากฟองละ 3.60 บาท เป็น 3.80 บาทหรือแผงละ 114.00 บาท

การปรับราคาขึ้นครั้งนี้ เป็นการปรับห่างจากครั้งก่อนหน้าเพียง 12 วัน โดยครั้งที่แล้ว ปรับขึ้นจากฟองละ 3.40 บาท เป็น 3.60 บาทหรือแผงละ 108.00 บาท เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567

สำหรับราคาไข่ไก่ตามขนาดของวันนี้ (28 เมษายน 2567) มีดังนี้

ไข่ไก่ เบอร์ 0 ราคา 4.10 บาท/ฟอง ราคา 123.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 1 ราคา 3.90 บาท/ฟอง ราคา 117.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 2 ราคา 3.70 บาท/ฟอง ราคา 111.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 3 ราคา 3.60 บาท/ฟอง ราคา 108.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 4 ราคา 3.50 บาท/ฟอง ราคา 105.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 5 ราคา 3.40 บาท/ฟอง ราคา 102.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 6 ราคา 3.30 บาท/ฟอง ราคา 99.00 บาท/แผง

โดยราคาใหม่ที่ปรับขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์จะเริ่มพรุ่งนี้ (29 เม.ย.)

นายชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่กล่าวว่า ระยะนี้อากาศร้อนยิ่งขึ้น ประกอบกับน้ำน้อยลง สภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้แม่ไก่มีความเครียดจึงออกไข่น้อยลงและขนาดฟองเล็กลง เกษตรกรรายย่อยต้องลงทุนเพิ่ม ด้วยการซื้อน้ำมาให้แม่ไก่กินและใช้น้ำฉีดพ่นละอองบนหลังคาโรงเรือนแบบเปิด เพื่อลดความร้อน ส่วนโรงเรือนปิดแบบอีแวป ต้องเปิดระบบทำความเย็นที่ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลาซึ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ยังประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยต้องนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะสงครามในต่างประเทศ แม้ภาครัฐจะแจ้งว่า ไม่กระทบไทย แต่ขณะนี้ได้รับแจ้งถึงราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มแล้ว

รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่คาดการณ์ว่า ปริมาณไข่ไก่ในตลาดลดลงประมาณ 5-10% แต่ฟาร์มขนาดเล็กหรือฟาร์มที่มีระบบจัดการไม่ดีอาจจะถึง 20% ส่วนฟาร์มที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระจะยิ่งกระทบรุนแรง ขณะนี้ผู้เลี้ยงรายย่อยบางรายเริ่มปลดแม่ไก่ออกเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

Advertisement

รมว.คลังลงพื้นที่เยี่ยมชมงานกลุ่มเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่แบบอินทรีย์ จ.ขอนแก่น

People Unity News : รมว.คลังเยี่ยมชมงานกลุ่มเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่แบบอินทรีย์ จ.ขอนแก่น

25 กันยายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมงาน “กลุ่มเกษตรกรทำนาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านกุดน้ำใส” ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรในการทำนาแปลงใหญ่แบบอินทรีย์ โดยได้มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) แบบปลอดภัย ได้มาตรฐาน Good Agricultural Practices (GAP) และแบบดั้งเดิม รวมถึงมีการแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อส่งจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีการเพาะเมล็ดพันธุ์  เพื่อส่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและให้เกษตรกรในตำบลกุดน้ำใส อีกทั้งมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต อาทิ การตรวจวิเคราะห์ดิน เครื่องหยอดเมล็ด การใช้โดรน การใช้เครื่องอบเครื่องเป่าในการบรรจุสินค้า โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 133 ราย พื้นที่การผลิตจำนวน 3,500 ไร่ สร้างผลผลิตได้กว่า 1,600 ตันต่อปี ซึ่ง ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนเงินทุนจากควบคู่กับให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการของกลุ่มฯ โดยมี นายสุรชัย รัศมี และ นายเสกสรรค์  จันทร์ขวาง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายฉัตรนพวัฒน์ วีระศักดิ์ ประธานกลุ่มฯ และผู้บริหารในพื้นที่ให้การต้อนรับ

Advertising

 

BOI เผยลงทุนไตรมาสแรกปี 64 กว่า 1.2 แสนล้านบาท “การแพทย์ – อิเล็กทรอนิกส์” มาแรง

People Unity News : บีโอไอเผยภาวะการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ยอดขอรับส่งเสริมรวมกว่า  1.2 แสนล้านบาท เติบโตจากไตรมาสแรกปีก่อนมากถึงร้อยละ 80 พบกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์เติบโตท่ามกลางสถานการณ์โควิด ขณะที่ EEC ยังคงเนื้อหอมเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของนักลงทุน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า การลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ปี 2564 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 401 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 123,360 ล้านบาท มีอัตราเติบโตทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยจำนวนโครงการเติบโตร้อยละ 14 และมูลค่าเติบโตร้อยละ 80

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 74,830ล้านบาท โดย 2 อันดับแรกที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่า 18,430 ล้านบาท เติบโตขึ้นมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 17,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าในหมวดการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve ขยายตัวต่อเนื่องจากผลของ Work From Home ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานในยุคเชื้อโควิดระบาด และการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 191 โครงการ มูลค่าลงทุน 61,979 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 143 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอันดับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดการลงทุนใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การลงทุนของเกาหลีใต้ปรับสูงขึ้นในไตรมาสนี้เนื่องจากมีการร่วมทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์

สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า 64,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น จังหวัดระยอง มูลค่าลงทุน 29,430 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี 24,970 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 10,010 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 5,630 ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 16 โครงการ เงินลงทุน 2,470 ล้านบาท และมาตรการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 300 ล้านบาท

Advertising

Verified by ExactMetrics