วันที่ 19 มีนาคม 2024

เชิญชวนภาครัฐ เอกชน ประดับธงตราสัญลักษณ์ ตลอดปี 2567

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 ธันวาคม 2566 ทำเนียบ – คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” เชิญชวนภาครัฐ เอกชน ประดับธงตราสัญลักษณ์ ตลอดปี 2567

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ที่ประชุมรายงานแนวทางการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนให้ทราบถึงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีชื่อพระราชพิธีภาษาไทยว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” ส่วนภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อ “The Celebration on the Auspicious of His Majesty the King’s 6th Cycle Birthday Anniversary 28th July 2024” และชื่อการจัดงานว่า “การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” กำหนดขอบเขตการจัดงานระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2567 รวมถึงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยดำเนินการจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องราชสักการะ รวมทั้งประดับธงชาติไทย ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส “พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” ตราสัญลักษณ์ฯ และประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน ตามความเหมาะสม โดยดำเนินการในระยะเวลาขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ตลอดปี 2567

“นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้เตรียมการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางการสื่อสารให้ครอบคลุม รวมถึงการผลิตและเผยแพร่สารคดี ข้อมูล ภาพประกอบ และกิจกรรมต่างๆ ของ “พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” โดยให้หน่วยงานภาครัฐนำเสนอแผนการจัดกิจกรรมมายังคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ เพื่อให้กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ รวบรวมและกำหนดแผนการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถสื่อสารไปยังประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีร่วมกันทั้งประเทศ” นางพวงเพ็ชร กล่าว

สำหรับส่วนราชการ องค์กรเอกชน หรือหน่วยงานใดมีความประสงค์ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ เพื่อประดิษฐานในสิ่งของใด ๆ ก็ตาม ให้แจ้งขออนุญาตไปที่ คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สอบถาม โทร. 0 2283 4789-91, 0 2283 4775, 0 2283 4787, 0 2283 4780 โทรสาร 0 2283 4809–10 หรือสามารถดาวน์โหลดรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมแบบฟอร์มได้จาก QR Code ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

Advertisement

รัฐบาลเชิญชวนเที่ยวงาน Silk Festival 2023

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 พฤศจิกายน 2566 ทำเนียบ – รัฐบาล เชิญชวนเที่ยวงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนฯ ชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย ขอเชิญประชาชนร่วมงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Silk Success Sustainability ร่วมชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และนิทรรศการผลสำเร็จจากโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ การแสดงแบบภูมิปัญญาผ้าไทยร่วมสมัย (Sustainable Fashion) จากไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 3 ธ.ค 66 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี

นายคารม กล่าวว่า งาน Silk Festival 2023 เป็นงานที่จัดแสดงการรังสรรค์ผลงานสุดประณีตสะท้อนศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นไทยไว้อย่างสมบูรณ์นำไปสู่ Soft Power ด้านผ้าไทยอย่างแท้จริง มีบูทผู้ประกอบการ 200 กลุ่ม โดย 170 กลุ่มเป็นผู้ได้รับการชนะเลิศประกวดผ้าพระราชทาน กลุ่ม Young OTOP และ Premium OTOP ซึ่งในแต่ละบูทจะมี QR Code และมี E-catalog E-Book Online ซึ่งผู้ซื้อสามารถเลือกและสั่งจองผ่านออนไลน์ได้

“ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับสุดยอดผลงานภาคที่ได้รับการพัฒนาจากการน้อมนำพระดำริ นอกจากนี้ ในงานจะมีการ workshop ทุกวันวันละ 3-4 กิจกรรม ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการและเลือกซื้อผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ชั้นสูง และอาหารจากร้านดังทั่วประเทศ” นายคารม กล่าว

Advertisement

รฟท. จัดเดินขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำ วันปิยมหาราช ทริปถัดไปวันที่ 5 ธันวาคม 2566

People Unity News : 23 ตุลาคม 2566 วันนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเดินขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำ เนื่องในวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 2566 เส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพ – พระนครศรีอยุธยา

การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเดินขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำ เส้นทาง กรุงเทพ – อยุธยา เนื่องในวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 2566 เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกิจการรถไฟ เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทย โดยมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำ เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงานการรถไฟฯ นักท่องเที่ยว เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การรถไฟฯ จึงได้จัดกิจกรรม จัดเดินขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำ เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่มีต่อปวงชนชาวไทย

ทั้งนี้ การรถไฟฯ นำหัวรถจักรไอน้ำแปซิฟิก หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี นำมาจัดเดินขบวนรถนำเที่ยวพิเศษใน 6 โอกาสพิเศษและวันสำคัญของทุกปี ซึ่งประกอบด้วย

-วันที่ 5 ธันวาคม วันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ

-วันที่ 26 มีนาคม วันสถาปนากิจการรถไฟ เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ

-วันที่ 3 มิถุนายน วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เส้นทางกรุเทพ – นครปฐม – กรุงเทพ

-วันที่ 28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ

-วันที่ 12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ

-วันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ

สำหรับ ทริปถัดไปได้ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2566 เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา โดยมีอัตราค่าโดยสารไป-กลับ (รถนั่งชั้น 3) ในราคา 329 บาท และตู้โดยสารปรับอากาศ (รถโอทอป) ราคา 799 บาท/คน พร้อมบริการอาหารว่าง และเครื่องดื่มบนรถไฟทั้งเที่ยวไป-กลับ ทั้งนี้ จะเริ่มเปิดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าสูงสุด 30 วัน ด้วยระบบ D-Ticket หรือที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ

Advertisement

นายกฯ นำ ครม. วางพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

People Unity News : 23 ตุลาคม 2566 ลานพระราชวังดุสิต – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนนาคม ร่วมพิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ ลานพระราชวังดุสิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามีหน่วยงานราชการ ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา ภาคเอกชน ประชาชนทุกหมู่เหล่า ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นตัวแทนประธานรัฐสภา เดินทางมาวางพวงมาลาและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Advertisement

ร่วมรำลึก วันนวมินทรมหาราช ชวนชมนิทรรศการ “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย”

People Unity News : 12 ตุลาคม 2566 กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ร่วมสืบสานพระราชกรณียกิจ และเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านพลังงาน จัดกิจกรรมน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติวันนวมินทรมหาราช “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” ชวนชมนิทรรศการโครงการตามแนวพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการพลังงาน 11-13 ต.ค. นี้ ที่สยามสเคป

พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ร่วมเปิดงานน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติ วันนวมินทรมหาราช “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” ซึ่งกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 สยามสเคป กรุงเทพฯ

พลอากาศเอก ชลิต กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เปรียบดั่ง “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” ทรงสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จากหลากหลายโครงการที่ทรงริเริ่ม เป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยพระปรีชาสามารถ และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล โดยเฉพาะโครงการตามพระราชดำริอันหลากหลาย และโครงการด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นแนวทางในการวางนโยบายด้านพลังงานของประเทศจวบจนถึงปัจจุบัน พระมหากรุณาธิคุณนี้เป็นที่ประจักษ์ และน้อมนำมาสืบสานพระราชปณิธาน ด้วยการปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ และคำสอนของพระองค์ บนหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกร ก่อให้เกิดประโยชน์ และช่วยให้ประเทศไทยพัฒนารุ่งเรืองจวบจนปัจจุบัน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณอันล้ำเลิศด้านพลังงาน ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการโครงการตามแนวพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการพลังงาน รวม 5 โครงการ ได้แก่ พลังน้ำ พลังชีวภาพ พลังทดแทน พลังทรัพย์ในดิน และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการแสดงดนตรีบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ และการมอบหนังสือ “พลังแผ่นดิน” แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และโรงเรียนเครือข่ายโครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 20 แห่ง

นอกจากนี้ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 กฟผ.เขื่อนภูมิพล ได้ร่วมกับอำเภอสามเงา และประชาชนจังหวัดตาก จัดกิจกรรมน้อมรำลึกเนื่องในวันนวมินทรมหาราช โดยจัดพิธีตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล การปลูกป่าและปล่อยพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ พิธีวางพวงมาลาและถวายบังคม การเพาะเนื้อเยื่อพันธุ์ต้นไม้ทรงปลูกของพ่อ (Tissue Culture) และการจุดเทียนชัยน้อมรำลึก และยังเตรียมกิจกรรม Open House ให้เยาวชนและนักเรียนเข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในเขื่อนของ กฟผ. โดยสามารถลงทะเบียนจองเข้าเยี่ยมชมตั้งแต่บัดนี้จนถึงตลอดปี 2567

Advertisement

ผบ.ทบ.นำ รด.จิตอาสา 3 แสนนาย ร่วม ”เราทำความดี ด้วยหัวใจ”

People Unity News : 9 ตุลาคม 2566 ผบ.ทบ.นำ รด.จิตอาสา 3 แสนนายทั่วประเทศ จัดกิจกรรม “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เนื่องในวันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 2566 ถวายเป็นพระราชกุศล

พลเอกเจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก เปิดกิจกรรม รด.จิตอาสา 3 แสนนาย เราทำความดี ด้วยหัวใจ ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2566 และ เป็นการแสดงออกถึงความเสียสละ อุทิศตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

โดยมีนักศึกษาวิชาทหารปีการศึกษา 2566 จำนวน 316,000 นาย ทั่วประเทศ ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาในรูปแบบต่างๆ อย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามความสมัครใจ เช่น การพัฒนาภูมิทัศน์สถานที่ต่าง ทั้งในชุมชน โรงเรียน  ศาสนสถาน โรงพยาบาล  การพัฒนาแหล่งน้ำ คู คลอง และการมอบสิ่งของให้ผู้ป่วยเจ็บ และยากไร้

ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้โอวาทนักศึกษาวิชาทหาร และกล่าวเปิดกิจกรรม รด.จิตอาสาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโครงการจิตอาสา พระราชทานด้วยทรงมุ่งหวังให้พสกนิกรชาวไทยปรองดอง สามัคคี ร่วมมือร่วมใจประกอบกิจกรรมสาธารณะโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และเพื่อให้มีความรักความผูกพันต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่นักศึกษาวิชาทหาร 3 แสนนายทั่วประเทศได้ร่วมกันทำกิจกรรม และ แสดงพลังแห่งความจงรักภักดี

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่านักศึกษาวิชาทหารจะเป็นคนที่ดีของสังคม และเป็นกำลังพลสำรอง ที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไป พร้อมย้ำว่า การเปิดกิจกรรมจิตอาสาในวันนีั ถือเป็นกิจกรรมเริ่มต้นที่กองทัพบกได้ดำเนินการ เนื่องในวันนวมินทรมหาราชปีนี้ และจะทำอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนตุลาคม

Advertisement

กำหนดให้วันที่ 13 ต.ค. เป็นวันนวมินทรมหาราช

People Unity News : 26 กันยายน 2566 ทำเนียบรัฐบาล – ที่ประชุม ครม.เห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 13 ต.ค.ของทุกปี เป็นวัน “นวมินทรมหาราช” น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9

นายชัย วัชรงค์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมรับทราบและนำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระราชทานชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือเรียกว่า “สัตตมวรรษ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลขอพระราชทานพระมหากรุณา จึงเห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าว

Advertisement

“หมอชลน่าน” สุดปิติเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ในหลวงพระราชทานกำลังใจ ทรงชมนายกฯ เป็นคนเก่ง

People Unity News : 5 กันยายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล – รมว.สธ.สุดปิติเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ในหลวงพระราชทานกำลังใจ ทรงชมนายกฯ เป็นคนเก่ง พร้อมสานต่องานเดิมที่ดีอยู่แล้ว ยึดประชาชนเป็นหลักทำงาน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเข้าเฝ้า ฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ว่า ครั้งนี้เป็นการเข้าถวายสัตย์เป็นครั้งที่ 2 ของตน ต้องเรียนด้วยความเคารพว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปฏิสันถารที่ทำให้คณะรัฐมนตรีมีกำลังใจอย่างมาก ทรงมีพระราชกระแสตรัสให้กำลังใจ หลังจากถวายสัตย์เสร็จสิ้นพระองค์ได้เดินเข้ามาหานายกรัฐมนตรีด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้ม และพูดให้กำลังใจท่านนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ได้ดี พระองค์ท่านยังทรงชมนายกรัฐมนตรีว่าเชื่อมั่นว่าเป็นคนเก่งอยู่แล้ว และทรงมีพระสรวล เราเองก็มีความปิติ ตามที่เราได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประเทศชาติและบ้านเมือง และปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข ว่า มั่นใจในการทำงาน เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบนโยบายชัดเจนว่าเราคือรัฐบาลของประชาชน เราคำนึงถึงประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ดังนั้น กลไกในการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงสาธารณสุข อะไรที่ยึดโยงกับประชาชนดีอยู่แล้วเราก็ทำต่อไป อะไรที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อตอบสนองของประชาชนได้ดีขึ้นก็ต้องดำเนินการ เข็มจึงมุ่งอยู่ที่ประชาชน ทั้งสุขภาวะร่างกายจิตใจ รวมถึงสติปัญญา

“ส่วนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุขร่วมมือถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีความเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง โดยเฉพาะในช่วงแรกที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกระทรวงเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล เราตั้งใจมุ่งมั่นที่จะใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ รวมถึงต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไอที จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง” นพ.ชลน่าน กล่าว

Advertisement

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี แล้ว

People Unity News : 2 กันยายน 2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 22 สิงหาคม พุทธศักราช 2566 แล้ว นั้น

บัดนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อไปแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรองนายกรัฐมนตรี

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่ง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายจักรพงษ์ แสงมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายไชยา พรหมา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นางมนพร เจริญศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

Advertisement

ประชาชนลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช

People Unity News : 25 มิถุนายน 2566 วัดราชบพิธฯ – ประชาชนลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช ที่วัดราชบพิธฯ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ

บรรยากาศที่พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร มีประชาชนมาร่วมลงนามถวายสักการะหน้าพระรูป “สมเด็จพระสังฆราช” เนื่องในโอกาสงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 โดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า เข้าถวายเครื่องสักการะและลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19-25 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00-16.00 น. โดยจะได้รับพระรูปของสมเด็จพระสังฆราช และหนังสือพุทธศาสนสุภาษิต ที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ เป็นที่ระลึกด้วย โดยประชาชนที่มาร่วมลงนาม และร่วมทำบุญ พร้อมตั้งจิตทำสมาธิและตั้งใจน้อมนำคำสอนมาปรับใช้

ส่วนวันที่ 26 มิ.ย. ตามกำหนดการจัดงาน “การจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566” นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา จะเป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระกุศล ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระนามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงเริ่มดำรงตำแหน่งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

Advertisement

FOLLOW US

20,829แฟนคลับชอบ
2,508ผู้ติดตามติดตาม

RECENT POSTS

Verified by ExactMetrics