วันที่ 19 เมษายน 2024

ปิดลงทะเบียนแจ้งหนี้นอกระบบ  ประชาชนร่วมแก้หนี้ 151,175 ราย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 กุมภาพันธ์ 2567 ปลัด มท. เผยสิ้นสุดการเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ประชาชนลงทะเบียนรวม 151,175 ราย มูลหนี้ 11,732 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 18,509 ราย มูลหนี้ลดลง 771 ล้านบาท เดินหน้าไกล่เกลี่ยให้ครบ 100% ควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

วันนี้ (29 ก.พ. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 91 โดยสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียนพบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 151,175 ราย มูลหนี้รวม 11,732.506 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 125,081 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 27,348 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 125,302 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้ 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 10,091 ราย เจ้าหนี้ 9,047 ราย มูลหนี้ 1,065.464 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 6,115 ราย เจ้าหนี้ 5,887 ราย มูลหนี้ 425.187 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,570 ราย เจ้าหนี้ 4,589 ราย มูลหนี้ 383.455 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 5,273 ราย เจ้าหนี้ 4,443 ราย มูลหนี้ 489.563 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 4,412 ราย เจ้าหนี้ 3,364 ราย มูลหนี้ 438.838 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 250 ราย เจ้าหนี้ 251 ราย มูลหนี้ 16.274 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 351 ราย เจ้าหนี้ 267 ราย มูลหนี้ 24.415 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 406 ราย เจ้าหนี้ 316 ราย มูลหนี้ 18.819 ล้านบาท 4. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 474 ราย เจ้าหนี้ 383 ราย มูลหนี้ 28.483 ล้านบาท และ 5. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 479 ราย เจ้าหนี้ 364 ราย มูลหนี้ 21.487 ล้านบาท

“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 28,725 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 18,509 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 2,626.784 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,855.474 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 771.309 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,373 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 518 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 287.587 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 53.511 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 234.076 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหนี้และลูกหนี้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่แล้ว 310 คดี ใน 43 จังหวัด” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในเรื่อง “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนอยู่ในปัจจุบัน โดยให้คำจำกัดความว่าคนที่เป็นหนี้นอกระบบเปรียบเสมือนเป็น “ทาสยุคใหม่” จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง เราจึงได้มีช่องทางในการรวบรวมข้อมูลโดยการเปิดรับลงทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 จนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการรับลงทะเบียนแล้ว ข้อมูลของประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนจะเป็นฐานข้อมูลของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ในฐานะหัวหน้าศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจังหวัด/อำเภอ จะได้บูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งอัยการ ทหาร ตำรวจ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือในเรื่องหนี้นอกระบบ อำนวยความสะดวกทำให้ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ในอัตราที่เป็นธรรม และเข้าสู่ระบบของสถาบันการเงินของรัฐ โดยมีการชำระเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้พี่น้องประชาชนได้มีแหล่งเงินทุนในการชำระหนี้ และได้มีเงินไปเลี้ยงดูครอบครัวได้

“ในส่วนของกระบวนการไกล่เกลี่ย จากการดำเนินการมาตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งมาตรการในระยะสั้นเราได้เชิญลูกหนี้และเจ้าหนี้มาพูดคุยตกลงกัน สามารถลดต้นลดดอกของหนี้ได้ ทำให้เราสามารถช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบกลุ่มแรกได้สำเร็จ ในส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการต่อไป อาจต้องใช้เวลาในการนำลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้ง 2 ฝ่ายมาพูดคุยกัน ในส่วนของข้อมูลเจ้าหนี้ที่มีพฤติการใช้ความรุนแรง ข่มขู่ ในการทวงหนี้ จำนวนกว่า 5 หมื่นราย ทางกระทรวงมหาดไทยได้ส่งข้อมูลให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีต่อไป สำหรับมาตรการระยะยาว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายในการช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับลูกหนี้นอกระบบ ส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ โดยบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมแนวทางให้ลูกหนี้สามารถลดรายจ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวและการเลี้ยงสัตย์เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ตลอดจนส่งเสริมแนวทางจัดทำบัญชีครัวเรือน ลดความฟุ่มเฟือย หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การเล่นพนัน และรวมไปถึงการขยายโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันสิ้นสุดการรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ แต่เป็นวันเริ่มต้นในการสะสางปัญหาหนี้ให้กับผู้ที่มาลงทะเบียน เพราะกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบยังไม่สิ้นสุด และเราจะเดินหน้าต่อจนกว่าจะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยครบ 100% อย่างไรก็ตามประชาชนยังคงลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ https://debt.dopa.go.th ภายในเวลา 24.00 น. ของวันนี้ โดยหลังจากที่ปิดรับลงทะเบียนแล้วหากมีประชาชนผู้ที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบประสงค์จะขอความช่วยเหลือ สามารถโทรสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถเดินทางไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ เพื่อให้ทางราชการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเราไม่ได้ช่วยเหลือแค่หนี้นอกระบบแต่ยังเป็นการช่วยเหลือในทุกด้าน อาทิ การศึกษา ยาเสพติด ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค หรือปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ที่พี่น้องประชาชนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เพราะทุกปัญหามีทางออก จึงขอให้ทุกท่านอย่าได้ลังเลใจที่จะขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางของรัฐ ผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย ที่จะเป็นช่องทางที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีไว้เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน

Advertisement

“พีระพันธุ์” ลั่นจะพยายามตรึงค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.67 ไว้ที่ 4.18 บาท/หน่วย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 กุมภาพันธ์ 2567 “พีระพันธุ์” รมว.พลังงาน ยืนยันจะพยายามตรึงค่าไฟงวดหน้าไว้ที่ 4.18 บาท/หน่วย หลังจะต้องปรับอัตราค่าไฟฟ้างวดต่อไป (พ.ค.-ส.ค.) ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของประชาชน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (งวด ม.ค.-เม.ย.) ที่เรียกเก็บหน่วยละ 4.18 บาท จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งทาง กกพ.จะต้องปรับอัตราค่าไฟฟ้างวดต่อไปคือเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ในเร็วๆ นี้ ซึ่งตนพยายามจะคงอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-เดือนสิงหาคม ไว้ในอัตราเดิม คือหน่วยละ 4.18 บาท ให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากได้รับการยืนยันจาก ปตท.สผ.ว่าจะสามารถขุดก๊าซจากอ่าวไทยที่ขาดหายไปจำนวนมากกลับคืนมาได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป และในวันพรุ่งนี้ (28 ก.พ.) ตนเองจะเดินทางไปดูการทำงานของ ปตท.สผ. ที่หลุมขุดเจาะเอราวัณกลางอ่าวไทย เพื่อให้มั่นใจว่า ปตท.สผ.จะสามารถดำเนินการได้ตามที่รับปากไว้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยบวกอื่นๆ อีกหลายปัจจัยที่จะช่วยให้สามารถคงอัตราค่าไฟฟ้าไว้ในอัตราเดิม

“เราเป็นห่วงประชาชน จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของประชาชนซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญลงให้ได้ โดยใช้มาตรการทุกอย่างที่ทำได้ภายใต้โครงสร้างปัจจุบันก่อนที่จะรื้อทั้งระบบภายในปีนี้“ นายพีระพันธุ์ กล่าว

Advertisement

กฟผ. ยัน “ปลูกป่าล้านไร่” ปลูกจริง ไม่ได้ปลูกทิพย์ ตรวจสอบได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 กุมภาพันธ์ 2567 กฟผ.ย้ำโครงการปลูกป่า อย่างมีส่วนร่วม ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 2 แสนไร่เดินหน้า เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมรับการตรวจสอบจากทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึง โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2565 ร่วมกับพันธมิตรและประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเป็นการปลูกป่าในพื้นที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด้วยการปลูกฟื้นฟูสภาพป่า (200 ต้นต่อไร่) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตอบสนองนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศ โดยในช่วงปี 2565 – 2566 สามารถดำเนินการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าคิดเป็นพื้นที่กว่า 188,692 ไร่  เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมปลูกป่าแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการทำสัญญาจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ เสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม เกิดความหวงแหนป่า และสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนในพื้นที่

สำหรับการคัดเลือกประชาชนในพื้นที่มาเป็นผู้รับจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าในโครงการนี้ดำเนินการผ่านการทำประชาคมหมู่บ้าน และกรมที่เป็นเจ้าของพื้นที่จะออกหนังสือรับรองความเชี่ยวชาญในการปลูกและบำรุงรักษาป่าของผู้รับจ้าง กฟผ. จึงจะลงนามสัญญาจ้างบุคคลดังกล่าวได้ จากนั้นผู้รับจ้างก็ดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าตามรายละเอียดที่กำหนดในเงื่อนไขงานจ้าง

ส่วนการลงพื้นที่ตรวจรับงานปลูกและบำรุงรักษาป่าจะต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลพิกัดพื้นที่และเอกสารประกอบการตรวจรับงานจ้าง พร้อมประสานนัดหมายผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งการลงพื้นที่เพื่อตรวจรับงานทุกครั้งต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย ร่วมกันลงพื้นที่ ทั้งหน่วยงานกรมเจ้าของพื้นที่ , ผู้รับจ้าง (คู่สัญญา) ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ และ ผู้แทน กฟผ.

โดยการตรวจรับงานเป็นการสุ่มตรวจในพื้นที่ดำเนินการปลูกหรือบำรุงรักษาป่าทุกแปลงจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของพื้นที่ พร้อมสุ่มตรวจอัตราการรอดตายของต้นไม้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย และสอดคล้องกับแนวทางการตรวจแปลงสำรวจและเก็บข้อมูลโครงการประเภทป่าไม้ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งการเบิกจ่ายค่าจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าจะจ่ายตามผลงานที่เกิดขึ้นจริงโดยจ่ายตรงกับประชาชนที่เป็นคู่สัญญากับ กฟผ. แต่หากพื้นที่ใดไม่มีการปลูกป่าจริงก็จะถูกยกเลิกสัญญา

Advertisement

นายกฯ ดันนครพนม เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 กุมภาพันธ์ 2567 นายกฯ ดัน จ.นครพนม เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เชื่อมีศักยภาพจัดเทศกาลระดับโลก – ขอภาคเอกชนช่วยโปรโมทสินค้านครพนม สู่ตลาดโลก

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมายังจุดที่ 3 ประชุมหารือแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาของจังหวัดนครพนม ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยนครพนม

โดยรับฟังบรรยายสรุป พิจารณาแผนงานของจังหวัดนครพนม ที่ขอการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้แก่โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และการบริหารจัดการน้ำ การยกระดับเมืองรองเป็นเมืองหลัก Medical and wellness Hub ให้จังหวัดนครพนมเป็นเมืองหลักแห่งการพักผ่อน พร้อมส่งเสริมให้ มีเทศกาลต่างๆ เช่น นครพนมแฟชั่นวีค ยกระดับเทศกาลไหลเรือไฟโลก

ซึ่งช่วงหนึ่งในการรับฟังรายงาน นายกรัฐมนตรีได้สอบถามความคืบหน้าและงบประมาณ ที่จะใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลนครพนม ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้เสนอแผนงานรวมกันกับแผน Medical and wellness Hub โดยนายจุลพันธ์อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ เสนอว่าการทำโครงการนี้จะต้องใช้งบกลาง เนื่องจากเป็นการดำเนินการในงบผูกพันต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าดีใจที่ได้กลับมาจังหวัดนครพนมอีกครั้งหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับจังหวัดนครพนม ที่ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ จากการรับฟังรายงาน ทราบว่ารายได้ของจังหวัดนครพนมแบ่งเป็น ร้อยละ 30 มาจาก ภาคการเกษตรและอีกร้อยละ 70 มาจากภาคการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า ถือเป็นตัวเลขที่ สะท้อนความเป็นจริง

ส่วนระบบชลประทานเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร คงได้มีการพูดคุยกันอยู่แล้วอยู่แล้ว ขอให้สบายใจว่าเราจะดูแลอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าในอนาคต ไม่เกิน 5 ปี จะสามารถพัฒนาให้สนามบินจังหวัดนครพนม เป็นสนามบินนานาชาติ เพราะจังหวัดนครพนมมีจุดแข็ง สมควรได้ยกระดับจากเมืองรองเป็นเมืองหลัก ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับพี่น้องประชาชนชาวนครพนม ที่บริษัทใหญ่ระดับโลกสนใจที่จะมาลงทุนในจังหวัดนครพนม แต่อยากให้ภาคเอกชน ช่วยโปรโมทสินค้านครพนมให้เป็นที่รู้จัก และไปสู่ตลาดโลก และมองว่าการพัฒนาสินค้าถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ยังขาดเรื่องดีไซน์ อย่างผ้าไหม ที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว ต้องการให้องค์กรต่างๆ นำความรู้เข้ามามาช่วย เพื่อให้ได้มาตรฐานโลกและนำไปขายในตลาดโลกได้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้การสนับสนุน แต่ว่าเราต้องช่วยกันเยอะกว่านี้

นายกรัฐมนตรี ยังระบุ เรื่องยุทธศาสตร์ถือว่ามีความสำคัญ เราไม่ได้มีเพียงจังหวัดนครพนม ยังมีจังหวัดหนองคาย มุกดาหาร ที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน และยังต้องพัฒนาศูนย์ขนถ่ายสินค้า เพราะหากมีการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น จะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมโหฬาร

จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของดีประจำ 12 อำเภอ และชมการแสดงลำภูไท ศรีโคตรบูรณ์ และชมสินค้า OTOP จากอำเภอต่างๆ โดยเฉพาะผ้าฝ้ายย้อมคราม อ.นาหว้า ที่เป็นของขึ้นชื่อจังหวัดนครพนม และยังได้มีการจัดนิทรรศการของพระธาตุประสิทธิ์ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำวันพฤหัสบดี เป็นวันเกิดของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

Advertisement

นายกฯ ตั้ง ‘ชาดา’ ที่ปรึกษา คกก.แก้หนี้สินภาคประชาชนรายย่อย “กิตติรัตน์” ย้ำเจ้าหนี้ไม่ต้องกลัวหนี้สูญ แต่ห้ามเก็บเกินอัตราดอกเบี้ย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายกฯ ลงนามตั้ง ‘ชาดา’ ที่ปรึกษา คกก.แก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชนรายย่อย เชื่อมการทำงาน คกก.แก้หนี้นอกระบบ ย้ำขอลูกหนี้มาลงทะเบียน ไม่ต้องกลัว-เกรงใจใคร ด้าน ‘กิตติรัตน์’ ย้ำเจ้าหนี้ไม่ต้องกลัวหนี้สูญ แต่ห้ามเก็บเกินอัตราดอกเบี้ย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันแถลงถึงการเปิดรับลงทะเบียนประชาชนเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

โดย นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ตั้งแต่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้ง นายชาดา เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการกำกับและแก้ไขหนี้สินภาคประชาชนรายย่อย ที่ตนเองทำหน้าที่เป็นประธานอยู่ ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขหนี้นอกระบบ ซึ่งตนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอยู่

ดังนั้น การแต่งตั้ง นายชาดา ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะสามารถเชื่อมการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดเข้าด้วยกัน ตรงตามเจตนาของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินทุกประเภทให้เบ็ดเสร็จครบวงจร

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกหนี้จำนวนแสนกว่ารายที่ได้มาลงทะเบียนแล้ว แต่เชื่อว่ายังไม่ใช่จำนวนที่แท้จริง และน่าจะยังมีอีกมาก ลูกหนี้เหล่านี้ตั้งคำถามว่า ตนเองมาลงทะเบียนแต่เจ้าหนี้ไม่มาลงทะเบียน จะดำเนินการอย่างไร จึงต้องขอเรียนตามหลักกฎหมายว่า หนี้นอกระบบเป็นการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กำหนด ดอกเบี้ยทั้งหมดถือเป็นโมฆะตั้งแต่บาทแรก ไม่ใช่ตั้งแต่อัตราที่เกิน ดังนั้นหากเจ้าหนี้ไม่มาลงทะเบียน ขอให้ลูกหนี้หยุดจ่ายดอกเบี้ยทันที แต่ก็ต้องจ่ายเงินต้นให้ครบ

“เจ้าหนี้ซึ่งกังวลว่าลูกหนี้จะไม่ได้จ่ายคืนเงินต้น ขอให้มั่นใจว่าท่านจะได้รับการคุ้มครอง แต่เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กำหนด” นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ ยังระบุว่า ในกรณีที่ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยไปมากมายจนท่วมเงินต้นแล้ว ในหลักการถือว่าหมดหนี้แล้ว ดังนั้น จะมาตกลงทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในข้อกฎหมายกัน รวมถึงเจ้าหนี้หลายรายที่ปล่อยหนี้หลายๆคนพร้อมกัน หากไม่มาหารือกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายร้ายแรง เพราะจะเป็นขบวนการปล่อยหนี้เกินกว่ากำหนด

ด้าน นายชาดา ระบุว่า ปัญหาหนี้ทั้งนอกระบบและในระบบมีความเกี่ยวเนื่องกัน และขอให้สื่อมวลชนช่วยกันประกาศให้ผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบมาลงทะเบียนรับการแก้ปัญหา ไม่ต้องกลัวและไม่ต้องเกรงใจใคร แม้แต่เจ้าหนี้ก็ไม่ควรไปห้ามลูกหนี้ให้มาขึ้นทะเบียนบัญชี เพราะรัฐบาลจะดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างยุติธรรม ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้ลูกหนี้ใช้หนี้ แต่ทุกอย่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องยุติธรรม

นายชาดา ย้ำว่า ประชาชนซึ่งเป็นหนี้นอกระบบ ขอให้มาลงทะเบียนก่อนวันที่ 29 ก.พ.นี้ ที่ศูนย์ดำรงธรรมของทุกจังหวัด หรือแจ้งตามเว็บไซต์ ขอให้ไม่ต้องกลัวหรือเกรงใจใคร และเจ้าหนี้ก็ไม่ต้องกลัวหนี้สูญ เพราะรัฐบาลจะดำเนินการด้วยความเป็นธรรม และต้องการแก้ปัญหา

“กฎหมายให้โอกาสแล้ว ทางเราให้โอกาสแล้ว ก็ขอให้ใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์กับท่าน เพราะพวกเราต้องการมาแก้ปัญหา” นายชาดา กล่าว

Advertisement

สมาคมธนาคารไทย ยืนยันไม่สามารถใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงินได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 กุมภาพันธ์ 2567 TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย ยืนยันไม่สามารถใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน

ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ขอชี้แจงกรณีที่มีข่าวการดูดเงินเพียงการโทรพูดคุย 2 นาที โดยไม่ต้องกดลิงก์ว่า ปัจจุบันธนาคารไม่มีการใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน ดังนั้นเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงและยังไม่พบเหตุการณ์ความเสียหายเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก

ระบบของธนาคารมีการป้องกันและพัฒนาการพิสูจน์ยืนยันตัวตนอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการให้ยืนยันตัวตนผ่านการสแกนหน้า ควบคู่กับข้อมูลส่วนบุคคล และรวมถึงการกำหนดวงเงินในการทำธุรกรรม นอกจากนี้  TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารสมาชิก ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) ของลูกค้าทุกคน พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการธนาคาร และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและประชาชน

อย่างไรก็ดี ประชาชนต้องพึงระวัง

1.ไม่ดาวน์โหลด รวมถึงกดลิงก์ใด ๆ โดยเฉพาะจากบุคคลที่ไม่รู้จัก

2.ไม่สแกนหน้ากับโปรแกรมจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store

3.เมื่อรู้ตัว หรือสงสัยว่ากำลังคุยกับมิจฉาชีพ ไม่แนะนำให้คุยต่อ เพราะอาจจะหลงเชื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากมิจฉาชีพอาจจะมีข้อมูลจริงทำให้พูดคุยแล้วยิ่งหลงเชื่อ

4.หากสงสัย ให้โทรสอบถามที่เบอร์ทางการของหน่วยงานโดยตรง

หากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว หรือมีข้อสงสัย ขอให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งานทันที หรือ ติดต่อ ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของการทำธุรกรรม โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

Advertisement

ธอส. จัดงาน GHB ALL HOME EXPO 2024 @เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ รามอินทรา ลดสูงสุดถึง 50%

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 กุมภาพันธ์ 2567 ธอส. จัดงาน GHB ALL HOME EXPO 2024 @เซ็นทรัล  อีสต์วิลล์ รามอินทรา นำทรัพย์เด่น ทำเลดีกว่า 1,000 รายการ ลดสูงสุดถึง 50%

นายศักดิ์สิทธิ์ จิตตนูนท์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบังคับคดี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ส่งเสริมให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น จึงเตรียมจัดงาน มหกรรมบ้านมือสอง ธอส. : GHB ALL HOME EXPO 2024 @เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ รามอินทรา ระหว่างวันที่ 16-18 ก.พ. 2567 ณ เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ รามอินทรา โดยนำบ้านมือสองคุณภาพดี ทำเลเด่น และราคาคุ้มค่า พร้อมส่วนลดสูงสุด 50% จากราคาในปัจจุบัน มาจำหน่ายรวม 1,160 รายการ ทั้งประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ และห้องชุด (คอนโดมิเนียม) แบ่งเป็น ทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 662 รายการ และทรัพย์ในภูมิภาค 498 รายการ โดยทรัพย์ที่มีราคาต่ำสุด ได้แก่ ทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม ขนาดเนื้อที่ 26.25 ตรม. ในโครงการรินทร์ทองคอนโดมิเนียม อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ มีราคาเพียง 75,000 บาท เท่านั้น!! พิเศษ! ลงทะเบียนจองซื้อทรัพย์ภายในงานมีโอกาสได้รับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสุด นานสูงสุด 24 เดือน และผู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 16 – 23 ก.พ. 2567 รับฟรีบัตรกำนัลแทนเงินสด มูลค่า 2,000 บาท จำนวน 20 รางวัล1 รายต่อ 1 รางวัล (สำหรับผู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 10 รายแรก และที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์ในส่วนภูมิภาค 10 รายแรก) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ G H Bank Call Center โทร. 0-2645-9000 กด 5 หรือ Facebook Fanpage บ้านมือสอง ธอส. หรือ ดูข้อมูลบ้านมือสอง ธอส. ได้ที่ www.ghbhomecenter.com, Mobile Application : GHB ALL HOME และ Line Official Account : @ghbnpa

Advertisement

ธ.ก.ส. ยกระดับ SME สู่แกนกลางเกษตรไทย เติมความรู้ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 กุมภาพันธ์ 2567 ธ.ก.ส. พร้อมมุ่งสู่แกนกลางการเกษตร ยกระดับ SME และเกษตรกรหัวขบวน โดยเติมองค์ความรู้ด้านการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง และการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน พร้อมเชื่อมโยงการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ พัฒนาศักยภาพการผลิตและเชื่อมโยงการตลาด อันนำไปสู่การสร้างรายได้และช่วยให้เกษตรกรสามารถหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในการเปิดงานเสวนาโครงการ “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้” ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยนำเกษตรกรหัวขบวน และผู้ประกอบการ SME เกษตรในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มาร่วมสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ให้สามารถฟื้นฟูการประกอบอาชีพ มีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและมีรายได้เพิ่มขึ้น อันนำไปสู่การหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน โดยมีคณะผู้บริหาร เกษตรกรหัวขบวน ผู้ประกอบการ SME เกษตรและพนักงาน ธ.ก.ส. เข้าร่วมกิจกรรม ณ อาคารทาวเวอร์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในช่วงปี 2567 – 2569 พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องเข้าร่วมการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 900,000 ราย เพื่อขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นและเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้จับมือกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ การเพิ่มศักยภาพในการผลิต การแปรรูปสู่เกษตรมูลค่าสูง ทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปและพัฒนาผลผลิต ให้กับเกษตรกรหัวขบวนและผู้ประกอบการ SME เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ โดยเริ่มจากการปรับวิธีคิด เช่น ก่อนลงมือผลิต ตั้งคำถาม ขายอะไร? ขายใคร? ขายเมื่อไหร่? ขายที่ไหน? ขายปริมาณ? ขายราคา? รวมถึงสามารถเชื่อมโยงตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อย เช่น การรับซื้อผลผลิต การจ้างแรงงานในพื้นที่ หรือการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรรายย่อยในการพัฒนาศักยภาพในการผลิต เป็นต้น พร้อมจัดเสวนา “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้” โดยนำเครือข่ายส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เครือข่ายผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร  หัวขบวน กลุ่ม New Gen และ Young Smart Farmer ที่อยู่ในโครงการ Design & Manage by Area (D&MBA) ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ จำนวน 10 ราย มาร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองในการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในการประกอบอาชีพ สู่การสร้างงานสร้างรายได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างตรงจุดและยั่งยืน

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้รายย่อยผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

Advertisement

กรมบัญชีกลางเตือนผู้ใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ อย่าซื้อของหรือแลกของจากรถเร่ 

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 กุมภาพันธ์ 2567 กรมบัญชีกลางเตือนผู้ใช้สิทธิสวัสดิการฯ ตามโครงการลงทะเบียน เพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ระมัดระวัง อาจถูกแอบอ้างการใช้สิทธิ

นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้รับแจ้งจากสำนักงานคลังจังหวัดต่าง ๆ ว่าผู้มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐหลายรายไม่สามารถใช้สิทธิสวัสดิการได้ เนื่องจากถูกแอบอ้างใช้สิทธิที่ร้านค้าข้ามพื้นที่ (ต่างจังหวัด) ซึ่งผู้มีสิทธิไม่ได้เป็นผู้ใช้สิทธิดังกล่าว และจากการตรวจสอบพบว่า เกิดจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ตระเวนขายสินค้าด้วยรถเร่ในพื้นที่ต่าง ๆ และใช้แอปพลิเคชันถุงเงินในการรับชำระวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า และวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม โดยหลอกให้นำบัตรประจำตัวประชาชนไปซื้อของหรือแลกของ เช่น ไข่ น้ำมันพืช เป็นต้น ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ผิดเงื่อนไขตามประกาศกรมการค้าภายใน และประกาศกรมธุรกิจพลังงาน

กรมบัญชีกลางจึงขอเตือนประชาชนผู้มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐให้ระมัดระวังการใช้สิทธิสวัสดิการกับร้านค้าที่กระทำผิดเงื่อนไขของประกาศข้างต้น เนื่องจากพบว่าร้านค้าเหล่านี้มีพฤติกรรมหลอกลวง ซึ่งจะส่งผลกระทบวงเงินสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิที่ใช้สิทธิกับรถเร่ดังกล่าว ดังนั้น เพื่อป้องกันการแอบอ้างสวมสิทธิของผู้มีสิทธิทุกคน อย่าใช้วงเงินสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐซื้อของหรือแลกของจากรถเร่  ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้ขอความร่วมมือกรมการค้าภายในและกรมธุรกิจพลังงานในการประชาสัมพันธ์ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้ปฏิบัติเงื่อนไขตามประกาศของกรมการค้าภายในและกรมธุรกิจพลังงานโดยเคร่งครัดด้วยแล้ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 0 2270 6400 ในวันเวลาทำการ  โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าว

Advertisement

ธนาคารออมสิน สร้างประวัติศาสตร์ กวาด 8 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2566

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 กุมภาพันธ์ 2567 ออมสิน คว้ารางวัล “รัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม” และ “ผู้นำองค์กรดีเด่น” สร้างประวัติศาสตร์ กวาด 8 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2566

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2566 ให้แก่ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คณะกรรมการธนาคารออมสิน และผู้บริหาร รวมทั้งสิ้น 8 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมประจำปี รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น รางวัลเกียรติยศด้านการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น รางวัลบริการดีเด่น และ รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น สำหรับงานนี้ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น” ถือเป็นรางวัลเกียรติยศและเป็นความภาคภูมิใจของธนาคารออมสิน โดยปีนี้ได้รับ 8 รางวัลด้วยกัน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ธนาคาร สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจในบทบาทสถาบันการเงินของรัฐ ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ภายใต้ภารกิจธนาคารเพื่อสังคม ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม มีเป้าหมายชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน จากการร่วมมือร่วมใจผลักดันของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด นำมาซึ่งความภาคภูมิใจกับรางวัลทรงคุณค่าที่ได้รับนี้เป็นอย่างยิ่ง

สำหรับรางวัลที่ธนาคารออมสินได้รับในปีนี้ ได้แก่ รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม มอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีความโดดเด่น และมีมาตรฐานในการดำเนินงานทุกๆ ด้าน สามารถสนองตอบความต้องการและความคาดหวังของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เป็นอย่างดี รวมถึงคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและผู้บริหารสูงสุดมีการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอย่างเหมาะสม รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น มอบให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้ถือหุ้นภาครัฐ ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและส่งเสริมการบริหารงานของฝ่ายจัดการให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น มอบให้ผู้บริหารสูงสุดที่สามารถนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนโดยมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และสามารถผลักดันองค์กรให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รางวัลเกียรติยศด้านการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น ได้รับต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 5 มอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐวิสาหกิจและมีการเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนในทุกด้าน

พร้อมกันนี้ ยังได้รับ รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ธนาคารได้รับรางวัลด้านนวัตกรรม จากโครงการ GSB New business models : ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ นำเสนอนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ที่ธนาคารใช้เป็นกลไกในการแทรกแซงและกดดันอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่สูงเกินจริงให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น (ประเภทเชิดชูเกียรติ) โดยร่วมกับสำนักงานธนานุเคราะห์ฯ ภายใต้โครงการยกระดับการให้บริการทางการเงินและคุณภาพชีวิตแก่ลูกค้า ช่วยให้ลูกค้ากลุ่มที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ได้เข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้นด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรม รางวัลบริการดีเด่น ได้รับต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยปีนี้ได้รับจากโครงการ Social Mission integration for Better Service เป็นการปรับแนวคิดการทำงานโดยนำเอาปัจจัยด้านการช่วยเหลือสังคมผนวกเข้ากับบริการที่สำคัญของธนาคารในทุกด้าน ทั้งด้านความคุ้มค่าทางธุรกิจควบคู่ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และสุดท้าย รางวัลชมเชย รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากโครงการออมสิน..พัฒนาชุมชนแบบองค์รวม สร้างบุคลากรของธนาคารให้เป็นนักพัฒนาชุมชนที่เข้าใจความต้องการของคนในท้องถิ่น ภายใต้หน่วยพัฒนาสังคมและชุมชน 18 ภาคทั่วประเทศ

Advertisement

Verified by ExactMetrics