วันที่ 19 มีนาคม 2024

รองโฆษกรัฐบาล แนะคัดทะเบียนราษฎรออนไลน์ ผ่านแอปฯ ThaiD

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 รองโฆษกรัฐบาล แนะประชาชนคัดทะเบียนราษฎรออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ประหยัดเวลา ไม่เสียค่าธรรมเนียม แถมคัดทะเบียนราษฎรเวลาไหนก็ทำได้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล ยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง แจ้งความคืบหน้าว่าสามารถทำการ คัดทะเบียนราษฎร แบบระบบออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้แล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นางสาวรัชดา กล่าวต่อไปว่า ประชาชนสามารถคัดทะเบียนราษฎร เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูล ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, อายุ, สถานภาพ, ที่อยู่ และรายละเอียดอื่น ๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD สำหรับการคัดรับรองเอกสารทะเบียนราษฎร สามารถเช็กการ คัดรับรองรายการบุคคล (ท.ร.14/1) และการคัดรับรองรายการประวัติบุคคล (ท.ร.12/2) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังทำการค้นหาตัวเลขอ้างอิง (ค้นจากตัวเลข Reference) เพื่อทำการตรวจสอบเอกสารจากทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักทะเบียนกลาง โดยเอกสารมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ออกหนังสือรับรอง

“รัฐบาลขับเคลื่อนเดินหน้ามุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล นำเทคโนโลยีระบบดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานในส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ลดพื้นที่และประหยัดงบประมาณในการจัดเก็บเอกสาร ที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน การให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐได้ง่ายขึ้น ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ช่วยให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการขอรับบริการทะเบียนราษฎร ทั้งค่าใช้จ่ายการเดินทาง และค่าธรรมเนียม ไม่ต้องเสียเวลาไปต่อคิว ประชาชนสามารถจะคัดทะเบียนราษฎรเวลาไหนก็ทำได้” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

วันนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบใช้บริการแล้ว

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดี วันนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) จากสถานีหัวหมากถึงสถานีสำโรง กำชับดูแลความพร้อม ความปลอดภัยช่วงทดสอบฯ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เริ่มตั้งแต่วันนี้ (3 มิถุนายน 2566) จากสถานีหัวหมาก ถึงสถานีสำโรง ก่อนขยายระยะทางต่อไป โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน กำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการ และดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด

นายอนุชา กล่าวว่า ตามที่ รฟม. ร่วมกับ ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างโครงการฯ (PCYL) วิศวกรอิสระ (ICE) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเรียบร้อยประกอบการพิจารณาช่วงสถานีที่จะให้ประชาชนได้เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปนั้น รฟม. ชี้แจงว่า ปัจจุบันทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกัน โดยตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) จะพร้อมให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วม Trial Run ได้ระหว่างเวลา 09.00-20.00 น. จำนวน 13 สถานี ได้แก่ สถานีหัวหมาก สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในส่วนของสถานีหัวหมาก จะจำกัดให้ประชาชนใช้เฉพาะทางเข้า-ออกที่ 2 (สี่แยกพัฒนาการ) และทางเข้า-ออกที่ 3 (ซอยศรีนครินทร์ 16) ที่มีความพร้อมก่อน โดยหลังจากนี้ รฟม. และผู้รับสัมปทาน จะหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาการขยายช่วงสถานี และขยายช่วงเวลาที่รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองจะสามารถให้ประชาชนเข้าร่วม Trial Run เพิ่มเติมจนกระทั่งครบตลอดสาย 23 สถานีได้ในระยะต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่จะเป็นผู้โดยสารของรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยนายกรัฐมนตรีติดตามทุกโครงการของรถไฟฟ้ามหานคร ให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผน พร้อมแสดงความยินดีที่ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน จะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการทุกด้าน และเน้นดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่น ๆ มีระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 23 สถานี โดยมีอาคารจอดแล้วจรสำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว

Advertisement

จูงใจพลเรือนและเอกชนเป็นกำลังพลสำรอง รับปฎิรูปกองทัพ

People Unity News : 26 พฤษภาคม 2566 กลาโหม เล็งจูงใจให้พลเรือนและเอกชน มีความชำนาญเฉพาะทาง เป็นกำลังพลสำรอง ไม่กำหนดอายุ เลื่อนยศกำลังสำรองได้ถึงพันเอก มุ่งเสริมแกร่งกองทัพ รองรับปฏิรูปกองทัพ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำลังพลสำรอง ผ่านระบบ VTC ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ เพื่อขับเคลื่อนกิจการกำลังพลสำรอง ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองของ กลาโหม ปี 66 -70 รองรับการปฏิรูปกองทัพสมัยใหม่

โดยที่ประชุมรับทราบ การเปิดให้ผู้มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะทาง สามารถเป็นกำลังพลสำรองครั้งแรกได้โดยไม่กำหนดอายุ รวมทั้งการกำหนดแต่งตั้ง เลื่อนยศกำลังสำรองได้ถึงยศ พันเอกหรือเทียบเท่า และการกำหนดสิทธิประโยชน์ของกำลังพลสำรอง จากอันตรายหรือเจ็บป่วย พร้อมทั้งรับทราบยุทธศาสตร์พัฒนาระบบกำลังสำรอง ที่เน้นการควบคุม บริหารจัดการด้านนโยบาย การพัฒนากิจการ การเสริมสร้างเครือข่าย การปรับปรุงกฎหมาย การพัฒนาสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ รวมทั้งการพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลทรัพยากรด้านกำลังสำรองและกำลังพลสำรอง

ต่อจากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและเห็นชอบหลักการ รวม 3 ประเด็น คือ การปรับปรุงตำแหน่งและอัตราของหน่วยทหารรองรับการบรรจุกำลังพลสำรอง การบรรจุบุคคลพลเรือนและภาคเอกชน ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง และบรรจุกำลังพลสำรองให้มีชั้นยศที่เหมาะสม และการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลกำลังพลสำรองกับส่วนราชการต่างๆ เพื่อการบริหารจัดการกำลังพลสำรองอย่างมีประสิทธิภาพ

พล.อ.ประวิตร ย้ำว่า ระบบกำลังสำรอง จะช่วยเสริมและพัฒนาศักยภาพกองทัพ จากบุคคลพลเรือนภายนอกกองทัพเป็นการชั่วคราวและเท่าที่จำเป็น จึงขอให้กระทรวงกลาโหม ได้ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หารือและขอความเห็นชอบในประเด็นที่อาจไม่สอดคล้องและขัดกันในข้อกฎหมาย ทั้งนี้ ขอให้กำหนดภารกิจและตำแหน่งเฉพาะที่จำเป็น พร้อมทั้งให้ติดตามประเมินผลการใช้ตำแหน่งและอัตราที่กำหนด เพื่อช่วยเสริมศักยภาพกองทัพและใช้ประโยชน์จากระบบกำลังสำรองอย่างเต็มประสิทธิภาพ

Advertisement

รัฐบาลยกระดับรักษาสิ่งแวดล้อม เน้นรีไซเคิล ลดนำเข้าพลาสติก

People Unity News : 23 เมษายน 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยกระดับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม เน้นรีไซเคิล ลดการนำเข้าพลาสติก สอดคล้องโมเดลเศรษฐกิจ BCG เดินหน้าแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 เรื่องสำคัญภายใต้นโยบายหลักของรัฐบาล บริหารจัดการ “ขยะพลาสติก” ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินงานของ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) ซึ่งได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้เป็นแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างการดำเนินงาน เช่น การงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว “Everyday Say No To Plastic Bags” มาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การกำหนดมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก การจัดทำฐานข้อมูลพลาสติก โครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) โครงการ “จังหวัดสะอาด” และ การสื่อสารความรู้ด้านการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และนักออกแบบ เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังได้ทบทวนและปรับมาตรการการนำเข้าพลาสติกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อส่งเสริมการใช้เศษพลาสติกภายในประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะมีการเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

“รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินนโยบายบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อความสมดุลในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน พร้อมทั้งขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สำหรับความร่วมมือที่ผ่านมา ทั้งนี้ การดำเนินของรัฐบาลเพื่อยกระดับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบโมเดลเศรษฐกิจ BCG นำเศษพลาสติกภายในประเทศกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ยกระดับคุณภาพเศษพลาสติกในประเทศ และเพียงพอต่อการเป็นวัตถุดิบในภาคธุรกิจรีไซเคิล” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

เร่งรัดพัฒนา 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

People Unity News : 11 เมษายน 2566 พลเอกประวิตร เร่งรัดโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำใน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ให้ประชาชนมีน้ำกิน น้ำใช้ ไม่แล้ง กินดีอยู่ดี

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กำชับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เร่งรัดดำเนินการโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำจำนวน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และพระราชกฤษฎีกา กำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดลุ่มน้ำ จำนวน 22 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่บ้านมีน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอ ไม่มีน้ำท่วม ไม่มีแล้ง และสำคัญที่สุดคือ “คนไทยต้องไม่จน”

โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีได้กำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศภายใต้แผนแม่บทการบริการจัดการน้ำ 20 ปี โดยบูรณาการส่วนราชการต่างๆ มากกว่า 48 ส่วนราชการและสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยปัญหาหลักที่มักจะพบในลุ่มน้ำต่าง ๆ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนโครงการสำคัญๆ ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ซึ่งมีขนาดเล็ก ได้แก่ การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน 5,005 แห่ง รวมทั้งโครงการสำคัญขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวม 255 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 1.42 ล้านไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1.25 ล้านไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์กว่า 500,000 ครัวเรือน

สำหรับตัวอย่างโครงการสำคัญๆ ใน 22 ลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำยม ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน การพัฒนาและปรับปรุงคลองผันน้ำยม-น่านในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนกลาง และการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ โครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำและพื้นที่เก็บกักน้ำต้นทุน โครงการเพื่อลดความเสียหายน้ำท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หน่วงน้ำและการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำพื้นที่บึงบอระเพ็ด ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ การพัฒนาระบบระบายเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนควนขนุน จังหวัดพัทลุง และพื้นที่ชุมชนควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการสำคัญๆ ที่ได้รับจัดสรรงงบประมาณแล้ว 15 โครงการ อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง จ.ตราด อ่างเก็บน้ำ ธารประเวศ จ.สุราษฎร์ธานี ระบบระบายน้ำหลักพื้นที่ชุมชนเมืองสตูล ระยะที่ 1

จ.สตูล พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่ ส.ป.ก. จ.กระบี่ เป็นต้น ซึ่งจะได้ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งการพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบให้ประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

Advertisement

ป.ป.ช.จับมือ กทม.ส่งเสริมประชาชน-ภาครัฐ ร่วมป้องกันทุจริต

People Unity News : 10 เมษายน 2566 ป.ป.ช. ร่วมกับ กทม. ขับเคลื่อนการส่งเสริมให้ประชาชนและภาครัฐ มีส่วนร่วมป้องกันการทุจริต

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คณะกรรมการ สปท.) ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566

สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการ สปท. เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี เนื่องจากในปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงไม่ได้จัดให้มีการประชุม ซึ่งนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริต ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีการกำหนดสาระสำคัญในเรื่องกรอบระยะเวลาในการไต่สวนคดีทุจริต กำหนดความรับผิดชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. อำนวยการและบริหารคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยการดำเนินการเองในเรื่องร้ายแรง และมอบหมายให้หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการในเรื่องไม่ร้ายแรง ตลอดจนติดตามการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดมาตรฐานและความเป็นเอกภาพในการทำงาน ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการทางคดีจะส่งผลสู่ประสิทธิภาพความสำเร็จไปสู่การป้องปราม

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เผยว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษ แม้จะไม่มีกลไกในรูปแบบคณะกรรมการระดับจังหวัด แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความสำคัญและดูแลพื้นที่นี้เป็นพิเศษ ในฐานะศูนย์กลางทางการบริหาร ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของเกือบทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ดังนั้น คณะอนุกรรมการ สปท. กทม. ชุดนี้ จึงเป็นกลไกความร่วมมือที่แสดงถึงความตั้งใจที่จะดูแลพื้นที่ กทม.ร่วมกัน ขอขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุกคน ที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเชื่อว่าความตั้งใจนี้จะทำให้ กทม. เป็นเมืองหลวงที่ทันสมัย โปร่งใส ปลอดจากสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบได้อย่างแท้จริง

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การส่งเสริมให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น กทม.พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการดำเนินการดังกล่าว และจะใช้แนวทางการป้องกันการทุจริต เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของ กทม. ต่อไป

ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาแนวทางการประสานความร่วมมือดำเนินการในเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐ และการประสานการดำเนินการต่อเรื่องกล่าวหาร้องเรียน

Advertisement

เชิญชวน ปชช.ลงทะเบียนพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

People Unity News : 19 มีนาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง ใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคง ปลอดภัย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางส่งเสริมให้การบริการของภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ และรัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 ที่ผ่านมานั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการต่าง ๆ ที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นการใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคงปลอดภัย

นายอนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน แทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตน เพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ เป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำธุรกรรมภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางดิจิทัล และมีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการใช้เอกสารราชการปลอมในกระบวนการยืนยันตัวตนของระบบเดิม และเพื่อสนับสนุนการบริการประชาชนของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่จะต้องปรับตัวและวิธีการเพื่อตอบสนองงานบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้า หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย โดยขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ได้อนุญาตให้สามารถใช้บัตรประชาชนดิจิทัล เพื่อติดต่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น กรมสรรพากรที่ได้มีการเชื่อมโยงแอปพลิเคชัน D.DOPA กับเว็บไซต์กรมสรรพากร เพื่อเป็นช่องทางยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91/94 ได้ และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ได้อนุญาตให้ประชาชนที่โดยสารเครื่องบิน สามารถแสดงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบัตรประชาชนดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA เพื่อยืนยันผ่านจุดตรวจค้น และเป็นเอกสารประกอบกับบัตรผ่านขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ก่อนขึ้นเครื่องได้ด้วย ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

“ในปัจจุบันบริการจากภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล รัฐบาลจึงขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อใช้ในการติดต่อทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ใช้พิสูจน์และยืนยันสถานะของตัวบุคคลเมื่อต้องทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งใช้ยืนยันสถานภาพการเป็นคนไทยของตัวบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคงปลอดภัย” นายอนุชา กล่าว

สำหรับแอปพลิเคชัน D.DOPA ได้พัฒนาเวอร์ชันล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนด้วยตัวเองเพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง จากเดิมต้องลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ในการขอรับบริการการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน ที่สำนักทะเบียน ได้แก่ สำนักงานเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด โดยลงทะเบียนด้วยตัวเอง จะใช้วิธีถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้นสแกนใบหน้าเพื่อประมวลผลผ่านเทคโนโลยีชีวมิติ แล้วตั้งรหัสผ่าน 8 หลักเพื่อเข้าใช้งาน เป็นอันเสร็จสิ้น โดยผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ของกรมการปกครอง ได้ทั้งระบบ ios และ Android โดยสามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง หรือลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งภายหลังลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่าง ๆ ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้วข้างต้นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจแทนการใช้บัตรประชาชนได้

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคาดว่าในปี 2566 จะมีประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประจำตัวประชาชนประมาณ 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ และกระทรวงดิจิทัลฯ ยังคาดว่า Digital ID จะเข้ามาแทนที่การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ด้วยความปลอดภัยที่สูงกว่า เนื่องจาก Digital ID จะมีลักษณะเป็นคิวอาร์โค้ด ขณะที่บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงจะเกิดโอกาสที่มิจฉาชีพเห็นข้อมูลหน้าบัตรจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกบัตร การติดต่อหน่วยงาน การใช้ประกอบการทำธุรกรรมการเงิน หรือ ธุรกิจต่างๆ โดย Digital ID จะช่วยลดการปลอมแปลงบัตรประชาชน หรือสวมรอยเจ้าของที่แท้จริงได้

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร“ ลงใต้ กำชับบริหารน้ำทั้งระบบกันน้ำท่วม-แล้งไปพร้อมกัน

People Unity News : 13 มีนาคม 2566 “พล.อ.ประวิตร“ ลงใต้ เร่งติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำ ย้ำต้องดูทั้งระบบ ป้องกันทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง ทักทายประชาชนอย่างอารมณ์ดี พร้อมรับฟังปัญหา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.ชุมพร จ.ระนอง และ จ.สุราษฎร์ธานี ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาพื้นที่และรับฟังความเดือดร้อนประชาชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ให้การต้อนรับ ณ ศาลาอเนกประสงค์พรุเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

พล.อ.ประวิตร รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวม พัฒนาการแผนงานและโครงการน้ำในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2561-2565 คืบหน้า 870 โครงการ ใช้งบประมาณ 4,469.40 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 45,687 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 92,101 ไร่ ป้องกันความเสียหายได้ 15,975 ไร่ และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการสำคัญ 6 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก คลองลิปะใหญ่ ระบบป้องกันน้ำท่วม ตลาดไชยา ชุมชนเชิงมนต์ ชุมชนเฉวง และชุมชนวัดประดู่ ติดตามโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางรัก และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมพรุเฉวง จ.สุราษฎร์ธานี

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้ สทนช. และส่วนราชการจังหวัด ให้ความสำคัญกับพื้นที่เกิดน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายของชุมชนที่ผ่านมา โดยให้เร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการในพื้นที่เสี่ยงที่ประสบปัญหาน้ำท่วม บริเวณ ต.ท่าอุแท ต.ปากแพรก ต.ไชยคราม ต.สมอทอง ต.เขานิพนธ์ ต.พรุพี และ อ.บ้านนาสาร อ.พุนพิน อ.คีรีรัฐนิคม อ.บ้านขุนตาล และ อ.ดอนสัก พร้อมขอให้เร่งรัดกำกับโครงการชุมชนบางรัก ระยะที่ 1 การพัฒนาแหล่งน้ำทุ่งจอ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำสหกรณ์นิคมนครพนม และการขยายระบบประปา ต.เกาะพะงัน ให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดผลกระทบความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยของจังหวัดในภาพรวม ทั้งนี้ ให้เตรียมการ 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำบริโภคกับประชาชนในฤดูแล้งไปพร้อมกัน

พล.อ.ประวิตร กล่าวทักทายพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างอารมณ์ดีและเป็นกันเอง พร้อมรับฟังปัญหาจากประชาชนโดยตรง

Advertisement

รัฐบาลพร้อมส่งเสริม “มวยไทย” ต่อยอดเป็น Soft Power โดดเด่น

People Unity News : 6 มีนาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย “มวยไทย” ได้รับความนิยมต่อเนื่อง หลายหน่วยงานให้การรับรองและบรรจุเป็นชนิดกีฬาในเวทีระดับสากล พร้อมส่งเสริม พัฒนาต่อยอดเป็น Soft Power ที่โดดเด่นของไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศไทย ได้รับการบรรจุเป็นชนิดกีฬาในการแข่งขัน European Games 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566 นี้ สะท้อนความนิยมของมวยไทยในระดับสากล และเป็นความก้าวหน้าสำคัญในการผลักดันมวยไทยเป็น Soft Power ตามนโยบายส่งเสริม Soft Power 5 หมวด (5F) ของรัฐบาล ต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการโอลิมปิกยุโรป (The European Olympic Committees: EOC) ประกาศบรรจุมวยไทยเป็นชนิดกีฬาในการแข่งขัน European Games 2023 อย่างเป็นทางการ โดยเห็นว่า มวยไทยเป็นหนึ่งในกีฬาต่อสู้ที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลกทั้งในแง่ของนักกีฬาและผู้ชม รวมถึงเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป จึงได้บรรจุมวยไทยเป็นชนิดกีฬาในการแข่งขันฯ อย่างเป็นทางการ โดยจะมีการแข่งขันประเภทชาย 7 รุ่น ประเภทหญิง 7 รุ่น และประเภททีมผสม ซึ่งก่อนการแข่งขันหรือขึ้นชก นักกีฬาจะมีการรำไหว้ครูตามประเพณีของมวยไทยด้วย

นอกจากนี้ “มวยไทย” ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของประเทศไทย ยังได้รับการรับรองจากองค์กรกีฬาที่มีชื่อเสียง อาทิ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) และล่าสุด คณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Olympic & Paralympic Committee: USOPC) ได้รับรองมวยไทยเป็นชนิดกีฬาใหม่ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

“นายกรัฐมนตรียินดีกีฬามวยไทยได้รับความสนใจและชื่นชอบจากนานาประเทศทั้งเพื่อการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นอีกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจและชื่นชอบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภูมิใจที่มวยไทยได้รับการรับรองและบรรจุเป็นชนิดกีฬาในเวทีการแข่งขันระดับสากลอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันส่งเสริมและผลักดันมวยไทย ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล พร้อมพัฒนาต่อยอดเป็น Soft Power ที่มีศักยภาพของประเทศ สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้ประเทศ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนที่แนวเขตรัฐ One Map กลุ่ม 3 จำนวน 11 จังหวัด

People Unity News : 28 กุมภาพันธ์ 2566 ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 One Map กลุ่ม 3 จำนวน 11 จังหวัด จัดสรรที่ทำกิน-ลดความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ยึดเส้นแนวเขตของ ส.ป.ก.

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map พื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และ เลย (ยกเว้นกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี) และให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map โดยใช้แผนที่ One Map ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้วแทนแผนที่แนบท้ายกฎหมาย และใช้เป็นแนวเขตที่ดินของรัฐตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจขึ้นกับประชาชนให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 65 ที่ให้นำไปใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน และที่ประชุม ครม. ยังรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นกรณีเร่งด่วน

“การปรับปรุงแผนที่ One Map เป็นการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินเพื่อให้มีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ถูกต้อง ทันสมัย อยู่บนมาตรฐานแผนที่มาตราส่วน 1 : 4000 ภายใต้แนวความคิด “หนึ่งพื้นที่ หนึ่งหน่วยงานรับผิดชอบ” มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาการกำหนดเขตประเภทที่ดินของรัฐมีความทับซ้อนกัน โดยไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320.7 ล้านไร่ แต่จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีที่ดินของรัฐที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานรวมมากถึง 465.08 ล้านไร่ ซึ่งเกิดจากการมีกฎหมายกำหนดแนวเขตประเภทที่ดินของรัฐหลายฉบับและใช้มาตราส่วนในแผนที่แนบท้ายแตกต่างกันทำให้แนวเขตที่ดินทับซ้อนกัน โดยโครงการปรับปรุงแผนที่ One Map แบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด เริ่มจาก กทม. และปริมณฑล ซึ่งที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุง แผนที่ One Map ดังกล่าวไปแล้ว 2 กลุ่ม โดยพื้นที่กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี และพื้นที่กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด) ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี” น.ส.ทิพานัน กล่าว

สำหรับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map ในพื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด โดยในภาพรวมพบว่า มีพื้นที่ก่อนปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ รวม 89.9 ล้านไร่ ภายหลังปรับปรุงแนวเขตฯ มีพื้นที่ลดลงเหลือ 41.35 ล้านไร่ โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจขึ้นกับประชาชนใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น

1.กรณีการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map แล้วปรากฏว่ามีที่ดินของหน่วยงานของรัฐที่จัดสรรให้กับประชาชนตามกฎหมายต่าง ๆ นอกเขตพื้นที่ตามกฎหมาย หรือนอกเขตดำเนินการของหน่วยงานนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากประชาชนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินมีข้อโต้แย้ง ให้พิจารณาดำเนินการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย และหาแนวทางแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม

2.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลนตามมติ ครม. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 61 โดยมีสาระสำคัญ เช่น เมื่อผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอนแล้วว่าเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิมจริง ให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่พิจารณาอนุญาตตามกฎหมายโดยไม่ให้เอกสารสิทธิ และอาจกำหนดเงื่อนไขให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์พื้นที่ป่าด้วย

3.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตที่ราชพัสดุและที่สาธารณประโยชน์ กรมธนารักษ์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการจัดให้เช่า การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือแนวทางอื่นที่เหมาะสมตามกฎหมาย

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรีนั้น การดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ยึดเส้นแนวเขตของ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่ One Map ข้อ 5.1 และข้อ 6.1 คือ

1.ข้อ 5.1 กรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินให้ใช้แนวเขต ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่มีแผนงานดำเนินการแล้วเป็นหลัก และกรณี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล อำเภอ ที่ ส.ป.ก.ประกาศกำหนดเขตปฏิรูปในภาพรวมทั้งตำบลหรืออำเภอโดยไม่ได้กันบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ป่าออก มีแนวทางดาเนินการ เช่น ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ ส.ป.ก. เป็นต้น

2.ข้อ 6.1  กรณีกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. และได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินก่อนการกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก เว้นแต่เป็นพื้นที่ที่ไม่สมควรนำไปปฏิรูปที่ดิน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 37 ให้ใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติฯ เป็นหลัก “สำหรับกรณีพื้นที่นอกแนวเขตที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการ แต่อยู่ภายในเขตเส้นปรับปรุงปี 2543 ที่ประชุม มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการ การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน รับเรื่องไปพิจารณาว่าควรใช้แนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมอย่างไรและให้นำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไปเพื่อดำเนินการอย่างเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประชาชนประมาณ 300 ราย” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement

FOLLOW US

20,829แฟนคลับชอบ
2,508ผู้ติดตามติดตาม

RECENT POSTS

Verified by ExactMetrics