วันที่ 18 พฤษภาคม 2024

“ขนุนหนองเหียงชลบุรี” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว

People Unity News : 13 พฤษภาคม 2566 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศ “ขนุนหนองเหียงชลบุรี” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว คาดสร้างเงินเข้าจังหวัดได้ไม่ต่ำกว่า 850 ล้านบาท/ปี และส่งออกไปต่างประเทศปีละ 106 ล้านบาท ย้ำหลังขึ้นทะเบียน GI จะยิ่งช่วยผลักดันสินค้าเป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่าและสร้างเงินให้ท้องถิ่นได้มากขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ผ่านแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ ขนุนหนองเหียงชลบุรี ซึ่งเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงมายาวนาน เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและท้องถิ่นที่ปลูกขนุน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้เพิ่มขึ้น

ขนุนหนองเหียงชลบุรี มีลักษณะเป็นขนุนผลใหญ่ เปลือกบาง ซังน้อย ยวงใหญ่ เนื้อหนา แห้ง และกรอบ เนื้อมีสีเหลืองทอง สีเหลืองเข้ม สีเหลืองอมส้ม ไปจนถึงสีแดงอมส้ม รสชาติหวานกำลังดี มีกลิ่นหอมไม่แรงเกินไป เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งปลูกและผลิตในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยมีหลายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองประเสริฐ พันธุ์มาเลย์ พันธุ์เพชรราชา พันธุ์แดงสุริยา และพันธุ์ทองส้ม โดยสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนกว่า 850 ล้านบาทต่อปี และสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น จีนและเวียดนาม มูลค่าประมาณ 106 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย รวมแล้ว 185 สินค้า ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก และยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไม่ให้ถูกกดราคาสินค้าเกษตร โดยกรมฯ ตั้งเป้าสร้างมูลค่าการตลาดสินค้า GI ไทย สร้างเงินไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาทอีกด้วย

Advertisement

ธ.ก.ส. ยกระดับ SME สู่แกนกลางเกษตรไทย เติมความรู้ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 กุมภาพันธ์ 2567 ธ.ก.ส. พร้อมมุ่งสู่แกนกลางการเกษตร ยกระดับ SME และเกษตรกรหัวขบวน โดยเติมองค์ความรู้ด้านการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง และการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน พร้อมเชื่อมโยงการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ พัฒนาศักยภาพการผลิตและเชื่อมโยงการตลาด อันนำไปสู่การสร้างรายได้และช่วยให้เกษตรกรสามารถหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในการเปิดงานเสวนาโครงการ “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้” ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยนำเกษตรกรหัวขบวน และผู้ประกอบการ SME เกษตรในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มาร่วมสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ให้สามารถฟื้นฟูการประกอบอาชีพ มีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและมีรายได้เพิ่มขึ้น อันนำไปสู่การหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน โดยมีคณะผู้บริหาร เกษตรกรหัวขบวน ผู้ประกอบการ SME เกษตรและพนักงาน ธ.ก.ส. เข้าร่วมกิจกรรม ณ อาคารทาวเวอร์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในช่วงปี 2567 – 2569 พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องเข้าร่วมการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 900,000 ราย เพื่อขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นและเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้จับมือกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ การเพิ่มศักยภาพในการผลิต การแปรรูปสู่เกษตรมูลค่าสูง ทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปและพัฒนาผลผลิต ให้กับเกษตรกรหัวขบวนและผู้ประกอบการ SME เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ โดยเริ่มจากการปรับวิธีคิด เช่น ก่อนลงมือผลิต ตั้งคำถาม ขายอะไร? ขายใคร? ขายเมื่อไหร่? ขายที่ไหน? ขายปริมาณ? ขายราคา? รวมถึงสามารถเชื่อมโยงตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อย เช่น การรับซื้อผลผลิต การจ้างแรงงานในพื้นที่ หรือการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรรายย่อยในการพัฒนาศักยภาพในการผลิต เป็นต้น พร้อมจัดเสวนา “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้” โดยนำเครือข่ายส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เครือข่ายผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร  หัวขบวน กลุ่ม New Gen และ Young Smart Farmer ที่อยู่ในโครงการ Design & Manage by Area (D&MBA) ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ จำนวน 10 ราย มาร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองในการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในการประกอบอาชีพ สู่การสร้างงานสร้างรายได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างตรงจุดและยั่งยืน

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้รายย่อยผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

Advertisement

ครม. หนุนการใช้รถ EV เคาะ 2 มาตรการ “ลดภาษีประจำปี – เว้นอากรศุลกากร”

People Unity News : 28 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุม ครม. (26 ก.ค. 65) เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดยส่งเสริมการผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (ประเภท Battery Electric Vehicle หรือ BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีในปี 65 – 68

สาระสำคัญ คือ ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับ (1) รถยนต์นั่ง (2) รถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และ (3) รถยนต์กระบะ แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ร่างประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 68

โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่กำหนด เช่น ให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศ สำหรับการนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือเขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่ม ในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV) หน้าโรงงาน และการยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ดังกล่าว ต้องมีผลรวมของมูลค่าวัตถุดิบ ที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มูลค่าวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิก ASEAN มูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งของนั้น และกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของราคาหน้าโรงงาน โดยผู้ขอใช้สิทธิต้องเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากรหรือในเขตประกอบการเสรี ในปี พ.ศ. 65 – 68 คาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ประมาณ 36,128 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการภายในประเทศ แต่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (BEV)

Advertisement

ธอส. จัดทำโครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2566 ลดดอก ช่วยคนไทยมีบ้านง่ายขึ้น

People Unity News : 14 พฤศจิกายน 2566 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ขานรับนโยบายรัฐบาล เตรียมกรอบวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท จัดทำโครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2566 สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบ้านให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระเงินงวดลดลง สำหรับลูกค้า 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่มีความประสงค์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยธนาคารไม่พิจารณาประวัติการผ่อนชำระหนี้ หรือสถานะในการทำข้อตกลงประนอมหนี้ อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี (4.90% ต่อปี) และ 2. ลูกค้าใหม่ (รีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินอื่นมายัง ธอส.) อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 เท่ากับ 3.75% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 4% ผู้ที่สนใจสามารถยื่นกู้/ยื่นคำร้อง ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ

นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ได้สนับสนุนให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาแล้วมากกว่า 4.4 ล้านครอบครัว และมีบทบาทในการขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีผลต่อการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยลดค่าครองชีพของลูกค้าประชาชนในการผ่อนชำระเงินงวดในระดับที่เหมาะสม โดยจัดทำสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสานต่อการช่วยเหลือลูกค้าประชาชน ธอส.จึงได้จัดสรรกรอบวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท จัดทำ “โครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2566” สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยคนไทยให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น ตามนโยบาย นายพชร อนันตศิลป์ ประธานกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยโครงการดังกล่าวจัดทำสำหรับลูกค้า 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่มีความประสงค์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยในวันยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต้องไม่มีหนี้ค้างชำระและผ่อนชำระหนี้เงินกู้กับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี นับจากวันทำสัญญาครั้งแรก คิดอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-2 เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี (4.90% ต่อปี) ปีที่ 3 เท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี (5.90% ต่อปี) และปีที่ 4 เป็นต้นไป กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ลูกค้ารายย่อย อัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี และซื้ออุปกรณ์/ชำระหนี้ เท่ากับ MRR

2.สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกค้ากู้ใหม่ ที่ต้องการรีไฟแนนซ์บ้าน หรือห้องชุด(คอนโดมิเนียม) จากสถาบันการเงินอื่น กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อหลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลา 3 ปี ปีที่ 1 เท่ากับ 3.75% ต่อปี ปีที่ 2 เท่ากับ 4.00% ต่อปี ปีที่ 3 เท่ากับ 4.25% ต่อปี ปีที่ 4-5 เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี (4.90% ต่อปี) ปีที่ 6-7 เท่ากับ MRR-1.50% ต่อปี (5.40% ต่อปี) และปีที่ 8 เป็นต้นไป กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.50% ต่อปี ลูกค้ารายย่อย อัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี และกรณีกู้ชำระหนี้ = MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. เท่ากับ 6.90% ต่อปี) กรณีกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 4,400 บาท/เดือนเท่านั้น พิเศษ!! ยกเว้นค่าประเมินราคาหลักประกัน และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนอง

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถยื่นกู้/ยื่นคำร้อง ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และทำนิติกรรมภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ G H Bank  Call Center โทร.0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB  ALLGEN และ  www.ghbank.co.th

Advertisement

รัฐบาลคาดปี 66 รายได้ท่องเที่ยวสูงสุด 2.38 ล้านล้านบาท

People Unity News : 19 กันยายน 65 รัฐบาลคาดปี 2566 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดรวม 2.38 ล้านล้านบาท กลับมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลวางเป้าหมายสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยให้ภาพรวมปี 2566 การท่องเที่ยวของไทยกลับมาอยู่ในสัดส่วนเป็น 80% ของปี 2562 (ก่อนสถานการณ์โควิด-19) โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 1.73 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 970,000 ล้านบาท และรายได้หมุนเวียนจากตลาดคนไทย 760,000 ล้านบาท และเชื่อว่าหากเป็นไปตามสถานการณ์ท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario) คาดว่าจะมีรายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 880,000 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยินดีที่สายการบินมีการปรับแผนและการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในฤดูการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 จนถึงต้นปีหน้า หรือช่วง High Season โดยจากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่าไตรมาส 4 ในเดือน ตุลาคม – ธันวาคม จะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 1.5 ล้านคนต่อเดือน ซึ่ง ททท.จะจับมือกับสายการบินพันธมิตรผลักดันการท่องเที่ยวช่วง High Season ผ่านการส่งเสริมการขายและการตลาดอย่างต่อเนื่อง สะท้อนบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักหลังนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

“ภายหลังรัฐบาลผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติ และเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงเดือนกันยายน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยกว่า 5 ล้านคนแล้ว ซึ่งเฉพาะในเดือนกันยายนจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน และคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคน หรือมากกว่านั้น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมการรองรับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้ร่วมกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันหารือแนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ รวมถึงการส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เข้ามามากขึ้น แทนการเน้นในเรื่องของจำนวนปริมาณนักท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ธ.ก.ส. จัดงาน BAAC Farmers Market นำสินค้าของขวัญปีใหม่ จากชุมชนอุดมสุขทั่วประเทศ มาจำหน่าย 19-21 ธ.ค.นี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 ธันวาคม 2566 ธ.ก.ส. ชวนช้อปชุดของขวัญปีใหม่ที่ควรค่าต่อการส่งมอบความสุขให้กับคนพิเศษ แถมยังส่งต่อกำลังใจและสร้างเศรษฐกิจที่ดีคืนกลับสู่ชุมชน พบสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์คุณภาพมาตรฐาน A-Product กว่า 40 ร้านค้าในงาน BAAC Farmers Market ที่มาในธีมชุมชนอุดมสุขทั่วไทย ที่ส่งตรงจากแหล่งผลิตมาให้เลือกซื้อ ณ บริเวณด้านหน้า ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 19 – 21 ธันวาคมนี้

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. จัดงานเทศกาลของขวัญจากชุมชนอุดมสุขทั่วไทย (BAAC Farmers Market) โดยมีบูธจำหน่ายสินค้ากว่า 40 ร้านค้า จากเกษตรกรและชุมชนอุดมสุขทั่วประเทศ ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค อาทิ ผักผลไม้สดปลอดสารพิษตามฤดูกาล ข้าวสาร น้ำผึ้ง กาแฟสด โจ๊กปลาแดดเดียว อาหารทะเลเผา สินค้าแปรรูป ทั้งอาหารทะเล เนื้อแดดเดียว กล้วยเบรกแตก น้ำมันมะพร้าว ชุดเครื่องนอนจากยางพารา เครื่องประดับ เวชสำอาง ผ้าทอและผ้าไหมพื้นเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังมองหาชุดของขวัญปีใหม่เพื่อมอบให้คนที่คุณรัก ยังมีชุดของขวัญสุดพรีเมียมมากมายมาให้เลือกสรร อาทิ เมล่อนผลสด Furano และกระเช้าของขวัญจากวิสาหกิจชุมชนวัยหวานที่มีทั้งผัก ผลไม้แปรรูปเพื่อสุขภาพ ชุดเครื่องนอนยางพาราเพื่อการรักษา ชุดเครื่องสำอางจากสมุนไพรไทย เป็นต้น ซึ่งทุกๆผลิตภัณฑ์ได้รับการการันตีมาตรฐานคุณภาพส่งออกในราคายุติธรรม นอกจากได้รับสินค้าคุณภาพดีที่หาซื้อจากตลาดทั่ว ๆ ไปไม่ได้แล้ว ท่านยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อกำลังใจให้ชุมชนในการผลิตสินค้าคุณภาพสูงที่มาจากวัตถุดิบที่ดีที่สุดของประเทศไทย เพื่อส่งต่อให้ภาคเกษตรไทย เติบโตสู่เกษตรมูลค่าสูง สร้างงาน สร้างรายได้ และเศรษฐกิจของประเทศ ในโอกาสนี้ ธ.ก.ส. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาร่วมชิม ชม ช้อป ของขวัญและสินค้าคุณภาพจากชุมชนอุดมสุขทั่วประเทศได้ในงาน BAAC Farmers Market ระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคมนี้ ณ บริเวณด้านหน้า ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

Advertisement

ธปท.เผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ

People Unity News : ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ

30 ธันวาคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนตุลาคม หลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าและปัญหาอุปทานชะงัก หรือ supply disruption ทยอยคลี่คลายลง

ด้านการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ่านรายจ่ายเงินโอน ทั้งนี้ อุปสงค์ที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังเปราะบาง ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ยังกล่าวถึง การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ประเมินเบื้องต้นอาจจะได้รับผลกระทบในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และยังเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวมีไม่มากนักทั้งนี้ ในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ กนง.ได้รับประมาณการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.4 เนื่องจากยังมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ อีกทั้งมีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม แต่ก็ยังคงต้องติดตามการระบาดอย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ยังคงขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ส่วนผลกระทบจากโอมิครอนจะเริ่มเห็นผลกระทบช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565

Advertising

นายกฯหารือผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมทำงานแบบ New Normal ร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน

People Unity News : นายกฯพบหารือผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เน้นการทำงานในรูปแบบ New Normal ร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน

19  มิถุนายน 2563 เวลา 11.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อหารือและรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยการประสานเพื่อขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบ New Normal โอกาสนี้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการแก้ปัญหาระยะยาว ลดผลกระทบจากปัญหาไวรัสโควิด-19 โดยดำเนินมาตรการต่างๆครอบคลุมทั้ง “เยียวยา” และ “ฟื้นฟู” เช่น การลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วให้มีการขยายการปรับลดค่าไฟฟ้าจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 5  การลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือร้อยละ 0.01 ในปี 2563  การลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจากร้อยละ 4 ให้เหลือเพียงร้อยละ 1 และขยายระยะเวลาลดเงินสมทบประกันสังคมของลูกจ้าง ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 63  เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและรักษาตำแหน่งงานในระบบ รวมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารและสถานบันการเงินของรัฐต่างๆ รวมทั้ง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย มาตรการที่ออกมาเพราะรัฐบาลตั้งใจดูแลประชาชนทุกกลุ่มทั้งผู้ประกอบการ SMEs  แรงงานและเกษตรกร ล้วนเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น

โอกาสนี้  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวประทับใจต่อคำแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีถึงรูปแบบการทำงานของ “วิธีการทำงานแบบ New Normal ของนายกรัฐมนตรี” ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีสร้างโอกาสและเวทีให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศและหน่วยงานภาครัฐ ร่วมพูดคุยหารือถึงข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนอย่างตรงไปตรง รวมทั้งการที่รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ต่อเนื่องจนถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากมาตรการต่างๆ ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนวิกฤต “โควิด-19” ให้กลายเป็น “โอกาส” หลังจากไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างดี จนได้รับการยอมรับและชื่นชมจากนานาประเทศ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังแสดงความความมั่นใจด้วยว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นเป้าหมายปลายทางที่น่าสนใจทั้งสำหรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

นายกรัฐมนตรียังย้ำว่าวันนี้คือการทำงานแนวใหม่ “New Normal” ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชน ลดปัญหา อุปสรรคและเน้นให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานให้เป็นมิติใหม่ของการทำงานเพื่อประเทศไทยอย่างแท้จริง

Advertising

รมว.สุชาติ เร่งแก้ปัญหาการว่างงาน ประเดิมจ้างงานในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด 40,951 อัตรา

สุชาติ ชมกลิ่น

People Unity News : รมว.แรงงาน เร่งขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาว่างงาน มุ่งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เดินหน้าจ้างงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 คลี่คลาย กว่า 40,951 อัตรา มุ่งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังโรงงานปิดตัวเป็นจำนวนมาก แนะเด็กไทยเลือกเรียนสายอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องตลาดแรงงาน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานที่เกิดกับพี่น้องแรงงานในทุกภาคส่วนของประเทศไทย ซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แม้กระทั่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องเผชิญกับสภาวะดังกล่าว ซึ่งกรมการจัดหางานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งหามาตรการเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้ประชาชนได้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงานเศรษฐกิจและสังคม  โดยเร่งเตรียมตำแหน่งงานว่าง พร้อมร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง อบรมยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการในการจูงใจนักลงทุนให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC  โดยเฉพาะการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมใหม่

“ขณะนี้ สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศได้คลี่คลายลง กรมการจัดหางานมีแนวคิดจะกระตุ้น การจ้างงานในพื้นที่ EEC ทันที ซึ่งจะสอดรับการเป็นพื้นที่การลงทุนของรัฐบาล ที่ดึงให้นักลงทุนมาประกอบกิจการเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ในพื้นที่ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยประเภทงานที่ EEC มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานด้านการผลิตอื่นๆ แรงงานทั่วไป 12,706  อัตรา 2.พนักงานรักษาความปลอดภัย 11,437 อัตรา  3.พนักงานบริการอื่นๆ 1,807 อัตรา 4.ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับอื่นๆ 1,186 อัตรา 5.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ 872 อัตรา 6.ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า 826 อัตรา  7.ช่างเทคนิควิศวกรรมโยธา (ก่อสร้าง) 618 อัตรา 8.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 609 อัตรา 9.เจ้าหน้าที่เทคนิคเคมี ช่างเทคนิค (อินทรีย์เคมี ยาง พลาสติก โพลิเมอร์ สี กระดาษ น้ำมัน เส้นใย อาหารและเครื่องดื่ม) 604 อัตรา 10.เจ้าหน้าที่การตลาด 516 อัตรา และอื่นๆ (ช่างเทคนิควิศวกรรมเครื่องกลอื่นๆ แม่บ้านและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า ฯลฯ) 9,770 อัตรา โดยแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ EEC มีทุกระดับตั้งแต่แรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือ และไร้ฝีมือ ซึ่งมีความต้องการครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงปริญญาตรี ขึ้นไป” นายสุชาติ กล่าว

Advertising

พาณิชย์คาดภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยครึ่งหลังปี 61 ขยายตัวต่อเนื่อง

People unity news online : 4 กรกฎาคม 2561 ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ว่า มีแนวโน้มที่ดี โดยมีสัญญานของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้วัดต่างๆในช่วงครึ่งปีแรกที่สอดคล้องกัน ทั้งด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพของราคา

ในด้านอุปทาน มีสัญญานที่ดีจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีการปรับตัวดีขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยเฉลี่ยขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน แม้ว่าสินค้าเกษตรบางชนิดจะยังมีราคาลดลงก็ตาม ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ก็มีสัญญาณที่ดีจากกำลังการผลิต (Cap U) ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในขณะที่อัตราการว่างจ้างงานก็ยังอยู่ในระดับต่ำที่มีเสถียรภาพ

นอกจากนั้น ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีคาดว่าจะมีแรงกดดันต่อต้นทุนและราคาสินค้าลดลง ทั้งจากมาตรการดูแลของภาครัฐ และแนวโน้มราคาพลังงานโลก ที่แม้จะยังมีโอกาสผันผวน แต่คาดว่าน่าเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน (60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)

ในด้านอุปสงค์ มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีในเกือบทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและการค้าระหว่างประเทศ โดยการบริโภค มีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การบริโภคภาคเอกชน (ทั้งจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการบริโภคใน GDP) สอดคล้องกับปริมาณเงินในระบบ (ทั้ง M1 และ M2) ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและเพิ่มขึ้นในลักษณะที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากรายได้เกษตรกรเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (มาจากราคาและปริมาณสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น) เช่นเดียวกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 7 เดือน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผ่านเครื่อง EDC) จะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนในกลุ่มนี้ได้อีกประมาณ 7% ในขณะที่การลงทุนขยายตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ยังขยายตัวได้ดีจากการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะเห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 0.2% ใน Q4/60 เป็น 1.9% ในไตรมาสล่าสุด (Q1/61) ในขณะที่การส่งออกก็ยังขยายตัวในระดับสูงถึง 11.6% (รวม 5 เดือน) สอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันของไทยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าทั้งปีน่าจะมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวเกินเป้าหมายร้อยละ 8 โดยมีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อน อาทิ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ขยายตัวได้ดี รวมทั้งสินค้าเกษตรสำคัญก็มีแนวโน้มปรับตัวที่ดีตามลำดับ ทั้งจากความต้องการและราคาที่ยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายของแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับลด TIP Report ลงมาเป็น Tier 2 ในขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวและเอื้อต่อการผลิตและสนับสนุนการบริโภคในประเทศ โดย 5 เดือนขยายตัว 16.6% โดยรวมแล้วการค้าระหว่างประเทศยังเกินดุลในระดับที่ดี

Price Stability พบว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับแบบค่อยเป็นค่อยไป (ล่าสุด มิ.ย. 1.38%, 6M 0.97%) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี (สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดต่างๆด้านอุปสงค์) ในขณะที่ต้นทุนสินค้าและบริการยังอยู่ในระดับปกติซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆแล้วเงินเฟ้อของไทยถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมามีลักษณะที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (ทั้งไทยและโลก) และอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน แม้ที่ผ่านมายังแข็งค่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับปีก่อน ( 6 เดือนแข็งค่าร้อยละ 8.6) แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีก็น่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ (32-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)

เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีจะยังคงมี Momentum ต่อเนื่อง ทั้งในด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพราคา ซึ่งจะส่งผ่านให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังขยายตัวต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้ตามการคาดการณ์

People unity news online : post 4 กรกฎาคม 2561 เวลา 12.40 น.

Verified by ExactMetrics