วันที่ 29 เมษายน 2024

สธ.เชิญชวนประชาชน บริจาคโลหิตสร้างกุศล ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์

People Unity : กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนประชาชนสร้างกุศล ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ด้วยการบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน เพิ่มปริมาณโลหิตสำรองคงคลังพร้อมดูแลใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยเลือด 1 ถุงช่วยได้ 3 ชีวิต

วันที่ 26 ตุลาคม 2562 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย รณรงค์ขอประชาชนบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง เพื่อให้มีปริมาณโลหิตสำรองคงคลังอย่างน้อย 3,000 ยูนิต/วัน เพียงพอนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินและวิกฤต หรือสถานการณ์ต่างๆ อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เทศกาลต่างๆ ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ปีใหม่ สงกรานต์ ซึ่งจะมีความต้องการใช้โลหิตเพิ่มมากขึ้น โดยการบริจาคโลหิต 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 20 กว่านาที ได้เลือด 1 ถุง ประมาณ 350-450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค สามารถนำไปช่วยผู้ป่วยที่ต้องการเลือดได้ถึง 3 ชีวิต

นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า ผู้ที่สามารถบริจาคโลหิตได้จะต้องมีอายุระหว่าง 17 ถึง 70 ปีบริบูรณ์ (ผู้ที่มีอายุ 17 ปีต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง) น้ำหนักตัว 45 กิโลกรัมขึ้นไป และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนวันบริจาคโลหิต และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตราย เพราะเป็นการสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ โดยในร่างกายจะมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ แต่ใช้เพียง 15-16 แก้ว เมื่อบริจาคโลหิตออกไปไขกระดูกจะสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทนให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม แต่หากไม่บริจาคเมื่อเม็ดโลหิตอายุประมาณ 3 เดือนก็จะหมดอายุและสลายตัว ขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ อุจจาระ

นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าวต่อไปว่า ข้อมูลของสภากาชาดไทยพบว่า ปริมาณสำรองเลือดในคลังของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเนื่องจากมีผู้บริจาคลดลง จากปกติต้องได้รับโลหิตบริจาคตามเป้าหมายคือ 2,000 – 2,500 ยูนิตต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1,500 – 1,700 ยูนิตต่อวัน จึงเกิดการขาดแคลนสะสม จนทำให้ปริมาณโลหิตคงคลังลดน้อยลงจนถึงขณะนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมสร้างกุศลได้ทุกวัน หรือใช้โอกาสวันเกิด วันครบรอบโอกาสสำคัญ ร่วมบริจาคโลหิตได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ และหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิตทุกแห่ง ส่วนภูมิภาคบริจาคได้ที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติในแต่ละจังหวัด

พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนกคลอด สธ.พร้อมผลิตพยาบาล-บุคลากรด้านสุขภาพเอง

People Unity : สถาบันพระบรมราชชนก พร้อมเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการพยาบาล สาธารณสุข และสหเวชศาสตร์ให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสภาสถาบันพระบรมราชชนก ว่า  ขณะนี้ พระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ.2562 ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2562 โดยได้กำหนดให้จัดตั้งสถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีสถานะเป็นสถานศึกษาของรัฐ เป็นนิติบุคคล จัดการการศึกษาระดับปริญญา สามารถประสาทปริญญาบัตรได้เอง พัฒนาระบบบริหารและการจัดการ และวิชาการที่มีความคล่องตัว โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภารกิจหลักเพื่อผลิตกำลังคนด้านสาธารณสุขให้มีความสอดคล้องกับแผนของกระทรวงฯ และภาพรวมของประเทศ ดำเนินการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงมาตรฐานการศึกษาและวิชาการ การจัดการ และฝึกอบรมบุคลากรด้านสุขภาพ การพยาบาล สาธารณสุข และสหเวชศาสตร์ให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ให้กระทบต่อการเรียนการสอนและบุคคลกรในระยะสั้น ได้มีการวางแผนให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นสำนักงานอธิการบดีก่อน ส่วนระยะกลางคือหาพื้นที่เพื่อจัดสร้างสำนักงานอธิการบดีและศูนย์การศึกษาครบวงจร และระยะยาวพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้ครบทุกมิติตามรูปแบบมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการด้านต่างๆ เช่น คณะกรรมการบริหารงานบุคคล คณะกรรมการสภาวิชาการ คณะกรรมการถ่ายโอนกิจการและทรัพย์สิน คณะกรรมการบริหารการเงินและพัสดุ คณะกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมาย เป็นต้น

ทั้งนี้ สถาบันพระบรมราชชนกมีวิทยาลัยในสังกัดกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศจำนวน 39 แห่ง สามารถผลิตบุคลากรด้านสุขภาพแบ่งเป็น ด้านการพยาบาล 2 หลักสูตร คือ พยาบาลศาสตร์บัณฑิต จำนวน 4,000 คนต่อปี และผู้ช่วยพยาบาล จำนวน 1,800 คนต่อปี ด้านสหเวชศาสตร์ จำนวน 8 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาตรี จำนวน 970 คนต่อปี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 730 คนต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการจัดการพัฒนาบุคลากรด้านการบริการสุขภาพ จำนวน 45 หลักสูตร ผู้เข้ารับการพัฒนา 52,000 คนต่อปี ที่ผ่านมาสถาบันพระบรมราชชนกผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 220,000 คน

สังคม : พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนกคลอด สธ.พร้อมผลิตพยาบาล-บุคลากรด้านสุขภาพเอง

People Unity : post 12 พฤษภาคม 2562 เวลา 08.30 น.

นายกฯห่วงเด็กไทยน้ำหนักเกิน-อ้วน ติด 1 ใน 3 อาเซียน แนะใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมออกกำลังกาย

People Unity News : 12 มีนาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ห่วงสุขภาพเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ขอพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลให้เด็กบริโภคอาหารถูกหลักโภชนาการ ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมให้เป็นประโยชน์ ด้วยกิจกรรมออกกำลังกายป้องกันภาวะอ้วน

วันที่ 12 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยสุขภาพเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน หลังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลพบ เด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ภายในปี 2573 ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงขึ้นอีกเกือบร้อยละ 50 โดยนายกรัฐมนตรีฝากความห่วงใยมายังเด็ก ๆ ขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ช่วยดูแลสุขภาพของลูกหลาน ให้รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ เสริมการออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะอ้วนโดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียนนี้

นายอนุชากล่าวถึงข้อมูลของกรมอนามัย จากการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.2 รวมทั้งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็ก พบว่า เด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เด็กประมาณ 1 ใน 5 คนดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน รวมทั้งเด็กยังมีภาวะในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารน้อย เด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ มีเพียงส่วนน้อยที่คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร ซึ่งสาเหตุภาวะอ้วน ส่วนใหญ่เกิดพฤติกรรมการกินจากอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง

ทั้งนี้ กรมอนามัยแนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด ควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ลดขนมหวาน และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก เน้นผักและผลไม้ นอกจากนี้ ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป รวมทั้งควรให้เด็กออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดตบ กระโดดเชือก ซิทอัพ ดันพื้น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อต่าง ๆ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะออกกำลังกาย หรือพ่อแม่ควรเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายร่วมกัน ที่สำคัญควรให้เด็กนอนหลับสนิทเพียงพอ เพื่อช่วยพัฒนาสมรรถภาพของหัวใจ สมอง การเจริญเติบโต ให้สมวัย สูงสมส่วน และแข็งแรงอีกด้วย

“พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง ทั้งขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกลยุทธ์การตลาด ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ที่กระตุ้นให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และเด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ ซึ่งอาจส่งผลไปยังสุขภาพในอนาคตของเด็กไทย โดยพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรฝึกให้เด็กกินหวานลดลง ให้กินขนมไทยน้ำตาลน้อย หวานน้อย หรือฝึกให้เด็กเลือกผลไม้เป็นของว่าง ควบคู่กับการดื่มนมรสจืดและไขมันศูนย์เปอร์เซ็นต์หรือไขมันต่ำเป็นการทดแทน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เด็กเรียนรู้และมีวินัยในการกิน และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีคาดหวังในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กไทยอย่างยั่งยืน โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันทำให้เด็กไทยปลอดภัยจากการตลาดอาหาร ให้ความรู้ด้านโภชนาการกับเด็ก ให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ สามารถเลือกกินขนมหรืออาหารที่ดีต่อสุขภาพของตนเองได้ เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วน รวมทั้งในช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ จึงเป็นโอกาสในการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดพฤติกรรมเสี่ยงโรคอ้วน ด้วยกิจกรรมการออกกำลังกายที่เพียงพอและเหมาะสม ทำให้เด็กสามารถดูแลสุขภาพตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

“ประวิตร” ควง “อดุลย์” ส่งมอบบ้านให้ประชาชนโครงการ “ปทุมธานีโมเดล”

People unity news online : พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พร้อมด้วย รมว.พม. ลงพื้นที่ชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี ส่งมอบบ้านให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ “ปทุมธานีโมเดล” จำนวน 98 ครัวเรือน เพื่อแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกคลองและป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

วันนี้ (28 กันยายน 2560) เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ลงพื้นที่ชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อทำพิธีส่งมอบบ้านให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ “ปทุมธานีโมเดล” จำนวน 98 ครัวเรือน เพื่อแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกคลองและป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยมี นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ โดยมีผู้ร่วมงานประมาณ 300 คน ณ ชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาประชาชนปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำน้ำสาธารณะในจังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะที่บริเวณคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีชาวบ้านปลูกบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองและกีดขวางทางเดินน้ำมานานหลายสิบปี เป็นจำนวน 16 ชุมชน รวม 1,084 ครัวเรือน ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่ริมคลอง โดยการจัดหาที่ดินและสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ชุมชนแก้วนิมิต (ชื่อเดิม) หรือชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี เป็นชุมชนแรกที่ชาวชุมชนได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ ด้วยการออมเงินร่วมกันเป็นรายเดือน เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 5 ไร่ โดยชาวชุมชนได้ร่วมกับสถาปนิกชุมชน ร่วมกันออกแบบบ้าน และบริหารโครงการเอง จนขณะนี้ การก่อสร้างบ้านใหม่จำนวน 98 หลังคาเรือน เสร็จสมบูรณ์ ทำให้ชาวชุมชนมีบ้านใหม่ที่มั่นคง สวยงาม และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งที่ดินใหม่แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากที่เดิมเพียง 5 กิโลเมตร นอกจากนี้ กระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้การสนับสนุนชาวชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในระยะยาวต่อไป

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดย พอช. ได้ดำเนินการสนับสนุนให้ชาวชุมชนรวมกลุ่มกัน เพื่อบริหารจัดการซื้อที่ดินและที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่ง พอช. ได้สนับสนุนงบประมาณการสร้างบ้านใหม่ แบ่งออกเป็น 1) งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค 5 ล้านบาท 2) งบอุดหนุนที่อยู่อาศัย 2.5 ล้านบาท 3) งบบริหารจัดการ 125,000 บาท และ 4) สินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยรวม 32.4 ล้านบาทเศษ กำหนดระยะผ่อนชำระคืน 15 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี เมื่อผ่อนส่งหมด จะเป็นกรรมสิทธิ์ให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยต่อไป สำหรับแบบบ้าน มีทั้งสิ้น 3 แบบ คือ 1) บ้านแฝดสองชั้น ขนาด 56 ตารางเมตร 2) บ้านแฝดสองชั้น ขนาด 63 ตารางเมตร และ 3) บ้านแฝดสองชั้น ขนาด 77 ตารางเมตร โดยมีราคาก่อสร้างพร้อมที่ดิน ต่อหลังประมาณ 272,000 – 295,000 บาท กำหนดระยะเวลาผ่อนส่ง 15 ปี ด้วนอัตราผ่อนส่งเดือนละ 2,500-3,000 บาท

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า หลังจากที่ชาวชุมชนเข้าอยู่อาศัยในชุมชนใหม่แล้ว ทางจังหวัดปทุมธานี จะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรื้อถอนบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่ริมคลอง เพื่อไม่ให้กีดขวางทางระบายน้ำ รวมทั้งขุดลอกคลอง พร้อมกำจัดขยะและผักตบชวา เพื่อให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก เป็นการป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา จังหวัดปทุมธานี ได้จัดทำโครงการ “บ้านประชารัฐร่วมใจ เดินหน้าคืนคลองน้ำใสให้แผ่นดิน” โดยได้รื้อบ้านออกจากริมคลองหนึ่งไปแล้วกว่า 100 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 13 ชุมชน รวม 922 ครัวเรือน ส่วนที่เหลือจะทยอยดำเนินการต่อไป สำหรับประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนบุกรุกพื้นที่ริมคลองและยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ทางจังหวัดจะชี้แจงและเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคงและถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการสร้างบ้านใหม่ที่ชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคีแล้ว กระทรวง พม. โดย พอช. ยังไห้การสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่บนที่ดินราชพัสดุเนื้อที่ 30 ไร่ บริเวณคลองเชียงรากใหญ่ (ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต) ซึ่งเดิมที่ดินแปลงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินราชพัสดุ (กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดูแล) เพื่อใช้สร้างที่อยู่อาศัยรองรับชาวบ้านที่ต้องรื้อย้ายออกจากพื้นที่ริมคลองหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างก่อสร้างเฟสแรก 1 อาคาร จำนวน 23 ครัวเรือน ในรูปแบบเป็นอาคารสูง 3 ชั้น รวมทั้งหมด 12 อาคาร สามารถรองรับชาวบ้านได้รวม 463 ครัวเรือน

People unity news online : post 28 กันยายน 2560 เวลา 20.30 น.

ชวนทุกคนร่วมมืออนุรักษ์-ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

People Unity News : 22 มีนาคม 2566 นายกฯ อ่านสารเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ย้ำ “น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เชิญชวนทุกคนร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ่านสารผ่านบันทึกวีดิทัศน์ เนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ออกอากาศทางเพจไทยคู่ฟ้า Facebook และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  ว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันน้ำโลก เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกร่วมกันรณรงค์ให้เกิดการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นสำคัญในหัวข้อ “เร่งการเปลี่ยนแปลง” ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อลดวิกฤติด้านน้ำและสุขาภิบาล โดยรณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันเป็นผู้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่อยากเห็นในโลกใบนี้

“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ขับเคลื่อนภารกิจด้านทรัพยากรน้ำโดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านจากการวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานและองค์กร รวมทั้งสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ได้วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบพลวัต โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ด้าน คือ การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ การลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติด้านน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและคุณภาพน้ำ และการเสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลนิเวศ วิถีทางสังคม เศรษฐกิจของพื้นที่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างสมดุลการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งนํ้าด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ในลักษณะลุ่มนํ้าอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ด้าน คือ การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำของประเทศที่เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนทุกพื้นที่ ร่วมกับภาคีหน่วยงานและองค์กร นักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่น ควบคู่กับการทำความเข้าใจและขยายเครือข่ายแนวร่วมภาคประชาชน และเดินหน้าไปพร้อมกับประเทศสมาชิกในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ เพื่อยืนยันความร่วมมือ เร่งการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วม ในการประชุมสหประชาชาติทบทวนการดำเนินงานด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดการประชุมระหว่างวันที่ 22 – 24 มีนาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เนื่องในโอกาส “วันน้ำโลก” ประจำปี 2566 ขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งมีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน

Advertisement

สธ.-WHO ถอดบทเรียนไทยรับมือโควิดสำเร็จจาก 5 ปัจจัย เตรียมแถลงในเวทีโลกปลาย พ.ค.นี้

People Unity News : วันนี้ (5 พฤษภาคม 2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แถลงผลสรุปการจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal Health and Preparedness Review (UHPR) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-29 เมษายน 2565

นายอนุทินกล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เลือกประเทศไทยให้เป็นประเทศต้นแบบลำดับที่ 3 ในการนำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า จากการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี และข้อเสนอแนะระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้นจากการจัดกิจกรรมฯ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกและทีมประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีการบริหารจัดการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโควิด 19 เป็นอย่างดี มีความยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ และเน้นการปฏิบัติได้จริง โดยพบปัจจัยสำคัญ คือ 1.มีการสนับสนุนโดยผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายประเทศ 2.ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งจากการลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ทศวรรษ 3.มีความร่วมมือเชื่อมต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคการศึกษา รวมถึง อสม. 4.มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชน และ 5.มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูล

ส่วนอุปสรรคและความท้าทายที่ยังสามารถพัฒนาได้ คือ การบูรณาการข้อมูลจากหลายแหล่ง, การดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงาน ผู้อาศัยในชุมชนแออัด ให้เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น, การเตรียมความพร้อมรับภาวะฉุกเฉินในเขตเมืองและระบบปฐมภูมิ, การต่อยอดหรือสร้างความยั่งยืนในการใช้นวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และการจัดการกับขยะทางการแพทย์หรือขยะติดเชื้อ โดยมีข้อเสนอให้เพิ่มการลงทุนเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้สามารถใช้งานต่อเนื่อง พัฒนากำลังคนแบบสหสาขาและนำกลยุทธ์ที่ใช้ได้ดีไปเตรียมพร้อมรับมือการระบาดครั้งต่อไป ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพ สุขภาวะของประชาชนที่ครอบคลุมถึงกลุ่มเปราะบาง ยกระดับขีดความสามารถการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน ยา ชุดตรวจ และเวชภัณฑ์ พัฒนากลยุทธ์ในการบูรณาการข้อมูล รวมถึงค้นหาและบันทึกตัวอย่างที่ดี บทเรียนที่สำคัญในการจัดการกับการระบาดใหญ่เพื่อเผยแพร่ต่อไป

“ประเทศไทยได้รับคำชมจากผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ถึงนโยบายและมาตรการแนวทางการดำเนินงานดูแลประชาชน ทั้งการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทางองค์การอนามัยโลก ระบุว่ายินดีสนับสนุนและร่วมทำงานกับประเทศไทย โดยขอให้ประเทศไทยจัดทำรายงาน UHPR และเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบรายงาน นอกจากนี้ ให้เตรียมการแถลงประสบการณ์ UHPR ในที่ประชุม World Health Assembly (WHA) ปลายเดือนพฤษภาคม 2565 และร่วมกับอีก 3 ประเทศนำร่องในการทบทวนปรับปรุงกระบวนการ UHPR ให้ดียิ่งขึ้นก่อนนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ” นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.จอส กล่าวว่า หลักพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศใดๆ เตรียมพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้ดี จะต้องมี 1.ผู้นำทางการเมืองระดับสูงรับเรื่องเป็นพันธสัญญา 2.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ 3.กรอบความรับผิดชอบ 3 ด้าน ได้แก่ สุขภาพถ้วนหน้า การเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และสุขภาวะที่ดีขึ้นของประชากร นอกจากนี้ ความสำเร็จจะเกิดได้ขึ้นกับการนำไปสู่การลงมือปฏิบัติโดยถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ซึ่ง ดร.สมิลา อัสมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก แสดงความชื่นชมที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องนี้

สำหรับกิจกรรมการทบทวน UHPR ตลอดช่วงวันที่ 21-29 เมษายน 2565 มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องของการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ในสถานประกอบการและผู้ประกันตน การดูแลแรงงานทุกเชื้อชาติ ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ชลบุรี และสมุทรสาคร กิจกรรมหน่วยงานเครือข่ายและชุมชนในกรุงเทพมหานคร มีการฝึกซ้อมแผนด้วยสถานการณ์สมมติ โดยหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ ที่ร่วมดำเนินมาตรการรับมือภาวะฉุกเฉินกรณีโรคโควิด 19 และสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการป้องกันควบคุมโรค ทำให้เห็นการประสานงานหลายภาคส่วนจนถึงในระดับชุมชน

Advertisement

เคาะแล้ว ระเบียบ คกก.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ

People Unity News : 21 กันยายน 2566 รมว.ยุติธรรม เคาะแล้ว ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ลั่นขอให้หน่วยงานถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน

วันที่ 21 ก.ย. 2566 พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้ลงนามประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุม การแจ้งการควบคุมตัว และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ. 2566 พร้อมทั้งแบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (ปท.1) เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานยึดถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ

โดยระเบียบฯ ดังกล่าว เป็นการกำหนดรายละเอียดแนวทางการปฏิบัติตามมาตรา 22 และมาตรา 23 เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ หลักในการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุม หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบในการบันทึกภาพและเสียง การเก็บรักษา ระยะเวลาในการเก็บรักษา และการห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งบันทึกภาพและเสียง การแจ้งการควบคุมตัวแก่พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครอง การจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว (แบบ ปท.1) การตรวจสอบการแจ้งการควบคุมตัว เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ระเบียบฯ ฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ ของเจ้าหน้าที่เกิดความชัดเจน ถูกต้อง และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ โดยจะนำมาซึ่งความยุติธรรม และสร้างความแข็งแกร่งให้กับหลักนิติธรรมต่อไป

Advertisement

ศบค.ปรับเพิ่มพื้นที่สีเหลือง-ฟ้า เริ่ม 1 เม.ย. 65 และคงมาตรการป้องกันควบคุมโรคแบบบูรณาการ

People Unity News : วันนี้ (18 มี.ค 65) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2565

ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 และคงมาตรการป้องกันควบคุมโรคแบบบูรณาการ

– ปรับระดับพื้นที่ควบคุม จาก 44 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด -พื้นที่เฝ้าระวังสูง จาก 25 จังหวัดเป็น 47 จังหวัด -พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวจาก 8 จังหวัดเป็น 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่) พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ใช้มาตรการเช่นเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง

– คงมาตรการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในร้านอาหาร สำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูง คงมาตรการจำกัดเวลาในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 23.00 น. คงมาตรการจำกัดประเภทร้านอาหารที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2-Plus เท่านั้น และตามมาตรการ COVID Free Setting

-Work From Home ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

โดยมอบหมาย มท. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ตรวจประเมินสถานบริการฯ ร้านอาหาร และกำกับติดตามตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนะนำให้หน่วยงาน และสถานประกอบการ เตรียมพร้อมมาตรการ Work From Home หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์

Advertising

“ประยุทธ์” ปราศรัยเนื่องใน “วันแรงงานแห่งชาติ” ประจำปี 2562

People Unity : คำปราศรัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องใน “วันแรงงานแห่งชาติ” ประจำปี 2562 วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2562

พี่น้องผู้ใช้แรงงานที่รักทุกท่าน เนื่องในโอกาส “วันแรงงานแห่งชาติ” วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ที่เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง ผมขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดี มายังพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกท่าน

รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของแรงงาน และมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพ ทั้งในประเทศและอยู่ต่างประเทศอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการกลไกการดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ เพื่อสร้างโอกาสอาชีพ และรายได้ที่มั่นคงให้แก่แรงงานในตลาดแรงงาน และแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพแรงงาน โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้แรงงานมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ และได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในสาขาต่างๆ เพื่อรองรับตลาดแรงงานทั่วโลก และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดียิ่งขึ้น

ในปีที่ผ่านมา ผมขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน และพี่น้องแรงงานที่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ส่งผลให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจัดลำดับสถานะในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีขึ้น มาอยู่ในระดับ Tier 2 ในปี พ.ศ.2561 และได้รับการปลดสถานะใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมายจากสหภาพยุโรปได้สำเร็จ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

เนื่องในโอกาส “วันแรงงานแห่งชาติ” ประจำปี 2562 ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อีกทั้งเดชะพระบารมีแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดดลบันดาลพระราชทานพรให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกท่านพร้อมทั้งครอบครัว ประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีกำลังกาย กำลังใจที่เข้มแข็ง และสัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่พึงปรารถนา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป สวัสดีครับ

สังคม : “ประยุทธ์” ปราศรัยเนื่องใน “วันแรงงานแห่งชาติ” ประจำปี 2562

People Unity : post 1 พฤษภาคม 2562 เวลา 11.30 น.

“วราวุธ”ท็อปฟอร์ม! ผ่านฉลุยปั่นเมืองสุพรรณบุรีครั้งที่ 8

People Unity News : “วราวุธ” ท็อปฟอร์ม เครื่องฟิต งานราชไม่ติด งานกีฬาไม่สะดุด ปั่นเมืองสุพรรณบุรีครั้งที่ 8 ผ่านฉลุย

เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน 100 พลัส สุพรรณบุรีปั่นสไตล์เมืองเหน่อ ครั้งที่ 8 ที่สนามกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี คณะผู้บริหารการกีฬาจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และนักปั่นทั่วประเทศ ร่วมการแข่งขันกว่า 4,000 คน

การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ส่งเสริมให้เยาวชนประชาชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีประโยชน์ และเป็นการรณรงค์ประหยัดพลังงาน และลดมลพิษรวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการปั่นจักรยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุพรรณบุรี ที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีทัศนคติที่ดีในการออกกำลังกาย และเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว สถานที่สำคัญต่าง ๆ ใน จ.สุพรรณบุรี ต่อไป

นายวราวุธ กล่าวว่า “ผ่านไปอีก 1 ปี แล้วครับ กับงานปั่นสไตล์เมืองเหน่อปีที่ 8 งานนี้ จัดเอง คุมเอง ดูงานติดตั้งเอง ลงปั่นเองด้วย ปีนี้ขอปั่นแบบเบาะๆ 23 กิโลเมตรพอครับ เพราะไม่ได้ออกกำลังเตรียมความพร้อมร่างกายเลยตลอด 4 เดือนมานี้ ขอบคุณพี่น้องนักปั่นกว่า 4,000 คนจากทั่วประเทศ ที่มาร่วมปั่นด้วยกันในวันนี้มากๆครับ แล้วพบกันใหม่ปีหน้า ที่นี่ ที่เดิม สุพรรณบุรีครับผม”

Verified by ExactMetrics