วันที่ 29 เมษายน 2024

“ศักดิ์สยาม”เป็นประธานพิธีต้อนรับขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงชุดแรกจากญี่ปุ่น

People Unity News : “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีต้อนรับขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วง “บางซื่อ – รังสิต” และช่วง”บางซื่อ – ตลิ่งชัน” ชุดแรกจากญี่ปุ่น

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 16.00 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีต้อนรับขบวนรถไฟฟ้าโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ชุดแรก โดยมี นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม นางคัทซึระ มิยาซากิ ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้บริหารกิจการค้าร่วม เอ็มเอชเอสซี (MHSC) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ อาคารปฏิบัติการหลัก ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง โครงการระบบรถไฟชนเมือง (สายสีแดง)

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับมอบรถไฟฟ้าชุดแรก จำนวน 10 ตู้ จากทั้งหมด 25 ขบวน ในส่วนขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะทยอยเดินทางมาจนครบทั้งหมดภายในกลางปี 2563 หลังจากนั้นจะดำเนินการทดสอบขบวนรถให้แล้วเสร็จ เพื่อให้พร้อมที่จะดำเนินการทดสอบ System Integration Testing และทดสอบการวิ่งให้บริการเสมือนจริง (Trial Running) ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนที่จะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2564

ขบวนรถไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการรถไฟสายสีแดง เป็นขบวนรถไฟฟ้าของกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC ร่วมกับ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด และ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ประกอบไปด้วยขบวนรถไฟ 2 รูปแบบ คือ รถไฟฟ้าชนิด 6 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คนต่อเที่ยว และรถไฟฟ้าชนิด 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คนต่อเที่ยว มีความเร็วสูงสุดในการออกแบบที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วัสดุขบวนรถเป็น Aluminum Double Skin การออกแบบรถไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟสายสีแดง ได้คำนึงถึงสภาพอากาศของประเทศไทย ภายในขบวนรถมีเครื่องปรับอากาศตู้ละ 2 เครื่อง ใช้กระจกสีสำหรับทำหน้าต่างรถไฟ เพื่อลดปริมาณแสงแดดที่จะส่องผ่านเข้ามาภายในตู้รถ ออกแบบให้ตู้รถแต่ละข้างมี 3 ประตู และเพิ่มจำนวนที่นั่งเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งได้สบายขึ้น รวมทั้งมีหน้าต่างขนาดใหญ่ให้ผู้โดยสารมองเห็นทัศนียภาพภายนอกจากมุมสูงได้มากขึ้น

 

คลังจับมือ 3 สมาคมอสังหาฯ จัดแคมเปญระบายสต๊อกคงค้าง

People Unity News : คลังจับมือ 3 สมาคมอสังหาฯ จัดแคมเปญกระตุ้นยอดซื้อ เพื่อระบายสต๊อกคงค้าง แนะหารือ ธปท. ผ่อนเกณฑ์วงเงิน 5 หมื่นล้านของ ธอส. สามารถกู้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ลุ้นค่าธรรมเนียมโอนมหาดไทยประกาศใช้เร็วที่สุด

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้บริหารของธนาคารอาคารสงเคราะห์ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เพื่อผลักดันให้มาตรการอสังหาริมทรัพย์ฯ ของรัฐบาล ช่วยระบายสต๊อกคงค้างของผู้ประกอบการไม่ให้ทรุดตัวลงไปมากกว่าปัจจุบัน โดยภาคเอกชนขอให้กระทรวงการคลังประสานกับกระทรวงหาดไทย เรื่องประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และขอให้กระทรวงการคลังประสานกับ ธปท. เพื่อขอผ่อนปรนกฎเกณฑ์ LTV เฉพาะกลุ่มของสินเชื่อซื้อบ้านจาก ธอส. วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อให้ขอกู้ได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท

“คลังเตรียมร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ฯ เตรียมจัดแคมเปญใหญ่โค้งสุดท้ายปลายปี เพื่อให้ผู้ประกอบการจัดโปรโมชั่นใหญ่ ลด แลก แจก แถม ผ่านมาตรการของรัฐบาล หวังระบายบ้านค้างสต๊อค 35,000 ยูนิต การออกมาตรการครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ฯ ในช่วงไตรมาส 4 ไม่ให้ทรุดตัวมากตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าภาคอสังหาฯยังขยายตัวได้ร้อยละ 5 -7 ในปี 63 เพราะกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีสัดส่วนในตลาดถึงร้อยละ 60 ของอสังหาฯ ทั้งระบบ” นายชาญกฤช กล่าว

หลังจาก ครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 รวมทั้งมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ดอกเบี้ยพิเศษ 2.5% คงที่ในช่วง 3 ปีแรก วงเงิน 50,000 ล้านบาท

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า เมื่อภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดแคมเปญใหญ่ บวกกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลในครั้งนี้ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมหลายด้าน ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง ตกแต่งภายใน และอีกหลายสาขา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น จึงคาดว่าปีนี้จะมียอดขายประมาณ 210,000 ยูนิต ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 196,000 ยูนิต

นางอาภา อรรถบูบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ยอมรับว่ายอดขายที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมชะลอตัวร้อยละ 20 และยอดขายที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรลดลงเล็กน้อย เมื่อมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ของรัฐบาลออกมา จะช่วยพยุงให้กลุ่มอสังหาฯ ไม่ทรุดตัวไปมากตามที่กังวล อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านไม่เหมือนกับการซื้อสินค้าทั่วไป เพราะกว่าจะโอนได้มีหลายขั้นตอน ฉะนั้น ยอดการโอนบ้านจากการซื้อขายช่วงปลายปี น่าจะทำนิติกรรมแล้วเสร็จได้ในเดือนมกราคม 2563 นับว่าเป็นผลบวกทางจิตวิทยาให้ภาคอสังหาฯ อย่างแน่นอน

รมช.พาณิชย์​สั่งใช้แต้มต่อ FTA ดันผลิตภัณฑ์​โคนมไทยบุกตลาดสิงคโปร์​

People Unity News : “วีรศักดิ์” เผยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนำสหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูปไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้า​ที่สิงคโปร์​ กรุยทางใช้ FTA เป็นใบเบิกทางขยายตลาดสินค้ผลิตภัณฑ์​โคนมไทยเจาะกลุ่มผู้บริโภค​ที่มีกำลังซื้อสูง

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นายวีร​ศักดิ์​ หวัง​ศุภกิจ​โกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้า​ในการดำเนินนโยบายขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยโดยใช้ประโยชน์​จากข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA ล่าสุดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้นำคณะสหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูปที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “จัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA” จำนวน 13 ราย เข้าร่วมชมงานแสดงสินค้า​อาหาร Food Japan ซึ่งงาน Food Japan ดังกล่าว ถือเป็นเป็นงานแสดงสินค้าญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์​

โดยผู้ประกอบการ​ที่นำสินค้ามาแสดงในงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหกรณ์ที่มีการรวมตัวเข้มแข็ง นำเสนอสินค้าพื้นถิ่นของแต่ละชุมชน โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร หรือสินค้าอาหาร และเครื่องดื่ม ที่มีความหลากหลาย ที่สำคัญ​คือมีการใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิต เช่น ผักและผลไม้ออแกนิกส์ ชาเขียวฮาลาล ชีสผสมผลไม้ หรือข้าวสีน้ำตาล (Brown Rice) ที่นำมาผ่านขั้นตอนทำให้กลายเป็นวัตถุดิบที่ในการผลิตสินค้าหลากหลายประเภท เช่น ผงชงดื่มเพื่อสุขภาพ และสาเก เป็นต้น ซึ่งการทึ่กระทรวงพาณิชย์​ไทย โดยกรม​เจรจา​การค้า​ระหว่าง​ประเทศ​ ได้นำตัวแทนสหกรณ์​และผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมชมงาน Food Japan ในครั้งนี้ ก็เป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งในด้านการผลิตสินค้า การนำ นวัตกรรม​มาใส่ในตัวผลิตภัณฑ์​ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์​ ที่สวยงามทันสมัย ดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจในสินค้ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการและตัวแทนสหกรณ์​ไทย ยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบริษัทที่นำสินค้ามาจัดแสดงในงานดังกล่าว ทำให้ได้รับประสบการณ์​ใหม่ๆ เกี่ยวกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ให้มีความน่าสนใจ สามารถดึงจุดเด่นของสินค้ามานำเสนอต่อผู้บริโภคได้ ขณะเดียวกัน​ ยังได้รับทราบแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือ เทรนด์ทางการค้า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและสหกรณ์​โคนมไทยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีอำนาจการซื้อสูง บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย และเป็นศูนย์กลางการค้าที่สามารถกระจายสินค้าของไทยไปยังตลาดโลกได้ โดยในช่วงปี 2559-2561 มูลค่าส่งออกนมโคแปรรูปของไทยในภาพรวม มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ช่วง 8 เดือนแรก ของปี 2562 มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1,238 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.4 สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ โยเกิร์ต บัตเตอร์มิลค์ นมและครีม ตลาดหลักเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น กัมพูชา (ขยายตัวร้อยละ 17) ฟิลิปปินส์ (ขยายตัวร้อยละ 14) และสิงคโปร์ (ขยายตัวร้อยละ 8) รวมทั้งฮ่องกงและจีน เป็นต้น

“จุรินทร์-เฉลิมชัย” kick off!จ่ายเงินประกันยางทั่วประเทศ

People Unity News : “จุรินทร์-เฉลิมชัย” kick off! จ่ายเงินช่วยประกันรายได้ชาวสวนยาง kick off ส่วนต่างยางพารา วันนี้ทั่วประเทศ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 8.30-9.30น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ชี้แจงการจ่ายเงินวันแรก โครงการ ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถือโอกาส สวัสดีพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่มาประชุมกันอยู่ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะแห่งนี้ และก็ชาวสวนยางทั่วทั้งประเทศอีกครั้ง วันนี้เป็นวันแรกที่มีการจ่ายเงินส่วนต่างไปถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางทุกคนตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล

โดยนโยบายประกันรายได้ไม่ใช่นโยบายประกันราคาหลายคนยังเข้าใจสับสนที่บอกว่าไม่ใช่เพราะว่าราคานั้นประกันไม่ได้เพราะมันจะขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก WTO ราคาจึงต้องเป็นไปตามกลไกตลาดนั้นก็คือขึ้นอยู่กับผลผลิตถ้าผลผลิตมากความต้องการใช้น้อยราคาก็ต่ำถ้าผลผลิตน้อยความต้องการใช้มากราคาก็สูงขึ้นอดีต และที่ผ่านมาก่อนมีรัฐบาลนี้เกษตรกรชาวสวนยางจะมีรายได้ทางเดียวคือรายได้จากการขายยางตามราคาตลาดซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเพราะราคายางทั่วโลกตกต่ำและเพราะมีผลกระทบกับประเทศไทยด้วยทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้น้อยลงตรงนี้จึงเป็นที่มาของโยบายรัฐบาลชุดนี้ ที่ได้จัดให้มาโครงการประกันรายได้ขึ้นมา จากนี้ไปเกษตรกรจะมีรายได้ทางที่สองด้วย ก็คือรายได้จากเงินส่วนต่างที่รัฐบาลนี้จะจ่ายให้กับชาวสวนยางทั่วประเทศ ในหนึ่งปีฤดูกาลผลิตเราจะโอนให้ทุกสองเดือน และจะดำเนินการไปเรื่อยเรื่อยตราบเท่าที่ยังมีรัฐบาลชุดนี้

การคำนวณการประกันรายได้ให้เอารายได้ที่ประกันเป็นตัวตั้ง รัฐบาลชุดนี้ประกันรายได้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดีที่กิโลกรัมละ 60 บาท และน้ำยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วยที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยยางแผนดิบที่กิโลกรัมละ 60 บาทเป็นตัวตั้งแล้วเอาราคาตลาดเป็นตัวลบ เราประกันรายได้ให้ชาวสวนยางหัวละไม่เกิน 25 ไร่ขึ้นอยู่กับผลผลิตของพี่น้องว่าได้กี่กิโลกรัม และจะเป็นเงินส่วนต่างที่พี่น้องได้รับซึ่งพี่น้องผลิตยางแผ่นดิบชั้นสามประกันรายได้กิโลละ 60 บาทนั้นถ้าพี่น้องมีสวนยาง 25 ไร่พอดี พี่น้องจะได้รับเงินส่วนต่าง 10,515 บาทและในหนึ่งฤดูกาลผลิตจะโอนให้ทุกสองเดือนโดยเงินงวดต่อไป 10,515 บาท สวนยางก้อนถ้วยกรณี 25 ไร่ได้รับ 6,810 บาท และรัฐบาลจะโอนให้ทุกสองเดือนโดยงวดแรกคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 งวดต่อไป วันที่ 1 มกราคม 2563 และงวดต่อไปงวดที่3 วันที่ 1 มีนาคม 2563

และดำเนินการไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่จะมีรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลชุดนี้ถือว่าโยบายประกันรายได้ชาวสวนยางเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อวุฒิสภาและเป็นคำมั่นสัญญาต่อพี่น้องประชาชนชาวสวนยางทั้งประเทศไว้แล้ว เราใช้เวลาแค่ 98 วันก็โอนเงินส่วนต่างได้ทำได้ไวและทำได้จริง

“สำหรับเกษตรกรบัตรสีชมพูมีสิทธิ์ได้เงินส่วนต่างหรือไม่ ผมถามท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัยตอบว่าได้ครับโดยขออย่างเดียวคือขอให้ปลูกจริง แจ้งจริงว่าปลูกชนิดไหน กี่ไร่ ไม่ใช่ทำยางก้อนถ้วยแต่ไปแจ้งทำยางแผ่นดิบอันนี้ไม่ได้เพราะเงินส่วนต่างไม่เท่ากัน การยางฯจะเข้าไปตรวจสวนจากนั้น ธกส.จะโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องมีเงินเข้ากระเป๋าสองด้าน ด้านที่หนึ่งคือการขายได้ตามราคาตลาด และเงินส่วนต่างเข้ากระเป๋าขวา ทำให้มีรายได้สองกระเป๋าและรัฐบาลชุดนี้ยังมีนโยบายเสริมที่ต้องดึงให้ราคายางในประเทศสูงขึ้นด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว

ประการแรก คือ อีก 1 เดือนหน้าพาพี่น้องประชาชนสู่การประเมินสวนยางยั่งยืนคือการที่จะเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนเกษตรกรชาวสวนยางไม่ต้องพึ่งพาต้นยางอย่างเดียวในพื้นที่แต่เปิดโอกาสให้ปลูกพืชแซม นี่คือนโยบายประการที่หนึ่ง ประการที่สอง จะเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น โดย ส่งเสริมให้มีการลงทุนอุตสาหกรรมยางเพื่อมาผลิต ผลิตผลในประเทศมากขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีข่าวดีที่ภาคตะวันออก คือจะมีการตั้งโรงงานขยายการผลิตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท จะทำยางพาราจะใช้ยางในประเทศมากขึ้น ขายดียิ่งขึ้น

สำหรับภาคราชการจากนี้ไปการยางจะนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อรายงานให้รัฐมนตรีทราบว่า ที่เคยสัญญาว่าจะนำยางไปทำถนนไปทำสนามกีฬา ทำไปแล้วมากน้อยอย่างไรเพื่อกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศ เราจะได้ราคายางที่ดีขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ กำลังดำเนินการที่จะทำอย่างไรให้ยางไทยส่งออกไปตลาดต่างประเทศมากขึ้นภายใต้โดยนโยบายตนและรัฐมนตรีเฉลิม ชัยศรีอ่อน จะให้ฑูตพาณิชย์ทั่วโลก จะต้องช่วยขายยางให้พี่น้องเกษตรกร

“และที่สำคัญไปผมอินเดียมาเมื่อไม่กี่วันก่อนเราสามารถพานักลงทุนไปเปิดตลาดยางที่อินเดียได้สำเร็จขายยางได้ 100,000 ตัน นำเงินเข้าประเทศ 9,000 กว่าล้านบาท จากนี้ไปอีกไม่กี่วันกลางเดือนพฤศจิกายนหลังประชุมอาเซียน ผมขออนุญาตท่านเฉลิมชัยไปบุกตลาดยางที่ตุรกีและเยอรมัน และมั่นใจว่าจะมีข่าวดีให้กับพี่น้อง สุดท้ายนี้มันใจว่าการสั่งการของท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัยบวกการยางอีกไม่กี่วันข้างหน้าเราจะมีข่าวดีให้เกษตรกรชาวสวนยาง เราจะขายยางในปริมาณที่มากมายทีเดียว จะแถลงข่าวให้ทราบเมื่อได้เซ็นสัญญาไม่เกินกลางเดือนขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่จะได้รับเงินส่วนต่างครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และทำให้ผมและท่านเฉลิมชัยสามารถทำนโยบายประกันรายได้ชาวสวนยังทำได้ไว้ทำได้จริง” นายจุรินทร์ ประกาศ ท่ามกลางเสียงปรบมือของเกษตรกร

ทางด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายในส่วนของการประกันรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรในพืชห้าชนิดข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารามันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งณวันนี้ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่นโยบายจนกระทั่งถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 98 วันที่รัฐบาลชุดนี้ทำได้ไวทำได้จริงคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 อนุมัติโครงการประกันรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางระยะที่หนึ่งซึ่งนับจากวันนั้นจนกระทั่งถึงวันนี้ที่ชาวสวนยางได้รับเงินจากการประกันรายได้ใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 16 วันในการให้พี่น้องเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างที่เป็นการประกันรายได้ช่วยครองชีพของพี่น้องชาวเกษตรกรชาวสวน ซึ่งเป็นพืชลำดับที่ 3 ที่ชาวเกษตรกรได้รับจากโครงการประกันรายได้

วันนี้ถือเป็นวันที่พี่น้องเกษตรกรได้จดจำจารึกไว้วันหนึ่งว่าสิ่งที่เราได้สัญญาไว้กับพี่น้องในการที่จะประกันรายได้เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเราสามารถทำตามคำพูดและดำเนินการจนกระทั่งเงินมาถึงมือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้ สำหรับหลักเกณฑ์ของการคือเอาเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทยก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2512 และเปิดโอกาสให้พี่น้องตามหลักเกณฑ์ที่การยางแห่งประเทศไทยกำหนดคือยังอายุเจ็ดปีขึ้นไปและเปิดน่ากินแล้วรายละไม่เกิน 25 ไร่ได้ทั้งเอกสารบัตรสีเขียวและบัตรสีชมพูทั้งสิ้น จำนวน 1,711,252 ราย พื้นที่สวนยางรวม 17,201,391 ไร่ หรือประมาณ 86% ของพื้นที่ทั้งหมด ปริมาณยางที่จะประกันรายได้ (ยางแห้ง) 240 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือ 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน ระยะเวลาดำเนินการ (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563) ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563) จ่ายเงินชดเชย 2 เดือน 1 ครั้ง

โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง งวดที่ 1 จ่ายระหว่าง วันที่ 1 – 15 พ.ย. 62, งวดที่ 2 จ่ายระหว่างวันที่ 1 – 15 ม.ค. 63 และงวดที่ 3 จ่ายระหว่างวันที่ 1 – 15 มี.ค. 63 โดยแบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่อาคารเอศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะเต็มไปด้วยตัวแทนของเกษตรกรจากทุกภาคร่วม 1000 คน พร้อมเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ พร้อมผู้บริหารระดับสูงทุกหน่วยงาน ในโครงการนี้ได้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวีเพื่อแจ้งเกษตรกรสวนยางพาราทั่วประเทศพร้อมกันซึ่งเงินส่วนต่างนั้นจะเริ่มต้นจ่ายวันที่ 1 พฤศจิกายนจนกระทั่งถึง 15 พฤศจิกายน รอบแรกเนื่องจากว่าจะต้องมีการตรวจสอบบัญชีอย่างถูกต้องทุกบัญชี

“มนัญญา”ตรวจด่านเชียงแสน พบสารเคมีผักผลไม้ 14 ชนิด

People Unity News : “มนัญญา”ตรวจด่านเชียงแสน พบสารเคมีผักผลไม้ 14 ชนิด กรมวิชาการเกษตรจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ให้มีศักยภาพ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจด่านตรวจพืชของเชียงแสน กรมวิชาการเกษตร ที่ท่าเรือห้าเชียงและท่าเรือเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยไม่แจ้งหน่วยงานในพื้นที่ล่วงหน้าและเข้าสังเกตการณ์ห้องปฏิบัติการตรวจหาสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ที่นำเข้าจากจีนและและเมียนมา พบกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชคือ ออการ์โนฟอสเฟตหรือคลอร์ไพรีฟอส ออการ์โนคลอรีน และไพรีทรอยด์

สำหรับด่านตรวจพืชแห่งนี้สุ่มตัวอย่าง 1,500 ตัวอย่างต่อปี เพื่อตรวจสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรนำเข้า โดยกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง เมื่อด่านตรวจพืชพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน แต่ไม่มีอำนาจกักกัน ต้องแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีอำนาจกักสินค้านำเข้าเพื่อการบริโภค ซึ่งจะหารือกับนายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อร่วมมือกันตรวจอย่างเข้มงวดและกักกันไม่ให้สินค้าที่มีสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนดนำเข้าได้

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ขึ้นด่านเชียงของให้มีศักยภาพตรวจหาสารเคมีได้ 100 กว่าชนิด ส่วน อย. จะกักกันผักผลไม้ที่มีค่าเกินมาตรฐานเพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่เกษตรกรไทย จากการที่ผักผลไม้ต่างประเทศเข้ามาตีตลาดปีละหลายแสนตัน จากด่านเชียงของ ผักผลไม้เหล่านี้จะส่งไปยังตลาดไท แล้วกระจายไปยังตลาดทั่วประเทศ

สำหรับสถิติการสุ่มตรวจสินค้าจากจีนและเมียนมา 1,500 ตัวอย่างในปีนี้ พบผักผลไม้ 14 ชนิดมีสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐาน ได้แก่ ไดโครโตฟอส เมทามิโดฟอส และเมวินฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อยู่ในกลุ่มออการ์โนฟอสเฟต ตรวจพบในพริก พริกหยวก และส้มจากเมียนมา นอกจากนี้ยังพบในคื่นช่าย ซาลารี กะหล่ำปลีม่วง พริกบล็อคเคอรี่ แรดิชที่นำเข้าจากจีน สำหรับสินค้าเกษตรที่พบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างมากที่สุดคือ ส้ม ซึ่งตรวจพบทุกตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

“จุรินทร์”โชว์ 13 ความสำเร็จของไทยบนเวทีรมต.ศก.อาเซียน

People Unity News : “จุรินทร์”นำสรุป 13 เรื่อง เป็นผลความสำเร็จประเทศไทย ในฐานะประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน มั่นใจคืบหน้าและสำเร็จทั้งหมด

วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนฐานะประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 เปิดเผยผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 ว่า ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันในฐานะประธานอาเซียน (Priority Economic Deliverables) ในคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยินดีกับความสำเร็จและรับทราบความคืบหน้า Priority Economic Deliverables โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นถือเป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดสุดท้ายที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งตนทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ถัดจากนี้ก็เป็นการประชุม ASEAN SUMMIT ที่ท่านนายกฯ(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ) จะต้องเป็นประธานแล้ว

การประชุมครั้งสุดท้ายสำหรับที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปผลความสำเร็จของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ สำหรับด้านเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามเสาหลัก 1 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการที่จะผลักดันประเด็นสำคัญใน 3 หัวข้อใหญ่ คือ หัวข้อที่ 1 ก็คือในเรื่องของการเตรียมการรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หัวข้อที่ 2 การเชื่อมโยง หัวข้อที่ 3 การเดินหน้าไปด้วยกันไปสู่ความยั่งยืน ซึ่ง 3 หัวข้อนี้เป็นหัวข้อใหญ่และภายใต้ 3 หัวข้อนี้จะแปลงออกไปเป็นประเด็นสำคัญสำคัญทั้งหมด 13 ประเด็นด้วยกัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ซึ่งทั้ง 13 ประเด็นนั้นขอเรียนให้ได้รับทราบว่ามีความคืบหน้าและมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จครบทั้ง 13 ประเด็นภายในสิ้นปีนี้ในขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานที่ประชุมอาเซียน สำหรับปีต่อไปเป็นหน้าที่ของประเทศเวียดนามและต้องรอดูต่อไปว่าเวียดนามจะกำหนดประเด็นในการผลักดันเรื่องอะไรต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับ 13 ประเด็นในรายละเอียดนั้นขออนุญาตเรียนให้ทราบว่าประกอบด้วย
1 .แผนงานด้านดิจิตอลของอาเซียน
2 .แผนงานในการส่งเสริมนวัตกรรมอาเซียน
3 .การเตรียมการสำหรับการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือเรื่องของการใช้แรงงานพัฒนาแรงงานคนเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรการใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต
4.การเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
5 .การเตรียมการที่จะนำ SME ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เช่น การค้าออนไลน์ เป็นต้น
6 .การดำเนินการในเรื่อง ASEAN Single Window การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันที่ต้องมี อำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์ และไม่ซ้ำซ้อนทำให้การส่งออกระหว่างการคล่องตัวยิ่งขึ้น
7.เรื่องการผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วอย่างน้อยสามคู่ คือ ระหว่างไทยฟิลิปปินส์ ระหว่างไทยอินโดนีเซีย และระหว่างไทยกับมาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือของแบงค์ชาติของเรากับธนาคารพาณิชย์ของสามประเทศ
8.ก็คือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบที่เรียกว่า PPP
9 .การร่วมมือกันระหว่างอาเซียนในการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การใช้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว
10 .คือการแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันผลักดันให้ RCEP ซึ่งอาเซียนเป็นศูนย์กลางของ RCEPจบภายในสิ้นปีนี้
11 .ในเรื่องของการผลักดันเครือข่าย IUU ของอาเซียน คือ การทำประมงอาเซียนที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน
12 .เรื่องการส่งเสริมตลาดทุนของอาเซียนในประเทศต่างๆเพื่อเมื่อจะรับบริษัทเข้าไปจดทะเบียนโดยคำนึงถึงเป้าหมายของบริษัทนั้นนั้นที่มุ่งเน้นความยังยืนเช่น สิ่งแวดล้อมเป็นต้น
13 .ประเด็นสุดท้าย คือ การผลักดันให้มีการลงนาม ศูนย์พลังงานอาเซียนระหว่าง มหาวิทยาลัยต่างๆในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพ

ทั้ง 13 ประเด็นใน 13 หัวข้อใหญ่ที่ประเทศไทยได้กำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกันในฐานะประธานอาเซียนนี้ขอเรียนว่าเรามั่นใจว่าสิ้นปีนี้ จะสามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จครบทั้ง 13 หัวข้อ

ส่วนการลงนามวันนี้ (พิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน) เป็นการลงนามในพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งเป็นการปรับปรุงกลไกระงับข้อผิดพลาดที่เราใช้มา 10 กว่าปีมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทเที่ยวนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนกระบวนการต่างๆเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกอาเซียนเช่นการระบุชัดเจน ในเรื่องขั้นตอนระยะเวลาฟ้องร้องว่าใช้ระยะเวลากี่วันการพิจารณาคดีจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงระยะเวลาเท่าไร อย่างไร และมีการเพิ่มกลไกทางเลือกให้คู่พิพาทเลือกได้ เช่น อาจไม่ต้องไปสู่คณะลูกขุนแต่ใช้อนุญาโตตุลาการได้เป็นต้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้พิพาทรวมทั้งประเทศที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องข้อกฎหมายแนวทางการปฏิบัติต่างๆนี่คือพิธีสารที่จะมีการลงนามในเรื่องของกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนหลักใหญ่จะล้อกับหลักการของ WTO ที่ใช้กัน

ดร.วันดีนำ”SPCG”ผงาดกรุงปารีส ยันรบ.หนุนพลังงานแสงอาทิตย์ มีแผนติดตั้งถึง 12,275 MW ปี 2037

People Unity News : ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG บรรยายงาน OECD Forum on Green Finance and Investment ครั้งที่ 6 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2562 โชว์พัฒนาการพลังงานแสงอาทิตย์ไทย ยันรัฐบาลมีแผนสนับสนุนติดตั้ง ถึง 12,275 MW ในปี 2037

ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2562 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้รับเกียรติจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ( Organization Economics Corporation Development ) ร่วมประชุมและร่วมเวทีเสวนา โดยเฉพาะหัวข้อเสวนาเรื่อง Clean Energy Finance and Investment Mobilization in Emerging Market โดยมี Ms.Cecilia Tam,Team Leader , Clean Energy Finance and investment Mobilaization of OECD เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ได้กล่าวว่า การให้การสนับสนุนทางแนวคิดการกำหนดนโยบายและการเงินแก่กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานสอาด นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย

ดร.วันดี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความงดงามทางธรรมชาติ มีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี มีแหล่งทองเที่ยวมากมาย คนไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวถึงปีละ กว่า 40 ล้านคน จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาท่องเที่ยวเมืองไทยนอกจากนี้ยังเป็นประเทศผู้นำในเรื่องการพัฒนา เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงาน จากปี 2009 มีพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งใช้เพียง 2 MW แต่ในปี 2019 มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 4,000 MW และรัฐบาลมีแผนสนับสนุนให้มีการติดตั้ง ถึง 12,275 MW ในปี 2037 ทั้งนี้ไม่นับสวมการลงทุนเองในภาคเอกชน นับได้ว่าเป็นแบบอย่างของประเทศในกลุ่ม Asean ที่รัฐบาลให้ความสำคัญสำคัญในการออกนโยบาย มีการจัดทำแผนการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบในอีก 20 ปีในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนในอัตราส่วนกว่า 30% ของการใช้พลังงานรวม SPCG เป็นผู้บุกเบิกการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เมื่อปี 2010 และจากความสำเร็จของการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศไทย การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นที่ยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานที่สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

Mr.Tim Gould จาก IEA กล่าวว่า การมีพลังงานใช้อย่างพอเพียงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การรักษาสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญยิ่งเช่นเดียวกัน ดังนี้การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การนำพลังงานหมุนเวียน มาใช้เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันจึงมีประเทศที่กำลังพัฒนา อาทิ อินเดีย เวียดนาม หันมาผลักด้นกสรใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมอย่างมาก

Mr.Ole Thonke ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า ประเทศเดนมาร์กในปัจจุบันมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เพียง 0.6% และสนับสนุนให้ใช้พลังงานลมเพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

Mr.Voung Thanh Long Executive Vice President,Bank for Investment and Development of Vietnam (BIDV) กล่าวว่าเวียดนามเป็นประเทศสวยงามกล่าวว่าประเทศเวียดนามเริ่มสนับสนุน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอาทิ พลังลม พลังงานแสงอาทิตย์ แต่มีนักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจในการลงทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

Mr.Reynold Hermansjah from PT Infrastructure Finance ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า สถาบันการเงินในประเทศ
ให้การสนับสนุนเงินลงทุนในด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และรัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญนำพลังงานทดแทนมาใช้ในพื้นที่เหมาะสม

16พันธมิตรโชวห่วยตบเท้าร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ติดปีกร้านค้าโชวห่วยไทย

People Unity News : “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือ 16 หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมการค้า ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ซัพพลายเออร์ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และผู้ให้บริการ Application ข่าวดี! ทุกฝ่ายพร้อมร่วมมือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงบพาณิชย์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาร้านค้าโชวห่วยไทยทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2562 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเช้านี้ (วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2562) ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชิญหน่วยงานพันธมิตร 16 หน่วยงาน เข้ามาประชุมหารือแนวทางการพัฒนาร้านค้าโชวห่วยร่วมกัน พร้อมทั้งกำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานพันธมิตรให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าใครจะต้องทำอะไรบ้าง เน้นให้เห็นเป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ และนำไปปฏิบัติได้จริง โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านประกอบด้วย 1) ด้านการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า 2) ด้านส่งเสริมการตลาดและบริการเสริมเพิ่มรายได้ 3) ด้านส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร้านค้า

และ 4) ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยสมาคมการค้าและซัพพลายเออร์ จะมาช่วยปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ส่งเสริมการตลาดและบริการเสริมเพิ่มรายได้ สถาบันการศึกษาจะช่วยสร้างองค์ความรู้และสร้างทีมพี่เลี้ยงพัฒนาร้านค้า สถาบันการเงินจะเข้ามาสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ส่วนสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและผู้ให้บริการ Application จะช่วยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร้านค้าให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะทำการเชื่อมโยงสินค้า SME สินค้า OTOP และสินค้าชุมชนจากท้องถิ่นเข้าไปจำหน่ายในร้านค้าโชวห่วยด้วย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางการขาย เพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิตสินค้าชุมชนอีกทางหนึ่ง อันจะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน บรรลุเป้าหมายตามแนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และของรัฐบาลด้วย

“ร้านค้าโชวห่วย มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดของพวกเรา และอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน เป็นธุรกิจพื้นฐานที่คนเริ่มหัดทำมาค้าขายต้องเคยทำ ก่อนที่จะขยายและแตกสาขาพัฒนาไปเป็นธุรกิจอื่นๆ จากข้อมูลการสำรวจของ The Nielsen Company (Thailand) ว่าในปี 2562 มีร้านค้าปลีกโชวห่วยทั่วประเทศ จำนวน 443,123 ร้าน แบ่งสัดส่วนเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 34% ภาคกลาง 22% ภาคเหนือ 16% ภาคใต้ 15% และกรุงเทพและปริมณฑล 13% แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของธุรกิจในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นของไทยให้เข้มแข็ง แต่ด้วยสภาวะการตลาดของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านรูปแบบการแข่งขัน การตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับร้านค้าโชวห่วยเองยังขาดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่มีการจัดทำบัญชีและภาษี ไม่มีทายาทรับช่วงต่อ ราคาสินค้าแข่งขันไม่ได้ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน อีกทั้งไม่มีช่องทางรายได้อื่น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับร้านค้าขนาดใหญ่ได้ ดังนั้น ร้านค้าโชวห่วยในท้องถิ่นจึงต้องปรับตัวด้วยการจัดร้านให้เป็นระบบ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับรูปแบบการทำธุรกิจ เช่น เครื่อง POS มีโปรโมชั่นสนับสนุนจากซัพพลายเออร์ มีสินค้าชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ มีบริการเสริมเพิ่มรายได้ และขยายสู่ออนไลน์ จึงจะสามารถบริหารธุรกิจให้ Smart และเติบโตอย่างยั่งยืน”

“CKPower”โตต่อเนื่อง! ไซยะบุรีพร้อมขายไฟ 1,220 เมกะวัตต์ให้ไทยตามกำหนด

People Unity News : “CKPower”โตต่อเนื่อง! ไซยะบุรีพร้อมขายไฟ 1,220 เมกะวัตต์ตามกำหนด เสริมเสถียรภาพพลังงานสะอาดให้ไทยแล้ว 29 ต.ค.นี้ ผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงินเตรียมยิ้มรับรายได้ก้อนโต หลังทุ่มเงินลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท ก่อสร้าง 8 ปี ตอบโจทย์การใช้งานพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของไทย

วันที่ 29 ตุลาคม 2562 นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ คือ “CKP” ผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สปป. ลาว เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป บริษัทฯ จะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าครบทั้ง 7 เครื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ไซยะบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเป็นทางการ ภายหลังจาก กฟผ.ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมของโรงไฟฟ้าไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยกฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีในราคาเฉลี่ยประมาณ 2 บาท ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสปป.ลาว เข้าทาง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีก 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ เพื่อใช้ภายในสปป.ลาว

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่รัฐบาลสปป. ลาว ให้แก่บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CKPower มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River) แห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว มีมูลค่าโครงการทั้งสิ้นรวม 135,000 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 รวมระยะเวลา 8 ปี

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทยอยทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเริ่มขายไฟฟ้าอย่างไม่เป็นทางการจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกให้ กฟผ.เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักทั้ง 7 เครื่อง ต้องผ่านการทดสอบจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ. ด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด ทั้งการทดสอบสมรรถนะการเดินเครื่องแยกเป็นเครื่องๆ (Individual Test) และทดสอบเดินเครื่องพร้อมกันเป็นชุด (Joint Test) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สามารถทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักที่มีเสถียรภาพสูง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน (Daily Peaking) รวมถึงสามารถทำหน้าที่รองรับสภาวะฉุกเฉิน กรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บริเวณข้างเคียงเกิดขัดข้อง

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า CKPower ในฐานะผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยบริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มเติมกว่า 19,400 ล้านบาท เพื่อศึกษา พัฒนา และเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อธรรมชาติและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมูลค่าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นประวัติการณ์ มีความทันสมัย ด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำมีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย และที่สำคัญเป็นการศึกษาและพัฒนาให้เหมาะกับพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด จึงถือว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรมปลาในลุ่มแม่น้ำโขงที่ต่อเนื่องและมีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในขณะนี้

“CKPower ในฐานะผู้พัฒนาและบริหารโครงการและโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ขอแสดงความขอบคุณรัฐบาล สปป.ลาว รวมทั้งรัฐบาลไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว องค์กร หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ที่ให้ความเชื่อมั่นในการเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สามารถส่งไฟฟ้าสะอาดให้แก่ประเทศไทยและ สปป.ลาว ได้ตรงตามกำหนด บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจบนสมดุลระหว่างผลตอบแทนและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน” นายธนวัฒน์ กล่าว

ข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี : ทุนจดทะเบียน 790,000,000 เหรียญสหรัฐ ผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CK Power Public Company Limited) 37.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (Natee Synergy Company Limited) 25% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos) 20% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (Electricity Generating Company Limited) 12.50% และ บริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) (PT Sole Company Limited) 5%

ข้อมูลเกี่ยวกับ CKPower : บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์

“ศักดิ์สยาม”สั่ง”บินไทย”เร่งรัดแผนฟื้นฟู-จัดซื้อฝูงบินใหม่เสร็จก่อนสิ้นปีนี้

People Unity News : “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ตรวจเยี่ยมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานและมอบนโยบายบริษัทการบินไทย สั่งเร่งรัดแผนฟื้นฟู-แผนจัดซื้อฝูงบินใหม่ ย้ำทำให้เห็นผลก่อนสิ้นปีนี้

วันที่ 28 ตุลาคม 2562 เวลา 14.00 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายธานี สามารถกิจ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช หน.คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะฯ

ตรวจเยี่ยมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานและแผนฟื้นฟูฯ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) โดยมี นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการ บกท. นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บกท. คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ร่วมประชุมและให้การต้อนรับ ณ สำนักงานใหญ่ บกท. โดยได้มอบนโยบายให้ยกระดับองค์กรเตรียมพร้อมมุ่งสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก ปรับระบบจำหน่ายบัตรโดยสารวางแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เร่งสร้างมาตรฐานการบริการ วิธีการบริหารงานด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยใหม่เข้ามาใช้และพัฒนาบุคคลากรให้สอดคล้องกัน เข้มงวดการตรวจสอบคุณภาพในทุกมิติ การใช้วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ตลอดจนทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะแผนการพัฒนาบุคลากรที่ต้องมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ มีบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงเพียงพอเพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการบิน

ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคมตั้งคณะกรรมการบูรณาการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเพื่อการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว และเร่งรัดแผนการจัดหาเครื่องบินอย่างเพียงพอเหมาะสมด้วยความรวดเร็วและโปร่งใส พร้อมทั้งเน้นย้ำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกกิจกรรม โครงการ สร้างการรับรู้ เพิ่มความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรสู่สาธารณะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่าได้มอบนโยบายให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างบริษัท การบินไทย, บริษัท ท่าอากาศยานไทย, บริษัท วิทยุการบินฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อทำแผนธุรกิจร่วมกัน ร่วมกันกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้นำคณะฯ

“ส่วนเรื่องแผนการฟื้นฟูและแผนการจัดซื้อเครื่องบิน ได้เร่งรัดกรอบเวลาที่ชัดเจนกับการบินไทยแล้ว ระยะเวลาที่จะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจากแผนธุรกิจและแผนการฟื้นฟูอยู่ที่การนำไปปฏิบัติงาน ซึ่งได้แจ้งกับการบินไทยแล้วว่าจะต้องมีแผนการปฏิบัติงาน การวัดผล และเป้าหมายของแผนฟื้นฟูภายใน 3 เดือน และแผนการจัดซื้อเครื่องบินภายใน 6 เดือน”

Verified by ExactMetrics