People Unity News : “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีต้อนรับขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วง “บางซื่อ – รังสิต” และช่วง”บางซื่อ – ตลิ่งชัน” ชุดแรกจากญี่ปุ่น

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 16.00 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีต้อนรับขบวนรถไฟฟ้าโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ชุดแรก โดยมี นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม นางคัทซึระ มิยาซากิ ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้บริหารกิจการค้าร่วม เอ็มเอชเอสซี (MHSC) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ อาคารปฏิบัติการหลัก ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง โครงการระบบรถไฟชนเมือง (สายสีแดง)

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับมอบรถไฟฟ้าชุดแรก จำนวน 10 ตู้ จากทั้งหมด 25 ขบวน ในส่วนขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะทยอยเดินทางมาจนครบทั้งหมดภายในกลางปี 2563 หลังจากนั้นจะดำเนินการทดสอบขบวนรถให้แล้วเสร็จ เพื่อให้พร้อมที่จะดำเนินการทดสอบ System Integration Testing และทดสอบการวิ่งให้บริการเสมือนจริง (Trial Running) ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนที่จะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2564

ขบวนรถไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการรถไฟสายสีแดง เป็นขบวนรถไฟฟ้าของกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC ร่วมกับ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด และ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ประกอบไปด้วยขบวนรถไฟ 2 รูปแบบ คือ รถไฟฟ้าชนิด 6 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คนต่อเที่ยว และรถไฟฟ้าชนิด 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คนต่อเที่ยว มีความเร็วสูงสุดในการออกแบบที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วัสดุขบวนรถเป็น Aluminum Double Skin การออกแบบรถไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟสายสีแดง ได้คำนึงถึงสภาพอากาศของประเทศไทย ภายในขบวนรถมีเครื่องปรับอากาศตู้ละ 2 เครื่อง ใช้กระจกสีสำหรับทำหน้าต่างรถไฟ เพื่อลดปริมาณแสงแดดที่จะส่องผ่านเข้ามาภายในตู้รถ ออกแบบให้ตู้รถแต่ละข้างมี 3 ประตู และเพิ่มจำนวนที่นั่งเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งได้สบายขึ้น รวมทั้งมีหน้าต่างขนาดใหญ่ให้ผู้โดยสารมองเห็นทัศนียภาพภายนอกจากมุมสูงได้มากขึ้น