วันที่ 27 กรกฎาคม 2024

บีโอไอเผย 5 ข้อได้เปรียบไทย ดึงลงทุน Data Center และ Cloud Service

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 กรกฎาคม 2567 บีโอไอ เผยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เร่งแผนลงทุน Data Center และ Cloud Service ชู 5 จุดแข็ง ดันไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมต่อภูมิภาค ยกระดับสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน โชว์ยอดส่งเสริมลงทุนกิจการ Data Center และ Cloud Service รวม 37 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 98,000 ล้านบาท พร้อมรองรับธุรกิจบริการด้านดิจิทัลและ AI ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service เพื่อรองรับการขยายตัวของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค เนื่องจากมีข้อได้เปรียบอย่างน้อย 5 ด้าน คือ

(1) ทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน

(2) มีความมั่นคง ปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ Data Center เป็นธุรกิจที่ต้องการความมั่นคงสูง เพราะต้องรักษาข้อมูลสำคัญของลูกค้าในปริมาณมหาศาล ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่มีแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น หรือภัยพิบัติรุนแรง อีกทั้งไทยมีความเป็นกลางไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และกฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Act) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

(3) โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และมีศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการลงทุน Data Center อีกทั้งมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงติด 1 ใน 10 ของโลก และเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในอาเซียน สามารถรองรับการส่งข้อมูลได้ในปริมาณสูง

(4) ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรต่าง ๆ ไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 88 ของประชากร มีผู้ใช้งาน Social Media กว่าร้อยละ 70 ของประชากร และประชาชนมีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล เช่น PromptPay, Mobile Banking, e-Payment รวมทั้งการใช้แอปพลิเคชันเพื่อรับสิทธิตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

(5) สิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากบีโอไอ ทั้งการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอนุญาตให้ถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน การลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับบุคลากรทักษะสูง การบริการข้อมูลและช่วยจัดหาสถานที่ตั้งโครงการ การช่วยประสานงานในการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากกติกาภาษีใหม่ (Global Minimum Tax) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกให้ความสำคัญ

ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 37 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 98,539 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย อาทิ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุน Data Center ในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท รวมทั้ง Google และ Microsoft ผู้ให้บริการระดับโลก ได้ประกาศแผนลงทุน Data Center ในประเทศไทยแล้ว โดยอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดร่วมกับบีโอไอและทีมงานของนายกรัฐมนตรี

สำหรับธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS

นอกจากธุรกิจ Data Center และ Cloud Service แล้ว บีโอไอยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ และกิจการสนับสนุนระบบนิเวศด้านดิจิทัล เช่น กิจการ Innovation Park, กิจการ Maker Space หรือ Fabrication Lab และกิจการพัฒนาพื้นที่และระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยที่ผ่านมา มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“กิจการ Data Center และ Cloud Service ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของโลกยุคใหม่การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยของผู้ให้บริการระดับ Hyperscale อย่าง AWS, Google, Microsoft รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยี ชั้นนำจากหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมในการประกอบธุรกิจดิจิทัล ทั้งในแง่สภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพของบุคลากร และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ประโยชน์ของโครงการลงทุนเหล่านี้ จะช่วยสร้างงานทักษะสูง ทั้งทางตรงและทางอ้อมในสายงานด้านโทรคมนาคม สาธารณูปโภค ธุรกิจ ให้คำปรึกษา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีกทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการ Cloud ที่มีคุณภาพสูง และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยเร่งกระบวนการ Digital Transformation สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้ความเร็วสูงในการรับ-ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งต่อยอดให้ไทยก้าวสู่ การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว

Advertisment

นายกฯ ขอบคุณ “ลิซ่า” เลือกเยาวราช ถ่าย MV ชี้เป็นพื้นที่มีศักยภาพ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 มิถุนายน 2567 สุรินทร์ – นายกฯ ขอบคุณ “ลิซ่า” คำนึงถึงประเทศบ้านเกิด เลือกเยาวราช เป็นฉากใน MV ROCKSTAR ชี้เป็นพื้นที่มีศักยภาพ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก เน้นย้ำมาตรฐานความสะอาด ปลอดภัย เชื่อไม่กระทบไทย หลัง บ.ทัวร์หลายประเทศ เริ่มล้มละลาย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีลิซ่า ลลิษา มโนบาล นักร้องสาวชื่อดัง ออกมิวสิควิดีโอเพลง ROCKSTAR เมื่อวานนี้ โดยมีภาพของเยาวราช เป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำ ซึ่งรัฐบาลจะนำไปพัฒนาพื้นที่ อย่างไรบ้างเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ว่าเมื่อคืนก็ได้ฟังที่ลิซ่าให้ให้สัมภาษณ์ ว่าเขาเองก็อยากจะทำมิวสิควิดีโอ และก็ได้เสนอที่เยาวราชขึ้นมา ก็ต้องขอขอบคุณตรงนี้ ว่าได้คำนึงถึงประเทศบ้านเกิดเมืองนอน ขณะที่เยาวราชก็มีศักยภาพสูง มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวต่อปีเยอะมาก และก็ไม่ใช่แค่เยาวราชอย่างเดียว ยังมีทั้งถนนทรงวาด ไปตลอดจนพื้นที่บริเวณนั้น รวมไปถึงภูเขาทอง ก็มีศักยภาพที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดีมาก

แต่เหนือสิ่งอื่นใดความปลอดภัยและระบบสาธารณสุขยังมีความจำเป็น ซึ่งต้องขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ทำงานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาในการลงพื้นที่ไปดูเรื่องความสะอาด สุขอนามัย ทั้งหมด

“อย่างที่ลิซ่ามาโปรโมทอย่างนี้ มียอดวิวหลายสิบล้าน นักท่องเที่ยวก็มาอย่างแน่นอน มาแล้วก็ต้องไม่ผิดหวัง พร้อมเน้นย้ำเรื่องมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัย “ นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามต่อถึงภาคการท่องเที่ยวที่ขณะนี้มีทัวร์หลายประเทศล้มละลาย จะส่งผลกระทบต่อเป้าที่วางไว้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีมองว่า ช่วงที่เกิดโควิดมา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น คนที่มีความแข็งแรงน้อยก็ไม่สามารถที่จะอยู่ได้ แต่คนที่แข็งแรงก็สามารถจะไปต่อได้ ซึ่งมีล้มก็ต้องมีลุกขึ้นมาใหม่ แต่ยืนยันว่าตอนนี้ตัวเลขชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาก็เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร และก็จะมีการเปิดตลาดใหม่ๆ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อย่างเช่นประเทศที่ลงท้ายด้วยคำว่าสถานทั้งหลาย ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงหน้าร้อนของภูมิภาคตะวันออกกลาง กระทรวงการท่องเที่ยวก็จะไปโปรโมทให้เยอะขึ้น

ขณะที่อินเดียก็มีการยกเลิกวีซ่าให้เราแล้ว ก็น่าจะดีขึ้น ตนจะไปเยือนอินเดียในช่วงเดือนสิงหาคม ก็จะมีการพูดคุยในเรื่องของการบิน ที่จะเอาสายการบินของเขาเข้ามาให้มากขึ้น นักท่องเที่ยวจะได้เข้ามาได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาใหญ่ขณะนี้คือการที่ไฟลต์เข้ามาไม่พอ

Advertisment

นายกฯ เชื่อมั่นศักยภาพ Soft Power ไทย ผ่านการจัดงาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 มิถุนายน 2567 นายกฯ เชื่อมั่นศักยภาพ Soft Power ไทยพร้อมโชว์สู่สายตานานาชาติ ผ่านการจัดงาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024 ครั้งแรกในไทย

เริ่มแล้ววันพรุ่งนี้ วันที่ 28 – 30 มิ.ย. 2567 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจเข้าร่วมงานฟรีตลอดงาน! ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยงานนี้จะจุดประกายต่อยอดไอเดียสู่ประชาชน ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ สร้างความร่วมมือและโอกาสทางเศรษฐกิจในระดับสากล

วันที่ 27 มิถุนายน 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นในศักยภาพของ Soft Power ไทย และเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนโอกาสที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ จัดการประชุมนานาชาติด้าน Soft Power อย่างเป็นทางการครั้งแรก ผ่านงาน “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2567 นี้ เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ฮอลล์ 1-2 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) โดยประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมเปิดเวทีสัมมนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ตลอดจนจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรม เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 สาขาของไทย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายในงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับ 48 ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากหลากหลายสาขา บนเวที “Vision Stage” โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานกล่าวปาฐกถาเปิดงานในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ภายใต้หัวข้อ ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่จะร่วมเวทีสัมมนา แบ่งปันวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างแรงแรงบันดาลใจ สร้างโอกาสทางธุรกิจ ตลอด 3 วัน

โดยงานดังกล่าวจะนำเสนออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 สาขาของไทย ประกอบด้วยสาขา เทศกาล การท่องเที่ยว อาหาร การออกแบบ ศิลปะ ภาพยนตร์และละคร/ซีรีส์ ดนตรี หนังสือ เกม แฟชั่น และกีฬา ผ่าน 7 โซนนิทรรศการและกิจกรรม ได้แก่ 1) SPLASH Visionary Zone 4 เวทีสัมมนาแสดงศักยภาพและแลกเปลี่ยนทัศนคติ จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก 2) THACCA Pavilion – นิทรรศการบอกเล่าทุกความฝัน ทุกเป้าหมาย และนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วย Soft Power 3) 11 Industries Pavilion – นิทรรศการจาก 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 4) International Pavilion – นิทรรศการนานาชาติ นำเสนอโอกาสและความสำเร็จของนโยบายด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์จากประเทศต่าง ๆ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิตาลี 5) SPLASH Masterclass – ห้องเรียน Reskill Upskill สำหรับทุกๆ คนที่มองหาโอกาสในชีวิต 6) กิจกรรม Hackathon – สนามประลองไอเดีย และ 7) SPLASH Activation Lounge – พื้นที่สำหรับการสร้างความร่วมมือ และการจับคู่ค้าทางธุรกิจ (Business Matching)

รวมทั้งยังมีไฮไลต์ของงานใน 4 สาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย อาทิ – อุตสาหกรรมเฟสติวัล : จัดแสดงรถแห่เทียนพรรษาขนาดยาวกว่า 12 เมตร สูงถึง 4.5 เมตร จาก อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี รังสรรค์จากช่างไทยมากฝีมือกว่า 30 ชีวิต สะท้อนความประณีตและความยิ่งใหญ่ของฝีมือช่างไทย

– อุตสาหกรรมศิลปะ : จัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดังตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผ่านมุมมอง “Discovery Thailand’s Hidden Talents” อาทิ อ.ประเทือง เอมเจริญ, อ.ถวัลย์ ดัชนี, อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต, อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และนิสา ศรีคำดี ผู้สร้างสรรค์ “Cry Baby”

– อุตสาหกรรมกีฬา : จัดเวทีมวย การแสดงแม่ไม้มวยไทย จัดโชว์สินค้ามวยไทย พบกับ เพชรจีจ้า “The Queen” ลูกเจ้าพ่อโรงต้ม โดยผู้ที่มาร่วมงานสามารถฝึกมวยเบื้องต้นได้และมีครูมวยมาให้คำแนะนำ

– อุตสาหกรรมอาหาร : จัดนิทรรศการในหัวข้อ “Discover New Flavors of Thailand” เปิดประสบการณ์ของอาหารไทย อาทิ อาหารชาววัง อาหารประจำภาค Street Food และ Future Food รวมทั้งนิทรรศการโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร โดยเป็นหนึ่งในหลักสูตร OFOS (One Family One Soft Power) จะเปิดให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนโครงการในงาน

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงานได้ที่ https://general.icv-allservice.com ฟรีตลอดงาน ไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งสามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ผ่านเว็บไซต์ https://www.thacca.go.th/splash/ เพจเฟสบุ๊ก https://www.facebook.com/thaccaofficial และทาง X (ทวิตเตอร์) @thaccaofficial

“รัฐบาลเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจร่วมงาน THACCA Soft Power Forum 2024 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ นอกจากจะเป็นการจัดงานรูปแบบใหม่ เท่าทันกระแสความนิยมของประชาชนแล้ว ยังเป็นงานที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มองหาประกายความคิดเพื่อจุดมีให้ไฟในการทำงานอีกครั้ง ทั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากหลากหลายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่จะมาแบ่งปันวิสัยทัศน์ เช่น ธนินทร์ เจียรวนนท์, พิชัย จิราธิวัฒน์, Soohyun Kim,  Stewart Moore และ Jayne Estéve Curé เป็นต้น รวมถึง การจัดแสดงผลงานศิลปะจากศิลปินชื่อดัง เช่น นิสา ศรีคำดี ผู้สร้างผลงาน “Cry Baby” ที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก พร้อมด้วยนิทรรศการ การแสดง และกิจกรรมอีกมากมาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ค้นหาประสบการณ์ จุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ นำประสบการณ์จากงานนี้ไปต่อยอดความคิด” นายชัย กล่าว

อนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่จะร่วมเวทีสัมมนา บนเวที “Vision Stage” อาทิ แพทองธาร ชินวัตร – กรรมการพัฒนาซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ, ธนินทร์ เจียรวนนท์ – ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, พิชัย จิราธิวัฒน์ – กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล, Soohyun Kim – ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค กรุงเทพฯ, Magdalena Florek – กรรมการสมาคมการสร้างอัตลักษณ์เชิงพื้นที่นานาชาติ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, Martin Boudreau – President and CEO, 44 Productions, ดวงขวัญ สินสัตยกูล – ผู้จัดการประจำตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน บริษัท Airbnb, Tonya Nelson – Excutive Director of Enterprise and Innovation, Arts Council England, Jayne Estève Curé – Creative Fashion Luxury & Business Consultancy, Derek Hsu – President, 88rising, อดุลญา ฮุนตระกูล – ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และอุเทน บุญอรณะ – เจ้าของนามปากกา “รังสิมันต์” อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง นักเขียนนิยายที่ได้รับการแปลไปแล้วกว่า 5 ภาษา

นอกจากนั้น ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จในแวดวงอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังมาแรง ทั้งการออกแบบ นักเขียน เกม ดนตรี ภาพยนต์ ละคร ซีรีย์ และศิลปะ บนเวที “Pathway Stage” ที่จะแนะนำเทคนิค และประสบการณ์สู่ความสำเร็จในอาชีพ  อาทิ พัทน์ ภัทรนุธาพร – MIT Media Lab, Yee Ler Lau – Associate Director for Global Public Affairs, Tencent, ชนิดา คล้ายพันธ์ – Head of Public Policy, TikTok Thailand, Ruben Hattari – Director of Public Policy, South East Asia, Netflix, รัญชน์คณุตม์ นาคะเสถียร – ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เกมส์ และอีสปอร์ต (eFootball League Thailand) รวมทั้ง “Performance Stage” เวทีของคนรุ่นใหม่ให้ได้แสดงความสามารถ อาทิ การแสดง Contemporary Dance “ร่างทอง”, คุณเหมียว (Yaongyi) นักเขียนจากเรื่อง “ความลับของนางฟ้า (True Beauty), K-Pop Dance Mini Workshop โดยคิม ฮยอนอี และ “Podcast Studio” เวที Podcast เจาะลึกมุมมองแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่จะจุดประกายความคิดให้กับผู้เข้าร่วมงาน

Advertisment

รัฐบาลปลื้ม 5 เดือนแรก ต่างชาติลงทุนในไทยเพิ่ม 16% ส่วนลงทุนใน EEC เพิ่ม 106%

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 มิถุนายน 2567 รัฐบาลปลื้ม 5 เดือนแรกปี 67 ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น 16% นำเงินเข้า 71,702 ล้านบาท เพิ่ม 58% ส่วนการลงทุนใน EEC เพิ่ม 106% มูลค่าลงทุน 18,224 ล้านบาท เพิ่ม 93%

วันนี้  27 มิถุนายน 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ในช่วง 5 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 317 ราย เพิ่มขึ้น 16% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 85 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 232 ราย มีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 71,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58%

นายคารม กล่าวว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น จำนวน 84 ราย คิดเป็น 26% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุนรวม 40,214 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ จำนวน 51 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 5,189 ล้านบาท 3.สหรัฐฯ จำนวน 50 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 1,196 ล้านบาท 4.จีน จำนวน 38 ราย คิดเป็น 12% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 5,485 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง จำนวน 28 ราย คิดเป็น 9% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 12,048 ล้านบาท

“สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนชาวต่างชาติในช่วง 5 เดือนของปี 2567 มีชาวต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 99 ราย คิดเป็น 31% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้น 106% และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 18,224 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 93% โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 3,523 ล้านบาท จีน 19 ราย ลงทุน 1,803 ล้านบาท ฮ่องกง 11 ราย ลงทุน 5,005 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 38 ราย ลงทุน 7,893 ล้านบาท” นายคารม ระบุ

Advertisment

รัฐบาลแจ้งข่าวดี เปิดรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาล

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 มิถุนายน 2567 “คารม” แจ้งข่าวดี เปิดรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาล ตำแหน่งเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล รายได้ 5.7 หมื่นบาท สัญญา 5 เดือน ทำงานดีต่อสัญญา 3 เดือน สมัครด่วนภายใน 21 มิ.ย นี้ ที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th

วันนี้  21 มิถุนายน 2567  นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งข่าวดี โอกาสมาถึงแล้ว สำหรับแรงงานไทยที่ต้องการทำงานภาคประมงตามฤดูกาล ด้วยวีซ่า E – 8 ไม่ต้องทดสอบทักษะภาษาเกาหลี อำเภอวันโด จังหวัดชอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี  แจ้งความต้องการรับสมัครคนหางานไทยเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาลในอำเภอวันโด ตำแหน่งการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล จำนวน 37 อัตรา เงินเดือน 2,176,720 วอนต่อเดือน หรือประมาณ 57,900 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนเงินวันที่ 14 มิถุนายน 2567)  มีระยะเวลาการจ้างงาน 5 เดือน และสามารถขยายระยะเวลาเพิ่มได้อีก 3 เดือน ผู้สนใจสามารถสมัครทางเว็บไซต์ toea.doe.go.th โดยลงทะเบียนระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนคนหางาน และดำเนินการสมัครไปทำงาน โดยเลือกหัวข้อ “สมัครไปทำงานโดยรัฐ” และเลือกรายการ “การรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาลในอำเภอวันโด จังหวัดชอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี” ภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับคุณสมบัติคนหางานเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาลในอำเภอวันโด จังหวัดชอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี มีดังนี้

  1. อายุ 25 -50 ปีบริบูรณ์
  2. เป็นแรงงานประมงชาวไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสตูล หรือจังหวัดสงขลา หรือจังหวัดอื่น ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านการประมงไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยจะพิจารณาคัดเลือกจากผู้สมัครที่อยู่ในจังหวัดสตูล หรือจังหวัดสงขลา ก่อนตามความต้องการของนายจ้างในสาธารณรัฐเกาหลี และจึงคัดเลือกจากผู้สมัครที่อาศัยในจังหวัดอื่นต่อไป
  3. ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
  4. ไม่เป็นบุคคลที่เป็นโรคติดต่อ เช่น วัณโรค ซิฟิลิส และอื่นๆ และไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด
  5. ไม่เป็นบุคคลที่มีประวัติอาชญากรรม มีประวัติพำนักผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลีหรือบุคคลที่ถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลี

“การรับสมัครในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยวิธีรัฐจัดส่ง ผู้สมัครไม่ต้องเสียค่าสอบภาษาเกาหลี ค่าใช้จ่ายในการสมัคร หรือค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำงานจ่ายเพียงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ ค่าทำหนังสือเดินทาง (กรณียังไม่มี) ค่าตรวจสุขภาพและตรวจสารเสพติด ค่าตรวจประวัติอาชญากรรม ค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ ค่าประกันการเดินทาง และค่าสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงาน รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 35,000 บาท ทั้งนี้ หากมีผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือในการจัดหาและส่งแรงงานภาคเกษตรหรือประมงตามฤดูกาลไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีใด้ โปรดอย่าหลงเชื่อ ขอให้แจ้งและตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ทางโทรศัพท์หมายเลข 02 245 1034 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายคารม กล่าว

Advertisment

สรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 มิถุนายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 อนุมัติหลักการการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่เดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างให้ได้รับการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง ให้สอดคล้องกันกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.กำหนดให้ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มจากเดิมที่ค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของงการทำงาน 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2.ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับแล้ว หากผู้มีเงินได้ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีสำหรับค่าชดเชยที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวงฯ นี้ไปแล้ว สามารถยื่นปรับปรุงแบบแสดงรายการภาษีเพื่อขอคืนภาษีได้ภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีดังกล่าว”

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

Advertisment

​รัฐบาลเพิ่มโอกาส ปชช.มีรายได้จากการประกอบอาชีพ เชิญชวนอบรมออนไลน์ เรียนจบนำวุฒิบัตรไปสมัครงานได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 มิถุนายน 2567 ​รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริม เพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีรายได้จากการประกอบอาชีพ เชิญชวนอบรมออนไลน์ผ่าน www.dsd.go.th เรียนจบนำวุฒิบัตรไปใช้ประกอบการสมัครงานได้

วันที่ 15 มิถุนายน 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริม และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีรายได้จากการประกอบอาชีพ รวมถึงพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมอนาคต เพื่อเพิ่มรายได้มีการงานที่มั่นคงในอนาคต รัฐบาล โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการประกอบอาชีพ ได้พัฒนาหลักสูตรการฝึกและเพิ่มช่องทางการฝึกอบรม online ตามนโยบายของรัฐบาล เน้นให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เปิดกว้างให้แรงงานทุกเพศทุกวัย ได้ความรู้มีทักษะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น

นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผ่านการฝึกผ่านระบบ online แล้ว จำนวน 62,765 คน และมีผู้เข้าชมหลักสูตรการฝึกอบรมถึง 2,546,380 คน ทั้งนี้ เพื่อตอบรับกระแสความต้องการของแรงงาน กรมพัฒนาฝีมืองแรงงานได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำหลักสูตรใหม่ ๆ ขึ้น โดยได้บรรจุไว้ในเว็บไซต์ของกรมฯ เพิ่มอีก 5 หลักสูตรเพื่อบริการประชาชน ได้แก่ (1) หลักสูตร Generative AI สำหรับหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (2) หลักสูตรเทคนิคการขยายธุรกิจและสร้างรายได้บน Meta แพลตฟอร์ม (3) หลักสูตร e- Commerce และพลเมืองดิจิทัล (4) หลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย Generative AI และ (5) หลักสูตร Basic Network     ซึ่งจะมีการพัฒนาและบรรจุหลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีปัจจุบัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันกำลังแรงงานและประชาชนทั่วไปต่างให้ความสำคัญกับทักษะดิจิทัลมากขึ้น เพื่อใช้ในการทำงานหรือดำเนินชีวิตประจำวัน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะดิจิทัล โดยจัดฝึกอบรมรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรม www.dsd.go.th เมนู DSD Online Training สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ฟรี ตามแนวคิด “เปิดกว้าง สร้างโอกาส ต่อยอดอย่างยั่งยืน” และเมื่อสอบผ่านจะได้รับวุฒิบัตร สามารถนำไปใช้ประกอบการสมัครงานได้ เชิญชวนผู้สนใจเข้ารับการพัฒนาทักษะดิจิทัล หรือหากเคยผ่านฝึกอบรมแล้วแต่ต้องการฝึกอบรมในหลักสูตรอื่นก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน เพียง Click www.dsd.go.th เมนู DSD Online Training หรือโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” นายคารม กล่าว

Advertisement

รองโฆษก รบ.เผย บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อตั๋วโดยสารของ บขส.เดินทางได้เดือนละ 750 บาท ณ ช่องขายตั๋วทั่วประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 มิถุนายน 2567 “เกณิกา“เผย กระทรวงคมนาคม แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน สามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อตั๋วเดินทางได้เดือนละ 750 บาท ณ ช่องขายตั๋วทั่วประเทศ และลด 10% อีก 5 กลุ่ม

วันที่ 15 มิ.ย. 67 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้บริการรถโดยสารของ บขส. โดยประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ซื้อตั๋วโดยสารของ บขส. ทัังนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามโครงการของรัฐบาลที่ให้ประชาชนสามารถจ่ายค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสามารถนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อตั๋วโดยสารได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วของ บขส. ทั่วประเทศ

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการใช้สิทธิ์เดินทางกับรถโดยสาร บขส. ขอให้ยื่นบัตรแสดงตนในการซื้อตั๋วโดยสาร และต้องเป็นผู้เดินทางเองเท่านั้น  จากนั้นซื้อตั๋วรถโดยสาร บขส. ภายในวงเงิน 750 บาทต่อเดือน กรณีที่ค่าโดยสารเกินวงเงินที่ได้รับต้องจ่ายส่วนต่างเป็นเงินสดเท่านั้น โดยเดินทางไปกับรถโดยสาร บขส. ได้ทุกเส้นทาง ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับสิทธิ์ลดหย่อนอื่น ๆ ได้ตามเงื่อนไขที่ บขส. กำหนด ซึ่งสามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วของ บขส.ทั้งนี้เมื่อซื้อตั๋วโดยสารแล้วไม่สามารถคืนตั๋วได้ทุกกรณี แต่สามารถเลื่อนการเดินทางได้ภายใต้เงื่อนไขที่ บขส.กำหนด

กระทรวงคมนาคมต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเป็นการกระตุ้นรายได้จากการใช้บริการรถโดยสารประจำทาง และสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้ใช้บริการ บขส. จึงให้สิทธิ์ส่วนลดพิเศษ 10% (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ในการซื้อตั๋วโดยสาร สำหรับกลุ่มผู้โดยสารจาก 5 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักเรียนหรือนักศึกษาจากสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บุคลากรสังกัดบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บุคลากรสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบุคลากรสังกัดกระทรวงคมนาคม

โดยเงื่อนไขการรับสิทธิ์ จะต้องแสดงบัตรประจำตัวสังกัดหน่วยงานของท่านควบคู่บัตรประชาชน โดยข้อมูลในบัตรต้องเป็นปัจจุบัน ณ วันที่ใช้สิทธิ์ ให้ ผู้ใช้สิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอรับส่วนลดในโครงการ พร้อมรอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ส่วนลดได้ ณ จุดบริการจำหน่ายตั๋วโดยสาร บขส. ทั่วประเทศ สามารถรับสิทธิ์ส่วนลดได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 กันยายน 2567 ทุกเส้นทางภายในประเทศ และขอสงวนสิทธิ์การเปลี่ยนแปลงโปรโมชัน โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และเงื่อนไขเป็นไปตามที่ บขส. กำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่งานการตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 0 2537  8737 หรือ Call Center โทร. 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

คนไทยใช้ระบบดิจิทัลทางการค้าระหว่างประเทศ อันดับ 32 ของโลก อันดับ 3 ของอาเซียน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 มิถุนายน 2567 นายกฯ ปลื้มคนไทยใช้ระบบดิจิทัลทางการค้าระหว่างประเทศ อันดับ 32 ของโลก เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน จากผลสำรวจของ Global Trade Modernization Index 2024 เชื่อเป็นโอกาสเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สะท้อนความก้าวหน้าจากความพยายามของรัฐบาลในการมุ่งผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าระหว่างประเทศ

วันที่ 12 มิถุนายน 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงผลสำรวจของ Global Trade Modernization Index 2024 (GTMI) ดัชนีประเมินความพร้อมทางเศรษฐกิจสำหรับการใช้ระบบดิจิทัลทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ (https://www.asiaglobalinstitute.hku.hk/global-trade-modernization-index) ประเทศไทยติดอันดับที่ 32 จากทั้งหมด 65 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย สะท้อนความสำเร็จของการผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเพิ่มความทันสมัยให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยี ต่อยอดยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าว จัดทำโดย Asia Global Institute, ICC Digital Standards Initiative และ Milken Institute โดยได้รวบรวมข้อมูลของ 65 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก พิจารณาจากดัชนีชี้วัดสู่ความพร้อมทางการค้าดิจิทัล (Digital Trade) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ 5 ประการ ได้แก่

  1. การลดการใช้กระดาษทางการค้า (Paperless Trade) 30%
  2. การเปิดกว้างทางการค้า (Trade Openness) 10%
  3. สภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ (Regulatory Environment) 25%
  4. ความพร้อมของภาคธุรกิจ (Business Readiness) 25% และ
  5. ทุนมนุษย์ (Human Capital) 10%

โดยประเทศไทยติดอันดับที่ 32 ด้วยคะแนนรวม 66.4 คะแนน จำแนกเป็น การลดการใช้กระดาษทางการค้า 22.5% การเปิดกว้างทางการค้า 7.2% สภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ 16.1% ความพร้อมของภาคธุรกิจ 14.5% และทุนมนุษย์ 6.1% ซึ่งเห็นได้ว่าแต่ละดัชนีชี้วัดของไทยล้วนได้รับการประเมินด้วยผลคะแนนที่เกินครึ่งตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลเน้นย้ำถึงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สอดรับกับวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) พร้อมดำเนินการเพื่อพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างไร้รอยต่อ เช่น นโยบายรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ (Cloud First Policy) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนาการให้บริการประชาชน โครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ตลอดจน การเสริมสร้างทักษะ เพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล (Human Capital)

“ผลสำรวจดังกล่าวถือเป็นความคืบหน้าในการพัฒนาประเทศที่เกิดจากวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี และการดำเนินนโยบายแบบมีแบบแผนเป็นขั้นเป็นตอน กระจายการทำงานแบบมีการบูรณาการ จึงทำให้เห็นแนวโน้มที่สะท้อนความคืบหน้าในการเร่งพัฒนาและผลักดันการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเสมอว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วสำหรับการลงทุน และรัฐบาลจะยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง (High Value Economy) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกภาคส่วน” นายชัย กล่าว

Advertisment

ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ SMEs ผ่าน บสย. วงเงินงบประมาณ 7,125 ล้านบาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 มิถุนายน 2567 ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือ SMEs ผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 11 และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 7,125 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการ

วันนี้ (11 มิ.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (โครงการ PGS) ระยะที่ 11 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 7,125 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการ PGS ระยะที่ 11 โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กำหนดโครงการย่อยภายใต้โครงการ PGS ระยะที่ 11 ที่เน้นให้ความสำคัญและความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุน และผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ เห็นควรให้ บสย. ร่วมกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs ในมิติต่าง ๆ จากโครงการ PGS ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ผ่านมา โดยนำมาปรับปรุงและเร่งพัฒนา Credit Scoring Model และ Risk-based Pricing Model อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ให้มีการประเมินความเสี่ยงของลูกค้าอย่างแม่นยำถูกต้อง ช่วยให้การกำหนดค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขการค้ำประกันมีความสอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย และพัฒนาไปสู่การพิจารณาอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อเป็นรายลูกค้า (Individual Guarantee) ต่อไป นอกจากนี้ เนื่องจากโครงการ PGS ระยะที่ 11 เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้น เห็นควรให้ บสย. พิจารณางดเก็บหรือเก็บค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการจ่ายค่าประกันชดเชย ค่าจัดการค้ำประกัน ค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น ด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้ประกอบการ SMEs และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินอย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล IGNITE THAILAND ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรับมือให้ทันกับสถานการณ์หรือวิกฤตที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กค. จึงขอเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 11 โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์

(1) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SME โดยให้ความช่วยเหลือครอบคลุม ทั้งผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย

(2) เป็นกลไกในการสนับสนุนศักยภาพด้านเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามที่รัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่งของภูมิภาค การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน

(3) เป็นกลไกในการช่วยเหลือสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบาง และผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจทางด้านสนับสนุนสังคมและสิ่งแวดล้อม

วงเงินค้ำประกันโครงการ – 50,000 ล้านบาท โดย บสย. สามารถกำหนดเงื่อนไขวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs แต่ละกลุ่ม หรือแต่ละสถาบันการเงิน หรือโครงการย่อยแต่ละโครงการได้ตามความเหมาะสม

รูปแบบการค้ำประกัน – Portfolio Guarantee Scheme / Package Guarantee Scheme

ระยะเวลารับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ – นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

อายุการค้ำประกันสินเชื่อ – ไม่เกิน 10 ปี

วงเงินค้ำประกันต่อราย – ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อต่อรายและต่อกลุ่มลูกค้า (Single Guarantee Limit : SGL) ของ บสย. และการยื่นขอให้ค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท

ค่าธรรมเนียมการค้ำประสินเชื่อ – รวมทั้งโครงการเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.758 ต่อปี และสามารถจัดสรรอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อที่รัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละโครงการย่อยได้ตามความเหมาะสม

กรอบวงเงินค่าประกันชดเชยตลอดโครงการฯ – รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) บสย. ขอรับเงินงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลสำหรับการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และการชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยจากรัฐบาลเป็นเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7,125 ล้านบาท (ร้อยละ 14.25 x 50,000 ล้านบาท)

(2) รายได้จากค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ SMEs เฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อในแต่ละปีตามรายรับที่เกิดขึ้นจริง เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 7,875 ล้านบาท (ร้อยละ 15.75 x 50,000 ล้านบาท)

ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ

(1) มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 76,900 ราย (เฉลี่ย 0.65 ล้านบาทต่อราย)

(2) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท (1.2 เท่า)

Advertisment

Verified by ExactMetrics