วันที่ 18 พฤษภาคม 2024

“มนัญญา” เยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีผลิตบรรจุภัณฑ์ในจีน

People Unity News :  “มนัญญา”รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีผลิตบรรจุภัณฑ์ในจีน

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร เดินทางเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มของบริษัท SIG (SIG AP Tech Center) ณ เมือง Suzhou สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค มีการนำเสนอและสาธิตถึงศักยภาพของเทคโนโลยีเครื่องจักรบรรจุนมระบบ UHT แบบ High speed ทันสมัย และมีความหลากหลายคุณลักษณะในการผลิตผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงมีห้องปฏิบัติการที่ให้บริการตรวจสอบคุณภาพของกล่องกระดาษและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ทันสมัยตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีรูปลักษณ์ที่ได้รับการออกแบบให้น่าสนใจต่อผู้บริโภค และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมีคุณภาพที่ดี

โฆษณา

“จุรินทร์”ทำยอดอีก 2,400 ล้านที่เยอรมนี ขายผลิตภัณฑ์ยาง

People Unity News : “จุรินทร์”ทำยอดอีก 2,400 ล้านที่เยอรมนี ขายผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยางทางการแพทย์ เครื่องดื่ม อาหารพร้อมประกาศลุยตลาดยุโรปต่อเนื่อง

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนประเทศเยอรมนี โดยช่วงเช้า เวลา 9.30 – 10.00 น. เป็นประธานและสักขีพยานการลงนาม MOU ระหว่างนักธุรกิจไทยและเยอรมนี (ข้าวและเครื่องดื่ม) ณ โรงแรม Hyatt Regency Dusseldorf ผู้ส่งออกไทย บริษัท ยูนิเวอร์แซลไรซ์ จำกัด กับ บริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co. KG และผู้ส่งออกไทย บริษัท Boonrawd Trading International Co.,Ltd กับ บริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co. KG

ภายหลังการลงนาม นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้นำกระทรวงพาณิชย์และการยางแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนมาเยือนประเทศเยอรมันนีเที่ยวนี้ มีกิจกรรมหลัก 3 เรื่องด้วยกันเรื่องที่หนึ่งการยางแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนมาเจรจาขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางสองก็คือพระเอกชนมาร่วมงานเมดิก้า Mecida 2019 ซึ่งเป็นงานที่เยอรมันจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายปี กิจกรรมที่สามก็คือการยางพาภาคเอกชนไทยและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไปส่งเสริมการขายสินค้าไทยในห้างค้าส่งรายใหญ่ของเยอรมันคือห้าง METRO ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศใน 760 สาขาด้วยกันซึ่งสินค้าส่วนใหญ่คือสินค้าอาหาร อาหารสำเร็จรูป สำหรับการนำการยางและภาคเอกชน มาขายสินค้าทางการเกษตรนั้นปรากฏ ผลคือวันนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ในการขายข้าวถุง และขายข้าวสารถุง จำนวน 6000 ตันให้กับภาคเอกชนของเยอรมัน มูลค่า 250 ล้านบาทโดยประมาณ และสองก็คือขายเครื่องดื่มให้กับภาคเอกชนประมาณ 40 ล้านบาทและผลิตภัณฑ์ยางนั้นสามารถทำยอดขายรวมกันเป็นถุงมือยางเพื่อการแพทย์ 2000 ล้านบาทโดยประมาณและสินค้าอื่นๆในงาน MEDICA คาดการณ์ว่าจะทำยอดปีนี้ที่มาร่วมงานประมาณ 150 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมดเป็น 2400 ล้านบาท สำหรับการเดินทางมาเยี่ยมเยอรมันครั้งนี้

สำหรับงาน MEDICA นั้นมีภาคเอกชนไทยมาร่วมงานทั้งหมด 16 บริษัทด้วยกัน สินค้าที่นำมาเจรจาในเรื่องของการขายประกอบด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือทางด้านการดูแลสุขภาพการกายภาพบำบัด อุปกรณ์ที่ใช้ในกระดูก อุปกรณ์ไฟฟ้าทางการแพทย์และของที่ใช้แล้วทิ้งทางการแพทย์ เป็นต้นที่การยางแห่งประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นตลาดใหม่สำหรับการยางเพราะฉะนั้นการยางก็ได้มีการนัดผู้นำเข้าของเยอรมันเจรจาแต่ว่ายังต้องใช้เวลาในการนับหนึ่งแต่เชื่อว่าการยางจะสามารถที่จะขายยางได้เยอะทีเดียว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า อยากจะเรียนให้ทราบเพิ่มเติมสำหรับการเปิดตลาดในเยอรมันและสหภาพยุโรปโดยเยอรมันถือว่าเป็นผู้นำประเทศหนึ่ง ในสหภาพยุโรป เราได้มีการเตรียมการในการบุกตลาดสหภาพยุโรปในหลายเรื่องด้วยกันเรื่องที่หนึ่งคือเริ่มต้นที่จะทำเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ผมได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าได้เริ่มต้นแล้วและถ้าการเจรจามีความคืบหน้าจะทำให้เร็วที่สุดเพราะจะมีผลช่วยให้การค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเราได้รับสิทธิในการส่งสินค้าบางอย่างที่ยังมีกำแพงภาษีจากสหภาพยุโรปที่ทำให้เราสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องภาษีนำเข้าบางตัวเช่นถุงมือยางเพื่อการแพทย์สำหรับตลาดสหภาพยุโรปรวมทั้งเยอรมันประเทศไทยต้องเสียภาษีนำเข้า 2.3% ขณะที่คู่แข่งสำคัญของเราคือมาเลเซียไม่ต้องเสียภาษีเพราะเขาได้สิทธิ์จีเอสพีซึ่งจะได้ไปจนถึงปีหน้าถ้าเราสามารถที่จะทำเอฟทีเอร่วมกันภาษีก็จะเป็นศูนย์ทำให้เราสามารถแข่งขันกับมาเลเซียได้คือสิ่งที่เราต้องเร่งรัดเอฟพีเอไทยกับอียูนอกจากนั้นสินค้าที่เราจะส่งไปยังสหภาพยุโรปต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสูงเช่นมีเงื่อนไขด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อมมาตรฐานอียูและ food safety เหล่านี้เป็นต้น

“ผู้ที่จะส่งสินค้ามาที่สภาพยุโรปต้องเป็นผู้ผลิตไทยที่ได้มาตรฐานและเป็นไปตามเงื่อนไขของอียูผมมั่นใจว่าประเทศของเราพัฒนาไปเยอะมากเรื่องการขายเหล่านี้ซึ่งเป็นข้อจำกัดบางเรื่องแต่เราสามารถที่จะบรรลุเงื่อนไขเหล่านี้ได้เพื่อให้เข้ามาแข่งขันในตลาดเหล่านี้ได้สำหรับตลาดที่ตั้งเป้าจะเข้ามาขยายในเยอรมันกับสหภาพยุโรปก็คืออย่างเรื่องผลิตภัณฑ์ยางและเรื่องข้าวโดยเฉพาะข้าวออแกนิกซ์ ซึ่งเป็นที่นิยมและไบโอพลาสติก อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง เช่นไก่แช่แข็ง เป็นต้น รวมทั้งในเรื่องของ startup ซึ่งเรามีศักยภาพเช่นในเรื่องของอนิเมชั่นภาพยนตร์สามารถที่จะมาทำความร่วมมือกับเยอรมันสหภาพยุโรปเพื่อเป็นแหล่งผลิตอนิเมชั่นบางส่วนให้กับเขาได้และที่สำคัญคือธุรกิจบริการร้านอาหารไทย สปา ก็เป็นธุรกิจบริการที่มีอนาคตสำหรับประเทศไทยในตลาดเยอรมันและตลาดสหภาพยุโรปรวมทั้งการที่เราจะต้องนำภาคเอกชนมาร่วมงานแสดงสินค้าในหลายภาคส่วนทั้งการแพทย์อาหารอื่นๆที่ ที่เค้าจัดเป็นประจำทุกปีนำผู้นำเข้าจากทั่วโลกมาที่นี่” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทั้งนี้ทำให้ยอดขายมีความชัดเจน 2400 ล้านบาทเฉพาะทริปเดียวที่มาอย่างอื่นคือเรื่องปูทางอนาคตเช่นการยางแห่งประเทศไทยซึ่งวันนี้นัดผู้นำเข้ารายใหญ่สองรายซึ่งมีความคืบหน้าอย่างไรทางการยางก็จะรายงานให้ผมทราบในเรื่องเพื่อการเกษตรข้าวมันสำปะหลังยางพารารวมทั้งอาหารถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ถ้ามียอดส่งออกเยอะก็จะมีผลเกื้อกูลไปถึงเกษตรกรที่อยู่ในระดับฐานรากด้วยจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ

อย่างในอนาคตสำหรับในปัจจุบันทำแล้วบางส่วนอนาคตต้องให้ความสำคัญยิ่งขึ้นคือการเพิ่มมูลค่าเราจะไม่เน้นเฉพาะการส่งยางดิบในรูปของยางแผ่นรมควันหรือรูปน้ำอย่างคนรูปยางแท่งเท่านั้นแต่ว่าหัวใจสำคัญที่เป็นนโยบายถัดจากนี้ไปที่ต้องช่วยกันทุกวิถีทางคือในเรื่องของผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปที่มีการเพิ่มมูลราคาโดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงมือยางเพื่อการแพทย์อันนี้ยังมีตลาดในโลกที่ใหญ่มากถ้าเราแก้ปัญหาในเรื่องภาษีนำเข้าของประเทศนั้นนั้นให้เท่าเทียมกับคู่แข่งเราได้เราก็จะมีอนาคตและทำตัวเลขนำเข้าประเทศได้เยอะรวมทั้งหมอนยางพาราอันนี้ถือว่ามีอนาคตและมีมุระค่าเพิ่มเยอะมากสูงมากและมีตลาดหลายประเทศจะสามารถไปทำตลาดได้ทั้งในส่วนของตลาดยุโรปโดยเฉพาะตลาดจีนเป็นที่นิยมมากผมคิดว่าในอนาคตอันใกล้เราอ่ะต้องไปบุกจีนอีกรอบหนึ่งเพื่อทำตลาดเรื่องหมอยางพาราโดยเฉพาะคิดว่าคนจีนมีจำนวนเยอะมากคนละใบก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถถ่ายยังได้อีกเยอะมากบอกอยากได้เป็นนับไม่ถ้วนมาตุรกีเที่ยวนี้ 20,000,000 ใบที่เราทำ MOU ไป

ผู้สูงวัยเฮ! คลังแก้ลงทะเบียน“ชิมช้อปใช้ เฟส 3”-“อุตตม”รับไม่คึก

People Unity News : ลุงป้าที่ติดปัญหาลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ไม่สำเร็จ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ประสาน ธนาคารกรุงไทย จัดเจ้าหน้าที่ประจำสาขาทั่วประเทศ ช่วยให้คำแนะนำเพื่อให้การลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” “อุตตม”ยอมรับไม่คึกคัก ทำใจจีดีพีปีนี้วืดเป้าหมาย

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” สำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) โดยมีการจำกัดสิทธิ์ที่ 500,000 คน ซึ่งได้เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.62 ที่ผ่านมา พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทะเบียน ทำให้ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงได้ประสานไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อให้สั่งการไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำขั้นตอนการลงทะเบียนแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากนี้ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป

การกันสิทธิ์ไว้ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 เม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 900,000 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยของผู้สูงอายุราว 9,000–10,000 บาทต่อเดือน สินค้าและบริการที่รองรับกลุ่มผู้สูงวัยมีหลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สถานบริการผู้สูงวัย ธุรกิจบริการรถเช่า ธุรกิจทัวร์ รวมถึงกลุ่ม Delivery เป็นต้น

นายชาญกฤช กล่าวว่า จากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้สูงอายุคนไทยพบว่า มีการใช้จ่ายเพื่ออาหาร การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย และเพื่อการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง ทั้งนี้อยากให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์ในโครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ครบ 500,000 คน เพื่อท่องเที่ยวร่วมกันกับบุตรหลาน ซึ่งหากผู้สูงอายุใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว 10,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศและกระจายลงสู่เศรษฐกิจฐานรากราว 5,000 ล้านบาท

สำหรับตัวเลขการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ยังเหลือสิทธิ์ จำนวน 409,825 สิทธิ์ ทั้งนี้โครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” จะไม่แจกเงิน 1,000 บาท ในประเป๋าที่ 1 (G-wellet 1) แต่จะเน้นให้ประชาชนใช้จ่ายเงินตัวเองผ่านกระเป๋า 2 (G-wellet 2) เพื่อรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 15% เมื่อใช้จ่ายเงินไม่เกิน 30,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,500 บาท) และรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 20% เมื่อใช้จ่ายเงินมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,000 บาท) รวมเงินคืนสูงสุดไม่เกิน 8,500 บาท โดยสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน จนถึง 31 ม.ค.63 พร้อมรับ 1 สิทธิ์ทุกการใช้จ่าย 1,000 บาท เพื่อลุ้นจับรางวัลทองคำทุกสัปดาห์อีกด้วย

“อุตตม”ยอมรับเฟส3 ชิมช้อปใช้ไม่คึกคัก

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวยอมรับว่า มาตรการชิมช้อปใช้เฟสที่ 3 ไม่คึกคัดเท่ากับเฟส 1 และ 2 แต่เท่าที่ประเมินเสียงตอบรับก็พอใช้ได้ อย่างไรก็ดี ถือว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะเฟส 3 เป็นมาตรการที่ต่อยอดจากเฟส 1 และ 2

“ต้องเรียนว่า เท่าที่ทราบ เสียงตอบรับก็ใช้ได้ แต่แตกต่างจากเฟสแรก ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะว่า เราวางแผนแต่ต้นว่า เฟส 3 เป็นการขยายต่อยอดเฟส 1 และ 2 การที่มาตรการนี้จะเป็นอย่างไร ก็ติดตามภาพรวม อย่าดูเป็นเฟสๆ อันนั้น ไม่ใช่ความตั้งใจ แต่ที่ตั้งใจ คือ ทำออกมาแล้วต้องส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ”

นายอุตตมกล่าวย้ำว่า ให้การดำเนินการของมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 3 เดินหน้าต่อไป อย่าไปคิดว่า ไม่ประสบสำเร็จ ต้องให้โอกาสดำเนินการ อะไรที่สมควรปรับก็ปรับไป มองต่อเนื่อง อย่าเพิ่งไปตกใจกับแต่ละจุด เหมือนตอนที่เราเริ่มเฟส 1 ก็บอกว่า จะติด แต่เราก็มาได้

ทำใจจีดีพีปีนี้วืดเป้าหมาย

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า การประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2562 ของ สศช. ที่ระบุว่าไตรมาส 3 ขยายตัวที่ 2.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 2.3% ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาส 3/2562 ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมยังเป็นเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเป้าหมายจีดีพีในปีนี้จะเติบโตได้ตามระดับที่ สศช. ประเมิน ที่ 2.6% ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ 2.8%

“ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มก็ยังมีเวลา เหลืออีก 1 เดือนครึ่ง เพื่อดำเนินการไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 2.6% ตามที่ สศช. กังวลว่าหากรัฐบาลไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ เพิ่มอีกจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามกว่าที่ประเมินไว้” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวอีกว่า ล่าสุดกระทรวงการคลังได้เร่งรัดเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปได้ตามแผน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในไตรมาส 4/2562 เข้ามาเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ตรงนี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับความกังวลของภาคอุตสาหกรรมที่มีการปิดโรงงานในช่วงที่ผ่านมานั้น ตามข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีการเปิดโรงงานมากกว่าการปิด ถึงแม้จะมีการลดกำลังการผลิตลง แต่เม็ดเงินลงทุนของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูงถึง 4.3 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของช่วงที่ผ่านมา 36.3% ปัจจัยนี้จะเป็นอีกตัวช่วยในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

ขณะที่การบริโภค พบว่า ยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยหากดูจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในประเทศยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 3 หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนพบว่าไม่ได้รับความนิยมเหมือนระยะก่อนหน้า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะมาตรการในระยะที่ 3 เป็นการขยายผล และต่อยอด จึงอยากให้มองในภาพรวมของมาตรการชิมช้อปใช้ทั้งหมดทุกระยะ ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังติดตามและประเมินอยู่

รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการหารือเพื่อติดตามเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ได้มีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานเพื่อดูแลเศรษฐกิจ โดยนโยบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย เป็นหน้าที่ของ ธปท. จะตัดสินใจ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การปิดโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท จากระดับ 33 บาท มาเป็น 30 บาท หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 10% ซึ่งมองว่า ธปท. จำเป็นต้องดูแลเรื่องค่าเงินบาทมากกว่านี้ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาเติบโตได้เป็นปกติเหมือนที่ผ่านมา

“เฉลิมชัย”บุกจีน! เร่งเจรจาสร้างความมั่นใจบริษัทนำเข้ายางพาราจากไทย

People Unity News : “เฉลิมชัย”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะบุกจีน เร่งเจรจาตอกย้ำความมั่นใจบริษัทที่นำเข้ายางพาราจากไทย

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นำคณะเข้าพบหารือผู้บริหารบริษัทชิโนเคม กรุ๊ป ที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับฝ่ายจีนว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรทุกชนิด โดยเฉพาะยางพารา โดยฝ่ายไทยยินดีให้การสนับสนุน รวมทั้งจะมีมาตรการต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องยางพารา ทั้งนี้ ขอขอบคุณ บ. Sino- Chem International ที่มีความร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทยใกล้ชิดมาโดยตลอด

บริษัทชิโนเคม กรุ๊ป มีแผนดำเนินการเข้าไปลงทุนธุรกิจยางพารา ณ จังหวัดระยอง ซึ่งได้ขอขอบคุณรัฐบาลไทย ที่แสดงความจริงใจในการให้การสนับสนุน ดูแล และพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยาวพารา โดยยืนยันว่า การหารือกันในวันนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ของความร่วมมือในการลงทุนซื้อยางพาราของไทยที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

ไทยและจีนพร้อมลดปัญหา อุปสรรคในการซื้อขายยางพาราระหว่างกัน โดยคาดว่า ทั้งสองฝ่ายจะทบทวนหลักการและเงื่อนไขของสัญญาใหม่เพื่อให้การส่งมอบเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปีหน้านี้

“จุรินทร์”ลุยต่อ”เยอรมนี” ขายข้าวเครื่องดื่ม ถุงมือยาง

People Unity News : “จุรินทร์”ลุยต่อ”เยอรมนี” ขายข้าวเครื่องดื่ม ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์กับเภสัชกรรม หลอดและท่อ

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายจุรินทร์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดการเดินทางเยือนเยอรมนี โดยเวลา 9.30 – 10.00 น. เป็นสักชีพยานการลงนาม MOU ระหว่างนักธุรกิจไทยและเยอรมนี (ข้าวและเครื่องดื่ม) ณ โรงแรม Hyatt Regency Dusseldorf
1 ผู้ส่งออกไทย บริษัท ยูนิเวอร์แซลไรซ์ จำกัด กับ บริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co. KG
2 ผู้ส่งออกไทย บริษัท Boonrawd Trading International Co.,Ltd กับ บริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co. KG

เวลา 11.00 – 11.30 น. เข้าร่วมกิจกรรมสาธิตการปรุงอาหารไทย ร่วมกับเชฟไทย ณ ห้าง METRO Deutschland GmbH ซึ่งปัจจุบันห้าง Metro เป็นบริษัทค้าส่งรายใหญ่อันดับต้นๆ ของเยอรมนี มีสาขาทั้งสิ้น 760 สาขา และมีพนักงานทั้งสิ้น 152,426 คน ในปีที่ผ่านมามีผลประกอบการทั้ง 36,534 ล้านยูโร

เวลา 14.30 น. เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Medica 2019 และเยี่ยมชมคูหาผู้ประกอบการไทย โดยงานแสดงสินค้า Medica 2019 ครั้งที่ 50 จัดโดย Messe Dusseldorf GmbH ในระหว่างวันที่18-21 พฤศจิกายน มีพื้นที่จัดแสดงสินค้าทั้งหมด 17 อาคาร รวมพื้นที่ 112,242 ตร.ม. มีผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าจำนวน 5,286 บริษัท จาก 71 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานรวมจำนวน 120,116 คน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการพบและเจรจาธุรกิจ พร้อมแสวงหาลู่ทางทางการค้ากับผู้ซื้อและผู้นำเข้ารายใหญ่จากทั่วโลก

และในงานนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้นำผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมทั้งสิ้น 15 บริษัท มีพื้นที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งหมด 114 ตารางเมตร โดยสินค้าที่นำมาแสดง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์และเภสัชกรรม ถุงมือยาง หลอดและท่อ เป็นต้น

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งชาวไร่อ้อยเตรียมรับข่าวดี

People Unity News : โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งชาวไร่อ้อยเตรียมรับข่าวดี หากจดทะเบียนชาวไร่อ้อยก่อน 29 พ.ย นี้ เพื่อรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างทั่วถึง

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เปิดให้บริการรับจดทะเบียนชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ประจำปี 2562 ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียน ได้ที่เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1 – 8 และหน่วยประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่งทั่วประเทศ ฟรีไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับเบื้องต้นจากการจดทะเบียน คือ

1) ได้รับสิทธิ์ในการส่งอ้อยเข้าโรงงานอย่างถูกต้องและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 2) ได้รับเงินค่าอ้อยเพิ่มขึ้นกรณีที่การประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายมากกว่าราคาอ้อยขั้นต้น และ 3) ได้รับการสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ อยากให้ชาวไร่อ้อยทุกครอบครัวลงทะเบียนให้ครบถ้วนเพื่อเตรียมรับข่าวดีที่น่าจะมีการประกาศเร็วๆนี้

“อุตตม”โพสต์ยันไทยมีความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นในโลก

People Unity News : รมว.คลังย้ำไทยมีความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นในระดับโลก มั่นใจชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยรับมือแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกได้

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุหัวข้อว่า “ข้อเท็จจริงรายงาน WEF” โดยมีเนื้อหาดังนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับรายงาน ของสภาธุรกิจโลก (World Economic Forum) เรื่องความเสี่ยงในระดับโลกและระดับภูมิภาคในการทำธุรกิจ (Regional Risk of Doing Business 2019) ซึ่งข่าวที่ออกมาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในบางกรณี ผมจึงขออธิบายทำความเข้าใจกับทุกท่านอีกครั้ง

รายงานฉบับดังกล่าวเป็นรายงาน เพื่อกระตุ้นให้แต่ละประเทศเตรียมรับมือภาวะการณ์ต่างๆที่อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ใช่การรายงานภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเป็นการสอบถามความคิดเห็น จากนักลงทุนในภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับการคาดการณ์ในอนาคต

สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นอันดับ 1 เพราะหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 50 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 56.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความเสี่ยงที่ 2 คือ เรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ ที่มีการลักลอบเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ความเสี่ยงที่ 3 คือ เรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น สถานการณ์ของเกาหลีเหนือ หรือ แรงกดดันจากสถานการณ์ สหรัฐ-จีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม WEF ยังได้ทำการจัดลำดับความสามารถทางการแข่งขัน ปี 2019 ด้วย โดยประเทศไทยมีดัชนีความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้นจากปี 2018 คือจากเดิม 67.5 คะแนน เป็น 68.1 คะแนนและอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จากทั้งหมด 141 ประเทศ

ดังนั้นผมจึงขอย้ำอีกครั้งว่า รายงานดังกล่าว ไม่ได้บอกว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงในวันนี้ แต่เป็นการสำรวจเพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละประเทศมีความเสี่ยงในอนาคตแต่ละหัวข้อดังกล่าวในระดับใดเท่านั้น

ผมขอเรียนกับทุกท่านว่า ข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ แต่รัฐบาลได้พยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และการท่องเที่ยว ผ่านโครงการ “ชิมช้อปใช้” การประกันรายได้สินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และล่าสุด มันสำปะหลัง ซึ่งทำให้เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กำลังซื้อและการบริโภคในประเทศ เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น

ด้านการลงทุนภาครัฐ ในช่วงก่อนสิ้นปี 2562 รัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือจะมีการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดท้ายของปี 2562 และในปี 2563 ได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินในปี 2562 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 – ตุลาคม 2562 จำนวน 122,088 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม

ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณในปี 2563 ยอดเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562 มีการเบิกจ่าย จำนวน 7,975 ล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แผนงานปรับปรุงท่อเพื่อลดน้ำสูญเสียของการประปานครหลวง งานก่อสร้างปรับปรุงขยายและงานวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่ 1 ปี 2559 ของการเคหะแห่งชาติ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติ สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้ง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งสนใจการลงทุนด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมใหม่

ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งแผนปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ การดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ จะช่วยผลักดันไทยสามารถรับมือแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกได้อย่างดี ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะติดตามและวิเคราะห์ผลแต่ละมาตรการอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงการคลังจับมือพันธมิตร“ตะลอนทัวร์ ชิมช้อปใช้ ผ่านกระเป๋า 2”

People Unity News : กระทรวงการคลังจับมือพันธมิตร ธ.กรุงไทยและ ททท. “ตะลอนทัวร์ ชิมช้อปใช้ ผ่านกระเป๋า 2” ลงพื้นที่ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี กระตุ้นใช้จ่ายและท่องเที่ยวตามโครงการ “ชิมช้อปใช้” มีลุ้นชิงรางวัลทองคำทั้งผู้ใช้จ่ายและร้านค้า

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) พร้อมนายพลศักดิ์ จิตต์ประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่มเครือข่ายภาคตะวันตก ธนาคารกรุงไทย และนายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ ผอ.ภูมิภาค ภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ลงพื้นที่ตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ประชาสัมพันธ์โครงการ “ชิมช้อปใช้” ภายใต้แคมเปญ “ตะลอนทัวร์ ชิมช้อปใช้ ผ่านกระเป๋า 2” และตรวจความเรียบร้อย เยี่ยมชมบรรดาร้านค้า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รณรงค์ส่งเสริมให้มีการจับจ่ายใช้สอยผ่านกระเป๋า 2 ให้มากขึ้น โดยมีนายภูสิค สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ให้การต้อนรับ

นายชาญกฤช กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องการมอบโครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” เป็นของขวัญปีใหม่แก่พี่น้องประชาชน โดยให้สิทธิ์ผู้สมัครใหม่เพิ่มอีก 2 ล้านคน เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 14-15 พ.ย.62 วันละ 750,000 คน แบ่งเป็น 2 รอบ ในเวลา 06.00 น. และ 18.00 น. และส่วนที่ลงทะเบียนไม่ครบถ้วน จะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 16 พ.ย.62 พร้อมทั้งให้สิทธิ์ผู้มีอายุเกิน 60 ปี จำนวน 500,000 คน ให้ลงทะเบียนในวันที่ 17 พ.ย.62 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าจะครบตามสิทธิ์ ล่าสุดการลงทะเบียน 2 วัน ที่ผ่านมา มียอดลงทะเบียนครบ 1,500,000 คนแล้ว แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” อย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีการแจกเงิน 1,000 บาท เนื่องจากสิทธิ์ของกระเป๋า 2 ซึ่งได้เงินคืน (Cash Back) 15% สำหรับเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,500 บาท) และเงินคืน (Cash Back) อีก 20% สำหรับเงินใช้จ่ายมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (ได้เงินคืนอีกไม่เกิน 4,000 บาท) รวมเงินคืนสูงสุด 8,500 บาท ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องจับจ่ายใช้สอยในเรื่องการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีและต้นปีหน้า ซึ่งโครงการขยายเวลาจากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.62 ออกไปเป็น 31 ม.ค.63 เพื่อรองรับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วย

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การ “ตะลอนทัวร์ ชิมช้อปใช้ ผ่านกระเป๋า 2” ที่ตลาดสามชุกในวันนี้ คณะได้ใช้จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ในกระเป๋า 2 ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นร้านชิม ร้านช้อป และร้านใช้ เพื่อแสดงให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าสามชุก ตลาดเก่าร้อยปี ซึ่งได้รับรางวัลจากการประกวดเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากองค์การยูเนสโก ในปี 2552 และจังหวัดเมืองรองอย่างสุพรรณบุรี สามารถรองรับการจับจ่ายใช้สอยตามโครงการ “ชิมช้อปใช้” ได้ตลอดทั้งทริปการเดินทางอย่างแน่นอน ซึ่งเหมาะกับคนวัยทำงานที่มีวันหยุดไม่มากนัก สามารถพาคุณพ่อ คุณแม่ และสมาชิกในครอบครัวมาท่องเที่ยว เพราะเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยขับเคลื่อนลงสู่เศรษฐกิจฐานราก อีกทั้งส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น โดยในตลาดสามชุก มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการถึง 161 ร้านค้า จากทั้งหมด 400 ร้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 40

นอกจากนี้อยากประชาสัมพันธ์ว่าโครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ยังเพิ่มสิทธิพิเศษให้แก่พี่น้องประชาชนที่ใช้จ่ายเงินผ่าน “กระเป๋า 2” รวมถึงร้านค้าที่รับชำระเงินผ่านแอ๊ป “ถุงเงิน” โดยผู้ใช้จ่ายเงินผ่าน “กระเป๋า 2” ทุกๆ 1,000 บาทจะได้รับ 1 สิทธิ์ในการลุ้นรับรางวัลทองคำ ส่วนร้านค้าที่รับชำระเงินผ่านแอ๊ป “ถุงเงิน” ทุก 1 ใบเสร็จ ก็จะได้รับ 1 สิทธิ์ในการลุ้นรับทองคำเช่นเดียวกัน

ส่วนสรุปยอดการใช้จ่ายจนถึง ณ วันที่ 15 พ.ย.62 มียอดการใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 12,825.30 ล้านบาท แบ่งออกเป็นร้านชิม จำนวน 1,689.00 ล้านบาท ร้านช้อป จำนวน 7,723.70 ล้านบาท ร้านใช้ จำนวน 166.85 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป จำนวน 3,245.72 ล้านบาท

“จุรินทร์”นำทำ MOU ธุรกิจตุรกี-ไทย วันเดียวยอด 3,512 ล้าน

People Unity News : “จุรินทร์”นำทำ MOU ธุรกิจตุรกี-ไทย วันเดียวยอด 3,512 ล้าน สินค้ายางพารา-ข้าว-มันสำปะหลัง-อาหาร

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติภารกิจในการเยือนกรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี โดยเป็นประธานการลงนามข้อตกลง หรือ MOU ในกลุ่มสินค้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ สินค้าอาหาร ระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกี พร้อมกล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ เพราะตุรกีถือเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่มีประชากรมากถึง 80 ล้านคนมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในแต่ละปีมากกว่า 40 ล้านคนและที่สำคัญตุรกีตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าที่มีความสำคัญเป็นประตูสู่ 3 ทวีป คือทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาสามารถเชื่อมต่อการค้าได้ทั้งทางด้านเหนือ-ใต้-ตะวันตก-ตะวันออก

และนอกจากนั้นก็ยังมีความสำคัญทางการค้ากับตะวันออกกลางด้วย ตุรกีจึงเป็นตลาดที่ประเทศไทยเห็นว่ามีศักยภาพ และตุรกีเป็นตลาดที่มีความสำพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยและประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยนั้นก็ถือว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบในภูมิภาคเอเชียนั้นก็คือสามารถที่จะเป็นประตูไปสู่ทวีปเอเชียได้มีเส้นทางการค้าที่สะดวกเชื่อมต่อไปยัง จีนอินเดีย และอาเซียน ซึ่งนักธุรกิจทั้งไทยตุรกีสามารถใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงสภาพภูมิศาสตร์ให้เป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ

เพื่อให้เป็นประตูการค้าระหว่างกันที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งประเทศไทยและตุรกีกำลังมีการเจรจา FTAระหว่างกัน ซึ่งผมได้คุยกับท่านปลัดตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเห็น FTA ไทย ตุรกีเสร็จในกลางปีหน้า ซึ่งการทำ FTA นั้นแม้ว่าทั้งไทยและตุรกีจะมีศักยภาพในอุตสาหกรรมเดียวกันและมีความใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร แต่ว่า FTA จะส่งผลให้การค้าทั้งไทยและตุรกีนั้นมีความเกื้อกูลกันมากกว่าที่จะแข่งขันกันเอง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผลที่คาดหวังหลังจากเอฟทีเอไทยตุรกีเสร็จสิ้นคาดว่าในปี 2565 การค้าระหว่างไทยตุรกีจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับรัฐบาลไทยขอเรียนให้ทราบว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสินค้ายางพาราเป็นอย่างยิ่งเพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกยางพารารายสำคัญของโลกสินค้ายางพาราไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งสอดรับกับที่ตุรกีเป็นประเทศนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางรายสำคัญของโลกจึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือกันยกระดับตัวเลขการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

นอกจากยางพาราแล้วรัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นๆไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง และอาหาร ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดตุรกี ขณะเดียวกันประเทศไทยก็พร้อมที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรของตุรกีเข้าสู่ประเทศไทยเช่นเดียวกันการเยือนธุรกิจครั้งนี้ผมได้นำนักธุรกิจทั้งจากส่วนของนักธุรกิจด้านยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง และอาหาร มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้และมาร่วมลงนาม MOU พร้อมทั้งพบปะทำ Bisiness Networking เพื่อทำธุรกิจการค้าให้ขยายตัวต่อไปอย่างเป็นรูปประธรรมมากยิ่งขึ้น

“หวังว่าการทำกิจกรรมทั้งสองอย่างในวันนี้จะสำเร็จด้วยดีและเกิดประโยชน์กับการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศอย่างที่คาดการณ์ไว้ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณนักธุรกิจชาวตุรกีทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่ามาร่วมงานในวันนี้เชื่อว่างานในวันนี้จะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจของทั้งสองประเทศได้มีโอกาสพบปะทำความรู้จักแสดงศักยภาพของกันและกันเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจและก้าวหน้าไปพร้อมกันอันจะนำไปสู่การขยายโอกาสทางการค้าใหม่ใหม่และยกระดับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่าสำหรับการลงนามข้อตกลง หรือ MOU ในกลุ่มสินค้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ สินค้าอาหาร ระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกี ประกอบด้วย ผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไทย บริษัทไทยฮั้ว จำกัด(มหาชน) กับ บริษัท KOLSAN TYPE ,ผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไทย บริษัทไทยฮั้ว จำกัด(มหาชน) กับ บริษัท Sayeste Kaucak ,การยางแห่งประเทศไทย กับ Turkish Rubber Association การยางแห่งประเทศไทย กับ REP Kaucak ,ผู้ส่งออกข้าวไทย บริษัท โตมี อินเตอร์เทรด จำกัด กับ บริษัท Dervisoglu ,ผู้ส่งออกข้าวไทย บริษัท เอส อินเตอร์ ไรซ์ จำกัด กับ บริษัท Harbiyeli ,ผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย บริษัท SB Premier Product จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific ,ผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย บริษัท Chaiyong Agricultural Silo จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific ,ผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย บริษัท Thong Tapioca (1999)จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific และ ผู้ส่งออกไทย บริษัท สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด กับ บริษัท Dolfin Gida

โดยรวมยอดเฉพาะช่วงเช้าวันนี้ (16พย.2562) ทั้งยางพารา 60,000 ตัน มูลค่า 2,727 ข้าว 6,000 ตัน มูลค่า 85 ล้านบาท และมันสำปะหลัง 150,000 ตัน มูลค่า 650 ล้านบาท ละซอลปรุงรส 10 ล้านบาท รวม มูลค่าเบื้องต้น 3,512 ล้านบาท

จากนั้นเวลา 11.20 – 12.00 น. เวลาท้องถิ่น กรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี (ห่างจากประเทศไทย 4 ชม.) นายจุรินทร์ พบปะภาคเอกชนในกิจกรรม Business Networking อีกกว่า 15 ราย เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทย และอุตสาหกรรมยางพาราและอาหารของไทย และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกี

“ประภัตร”วางแผนเชิงรุกเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ตั้งเป้า เพิ่มผลผลิต 2 แสนตัน

People Unity News : “ประภัตร”วางแผนเชิงรุกเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ตั้งเป้า เพิ่มผลผลิต 2 แสนตันกระจายสู่เกษตรกร ปลูกข้าวคุณภาพ

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2562 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมวางแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว พร้อมด้วย นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับเกษตรกรด้วยการช่วยเหลือและสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรมีคุณภาพดีโดยในภาคการผลิตข้าวนั้น เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญในการผลิตข้าวคุณภาพดี และได้ให้ความสำคัญและติดตามการทำงานของกรมการข้าวมาอย่างต่อเนื่อง

ในการประชุมวันนี้ได้สร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมการข้าว ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงาน โดยได้สั่งการให้กรมการข้าวเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ จากเดิมเป้าหมาย 85,000 ตัน/ปี เป็น 260,000 ตัน/ปี ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร และช่วยเหลือเกษตรกรกรณีเกิดปัญหาภัยพิบัติหรือเกิดโรคในข้าว และให้แต่ละศูนย์สามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย จึงได้ระดมความคิดเห็นร่วมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป้าหมายศักยภาพการผลิต อาทิ ข้าวหอมมะลิ ปทุมธานี ข้าวเจ้า และข้าวเหนียว รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือ รถเกี่ยว เครื่องปักดำ เครื่องคัด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพเพียงพออย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าวมีภารกิจหลักในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ชั้นพันธุ์คัด พันธุ์หลัก พันธุ์ขยาย และพันธุ์จำหน่าย เพื่อเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยมี 1. กองวิจัยและพัฒนาข้าว ซึ่งมีศูนย์วิจัยข้าว 28 แห่ง ผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัด และพันธุ์หลัก ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การผลิต ดูแลหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปข้าววิทยาการเมล็ดพันธุ์และมาตรฐานพันธุ์ โดยมีการบูรณาการทำงานวิจัยร่วมกับ NECTEC ดำเนินโครงการพัฒนาระบบออนไลน์ จัดทำฐานข้อมูลร่วมกัน เพื่อการประเมินสถานการณ์เมล็ดพันธุ์ข้าว และ 2. กองเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 29 แห่ง มีหน้าที่วางแผนและผลิต เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่ายเพื่อสนับสนุนส่งเสริมและกระจายพันธุ์ข้าวตามนโยบายคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ ส่งเสริมเผยแพร่และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร พัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในท้องถิ่น เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชน สนับสนุนการดำเนินธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของเอกชน ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตการใช้และการตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาการเมล็ดพันธุ์ สนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์ข้าวและเกษตรกร

อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ได้เยี่ยมชมแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก พร้อมทั้งชมการสาธิตการใช้โดรนเพื่อการเกษตร ตลอดจนเยี่ยมชมโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ด ชมกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลกด้วย

Verified by ExactMetrics