วันที่ 3 พฤษภาคม 2024

ครม.เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน

People Unity : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (30 กรกฎาคม 2562) มีมติรับทราบสถานการณ์และแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้ ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิถุนายน 2562 ถึงปัจจุบัน) ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการและเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลร่วมการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ และดำเนินการแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วง ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร สรุปได้ดังนี้

1.สถานการณ์และแนวโน้ม

สภาพฝน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนปี 2562 จะมีปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศน้อยกว่าปี 2561 และน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5-10 % (ปีที่แล้วต่ำกว่าค่าปกติ 3%) โดยช่วงต้นเดือนกรกฎาคม บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนลดลง และมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศ 10,729 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุ (น้อยกว่าปริมาณน้ำปี 2561 อยู่ 11,484 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุ รวม 19 แห่ง ปริมาตรระหว่างร้อยละ 30 – 50 รวม 10 แห่ง และปริมาตรมากกว่าร้อยละ 50 รวม 6 แห่ง ซึ่งถือว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อย

สถานการณ์การเพาะปลูกข้าวปี 2562/63 จากข้อมูลการสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร  ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 จำนวน 47.88 ล้านไร่ ยังไม่ปลูกอีก 12.45 ล้านไร่ ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบ พบว่า ฝนทิ้งช่วงจะส่งผลต่อปริมาณ คุณภาพ ผลผลิตของเกษตรกรจะลดลงหรือเสียหาย และผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตรกร ปัจจุบันยังไม่มีรายงานความเสียหายและไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯตามระเบียบกระทรวงการคลัง

2.แนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการทันที และเตรียมการแก้ไขในระยะยาว โดยบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ทันที และมีแผนปฏิบัติที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป

การเผชิญเหตุระยะเร่งด่วน

1.ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับกองทัพ โดยกองทัพสนับสนุนอากาศยานเพิ่ม จำนวน 7 ลำ จากกองทัพบก 1 ลำ กองทัพอากาศ 5 ลำ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 ลำ พร้อมกำลังพล 88 นาย

2.สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที และสร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด ดำเนินการ ดังนี้

2.1 ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง รวมทั้งจัดทำชุดข้อมูลแนวโน้ม/สถานการณ์น้ำในอนาคต วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น วิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในไร่นา การสะสมน้ำต้นทุน และความชื้นในดิน เป็นต้น เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร และผู้ใช้น้ำได้ตระหนักและเข้าใจสถานการณ์ความเสี่ยง และให้ความร่วมมือในระดับที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล แนวโน้ม เรียนรู้ที่จะปรับตัวและบรรเทาผลกระทบให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น วิธีการดูแลรักษาพืชในภาวะแห้งแล้งฝนทิ้งช่วง ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยทดแทนการเพาะปลูกข้าวในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2562

2.2 การจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องจักรเครื่องมือสนับสนุนอื่นๆทั้งประเทศ จำนวน 4,850 หน่วย เพื่อสนับสนุนและพร้อมให้การช่วยเหลือทันท่วงที กระจายอยู่ตามโครงการชลประทานทุกจังหวัด และเตรียมพร้อมแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ใกล้เคียงระบบชลประทาน สำหรับการแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

2.3 แจ้งเตือนให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มทำการปลูกข้าว ให้ชะลอการปลูกไปจนกว่าจะสิ้นสุดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือจนกว่าปริมาณและการกระจายของฝนมีความสม่ำเสมอ และหากมีภาวะการขาดแคลนน้ำให้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด รวมทั้ง สร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้มีการใช้น้ำประหยัดอย่างต่อเนื่อง

2.4 วางแผนการเพาะปลูกพืชและปฏิทินการเพาะปลูกเป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะในฤดูแล้งปี 2562/63 ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ

2.5 จัดตั้ง War room ทุกจังหวัด เร่งสำรวจพื้นที่ประสบฝนทิ้งช่วงทุกจังหวัดพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบฝนทิ้งช่วง และแนะนำให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือปรับปรุงทะเบียนก่อนเกิดความเสียหาย

3.ปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ และเพิ่มความเข้มงวดติดตาม กำกับ การจัดสรรน้ำในระดับพื้นที่เพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเพียงพอถึงฤดูแล้งปี 2562/63 ดำเนินการ ดังนี้

3.1 เก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด ไม่ระบายน้ำจากเขื่อนจนกว่าปริมาณน้ำจะมากกว่าเส้นควบคุมตอนล่าง และบริหารปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงสู่ระบบคลองชลประทาน แทนการบริหารน้ำที่ระบายจากเขื่อน

3.2 พื้นที่ดอนที่ยังไม่ได้ปลูก ให้ประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ หรือสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของผลผลิต สำหรับพื้นที่เพาะปลูกแล้ว จะดำเนินมาตรการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่

3.3 จัดแผนหมุนเวียน/จัดรอบเวรการใช้น้ำในระบบลุ่มน้ำ และบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรอย่างเข้มงวด และสอดคล้องกับสถานการณ์

3.4 พิจารณาการใช้น้ำจากแก้มลิงธรรมชาติ และเสริมแหล่งน้ำด้วยบ่อน้ำบาดาล ในพื้นที่ที่เป็นที่ดอน

3.5 การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เมื่อประเมินน้ำฝนที่ตกลงมาแล้ว พบว่ามีความจำเป็นต้องปรับลดแผนการระบายน้ำ เพื่อประหยัดการใช้น้ำตลอดฤดูฝน และให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ สำหรับการอุปบริโภค บริโภค ในปี 2563 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเป็นไปได้ตามแผนที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้

1) ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ อาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดทำปฏิทินการรับน้ำส่งให้กรมชลประทาน

2) ลำน้ำหรือคลองส่งน้ำที่มีความจำเป็นต้องรับน้ำเข้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำ ให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุด ซึ่งกรมชลประทานจะกำหนดอัตราการรับน้ำที่เหมาะสมให้

3) ขอความร่วมมือ ไม่ให้เกษตรกร ทำการปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดมีความจำเป็นจะต้องสูบน้ำเพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

4) สถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่นสามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ ทั้งนี้ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทาน

5) ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีนและในระบบชลประทาน

6) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คูคลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากทำให้ต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย

การช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้น

1.การบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้เพื่อเสริมสภาพคล่องของเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกรที่ประสบภัยฝนทิ้งช่วง โดยการสนับสนุนเงินทุนแก่สมาชิกสหกรณ์ สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สหกรณ์วงเงิน 1,600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 3 – 5 ปี โดยมีวงเงินกู้ให้สมาชิกรายละไม่เกิน 30,000 – 50,000บาท ผ่านการดำเนินโครงการ 3 โครงการ ได้แก่

1.1 โครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 600 ล้านบาท มี 2 กิจกรรม ได้แก่ ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อพัฒนาอาชีพ และเพื่อจัดหาแหล่งน้ำทำการเกษตร

1.2 โครงการจัดหาแหล่งน้ำให้สมาชิกสหกรณ์ วงเงิน 400 ล้านบาท

1.3  โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ วงเงิน 600 ล้านบาท

2. การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือ ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือภายใน 90 วัน

3.โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 1,260 บาท และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 1,500 บาท

4.เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิถุนายน – สิงหาคม 2562) ตามความต้องการพันธุ์ข้าวของเกษตร โดยต้องคำนึงปริมาณน้ำและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

การดำเนินการในระยะต่อไป

1.ประเมินความเสี่ยงต่อปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคต เพื่อนำไปสู่การบริหารความต้องการน้ำภาคเกษตรและวางแผนการเพาะปลูกพืชที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำ โดยกำหนดปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำ

2.ประเมินความเสี่ยงต่อระดับความมั่นคงด้านอาหาร และผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร การดำรงชีวิต และสภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกร รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง

3.ประเมินความเสี่ยง ต่อการปฏิบัติงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยวิเคราะห์มาตรการ งบประมาณที่จะช่วยเหลือเยียวยา และสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากพบความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิต เกษตรกรเสียโอกาสในการผลิต และกระทบต่อรายได้ในครัวเรือนจนอาจทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถปรับตัวและมีความพร้อมที่จะเผชิญเหตุ และสามารถบริหารความเสี่ยงได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง เช่น มาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน มาตรการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตและการตลาด โดยยึดหลักที่จะไม่สร้างภาระงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีศักยภาพ และความพร้อมที่จะรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วง ในอนาคตได้ดีกว่าปัจจุบัน รวมทั้ง เป็นมาตรการที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบได้ในห้วงเวลาที่เหมาะสมหรือทันต่อสถานการณ์ต่อไป

เศรษฐกิจ : ครม.เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน

People Unity : post 31 กรกฎาคม 2562 เวลา 12.30 น.

พาณิชย์อนุมัติบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคาแล้ว เริ่ม 25 ส.ค.65

People Unity News : 24 สิงหาคม 65 อธิบดีกรมการค้าภายใน แถลงข่าวร่วมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาซองละ 1 บาท ทำให้ตั้งแต่พรุ่งนี้ (25 ส.ค.) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาจะอยู่ที่ซองละ 7 บาท หลังไม่ได้ขึ้นมานานหลายปี ระบุกรมฯจะเฝ้าติดตามหากต้นทุนลดลงราคาก็ควรลดลงตามด้วยเช่นกัน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่ากรมฯได้ประชุมร่วมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ตรามาม่า บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ตราไวไว และบริษัท วันไทย อุตสาหกรรม อาหาร จำกัด ตรายำยำ เพื่อพิจารณากรณีที่ผู้ผลิตยื่นขอปรับขึ้นราคาแบบซองจาก 6 บาทเป็น 8 บาท โดยหลังจากพิจารณาต้นทุนร่วมกันอย่างละเอียดแล้ว ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม แพกเกจจิ้ง รวมถึงต้นทุนพลังงานและแรงงาน เห็นว่าต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นจริง จึงได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาทั้ง 3 ราย ไม่เกิน 1 บาทต่อซองสำหรับขนาดปกติ ส่วนรายการอื่น ไม่อนุมัติให้ปรับขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ราคาที่ผู้ผลิตที่ยื่นขอมา 8 บาท ถือว่าสูงไป จึงอนุมัติให้ขึ้นได้ไม่เกิน 1 บาทต่อซอง หรือสูงสุดไม่เกินซองละ 7 บาท เพราะต้องคำนึงถึงพี่น้องประชาชนภายใต้นโยบาย วิน-วิน โมเดล ที่ผู้ผลิตอยู่ได้ ผลิตต่อได้ และประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป จึงออกมาอย่างที่ได้ตกลงกัน โดยกรมฯ ยังได้เพิ่มเงื่อนไขให้ผู้ผลิตปฏิบัติ คือ ถ้าต้นทุนวัตถุดิบลดลง ต้นทุนพลังงานลดลง ก็ต้องปรับลดราคาลงมา โดยกรมฯ จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ผลิตปรับลดราคาต่อไป หากมีกรณีเกิดขึ้น และกรมฯ ได้แจ้งผู้ผลิตไปแล้ว แต่ผู้ผลิตไม่ปรับลดราคาลง จะเป็นการเข้าข่ายขายสินค้าแพงเกินสมควร มีโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ม.26 และ 29

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอีก 2 รายที่เหลือ คือ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ตรานิชชิน และบริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ตราซื่อสัตย์ จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์เดียวกันนี้ โดยล่าสุดนิชชิน ได้ยื่นรายละเอียดต้นทุนเข้ามาครบถ้วนแล้ว กรมฯ จะพิจารณาต่อไป ส่วนซื่อสัตย์ ยังไม่ได้ยื่นรายละเอียดเข้ามา

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า หากมองในจุดที่ผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคาไป 8 บาทต่อซอง ได้ปรับไม่เกิน 1 บาท หรือไม่เกิน 7 บาทต่อซอง ก็ถือว่าแย่ แต่ถ้ามองจากจุดที่ผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคามา 18 เดือน ก็ถือว่าดี และเข้าใจว่าภาครัฐ ต้องดูแลพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้น ถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ ซึ่งผู้ผลิต ก็ยอมรับได้ เพราะยังดีกว่าไม่ได้ปรับขึ้นราคาเลย เพราะที่ผ่านมา มาม่าขายเกือบขาดทุน บางรายต้องขาดทุนไปแล้ว

Advertisement

“ประยุทธ์” ชูเศรษฐกิจ BCG โมเดล เน้น “ไทยลงทุนไทย” ลดความเหลื่อมล้ำ

People Unity News : นายกรัฐมนตรีย้ำเศรษฐกิจ BCG โมเดล เน้น ไทยลงทุนไทยลดความเหลื่อมล้ำ พาไทยหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

วันนี้ (9 ก.พ. 64) เวลา 08.30 น. ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมนิทรรศการ “ผลงาน BCG : พลังเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย “ผลิตภัณฑ์น้ำตาลไอโซโมทูโลส นวัตกรรมช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล” “ผลิตภัณฑ์ไบโอเมทานอลจากวัตถุดิบเหลือทิ้ง” และ“ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดตรีผลา” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมในครั้งนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมช่วยกันขับเคลื่อน BCG Model ทำให้เกิดการพัฒนาวิจัยผลงานต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยับสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ที่สำคัญคือ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ กระจายรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ มาทำให้เกิดคุณค่าแทนการเผาทิ้ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นวิกฤตระดับโลกอีกด้วย  ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้ดึงทรัพยากรทางชีวภาพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทั้ง 6 ภาค มาใช้ประโยชน์เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จาก BCG Model ให้มากที่สุด ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล ส่วนราชการและภาคเอกชนด้วย นายกรัฐมนตรียังย้ำในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเดินหน้าปรับหลักเกณฑ์การลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริม “ไทยลงทุนไทย” พร้อมทั้งปรับแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงโอกาสมากยิ่งขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงไทยจะเป็นประเทศที่ “ล้มแล้วลุกไว”

นายกรัฐมนตรียังกล่าวเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์จาก BCG Model อาทิ น้ำตาลพาลาทีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในรูปแบบยาสีฟันและแชมพูสระผม พร้อมยินดีร่วมประชาสัมพันธ์ด้วยนำมาใช้เองด้วย

Advertising

ก.พลังงาน – ก.พาณิชย์ ผนึกกำลังตรวจสอบตู้จ่ายน้ำมัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 เมษายน 2567 ก.พลังงาน และ ก.พาณิชย์ ผนึกกำลังตรวจสอบตู้จ่ายน้ำมันและมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง ของสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ต่อเนื่อง หากแก้ไขดัดแปลงคลาดเคลื่อน โทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับ 280,000 บาท

กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เพื่อตรวจสอบหัวจ่ายและตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงทุกเครื่องว่ามีการแก้ไขดัดแปลงทำให้มาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดความคลาดเคลื่อนหรือไม่ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าประชาชนผู้ใช้น้ำมันได้น้ำมันเต็มปริมาตรต่อลิตร

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีการจ่ายน้ำมันให้ประชาชนไม่เต็มลิตรของสถานีบริการน้ำมันที่ผ่านมา กรมฯได้ร่วมกับกรมการค้าภายในและสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบตู้จ่ายและหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง บนถนนสายหลักที่เป็นเส้นทางการเดินทางของประชาชนและเส้นทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ทั้งนี้กรมธุรกิจพลังงานเน้นการตรวจสอบว่ามีการแก้ไขดัดแปลงตู้จ่ายและหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ หากพบว่ามีการแก้ไขดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรมการค้าภายในตรวจสอบมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานและตามกฎหมายที่กำหนด ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจในเบื้องต้นได้จากเครื่องหมายคำรับรองที่แสดงอยู่บริเวณตู้จ่ายน้ำมัน หากพบว่ามีปริมาณน้ำมันคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีเจตนาแก้ไขดัดแปลงหัวจ่ายให้เกิดความคลาดเคลื่อน จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท

สำหรับผลการตรวจสอบที่ผ่านมา ยังไม่พบหัวจ่ายน้ำมันเครื่องใดมีความคลาดเคลื่อน ปริมาตรน้ำมันได้มาตรฐานเต็มลิตร และมาตรวัดหัวจ่ายมีเครื่องหมายคำรับรองถูกต้อง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันทุกแห่งเป็นอย่างดี พร้อมทั้งยืนยันว่าได้เข้มงวดเป็นพิเศษ เนื่องจากความถูกต้องเที่ยงตรงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

Advertisement

ยืนตายซากเพราะเหตุนี้!! ธ.กรุงไทยชี้มี SME เพียง 0.2% ที่ทำวิจัยและพัฒนาสินค้า

People Unity : ธนาคารกรุงไทยเผยมีผู้ประกอบการ SME ทำวิจัยและพัฒนาสินค้าเพียง 0.2% ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากขาดบุคลากร เครื่องมือและข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี มีต้นทุนสูง แม้การทำวิจัยและพัฒนาสามารถช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเพิ่มโอกาสรอดให้กับธุรกิจ แนะเริ่มต้นทำวิจัย โดยหาไอเดียจากปัญหากวนใจผู้บริโภคก่อน จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ชี้ขอรับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้จากหน่วยงานรัฐ และสินเชื่อพิเศษจากสถาบันการเงินชั้นนำ

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าการทำวิจัยและพัฒนา หรือ R&D  จะช่วยให้เกิดนวัตกรรมทางสินค้า ลดต้นทุนการผลิต อันนำไปสู่การเพิ่มรายได้และโอกาสรอดของธุรกิจ แต่จากการทำบทวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการ SME จำนวน 3 ล้านราย มีเพียง 5 พันรายเท่านั้นที่ทำ R&D หรือคิดเป็น 0.2%  โดยปัญหาเกิดจาก 3 อุปสรรค คือ ขาดบุคลากรและเครื่องมือ  เข้าไม่ถึงข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ๆ และต้นทุนการทำ R&D ที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบการหลายรายพบทางออกและประสบความสำเร็จผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ

“งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า แม้บริษัทจะลงทุนด้าน R&D ไม่มาก แต่หากสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ตรงจุดและรวดเร็ว จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ถึง 6-23% ดังนั้น จึงอยากแนะนำว่า การทำ R&D ควรเริ่มหาไอเดียจาก Pain Point หรือปัญหากวนใจในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจและคิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ ประกอบกับการทำ R&D จะทำให้ผลิตภัณฑ์โดดเด่นและลอกเลียนแบบได้ยากขึ้น ที่ผ่านมาบ่อยครั้งมี SME ทำ R&D  แล้วประสบความสำเร็จมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ”

ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการ ผู้ร่วมทำบทวิจัย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการสามารถเข้ารับความช่วยเหลือด้านบุคลากรและเครื่องมือจากศูนย์วิจัยของสถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยเฉพาะอุตสาหกรรม และศูนย์วิจัยจากหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เช่น สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยการสนับสนุนมี 4 ระดับ ได้แก่ ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ให้ใช้เครื่องมือ ทีมวิจัย หรือสถานที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาสินค้าตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนี้ ยังสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรืองานวิจัยใหม่ๆทางออนไลน์ ที่ www.thailandtechshow.com ที่รวบรวมผลงานวิจัยจาก สวทช. นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

“อุปสรรคด้านต้นทุนที่สูงเกินไป มีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน ที่พร้อมสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เช่น โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของ สวทช. วงเงินกู้สูงสุด 30 ล้านบาท โครงการนวัตกรรมดี ไม่มีดอกเบี้ย โครงการ Startup&Innobiz วงเงินกู้สูงสุด 40 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ  สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ เช่น มีบริษัทนำคำปรึกษาจากสถาบันอาหารไปต่อยอดไอเดียจนผลิตขนมข้าวกล้องไทยส่งขายต่างประเทศ ได้เทคโนโลยีจาก สวทช. ไปผลิตแป้งมันสำปะหลังไร้กลูเตนเจ้าแรกของไทย ได้ทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มาร่วมผลิตเทคโนโลยีลดน้ำตาลในน้ำผลไม้ด้วยจุลินทรีย์  หรือได้พี่เลี้ยงจากอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ช่วยทำเก้าอี้ทำฟันโดยใช้พลังงานจากลม เป็นต้น”

เศรษฐกิจ : ยืนตายซากเพราะเหตุนี้!! ธ.กรุงไทยชี้มี SME เพียง 0.2% ที่ทำวิจัยและพัฒนาสินค้า

People Unity : 18 มิถุนายน 2562 เวลา 23.00 น.

 

ศก.ไทยเสี่ยง-ขยายต่ำ! มติกนง.5 ต่อ 2 เสียง ลดดอกเบี้ยลง 0.25%

People Unity News : ศก.ไทยเสี่ยง-ขยายต่ำ! มติกนง.5 ต่อ 2 เสียง ลดดอกเบี้ยลง 0.25% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือ 1.25%

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2562 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี

ทั้งนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลง ซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

“วีรศักดิ์”สั่งการกรมพัฒน์ฯ ใช้ธรรมาภิบาลสร้างความเป็นมืออาชีพแก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

People Unity News : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งเร่งพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พร้อมเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ให้มีความเป็นมืออาชีพและมีธรรมาภิบาล หวังผลักดันให้เกิดธุรกิจสีขาวทั้งระบบ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำหลักธรรมาภิบาลมาช่วยสร้างความโปร่งใสและความเป็นมืออาชีพให้นักบัญชี เพราะนักบัญชีถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ รวมถึงการดำเนินงานต่างๆ ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการจัดทำงบการเงินของกิจการ เพราะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าของสินทรัพย์ และเป็นส่วนช่วยนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุนในแต่ละประเภทธุรกิจ โดยใช้งบการเงินเป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ความมั่นคงของกิจการ ส่งผลให้ภาคธุรกิจเดินได้ต่อไปอย่างมีทิศทางและยั่งยืน

สำหรับงานบัญชี คือ การเก็บรวบรวมและบันทึกข้อมูลเหตุการณ์หรือรายการดำเนินการต่างๆ ทางด้านการเงิน โดยจำแนกหมวดหมู่รายการออกให้เป็นระเบียบและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการเงินด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น และนำเสนอออกมาเป็นรายงาน เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้งานต่อไป ซึ่งในการดำเนินงานทางธุรกิจมีเหตุการณ์ทางการเงินต่างๆเกิดขึ้นมากมาย และมีข้อมูลที่ซับซ้อน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนการจัดทำบัญชีที่เป็นระเบียบและดำเนินงานโดยนักบัญชีที่มีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรมที่ดี มีความโปร่งใสและซื่อสัตย์สุจริตเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติงาน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีให้มีความเป็นมืออาชีพและมีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร “ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เรื่อง การบัญชีเกี่ยวกับเงินลงทุน” ขึ้น เพื่อพัฒนาสำนักงานบัญชีและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีให้มีความรู้ความเข้าใจตามหลักธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำธุรกิจไปสู่ธุรกิจสีขาวทั้งระบบ โดยโครงการดังกล่าวนับชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชีของผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีได้

อาชีพนักบัญชีเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ ยุติธรรม โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากลูกค้าและคนทั่วไป เพราะวิชาชีพบัญชีนับเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รมช. กล่าวสรุป

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562) มีผู้ทำบัญชีจำนวนทั้งสิ้น 68,805 ราย และมีสำนักงานบัญชี จำนวนทั้งสิ้น 8,391 ราย

“SPCG”หนุน “สนพ.” ดึงองค์ความรู้พลังงานหมุนเวียนต่อยอดธุรกิจ

People Unity : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ผู้แทน SPCG ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในโครงการ THE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”ณ อาคาร True Digital Park

เมื่อวันที่ 27ตุลาคม 2562ที่ผ่านมา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” มอบหมายให้ นางนรินพร มาลาศรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนขึ้นบรรยายในโครงการTHE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”หรือ “นโยบายทางด้านพลังงานหมุนเวียน หรือธุรกิจทางด้านพลังงานหมุนเวียน อะไรคือตัวนำในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางด้านพลังงานของประเทศไทย” จัดขึ้นณ อาคาร True Digital Parkโดยโครงการครั้งนี้

มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการ ผู้ประกอบธุรกิจพลังงาน ผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยี นิสิตและนักศึกษา รวมทั้งประชาชนได้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมกันสร้างสรรค์นโยบายเพื่อต่อยอดธุรกิจด้านพลังงานไทย และร่วมกำหนดนิยามความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของประเทศไทยให้พัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นางนรินพรได้กล่าวว่าบริษัท SPCG ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟรายแรกของประเทศไทยและประชาคมอาเซียนด้วยโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งในและต่างประเทศรวมกำลังการผลิตทั้งสิ้นกว่า 300 เมกะวัตต์ซึ่งธุรกิจของเรานอกจากจะเป็นธุรกิจด้านพลังงานสะอาดแล้ว ยังสามารถช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 200,000 ตัน CO2ต่อปี อีกด้วย

ในส่วนของการบรรยายนั้น นางนรินพร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีเงินสนับสนุนส่วนเพิ่มพิเศษจากค่าไฟฟ้าปกติ (Adder) และ Feed in Tariff (FIT) ทำให้ภาคธุรกิจ ทางด้านพลังงานหมุนเวียน มีการเติบโต สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลักร้อยเป็นหลักพัน โดยในปี 2564 จะมีปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 3,272 เมกะวัตต์ และจากแผน PDP 2018 รัฐบาลประกาศให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี ทั้งหมด 1,000 เมกะวัตต์ โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2562 เป็นต้นไป รวมถึงจะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ในช่วงปี 2561-2580 กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจการลงทุน ในโครงการที่รัฐบาลมีนโยบาย หรือกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม สมเหตุสมผล จูงใจแก่นักลงทุน สนใจมาลงทุนโดยไม่ลังเลใจหรืออยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ารูปแบบการสนับสนุนไม่จูงใจให้เกิดการเข้าร่วมโครงการ โดยจะเห็นได้จากผลการดำเนินโครงการช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการในจำนวนที่น้อย และผลที่ได้มีขนาดรวมไม่ถึงเมกะวัตต์ จาก 121 หลังคาเรือน ห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้ 15,000หลังคาเรือนหรือ 100 เมกะวัตต์ ในปี 2562

ททท. เนรมิตริมน้ำเจ้าพระยา ยามค่ำคืน ด้วย แสง สี พลุ ยิ่งใหญ่ ในงาน “VIJIT CHAO PHRAYA 2023” ตลอดเดือนธันวาคม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 ธันวาคม 2566 ททท. ชวนชม งาน VIJIT CHAO PHRAYA 2023 ตลอดเดือนธันวาคม กระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปี คาดสร้างรายได้กว่า 600 ล้านบาท

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดกิจกรรม “VIJIT CHAO PHRAYA 2023” งานแสดง แสง สี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดวาอารามและย่านสำคัญริมน้ำเจ้าพระยา รวม 7 พื้นที่  ระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคมนี้ จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เนตรมิตรสีสันเจ้าพระยาเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวส่งท้ายปี คาดงานปีนี้จะสร้างรายได้กว่า 600 ล้านบาท

ด้าน น.ส.ฐาปนีย์  ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า งานนี้เป็นอีกหนึ่งบิ๊กอีเวนต์ภายใต้โครงการ Thailand Winter Festivals โดยปีนี้ ททท. ขยายเวลาการแสดงเป็น 1 เดือนเต็ม โดยใช้ 7 พื้นที่สำคัญที่มีชื่อเสียง ริมน้ำเจ้าพระยา มาแต่งแต้มสีสันยามค่ำคืนด้วยนวัตกรรม แสง สี และสื่อผสมสมัยใหม่ ทั้ง Projection Mapping & Lighting ควบคู่กับการผสมผสานวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ให้มีความทันสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสและอยากเดินทางกลับมาอีกครั้ง

Advertisement

แรงงานไทยเนื้อหอม ต่างชาติต้องการ ผลจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ดีของไทย

สุชาติ ชมกลิ่น

People Unity News : แรงงานไทยช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ ลดการว่างงาน หลังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ สาเหตุจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ดีของไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุม ครม.ครั้งล่าสุด รมว.แรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) ได้รายงานให้ที่ประชุมซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ได้รับทราบถึงการจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนและประเทศฟินแลนด์ ฤดูกาล 2020 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 ว่ามีแรงงานไทยที่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในทั้งสองประเทศจำนวนทั้งสิ้น 5,254 คนโดยแยกเป็นประเทศฟินแลนด์ 2,014 คน และประเทศสวีเดน จำนวน 3,210 คน ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศโดยประมาณขั้นต่ำ 618,341,720 บาท แบ่งเป็นประเทศฟินแลนด์จำนวน 182,655,000 บาท และประเทศสวีเดน จำนวน 435,686,720 บาท โดยในการเดินทางไปในครั้งนี้ กรมการจัดหางานได้วางมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยดำเนินการตามนโยบายของ ศบค. ทุกประการ ซึ่งแรงงานไทยทั้งหมดได้ผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก่อนเดินทางไป และหลังจากเดินทางกลับ และจะต้องผ่านการกักตัวเป็นระยะเวลาจำนวน 14 วัน ซึ่งในฤดูกาลนี้แรงงานทั้งหมดได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1-22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา และได้เข้ารับการกักกันตัวในสถานที่กักกันที่กระทรวงแรงงาน ,กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหมได้ร่วมกันจัดขึ้น

สำหรับรายได้ของคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์และประเทศสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 พบว่า แรงงานที่เดินทางไปประเทศสวีเดน จะมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 150,000 – 180,000 บาท โดยมีระยะเวลาเก็บผลไม้ประมาณ 2 เดือน ส่วนคนงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ที่ประเทศฟินแลนด์ มีระยะเวลาการเก็บผลไม้ประมาณ 55 วัน และมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 90,000 – 150,000 บาท นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวของคนงานทั้งหมดที่กลับมานั้น ไม่ได้ใช้งบประมาณของประเทศแต่อย่างใด แต่ใช้เงินของบริษัทต่างประเทศนั้นๆที่พาคนงานไทยไปทำงาน ซึ่งคนงานเหล่านี้ บริษัทต่างประเทศได้ออกค่าใช้จ่ายในการกักตัวโดยมีแบงค์การันตี คนละ 32,000 บาทต่อคน แต่หากค่าใช้จ่ายจริงไม่ถึงจำนวนนี้ กระทรวงแรงงานก็จะคืนให้บริษัทที่ออกค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าต่อไป

นายอนุชา กล่าวว่า “แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีของไทย ทำให้ประเทศที่ต้องการนำเข้าแรงงาน มีความมั่นใจแรงงานจากไทยเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งเป็นโอกาสดีในการเพิ่มช่องทางให้แรงงานไทยได้มีตลาดทำงานในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้แรงงานไทยมีอาชีพ มีรายได้ ลดปัญหาการว่างงานภายในประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำเงินกลับเข้าประเทศไทย ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก”

Advertising

Verified by ExactMetrics