วันที่ 3 พฤษภาคม 2024

ททท. เร่งเปิดพื้นที่รับชาวต่างชาติท่องเที่ยวไทย ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

People Unity News : ททท. เร่งเปิดพื้นที่รับชาวต่างชาติท่องเที่ยวไทย ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ พร้อมเตรียมมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวของคนไทย

1 กันยายน 2564 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ขณะนี้ ททท. ยังคงเดินหน้าตามแผนการเปิดพื้นที่นำร่อง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เนื่องจากใกล้เข้าสู่ไฮซีซั่นในการท่องเที่ยวช่วงปลายปีแล้ว ทำให้ต้องเร่งตามแผนในการเปิดพื้นที่นำร่อง เพราะขณะนี้เริ่มเห็นความต้องการในส่วนของยอดการจองท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวของชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวจึงเริ่มมองหาประเทศในการท่องเที่ยว ว่ามีที่ใดเปิดในเงื่อนไขแบบใดบ้าง ซึ่งหากประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 จนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้และผลของการทำแซนด์บ็อกซ์ สะท้อนความปลอดภัยของชาวต่างชาติที่เข้ามาอย่างชัดเจน ททท. จะขอให้ ศบค. พิจารณาลดวันพักในภูเก็ตลงเหลือ 7 วัน ตามมติเดิมของ ศบค. ช่วงวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของท่องเที่ยวไทยมากขึ้น หากประเทศไทยไม่เร่งเดินหน้าเปิดพื้นที่ที่มีความพร้อมในการท่องเที่ยว เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อน โอกาสในการดึงดูดชาวต่างชาติ เพื่อสร้างรายได้ในภาคการท่องเที่ยวกลับมาอาจหลุดไปและไม่ทันช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ได้

Advertising

คลังรายงานการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนธันวาคม 63

People Unity News : คลังรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนธันวาคม 2563

นายพรชัย  ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 917 ราย ใน 74 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (543 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (147 ราย) ภาคเหนือ (115 ราย) ภาคตะวันออก (64 ราย) และภาคใต้ (48 ราย) ตามลำดับ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 387,706 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 9,538.59 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 24,602.64 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์  ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 870 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 807 ราย ใน 74 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 1 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี) โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (71 ราย) กรุงเทพมหานคร (61 ราย) และขอนแก่น (49 ราย)

(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส  ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 136 ราย ใน 45 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 110 ราย ใน 36 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (18 ราย) อุดรธานี (8 ราย) อุบลราชธานี (7 ราย) และกรุงเทพมหานคร (7 ราย)

(3) ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 172,974 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 3,878.96 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 24,745 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 576.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.87 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 28,092 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 645.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.65 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 8,289 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 542 ราย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599

ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 0 2255 1898

ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155

ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567

ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359

ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344

สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน โทร. สายด่วน 1359

Advertising

นายกฯสั่งเร่งติดตามผลกระทบ หลังอียูผ่าน กม.ห้ามสินค้าทำลายป่า

People Unity News : 14 ธันวาคม 2565 รองโฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ สั่งตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากกรณีอียูผ่าน กม.ห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับการทำลายป่า เร่งทำความเข้าใจ ให้ความรู้ผู้ประกอบการ เกษตรกรตลอดห่วงโซ่การผลิต

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามรายละเอียดกรณีที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงในการมีกฎหมายห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อมาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะกระทบต่อสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ น้ำมันปาล์ม ปศุสัตว์ ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ไม้และยางพารา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวอาจจะกระทบต่อสินค้าจากประเทศไทยที่ส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรปด้วย เนื่องจากผลของกฎหมายจะบังคับให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าจากทั่วโลกไปขายในยุโรปจะต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานะของผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาขายว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตนั้นไม่เกี่ยวข้องกับตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งข้อตกลงของอียูเรื่องนี้ยังเหลือขั้นตอนการอนุมัติเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ และจะให้เวลาผู้ประกอบการทั่วยุโรปที่นำเข้าสินค้าหรือมีห่วงโซ่การผลิตอยู่ทั่วโลกเตรียมตัวเพื่อทำรายงานรับรองกระบวนการผลิตประมาณ 18-24 เดือนแล้วแต่ขนาดของธุรกิจ

“นายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามรายละเอียดของกฎหมายเรื่องนี้ว่าครอบคลุมสินค้าใดบ้าง ประเมินผลกระทบต่อประเทศไทย พร้อมกับให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการและเกษตรกรให้เกิดความเข้าใจทั้งห่วงโซ่การผลิต และปรับตัวให้ทันกับกฎกติกาใหม่ที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเด็นการผลิตที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอน ซึ่งทิศทางดังกล่าวส่งผลถึงการออกมาตรการและกฎหมายในหลายประเทศ ซึ่งสามารถเป็นเครื่องกีดกันทางการค้าในระยะต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว จึงกำหนดให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลงทุนบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วน และได้นำเสนอเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสมาชิกเอเปคให้การสนับสนุน เนื่องจากเห็นพ้องต่อความเร่งด่วนที่ทั่วโลกต้องมีกระบวนการสร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

Advertisement

โฆษกรัฐบาลชี้แจง พ่อค้าแม่ค้า “โครงการเราชนะ” ถูกเรียกเงินคืนเพราะทำผิดเงื่อนไข

People Unity News : โฆษกรัฐบาลชี้แจง พ่อค้าแม่ค้า “โครงการเราชนะ” ถูกเรียกเงินคืนเพราะทำผิดเงื่อนไข รัฐบาลมุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ช่วยพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย วอนเห็นใจการทำงานของส่วนราชการ ต้องปกป้องและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ร่วมโครงการ

11 ต.ค. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงกรณีที่เกิดกระแสในโลกออนไลน์กรณีกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ประกอบการในโครงการเยียวยาของรัฐ โครงการเราชนะ ตรวจพบลักษณะธุรกรรมที่ผิดเงื่อนไข อาทิ ร้านค้ารับสแกนแล้วแลกเป็นเงินสด มีการสแกนเงินเต็มจำนวนวงเงินสิทธิ (1,000 2,000 บาท เป็นต้น) จำนวนมากและร้านค้าออนไลน์ที่รับสแกนซื้อ-ขายข้ามจังหวัด ทำให้จุดรับเงินขยับไปมาเกิน 7,000 กิโลเมตรใน 1 วัน หรือบางรายอยู่นอกพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการ  จึงจำเป็นต้องมีหนังสือประทับตราแจ้งคำสั่งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการ 2,099 ราย ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ  ผู้ประกอบการที่ขาดคุณสมบัติการเข้าร่วมโครงการเราชนะ (เป็นร้านค้าจากโครงการคนละครึ่ง แต่มีสถานะเป็นนิติบุคคล) ผู้ประกอบการที่ชี้แจงแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับธุรกรรมที่ตรวจพบ  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่ง พร้อมแสดงหลักฐานให้ทบทวนผลการพิจารณาต่อผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งกระทรวงการคลังมีขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ตั้งแต่การระงับสิทธิการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ชั่วคราวจนถึงการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ  รวมทั้งยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิดด้วย

โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า วิงวอนขอให้เห็นใจการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ทุกอย่างต้องยึดตามระเบียบและกฎหมายรองรับ  ซึ่งผู้ประกอบการที่สมัครใจร่วมโครงการ  ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนด ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการด้วย หากมีการดำเนินการที่ละเมิดกติกาหรือผิดวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ส่วนราชการที่รับผิดชอบก็มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามข้อบังคับ  เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของประชาชน และให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม เนื่องจากเงินทุกบาทที่นำใช้จ่ายมาจากภาษีของคนไทยทุกคน ขณะเดียวกันก็ฝากย้ำเตือนไปยังผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอย่าได้มีธุรกรรมเสี่ยง เพราะพบว่ามีการผิดเงื่อนไข อาจเสียสิทธิในการเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการอื่นของรัฐอื่นๆในอนาคตด้วย

Advertising

Startup ไทยเตรียมเฮ “พุทธิพงษ์” ชักชวน Amazon Web Services สนับสนุน Startup ไทย

People Unity News : Startup ไทย เตรียมเฮ รมว.ดีอีเอส ชักชวน Amazon Web Services ร่วมสนับสนุน Startup ไทย

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และคณะฯ ได้เดินทางเข้าหารือความร่วมมือกับผู้บริหารระดับสูงของ Amazon Web Services (AWS) ณ สำนักงานใหญ่ Amazon Seattle สำหรับ AWS มีความถนัดในเรื่องระบบ cloud ซึ่งมีระบบสนับสนุนหลายระบบ รวมถึง e-commerce ของ Amazon เองและยังมีบริการเรื่องระบบความปลอดภัยของข้อมูล และมีโครงการพัฒนา startup ด้วย

“ผมเห็นว่า Amazon มีโอกาสมากในไทย เพราะเป็นบริษัทที่ startup ในไทยรู้จักเป็นอย่างดี ผมจึง ชักชวนให้ AWS มาทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นในประเทศไทย และสนับสนุนประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งต่อไปจะเห็นความร่วมมือระหว่าง depa และ AWS มากขึ้น จะมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่าง startup และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างเครือข่าย startup ไทยและอเมริกา จะมีการจัดกิจกรรมในประเทศไทยมากขึ้น รวมไปถึงการขายใน launch pad ซึ่งเป็น platform ขายสินค้าที่เป็นนวัตกรรมของ startup บน amazon.com เป็นประโยชน์อย่างมากในการยกระดับ startup ไทยสู่สากล” รมว.ดีอีเอส กล่าว

โฆษณา

นายกฯเตรียมบูรณะโบราณสถานในอยุธยา

People Unity News : 3 มีนาคม 2566 นายกฯตรวจเยี่ยมสภาพโบราณสถานวิหารพระมงคลบพิตร และวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อเตรียมการบูรณะ  อารมณ์ดีทักทาย-ถ่ายรูป นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น แซววันหน้าต้องมากินอาหารญี่ปุ่นในไทย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ตรวจเยี่ยมสภาพวิหารพระมงคลบพิตร และวัดพระศรีสรรเพชญ์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเตรียมการบูรณะให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเข้ากราบสักการะพระมงคลบพิตร ถวายพวงมาลัย ผ้าห่มพระมงคลบพิตรและรับฟังประวัติและสถานที่สําคัญภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยในอดีตวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญในสมัยอยุธยา มีสถานะเป็นวัดประจำพระราชวังหลวง นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ภายในวัดยังใช้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์และพระอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยอยุธยา จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินชมโดยรอบของวัดศรีสรรเพชญ์  พร้อมกับสอบถามประวัติการอนุรักษ์วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยในปี พ.ศ. 2560 สํานักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ดําเนินการบูรณะวิหารป่าเลไลย์และป้อมมุมด้านทิศตะวันตก เฉียงใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ นอกจากนี้เมื่อ พ.ศ. 2562 กรมศิลปากรดําเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาโบราณสถานในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวสําคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเพื่ออํานวยความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว เช่น ปรับปรุงทางเดินและประตูภายในวัด ติดตั้งทางลาด ปรับปรุงระบบไฟส่องสว่างโบราณสถาน ติดตั้งระบบน้ำเพื่อรดน้ำและปรับปรุงสนามหญ้าให้เกิดความสวยงามแก่โบราณสถานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดเป็นแหล่งการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันดูแลรักษาโบราณสถานประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไทย และยังสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ ชื่อเสียงให้กับจังหวัดและประเทศ ซึ่งในวันข้างหน้าจะต้องมีการคิดไอเดียใหม่ๆ เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ภายในพื้นที่นำมาเพิ่มมูลค่าจึงจะยั่งยืน ถ้าหากคิดโปรเจ็กต์ที่ใหญ่ ใช้งบประมาณมาก ทรัพยากรมาก โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็จะไม่แน่นอน โดยวันนี้อาจเพิ่มกิจกรรมที่น่าสนใจ เสริมผลิตภัณฑ์ในชุมชนเข้าไปในสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยให้มาเที่ยวในจังหวัด ทำให้การท่องเที่ยวคึกคักมากขึ้น ต้องไม่ลืมว่าแหล่งท่องเที่ยวของไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ทักทายและร่วมถ่ายภาพกับประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พร้อมกับรับมอบดอกไม้และพูดคุย สอบถามด้วยความเป็นกันเอง และได้กล่าวติดตลกกับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น เกี่ยวกับการที่คนไทยนิยมอาหารญี่ประเภทปลา ว่า “วันหน้าปลาจะไม่เหลือแล้วนะ คนไทยกินหมด ทำให้วันหน้าจะต้องมากินอาหารญี่ปุ่นที่ประเทศไทย” เรียกเสียงหัวเราะ ให้กับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นอย่างครื้นเครง นอกจากนี้ยังมีบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติคนอื่นๆได้ มาขอถ่ายรูปกับพล.อ.ประยุทธ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวบางคนเห็นพล.อ.ประยุทธ์แสดงอาการร้อน จึงนำพัดมาพัดเพื่อแก้ร้อนให้ โดยพลเอกประยุทธ์ได้ยกมือไหว้ขอบคุณ

Advertisement

“จุรินทร์”ยกจีนเป็นต้นแบบแก้จน บุกตลาดขายสินค้าเกษตร

People Unity :  “จุรินทร์”เชื่อมจีนบุกตลาดขายสินค้าเกษตร ทำความสัมพันธ์ให้ความสำคัญ เป็นต้นแบบแก้ความยากจนในไทย

วันที่ 28 ต.ค.2562 เวลา 09.10-9.40 น. ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมดิเอมเมอรัล-รัชดา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “7 ทศวรรษจีนใหม่  ก้าวต่อไปที่โลกเฝ้ามอง” โดยใช้เวลาร่วมชั่วโมงปาฐกถาพิเศษการพัฒนาจีน แบบอย่างที่โลกเรียนรู้ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังจากทั้งสมาคม สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ อสมท. สถานทูตจีน และผู้สนใจเกี่ยวข้อง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งกับการที่สื่อมวลชนไทยและจีนได้ร่วมกันจัดการสัมมนานี้ขึ้นมาในวันนี้  เมื่อพูดถึงความเจริญก้าวหน้า 70 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทุกๆด้าน ในระดับที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ โดยความมหัศจรรย์ที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้คือความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ ที่จีนได้แสดงให้ชาวโลกเห็น ในห้วง 70 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของจีนส่งผลให้ชาวจีนมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นราว 60 เท่า โดยเมื่อ 70 ปีที่แล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนอยู่ที่เพียง 49.7 หยวน หรือราว 250 บาท ในขณะที่เมื่อปี 2561 มีจำนวน 28,200 หยวน หรือราว 1.41 แสนบาท และการเติบโตอย่างมั่นคงของรายได้ส่งผลให้อัตราการใช้จ่ายเติบโตขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังซื้ออันมหาศาล และความต้องการวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน การค้า และการลงทุนอันมหาศาล ที่ช่วยสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก

และที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง คือการลดความยากจน ซึ่งตอนนี้ จีนมีคนจนประมาณต่ำกว่าร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายถึงประชากรประมาณ 700 ล้านคนของจีนได้ถูกยกออกจากความยากจน ตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในวันนี้ประเทศจีนคือขุมพลังทางอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เหล็ก ปูนซีเมนต์ ถ่านหิน ยานยนต์ เรือ รถไฟความเร็วสูง หุ่นยนต์ สะพาน อุโมงค์ ถนน เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และที่สำคัญคือจีนมีสถิติการสมัครเพื่อจดทะเบียนสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 1.5 เท่า และปัจจุบันนี้ จีนได้กลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลก ทั้งด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินออนไลน์ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of things) ปัญญาประดิษฐ์ และบล็อกเชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนจะยังคงรักษาบทบาทการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกต่อไปในอนาคต

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือประเทศจีนทำอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงประเทศ จากประเทศยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียงหนึ่งในสามของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศในแถบทวีปแอฟริกา ให้กลายเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของโลก และที่สำคัญคือประเทศนี้มีประชากรถึง 1.4 พันล้านคน

1.จีนให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง 2.การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก 3.เน้นการปฏิรูปจากล่างสู่บน 4.ส่งเสริมอุตสาหกรรม โครงสร้างต่างๆ ในท้องถิ่น การส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะอยู่อาศัยและทำงานในท้องถิ่น การลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5.ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับเอกชน 6.ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นักลงทุนจีนได้ก้าวออกไปลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้ เห็นว่าจีนเน้นเพื่อส่งเสริมการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ รับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเดินหน้าเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หวังยุติความขัดแย้งสงครามการค้า

สำหรับไทยพวกเราย่อมให้ความสำคัญเรียนรู้จากประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศของจีน และสามารถก้าวและเติบโตไปพร้อมกับจีนได้ เราเป็นเอเชียด้วยกัน กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับตลาดจีนเป็นอย่างมาก เพราะจีนเองก็เป็นประเทศคู่ค้าลำดับ 1 ของไทย โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2552 – 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนขยายตัวสูงมาก ถึงร้อยละ 10.3 โดยเฉลี่ยต่อปี โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทย ครองสัดส่วนการค้าร้อยละ 16 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของจีน ครองสัดส่วนการค้าราวร้อยละ 2.1

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีน มี 2-3 รูปแบบกลไกแรกคือ JC คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน, กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation – MLC) , ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ใน 3 กรอบความร่วมมือสำคัญเราทำงานร่วมกัน และอีกอันคือ กรอบ FTA อาเซียน-จีน ระหว่างประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจนี้ตนก็เป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ในระหว่างนี้ ก็ได้มีแนวทางและดำเนินการประชุมจะได้จาต่อเนื่อง

ตนได้จัดคณะเดินทางไปเยือนนครหนานหนิง ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2562 และได้พบหารือกับรองนายกรัฐมนตรี หาน เจิ้ง และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (นายลู่ ซิน เซ่อ) ในประเด็นความร่วมมือรอบด้าน โดยเน้นสินค้าเกษตร และมีการลงนาม MOU สินค้ามันสำปะหลังด้วย รวมถึงได้พบหารือกับผู้แทนภาครัฐ/เอกชนไทย-จีน ในกลุ่มยางพารา มันสำปะหลัง และผลไม้ และเร็วๆนี้ ผมจะพาคณะเดินทางไปยังนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อเข้าร่วมงาน China International Import Expo 2019 หรือ CIIE 2019 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดี ประเทศไทยให้ความสำคัญกับจีน และสานต่อความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีน ตลอดจนขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ ที่มีมาอย่างยาวนานในอดีตให้พัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในอนาคต

ในช่วงหนึ่งนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปไทยเรามีเอ็มโอยูหรือข้อตกลง อยู่กับจีนในเรื่องของข้าวกับยางพาราซึ่งในเรื่องของข้าวนั้นเราได้ทำเอ็มโออยู่กับจีนที่จะจีนช่วยเราซื้อข้าวเราประมาณ 2,000,000 ตันซึ่งขณะนี้เข้าใจว่ายังขาดอยู่อีก 1,300,000 ตัน รวมทั้งยาพาราเรามีเอ็มโออยู่กับจีนอีก 2 แสนตันจีนซื้อแล้ว 16,800 ตันยังขาดอยู่ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้เรื่องนี้ตนก็ได้ประสานงานผ่านท่านทูตจีนไปแล้วรวมทั้งได้ฝากท่านรองฯหานเจิ้งของจีนไปด้วย ตนในฐานะเซลล์แมนประเทศก็จึงขอทำหน้าที่ไปด้วย

และ ในฐานะกำกับกระทรวงพาณิชย์ ไทยเรายังให้ความสำคัญกับการใช้กลไกทูตพาณิชย์ทั่วโลกในการทำหน้าที่เซลล์แมนประเทศ หรือในการเจาะลึกรายบุคคลต้องยอมรับว่าประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายไปทั่วทุกมณฑลมีความต้องการใช้สินค้าเกษตรอาหารอะไรรูปและสินค้าจากประเทศไทย จึงเป็นจุดสำคัญในการที่ทูตพาณิชย์ไทยต้องทำงานหนักในการร่วมมือแต่ละมณฑลเพื่อส่งสินค้าไปจีนมากขึ้นลดการขาดดุลการค้าลงมาให้แคบลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมรับหน้าที่สิ่งที่ผมตั้งเป็นนวัตกรรมใหม่ในทางเศรษฐกิจของกระทรวงก็คือเราจะตั้ง กรอ.พาณิชย์เพื่อเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับผู้ส่งออกและพ่อค้าเช่นเดียวกันที่จีนทำอยู่และประสบความสำเร็จคือการให้ความสำคัญทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน

อย่างไรก็ตามการทำงานนั้น ตนเพิ่งประกาศไปว่าเราต้องทำงานเชิงรุกไปทุกตลาดทั่วโลก ก็เพิ่งประกาศไป เรากับจีนต่างกันที่รูปแบบการปกครองแต่เงื่อนไขความสำเร็จคือหลักใหญ่ต้องใช้หลักการบริหารรัฐกิจที่ชัดเจนจะทำให้เดินหน้าไปได้ เช่นที่ประธานาธิบดีสีได้ทำก็เป็นแบบอย่างก็เป็นเรื่องดี

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า เวลา 70 ปี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปีของอาณาจักรจีนที่มีเรื่องราวมากมาย  แต่ 70 ปีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นกรณีศึกษาของโลกยุคปัจจุบัน  และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลต่อโลกในอนาคต  ดังนั้นการสัมมนาเรื่อง “ 7 ทศวรรษจีนใหม่ ก้าวต่อไปที่โลกเฝ้ามอง” ที่ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ อสมท. จัดในวันนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านในการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆในอนาคต

คนจนเฮ! รัฐคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ใช้บัตรสวัสดิการอีก 500 บาทต่อเดือน

People unity news online : รัฐบาลเพิ่มเงินชดเชยจากภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ได้ชำระเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน ทำให้ผู้มีสิทธิมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ และส่งเสริมการออมเงินผ่าน กอช. ซึ่งจะช่วยให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในการเลี้ยงชีพในอนาคต

วันที่ 19 กันยายน 2561 นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า จากข้อมูลการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐ 11 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2560 – สิงหาคม 2561) พบว่า มีการใช้สิทธิ จำนวน 128 ล้านครั้ง เป็นเงิน 38,185 ล้านบาท หรือร้อยละ 99 ของจำนวนเงินการใช้สิทธิทั้งสิ้น 38,535 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และแบ่งเบาค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ในปัจจุบันหากผู้มีสิทธิใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะต้องรับภาระจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 รวมอยู่ในราคาสินค้าดังกล่าวด้วย

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ โดยจะคงเงินที่จ่ายเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้ร้อยละ 1 ก่อน ส่วนที่เหลือร้อยละ 6 จะนำมาจำแนกข้อมูลเป็น 2 ส่วน  คือ ส่วนที่ 1 ร้อยละ 5 เพื่อการใช้จ่าย เงินในส่วนนี้จะโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนเป็นวันทำการก่อนวันหยุด ส่วนที่ 2 ร้อยละ 1 เพื่อการออม ของวงเงินชดเชยทั้งหมด และเงินจะโอนเข้าบัญชีของผู้มีรายได้น้อยที่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แต่ละราย หากผู้มีสิทธิมีคุณสมบัติครบถ้วนในการสมัครสมาชิก กอช. แต่ยังไม่ได้สมัครสามารถสมัครได้ทันที เพื่อให้รองรับการโอนเงินเข้าบัญชี สำหรับผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิก กอช. กระทรวงการคลังจะหารือกับธนาคารต่างๆ เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารระยะยาว โดยให้ธนาคารพิจารณาผลตอบแทน ที่เหมาะสม รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีต่อไป

อย่างไรก็ตาม เงินชดเชยที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับทั้ง 2 ส่วน รวมกันแล้วไม่เกิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยใช้ข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีสิทธิชำระผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 30 เมษายน 2562 มาคำนวณเพื่อจ่ายเงินชดเชย โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมจำนวน 5,000 ล้านบาท

การดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้มีเงินสำรองเก็บไว้ใช้เลี้ยงชีพในอนาคต และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและจูงใจให้ร้านค้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการสร้างความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจและสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนให้กับประเทศ

People unity news online : post 19 กันยายน 2561 เวลา 12.40 น.

กฟผ. มอบส่วนลดซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 มูลค่า 500 บาท จำนวน 10,000 สิทธิ์ พรุ่งนี้-30 มิ.ย.

People Unity News : 31 มีนาคม 2565 กฟผ. ชวนคนไทยลดใช้พลังงาน มอบส่วนลดซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 มูลค่า 500 บาท จำนวน 10,000 สิทธิ์ ตั้งแต่พรุ่งนี้ – 30 มิ.ย.65

นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กฟผ. ชวนประชาชนร่วมใจประหยัดพลังงานผ่านแคมเปญ “Save Energy for ALL ร่วมใจประหยัดพลังงาน ผ่านวิกฤตไปด้วยกัน” ด้วยการส่งเสริมการเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ประสิทธิภาพสูงและประหยัดไฟ

โดยมอบส่วนลด 500 บาท เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 มูลค่ารวม 1,000 บาท ขึ้นไป จำนวน 10,000 สิทธิ์

เริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย.65 หรือจนกว่าจะครบสิทธิ์ (สงวนสิทธิ์พนักงาน กฟผ. งดเข้าร่วมโครงการ)

เงื่อนไขการรับสิทธิ์ :

– แสดงบัตรประชาชน พร้อมสำเนาหรือรูปถ่ายทะเบียนบ้านที่มีรหัสประจำบ้าน ณ จุดขายที่เข้าร่วมโครงการ จำกัดครอบครัวละ 1 สิทธิ์

– แสดงหลักฐานการเพิ่มเพื่อนใน LINE@EGAT หรือ Facebook : กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อย่างใดอย่างหนึ่ง

– ต้องใช้สิทธิ์ภายในวันที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์เท่านั้น

สำหรับห้างสรรพสินค้าและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ โฮมโปร เมกาโฮม เดอะมอลล์ ดิเอ็มโพเรียม สยามพารากอน บลูพอร์ต พาวเวอร์บาย แกรนด์โฮมมาร์ท ไทวัสดุ baan&Beyond ร้านค้าในสังกัดสมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทย และร้านสหกรณ์ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.

Advertisement

“วีรศักดิ์”เล็งปลุกตลาดงานหัตถศิลป์แดนอีสานชูผ้าไหมเป็นพระเอก

People Unity News : “วีรศักดิ์”เตรียมลงพื้นที่ขอนแก่นปลายเดือนนี้ ลุยปลุกตลาดงานหัตถศิลป์แดนอีสาน ชูผ้าไหมเป็นพระเอก ลั่นต้องต่อยอดจดลิขสิทธิ์ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย เร่งนำรายได้กลับสู่ชุมชนสร้างความเข้มแข็งจากท้องถิ่นเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศจากความผันผวนของการค้าโลก

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เร่งดำเนินงานเก็บรวบรวม งานอนุรักษ์ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ด้านหัตถศิลป์ไทย เพื่อต่อยอดนำความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์ไทยนั้น ล่าสุดทาง SACICT เตรียมจัดกิจกรรมประชุมสมาชิก SACICT Craft Network ครั้งที่ 3 ในกลุ่มผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมอวานี

เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายงานหัตถศิลป์ ในกลุ่มผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ต้องเร่งดำเนินงานทั้งสิ้น 424 ราย แบ่งเป็นประเภท งานผ้า งานจักสาน งานโลหะ เครื่องกระดาษ และอื่นๆ ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการงานผ้ามากที่สุด ซึ่งงานผ้าทอของภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่าเป็นศิลปหัตถกรรมไทยที่สร้างชื่อเชียงให้กับประเทศไทยมากที่สุด ทั้งนี้ นอกเหนือจากกิจกรรมประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ตนยังจะลงพื้นที่งานหัตถกรรมผ้าไหมมัดหมี่ชนบท ไปเยี่ยมชมผลงานของครูสงคราม งามยิ่ง ครูศิลป์ของแผ่นดิน ที่กวาดรางวัลจากการประกวดทั้งในและต่างประเทศมาแล้วนับไม่ถ้วน รวมถึงยังจะเดินทางไปเยี่ยมชมนวัตกรรมเส้นไหมอินทรีย์ นวัตกรรมผ้าไหมแต้มหมี่ และจะไปพบปะครูช่าง และทายาทในชุมชนเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการผลักดันต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมจะเน้นประเด็นสร้างความตระหนักและเห็นคุณค่าของการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทางการค้าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม มุ่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด ทั้งยังเป็นการติดอาวุธทางปัญญาด้วยองค์ความรู้ทางเทคนิค ตลอดจนการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ที่ผสานอัตลักษณ์แห่งภูมิปัญญา ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแปรรูปสินค้าให้ตรงกับยุคสมัยและความนิยมของผู้บริโภค มีการเชื่อมประสานไปยังผู้ซื้อ ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงตลาดออนไลน์ เพื่อจะสร้างพันธมิตรด้านการค้าใหม่ๆ ต่อไปได้อย่างไม่จำกัดอีกด้วย” นายวีรศักดิ์ กล่าว

นายวีรศักดิ์ กล่าวย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเร่งเชื่อมกลไกการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายในประเทศรองรับความผันผวนของการค้าโลก ซึ่งขณะนี้ทุกองคาพยพของกระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นไปที่การปลุกเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy)เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแกร่ง ทำให้พี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคได้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของ SACICT ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร และเน้นการปรับกระบวนการคิด สร้างมุมมองใหม่ให้กับช่างผู้ผลิตให้สามารถผลิตงานศิลปหัตถกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงสามารถต่อยอดเกิดเป็นอาชีพและขายได้จริงในตลาด ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่มีความมั่งคั่งด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะอันโดดเด่น สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อสินค้าไทยกลับไปเป็นของที่ระลึก สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง สินค้าที่นักท่องเที่ยวที่ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของที่ระลึกนั้น นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมแล้ว ยังเป็นการสืบสาน ต่อยอด เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้ผลงานอันทรงคุณค่าจากฝีมืออันประณีตยังคงอยู่สืบไปด้วย

Verified by ExactMetrics