วันที่ 8 พฤษภาคม 2024

รัฐบาลยืนยันใช้บัตรคนจนซื้อสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐ ไม่เอื้อผู้ผลิตรายใหญ่

People unity news online : เมื่อวานนี้ (8 ตุลาคม 2560)  พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการวิจารณ์กรณีการซื้อสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ร้านธงฟ้าประชารัฐเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ว่า ประชาชนผู้ถือบัตรสามารถเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพได้ทุกชนิดทุกยี่ห้อของผู้ผลิตทุกราย ครอบคลุมทั้งสินค้าอาหารสด ของใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์การเรียน และวัตถุดิบทางการเกษตร

“ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้เปิดรับสมัครผู้ผลิตสินค้าทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิตในชุมชน สหกรณ์วิสาหกิจชุมชน และบริษัทใหญ่ ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มใดเป็นพิเศษ และยังเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตสินค้าเข้าร่วมโครงการจำนวน 24 ราย 40 สินค้า 318 รายการ แยกเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค 31 สินค้า 160 รายการ อุปกรณ์การเรียน 8 สินค้า 72 รายการ และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร 1 สินค้า 86 รายการ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีราคาถูกกว่าท้องตลาดร้อยละ 10 – 20”

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการดำเนินงานเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเน้นให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีรายได้น้อย พร้อมทั้งได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังเร่งติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC ตามร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านค้าที่เข้าร่วมรายการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และแจ้งรายละเอียดวิธีการใช้งานและเงื่อนไขต่างๆ ให้เจ้าของร้านค้าและผู้ถือบัตรทราบอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันปัญหาความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเป็นห่วงเรื่องวิธีปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจเข้าข่ายการทุจริตประพฤติมิชอบ เช่น ผู้ถือบัตรนำบัตรไปแลกเป็นเงินสดจากร้านธงฟ้าประชารัฐโดยไม่รับสินค้า หรือร้านค้าบางแห่งที่ยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC แต่ให้ผู้ถือบัตรรับสินค้าออกไปก่อนและยึดบัตรไว้ เป็นต้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปแก้ปัญหาโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง โดยหากพบการกระทำผิดในส่วนของร้านค้าอาจถูกถอดออกจากทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์และยึดเครื่องรูดบัตรคืน ส่วนผู้ถือบัตรอาจถูกระงับวงเงินในบัตรทันที

สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบรายชื่อและพิกัดที่ตั้งของร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ http://www.shop.moc.go.th/

People unity news online : post 9 ตุลาคม 2560 เวลา 12.30 น.

ฉลองครบรอบ 64 ปี ธอส.เปิดฝากออมทรัพย์ รับดอกเบี้ยสูง 1.80%

People unity news online : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ฉลองครบรอบ 64 ปี เอาใจผู้ที่รักการออม จัดทำ “เงินฝากออมทรัพย์ ธอส. เงินเต็มบ้าน” รับอัตราดอกเบี้ย 1.80% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่เปิดบัญชีและมียอดเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ยอดเงินฝากคงเหลือมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป รับอัตราดอกเบี้ย 0.90% ต่อปี เงื่อนไขเปิดบัญชีเงินฝากครั้งแรกขั้นต่ำ 500 บาท ฟรี! บัตร ATM GHB Lifestyles card ฟรีค่าธรรมเนียมการออกบัตรและค่าธรรมเนียมรายปีในปีแรก ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเปิดบัญชีได้ที่สาขา ธอส. ทุกแห่งทั่วประเทศ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2560 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

People unity news online : post 26 กันยายน 2560 เวลา 22.30 น.

เร่งติดตั้งเครื่องรูดบัตร 5,700 ร้านค้า-รถเมล์ 800 คัน รองรับการใช้บัตรสวัสดิการคนจน

People unity news online : รัฐบาลเดินหน้าติดเครื่องรูดบัตรกว่า 5 พันร้านค้า รถโดยสารอีก 800 คัน รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมเตรียมประเมินผลทุกเดือน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย

24 กันยายน 2560 – พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  รัฐบาลเตรียมความพร้อมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ เพื่อรองรับการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ต.ค.60 นี้ โดยได้เร่งติดตั้งเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีดีซี ในร้านธงฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว 3,000 แห่งทั่วประเทศ และมีเป้าหมายจะติดตั้งให้ได้ถึง 5,700 ร้านค้าภายในต้นเดือน ต.ค.60

“ส่วนในพื้นที่ที่ร้านธงฟ้าไม่สามารถติดตั้งเครื่องรูดบัตรได้ทัน กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมจัดรถโมบายเคลื่อนที่ประมาณ 200 คัน ที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตรแล้ว ออกไปจำหน่ายสินค้าธงฟ้าประชารัฐให้แก่ประชาชน ซึ่งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่นๆที่เข้าร่วมโครงการ โดยขณะนี้กรมบัญชีกลางกำลังรวบรวมข้อมูลร้านค้าและสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ และจะส่งไปยังสาขาต่างๆของ ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ รถโดยสารของ ขสมก. ก็ได้ติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) แล้วเช่นกัน โดยติดตั้งในรถโดยสารธรรมดา จำนวน 200 คัน และจะทยอยติดตั้งให้ครบ 800 คัน ให้ครอบคลุมพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ซึ่งรถที่ร่วมโครงการจะติดสติ๊กเกอร์สีเขียวระบุข้อความว่า “รถคันนี้ใช้ระบบเก็บเงินอัตโนมัติ” ซึ่งผู้ถือบัตรเพียงนำบัตรแตะที่เครื่องอ่านบัตร ระบบจะหักค่าใช้จ่ายทันที

ทั้งนี้ ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนไว้ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.3 ล้านคน จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในวันที่ 17 ต.ค.60 เนื่องจากภาครัฐมีความจำเป็นต้องบรรจุข้อมูลลงในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่สอดคล้องกับมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) ของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ซึ่งจะเชื่อมโยงการเดินทางด้วยรถโดยสาร ขสมก. และรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน จึงทำให้ต้องเพิ่มขั้นตอนการผลิตและควบคุมคุณภาพ ก่อนนำไปทดสอบกับเครื่องอ่านบัตร (E-Ticket) ต่อไป

“รัฐจะชดเชยสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย อันเนื่องมาจากขั้นตอนการผลิตที่ใช้เวลานานขึ้น โดยกรมบัญชีกลางจะยกยอดวงเงินสวัสดิการที่คงเหลือจากการใช้จ่ายในเดือน ต.ค.60 ให้ไปใช้ต่อได้ในเดือน พ.ย.60 ส่วนเดือนอื่นจะไม่มีการทบยอดคงเหลือแต่อย่างใด”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระเตรียมรองรับการใช้งานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เกิดความรัดกุม และในระยะแรกควรศึกษาและประเมินผลการทำงานและข้อบกพร่องทุกเดือน เพื่อให้สามารถปรับปรุงแก้ไขให้สำเร็จอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งย้ำว่าการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น เป็นเพียงการช่วยแบ่งเบาภาระในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวรัฐบาลก็มีหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมตามนโยบายของรัฐบาล

People unity news online : post 25 กันยายน 2560 เวลา 09.30 น.

“บิ๊กตู่” ตั้งเป้าปี 61 รายได้ท่องเที่ยว 3 ล้านๆบาท แนะทุกจังหวัดพัฒนาจุดขายท่องเที่ยว

People unity news online : เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยในปี 2561 ว่า รัฐบาลตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2560 อีกร้อยละ 10 หรือคิดเป็นตัวเลขประมาณ 3.03 ล้านล้านบาท โดยยังคงเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่มุ่งให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาพำนักอยู่ในประเทศไทยนานขึ้นผ่านมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งอาศัยแรงเสริมจากผลสำรวจของต่างประเทศที่จัดอันดับให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถใช้เวลาท่องเที่ยวระยะยาวแต่คุ้มค่ามากที่สุดโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ช่วยผลักดันให้สำเร็จผลมากยิ่งขึ้น

“ปี 2561 จะเป็นปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน หรือ Amazing Thailand year 2018 โดยรัฐบาลขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และสายการบิน ร่วมกันจัดกิจกรรม และใช้ตราสัญลักษณ์ประชาสัมพันธ์การจัดงาน รวมถึงมอบสินค้าและบริการราคาพิเศษ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว”

นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า กรอบเวลาของปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.60 – 1 ม.ค.62 โดยสาเหตุที่เริ่มต้นในช่วงปลายปีนี้นั้นเพราะจะมีงานสำคัญระดับโลกเกิดขึ้นในไทย คือ การสวนสนามทางเรือนานาชาติของกองทัพอาเซียนและนอกอาเซียน รวมกว่า 30 ประเทศ ในวันที่ 18 พ.ย.60 ณ อ่าวพัทยา และการแข่งขันเครื่องบิน Air Race 1 Thailand ซึ่งเป็นการแข่งขันเครื่องบินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของเอเชีย

“นายกฯอยากให้ทุกจังหวัดดึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ไม่ว่าจะในแง่ของภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ออกมาเป็นจุดขาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เป็นทางเลือกในการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกลุ่มจังหวัด ภาค ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าว

People unity news online : post 11 กันยายน 2560 เวลา 13.25 น.

กระทรวงแรงงานเตรียมปลดล็อคอาชีพสงวน ให้ต่างชาติทำอาชีพก่อสร้างได้

People unity news online : เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 กระทรวงแรงงานได้สัมมนารับฟังความคิดเห็น พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แบ่ง 3 กลุ่มพิจารณาปรับบทลงโทษ อาชีพสงวน และกระบวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย เผยงานภูมิปัญญา ศิลปหัตถกรรมอนุรักษ์ไว้สำหรับคนไทย พร้อมพิจารณาผ่อนคลายให้ต่างด้าวทำงานก่อสร้างได้ให้สอดคล้องกับยุคสมัย

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560” ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงานว่า กระทรวงแรงงานได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560” ซึ่งจากการที่ได้บังคับใช้กฎหมายเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 พบว่ามีข้อขัดข้องในการปฏิบัติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อให้เวลา 180 วันในการปรับปรุงชะลอบทลงโทษจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2561 ในระหว่างนี้ให้กระทรวงแรงงานพิจารณารับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องเหมาะสม ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับฟังความคิดเห็นไปพร้อมกัน ซึ่ง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การสัมมนาในวันนี้มีการบรรยายสาระสำคัญของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมการจัดหางาน จากนั้นจะแบ่งกลุ่มรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การนายจ้าง ผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 250 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเรื่องบทลงโทษ กลุ่มที่สองเรื่องอาชีพสงวน 39 อาชีพ เพื่อพิจารณาว่าอาชีพใดควรห้ามหรือยกเลิกเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม กลุ่มที่สามเรื่องการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อพิจารณาข้อขัดข้องในกระบวนการนำเข้าให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น จากนั้นสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ขณะเดียวกันหากมีประเด็นเพิ่มเติมผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถส่งแอกสารให้กระทรวงแรงงานพิจารณาต่อไปได้

“การพิจารณาอาชีพสงวนสำหรับคนไทยนั้น เบื้องต้นในหลักการเห็นว่า อาชีพที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทย งานที่เป็นเอกลักษณ์ไทย งานที่ต้องอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมของคนไทย รวมถึงงานที่มีองค์กรสภาวิชาชีพรับรองเป็นการเฉพาะ ยังคงสงวนไว้สำหรับคนไทย ส่วนอาชีพอื่นๆ เช่น งานก่อสร้าง ก็จะพิจารณาในรายละเอียดเพื่อผ่อนคลายให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในแต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

People unity news online : post 8 กันยายน 2560 เวลา 22.25 น.

“ลุงตู่” มอบที่ดินทำกินแก่ประชาชนยากไร้ชาว จ.สระแก้ว 3,342 ไร่ 303 ราย

People unity news online : วันนี้ (28 สิงหาคม 2560) เวลา 14.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินในจังหวัดสระแก้ว ตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ณ หมู่ที่ 4 ตำบลหนองม่วง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว โดยมีคณะรัฐมนตรี เลขาธิการ ส.ป.ก.  ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ตลอดจนข้าราชการ และประชาชนมารอให้การต้อนรับ

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (เลขาธิการ ส.ป.ก.) กล่าวรายงานว่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้จัดหาพื้นที่รองรับการดำเนินงานตามนโยบายแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐและที่อยู่อาศัยของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดยจัดหาพื้นที่เพื่อนำมาจัดให้เกษตรกรตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยจัดทำในรูปแบบสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ไม่มีสิทธิ์ชื้อขาย  ซึ่งพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้วได้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่แล้ว จำนวน 10 แปลง เนื้อที่กว่า 3,342 ไร่  มีเกษตรกรผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานโครงการของรัฐ มาขอขึ้นทะเบียนทั้งหมดกว่า 14,000 ราย และในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอโคกสูง อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ และอำเภอวังน้ำเย็น มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 8,156 ราย และผ่านการคัดเลือกจาก คทช. จังหวัดสระแก้ว จำนวน 303 ราย ส่วนที่เหลือให้ขึ้นบัญชีไว้พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ จังหวัดสระแก้วมีการจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นแล้ว จำนวน 4 สหกรณ์ ดังนี้ 1. สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอโคกสูง (คทช.) จำกัด  2. สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภออรัญประเทศ (คทช.) จำกัด  3. สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอวัฒนานคร (คทช.) จำกัด 4. สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเย็น (คทช.) จำกัด จัดสรรให้เกษตรกรรายละ 5 + 1 ไร่ คือ แปลงที่อยู่อาศัย 1 ไร่ แปลงเกษตรกรรม 5 ไร่ และมีพื้นที่ส่วนกลางให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีได้รับชมวีดีทัศน์ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมมอบสัญญาเช่าที่ดินสำหรับสถาบันเกษตรกรให้แก่ประธานสหกรณ์ จำนวน 4 สหกรณ์ พร้อมมอบบ้านจำลองและปัจจัยการผลิตแก่ผู้แทนสมาชิกสหกรณ์อำเภอโคกสูง จำกัด จำนวน 7 ราย ได้แก่ มอบบ้านจำลองโดยสถาบันพัฒนาโครงการชุมชน มอบป้ายโครงการประชารัฐโดยกรมปศุสัตว์  มอบป้ายอาคารเอนกประสงค์ให้สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอโคกสูง จำกัด จำนวน 1 แห่ง โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์  มอบต้นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองโดยกรมส่งเสริมการเกษตร มอบท่อนพันธ์หม่อนโดยกรมหม่อนไหม  มอบเมล็ดพันธุ์ปอเทืองโดยกรมพัฒนาที่ดิน และมอบพันธุ์กบโดยกรมประมง เป็นต้นนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาพบปะกับประชาชนชาวจังหวัดสระแก้ว และขอแสดงความยินดีกับสมาชิกสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินทั้ง  4 สหกรณ์ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินและไม่มีที่อยู่อาศัยในจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการจัดสรรที่ดินครั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มีที่ดินทำกิน ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการหามาตรการเพื่อดูแลและสนับสนุนพี่น้องประชาชนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านความเป็นอยู่ และรายได้ของประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มช่องทางการตลาดสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และยกระดับรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน อีกทั้งต้องพัฒนาเป็นชุมชนที่พึ่งตนเองให้ได้ นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ การลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการใช้ยาฆ่าแมลง เป็นพืชที่เป็นออร์แกนิค ที่ปลอดภัย ก็จะช่วยทั้งในเรื่องลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และให้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร  โดยนำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีจากบัญชีนวัตกรรมไทยมาใช้เพื่อให้ได้สินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก  นอกจากนี้จังหวัดสระแก้วมีศักยภาพและโอกาส ในการพัฒนาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่เน้นกิจกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ช่องทางการค้าไทย-กัมพูชาที่มีมูลค่าสูงสุดของประเทศ

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงประเทศโคลัมเบียที่น้อมนำศาสตร์พระราชาไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยคณะผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลโคลัมเบียได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการพัฒนาทางเลือกที่โครงการพัฒนาดอยตุงและโครงการปลูกป่าสร้างคน รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย จ.เชียงราย ซึ่งสนับสนุนการนำศาสตร์พระราชาไปใช้ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ปลูกพืชเสพติดอีกด้วย

ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมบ้านต้นแบบที่อยู่อาศัย เปิดปุ่มสวิตช์เพื่อสูบน้ำบาดาลและเยี่ยมชมโคในพื้นที่แปลงรวมก่อนเดินทางกลับ

People unity news online : post 28 สิงหาคม 2560 เวลา 22.00 น.

เปิดรายละเอียด! มติ ครม. อนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – โคราช

การประชุมคณะรัฐมนตรี 11 กรกฎาคม 2560

People unity news online : อ่านรายละเอียด! มติ ครม. อนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอเรื่องขออนุมัติดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ดังนี้

1.อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ในวงเงิน 179,413 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ 2560 – 2563) โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) หรือการจัดจ้างลักษณะอื่นๆตามระเบียบ รฟท. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ระเบียบกรมบัญชีกลาง มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

2.ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น  โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปีและ /หรือกระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการฯโดยใช้เงินกู้ เห็นควรอนุญาตให้ รฟท. กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 (4)

3.เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 และมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดให้การกระทำสัญญาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพันต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า รฟท. ได้เสนออนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา- หนองคาย ตามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ  ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 โดยคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีมติ (21 มิถุนายน 2559  27 กันยายน 2559 และ 29 พฤษภาคม 2560) อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว

ความสำคัญของโครงการฯ มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ นำไปสู่โอกาสทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ดังนี้

1.จะเป็นการเชื่อมโยงโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไปสู่จังหวัดในโครงข่ายในการพัฒนา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ในระยะแรก  และนำไปสู่เขตจังหวัดขอนแก่น  อุดรธานี  และหนองคาย  ในระยะต่อไป  อันเป็นการเปิดโอกาสด้านการพัฒนาเมือง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว  นำไปสู่การกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน  รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  อีกทั้งลดการย้ายถิ่นฐาน สร้างงานในพื้นที่และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทำงานยังคงอยู่อาศัยกับครอบครัวในสังคมผู้สูงอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า

2.จะนำไปสู่การเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจะสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนที่แท้จริง  ตลอดจนจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายคมนาคม One Belt One Road  เชื่อมไปสู่กลุ่มประเทศที่สำคัญผ่านโครงข่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนในอนาคต เป็นลู่ทางการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวให้แก่นักธุรกิจของไทย ผู้ประกอบการขนส่ง เกษตรกร  เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Supply  Chain)  ไปสู่การเปิดตลาดใหม่ๆได้อย่างยั่งยืน

ลักษณะโครงการ มีระยะทางรวม 253  กิโลเมตร  ประกอบด้วย 6 สถานี  โดยเริ่มต้นที่สถานีกลางบางซื่อ  สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา  สถานีสระบุรี  สถานีปากช่อง  และสิ้นสุดที่สถานีนครราชสีมา  ใช้ระยะเวลาการเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีนครราชสีมา  ประมาณ  1 ชั่วโมง 30 นาที และมีศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย  ทั้งนี้ ใช้รถโดยสารที่มีความจุของขบวนรถ 600 ที่นั่ง / ขบวนความเร็วสูงสุด  250 กม./ชม. โดยมีอัตราค่าโดยสาร 80 บาท +1.8 บาท/คน/กิโลเมตร

ผลประโยชน์ทางตรง ได้แก่  มูลค่าของการประหยัดเวลาในการเดินทาง มูลค่าของการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ  มูลค่าการประหยัดจากการกำจัดมลพิษ  มูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุที่ลดลงของโครงการ

ผลประโยชน์ทางอ้อม จากการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้เกิดการกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากส่วนกลางไปยังพื้นที่ส่วนภูมิภาค  ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเมืองอย่างก้าวกระโดด  โดยเฉพาะต่อระบบเศรษฐกิจของเมืองในพื้นที่โครงการ  4 จังหวัด  และพื้นที่โดยรอบสถานี และเมื่อโครงข่ายมีความสมบูรณ์ทั้งระบบจะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  และส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าชายแดนอีกทางหนึ่งด้วย โดยสามารถสร้างผลตอบแทนเชิงกว้างที่มีต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการ 4 จังหวัด ได้แก่  จังหวัดปทุมธานี  พระนครศรีอยุธยา  สระบุรี  และนครราชสีมา ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ผลประโยชน์ของโครงการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม  (Project Benefit) ถือว่าโครงการความร่วมมือฯมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ส่วนรวม

People unity news online : post 12 กรกฎาคม 2560 เวลา 13.00 น.

“ลุงตู่” ห่วงผู้ค้าฟุตบาท สั่ง รมช.พาณิชย์ ลงมาช่วยเหลือ-บูรณาการร่วมกับ กทม.

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

People unity news online : “มือเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล” สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับบัญชาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ลงมาดูแลช่วยเหลือผู้ค้ารายเล็กรายน้อยบนทางเท้า (ฟุตบาท) ในพื้นที่ กทม. ให้สามารถทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ ภายหลังจากที่ กทม. จัดระเบียบทางเท้าใน กทม. และห้ามผู้ค้ารายเล็กรายน้อยใช้พื้นที่ทางเท้าขายของ

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ ได้เดินทางมาประชุมกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร กทม. เพื่อหาทางให้ความช่วยเหลือและพัฒนาผู้ค้าบนทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครภายหลังจากที่ กทม. จัดระเบียบทางเท้าใน กทม. และห้ามผู้ค้ารายเล็กรายน้อยใช้พื้นที่ทางเท้าขายของ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพของผู้ค้ารายเล็กรายน้อย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ People unity news online ว่า กระทรวงพาณิชย์จะลงมาแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับ กทม. โดยจะช่วยเหลือให้ผู้ค้ารายเล็กรายน้อยบนทางเท้าได้มีที่ขายเป็นหลักแหล่งและอยู่ในทำเลที่สามารถขายของได้ อีกทั้งจะช่วยพัฒนาผู้ค้ารายย่อยซึ่งถือเป็นเส้นเลือดฝอยทางเศรษฐกิจของ กทม. หลังจากที่ กทม.ได้ดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าไปแล้ว ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามายกระดับการค้ารายย่อยบนทางเท้าให้เข้าสู่รูปแบบมาตรฐานสากล โดยกระทรวงพาณิชย์จะช่วยสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนให้กับผู้ค้า และการเข้าถึงแหล่งผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน เพื่อพัฒนาผู้ค้ารายย่อยทั้งรายเดิมและรายใหม่ให้มีมาตรฐาน เป็นการยกระดับผู้ค้ารายย่อยให้มีความเข้มแข็ง สามารถเติบโต และยืนได้ด้วยตนเอง

“ท่านนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยผู้ค้ารายย่อยรายเล็กรายน้อยใน กทม. ซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้ทางเท้าเป็นที่ขายของหาเลี้ยงชีพและครอบครัว จึงบัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ลงมาบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับทาง กทม.เป็นการด่วน เพื่อจัดหาพื้นที่ให้ขายเป็นหลักแหล่ง จะได้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปมา มีความยากลำบากในการทำมาหากิน ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นว่าผู้ค้ารายย่อยหรือรายเล็กรายน้อยคือเส้นเลือดฝอยของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง หากเกิดการค้าการขายและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจฐานรากมากเท่าใด ก็จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความคึกคักและเติบโตโดยอัตโนมัติ”

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมว่า กทม. และกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกันหลายเรื่อง คือ แนวทางการเพิ่มคุณภาพผู้ค้าผู้ประกอบการ การยกระดับสินค้าที่จำหน่ายให้มีมาตรฐาน การหาสถานที่ให้ผู้ค้าที่ กทม.จัดระเบียบแล้ว และการช่วยเหลือด้านการเงิน ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่จัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้าที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบการตั้งวางสินค้า หลักเกณฑ์การจำหน่ายสินค้า โดยเน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม สะอาด และได้มาตรฐาน การให้ความช่วยเหลือผู้ค้าในด้านเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งผลิตเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรับทราบ

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานที่จำหน่ายสินค้าที่คณะทำงานจะจัดหาใหม่ จะไม่ใช่ทางเท้าที่ กทม.จัดระเบียบแล้วอย่างแน่นอน แต่อาจเป็นสถานที่ของหน่วยงานราชการหรือพื้นที่ของเอกชนก็ได้ ซึ่งสำนักเทศกิจและสำนักงานเขตจะช่วยกันพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

People unity news online : post 3 กรกฎาคม 2560 เวลา 18.00 น.

การเคหะแห่งชาติเปิดบ้านให้ กอช.เข้าไปส่งเสริมการออมแก่ชาวชุมชน

People unity news online : กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ จัดโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนการออมแห่งชาติในชุมชนการเคหะแห่งชาติ นำร่อง 4 พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย ชุมชนบ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสายไหม ชุมชนบ้านเอื้ออาทรพหลโยธิน 44 และชุมชนบ้านเอื้ออาทรเมืองใหม่บางพลี เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก กอช. แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการวางแผนการเงิน และผลักดันให้เกิดพฤติกรรมการออมเพื่อสร้างหลักประกันพื้นฐานในการดำรงชีวิตยามชราภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยได้เปิดตัวโครงการที่ชุมชนบ้านเอื้ออาทรบึงกุ่มและชุมชนบ้านเอื้ออาทรสายไหมเป็นแห่งแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา

นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. กล่าวว่า การจัดโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนการออมแห่งชาติในชุมชนการเคหะฯ เป็นการปูพรมลงพื้นที่เพื่อให้เกิดการสื่อสารแก่คนในชุมชนแบบเข้าถึง โดยอาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างประชาชน ชุมชน และภาครัฐผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างการรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของ กอช. รวมถึงสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก กอช. แก่ประชาชนในชุมชนการเคหะแห่งชาติ โดย กอช. จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของข้อมูลข่าวสารในการเผยแพร่และชี้แจงแก่ประชาชน ผ่านช่องทางการสื่อสารภายในชุมชน อาทิ กิจกรรมพิเศษ เสียงตามสาย ไลน์กลุ่ม เฟซบุ๊ค เป็นต้น นอกจากนี้ กอช. ยังมุ่งหวังในการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนในชุมชนการเคหะแห่งชาติตระหนักถึงความจำเป็นของการวางแผนทางการเงินรวมถึงมีการเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ผู้มีรายได้น้อย ผู้มีรายได้ปานกลางและผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่เข้มแข็งและยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของการเคหะแห่งชาติ

“กอช.ยังคงเร่งผลักดันระบบการออมเพื่อการชราภาพให้สะดวกในการเข้าถึงและครอบคลุมในทุกพื้นที่ยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคี เพื่อสร้างเครือข่ายการออมที่จะมาช่วยกันสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนต่อไป สำหรับโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนการออมแห่งชาติในชุมชนการเคหะฯ นับเป็นโครงการที่มีกระแสตอบรับที่ดี ซึ่งในอนาคตอาจมีการขยายผลไปยังพื้นที่ชุมชนอื่นๆต่อไป” นายสมพรกล่าว

People unity news online : post 20 มิถุนายน 2560 เวลา 20.16 น.

พาณิชย์จับมือการเคหะฯปักธงเปิดตลาดประชารัฐถาวรใจกลางกรุง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

People unity news online : “มือเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล” สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จับมือ การเคหะแห่งชาติ ปักธงเปิดตลาดประชารัฐใจกลางกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ชุมชนการเคหะขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ห้วยขวาง ดินแดง คลองจั่น และบ่อนไก่ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเมือง โดยก่อให้เกิดกำลังซื้อ-กำลังขายในชุมชนฐานรากในเมืองกรุง พร้อมเล็งเปิดตลาดขยายไปยังชุมชนการเคหะในต่างจังหวัดอีกด้วย

16 มิถุนายน 2560 ที่กระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือร่วมกับ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และผู้บริหารการเคหะแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้พื้นที่ของชุมชนการเคหะแห่งชาติ เปิด “ตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะ” ขึ้นในใจกลางกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ชุมชนการเคหะในกรุงเทพฯ 4 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนเคหะห้วยขวาง ดินแดง บ่อนไก่ และคลองจั่น มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยจะพิจารณานำร่องเปิดตลาดประชารัฐฯขึ้นเป็นแห่งแรกในชุมชนใดชุมชนหนึ่งภายใน 3 เดือนนี้ ซึ่งการเคหะแห่งชาติจะเป็นผู้พิจารณาจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม และจัดระเบียบพื้นที่ แล้วให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาจัดสร้างตลาดในลักษณะอาคารถาวร พร้อมกับนำสินค้ามาจำหน่ายให้แก่พี่น้องประชาชน ทั้งประชาชนในชุมชนการเคหะ และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะทำให้ตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะเป็นตลาดที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากตลาดทั่วไปที่มีอยู่ ทั้งในแง่รูปแบบตลาด และในแง่สินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่าย เพื่อก่อให้เกิดกำลังซื้อและกำลังขายมากที่สุด อันจะทำให้ตลาดประชารัฐฯเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเมืองกรุง สร้างรายได้ สร้างการจับจ่ายใช้สอย และนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างกำลังการผลิตให้กับผลผลิตต่างๆ

สำหรับสินค้าที่อยู่ในข่ายจะนำเข้ามาจำหน่ายในตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะ ประกอบด้วย ผลผลิตทางการเกษตร พืชผัก ผลไม้ ข้าวสารจากชาวนา หรือผลผลิตอื่นๆ จากเกษตรกรหรือสหกรณ์ทั่วประเทศโดยตรง เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯได้มีตลาดประจำเป็นแหล่งซื้อผลผลิตการเกษตรจากเกษตรกร และเกษตรกรเองก็จะได้มีสถานที่ประจำเพื่อจำหน่ายผลผลิตของตนในพื้นที่ กทม.โดยตรง นอกจากนี้ จะเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าโอทอป หรือสินค้า sme จากทั่วประเทศ เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นได้มีตลาดประจำจำหน่ายให้แก่ประชาชนใน กทม.และนักท่องเที่ยวต่างชาติใน กทม.ได้หาซื้อ อีกทั้งจะเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจากโรงงานและผู้ประกอบการ รวมทั้งจำหน่ายสินค้าธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ ร้านอาหารหนูณิชย์ เพื่อช่วยเหลือด้านการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนใน กทม. ขณะที่ชาวชุมชนการเคหะเองก็จะได้มีตลาดถาวรที่มีมาตรฐานเพื่อจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป หรือผลผลิตของชุมชนของตน อันเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวชุมชน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลโดย ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มีนโยบายที่จะสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องใช้กลไกตลาดสร้างกำลังการบริโภค และกำลังการผลิตให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจฐานราก อีกทั้งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาจำนวนหนึ่งเพื่อนำมาสร้างกลไกตลาดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งการเปิดตลาดแห่งใหม่ และการเข้าไปพัฒนาตลาดเก่าที่มีอยู่แล้ว ให้มีมาตรฐาน เพื่อสร้างกำลังซื้อกำลังขายให้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การที่การเคหะแห่งชาติมีแนวคิดที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงถือเป็นการเข้ามาบูรณาการร่วมกันที่มีนัยะสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพราะการเคหะแห่งชาติมีชุมชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ

“ตามแนวคิดของผมเห็นว่า ตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะจะไม่ใช่ตลาดที่จำหน่ายสินค้าหรือผลผลิตราคาถูกอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นตลาดที่จำหน่ายสินค้าและผลผลิตคุณภาพสูงด้วย เพื่อดึงกำลังซื้อจาก 2 ส่วนเข้ามาพร้อมกัน คือกำลังซื้อสินค้าราคาถูก และกำลังซื้อสินค้าคุณภาพสูง ด้านหนึ่งเพื่อช่วยเหลือด้านลดค่าครองชีพประชาชน อีกด้านหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้บริโภคสินค้าคุณภาพสูง ทั้งนี้ผมมีแนวคิดว่าจะเปิดตลาดสดคุณภาพสูงขึ้นภายในตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะด้วย โดยจะเป็นตลาดที่จำหน่ายผลผลิตอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ พืชผัก ผลไม้ ที่ปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์ และเป็นตลาดที่มีการควบคุมคุณภาพผลผลิตอาหารตลอดเวลา ด้วยการตรวจสอบคุณภาพสินค้าประเภทอาหารสดทุกวัน” นายสนธิรัตน์ กล่าว

ด้าน ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนฐานราก โดยเป็นหน่วยงานหลักของรัฐในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ดี นอกจากภารกิจหลักดังกล่าวแล้ว การเคหะแห่งชาติยังมีภารกิจรองในด้านการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนการเคหะในมิติต่างๆอีกด้วย เช่น มิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ

ดร.ธัชพล กาญจนกูล
นายพูลเดช กรรณิการ์

“ผมเห็นว่า มิติทางเศรษฐกิจเป็นอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับปากท้อง และเป็นการยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชุมชน เพื่อให้ชุมชนการเคหะทั่วประเทศก้าวไปเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากจะช่วยเหลือในเรื่องปากท้องของชาวชุมชน และยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชุมชน ควรใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือ จึงนำมาสู่การหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในวันนี้” ดร.ธัชพล กล่าว

ด้าน นายพูลเดช กรรณิการ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าการเคหะ และคณะทำงานขับเคลื่อนด้านการสร้างเครือข่ายพันธมิตรการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ชุมชนการเคหะในพื้นที่กรุงเทพมหานครทุกแห่ง และในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ มีศักยภาพสูงที่จะสร้างแรงกระตุ้นการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจชุมชน เพราะชุมชนแต่ละแห่งมีขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น อีกทั้งเป็นประชากรฐานรากตัวจริงที่มีการอยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่อย่างถาวร แตกต่างจากประชากรฐานรากในชุมชนแออัด หรือที่อื่นๆ ที่มักจะเป็นการอยู่อาศัยแบบไม่ถาวร มีการเคลื่อนย้ายไปมาอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งชาวชุมชนการเคหะยังมีการประกอบอาชีพประจำ ทั้งการเป็นเจ้าหน้าที่-ลูกจ้างของรัฐ พนักงานเอกชน และประกอบอาชีพอิสระ จึงเป็นชุมชนที่มีการไหลเวียนของเงินเข้า-ออกภายในชุมชนจำนวนมาก มีกำลังซื้อ มีกำลังการบริโภคอยู่อย่างสูง และมีมากกว่าชุมชนตำบลหมู่บ้านในต่างจังหวัด ดังนั้น ชุมชนการเคหะทั่วประเทศจึงถือเป็นชุมชนเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญ และจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การเปิดตลาดประชารัฐในชุมชนการเคหะแห่งชาติจึงเป็นการตอบโจทย์ทางด้านการกระตุ้นและการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากที่ตรงเป้ามากที่สุดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่เศรษฐกิจฐานรากในเมืองกรุง

People unity news online : post 16 มิถุนายน 2560 เวลา 23.20 น.

Verified by ExactMetrics