วันที่ 19 พฤษภาคม 2024

หอการค้าไทย ออกแถลงการณ์ ค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 พฤษภาคม 2567 หอการค้าไทยและสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น คัดค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ยันจุดยืน เอกชนไม่ได้มีความพร้อมทุกราย

จากกรณีเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ซึ่งตรงกับวันแรงงานที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาทแบบถ้วนหน้าทั่วประเทศทุกอาชีพ ภายในวันที่ 1 ต.ค. 2567 นั้น

ล่าสุดเช้าวันนี้ (7 พ.ค.) นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้แถลงข่าวคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

นายพจน์ ได้อ่านแถลงการณ์คัดค้าน พร้อมกล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ 54 สมาคมการค้า ได้ส่งรายชื่อไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงดังกล่าวเพราะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนจนไม่เหลือผลกำไร และทางหอการค้าไทย จะนำรายชื่อสมาคมที่คัดค้านไปยื่นให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีร่วม 100 สมาคมการค้าที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง

ทั้งนี้ หอการค้าทั่วประเทศและสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ให้แรงงานแต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 การขึ้นค่าแรงควรคำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกครั้ง การปรับอัตราค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรมีการรับฟังความคิดเห็นและศึกษาความพร้อมของแต่ละจังหวัด

การปรับค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะบางจังหวัดจะขึ้นไปถึง 21% ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงถึงตามที่กฎหมายกำหนดจะทำให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการหรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานในที่สุด

นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับค่าจ้างครั้งนี้ คือ การกระชากด้วยนโยบายจากการหาเสียงไม่ได้ปรับขึ้นตามความจำเป็น โดยปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงแค่ 1.9% และเมื่อมองย้อนหลังไป 3 ปี เศรษฐกิจไทยเติบโตแค่ 6% ซึ่งจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า การปรับค่าจ้างแรงงาน ควรปรับตามกลไกและตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น การปรับครั้งนี้จะทำให้การจ้างงานไม่สดใส ผู้ประกอบการจะหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้นในอนาคต

Advertisement

สหรัฐคงสถานะไทย Watch List ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 พฤษภาคม 2567 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยสหรัฐคงสถานะไทยในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ย้ำชื่นชมประเทศไทยพัฒนาการและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยได้ดีเยี่ยม แต่สหรัฐมีข้อห่วงกังวลปัญหามีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ และอื่นๆ ขอให้ไทยแก้ไข

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (United States Trade Representative : USTR) ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา โดยคงสถานะไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเดินหน้าชี้แจงสหรัฐ ถึงพัฒนาการ และเร่งขับเคลื่อนการเจรจาแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL

ทั้งนี้ จากการประกาศสถานะดังกล่าว สหรัฐตระหนักถึงพัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายสิทธิบัตร รวมทั้งชื่นชมความพยายามของหน่วยงานไทยในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของสิทธิ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร การจัดทำระบบฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร (Thai Customs IPR Recordation System : TCIRs) การจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วนในการดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ

อย่างไรก็ดี สหรัฐยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาบางประการ อาทิ ยังคงมีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันสำหรับการสตรีมและดาวน์โหลด content โดยไม่ได้รับอนุญาต และความล่าช้าในการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

ทั้งนี้ กรมฯ มองว่าทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการส่งเสริม การคุ้มครอง และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมากรมฯ ได้เร่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างต่อเนื่องและมีพัฒนาการที่ชัดเจน โดยไทยมุ่งมั่นดำเนินทุกภารกิจเพื่อที่จะหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชีให้ได้ ซึ่งเห็นได้จากการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของสหรัฐ หลายเรื่องได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Smart DIP ซึ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับประชาชนในการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา มีเพียงบางเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Performances and Phonograms Treaty : WPPT) และการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning International Registration of Industrial Designs : Hague Agreement)

อย่างไรก็ตาม กรมฯ มั่นใจว่าสหรัฐจะพิจารณาให้ไทยหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชีในไม่ช้านี้ ทั้งนี้ กรมฯ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงขอเน้นย้ำว่ากรมฯ จะเร่งผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ให้สำเร็จโดยเร็ว โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 กรมฯ หารือกับ USTR เพื่อเร่งจัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ร่วมกับสหรัฐ ซึ่งจะเป็นกรอบในการดำเนินการเพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชีดังกล่าวได้ต่อไป

Advertisement

“คลัง” เผย “นายกฯ” สั่งเร่งรัดงบปี 67 เต็มสูบมาโดยตลอด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 พฤษภาคม 2567 “คลัง” เผย “นายกฯ” สั่งเร่งรัดงบปี 67 เต็มพิกัดมาโดยตลอด กรมบัญชีกลางชู 8 มาตรการ เร่งงบค้างท่อ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อสารมวลชนบางรายเขียนลงในคอลัมน์เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยเห็นว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 นั้น กระทรวงการคลังขอเรียนว่า ข้อมูลที่ปรากฏในสื่อดังกล่าวเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้สั่งการและมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้

1.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้ออกแนวทางการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้

    1.1 เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว กรณีเป็นรายการที่จะต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร เพื่อให้สำนักงานในส่วนภูมิภาคดำเนินการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันต่อไป

    1.2 รายการปีเดียว ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567

    1.3 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567

    1.4 ให้หัวหน้าหน่วยรับงบประมาณรวมทั้งทุนหมุนเวียนภายใต้สังกัด กำกับดูแลเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อหนี้ และเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลให้กรมบัญชีกลาง ทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

    1.5 ดำเนินการเบิกหักผลักส่ง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชดใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนภายในเดือนกรกฎาคม 2567

    1.6 สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากสำนักงบประมาณ และได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้รับจ้างไว้แล้ว ให้เร่งลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือโดยเร็ว

2.มาตรการลดระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

      2.1 การเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะให้มีการเผยแพร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 5,000,000 บาท

      2.2 การเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป

     (1) การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ทั้งนี้ สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

     (2) การจ้างที่ปรึกษา และการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ โดยระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้ใช้กับปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมาย กระทรวงการคลังและคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ จึงได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนหลายประการ เช่น การกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบงบลงทุนเป็นตัวชี้วัดของผู้บริหารสูงสุด การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเร่งลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณในการลงทุน เตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น

Advertisement

กระทรวงการคลังคาดเศรษฐกิจ​ไทยปี​ 67​ โต​ 2.4% ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวและการสนับสนุนจากนโยบายการคลัง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 เมษายน 2567 กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า​ เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 ถึง 2.9) ขยายตัวจากปี 2566 ที่ขยายร้อยละ 1.9 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ คาดว่าภาคการท่องเที่ยวในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 35.7 ล้านคน ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 26.7 ต่อปี ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ประชาชน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 ถึง 4.2) ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 ถึง 4.0) สำหรับการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 ถึง 2.8) โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 ถึง 3.9) โดยมีสินค้าทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ปรับลดลงเมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วของกระทรวงการคลัง ณ เดือน มกราคม 2567 ที่ร้อยละ 2.8 เนื่องจาก 1) การส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวซึ่งสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์และหมวดชิ้นส่วนและแผงวงจรในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 3) ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญ และ 4) ภาคการคลังที่ยังคงใช้การเบิกจ่ายตามงบประมาณตามปี 2566 ไปพลางก่อน

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่า​ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ถึง 1.1) ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงต่อจากนี้เม็ดเงินจากงบประมาณปี 2567 จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเร่งขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 สำหรับในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน กระทรวงการคลังมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับ 1) ความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability) มุ่งมั่นในการบริหารจัดการการคลังอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายของรัฐและระดับหนี้สาธารณะอย่างรับผิดชอบ และ 2) การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย (Potential GDP) มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในระดับภูมิภาคและระดับหมู่บ้าน โดยต่อยอดจากวิสัยทัศน์ 8 ด้าน ภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในด้านการผลิตและเทคโนโลยี รวมทั้งการส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะผ่านการปฏิรูปการศึกษาและการฝึกอบรมสายอาชีพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตของประเทศต่อไป การสนับสนุนประเด็นที่สำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีระดับภูมิภาคในอนาคต นอกจากนี้ หากเม็ดเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถเริ่มมีการใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (กรณีประชาชนใช้จ่ายเม็ดเงินส่วนใหญ่ภายในสิ้นปี 2567)

อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ 2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และ 3) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

Advertisement

“ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 เมษายน 2567 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียน “ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” สินค้า GI รายการใหม่ ประจำจังหวัดตราด เนื้อสีเหลืองอ่อน รสชาติหวาน มัน เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดตราดต่อจากสินค้าสับปะรดตราดสีทอง และทุเรียนชะนีเกาะช้าง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทยโดยใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

“ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เปลือกผิวสีเขียวปนน้ำตาลปลายหนามแข็งแรงและแหลมคม เนื้อทุเรียนสีเหลืองอ่อน หนา มีรสชาติหวาน มัน มีพื้นที่ปลูกอยู่บริเวณ แนวเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะดินเป็นดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้มีฝนตกมาก อีกทั้งอิทธิพลจากแรงลมทะเลที่เข้าปะทะกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลไปจนถึงพื้นที่เทือกเขาบรรทัดที่ส่งผลให้สภาพความชื้นในอากาศลดลงเร็วกว่าปกติ ทำให้ทุเรียนเกิดอาการเครียดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จึงเกิดการกระตุ้นให้ทุเรียนออกดอกได้เร็วขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนได้ก่อนพื้นที่อื่น เกษตรกรในพื้นที่จึงเรียกพันธุ์ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกบริเวณแนวเทือกเขาบรรทัดว่า “ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของทุเรียนหมอนทองในพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาได้มีการนำชื่อขยายไปยังกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนใน 5 อำเภอของจังหวัดตราด ได้แก่ อำเภอเมืองตราด อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ อำเภอแหลมงอบ และอำเภอเขาสมิง และได้มีการจัดงานสมาร์ทฟาร์มเมอร์แฟร์ที่ได้เปิดสวนให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมและรับประทานบุฟเฟต์ผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัดเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคเป็นวงกว้าง สร้างรายได้กว่า 11,047 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ทำให้สินค้าท้องถิ่นได้รับการยกระดับมูลค่าสร้างรายได้สู่ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของไทยอย่างยั่งยืน

Advertisement

ไข่ไก่แพงขึ้นอีก 20 สตางค์ แตะ 3.80 บาท/ฟอง ตั้งแต่พรุ่งนี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 เมษายน 2567 เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ โดยเป็นการขยับราคาห่างจากรอบที่แล้วไม่ถึง 2 สัปดาห์ สาเหตุเพราะช่วงนี้อากาศร้อนยิ่งขึ้นอีก ปริมาณไข่ไก่ลดและขนาดฟองเล็กลง ประกอบกับสงครามในต่างประเทศ ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่วอนผู้บริโภคเข้าใจและขออย่าตกใจ ปริมาณไข่ไก่แม้น้อยลง 5-10% แต่ยังเพียงพอบริโภค

เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด ออกประกาศแจ้งสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ปรับราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกรขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์ หรือแผงละ 6 บาท ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (29 เมษายน 2567) เป็นต้นไป ส่งให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับจากฟองละ 3.60 บาท เป็น 3.80 บาทหรือแผงละ 114.00 บาท

การปรับราคาขึ้นครั้งนี้ เป็นการปรับห่างจากครั้งก่อนหน้าเพียง 12 วัน โดยครั้งที่แล้ว ปรับขึ้นจากฟองละ 3.40 บาท เป็น 3.60 บาทหรือแผงละ 108.00 บาท เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567

สำหรับราคาไข่ไก่ตามขนาดของวันนี้ (28 เมษายน 2567) มีดังนี้

ไข่ไก่ เบอร์ 0 ราคา 4.10 บาท/ฟอง ราคา 123.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 1 ราคา 3.90 บาท/ฟอง ราคา 117.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 2 ราคา 3.70 บาท/ฟอง ราคา 111.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 3 ราคา 3.60 บาท/ฟอง ราคา 108.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 4 ราคา 3.50 บาท/ฟอง ราคา 105.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 5 ราคา 3.40 บาท/ฟอง ราคา 102.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 6 ราคา 3.30 บาท/ฟอง ราคา 99.00 บาท/แผง

โดยราคาใหม่ที่ปรับขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์จะเริ่มพรุ่งนี้ (29 เม.ย.)

นายชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่กล่าวว่า ระยะนี้อากาศร้อนยิ่งขึ้น ประกอบกับน้ำน้อยลง สภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้แม่ไก่มีความเครียดจึงออกไข่น้อยลงและขนาดฟองเล็กลง เกษตรกรรายย่อยต้องลงทุนเพิ่ม ด้วยการซื้อน้ำมาให้แม่ไก่กินและใช้น้ำฉีดพ่นละอองบนหลังคาโรงเรือนแบบเปิด เพื่อลดความร้อน ส่วนโรงเรือนปิดแบบอีแวป ต้องเปิดระบบทำความเย็นที่ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลาซึ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ยังประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยต้องนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะสงครามในต่างประเทศ แม้ภาครัฐจะแจ้งว่า ไม่กระทบไทย แต่ขณะนี้ได้รับแจ้งถึงราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มแล้ว

รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่คาดการณ์ว่า ปริมาณไข่ไก่ในตลาดลดลงประมาณ 5-10% แต่ฟาร์มขนาดเล็กหรือฟาร์มที่มีระบบจัดการไม่ดีอาจจะถึง 20% ส่วนฟาร์มที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระจะยิ่งกระทบรุนแรง ขณะนี้ผู้เลี้ยงรายย่อยบางรายเริ่มปลดแม่ไก่ออกเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

Advertisement

“เศรษฐา” กำชับ ทุกหน่วยงานดูแลการเพาะปลูก-พัฒนาทุเรียน เพิ่มการส่งออก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 เมษายน 2567 จันทบุรี – “เศรษฐา” กำชับ ทุกหน่วยงานดูแลการเพาะปลูกพัฒนาทุเรียน เพิ่มการส่งออก เชื่อเติบโตได้อีกมาก พร้อมสั่งเยียวยาเหตุไฟไหม้ โรงงาน จ.ระยอง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึง การเดินทางลงพื้นที่ จ.จันทบุรี ว่า วันนี้ที่มาจันทบุรี เพราะเป็นช่วงต้นฤดูของทุเรียน และปฏิเสธไม่ได้ว่าทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดพันธุ์หนึ่งของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเราได้ส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน คนจีนกินทุเรียนต่อคนต่อปี ประมาณ 0.7 กิโลกรัม คนไทยกิน 5 กิโลกรัม คนมาเลเซีย กิน 11 กิโลกรัม ต่อปี เพราะฉะนั้น ศักยภาพการเติบโตของตลาดยังไปได้อีกไกลมาก ในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาการปลูกทุเรียนไปเยอะมาก รวมถึงการจัดเก็บ เป็นมืออาชีพมาก แต่ปัญหาก็มีอยู่บ้าง เรื่องการเก็บทุเรียนอ่อน ซึ่งวันนี้ทาง ปตท. มีนวัตกรรม มาเพื่อวัดให้รู้ว่า เป็นทุเรียนอ่อนหรือแก่ แล้วได้จดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทุเรียนอ่อนเป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องระมัดระวัง ต้องทำให้ดี เพราะอาจจะทำให้เสียชื่อเสียงของประเทศ ทุกวันนี้เราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ให้กับจีน คู่แข่งของเราคือเวียดนาม รวมถึงพบปัญหาการลักลอบ นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงได้สั่งการไปยังอธิบดีกรมศุลกากร ว่าต้องอย่าให้มีการทำเรื่องนี้เกิดขึ้น

ส่วนเรื่องแหล่งน้ำของทุเรียน เพราะทุเรียนปีแรกต้องมีแหล่งน้ำ มีการสั่งงานให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ นอกเหนือจากนั้นจะมีเรื่องการขนส่ง พบว่ารถตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งไม่พอ ต้องมีการหมุนเวียนกันมา ปัจจุบันทุเรียนมีเยอะตู้ขนจึงไม่เพียงพอ ซึ่งพบรายได้ของประชาชนก็ดี คนที่มาช่วยตัดเก็บทุเรียน ในโรงงานมีการแกะและแช่แข็ง คนที่มาแกะและรับจ้างแกะ มีรายได้ต่อวัน วันละ 1,500 บาท ก็ถือเป็นแรงงานที่สำคัญ และผู้ประกอบการก็ให้ความเป็นธรรมแก่แรงงาน

ทั้งนี้เรื่องการพัฒนาพันธุ์ทุเรียน เริ่มต้นแล้ว จังหวัด จันทบุรี ถือเป็นหัวมังกร ก็สามารถส่งก่อนจำหน่ายได้ก่อน และต้องไล่ไปที่ภาคใต้ ค่อยตามมา ซึ่งจากการลงพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ทราบปัญหาว่าปัญหาเดียวกันคือเรื่องแหล่งน้ำ และการขนส่ง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาตรงนี้ จึงต้องแก้ปัญหาที่ จันทบุรีก่อน เป็นจุดเริ่มต้น เป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุด ถือเหมือนเป็นเมืองหลวงของผลไม้ฤดูร้อนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นมังคุด เงาะ ซึ่งภาคใต้ก็มีเหมือนกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็มาดูเรื่องราคาว่าต้องห้ามตกต่ำ ซึ่งเรามีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนแล้ว ก็นำไปพัฒนาต่อในจังหวัดภาคใต้ เพราะตอนนี้ยังไม่ถึงฤดูผลไม้ของภาคใต้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การลงพื้นที่ไปดูโรงงานเก็บสารเคมี อ.บ้านค่าย จ.ระยองในช่วงบ่ายนี้ โดยชาวบ้านอยากให้ดู พื้นที่โดยรอบโรงงานด้วย ว่าได้รับผลกระทบทำการเกษตรไม่ได้เลย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไปดูปัญหาเรื่องสภาพดินและสภาพน้ำ ซึ่งก็ต้องมาให้องค์ความรู้แก่เกษตรกรด้วย ยืนยันดูแลเยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

Advertisement

ก.พลังงาน – ก.พาณิชย์ ผนึกกำลังตรวจสอบตู้จ่ายน้ำมัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 เมษายน 2567 ก.พลังงาน และ ก.พาณิชย์ ผนึกกำลังตรวจสอบตู้จ่ายน้ำมันและมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง ของสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ต่อเนื่อง หากแก้ไขดัดแปลงคลาดเคลื่อน โทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับ 280,000 บาท

กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เพื่อตรวจสอบหัวจ่ายและตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงทุกเครื่องว่ามีการแก้ไขดัดแปลงทำให้มาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดความคลาดเคลื่อนหรือไม่ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าประชาชนผู้ใช้น้ำมันได้น้ำมันเต็มปริมาตรต่อลิตร

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีการจ่ายน้ำมันให้ประชาชนไม่เต็มลิตรของสถานีบริการน้ำมันที่ผ่านมา กรมฯได้ร่วมกับกรมการค้าภายในและสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบตู้จ่ายและหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง บนถนนสายหลักที่เป็นเส้นทางการเดินทางของประชาชนและเส้นทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ทั้งนี้กรมธุรกิจพลังงานเน้นการตรวจสอบว่ามีการแก้ไขดัดแปลงตู้จ่ายและหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ หากพบว่ามีการแก้ไขดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรมการค้าภายในตรวจสอบมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานและตามกฎหมายที่กำหนด ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจในเบื้องต้นได้จากเครื่องหมายคำรับรองที่แสดงอยู่บริเวณตู้จ่ายน้ำมัน หากพบว่ามีปริมาณน้ำมันคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีเจตนาแก้ไขดัดแปลงหัวจ่ายให้เกิดความคลาดเคลื่อน จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท

สำหรับผลการตรวจสอบที่ผ่านมา ยังไม่พบหัวจ่ายน้ำมันเครื่องใดมีความคลาดเคลื่อน ปริมาตรน้ำมันได้มาตรฐานเต็มลิตร และมาตรวัดหัวจ่ายมีเครื่องหมายคำรับรองถูกต้อง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันทุกแห่งเป็นอย่างดี พร้อมทั้งยืนยันว่าได้เข้มงวดเป็นพิเศษ เนื่องจากความถูกต้องเที่ยงตรงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

Advertisement

ลูกจ้างโรงแรมเฮ 13 เม.ย เริ่มรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 เมษายน 2567 ลูกจ้างโรงแรมเฮ 13 เม.ย เริ่มรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท เตือนนายจ้างหากไม่จ่าย มีความผิดตามกฎหมาย

วันนี้ (13 เมษายน 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างกำหนดให้ลูกจ้างทำงานในประเภทกิจการโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยว ประเภทโรงแรมระดับการให้บริการ 4 ดาวและมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 400 บาทใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวันและวัฒนา, กระบี่ เฉพาะเขต อบต.อ่าวนาง, ชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา, เชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่, ประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน, พังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก, ภูเก็ตทั้งจังหวัด, ระยอง เฉพาะเขตตำบลเพ, สงขลา เฉพาะเขตเทศบาล นครหาดใหญ่ และสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตเทศบาลนครเกาะสมุย

นายคารม กล่าวว่า วันนี้ (13 เมษายน 2567) วันแรกที่นายจ้างต้องจ่ายอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้กับลูกจ้าง หากนายจ้างไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานปี 2541 โดยลูกจ้างสามารถร้องเรียนได้ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

“คณะกรรมการค่าจ้างฯ ได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างจะได้มีการติดตามผลกระทบที่เกิดจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เพื่อนำไปสู่การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างด้วยความรอบคอบต่อไป” นายคารม ย้ำ

Advertisement

ก.คลัง แจง ทำไมต้องแจกเงิน 10,000 บาท เป็นสกุลเงินดิจิทัล Token ยันบริษัทไม่ได้ประโยชน์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 เมษายน 2567 คลังเตือนอย่าเชื่อ อย่าแชร์ ข่าว Digital wallet

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ application “LINE” ว่ารัฐบาลจะดำเนินการโครงการเติมเงิน 10000 บาท ผ่าน Digital wallet ให้ประชาชนด้วยเงินดิจิทัล สกุลเงิน Token  โดยตนขอให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

ประเด็นที่ 1  ทำไมไม่โอนเงินเข้าบัญชีของทุกคนโดยตรงเลย ? เพื่อให้ง่าย และไม่โดนกล่าวหาว่ามีวาระซ้อนเร้น

ข้อเท็จจริง  : วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น แม้การแจกเงินสดจะสะดวก และง่ายต่อการดำเนินการ แต่ก็มีข้อเสียที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ การแจกเป็นเงินสดจะสุ่มเสี่ยงที่จะมีประชาชนบางส่วนนำไปเก็บออม โดยไม่ได้เอาไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งไม่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ

ประเด็นที่ 2  หากมีการแจกจ่ายผ่านสกุลเงินดิจิทัล Token ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์

ข้อเท็จจริง  : โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ ซึ่งเป็นการดำเนินงานจัดทำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีการจัดทำ Token แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3  มีการตั้งคำถามว่า เหตุใดต้องแจกเงินในโครงการเติมเงิน 10000 บาทผ่าน Digital wallet ด้วยเงินดิจิทัล

ข้อเท็จจริง  : ประเด็นดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการเติมเงินในโครงการดังกล่าวไม่สามารถอยู่ในรูปเงินดิจิทัลตามที่อ้างได้ เพราะขัดต่อกฏหมายว่าด้วยเงินตรา

“ขณะนี้ ประเด็นข้อทักทวงดังกล่าวตามที่อ้าง คณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital wallet รับทราบและได้นำประเด็นต่าง ๆ มาพิจารณาแล้ว โดยจะมีการประชุมเพื่อสรุปรูปแบบของโครงการ ในวันพุธที่ 10 เมษายน 2567 ต่อไป ดังนั้นจึงอยากเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ หรือ แชร์  ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะได้เร่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโครงการดังกล่าวทันทีที่ได้ข้อสรุป เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชนได้”

Advertisement

Verified by ExactMetrics