วันที่ 19 พฤษภาคม 2024

นายกฯแนะภาคการเกษตรปรับตัวรับมือปัญหาราคาผลผลิตไม่แน่นอน

People unity news online : นายกรัฐมนตรีแนะภาคการเกษตรปรับตัวรับมือปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอย่างยั่งยืน วอนทุกฝ่ายร่วมมือ

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ว่า ในช่วงนี้มีราคาดี เพราะต่างประเทศประสบภัยธรรมชาติ จึงมีความต้องการสินค้าข้าวสูง แต่หากในปีต่อไป เราปลูกข้าวมากขึ้นจนเกินความต้องการของตลาด ก็จะทำให้ราคาตกต่ำลงอีกเป็นวัฏจักร

นายกฯเน้นย้ำว่า ปัญหาหลักของภาคการเกษตร คือต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรมีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ ทำให้ต้องขายที่ดินให้นายทุน และเช่าที่เพื่อทำกิน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน รัฐบาลจึงอยากให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า จุดอ่อนของการทำการเกษตรแบบอิสระ คือ การแบกรับภาระต้นทุนที่สูง และเมื่อต่างคนต่างทำ จึงขายไม่ได้ เพราะตลาดไม่ต้องการ แต่หากมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับตลาดก็จะทำให้ขายได้ จึงต้องมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มปริมาณและคุณภาพ สร้างอำนาจต่อรองให้แก่ตนเอง รวมทั้งทำไร่นาสวนผสม ลดปริมาณพืชที่ปลูกอยู่เพียงชนิดเดียวไปปลูกพืชอื่นทดแทน และเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้เสริม

“ผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่น เช่น มันสําปะหลัง อ้อย ยางพารา สับปะรด ฯลฯ ทุกอย่างใช้หลักการเดียวกัน หากประสบปัญหาราคาตกต่ำ และรัฐบาลต้องรับซื้อในราคาสูง เมื่อขายไม่ได้ก็ยิ่งขาดทุน และกระทบต่องบประมาณของประเทศ ดังนั้น ทุกคนจะต้องช่วยกันเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน“ นายกรัฐมนตรีกล่าว

People unity news online : post 14 สิงหาคม 2561 เวลา 10.50 น.

ชาวนาเฮ! รัฐบาลออกมาตรการช่วยผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ

People unity news online : นายกรัฐมนตรีประชุม นบข. ครั้งที่ 3/61 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2561 โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ซึ่งภายหลังการประชุม นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขานุการ นบข. ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าว การส่งออกข้าวของไทยจะยังคงมีทิศทางที่ดี เนื่องจากมีการทยอยส่งมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวที่ผ่านมา และมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มเติมจากความต้องการข้าวในตลาดโลกที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งภูมิภาคแอฟริกา ทำให้มีคำสั่งซื้อมารองรับผลผลิตข้าวที่จะออกในช่วงปลายปีได้เป็นอย่างดี สำหรับการส่งมอบข้าวแบบจีทูจีให้รัฐบาลจีนในงวดที่ 5 ปริมาณ 1 แสนตัน แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 และอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงซื้อขายข้าวงวดที่ 6 ปริมาณ 100,000 ตัน และภาคเอกชนของไทยชนะการประมูลนำเข้าข้าวในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนขยายตลาด โดยจัดคณะผู้แทนไปเจรจาขยายตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ และคุณภาพข้าวไทยในประเทศจีนและตลาดสำคัญทั่วโลก

ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการข้าวตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 (2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 (3) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 (4) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 (5) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (6) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ซึ่งอยู่ระหว่างการระบายข้าวและส่งมอบ จากเดิมสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561 เป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2561 และมอบหมายให้ อคส. และ อ.ต.ก. เร่งระบายจ่ายข้าวออกจากคลังสินค้ากลาง และเบิกค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวสารที่ค้างจ่ายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 60/61 ด้านการตลาด ในการดึงอุปทานข้าวเปลือกออกจากตลาดเป้าหมาย 12.5 ล้านตัน ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ซึ่งสามารถดึงอุปทานออกจากตลาดได้ 6.64 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 53.12 ของเป้าหมาย ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีราคาถึงตันละ 15,500-18,500 บาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบแผนการดำเนินโครงการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว ปีการผลิต 2561/62 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดย

(1) สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มวิสาหกิจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 52 แห่ง แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าว กข43 จากเกษตรกรภายใต้ระบบนาแปลงใหญ่ในราคานำตลาด (ตกลงราคารับซื้อสูงกว่าข้าวเจ้าแต่ไม่เกินข้าวปทุมธานี) พื้นที่เพาะปลูกเป้าหมาย 31,183.75 ไร่ คาดการณ์ผลผลิต ประมาณ 10,000 ตันข้าวสาร

(2) ผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว โดยมีผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเพื่อผลิตน้ำนมข้าว จำนวน 5 ราย แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะรับซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตรกรระบบนาแปลงใหญ่ในราคานำตลาด และได้รับราคาที่สูงเพิ่มมากขึ้น

(3) ร่วมกับองค์การอาหารและยา ในการประชุมหารือเพื่อสร้างความเข้าใจการเผยแพร่ฉลากผลิตภัณฑ์ข้าว กข43 เพื่อป้องกันปัญหาการแอบอ้างสรรพคุณข้าว กข43 ที่เกินจริง

(4) ร่วมกับโมเดิร์นเทรด กำหนดจัดกิจกรรม “บอกรักแม่ด้วยกระเช้าผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว” ระหว่างวันที่ 9-16 สิงหาคม 2561 และกิจกรรม “รณรงค์บริโภคน้ำนมข้าวในช่วงเทศกาลกินเจ” ระหว่างวันที่ 8-17 ตุลาคม 2561 ในห้างโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ

(5) การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมและสร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของการบริโภค ข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวผ่านสถานีวิทยุ และรายการอาหารเพื่อสุขภาพที่มีชื่อเสียงระดับประเทศตลอดช่วงระยะเวลาเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2561

(6) กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รณรงค์ให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและคุณประโยชน์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ ดังนี้

1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ

(1) โครงการสินเชื่อช่วยเหลือชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ในเขตพื้นที่เพาะปลูกทุกจังหวัด เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมสินเชื่อก่อน ตันละ 1,000 บาท และภายหลัง 500 บาท

ทั้งนี้ มีโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่ง คชก. ได้อนุมัติกรอบวงเงินเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 จำนวน 250 ล้านบาท เป้าหมาย เกษตรกรรายคนและสถาบันเกษตรกร ที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 ราย โดยกำหนดวงเงินกู้กรณีเกษตรกรรายคนไม่เกินรายละ 150,000 บาท และกรณีสถาบันเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 3,000,000 บาท

-การกำหนดวงเงินสินเชื่อ โดยพิจารณาจากราคาตลาดเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ราคาที่เกษตรกรควรจะได้รับ (จากต้นทุนการผลิต+กำไรที่ควรจะได้รับ) และราคาข้าวเปลือกที่สะท้อนจากราคาส่งออกที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก ดังนี้ ข้าวหอมมะลิ 11,800 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียว 10,200 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 7,500 บาท/ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 8,900 บาท/ตัน

ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดสรรค่าฝาก ตันละ 1,000 บาท ให้แก่สมาชิก (ปีที่ผ่านมาสมาชิกไม่ได้รับค่าฝากเก็บ)

-ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.61 – 28 ก.พ.62 (ภาคใต้ ถึง 31 ก.ค.62)

(2) ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ ให้เฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยช่วยตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท (จากปีที่ผ่านมาช่วยเหลือไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่)

ทั้งนี้ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี 2561/62 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น จึงขอให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวในปีนี้แล้ว แจ้งการขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานเกษตรในพื้นที่ เพื่อสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลต่อไป

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป เป้าหมาย 2 ล้านตัน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 และสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ระยะเวลา 1 ต.ค.61 – 31 ธ.ค.62

3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ทั้งนี้ โรงสีต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรในช่วง 1 พ.ย.61- 31 มี.ค.62 ภาคใต้ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย.62

ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดงบประมาณเพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ตามระเบียบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ที่ประชุมยังรับทราบการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 รัฐบาลได้นำข้าวในสต็อกออกมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการอนุมัติจำหน่าย รวมทั้งสิ้น 1.96 ล้านตัน มูลค่า 10,198 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ชนะการประมูลกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) แบ่งเป็น

-การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน (กลุ่มที่ 2) ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 1.44 ล้านตัน มูลค่า 8,410 ล้านบาท

-การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ (กลุ่มที่ 3) ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 0.52 ล้านตัน มูลค่า 1,788 ล้านบาท

ปริมาณข้าวคงเหลือข้าวที่จะนำออกมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมภายในเดือนกันยายน 2561 ปริมาณรวม 0.069 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวกลุ่มที่ 2 ปริมาณ 0.047 ล้านตัน และกลุ่มที่ 3 ปริมาณ 0.022 ล้านตัน

ชาวนาเฮ! รัฐบาลออกมาตรการช่วยผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ

People unity news online : post 12 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.10 น.

พาณิชย์คาดภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยครึ่งหลังปี 61 ขยายตัวต่อเนื่อง

People unity news online : 4 กรกฎาคม 2561 ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ว่า มีแนวโน้มที่ดี โดยมีสัญญานของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้วัดต่างๆในช่วงครึ่งปีแรกที่สอดคล้องกัน ทั้งด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพของราคา

ในด้านอุปทาน มีสัญญานที่ดีจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีการปรับตัวดีขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยเฉลี่ยขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน แม้ว่าสินค้าเกษตรบางชนิดจะยังมีราคาลดลงก็ตาม ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ก็มีสัญญาณที่ดีจากกำลังการผลิต (Cap U) ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในขณะที่อัตราการว่างจ้างงานก็ยังอยู่ในระดับต่ำที่มีเสถียรภาพ

นอกจากนั้น ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีคาดว่าจะมีแรงกดดันต่อต้นทุนและราคาสินค้าลดลง ทั้งจากมาตรการดูแลของภาครัฐ และแนวโน้มราคาพลังงานโลก ที่แม้จะยังมีโอกาสผันผวน แต่คาดว่าน่าเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน (60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)

ในด้านอุปสงค์ มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีในเกือบทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและการค้าระหว่างประเทศ โดยการบริโภค มีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การบริโภคภาคเอกชน (ทั้งจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการบริโภคใน GDP) สอดคล้องกับปริมาณเงินในระบบ (ทั้ง M1 และ M2) ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและเพิ่มขึ้นในลักษณะที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากรายได้เกษตรกรเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (มาจากราคาและปริมาณสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น) เช่นเดียวกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 7 เดือน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผ่านเครื่อง EDC) จะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนในกลุ่มนี้ได้อีกประมาณ 7% ในขณะที่การลงทุนขยายตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ยังขยายตัวได้ดีจากการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะเห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 0.2% ใน Q4/60 เป็น 1.9% ในไตรมาสล่าสุด (Q1/61) ในขณะที่การส่งออกก็ยังขยายตัวในระดับสูงถึง 11.6% (รวม 5 เดือน) สอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันของไทยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าทั้งปีน่าจะมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวเกินเป้าหมายร้อยละ 8 โดยมีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อน อาทิ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ขยายตัวได้ดี รวมทั้งสินค้าเกษตรสำคัญก็มีแนวโน้มปรับตัวที่ดีตามลำดับ ทั้งจากความต้องการและราคาที่ยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายของแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับลด TIP Report ลงมาเป็น Tier 2 ในขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวและเอื้อต่อการผลิตและสนับสนุนการบริโภคในประเทศ โดย 5 เดือนขยายตัว 16.6% โดยรวมแล้วการค้าระหว่างประเทศยังเกินดุลในระดับที่ดี

Price Stability พบว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับแบบค่อยเป็นค่อยไป (ล่าสุด มิ.ย. 1.38%, 6M 0.97%) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี (สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดต่างๆด้านอุปสงค์) ในขณะที่ต้นทุนสินค้าและบริการยังอยู่ในระดับปกติซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆแล้วเงินเฟ้อของไทยถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมามีลักษณะที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (ทั้งไทยและโลก) และอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน แม้ที่ผ่านมายังแข็งค่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับปีก่อน ( 6 เดือนแข็งค่าร้อยละ 8.6) แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีก็น่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ (32-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)

เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีจะยังคงมี Momentum ต่อเนื่อง ทั้งในด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพราคา ซึ่งจะส่งผ่านให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังขยายตัวต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้ตามการคาดการณ์

People unity news online : post 4 กรกฎาคม 2561 เวลา 12.40 น.

รัฐบาลปลื้มราคาสินค้าเกษตรหลักปรับตัวสูงขึ้น

People unity news online : รัฐบาลยินดีราคาสินค้าเกษตรหลักปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกำชับช่วยเหลือผลผลิตที่ยังมีปัญหา ยืนยันดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2561 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ราคาสินค้าเกษตรหลักหลายชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังซื้อมากขึ้น โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 18,700 บาท เพิ่มจากเดิมตันละ 12,000 – 14,000 บาท เป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 10 ปี ส่วนข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยตันละ 8,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ

นอกจากนี้ มันสำปะหลังราคา กก.ละ 3.20 บาท สูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา กก.ละ 9.5 – 9.7 บาท ราคาหน้าโรงงานสูงกว่า กก.ละ 10 บาท และราคาปาล์มดิบขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 4.20 บาทแล้วฃ

“สาเหตุที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการระบายข้าวที่ตกค้างนานปีจนหมดสต๊อก และยังชนะการประมูลขายข้าวให้กับต่างประเทศ รวมถึงการวางแผนคาดการณ์แนวโน้มตลาด เพิ่มช่องทางการตลาด และส่งออกไปตลาดใหม่ๆ จึงช่วยให้สินค้ามีราคาดีขึ้น”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า รัฐบาลยังได้ผลักดันโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐช่วยร้านโชห่วยที่มีปัญหาให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ และยังใช้เป็นกลไกช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน เพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าทั้งในชุมชนและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ เช่น ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย แม่บ้านมืออาชีพ เป็นต้น

สำหรับการส่งออกสินค้าก็มีข่าวดีด้วยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าถึง 81,780 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี และรัฐบาลมั่นใจว่าจะผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ร้อยละ 8 ภายในปีนี้

“นายกฯ ได้กำชับไว้ว่า ขอให้หน่วยราชการและภาคเอกชนช่วยกันส่งเสริมสินค้าเกษตรที่ยังมีราคาตกต่ำ เช่น สับปะรด ให้มีราคาสูงขึ้น เหมือนกับผลไม้ประเภทอื่น โดยอาจรณรงค์ให้เกษตรกรมีตลาดขายตรงสู่ผู้บริโภค หรือใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมทั้งขอให้เกษตรกรปลูกพืชโดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดและช่วงเวลาที่จะขายด้วย เพื่อไม่ให้สินค้าล้นหรือขาดตลาดทำให้ราคาสินค้าได้รับผลกระทบไปด้วย”

People unity news online : post 25 มิถุนายน 2561 เวลา 08.20 น.

“สนธิรัตน์” เตรียมนำสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ไปจำหน่ายในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ

People unity news online : “สนธิรัตน์” ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ยืนยันรัฐบาลยังคงเดินหน้าใช้กลไกของร้านค้าช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เผยจะมีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรครบ 40,000 แห่งภายในเดือน มิ.ย.นี้ ทำให้ร้านค้าครอบคลุมมากขึ้น ส่วนยอดใช้จ่ายล่าสุด 29,488 ล้านบาท มีสินค้าซื้อขายกว่า 100 ล้านรายการ

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ณ ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านบ่อพลับ หมู่ที่ 3 ตำบลเนินกว้าว อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้ยืนยันว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้าใช้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เป็นกลไกในการช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อย และกำลังจะพัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐให้เป็นร้านโชห่วยมืออาชีพ รวมถึงการเชื่อมโยงผู้ผลิต ให้จัดส่งสินค้าราคาถูกเข้าร้านค้า และเชื่อมโยงสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน เพื่อให้ร้านค้ามีสินค้าที่หลากหลายและมีราคาถูกจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ และทำให้ร้านค้ามีรายได้มากขึ้น

สำหรับความคืบหน้าการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ขณะนี้ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตั้งครบตามเป้าหมาย 30,000 ร้านแล้ว และในส่วนของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ) ที่รับผิดชอบติดตั้ง 10,000 แห่ง ขณะนี้ได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 1,800 ร้าน และคาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2561 นี้ จะติดตั้งได้ครบ และทำให้มีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตรครบตามเป้าหมาย 40,000 แห่ง ทำให้มีร้านค้าครอบคลุมผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากขึ้น ส่วนการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวโครงการวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2561 มียอดซื้อขายแล้ว 29,488 ล้านบาท และมีจำนวนสินค้าที่ซื้อขายกว่า 100 ล้านรายการ

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนที่จะหารือกับผู้ผลิตรายใหญ่ ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก ป้อนให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยตั้งเป้าที่จะเปิดให้มีมุมสินค้าธงฟ้า ซึ่งจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาเลือกซื้อสินค้า ซึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพได้อีกทางหนึ่ง และยังจะใช้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเป็นที่ขายสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่จำหน่ายให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และช่วยให้เกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน  มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง และผู้ขนส่งสินค้า ในการจัดส่งสินค้าราคาถูกให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยให้มีศูนย์กระจายสินค้าทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐมีสินค้าจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนให้กับร้านค้า แต่ยังช่วยดึงดูดให้คนเข้าร้านเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 208,954 ราย จากจำหน่ายประชากรทั้งหมด 1,065,868 คน ขณะนี้มีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรแล้ว 397 เครื่อง แบ่งเป็นร้านค้า 395 ร้าน รถโมบายจำนวน 2 คัน

People unity news online : post 11 มิถุนายน 2561 เวลา 13.20 น.

ก.พลังงานแจงน้ำมันดิบพบในประเทศกลั่นในประเทศแค่ 13% ชี้ราคาหน้าโรงกลั่นต่างกันจากค่าขนส่ง

People unity news online : กระทรวงพลังงานระบุไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศร้อยละ 87 ขณะที่ราคาหน้าโรงกลั่นแตกต่างกันจากค่าขนส่ง

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ชี้แจงข้อสงสัยกรณีน้ำมันที่ค้นพบและนำมากลั่นในประเทศไทย อ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์ ว่า ในปี 2560 น้ำมันดิบที่ค้นพบในประเทศแล้วส่งเข้าโรงกลั่นในประเทศมีเพียงร้อยละ 13 ของน้ำมันดิบที่ส่งเข้าโรงกลั่นในประเทศทั้งหมด (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2561) อีกร้อยละ 87 ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามากลั่น โดยที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะใช้หลักการอ้างอิงกับราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย คือ ตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย (ส่งออก/นำเข้า) ของภูมิภาคเอเชียและเป็นตลาดการค้าเสรี

ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นในแต่ละประเทศนั้น ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เนื่องจากน้ำมันสำเร็จรูปที่มีคุณภาพเดียวกัน ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละประเทศแตกต่างกันมาจากค่าขนส่ง หากส่วนต่างของน้ำมันสำเร็จรูปในสองพื้นที่แตกต่างกันเกินกว่าค่าขนส่ง ก็จะเกิดการขนส่งข้ามพื้นที่เพื่อรับส่วนต่างกำไรที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างราคาเท่ากับค่าขนส่งอยู่เสมอ

ทั้งนี้ อาจมีข้อยกเว้นอยู่บ้างในกรณีในตลาดที่ไม่เกิดการแข่งขันโดยสมบูรณ์ หรือนโยบายเฉพาะของประเทศนั้นๆ เช่น การสร้างกำแพงภาษี หรือการควบคุมการนำเข้า-ส่งออก เป็นต้น

People unity news online : post 1 มิถุนายน 2561 เวลา 10.20 น.

แอร์เอเชียยืนยันกับ ”สมคิด” เตรียมลงทุนในไทยสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน

People unity news online : เมื่อวานนี้ (16 พฤษภาคม 2561) เวลา 14.30 น. นายโทนี่ เฟอร์นานเดส (Mr. Tony Fernandes) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย เข้าเยี่ยมคารวะ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างแอร์เอเชียกรุ๊ปกับรัฐบาลไทย ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายโทนี่ เฟอร์นานเดส ยืนยันความร่วมมือระหว่างกันใน 3 ประเด็น หลัก ดังนี้

  1. แอร์เอเชียยืนยันแผนลงทุน 5 ปี ในการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul: MRO) ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) โดยจะใช้เงินลงทุนเริ่มต้นทั้งสิ้น 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะนี้แผนลงทุนนี้ได้รับการอนุมัติในหลักการแล้ว โดยจะเป็นการร่วมทุนระหว่างแอร์เอเชียกับหุ้นส่วน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุง จะทำให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาค
  2. การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ปัจจุบันแอร์เอเชียมีเครื่องสองลำที่ใช้บริการที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาจำนวน 9 แสนคนต่อปี และแอร์เอเชียจะขยายการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเสร็จสิ้น แอร์เอเชียจะเพิ่มเที่ยวบินจากอู่ตะเภาไปยังยุโรป และออสเตรเลีย ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศบายอู่ตะเภาเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทฯเชื่อว่าหากมีการเปิดอาคารผู้โดยสารของสายการบิน Low cost ซึ่งคิดราคาภาษีสนามบินถูกกว่าอาคารผู้โดยสารปกติ จะเป็นการขยายตลาด เพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่สนามบินอู่ตะเภา
  3. การร่วมมือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะลงทุนที่สนามบินแห่งใหม่ที่อยู่ในแผนการสร้างของรัฐบาลไทย อาทิ เขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่/ลำพูน ชุมพร ระนอง เป็นต้น ทั้งนี้จะส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาลไทยด้วย

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณกลุ่มสายการบินแอร์เอเชียที่ให้ความเชื่อมั่นตามแผนการพัฒนาของรัฐบาล และร่วมลงทุนในประเทศไทย

People unity news online : post 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 19.10

“ชาติชาย” เผย ธ.ออมสินจะก้าวสู่ “The Best & Biggest Local Bank in Thailand” ในปี 61 นี้

People unity news online : ธนาคารออมสิน เผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 13,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1 เท่าตัว เพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยและสินเชื่อใหม่เกือบ 150,000 ล้านบาท เป้าหมายปี 2561 มุ่งสู่ “The Best & Biggest Local Bank in Thailand” เป็นธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อสังคม – ธนาคารเพื่อรายย่อย – ธนาคารผู้นำด้านดิจิทัล – ธนาคารเพื่อผู้สูงวัย – ธนาคารเพื่อคนรุ่นใหม่ และ SMEs Start Up

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคารออมสิน ช่วง 3 เดือนแรก ของปี 2561 (1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2561) ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 13,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,178 ล้านบาท ที่สำคัญมาจากกำไรจากการขายหุ้นสามัญและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดย 3 เดือนแรกมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ถึง 149,303 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 2,059,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45,058 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 จากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 2,014,123 ล้านบาท ทั้งนี้ เกิดจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ โดยมาตรการของรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยให้สินเชื่อขยายตัวได้ เป็นการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภท ได้แก่ สินเชื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจ SMEs สินเชื่อธนาคารประชาชน และสินเชื่อธุรกิจห้องแถว เป็นต้น

ด้านเงินฝาก ไตรมาส 1 อยู่ที่ 2,172,538 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2560 ที่ธนาคารมียอดเงินฝากสูงเป็นอันดับ 1 ในระบบสถาบันการเงิน จากเงินฝากครบกำหนด แต่ธนาคารมีแผนระดมเงินฝากทั้งเงินฝากสลากออมสินและเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ๆที่ตอบสนองความต้องการของผู้ออมเงินออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2,620,862 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2560 จำนวน 42,966 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.61 ซึ่งเป็นไปตามกรอบทิศทางธนาคาร

ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขตามลำดับความสำคัญ การเจรจาไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ โดยธนาคารได้ทยอยเปิดศูนย์ย่อยควบคุมและบริหารหนี้ทั่วประเทศจำนวน 80 ศูนย์ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 45,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.19 ของสินเชื่อรวม ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์

“ความร่วมมือร่วมใจกันของผู้บริหารและพนักงาน ส่งผลให้ธนาคารมีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและพันธมิตร รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งการันตีจากการยกย่องและได้รับมอบรางวัลต่างๆมากมาย อาทิ รางวัลสำหรับสถาบัน Best Retail Bank of the Year 2017, รางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย, รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2560 รวมถึงรางวัลล่าสุดที่เพิ่งได้รับ คือ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ  ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประเทศที่ได้รับรางวัลนี้ นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กร ที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

นายชาติชาย กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 นี้ ได้มุ่งเป้าหมายสู่การเป็น The Best & Biggest Local Bank in Thailand “ธนาคารที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด” โดยมุ่งเน้นลูกค้าใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้าฐานราก/นโยบายรัฐ มุ่งเน้น กลุ่มผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้มีหนี้นอกระบบ และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก หรือ พ่อค้า-แม่ค้า 2.กลุ่มลูกค้าบุคคล มุ่งเน้น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง กลุ่มผู้สูงวัย และ 3.กลุ่มลูกค้า SMEs มุ่งเน้น กลุ่ม SMEs Start Up

สำหรับกลุ่มฐานรากและนโยบายรัฐนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารได้เข้าไปสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มประชาชนฐานรากอื่นๆ โดยธนาคารจะยกระดับให้ประชาชนก้าวพ้นจากความยากจนด้วยกลไก 3 สร้าง ได้แก่ 1.สร้างรายได้/อาชีพ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน โดยการจัดทำหลักสูตรอบรมพัฒนาอาชีพร่วมกับ 17 มหาวิทยาลัย, โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 84 ชุมชน, พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์  2.สร้างตลาด ด้วยการจัดตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์, ตลาดประชารัฐสีชมพู, ร้านค้าประชารัฐ, Thailand Street Food, e-Market Place ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 3.สร้างประวัติทางการเงิน ด้วยการส่งเสริมการรับชำระเงินผ่าน QR Payment (MyMo Pay และ GSB Pay) โดยได้ดำเนินการติดตั้งคิวอาร์โค้ดไปแล้วกว่า 26,000 ร้านค้า พร้อมกันนี้มีการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เช่น สินเชื่อ Street Food สินเชื่อผู้รับสิทธิ์สวัสดิการรัฐ สินเชื่อ Home Stay สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ ตลอดจนการให้ออมก่อนกู้

ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ธนาคารออมสินได้ปลูกฝังการออมตั้งแต่เยาว์วัย ธนาคารได้ยกระดับธนาคารโรงเรียน สู่ Virtual School Bank ซึ่งจะจูงใจให้นักเรียน กลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้รับความรู้ความเข้าใจและออกแบบการออมด้วยตัวเองได้ในโลกเสมือนจริง ที่สำคัญถือเป็นครั้งแรกที่จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในยุค Digital Banking 4.0 ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.gsbschoolbank.com ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าไปเรียนรู้กันมากขึ้น และยังมีโครงการต่างๆอีกมากมายครอบคลุมทุกมิติของการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยสู่ความเป็นเลิศทัดเทียมสากล ทั้งด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมความมีคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงโครงการ GSB Generation ที่เน้นกิจกรรมตอบโจทย์ Life Style คนรุ่นใหม่

ขณะที่ กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง ธนาคารจะนำเสนอและส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ล้ำสมัย ด้วยบริการ Digi-Thai Life Solution ผ่านบริการ Mobile Banking ในชื่อ MyMo ของธนาคารออมสิน บริการธุรกรรมออนไลน์ฟรีค่าธรรมเนียม, MyMo My Life ครบทุกความต้องการในแอพเดียว ทั้งด้านเงินฝาก สินเชื่อ ลงทุน และประกันชีวิต, Market Place ธุรกิจใหม่บนมือถือรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่, QR Payment รับ-จ่ายแบบไร้เงินสด ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในอนาคต

นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยนั้น ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ประกาศความพร้อมในการดูแลผู้สูงวัย รองรับการก้าวเข้าสู่ Aging Society ของประเทศ ด้วยการเปิดตัวธนาคารผู้สูงวัย เมื่อต้นปี 2560 เพื่อให้บริการทางการเงินที่เหมาะกับผู้สูงวัย ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อ Reverse Mortgage ที่ธนาคารเปิดให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้อย่างมั่นคง ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง พร้อมกับการสร้างรายได้/อาชีพ ส่งเสริมการออม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

ส่วน กลุ่ม SMEs Start Up จะมุ่งเน้นพัฒนา SMEs ให้มีนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ตั้งแต่หากลุ่มเป้าหมาย จัดโปรแกรมอบรมและพัฒนา ไปจนถึงการให้สินเชื่อและการร่วมลงทุน สำหรับในกลุ่ม SMEs นั้น ธนาคารได้ขยายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs ทั่วประเทศเพิ่มเติมจาก 18 ศูนย์ ในปี 2560 เป็น 37 ศูนย์ ในเดือนมีนาคม 2561 และจะครบตามเป้าหมาย 82 ศูนย์ ในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการอนุมัติสินเชื่อและดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึง

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ธนาคารพาณิชย์มีทิศทางการปิดสาขามากขึ้นเพื่อลดต้นทุนนั้น ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสาขา 1,059 แห่ง จะไม่มีการปิดสาขา แต่จะปรับรูปแบบสาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุนของสาขา ได้แก่ ปรับบทบาทพนักงานบริการให้เป็นพนักงานขายมากขึ้น, เพิ่มเครื่องให้บริการอัตโนมัติ (Self Service Zone), เพิ่มพื้นที่การขายภายในสาขาทั้งการขายโดยการปรับบทบาทของพนักงานและการร่วมกับพันธมิตร, เปิดสาขาที่เป็น Flagship และสาขา Digital เต็มรูปแบบ รวมถึงบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้เสมือนหนึ่งการให้บริการของสาขา

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว ธนาคารได้มีการปรับเปลี่ยนภายในองค์กร (Internal Change) โดยเพิ่มหน่วยงานใหม่เพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ล้ำสมัย รองรับการเป็น Digital Banking และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการจับมือคู่ค้าพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจ อาทิ กลุ่มฟินเทค กลุ่มอีคอมเมิร์ซ เป็นต้นรวมถึงการพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆจากการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับ Start Up ที่มีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Management), ธุรกิจติดตามและประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะ (Monitoring & Analytics), ธุรกิจบริหารจัดการโปรแกรมสะสมแต้ม (Loyalty Program Card), หนังสือ/นิตยสารออนไลน์ (Online Book and Magazine), การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เป็นต้น

“การมุ่งไปสู่ The Best & Biggest Local Bank in Thailand นั้น ธนาคารมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุม มุ่งมั่นให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนได้เข้าถึงทุกๆพื้นที่ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรที่สอดรับกับ Life Style ของลูกค้าในยุคดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Digi-Thai Life Solution” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

People unity news online : post 7 พฤษภาคม 2561 เวลา 22.10 น.

“กอบชัย” แจง MOU กับ Alibaba ไทยไม่เสียประโยชน์ ข้อมูลผู้ประกอบการไทยไม่รั่วไหล

People unity news online : “กอบชัย” แจงเซ็น MOU กับ Alibaba ไทยไม่เสียประโยชน์ ปัดข่าวข้อมูลผู้ประกอบการไทยรั่วไหล ย้ำ MOU 4 ฉบับ เน้นพัฒนา SMEs ทุกระดับ

22 เมษายน 2561 อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยข่าวการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยกับกลุ่มบริษัท อาลีบาบา (Alibaba) จะทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบทางการค้านั้น ยืนยันว่าไทยไม่เสียเปรียบแต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจออนไลน์ของไทยเข้าสู่ตลาดสากลได้มากขึ้น พร้อมระบุ MOU ดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิบริษัท อาลีบาบา ในการดึงข้อมูลของผู้ประกอบการไทยออกไปได้ แต่กลับช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดการค้าเสรีได้ง่ายขึ้น และได้ประโยชน์จากข้อมูลการวิเคราะห์ตลาดเป้าหมายผ่านการวิเคราะห์ของบริษัทอาลีบาบาอีกด้วย

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมีกระแสข่าวความไม่เข้าใจต่อการที่หน่วยงานภาครัฐ ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับกับทางบริษัท อาลีบาบา ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) และอาลีบาบา 2) ความร่วมมือด้านการลงทุนสมาร์ทดิจิทัลฮับ (Smart Digital Hub) ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ระหว่างสานักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistics Network Hong Kong Limited 3) ความร่วมมือด้านการพัฒนาเอสเอ็มอี และบุคลากรด้านดิจิทัล ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) และ 4) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านระบบดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอาลีบาบา เพื่อจัดทำไทยแลนด์ทัวริสต์ แพลตฟอร์ม สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ โดยระบุว่าการลงนามดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยทั้งในเรื่องโอกาสในการแข่งขันทางการค้า และการตลาด รวมถึงเรื่องของข้อมูลของบริษัทนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอชี้แจงว่า ความร่วมมือที่รัฐบาลไทยทำข้อตกลงกับอาลีบาบา มุ่งเน้นการพัฒนาให้เอสเอ็มอีทุกระดับ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจเกษตรทั่วประเทศให้มีความรู้และทักษะทางด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ สามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์สู่ประเทศจีนและตลาดสากล โดยอาลีบาบาจะมาช่วยอบรมให้ผู้ประกอบการไทยมีความรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ผู้บริการ(Service Provider)ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบด้านโลจิสติกส์โดยอาศัยเทคโนโลยีของอาลีบาบาเข้ามาช่วยให้สามารถส่งสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปยังตลาดจีนและตลาดสากลได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ จะใช้กรณีของอาลีบาบาเป็นภาคปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ในการปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ไทยอย่างต่อเนื่องมีคุณภาพและได้มาตรฐาน

“ส่วนความกังวลที่ว่าอาลีบาบาจะได้ฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) ของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ผมขอชี้แจงว่าไม่มีประเด็นใดที่จะนำออกซึ่งข้อมูลในระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะข้อมูลของผู้ประกอบการไทย โดยหน่วยงานต่างๆต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการปี พ.ศ.2540 อย่างเคร่งครัด ซึ่งหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใดเลือกที่จะทำตลาดออนไลน์กับอาลีบาบาก็จะได้ประโยชน์จากข้อมูลการวิเคราะห์ตลาดเป้าหมายผ่านการวิเคราะห์จากระบบฐานข้อมูลของอาลีบาบาด้วย และการเข้ามาของนายแจ็ค หม่า ประธานของอาลีบาบา ที่ทำให้นักธุรกิจไทยเกิดความวิตกกังวลนั้น ผมขอเรียนชี้แจงว่า ตลาดการค้าออนไลน์เป็นตลาดการค้าเสรี แม้ในปัจจุบันผู้บริโภคคนไทยก็สามารถเลือกซื้อสินค้าจากประเทศจีนผ่านทางเว็บไซต์ออนไลน์ได้ในหลากหลายช่องทางอยู่แล้ว ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ช่วยให้ตลาดจีนและผู้บริโภคชาวจีนที่อยู่ในระบบออนไลน์ ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 ล้านคน และตลาดของจีนได้รับรู้ถึงศักยภาพของสินค้าและบริการของไทย ที่สำคัญยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นการส่งออกไปเป็นเน้นการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศมากขึ้น โดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับอาลีบาบาไม่ได้เน้นการนำเข้าสินค้าจากจีนมาบริโภคในประเทศไทย แต่เป็นการสร้างเครื่องมือเพื่อเพิ่มโอกาสให้สินค้าที่มีคุณภาพของไทยสามารถเข้าไปขายในประเทศจีน และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ได้มากขึ้น” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าว

People unity news online : post 23 เมษายน 2561 เวลา 12.10 น.

“บิ๊กตู่” สั่งเร่งเครื่องโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมชายแดนใต้ แนะปลูกปาล์มให้สอดรับตลาด

People unity news online : เมื่อวานนี้ (4 เมษายน 2561) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมพญาตานี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาคเอกชน ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนเข้าร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ชายแดน โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต้องพัฒนาเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความปรองดองและความสงบในพื้นที่ต่อไป สำหรับการเสนอและดำเนินการเสนอขอโครงการต่างๆนั้น เพื่อให้เกิดผลโดยเร็วและสามารถดำเนินการได้ ให้เสนอแยกเป็นตอนๆ เป็นช่วงๆ แทนการเสนอในภาพใหญ่ และต้องรายงานการใช้งบประมาณอย่างละเอียด โปร่งใส สุจริต โดยให้คำนึงถึงความต้องการของประชาชนและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอโครงการสำคัญ ดังนี้

1.ความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยนายกรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการขยายกำลังการผลิตปาล์มน้ำมัน และขอให้คำนึงถึงปริมาณการปลูกปาล์มให้สอดคล้องกับความต้องการ และให้เตรียมมาตรการรองรับราคาปาล์มด้วย ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว ให้กำหนดพื้นที่ปลูกมะพร้าวพร้อมจัดสรรพื้นที่สาธารณะให้ปลูกมะพร้าวโดยให้บริหารจัดการร่วมกัน  พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการต้นแบบ รวมทั้งให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่วิจัยพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการผลิต

2.การบริหารจัดการด้านพลังงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดภาคใต้ และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยชุมชน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าของพื้นที่และสามารถพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ชายแดนเป็นแหล่งที่มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจำนวนมาก

3.ผลการดำเนินงานด้านคมนาคม (ท่าเทียบเรือปัตตานี/ท่าอากาศยานเบตง) นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความเจริญให้กับพื้นที่

4.การดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว (การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน/แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่) นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ขยายผลการท่องเที่ยวโดยชุมชน เนื่องจากจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ด้านรายได้โดยตรง รวมทั้งควรสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยง เชื่อมต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวควบคู่กับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่แบบแพ็คเกจ สร้างสตอรี่เรื่องราวต่างๆให้น่าสนใจ ทำอย่างไรให้คนเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยให้จัดทำแผน กำหนดกิจกรรมการท่องเที่ยว และกำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างเชื่อมโยงขยายไปสู่การท่องเที่ยวในกลุ่มพื้นที่ต่อไป

และ 5.ผลการดำเนินงานยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้พัฒนาปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และเป็นแรงงานที่มีศักยภาพสามารถสร้างโอกาสในการทำงานต่อไป พร้อมส่งเสริมให้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตร 2 ภาษา รวมทั้งส่งเสริมให้มีโรงเรียนประจำในพื้นที่และทำให้ได้โดยเร็ว

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำให้ส่วนราชการต่างๆ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ หากมีปัญหาอุปสรรคให้รีบแก้ไข และพยายามหาแนวทางใหม่ๆที่สร้างสรรค์เพื่อให้การพัฒนาชายแดนใต้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

People unity news online : post 5 เมษายน 2561 เวลา 10.00 น.

Verified by ExactMetrics