วันที่ 29 เมษายน 2024

ครม. เพิ่มมาตรการดึงต่างชาติถ่ายหนังในไทย คืนเงินให้กองถ่าย 150 ล้านบาท

People Unity News : 7 กุมภาพันธ์ 2566 ครม. ทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ คืนเงินเป็นร้อยละ 20-30 เพิ่มเพดานการคืนเงิน 150 ล้านบาท หวังดึงดูดกองถ่ายต่างชาติ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยการปรับเกณฑ์ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิม ร้อยละ 15-20 เพิ่มเป็นร้อยละ 20-30 ระยะเวลา 2 ปี โดยมีสิทธิประโยชน์ร้อยละ 20 เมื่อลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 10 หลังจากนี้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับปรุงประกาศกรมการท่องเที่ยว หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เช่น การกระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างงานคนไทย การเพิ่มมูลค่าค่าใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนโดยตรง

ส่วนที่ 2 การปรับเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่องเป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนต์ต่อเรื่องเพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อเป็นการรับกับแนวโน้มคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ โดยเรื่องที่เข้ามาถ่ายทำในไทยสูงสุดขณะนี้คือภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง Thai Cave Rescue

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำาภาพยนตร์ต่างประเทศเนื่องมาจากปัจจุบันประเทศต่างๆ เห็นประโยชน์จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) หรือคืนภาษี (Tax Rebate/Tax Credit) เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศตนอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข สำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยทั้ง 2 ส่วน จะส่งผลต่อภาระงบประมาณในปี 2567-68 (มาตรการมีผลในปี 66 แต่การคืนเงินจะเกิดขึ้นในปี 67-68) รวม 2 ปี เพิ่มขึ้นจาก 821.82 ล้านบาท เป็น 1,845 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.54

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพกว้าง มีเงินจากการลงทุนของบริษัทภาพยนตร์หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น 900-1,200 บาทต่อปี กระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ และการที่ชาวไทยได้ร่วมงานกับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนอกจากจะให้คนไทยได้รับการจ้างงานเพิ่มกว่า 800 อัตราต่อปี ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มทักษะและประสบการณ์ เป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับสากลด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มมีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งได้มีคณะถ่ายทำได้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2562 ก่อนเกิดโควิด19  ประเทศไทยมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 4,463 ล้านบาท ส่วนปี 64 ที่ยังมีโควิด19 ผู้สร้างภาพยนตร์ก็ยังคงเข้ามาถ่ายทำในไทยสร้างรายได้ 5,007 ล้านบาท

โดยนับแต่มีมาตรการส่งเสริม ได้มีภาพยนตร์ 43 เรื่องที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์  ทั้งหมดนี้สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในไทย 8,560 ล้านบาท มีภาพยนตร์ที่ได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ 34 เรื่อง เงินลงทุน 6,283 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย เช่น ค่าจ้างทีมงานชาวไทย ค่าเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่ารถ ค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันโควิด ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

โดย ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 รัฐบาลได้จ่ายเงินคืนภายใต้มาตรการดังกล่าว  29 เรื่อง เป็นเงิน 772 ล้านบาท เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวฯ 560 ล้านบาท และจากการจัดสรรงบกลางเพิ่มเติม 212 ล้านบาท

Advertisement

ประยุทธ์ พอใจเศรษฐกิจไทยปี 64 เติบโต 1.6% สูงกว่าคาด

People Unity News : ประยุทธ์ พอใจเศรษฐกิจไทยปี 2564 เติบโต 1.6% สูงกว่าคาด ย้ำเดินหน้าฟื้นฟูประเทศในภาคท่องเที่ยว เร่งการลงทุนภาครัฐ ผลักดันการส่งออก ดูแลปัญหาหนี้สินครัวเรือน พร้อมจำกัดวงการแพร่ระบาดโควิด-19

22 ก.พ. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/64 และทั้งปี 2564 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 1.6% ซึ่งสูงกว่าที่ สศช. ได้ประมาณการไว้ 1.2%

ทั้งนี้ การเติบโตในหลายส่วนก็เป็นผลจากมาตรการต่างๆของรัฐบาล เช่น การบริโภคของประชาชนที่ดีขึ้นจากที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยา แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย การบริโภคและลงทุนของรัฐที่เติบโตจากการเร่งรัดการเบิกจ่าย ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจากการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการที่ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนทั้งด้านการป้องกันและรักษาจากโรคโควิด-19

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพอใจกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญกับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก โดยรัฐบาลได้พยายามทุกวิถีทางอย่างเต็มที่ในการดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

สำหรับปี 2565 ที่สภาพัฒน์ได้ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายด้านแต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าในปี 2565 นี้รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการดูแลการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด

โดยรัฐบาลจะรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมาได้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในครัวเรือน ที่จะมีการดูแลกลไกต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชน แก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนให้ต่อเนื่อง  ฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐทั้งส่วนของรายจ่ายประจำและการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่การลงทุนเอกชนจะดำเนินนโยบายสนับสนุนทั้งการฟื้นตัวและลงทุนของนักลงทุนไทย และการดึงดูดลงทุนของต่างชาติ ตลอดจนการขับเคลื่อนการส่งออกที่ปีนี้จะยังคงได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายกระทรวงการคลังและ สศช. ในการเฝ้าติดตามประเด็นความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ  เช่น กรณีที่เกิดไวรัสกลายพันธุ์  นโยบายเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารประเทศต่างๆ ที่เริ่มปรับตัวตามแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วโลก ตลอดจนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดในบางพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

Advertising

นายกฯห่วงเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าต่อนโยบายประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

People Unity : นายกฯห่วงเศรษฐกิจฐานราก เร่งเดินหน้านโยบายดูแลช่วยเหลือ พร้อมออกมาตรการหนุนอย่างเป็นรูปธรรม

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากจึงได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเศรษฐกิจฐานรากเป็นเสาหลักของความมั่นคงประเทศ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เน้นย้ำว่าจะต้องเร่งดูช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่มีรายได้ไม่เกิน 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีถึง 40% หรือ 26.9 ล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย แต่กลับอยู่ในสภาพที่ง่อนแง่น

“นโยบายประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยจะ 1) สานต่อนโยบายเกษตรประชารัฐซึ่งเป็นแนวทางเกษตรยั่งยืนด้วยมาตรการ 3 เพิ่ม 3 ลด 2) ตั้งกองทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่เอกชนและชุมชนร่วมทุนกัน ใช้เป็นกลไกการเงินของชุมชน 3) ส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากมีความหลากหลาย 4) เสริมความแข็งแกร่ง SMEs รายเล็กๆ ด้วยการเติมทุน เติมทักษะ เติมรายได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการกระตุ้นการลงทุน เร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ การขยายสิทธิบัตรสวัสดิการไปยังกลุ่มอื่น รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากด้วย คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเร็วๆนี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีใส่ใจในเรื่องนี้มาก โดยพบว่าการบริหารประเทศในอดีตเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคที่มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ดังนั้น เป้าหมายในการดูแลเศรษฐกิจฐานราก คือ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งเรื่องสังคม ผู้คน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ปัญหาของ “ชาวนา” เป็นปัญหา “เชิงโครงสร้าง” มีรากของปัญหา เช่น การถูกกดราคา กฎหมายและตลาดไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อย ภัยธรรมชาติ ต้นทุนสูง ไม่มีที่ดินของตนเอง ขาดความรู้ มีภาระหนี้สิน ฯลฯ จึงต้องเร่งแก้ไขที่ต้นตอไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวพันกัน

เศรษฐกิจ : นายกฯห่วงเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าต่อนโยบายประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

People Unity : post 12 สิงหาคม 2562 เวลา 10.10 น.

โฆษกรัฐบาลชี้แจง พ่อค้าแม่ค้า “โครงการเราชนะ” ถูกเรียกเงินคืนเพราะทำผิดเงื่อนไข

People Unity News : โฆษกรัฐบาลชี้แจง พ่อค้าแม่ค้า “โครงการเราชนะ” ถูกเรียกเงินคืนเพราะทำผิดเงื่อนไข รัฐบาลมุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ช่วยพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย วอนเห็นใจการทำงานของส่วนราชการ ต้องปกป้องและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ร่วมโครงการ

11 ต.ค. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงกรณีที่เกิดกระแสในโลกออนไลน์กรณีกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ประกอบการในโครงการเยียวยาของรัฐ โครงการเราชนะ ตรวจพบลักษณะธุรกรรมที่ผิดเงื่อนไข อาทิ ร้านค้ารับสแกนแล้วแลกเป็นเงินสด มีการสแกนเงินเต็มจำนวนวงเงินสิทธิ (1,000 2,000 บาท เป็นต้น) จำนวนมากและร้านค้าออนไลน์ที่รับสแกนซื้อ-ขายข้ามจังหวัด ทำให้จุดรับเงินขยับไปมาเกิน 7,000 กิโลเมตรใน 1 วัน หรือบางรายอยู่นอกพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการ  จึงจำเป็นต้องมีหนังสือประทับตราแจ้งคำสั่งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการ 2,099 ราย ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ  ผู้ประกอบการที่ขาดคุณสมบัติการเข้าร่วมโครงการเราชนะ (เป็นร้านค้าจากโครงการคนละครึ่ง แต่มีสถานะเป็นนิติบุคคล) ผู้ประกอบการที่ชี้แจงแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับธุรกรรมที่ตรวจพบ  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่ง พร้อมแสดงหลักฐานให้ทบทวนผลการพิจารณาต่อผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งกระทรวงการคลังมีขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ตั้งแต่การระงับสิทธิการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ชั่วคราวจนถึงการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ  รวมทั้งยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิดด้วย

โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า วิงวอนขอให้เห็นใจการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ทุกอย่างต้องยึดตามระเบียบและกฎหมายรองรับ  ซึ่งผู้ประกอบการที่สมัครใจร่วมโครงการ  ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนด ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการด้วย หากมีการดำเนินการที่ละเมิดกติกาหรือผิดวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ส่วนราชการที่รับผิดชอบก็มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามข้อบังคับ  เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของประชาชน และให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม เนื่องจากเงินทุกบาทที่นำใช้จ่ายมาจากภาษีของคนไทยทุกคน ขณะเดียวกันก็ฝากย้ำเตือนไปยังผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอย่าได้มีธุรกรรมเสี่ยง เพราะพบว่ามีการผิดเงื่อนไข อาจเสียสิทธิในการเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการอื่นของรัฐอื่นๆในอนาคตด้วย

Advertising

“จุรินทร์”เชื่อมั่นจะมีข่าวดี ให้การยางฯวิ่งเจรจาจีนเพิ่มส่งออก

People Unity News : “จุรินทร์”เชื่อมั่นจะมีข่าวดี ให้การยางฯวิ่งเจรจาจีนเพิ่มส่งออก พร้อมสรุป MOU ขายยาง 3.4 หมื่นล้าน พาณิชย์-เกษตร ในเวลา 3 เดือนกว่า

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ภายหลังร่วมงาน เปิดงาน “Thailand Rubber Expo” นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องยางพาราจะมีอยู่ 2-3 ประเด็นที่จะต้องมีการเร่งรัดดำเนินการ เรื่องที่หนึ่ง คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งขณะนี้ได้มีการ โอนเงินส่วนต่างงวดแรกแล้ว แต่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ดำเนินการจนถึงวันนี้โอนเงินส่วนต่างไปได้ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ที่โครงการประกันรายได้ยางล่าช้าเพราะยังมีการตรวจสวน โดยการยางแห่งประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็ทำให้เกิดความล่าช้า เพราะกำลังการยางมีไม่เพียงพอกว่าจะประชุมคณะกรรมการตรวจสวนยางเสร็จก็ใช้เวลา ล่าสุดจึงได้เชิญรัฐมนตรีเกษตรฯ และสำนักงบประมาณ การยางแห่งประเทศไทย และ ธ.ก.ส. มาหารือร่วมกันได้ข้อสรุปแล้วว่าการยางจะไปปรับระเบียบในการตรวจสวนโดยให้เจ้าของสวนเป็นผู้ยื่น ว่ามีจำนวนกี่ไร่และทำยางชนิดใด แล้วให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่งทำการรับรองและจากนั้นก็ส่งให้การยาง แล้วการยางก็ส่งให้กับ ธ.ก.ส.ก็สามารถโอนเงินส่วนต่างได้ทันที ตรงนี้ก็คาดว่าถ้าจากนี้ไปจะทำให้การโอนเงินมีความรวดเร็วขึ้น รวมทั้งผู้ที่ถือบัตรสีชมพูก็สามารถได้รับเงินส่วนต่างด้วยได้ เพราะได้หารือร่วมกับสำนักงบเรียบร้อยแล้วนี่คือเรื่องประกันรายได้

ประการที่สอง เรื่องการแปรรูปยางพาราหรือการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งก็คือการใช้ยางจากภาคเอกชนซึ่งจะมีคนมาลงทุนเพิ่มเติมขึ้น เมื่อสักครู่มีนักลงทุนจีนแจ้งให้ทราบว่าจะมีการมาลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นในการทำโรงงานผลิตยางจำนวนมากที่จะมาลงทุนล็อตถัดไป อันนี้ถือเป็นข่าวดี รวมทั้งสหกรณ์ ภาคเอกชนต่างๆที่ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมในการใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการที่จะผลิตสินค้าตั้งต้น เหมือนงานเอ็กซ์โปยางวันนี้ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีเกษตร มาเยี่ยมชมและมาเปิดงานก็เห็นความหลากหลายของนวัตกรรมและสินค้าหลากหลายที่ใช้นวัตกรรมมากขึ้น และการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มขึ้น อีกส่วนหนึ่งโดยส่วนราชการตรงนี้คณะรัฐมนตรีเคยมีมติไปก่อนหน้านี้แล้วว่าให้ส่วนราชการเพิ่มการใช้ยางในการทำถนน ทำฝาย ทำวัตถุดิบ ทำสินค้า ที่ใช้เพื่อการจราจรรวมทั้งอื่นๆด้วย ซึ่งอันนี้ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก

“ผมจึงมอบหมายให้ทางท่านรัฐมนตรีเกษตรและการยางได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้สั่งการไปนั้นขณะนี้แต่ละส่วนราชการ ได้ดำเนินการไปถึงไหนอย่างไรมีการผลิตผลิตภัณฑ์อะไร ใช้ยางไปมากน้อยแค่ไหนและจะรายงานให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ หรือพิจารณาสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป เพื่อเพิ่มการใช้อย่างในประเทศ ” นายจุรินทร์ กล่าว

เรื่องที่สาม คือการส่งออกยางอันนี้เป็นเรื่องที่มีการเร่งรัด ผมได้นำคณะเอกชนและการยางแห่งประเทศไทยไปเปิดตลาดในหลายพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จชัดเจนมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะซื้ออย่างจากประเทศไทยเช่นอินเดีย 100,000 ตัน ก็เป็นมูลค่า ประมาณ 9,000 ล้านบาทและที่ตุรกีล็อตใหญ่สุด คือหมอนยางพารา 20 ล้านใบ โดยการยาง 10 ล้านใบ ภาคเอกชน 10 ล้านใบ รวมเป็นมูลค่าทั้งหมด 12,000 ล้านบาท และล่าสุดการยางขายให้กับจีนและฮ่องกงรวม 260,000 ตันเป็นเงิน 13,000 ล้านบาททั้งหมดนี้ รวมกัน 3-4 ประเทศที่ผมเรียนก็ 34,000 ล้านบาท ซึ่งขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการต่อไปก็คือ จะต้องมีการเร่งรัดการส่งมอบเพราะทันทีที่มีการส่งมอบตัวเลขการส่งออกก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งขณะนี้ผมได้ขอให้ภาคเอกชนกระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับภาคเอกชนให้เร่งส่งมอบโดยเร็วตั้งแต่เดือนธันวาเป็นต้นไปและให้การอย่างเร่งส่งมอบสัญญาที่ได้ไปเซ็นเพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออกและจะได้มีผลในการที่จะนำเงินเข้าประเทศมาช่วยเกษตรกรต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดใหม่นอกจาก 30 ประเทศที่ผมเดินทางแล้ว ตะวันออกกลางกับแอฟริกาใต้ ก็จะเป็นเป้าหมาย ผมได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการแล้วและสอดคล้องกับท่านนายกได้มีดำริเมื่อสักครู่ ว่าอยากให้ไปเปิดตลาดที่แอฟริกาใต้ ก็จะไปทริปเดียวกันกับตะวันออกกลาง ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าระหว่างบาห์เรนกับกาตาร์ ตรงไหนที่พร้อมกว่ามีความเหมาะสมกว่า มีลูกค้าที่จะเซ็นสัญญาซื้อขายกับเราได้และถัดไปก็จะต่อไปที่แอฟริกา จะเป็นทริปเดียวกันหวังว่าจะเพิ่มยอดส่งออกเรื่องยางพาราได้อีกไม่น้อยทีเดียว และทันทีที่มีการส่งมอบเปิด เงินก็เข้าประเทศลงเรือผ่านด่านศุลกากรเป็นขั้นตอนกระบวนการตัวเลขการส่งออกก็จะเพิ่มขึ้น สำหรับประกันรายได้ตอนนี้ช้ามาพอสมควร อย่างไรก็ตามสำหรับจีน 60,000 ตัน กับ ฮ่องกง 200,000 ตัน ที่เซ็นต์ ไปและขณะนี้การยางก็กำลังเจรจากับจีนเพิ่มเติมอยู่และจะมีข่าวดีเร็วๆนี้

ถึงคิวชาวไร่ข้าวโพดแล้ว!!ประชุมร่วม 3 ฝ่ายเคาะราคาประกันรายได้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าในวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2562 นี้ นายจุรินทร์ มีกำหนดการเดินทางไปจังหวัดลำปาง ในวาระสำคัญของพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด โดยจะมีการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น 3 ฝ่าย ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชนและเกษตรกร ณ ห้องเอื้องหลวง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในเวลา 15.00 – 17.00 น.

การประชุมระดมความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ที่ต้องการดูแลและช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่กำลังเผชิญปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และข้าวโพดก็เป็นอีกหนึ่งในพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ อันเป็นพืชชนิดที่ 5 ที่ได้มีการพิจารณาราคาประกันรายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการพิจารณาโครงการประกันรายได้ให้กับพืชเศรษฐกิจสำคัญไปแล้ว 4 ชนิด อนึ่ง “โครงการประกันรายได้” นี้ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งต้นหลักคิดโดยยึดประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรเป็นที่ตั้ง เพื่อให้มีหลักประกันในเรื่องราคาพืชผลที่มุ่งเน้นให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอในการดำรงชีพได้

“พีระพันธุ์” ลั่นจะพยายามตรึงค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.67 ไว้ที่ 4.18 บาท/หน่วย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 กุมภาพันธ์ 2567 “พีระพันธุ์” รมว.พลังงาน ยืนยันจะพยายามตรึงค่าไฟงวดหน้าไว้ที่ 4.18 บาท/หน่วย หลังจะต้องปรับอัตราค่าไฟฟ้างวดต่อไป (พ.ค.-ส.ค.) ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของประชาชน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (งวด ม.ค.-เม.ย.) ที่เรียกเก็บหน่วยละ 4.18 บาท จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งทาง กกพ.จะต้องปรับอัตราค่าไฟฟ้างวดต่อไปคือเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ในเร็วๆ นี้ ซึ่งตนพยายามจะคงอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-เดือนสิงหาคม ไว้ในอัตราเดิม คือหน่วยละ 4.18 บาท ให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากได้รับการยืนยันจาก ปตท.สผ.ว่าจะสามารถขุดก๊าซจากอ่าวไทยที่ขาดหายไปจำนวนมากกลับคืนมาได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป และในวันพรุ่งนี้ (28 ก.พ.) ตนเองจะเดินทางไปดูการทำงานของ ปตท.สผ. ที่หลุมขุดเจาะเอราวัณกลางอ่าวไทย เพื่อให้มั่นใจว่า ปตท.สผ.จะสามารถดำเนินการได้ตามที่รับปากไว้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยบวกอื่นๆ อีกหลายปัจจัยที่จะช่วยให้สามารถคงอัตราค่าไฟฟ้าไว้ในอัตราเดิม

“เราเป็นห่วงประชาชน จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของประชาชนซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญลงให้ได้ โดยใช้มาตรการทุกอย่างที่ทำได้ภายใต้โครงสร้างปัจจุบันก่อนที่จะรื้อทั้งระบบภายในปีนี้“ นายพีระพันธุ์ กล่าว

Advertisement

รัฐบาลปลื้มราคาสินค้าเกษตรหลักปรับตัวสูงขึ้น

People unity news online : รัฐบาลยินดีราคาสินค้าเกษตรหลักปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกำชับช่วยเหลือผลผลิตที่ยังมีปัญหา ยืนยันดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2561 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ราคาสินค้าเกษตรหลักหลายชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังซื้อมากขึ้น โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 18,700 บาท เพิ่มจากเดิมตันละ 12,000 – 14,000 บาท เป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 10 ปี ส่วนข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยตันละ 8,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ

นอกจากนี้ มันสำปะหลังราคา กก.ละ 3.20 บาท สูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา กก.ละ 9.5 – 9.7 บาท ราคาหน้าโรงงานสูงกว่า กก.ละ 10 บาท และราคาปาล์มดิบขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 4.20 บาทแล้วฃ

“สาเหตุที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการระบายข้าวที่ตกค้างนานปีจนหมดสต๊อก และยังชนะการประมูลขายข้าวให้กับต่างประเทศ รวมถึงการวางแผนคาดการณ์แนวโน้มตลาด เพิ่มช่องทางการตลาด และส่งออกไปตลาดใหม่ๆ จึงช่วยให้สินค้ามีราคาดีขึ้น”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า รัฐบาลยังได้ผลักดันโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐช่วยร้านโชห่วยที่มีปัญหาให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ และยังใช้เป็นกลไกช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน เพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าทั้งในชุมชนและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ เช่น ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย แม่บ้านมืออาชีพ เป็นต้น

สำหรับการส่งออกสินค้าก็มีข่าวดีด้วยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าถึง 81,780 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี และรัฐบาลมั่นใจว่าจะผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ร้อยละ 8 ภายในปีนี้

“นายกฯ ได้กำชับไว้ว่า ขอให้หน่วยราชการและภาคเอกชนช่วยกันส่งเสริมสินค้าเกษตรที่ยังมีราคาตกต่ำ เช่น สับปะรด ให้มีราคาสูงขึ้น เหมือนกับผลไม้ประเภทอื่น โดยอาจรณรงค์ให้เกษตรกรมีตลาดขายตรงสู่ผู้บริโภค หรือใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมทั้งขอให้เกษตรกรปลูกพืชโดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดและช่วงเวลาที่จะขายด้วย เพื่อไม่ให้สินค้าล้นหรือขาดตลาดทำให้ราคาสินค้าได้รับผลกระทบไปด้วย”

People unity news online : post 25 มิถุนายน 2561 เวลา 08.20 น.

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแจงมีหนี้สาธารณะ 7.8 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 78 ล้านล้านบาท

People Unity News : หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ที่ระดับ 78 ล้านล้านบาท ไม่เป็นความจริง

ตามที่ได้มีการแชร์รูปภาพและเนื้อข่าวว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 สูงถึง 78 ล้านล้านบาท นั้น นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอชี้แจงว่า เนื้อหาข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง  โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 หนี้สาธารณะมีจำนวนทั้งสิ้น 7.8 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับร้อยละ 49.34 ประกอบด้วย หนี้รัฐบาล จำนวน 6.73 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 795,980 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 309,472 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,821 ล้านบาท ทั้งนี้ หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง จำนวน 6.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.40 ของ GDP สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ใช้แหล่งเงินอื่นมาชำระหนี้ จึงไม่เป็นภาระต่องบประมาณ

ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงการคลังได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ปี 2564 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังซึ่งกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ทั้งนี้ การเจตนานำเข้า เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือน ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

Advertising

“ชาติชาย” เผย ธ.ออมสินจะก้าวสู่ “The Best & Biggest Local Bank in Thailand” ในปี 61 นี้

People unity news online : ธนาคารออมสิน เผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 13,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1 เท่าตัว เพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยและสินเชื่อใหม่เกือบ 150,000 ล้านบาท เป้าหมายปี 2561 มุ่งสู่ “The Best & Biggest Local Bank in Thailand” เป็นธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อสังคม – ธนาคารเพื่อรายย่อย – ธนาคารผู้นำด้านดิจิทัล – ธนาคารเพื่อผู้สูงวัย – ธนาคารเพื่อคนรุ่นใหม่ และ SMEs Start Up

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคารออมสิน ช่วง 3 เดือนแรก ของปี 2561 (1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2561) ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 13,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,178 ล้านบาท ที่สำคัญมาจากกำไรจากการขายหุ้นสามัญและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดย 3 เดือนแรกมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ถึง 149,303 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 2,059,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45,058 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 จากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 2,014,123 ล้านบาท ทั้งนี้ เกิดจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ โดยมาตรการของรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยให้สินเชื่อขยายตัวได้ เป็นการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภท ได้แก่ สินเชื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจ SMEs สินเชื่อธนาคารประชาชน และสินเชื่อธุรกิจห้องแถว เป็นต้น

ด้านเงินฝาก ไตรมาส 1 อยู่ที่ 2,172,538 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2560 ที่ธนาคารมียอดเงินฝากสูงเป็นอันดับ 1 ในระบบสถาบันการเงิน จากเงินฝากครบกำหนด แต่ธนาคารมีแผนระดมเงินฝากทั้งเงินฝากสลากออมสินและเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ๆที่ตอบสนองความต้องการของผู้ออมเงินออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2,620,862 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2560 จำนวน 42,966 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.61 ซึ่งเป็นไปตามกรอบทิศทางธนาคาร

ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขตามลำดับความสำคัญ การเจรจาไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ โดยธนาคารได้ทยอยเปิดศูนย์ย่อยควบคุมและบริหารหนี้ทั่วประเทศจำนวน 80 ศูนย์ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 45,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.19 ของสินเชื่อรวม ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์

“ความร่วมมือร่วมใจกันของผู้บริหารและพนักงาน ส่งผลให้ธนาคารมีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและพันธมิตร รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งการันตีจากการยกย่องและได้รับมอบรางวัลต่างๆมากมาย อาทิ รางวัลสำหรับสถาบัน Best Retail Bank of the Year 2017, รางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย, รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2560 รวมถึงรางวัลล่าสุดที่เพิ่งได้รับ คือ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ  ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประเทศที่ได้รับรางวัลนี้ นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กร ที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

นายชาติชาย กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 นี้ ได้มุ่งเป้าหมายสู่การเป็น The Best & Biggest Local Bank in Thailand “ธนาคารที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด” โดยมุ่งเน้นลูกค้าใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้าฐานราก/นโยบายรัฐ มุ่งเน้น กลุ่มผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้มีหนี้นอกระบบ และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก หรือ พ่อค้า-แม่ค้า 2.กลุ่มลูกค้าบุคคล มุ่งเน้น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง กลุ่มผู้สูงวัย และ 3.กลุ่มลูกค้า SMEs มุ่งเน้น กลุ่ม SMEs Start Up

สำหรับกลุ่มฐานรากและนโยบายรัฐนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารได้เข้าไปสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มประชาชนฐานรากอื่นๆ โดยธนาคารจะยกระดับให้ประชาชนก้าวพ้นจากความยากจนด้วยกลไก 3 สร้าง ได้แก่ 1.สร้างรายได้/อาชีพ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน โดยการจัดทำหลักสูตรอบรมพัฒนาอาชีพร่วมกับ 17 มหาวิทยาลัย, โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 84 ชุมชน, พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์  2.สร้างตลาด ด้วยการจัดตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์, ตลาดประชารัฐสีชมพู, ร้านค้าประชารัฐ, Thailand Street Food, e-Market Place ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 3.สร้างประวัติทางการเงิน ด้วยการส่งเสริมการรับชำระเงินผ่าน QR Payment (MyMo Pay และ GSB Pay) โดยได้ดำเนินการติดตั้งคิวอาร์โค้ดไปแล้วกว่า 26,000 ร้านค้า พร้อมกันนี้มีการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เช่น สินเชื่อ Street Food สินเชื่อผู้รับสิทธิ์สวัสดิการรัฐ สินเชื่อ Home Stay สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ ตลอดจนการให้ออมก่อนกู้

ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ธนาคารออมสินได้ปลูกฝังการออมตั้งแต่เยาว์วัย ธนาคารได้ยกระดับธนาคารโรงเรียน สู่ Virtual School Bank ซึ่งจะจูงใจให้นักเรียน กลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้รับความรู้ความเข้าใจและออกแบบการออมด้วยตัวเองได้ในโลกเสมือนจริง ที่สำคัญถือเป็นครั้งแรกที่จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในยุค Digital Banking 4.0 ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.gsbschoolbank.com ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าไปเรียนรู้กันมากขึ้น และยังมีโครงการต่างๆอีกมากมายครอบคลุมทุกมิติของการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยสู่ความเป็นเลิศทัดเทียมสากล ทั้งด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมความมีคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงโครงการ GSB Generation ที่เน้นกิจกรรมตอบโจทย์ Life Style คนรุ่นใหม่

ขณะที่ กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง ธนาคารจะนำเสนอและส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ล้ำสมัย ด้วยบริการ Digi-Thai Life Solution ผ่านบริการ Mobile Banking ในชื่อ MyMo ของธนาคารออมสิน บริการธุรกรรมออนไลน์ฟรีค่าธรรมเนียม, MyMo My Life ครบทุกความต้องการในแอพเดียว ทั้งด้านเงินฝาก สินเชื่อ ลงทุน และประกันชีวิต, Market Place ธุรกิจใหม่บนมือถือรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่, QR Payment รับ-จ่ายแบบไร้เงินสด ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในอนาคต

นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยนั้น ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ประกาศความพร้อมในการดูแลผู้สูงวัย รองรับการก้าวเข้าสู่ Aging Society ของประเทศ ด้วยการเปิดตัวธนาคารผู้สูงวัย เมื่อต้นปี 2560 เพื่อให้บริการทางการเงินที่เหมาะกับผู้สูงวัย ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อ Reverse Mortgage ที่ธนาคารเปิดให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้อย่างมั่นคง ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง พร้อมกับการสร้างรายได้/อาชีพ ส่งเสริมการออม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

ส่วน กลุ่ม SMEs Start Up จะมุ่งเน้นพัฒนา SMEs ให้มีนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ตั้งแต่หากลุ่มเป้าหมาย จัดโปรแกรมอบรมและพัฒนา ไปจนถึงการให้สินเชื่อและการร่วมลงทุน สำหรับในกลุ่ม SMEs นั้น ธนาคารได้ขยายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs ทั่วประเทศเพิ่มเติมจาก 18 ศูนย์ ในปี 2560 เป็น 37 ศูนย์ ในเดือนมีนาคม 2561 และจะครบตามเป้าหมาย 82 ศูนย์ ในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการอนุมัติสินเชื่อและดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึง

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ธนาคารพาณิชย์มีทิศทางการปิดสาขามากขึ้นเพื่อลดต้นทุนนั้น ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสาขา 1,059 แห่ง จะไม่มีการปิดสาขา แต่จะปรับรูปแบบสาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุนของสาขา ได้แก่ ปรับบทบาทพนักงานบริการให้เป็นพนักงานขายมากขึ้น, เพิ่มเครื่องให้บริการอัตโนมัติ (Self Service Zone), เพิ่มพื้นที่การขายภายในสาขาทั้งการขายโดยการปรับบทบาทของพนักงานและการร่วมกับพันธมิตร, เปิดสาขาที่เป็น Flagship และสาขา Digital เต็มรูปแบบ รวมถึงบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้เสมือนหนึ่งการให้บริการของสาขา

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว ธนาคารได้มีการปรับเปลี่ยนภายในองค์กร (Internal Change) โดยเพิ่มหน่วยงานใหม่เพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ล้ำสมัย รองรับการเป็น Digital Banking และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการจับมือคู่ค้าพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจ อาทิ กลุ่มฟินเทค กลุ่มอีคอมเมิร์ซ เป็นต้นรวมถึงการพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆจากการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับ Start Up ที่มีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Management), ธุรกิจติดตามและประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะ (Monitoring & Analytics), ธุรกิจบริหารจัดการโปรแกรมสะสมแต้ม (Loyalty Program Card), หนังสือ/นิตยสารออนไลน์ (Online Book and Magazine), การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เป็นต้น

“การมุ่งไปสู่ The Best & Biggest Local Bank in Thailand นั้น ธนาคารมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุม มุ่งมั่นให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนได้เข้าถึงทุกๆพื้นที่ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรที่สอดรับกับ Life Style ของลูกค้าในยุคดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Digi-Thai Life Solution” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

People unity news online : post 7 พฤษภาคม 2561 เวลา 22.10 น.

ศุลกากรดีเดย์เปิดลงทะเบียนออนไลน์ให้ผู้นำเข้า-ส่งออกด้วยระบบ Customs Trader Portal

พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร

People Unity News : วันนี้ (1 กรกฎาคม 2564) กรมศุลกากรได้เปิดระบบ Customs Trader Portal ให้ผู้นำเข้า- ส่งออก และยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ทันที สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรและธนาคารกรุงไทยได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบลงทะเบียนออนไลน์ Customs Trader Portal และยืนยันตัวตนผ่านธนาคารกรุงไทยทุกสาขา ตู้เอทีเอ็มและแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้นำเข้าบุคคลธรรมดาที่สั่งของมาใช้เอง หรือนำมาจำหน่าย หรือเป็นสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่นๆ ไม่ต้องเดินทางมาที่จุดบริการศุลกากรหรือไม่ต้องให้ตัวแทนนำบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางตัวจริงมาแสดงที่จุดบริการศุลกากร ทำให้สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ออกประกาศฯ ที่ 94/2564 เรื่อง การลงทะเบียนผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร เพื่อรองรับระบบดังกล่าว

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ลงทะเบียนออนไลน์ในระบบ Customs Trader Portal สามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่ https://www.customstraderportal.com และเมื่อลงทะเบียนในระบบเรียบร้อย ท่านสามารถยืนยันตัวตนผ่านธนาคารกรุงไทยได้  3 ช่องทาง ได้แก่ 1. แอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถยืนยันตัวตนได้ทันที โดยเข้าไปที่เมนูยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ 2. ตู้ ATM สีเทาของกรุงไทย 3,300 เครื่องทั่วประเทศ 3. สาขาของธนาคารทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง โดยเปิดให้บริการวันนี้ (1 กรกฎาคม 2564) เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลการใช้งานระบบ Customs Trader Portal ได้ที่ฝ่ายทะเบียนผู้นำเข้าและส่งออก กรมศุลกากร โทร. 02-667-6488 หรือ 02-667-7802 หรือที่ www.customstraderportal.com และสอบถามข้อมูลการยืนยันตัวตนได้ที่ Krungthai Contact Center 02-111-1111

Advertising

 

Verified by ExactMetrics