วันที่ 29 เมษายน 2024

“จุรินทร์”รุดหารือผู้นำเข้าข้าวไทยรายใหญ่ในอเมริกา

People Unity News : “จุรินทร์”รุดหารือผู้นำเข้าข้าวไทยรายใหญ่ในอเมริกา เน้นมาตรฐานและเพิ่มยอดส่งออกด้วยคุณภาพข้าวระดับพรีเมี่ยม  

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 พ.ย.2562 ตามเวลาท้องถิ่นลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าข้าวจากประเทศไทยเพื่อจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเข้าพบหารือแลกเปลี่ยนถึงอุปสรรคปัญหาและโอกาสการพัฒนาการค้าเพิ่มปริมาณการส่งออกจากประเทศไทย โดยใช้เวลาหารือกว่า 2 ชม. ตัวแทนผู้ประกอบการที่สหรัฐอเมริการายใหญ่ร่วม 13 ราย เช่น Otis MaAllister,Inc. ,Sun Lee , Asian Trading Corp, Vinh-Sanh Trading &First World, U.S Trading Co., N.A Trading, H.C Food , Chayothai LLC, American Commercial Transportation เป็นต้น

นายจุรินทร์กล่าวขอบคุณผู้ประกอบการทั้งหมดที่หลายรายเดินทางมาจากรัฐไกลๆ เพื่อมาเข้าพบหารือที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอเร์นีย เป็นการให้ความสำคัญต่อการหารืออย่างยิ่ง โดยปัจจุบันนี้ข้าวไทยส่งออกสหรัฐอเมริกาปีละประมาณ 500,000 ตัน โดยเฉพาะข้าวหอมมะลินั้นถือว่าอเมริกาเป็นตลาดสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย

และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ สหรัฐอเมริกานำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.92 ไทยให้ความสำคัญกับตลาดสหรัฐและการผูกสัมพันธ์กับผู้นำเข้าข้าวและผู้ค้าข้าวมากประกอบกับราคาข้าวหอมมะลิไทยในช่วงนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งการมาเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้รู้จักผู้นำเข้าเพื่อขอทราบสถานการณ์ตลาดและแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมการขายตลาดข้าวไทย

ปัจจุบันการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายข้าวหอมมะลิไทยร่วมกับผู้นำเข้าและห้างซูเปอร์มาร์เก็ตสำคัญทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญ การประชาสัมพันธ์ผ่านสถาบันสอนทำอาหาร การเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย การร่วมกับร้านอาหารไทยประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิและอื่นๆ เป็นต้น

“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญคู่ค้าทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่นำเข้าข้าวและสินค้าอาหารจากไทยมาอย่างยาวนาน ทางกระทรวงพาณิชย์ก็พร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ค้าทุกราย และหวังว่าจะมีโอกาสต้อนรับเสมอ จากนี้ไปเราจะเน้นการทำตลาดและทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการบริโภคข้าวไทยให้เป็นข้าวพรีเมี่ยม เป็นข้าวคุณภาพดี” นายจุรินทร์กล่าว

รัฐบาลแจงให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมส่งผลดีในอนาคต

People unity news online : รัฐบาลแจงเหตุผลกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม ย้ำเป็นเพียงมาตรการป้องกันปัญหาด้านราคาในอนาคต ชี้ปัจจุบันการซื้อขายยางยังปกติ วอนทุกฝ่ายเข้าใจให้ถูกต้อง

วันนี้ (17 มกราคม 2561) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายดังกล่าว ว่า โดยปกติแล้วหากสินค้าใดเป็นสินค้าควบคุม จะทำให้กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือติดตามดูข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับสินค้านั้นได้ เช่น ตรวจสอบราคาทุน ราคาซื้อ ราคาขาย ฯลฯ พร้อมทั้งกำหนดให้มีมาตรการที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หรือบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย

ดังนั้น การกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลเตรียมการไว้สำหรับแก้ไขปัญหาราคายางพาราในอนาคต หากเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับผู้ผลิต เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้บริโภค หรือผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายยางพาราเท่านั้น

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยอยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมทั้งย้ำว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้ยางพาราในส่วนราชการต่างๆมากขึ้น และสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ได้แปรรูปยางพาราไปใช้ในกิจการอื่นๆ รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการไว้ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาในวันข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทุกฝ่าย

“ปัจจุบันการซื้อขายยางพารายังคงเป็นไปตามปกติ โดยกระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ยังไม่มีการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับยางพาราแต่อย่างใด นอกจากนี้ คณะกรรมการกลางฯมีหน้าที่ต้องพิจารณาทบทวนรายการสินค้าควบคุมทุกๆ 1 ปี เพื่อดูว่าสินค้าแต่ละรายการยังสมควรเป็นสินค้าควบคุมอีกต่อไปหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็น ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาถอดสินค้านั้นออกจากรายการสินค้าควบคุมได้”

People unity news online : post 17 มกราคม 2561 เวลา 09.30 น.

ประยุทธ์ สั่งเร่งผลักดันท่องเที่ยว “Wellness Tourism – Medical Tourism” รองรับท่องเที่ยวยุคโควิด

People Unity News : ประยุทธ์ สั่งเร่งผลักดันการท่องเที่ยว “Wellness Tourism – Medical Tourism” รองรับการท่องเที่ยวยุคโควิด-19

30 พ.ย.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น

มุ่งเน้นการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว และต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับกลยุทธ์ของภาคการท่องเที่ยวที่สอดรับกับมาตรการสาธารณสุข

จากข้อสั่งการดังกล่าว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เตรียมแนวทางส่งเสริมและการขยายการท่องเที่ยวในรูปแบบ Medical Tourism (การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์) และ Wellness Tourism (การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ)

จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าสูง หรือมีค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่สูงแทน (ค่าใช้จ่ายต่อหัว 80,000 – 120,000 บาท) เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในปี 2565

ส่วนนโยบายด้านสาธารณสุขนั้น จะดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ. 2560 – 2569” โดยสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพให้กับนักท่องเที่ยว แนวนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว จะช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชนที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยว ยืนยัน รัฐบาลพร้อมแก้ไขปัญหาและวางแผนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นอย่างเต็มที่

Advertising

Fitch ปรับอันดับความน่าเชื่อถือต่อไทยดียิ่งขึ้น ผลจากได้รัฐบาลพลเรือนและบาทสุดแกร่ง

People Unity : Fitch ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาว จากระดับ “มีเสถียรภาพ (Stable outlook)” เป็น “เชิงบวก (Positive outlook)”

19 กรกฎาคม 2562 : กระทรวงการคลังรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (Fitch) ว่า ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2562 Fitch ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวจากระดับ “มีเสถียรภาพ (Stable outlook)” เป็น “เชิงบวก (Positive outlook)” และคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวที่ระดับ BBB+ ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะสั้นที่ระดับ F1 และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ A-

(1) ประเทศไทยได้รับการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือ เป็นผลมาจากปัจจัยหลักกล่าวคือ Fitch มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นว่าความเสี่ยงทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยสะท้อนจากความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศ (External Finance) และภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ประเทศไม่อ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงิน ในขณะที่ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญได้รับการแก้ไขภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงมีอยู่โดยขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลผสม

(2) ความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศของไทยเป็นจุดแข็งหลักต่อความน่าเชื่อถือของประเทศสะท้อนได้จากการที่สกุลเงินบาทไทยแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าร้อยละ 4.5 เนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนและการลงทุนในตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเดือนมิถุนายน 2562

(3) Fitch คาดการณ์ว่าภาคการเงินต่างประเทศของไทยจะยังคงเข้มแข็ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (กลุ่ม BBB) ที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2562 และร้อยละ 4.9 ในปี 2563 ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการเกินดุลการค้า แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงก็ตาม อย่างไรก็ดี Fitch คาดการณ์ว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประกอบกับเงินทุนที่ไหลเข้ามานั้นส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 205,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 เป็นประมาณ 216,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 นอกจากนี้ สัดส่วนการเป็นเจ้าหนี้สุทธิกับต่างประเทศต่อ GDP ที่ร้อยละ 43 ในปี 2562 สูงกว่าค่ากลางสัดส่วนการเป็นลูกหนี้สุทธิต่อ GDP ของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (กลุ่ม BBB) ที่ร้อยละ 7 ตามประมาณการของ Fitch รวมถึงสูงกว่าค่ากลางสัดส่วนการเป็นเจ้าหนี้สุทธิของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A ที่ร้อยละ 9.7

(4) รัฐบาลบริหารทางการคลังได้อย่างเข้มแข็งภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 Fitch คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีงบประมาณ 2561 เป็นร้อยละ 40.7 ในปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากรัฐบาลเร่งการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

(5) การขาดดุลงบประมาณของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกันแล้วถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดย Fitch คาดการณ์ว่าการขาดดุลภาครัฐบาล (General government deficit) ตามมาตรฐาน Government Finance Statistics (GFS) จากที่เกินดุลที่ร้อยละ 0.1 ของ GDP ในปลายปีงบประมาณ 2561 เป็นขาดดุลที่ร้อยละ 0.2 ของ GDP ในปี 2562 ในขณะที่การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะล่าช้าไป 3 เดือน อย่างไรก็ตาม Fitch คาดการณ์ว่า การขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP เนื่องจากรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการเพื่อผู้มีรายได้น้อยและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นช่วยคลี่คลายความไม่แน่นอนทางการเมืองและมีส่วนช่วยสนับสนุนความต่อเนื่องของนโยบายที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน Fitch คาดการณ์ว่าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะปานกลาง

(6) อย่างไรก็ดี Fitch จะติดตามสถานการณ์สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย ได้แก่ ระดับหนี้ครัวเรือนของไทย การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย และการพัฒนาทุนมนุษย์

เศรษฐกิจ : Fitch ปรับอันดับความน่าเชื่อถือต่อไทยดียิ่งขึ้น ผลจากได้รัฐบาลพลเรือนและบาทสุดแกร่ง

People Unity : post 19 กรกฎาคม 2562 เวลา 23.11 น.

ครูเป็นหนี้ 9 แสนคน 1.4 ล้านล้านบาท ลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นคน ชวนร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ช่วงปิดเทอม

People Unity News : 17 กันยายน 2565 รองโฆษกรัฐบาลเผยความคืบหน้าแก้หนี้ครู ลงทะเบียนกว่า 4 หมื่นคน รวมมูลหนี้ 5.8 หมื่นล้านบาท ลดดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ ชวนร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู

วันนี้ (17 กันยายน 2565) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลตั้งเป้าให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างต่อเนื่อง สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันพบว่ามีครูกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท รวมทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันการเงินอื่นๆ

นางสาวรัชดา กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูว่า ภาพรวมได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไปแล้ว ดังนี้

ลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลงเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ลูกหนี้ได้รับประโยชน์กว่า 4 แสนราย รวมภาระหนี้สินที่ลดลงกว่า 2.2 พันล้านบาท

ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการรวมหนี้มาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หรือสถาบันการเงิน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชําระต่อเดือนน้อยลง และเหลือเงินเดือนหลังหักชําระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30

กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค) ในกลุ่มแรก (ร้อยละ 70 ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 3.6 แสนราย ที่ใช้ ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ ส่งผลให้ครูไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำประกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 2.3 พันล้านบาท

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครูผ่านสถานีแก้หนี้ 588 แห่งทั่วประเทศนั้น นางสาวรัชดา กล่าวว่า ขณะนี้ มีครูลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นกว่าคน มูลค่าหนี้รวมกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท สามารถแก้ปัญหาหนี้ไปแล้ว 11,090 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ลงทะเบียน ส่วนที่เหลือ กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ “ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” เป็นเวทีกลางเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นำร่องที่จังหวัดกำแพงเพชร เริ่ม 4 ตุลาคม 2565 นี้ ก่อนขยายผลจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศต่อไป

Advertisement

ธอส.ช่วยชาวใต้น้ำท่วมด้วย 7 มาตรการทั้งพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม/สร้าง จ่ายค่าสินไหมด่วน

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือชาวใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2563” ประกอบด้วย 1) ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก 2) ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก 3) ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน ดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด 4) ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ย 1% ต่อปี 5) เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี 6) ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร และ 7) พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ จ่ายค่าสินไหมเร่งด่วน และกรณีกรมธรรม์เริ่มคุ้มครองตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี ติดต่อขอใช้มาตรการถึง 30 ธันวาคม 2563

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ได้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก หลังจากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจนมีผลให้ที่อยู่อาศัยเกิดความเสียหายและประชาชนได้รับผลกระทบในด้านการประกอบอาชีพ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” จึงพร้อมบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2563” (กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท) โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้นกรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี

สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าตรวจสอบหลักประกันค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ปี 2563” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์(Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

Advertising

“สมคิด” สั่งรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่อง รักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 62

People unity : “สมคิด” ให้รัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2562

วันนี้ (13 มีนาคม 2562) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดสัมมนาผู้บริหารสูงสุดรัฐวิสาหกิจ หรือ “SOE CEO Forum” ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้บริหารสูงสุด (CEO) ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง เข้าร่วมการสัมมนา SOE CEO Forum ในครั้งนี้ ซึ่ง SOE CEO Forum เป็นการสัมมนาที่ได้จัดให้มีอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารนโยบายต่างๆ รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง CEO ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ระหว่างกัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความสำคัญของรัฐวิสาหกิจในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2558 – 2561 อัตราการเติบโตของ GDP ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมากจนทำให้ปี 2561 ประเทศไทยมี GDP เท่ากับ 4.1% จากที่ในปี 2557 ที่ GDP เติบโตต่ำกว่า 1% จากการลงทุนและการดำเนินโครงการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลของรัฐวิสากิจ

ทั้งนี้ นายสมคิด ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้

1.สานต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนใน EEC และการพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนตามภารกิจ

2.เร่งรัดสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้สามารถสนับสนุนการดำเนินการตามภารกิจ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการสาธารณะแก่ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งลงทุนและพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

3.เร่งการพัฒนาการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากขึ้น และให้มีการใช้ข้อมูลที่มีร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆแก่ประชาชน

4.ร่วมมือกันให้มากขึ้นในการพัฒนาการทำงาน ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน มีการแบ่งปันความรู้และทรัพยากรและสร้างนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ

5.ขอให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพพิจารณาสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถต่อยอดในการพัฒนางานต่างๆของรัฐวิสาหกิจ

ด้าน นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. เปิดเผยว่า ในการสัมมนา SOE CEO Forum ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้ CEO ของรัฐวิสาหกิจรับทราบสถานการณ์ต่างๆในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมต่อความท้าทายปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจเสนอแนะและให้ความเห็นต่อการพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ โดยที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจถือเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการลงทุน การดำเนินนโยบายรัฐบาล และการนำส่งรายได้แผ่นดิน รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 รัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์รวมจำนวน 15 ล้านล้านบาท เติบโต 25% จากปี 2556 และมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 4 แสนล้านบาท เติบโต 21% ทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถนำส่งรายได้แผ่นดินสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23% จากปี 2556 นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจยังเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนภาครัฐ โดยในปี 2561 รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบลงทุน 3.8 แสนล้านบาท เติบโต 70% จากปี 2556 อีกทั้งรัฐวิสาหกิจได้ดำเนินโครงการที่สำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นให้แก่เศรษฐกิจของประเทศด้วย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) การสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ และการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 มีความท้าทายต่อการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ อาทิ เรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง สงครามทางการค้า รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของประชาชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝากให้รัฐวิสาหกิจร่วมมือกันและเตรียมความพร้อมต่อความท้าทายต่างๆ โดยให้ใช้ Technology และ Big Data ให้มากขึ้น เพื่อให้ยังคงเป็นกำลังสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อไปได้ และให้ สคร. สนับสนุนการทำงานของรัฐวิสาหกิจในเชิงรุกอย่างเต็มที่ในฐานะ Active Partner

เศรษฐกิจ : “สมคิด” สั่งรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่อง รักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 62

People unity : post 13 มีนาคม 2562 เวลา 21.40 น.

“จุรินทร์”นำทำ MOU ธุรกิจตุรกี-ไทย วันเดียวยอด 3,512 ล้าน

People Unity News : “จุรินทร์”นำทำ MOU ธุรกิจตุรกี-ไทย วันเดียวยอด 3,512 ล้าน สินค้ายางพารา-ข้าว-มันสำปะหลัง-อาหาร

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติภารกิจในการเยือนกรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี โดยเป็นประธานการลงนามข้อตกลง หรือ MOU ในกลุ่มสินค้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ สินค้าอาหาร ระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกี พร้อมกล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ เพราะตุรกีถือเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่มีประชากรมากถึง 80 ล้านคนมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในแต่ละปีมากกว่า 40 ล้านคนและที่สำคัญตุรกีตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าที่มีความสำคัญเป็นประตูสู่ 3 ทวีป คือทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาสามารถเชื่อมต่อการค้าได้ทั้งทางด้านเหนือ-ใต้-ตะวันตก-ตะวันออก

และนอกจากนั้นก็ยังมีความสำคัญทางการค้ากับตะวันออกกลางด้วย ตุรกีจึงเป็นตลาดที่ประเทศไทยเห็นว่ามีศักยภาพ และตุรกีเป็นตลาดที่มีความสำพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยและประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยนั้นก็ถือว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบในภูมิภาคเอเชียนั้นก็คือสามารถที่จะเป็นประตูไปสู่ทวีปเอเชียได้มีเส้นทางการค้าที่สะดวกเชื่อมต่อไปยัง จีนอินเดีย และอาเซียน ซึ่งนักธุรกิจทั้งไทยตุรกีสามารถใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงสภาพภูมิศาสตร์ให้เป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ

เพื่อให้เป็นประตูการค้าระหว่างกันที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งประเทศไทยและตุรกีกำลังมีการเจรจา FTAระหว่างกัน ซึ่งผมได้คุยกับท่านปลัดตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเห็น FTA ไทย ตุรกีเสร็จในกลางปีหน้า ซึ่งการทำ FTA นั้นแม้ว่าทั้งไทยและตุรกีจะมีศักยภาพในอุตสาหกรรมเดียวกันและมีความใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร แต่ว่า FTA จะส่งผลให้การค้าทั้งไทยและตุรกีนั้นมีความเกื้อกูลกันมากกว่าที่จะแข่งขันกันเอง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผลที่คาดหวังหลังจากเอฟทีเอไทยตุรกีเสร็จสิ้นคาดว่าในปี 2565 การค้าระหว่างไทยตุรกีจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับรัฐบาลไทยขอเรียนให้ทราบว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสินค้ายางพาราเป็นอย่างยิ่งเพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกยางพารารายสำคัญของโลกสินค้ายางพาราไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งสอดรับกับที่ตุรกีเป็นประเทศนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางรายสำคัญของโลกจึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือกันยกระดับตัวเลขการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

นอกจากยางพาราแล้วรัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นๆไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง และอาหาร ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดตุรกี ขณะเดียวกันประเทศไทยก็พร้อมที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรของตุรกีเข้าสู่ประเทศไทยเช่นเดียวกันการเยือนธุรกิจครั้งนี้ผมได้นำนักธุรกิจทั้งจากส่วนของนักธุรกิจด้านยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง และอาหาร มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้และมาร่วมลงนาม MOU พร้อมทั้งพบปะทำ Bisiness Networking เพื่อทำธุรกิจการค้าให้ขยายตัวต่อไปอย่างเป็นรูปประธรรมมากยิ่งขึ้น

“หวังว่าการทำกิจกรรมทั้งสองอย่างในวันนี้จะสำเร็จด้วยดีและเกิดประโยชน์กับการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศอย่างที่คาดการณ์ไว้ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณนักธุรกิจชาวตุรกีทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่ามาร่วมงานในวันนี้เชื่อว่างานในวันนี้จะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจของทั้งสองประเทศได้มีโอกาสพบปะทำความรู้จักแสดงศักยภาพของกันและกันเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจและก้าวหน้าไปพร้อมกันอันจะนำไปสู่การขยายโอกาสทางการค้าใหม่ใหม่และยกระดับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่าสำหรับการลงนามข้อตกลง หรือ MOU ในกลุ่มสินค้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ สินค้าอาหาร ระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกี ประกอบด้วย ผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไทย บริษัทไทยฮั้ว จำกัด(มหาชน) กับ บริษัท KOLSAN TYPE ,ผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไทย บริษัทไทยฮั้ว จำกัด(มหาชน) กับ บริษัท Sayeste Kaucak ,การยางแห่งประเทศไทย กับ Turkish Rubber Association การยางแห่งประเทศไทย กับ REP Kaucak ,ผู้ส่งออกข้าวไทย บริษัท โตมี อินเตอร์เทรด จำกัด กับ บริษัท Dervisoglu ,ผู้ส่งออกข้าวไทย บริษัท เอส อินเตอร์ ไรซ์ จำกัด กับ บริษัท Harbiyeli ,ผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย บริษัท SB Premier Product จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific ,ผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย บริษัท Chaiyong Agricultural Silo จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific ,ผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย บริษัท Thong Tapioca (1999)จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific และ ผู้ส่งออกไทย บริษัท สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด กับ บริษัท Dolfin Gida

โดยรวมยอดเฉพาะช่วงเช้าวันนี้ (16พย.2562) ทั้งยางพารา 60,000 ตัน มูลค่า 2,727 ข้าว 6,000 ตัน มูลค่า 85 ล้านบาท และมันสำปะหลัง 150,000 ตัน มูลค่า 650 ล้านบาท ละซอลปรุงรส 10 ล้านบาท รวม มูลค่าเบื้องต้น 3,512 ล้านบาท

จากนั้นเวลา 11.20 – 12.00 น. เวลาท้องถิ่น กรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี (ห่างจากประเทศไทย 4 ชม.) นายจุรินทร์ พบปะภาคเอกชนในกิจกรรม Business Networking อีกกว่า 15 ราย เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทย และอุตสาหกรรมยางพาราและอาหารของไทย และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกี

“คลัง”เผยวันหยุดยาวนักท่องเที่ยวใช้เงิน “ชิมช้อปใช้” สะพัด

People Unity News : “คลัง”เผยวันหยุดยาวนักท่องเที่ยวใช้เงิน “ชิมช้อปใช้” สะพัด ยอดสะสมกว่าหมื่นล้านบาท ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตรงตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังได้แนะนำมาตรการ “ชิมช้อปใช้” พร้อมรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงสิ้นปี และไม่ควรกระจุกตัวเฉพาะเพียงเมืองหลัก แต่ควรกระจายออกสู่เมืองรองด้วย พร้อมยืนยันร้านค้าและผู้ประกอบเข้าร่วมโครงการ “ชิมช้อปใช้” ราว 180,000 ร้านค้า กระจายอยู่ 77 จังหวัดทั่วทั้งประเทศ

นายชาญกฤช กล่าวอีกว่า ในช่วงวันหยุดยาว 2-5 พ.ย. 62 เป็นระยะเวลา 4 วันติดต่อกันสำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปัญหาการจราจร รองรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน พี่น้องประชาชนให้การตอบรับการรณรงค์ท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นอย่างดี

อีกทั้ง ยอดการจับจ่ายใช้สอยผ่านแอ็ป “เป๋าตัง” ทั้งกระเป๋า 1 และกระเป๋า 2 ก็ดีเกินคาด เม็ดเงินทยอยไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากทะลุหมื่นล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และเป็นที่น่าสังเกตว่าพี่น้องประชาชนเริ่มใช้จ่ายเงินผ่านแอ็ป “เป๋าตัง” และผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงวิสาหกิจชุมชนก็สามารถรับเงินผ่านแอ็ป “ถุงเงิน” คล่องแคล่วมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยยอดการใช้จ่าย ชิมช้อปใช้ ณ วันที่ 3 พ.ย.62 มียอดการใช้จ่ายรวม 10,667.3 ล้านบาท แบ่งเป็น ร้านชิม 1,460.1 ล้านบาท ร้านช้อป 6,171.7 ล้านบาท ร้านใช้ 141.7. ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป 2,893.8 ล้านบาท

กระทรวงการคลังขอย้ำว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการ “ชิมช้อปใช้” มี 3 ประการ คือ 1. ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนรับรู้และเข้าใจนิยามของคำว่า “สังคมไร้เงินสด” ในทางปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การค้าขายในสังคมยุคดิจิทัล 2. ส่งเสริมสถาบันครอบครัว เพราะพ่อ แม่ ลูก จะมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นผ่านการท่องเที่ยว และ 3. กระจายเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศผ่านร้านค้ารายย่อยและวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง โดยจะเพิ่มมากขึ้นแบบเป็นนัยยะในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของฤดูการท่องเที่ยว

“จากการลงพื้นที่ติดตามผลอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่พบว่า ร้านค้ารายย่อยและวิสาหกิจชุมชนสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างน้อย 30 เปอร์เซนต์ และบางพื้นที่ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 100 เปอร์เซนต์ แสดงว่าเงินสามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ก่อให้เกิดการหมุนเวียน และกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง” นายชาญกฤชกล่าว

นางวิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า เมื่อรวมยอดผู้ลงทะเบียนโครงการ “ชิมช้อปใช้” ทั้งเฟส 1 และ 2 มีประชาชนร่วมลงทะเบียน 13 ล้านคน นับว่าเป็นกลุ่มที่มีพลังงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการหยุดยาว 4 วัน ช่วงประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แม้ประชาชนยังเน้นใช้เงินผ่านกระเป๋า 1 เมื่อใช้เงินเพียงบางส่วนในกระเป๋า 1 แล้ว วงเงินที่เหลือ ยังทยอยใช้ได้จนถึงเดือนธันวาคม ส่วนกระเป๋า 2 ขั้นตอนการเติมเงินไม่ยุ่งยาก เพราะในแอ็บเป๋าตัง จะมีแถบการใช้สิทธิ์สองแถบ คือ กระเป๋า 1 ใช้สิทธิ์รับเงิน 1,000 บาท ส่วนกระเป๋า 2 เข้าไปในปุ่มสีส้ม กดเข้าไปจะได้รับ QR Code หรือได้รับ G-Wallet ID จากนั้นให้แคปหน้าจอ QR Code เพื่อเติมเงินในกระเป๋า 2 นอกจากนี้ ธ.กรุงไทยยังเปิดให้เติมเงินผ่านตู้ ATM เพื่อนำเงินกระเป๋า 2 ออกไปใช้จ่ายได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล

สำหรับการได้รับสิทธิ์เงินชดเชยจากการใช้เงินผ่านชิมช้อปใช้ วงเงิน 30,000 บาทแรก ได้รับเงินชดเชยร้อยละ 15 ของมูลค่าซื้อขายแต่ไม่เกิน 4,500 บาท หากซื้อเกิน 30,000-50,000 บาท ได้รับเงินชดเชยร้อยละ 20 ของเงินใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 4,000 บาท ทั้งสองโครงการใช้เงินได้ถึงสิ้นปี 62 ยอมรับว่าแม้จะได้รับเงินชดเชยคืนภายหลังโครงการครบกำหนดไปแล้ว แต่ให้ถือว่าเป็นเงินของตนเองจากการซื้อสินค้าแล้วได้รับชดเชยคืนจากภาครัฐ  หลังจากนี้จะมีโครงการแคมเปญใหญ่ ธ.กรุงไทย ร่วมกับการท่องเที่ยว โหมกระหน่ำลดราคา เพื่อดึงนักท่องเที่ยวออกไปเที่ยวช่วงปลายนี้ ให้ติดตามการประกาศแคมเปญในเร็วๆ นี้

ไบโอเทค เปิดตัวข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ ‘หอมนาคา’ สะเทินน้ำสะเทินบก สายพันธุ์แรกของไทย

People Unity News : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พัฒนา ข้าวหอมนาคาข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ทนแล้ง และทนโรค ถือเป็น ข้าวเหนียวสะเทินน้ำสะเทินบกสายพันธุ์แรกของไทย

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ปัญหาหลักของการปลูกข้าวเหนียวที่พี่น้องชาวนาต้องเผชิญ คือ ‘ข้าวล้ม’ เพราะข้าวเหนียวพันธุ์ไทยเป็นข้าวต้นสูง เวลาลมฝนมาแรงข้าวจะล้มนอนแม้ยังออกไม่เต็มรวง ปีไหนแล้ง ‘ขาดน้ำ’ ผลผลิตจะออกน้อย หนำซ้ำยังต้องเผชิญกับ ‘โรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง’ ทำให้การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ของคนทำนา เพราะชะตาชีวิตต้องแขวนอยู่บนปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้ นักวิจัยไทยจึงพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่อเอาชนะปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

“จนในปีที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับนายศรีสวัสดิ์ ขันทอง และคณะวิจัย นำความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม มาศึกษาและพัฒนาพันธุกรรมของข้าวเหนียวไทย เพื่อชูยีนเด่น ลดยีนด้อย ผ่านการผสมและคัดเลือกพันธุ์อย่างเหมาะสม จนได้ผลงานข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ ‘หอมนาคา’ ที่สามารถจมอยู่ในน้ำได้นาน 1 – 2 สัปดาห์ และทนทานต่อการขาดน้ำในบางระยะของการปลูกข้าว สอดรับกับสภาพพื้นที่ และยังทนทานต่อโรคไหม้และขอบใบแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้ชาวนาสูญเสียผลผลิตอีกด้วย ข้าวเหนียวหอมนาคาสามารถปลูกได้ตลอดปี เพราะเป็นข้าวไม่ไวแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 130 – 140 วัน โดดเด่นด้วยลักษณะลำต้นไม่สูง เก็บเกี่ยวง่าย สามารถเก็บได้ด้วยเครื่องทุ่นแรง สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่และแนวโน้มการทำนาในอนาคตที่เครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่ ทั้งนี้ผลจากการทดลองปลูกพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีผลผลิต 800 – 900 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานมีผลผลิตสูงถึง 700 – 800 กิโลกรัมต่อไร่ ต่างจากเดิมที่มักมีผลผลิตเพียง 400 – 500 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ในด้านกระแสตอบรับจากผู้บริโภค ข้าวเหนียวหอมนาคาเป็นที่ชื่นชอบ เพราะเมื่อนำมานึ่งรับประทาน ข้าวมีความหอมและนุ่ม ถูกปากคนไทย อีกทั้งเมื่อหยิบทานข้าวจะไม่ติดมือ วางตั้งทิ้งไว้ข้าวก็ไม่แข็ง และนำไปอุ่นซ้ำข้าวก็ไม่เละ ถือเป็นความโดดเด่นทางพันธุกรรม”

ดร.ธีรยุทธ กล่าวว่า การดำเนินงานต่อจากนี้ คณะวิจัยตั้งเป้าเผยแพร่ความรู้เรื่องการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ชาวนาสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เอง ลดการพึ่งพิงรัฐหรือนายทุน ในด้านการค้าคณะวิจัยได้เจรจากับโรงสี ถึงข้อเด่นของข้าวสายพันธุ์นี้เพื่อให้เกิดการรับซื้อไปจำหน่ายต่อ ซึ่งโรงสีค่อนข้างให้ความสนใจ นอกจากนั้นผลจากการทดสอบเรื่องการแปรรูป ข้าวเหนียวสามารถพองตัวเป็นข้าวพองได้ดี จึงอยู่ในช่วงของการเจรจาให้โรงงานได้ลองนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารแปรรูป ส่วนสุดท้ายคือทางด้านผลกำไรจากการขายข้าวที่ชาวนาจะได้รับ คณะวิจัยมีความเห็นว่าราคาข้าวน่าจะอยู่ในเกณฑ์ทั่วไปของตลาด เพื่อให้เกิดการซื้อง่ายขายคล่อง เพราะกำไรที่ชาวนาจะได้เพิ่มมาจากปริมาณผลผลิตที่ได้มากขึ้นจากแต่ละรอบการปลูก และปริมาณการใช้ยาและสารเคมีที่ลดลงอยู่แล้ว การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวครั้งนี้ ถือเป็นผลงานสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยกระดูกสันหลังของชาติฝ่าฟันอุปสรรคในการทำการเกษตร ท่ามกลางสถานการณ์ธรรมชาติที่แปรปรวน

โฆษณา

Verified by ExactMetrics