วันที่ 16 พฤษภาคม 2024

ก.พลังงาน – ก.พาณิชย์ ผนึกกำลังตรวจสอบตู้จ่ายน้ำมัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 เมษายน 2567 ก.พลังงาน และ ก.พาณิชย์ ผนึกกำลังตรวจสอบตู้จ่ายน้ำมันและมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง ของสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ต่อเนื่อง หากแก้ไขดัดแปลงคลาดเคลื่อน โทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับ 280,000 บาท

กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เพื่อตรวจสอบหัวจ่ายและตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงทุกเครื่องว่ามีการแก้ไขดัดแปลงทำให้มาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดความคลาดเคลื่อนหรือไม่ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าประชาชนผู้ใช้น้ำมันได้น้ำมันเต็มปริมาตรต่อลิตร

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีการจ่ายน้ำมันให้ประชาชนไม่เต็มลิตรของสถานีบริการน้ำมันที่ผ่านมา กรมฯได้ร่วมกับกรมการค้าภายในและสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบตู้จ่ายและหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง บนถนนสายหลักที่เป็นเส้นทางการเดินทางของประชาชนและเส้นทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ทั้งนี้กรมธุรกิจพลังงานเน้นการตรวจสอบว่ามีการแก้ไขดัดแปลงตู้จ่ายและหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ หากพบว่ามีการแก้ไขดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรมการค้าภายในตรวจสอบมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานและตามกฎหมายที่กำหนด ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจในเบื้องต้นได้จากเครื่องหมายคำรับรองที่แสดงอยู่บริเวณตู้จ่ายน้ำมัน หากพบว่ามีปริมาณน้ำมันคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีเจตนาแก้ไขดัดแปลงหัวจ่ายให้เกิดความคลาดเคลื่อน จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท

สำหรับผลการตรวจสอบที่ผ่านมา ยังไม่พบหัวจ่ายน้ำมันเครื่องใดมีความคลาดเคลื่อน ปริมาตรน้ำมันได้มาตรฐานเต็มลิตร และมาตรวัดหัวจ่ายมีเครื่องหมายคำรับรองถูกต้อง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันทุกแห่งเป็นอย่างดี พร้อมทั้งยืนยันว่าได้เข้มงวดเป็นพิเศษ เนื่องจากความถูกต้องเที่ยงตรงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

Advertisement

ออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อ MyMo – My Credit ผ่านแอป ไม่ต้องใช้เอกสาร ดอกเบี้ยต่ำ

People Unity News : 11 ตุลาคม 2565 ออมสิน สร้างโอกาสให้คนฐานราก เปิดให้กู้สินเชื่อ MyMo – My Credit ผ่านแอป ไม่ต้องใช้เอกสาร ดอกเบี้ยต่ำ 1.25% ต่อเดือน เตรียมแตกไลน์ทำธุรกิจนอนแบงก์ ช่วยคนไทยเข้าถึงแหล่งเงินง่ายขึ้น

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนฐานรากยังขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่มีต้นทุนต่ำ จึงทำให้ต้องหันไปพึ่งการกู้นอกระบบ กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ธนาคารออมสินได้เดินหน้าทำธุรกิจบนหลักการเพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงินมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดธนาคารเตรียมเปิดให้บริการสินเชื่อ MyMo – My Credit แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งที่เป็นแรงงานนอกระบบ และมนุษย์เงินเดือน ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบ และอนุมัติเร็วผ่านแอป ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนได้ โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 100,000 ราย ด้วยวงเงินปล่อยกู้ในช่วงเริ่มต้นประมาณ 1,000 – 2,000 ล้านบาท และจะขยายต่อไป

สินเชื่อ MyMo MyCredit มีจุดเด่นคือลูกค้าธนาคารออมสินสามารถยื่นสมัครขอสินเชื่อผ่านแอป MyMo ได้โดยไม่ต้องใช้เอกสารใด ๆ และไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ เพียงกรอกเลขที่และข้อมูลบัตรประชาชน และธนาคารไม่คิดค่าธรรมเนียมการให้บริการสินเชื่อ โดยธนาคารจะใช้ข้อมูลการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้า (Financial Transaction) มาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ แทนการวิเคราะห์รายได้ เรียกว่า Alternative Credit Score ซึ่งหากลูกค้าผ่านเกณฑ์การพิจารณาก็จะสามารถสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีให้กับตัวเอง ที่เรียกว่า My Credit โดยลูกค้าสามารถทำสัญญาเงินกู้บนแอป MyMo และรับเงินโอนเข้าบัญชีโดยตรง จากนั้นการจ่ายเงินงวดทำได้โดยธนาคารจะหักจากบัญชีเงินฝากเมื่อครบกำหนดชำระในแต่ละงวดโดยอัตโนมัติ เป็นการอนุมัติสินเชื่อผ่านแอป (Digital Lending) ตลอดทั้งกระบวนการ โดยลูกค้าไม่ต้องไปติดต่อธนาคาร ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถขอกู้ได้รายละ 10,000 – 30,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1.25% ต่อเดือน

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนเตรียมตั้งบริษัทลูกเพื่อเข้าทำธุรกิจ Non Bank เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อเร่งด่วนสำหรับลูกค้าบุคคล ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธุรกิจ Non Bank รายอื่น เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอใบอนุญาตทำธุรกิจ Non Bank กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ราวปลายปี 2566

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ธนาคารออมสิน ได้เปิดบริษัทลูกมาแล้ว 2 แห่ง คือ บริษัท เงินสดทันใจ ร่วมทุนกับเอกชน คือ กลุ่มศรีสวัสดิ์ และล่าสุดเปิดบริษัท มีที่ มีเงิน ออมสินร่วมทุนกับกลุ่่มทิพยโฮลดิ้งส์ และกลุ่มบางจาก 

Advertisement

“สนธิรัตน์” พอใจ 1 ปีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นกว่า 1 แสนล้านบาท

People unity news online : “พาณิชย์” เป็นปลื้มขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐสำเร็จเกินคาด เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นกว่า 1 แสนล้านบาท และตั้งเป้าเพื่อการหมุนเวียนเงิน 2 แสนล้านบาทในปี 62 เตรียมลุยเชื่อมโยงนำสินค้าชุมชนเข้าไปขายเพิ่ม ระบุสินค้าชุมชนที่ฮอตฮิตขายดี “ข้าวสาร ผักและผลไม้ตามฤดูกาล เช่น แตงโม ทุเรียน มะนาว สับปะรด กระเทียม หอมแดง ขนมเปี๊ยะเต้าส้อ เค้ก กล้วยตาก กล้วยฉาบ ข้าวแต๋น น้ำพริกต่างๆ”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการสวัสดิการแห่งรัฐที่ผู้ถือบัตร 11.4 ล้านคน ใช้จ่ายกับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐจำนวนกว่า 5 หมื่นราย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2560 ถึง 20 ก.ย.2561 มียอดซื้อสินค้ารวม 4.1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการใช้เพื่อซื้อสินค้าชุมชนและสินค้าจากเกษตรกรกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในจำนวน 2 หมื่นล้านบาทนี้  คาดว่ามีการหมุนเวียนในภูมิภาค 5 รอบ ประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 61

“เงินจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ได้ใช้จ่ายซื้อสินค้าในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ได้มีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้า ทำให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงฯกำลังเร่งผลักดันให้ร้านค้ารายย่อยเข้าร่วมโครงการให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากลงสู่ร้านค้ารายเล็กรายน้อย โดยได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ 1 แสนราย โดยเงินที่ผู้ถือบัตรนำไปใช้ซื้อสินค้าจากร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตร แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้า และมีผลต่อเนื่องในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าชุมชน เกษตรกร เพราะวงเงินที่ผู้ถือบัตรได้รับ ได้กระจายไปซื้อสินค้าชุมชน สินค้าเกษตรกรด้วย ซึ่งจากที่สำรวจมีประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท และในวงเงินนี้ ได้ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ทำให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชน เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินจับจ่ายใช้สอย และทำให้เศรษฐกิจฐานรากขยายตัวดีขึ้น”

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงได้ดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายและส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้าชุมชน ให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและผู้ผลิตสินค้าชุมชน ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดอุดรธานี ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีร้านค้า และผู้ผลิตเข้าร่วมประมาณ 500 ราย ให้การตอบรับที่ดีมาก มีการจับคู่ซื้อขายกว่า 90 ราย จำนวนเงินที่ตกลงซื้อขายกันภายในงานประมาณ 5 ล้านบาท และจะมีการซื้อขายกันต่อเนื่องต่อไป ซึ่งกระทรวงได้จัดการเชื่อมโยงเครือข่ายร้านค้าธงฟ้ากับผู้ผลิตสินค้าชุมชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือและภาคใต้อีกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับอยู่ในระดับเดียวกัน และกระทรวงมีแผนที่จะจัดให้มีการพบปะเชื่อมโยงระหว่างร้านค้าธงฟ้ากับผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง ขอเชิญชวนให้ไปพบปะกันที่จังหวัดเชียงใหม่ และรัฐบาลจะเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ถือบัตร เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่นเพิ่มเติมในปี 62 โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนให้มีเงินหมุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม และเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด

People unity news online : post 2 ตุลาคม 2561 เวลา 10.40 น.

ข่าวดีชาวไร่อ้อย! ครม. เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูผลิตปี 64/65 ตันละ 1,106.40 บาท

People Unity News : 7 มีนาคม 2566 ที่ประชุม ครม. (7 มี.ค. 66) เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 64/65 เป็นรายเขต 9 เขต โดยมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้

1.ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 64/65 เฉลี่ยทั่วประเทศในอัตรา ตันอ้อยละ 1,106.40 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.

2.อัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 66.38 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.

3.ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิต ปี 2564/2565 เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 474.17 บาทต่อตันอ้อย

ซึ่งราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 64/65 อยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ดังนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่โรงงาน

ส่วนรายได้สุทธิจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย โรงงานน้ำตาลต้องนำส่งเงินส่วนต่างระหว่างรายได้สุทธิและราคาอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตันอ้อยละ 10 บาท ตามมาตรา 57 พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

Advertisement

เริ่มแล้ว! โครงการ“บ้านในฝัน รับปีใหม่” คลังมั่นใจกระตุ้นตลาดอสังหาฯ โค้งสุดท้ายคึกคัก

People Unity News : เริ่มแล้ว โครงการ “บ้านในฝัน รับปีใหม่” 11.11 ก.คลังร่วมกับ ธอส. และ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ทำความฝันของผู้ที่อยากมีบ้านที่พักอาศัยเป็นของตนเองให้เป็นความจริง คลังมั่นใจกระตุ้นตลาดอสังหาฯ โค้งสุดท้ายให้คึกคัก

วันที่ 11 พ.ย.2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลัง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร รวมทั้งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายย่อยทั่วทั้งประเทศ ผนึกกำลังร่วมกันเปิดโครงการ “บ้านในฝัน รับปีใหม่” ในวันที่ 11 พฤศจิกายน (11.11) เพื่อทำความฝันของผู้ที่อยากมีบ้านเป็นของตนเองให้เป็นความจริง โดยพี่น้องประชาชนผู้สนใจซื้อที่อยู่อาศัย ในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ตนเอง พร้อมตอบรับแนวคิดสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว ซึ่งเป็นการส่งเสริมการออมที่มีความสำคัญประการหนึ่ง ต่างให้การตอบรับโครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยวงเงินปล่อยกู้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ล่าสุดถูกปล่อยกู้ไปแล้ว จำนวน 10,370 บาท

ทั้งนี้ โครงการ “บ้านในฝัน รับปีใหม่” ภายใต้แคมเปญ ซื้อ ปุ๊บ โอนปั๊บ รับทันที 3 สิทธิพิเศษ
สิทธิ์ที่ 1 กู้ ธอส. ดอกเบี้ยคงที่ 2.5% นาน 3 ปี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท หมดแล้วหมดเลย
สิทธิ์ที่ 2 ฟรีค่าโอนและค่าจดจำนอง
สิทธิ์ที่ 3 รับโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม พร้อมส่วนลดสุดพิเศษอลังการ (จากโครงการที่เข้าร่วม)

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โครงการต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นโปรโมชั่นพิเศษสุดยิ่งใหญ่อลังการแบบไม่เคยมีมาก่อน เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง สร้างหลักประกันให้ครอบครัว รวมถึงช่วยระบายสต๊อกคงค้างของผู้ประกอบการที่มีอยู่จำนวน 35,000 ยูนิต โดยกระทรวงการคลังมั่นใจว่าแคมเปญดังกล่าวจะสามารถสร้างความคึกคัก กระตุ้นยอดขาย และเร่งให้เกิดการโอนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 62 ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกอบการ นอกจากสามารถเข้าร่วมโครงการผ่านทางสมาคมที่สังกัดอยู่แล้ว ขณะนี้ ธอส.กำลังจัดทำระบบเพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการได้ทางออนไลน์และ ดาวน์โหลด Artwork ไปใช้ประชาสัมพันธ์การขายได้อีกทางหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาของ ธอส.เพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดค่าใช้จ่าย

“อุตตม”โพสต์ยันไทยมีความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นในโลก

People Unity News : รมว.คลังย้ำไทยมีความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นในระดับโลก มั่นใจชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยรับมือแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกได้

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุหัวข้อว่า “ข้อเท็จจริงรายงาน WEF” โดยมีเนื้อหาดังนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับรายงาน ของสภาธุรกิจโลก (World Economic Forum) เรื่องความเสี่ยงในระดับโลกและระดับภูมิภาคในการทำธุรกิจ (Regional Risk of Doing Business 2019) ซึ่งข่าวที่ออกมาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในบางกรณี ผมจึงขออธิบายทำความเข้าใจกับทุกท่านอีกครั้ง

รายงานฉบับดังกล่าวเป็นรายงาน เพื่อกระตุ้นให้แต่ละประเทศเตรียมรับมือภาวะการณ์ต่างๆที่อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ใช่การรายงานภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเป็นการสอบถามความคิดเห็น จากนักลงทุนในภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับการคาดการณ์ในอนาคต

สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นอันดับ 1 เพราะหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 50 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 56.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความเสี่ยงที่ 2 คือ เรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ ที่มีการลักลอบเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ความเสี่ยงที่ 3 คือ เรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น สถานการณ์ของเกาหลีเหนือ หรือ แรงกดดันจากสถานการณ์ สหรัฐ-จีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม WEF ยังได้ทำการจัดลำดับความสามารถทางการแข่งขัน ปี 2019 ด้วย โดยประเทศไทยมีดัชนีความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้นจากปี 2018 คือจากเดิม 67.5 คะแนน เป็น 68.1 คะแนนและอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จากทั้งหมด 141 ประเทศ

ดังนั้นผมจึงขอย้ำอีกครั้งว่า รายงานดังกล่าว ไม่ได้บอกว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงในวันนี้ แต่เป็นการสำรวจเพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละประเทศมีความเสี่ยงในอนาคตแต่ละหัวข้อดังกล่าวในระดับใดเท่านั้น

ผมขอเรียนกับทุกท่านว่า ข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ แต่รัฐบาลได้พยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และการท่องเที่ยว ผ่านโครงการ “ชิมช้อปใช้” การประกันรายได้สินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และล่าสุด มันสำปะหลัง ซึ่งทำให้เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กำลังซื้อและการบริโภคในประเทศ เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น

ด้านการลงทุนภาครัฐ ในช่วงก่อนสิ้นปี 2562 รัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือจะมีการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดท้ายของปี 2562 และในปี 2563 ได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินในปี 2562 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 – ตุลาคม 2562 จำนวน 122,088 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม

ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณในปี 2563 ยอดเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562 มีการเบิกจ่าย จำนวน 7,975 ล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แผนงานปรับปรุงท่อเพื่อลดน้ำสูญเสียของการประปานครหลวง งานก่อสร้างปรับปรุงขยายและงานวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่ 1 ปี 2559 ของการเคหะแห่งชาติ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติ สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้ง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งสนใจการลงทุนด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมใหม่

ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งแผนปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ การดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ จะช่วยผลักดันไทยสามารถรับมือแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกได้อย่างดี ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะติดตามและวิเคราะห์ผลแต่ละมาตรการอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

ธอส.มอบของขวัญปีใหม่ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนลูกหนี้ของ  ธอส.ต่อเนื่อง

People Unity News : 23 ธ.ค.64 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าของ ธอส. ที่ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 และความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญายังไม่กลับมาเหมือนเดิม ประกอบด้วย การขยายความช่วยเหลือให้ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้ 9 มาตรการปัจจุบันของธนาคาร ซึ่งจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผ่านมาตรการที่ 18 [M18]  : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ สามารถเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ [ตัดต้น และดอกเบี้ย] และลดอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% ต่อปี และมาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต สามารถเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ [ตัดต้น และดอกเบี้ย] และลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ขณะที่ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ได้อยู่ในมาตรการ สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการที่ 17[M17] : ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดือนที่ 1-3 เหลือ 0% ต่อปี เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ช่วยเหลือนานสูงสุด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันผ่านมาตรการต่าง ๆ รวม 20 มาตรการ ภายใต้ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” และ “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ” โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารรวมสูงสุดถึง 972,978 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 846,911 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาตรการส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ ยังคงเหลือลูกค้าที่ยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการ รวมจำนวน 109,094 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 113,281 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการที่ 2 [M2], มาตรการที่ 9[M9], มาตรการที่ 10[M10], มาตรการที่ 11[M11], มาตรการที่ 12[M12],มาตรการที่ 13[M13], มาตรการที่ 14[M14], มาตรการที่ 15[M15] และ มาตรการที่ 16 [M16] ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 และดำเนินการตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน) ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 จึงได้มีมติให้ ธอส. จัดทำ “มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน” เพื่อขยายความช่วยเหลือให้กับลูกค้าเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการใช้มาตรการความช่วยเหลือของ ธอส. จำนวน 9 มาตรการ(M2, M9, M10, M11, M12, M13, M14, M15 และ M16) ที่ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ตามสัญญา ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว โดยจะได้รับความช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

มาตรการที่ 18 [M18]  : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ รองรับลูกค้าเดิมใน  M2, M9, M 11, M13 และ M15 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25-0.50% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565

มาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต รองรับลูกค้าเดิมใน M12 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565

มาตรการที่ 17 [M17] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้และไม่ได้อยู่ในมาตรการ หรือรองรับลูกค้าเดิมใน M10, M14 และ M16 จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0% ต่อปี ในเดือนที่ 1-3 เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือสูงสุดนาน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้น โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2565 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

ทั้งนี้ ลูกค้าตามมาตรการข้างต้นที่ต้องการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือจะต้อง Upload แสดงหลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ให้ธนาคารพิจารณาผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ  Application : GHB ALL

Advertising

BOI เผยลงทุนไตรมาสแรกปี 64 กว่า 1.2 แสนล้านบาท “การแพทย์ – อิเล็กทรอนิกส์” มาแรง

People Unity News : บีโอไอเผยภาวะการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ยอดขอรับส่งเสริมรวมกว่า  1.2 แสนล้านบาท เติบโตจากไตรมาสแรกปีก่อนมากถึงร้อยละ 80 พบกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์เติบโตท่ามกลางสถานการณ์โควิด ขณะที่ EEC ยังคงเนื้อหอมเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของนักลงทุน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า การลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ปี 2564 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 401 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 123,360 ล้านบาท มีอัตราเติบโตทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยจำนวนโครงการเติบโตร้อยละ 14 และมูลค่าเติบโตร้อยละ 80

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 74,830ล้านบาท โดย 2 อันดับแรกที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่า 18,430 ล้านบาท เติบโตขึ้นมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 17,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าในหมวดการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve ขยายตัวต่อเนื่องจากผลของ Work From Home ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานในยุคเชื้อโควิดระบาด และการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 191 โครงการ มูลค่าลงทุน 61,979 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 143 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอันดับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดการลงทุนใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การลงทุนของเกาหลีใต้ปรับสูงขึ้นในไตรมาสนี้เนื่องจากมีการร่วมทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์

สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า 64,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น จังหวัดระยอง มูลค่าลงทุน 29,430 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี 24,970 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 10,010 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 5,630 ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 16 โครงการ เงินลงทุน 2,470 ล้านบาท และมาตรการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 300 ล้านบาท

Advertising

“จุรินทร์”ทำยอดอีก 2,400 ล้านที่เยอรมนี ขายผลิตภัณฑ์ยาง

People Unity News : “จุรินทร์”ทำยอดอีก 2,400 ล้านที่เยอรมนี ขายผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยางทางการแพทย์ เครื่องดื่ม อาหารพร้อมประกาศลุยตลาดยุโรปต่อเนื่อง

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนประเทศเยอรมนี โดยช่วงเช้า เวลา 9.30 – 10.00 น. เป็นประธานและสักขีพยานการลงนาม MOU ระหว่างนักธุรกิจไทยและเยอรมนี (ข้าวและเครื่องดื่ม) ณ โรงแรม Hyatt Regency Dusseldorf ผู้ส่งออกไทย บริษัท ยูนิเวอร์แซลไรซ์ จำกัด กับ บริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co. KG และผู้ส่งออกไทย บริษัท Boonrawd Trading International Co.,Ltd กับ บริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co. KG

ภายหลังการลงนาม นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้นำกระทรวงพาณิชย์และการยางแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนมาเยือนประเทศเยอรมันนีเที่ยวนี้ มีกิจกรรมหลัก 3 เรื่องด้วยกันเรื่องที่หนึ่งการยางแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนมาเจรจาขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางสองก็คือพระเอกชนมาร่วมงานเมดิก้า Mecida 2019 ซึ่งเป็นงานที่เยอรมันจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายปี กิจกรรมที่สามก็คือการยางพาภาคเอกชนไทยและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไปส่งเสริมการขายสินค้าไทยในห้างค้าส่งรายใหญ่ของเยอรมันคือห้าง METRO ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศใน 760 สาขาด้วยกันซึ่งสินค้าส่วนใหญ่คือสินค้าอาหาร อาหารสำเร็จรูป สำหรับการนำการยางและภาคเอกชน มาขายสินค้าทางการเกษตรนั้นปรากฏ ผลคือวันนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ในการขายข้าวถุง และขายข้าวสารถุง จำนวน 6000 ตันให้กับภาคเอกชนของเยอรมัน มูลค่า 250 ล้านบาทโดยประมาณ และสองก็คือขายเครื่องดื่มให้กับภาคเอกชนประมาณ 40 ล้านบาทและผลิตภัณฑ์ยางนั้นสามารถทำยอดขายรวมกันเป็นถุงมือยางเพื่อการแพทย์ 2000 ล้านบาทโดยประมาณและสินค้าอื่นๆในงาน MEDICA คาดการณ์ว่าจะทำยอดปีนี้ที่มาร่วมงานประมาณ 150 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมดเป็น 2400 ล้านบาท สำหรับการเดินทางมาเยี่ยมเยอรมันครั้งนี้

สำหรับงาน MEDICA นั้นมีภาคเอกชนไทยมาร่วมงานทั้งหมด 16 บริษัทด้วยกัน สินค้าที่นำมาเจรจาในเรื่องของการขายประกอบด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือทางด้านการดูแลสุขภาพการกายภาพบำบัด อุปกรณ์ที่ใช้ในกระดูก อุปกรณ์ไฟฟ้าทางการแพทย์และของที่ใช้แล้วทิ้งทางการแพทย์ เป็นต้นที่การยางแห่งประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นตลาดใหม่สำหรับการยางเพราะฉะนั้นการยางก็ได้มีการนัดผู้นำเข้าของเยอรมันเจรจาแต่ว่ายังต้องใช้เวลาในการนับหนึ่งแต่เชื่อว่าการยางจะสามารถที่จะขายยางได้เยอะทีเดียว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า อยากจะเรียนให้ทราบเพิ่มเติมสำหรับการเปิดตลาดในเยอรมันและสหภาพยุโรปโดยเยอรมันถือว่าเป็นผู้นำประเทศหนึ่ง ในสหภาพยุโรป เราได้มีการเตรียมการในการบุกตลาดสหภาพยุโรปในหลายเรื่องด้วยกันเรื่องที่หนึ่งคือเริ่มต้นที่จะทำเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ผมได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าได้เริ่มต้นแล้วและถ้าการเจรจามีความคืบหน้าจะทำให้เร็วที่สุดเพราะจะมีผลช่วยให้การค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเราได้รับสิทธิในการส่งสินค้าบางอย่างที่ยังมีกำแพงภาษีจากสหภาพยุโรปที่ทำให้เราสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องภาษีนำเข้าบางตัวเช่นถุงมือยางเพื่อการแพทย์สำหรับตลาดสหภาพยุโรปรวมทั้งเยอรมันประเทศไทยต้องเสียภาษีนำเข้า 2.3% ขณะที่คู่แข่งสำคัญของเราคือมาเลเซียไม่ต้องเสียภาษีเพราะเขาได้สิทธิ์จีเอสพีซึ่งจะได้ไปจนถึงปีหน้าถ้าเราสามารถที่จะทำเอฟทีเอร่วมกันภาษีก็จะเป็นศูนย์ทำให้เราสามารถแข่งขันกับมาเลเซียได้คือสิ่งที่เราต้องเร่งรัดเอฟพีเอไทยกับอียูนอกจากนั้นสินค้าที่เราจะส่งไปยังสหภาพยุโรปต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสูงเช่นมีเงื่อนไขด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อมมาตรฐานอียูและ food safety เหล่านี้เป็นต้น

“ผู้ที่จะส่งสินค้ามาที่สภาพยุโรปต้องเป็นผู้ผลิตไทยที่ได้มาตรฐานและเป็นไปตามเงื่อนไขของอียูผมมั่นใจว่าประเทศของเราพัฒนาไปเยอะมากเรื่องการขายเหล่านี้ซึ่งเป็นข้อจำกัดบางเรื่องแต่เราสามารถที่จะบรรลุเงื่อนไขเหล่านี้ได้เพื่อให้เข้ามาแข่งขันในตลาดเหล่านี้ได้สำหรับตลาดที่ตั้งเป้าจะเข้ามาขยายในเยอรมันกับสหภาพยุโรปก็คืออย่างเรื่องผลิตภัณฑ์ยางและเรื่องข้าวโดยเฉพาะข้าวออแกนิกซ์ ซึ่งเป็นที่นิยมและไบโอพลาสติก อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง เช่นไก่แช่แข็ง เป็นต้น รวมทั้งในเรื่องของ startup ซึ่งเรามีศักยภาพเช่นในเรื่องของอนิเมชั่นภาพยนตร์สามารถที่จะมาทำความร่วมมือกับเยอรมันสหภาพยุโรปเพื่อเป็นแหล่งผลิตอนิเมชั่นบางส่วนให้กับเขาได้และที่สำคัญคือธุรกิจบริการร้านอาหารไทย สปา ก็เป็นธุรกิจบริการที่มีอนาคตสำหรับประเทศไทยในตลาดเยอรมันและตลาดสหภาพยุโรปรวมทั้งการที่เราจะต้องนำภาคเอกชนมาร่วมงานแสดงสินค้าในหลายภาคส่วนทั้งการแพทย์อาหารอื่นๆที่ ที่เค้าจัดเป็นประจำทุกปีนำผู้นำเข้าจากทั่วโลกมาที่นี่” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทั้งนี้ทำให้ยอดขายมีความชัดเจน 2400 ล้านบาทเฉพาะทริปเดียวที่มาอย่างอื่นคือเรื่องปูทางอนาคตเช่นการยางแห่งประเทศไทยซึ่งวันนี้นัดผู้นำเข้ารายใหญ่สองรายซึ่งมีความคืบหน้าอย่างไรทางการยางก็จะรายงานให้ผมทราบในเรื่องเพื่อการเกษตรข้าวมันสำปะหลังยางพารารวมทั้งอาหารถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ถ้ามียอดส่งออกเยอะก็จะมีผลเกื้อกูลไปถึงเกษตรกรที่อยู่ในระดับฐานรากด้วยจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ

อย่างในอนาคตสำหรับในปัจจุบันทำแล้วบางส่วนอนาคตต้องให้ความสำคัญยิ่งขึ้นคือการเพิ่มมูลค่าเราจะไม่เน้นเฉพาะการส่งยางดิบในรูปของยางแผ่นรมควันหรือรูปน้ำอย่างคนรูปยางแท่งเท่านั้นแต่ว่าหัวใจสำคัญที่เป็นนโยบายถัดจากนี้ไปที่ต้องช่วยกันทุกวิถีทางคือในเรื่องของผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปที่มีการเพิ่มมูลราคาโดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงมือยางเพื่อการแพทย์อันนี้ยังมีตลาดในโลกที่ใหญ่มากถ้าเราแก้ปัญหาในเรื่องภาษีนำเข้าของประเทศนั้นนั้นให้เท่าเทียมกับคู่แข่งเราได้เราก็จะมีอนาคตและทำตัวเลขนำเข้าประเทศได้เยอะรวมทั้งหมอนยางพาราอันนี้ถือว่ามีอนาคตและมีมุระค่าเพิ่มเยอะมากสูงมากและมีตลาดหลายประเทศจะสามารถไปทำตลาดได้ทั้งในส่วนของตลาดยุโรปโดยเฉพาะตลาดจีนเป็นที่นิยมมากผมคิดว่าในอนาคตอันใกล้เราอ่ะต้องไปบุกจีนอีกรอบหนึ่งเพื่อทำตลาดเรื่องหมอยางพาราโดยเฉพาะคิดว่าคนจีนมีจำนวนเยอะมากคนละใบก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถถ่ายยังได้อีกเยอะมากบอกอยากได้เป็นนับไม่ถ้วนมาตุรกีเที่ยวนี้ 20,000,000 ใบที่เราทำ MOU ไป

รัฐบาลเผยให้ความสำคัญ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

People Unity News : 5 กันยายน 65 โฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลให้ความสำคัญ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ครึ่งปีแรก 2565 ส่งเสริมแล้ว 309 โครงการ มูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยเน้นการสนับสนุนการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) รวมทั้งสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศให้มากขึ้นนั้น ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีการขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหารมีจำนวนโครงการสูงสุด และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด

นายอนุชากล่าวว่า ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม จำนวน 750 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 375,670 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 309 โครงการ จาก 5 อุตสาหกรรมเดิมที่เป็นเป้าหมาย (ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, การเกษตรและแปรรูปอาหาร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, การท่องเที่ยว) และ 7 อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมาย (ดิจิทัล, การแพทย์, เทคโนโลยีชีวภาพ, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, อากาศยาน, พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา, ป้องกันประเทศ) คิดเป็นร้อยละ 41 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น มีมูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด โดยจำนวนโครงการส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร มีจำนวนโครงการสูงที่สุด (80 โครงการ) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล (72 โครงการ) ส่วนมูลค่าการลงทุนจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด (40,260 ล้านบาท) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (34,080 ล้านบาท)

สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร ที่มีการอนุมัติให้การส่งเสริมเป็นจำนวนโครงการสูงที่สุด 80 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,620 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ 14 โครงการ เงินลงทุน 10,995 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่มีการอนุมัติให้การส่งเสริม 43 โครงการ เงินลงทุนรวมสูงที่สุดคือ 40,260 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Battery Electric Vehicle (BEV), Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) และ Hybrid Electric Vehicle (HEV) 1 โครงการ เงินลงทุน 36,100 ล้านบาท เป็นต้น

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ส่งผลให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเร่งขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 384,430 ล้านบาทต่อปี สร้างการเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ไทยในอนาคตอย่างต่อเนื่อง” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics