วันที่ 2 พฤษภาคม 2024

“SPCG”หนุน “สนพ.” ดึงองค์ความรู้พลังงานหมุนเวียนต่อยอดธุรกิจ

People Unity : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ผู้แทน SPCG ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในโครงการ THE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”ณ อาคาร True Digital Park

เมื่อวันที่ 27ตุลาคม 2562ที่ผ่านมา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” มอบหมายให้ นางนรินพร มาลาศรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนขึ้นบรรยายในโครงการTHE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”หรือ “นโยบายทางด้านพลังงานหมุนเวียน หรือธุรกิจทางด้านพลังงานหมุนเวียน อะไรคือตัวนำในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางด้านพลังงานของประเทศไทย” จัดขึ้นณ อาคาร True Digital Parkโดยโครงการครั้งนี้

มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการ ผู้ประกอบธุรกิจพลังงาน ผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยี นิสิตและนักศึกษา รวมทั้งประชาชนได้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมกันสร้างสรรค์นโยบายเพื่อต่อยอดธุรกิจด้านพลังงานไทย และร่วมกำหนดนิยามความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของประเทศไทยให้พัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นางนรินพรได้กล่าวว่าบริษัท SPCG ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟรายแรกของประเทศไทยและประชาคมอาเซียนด้วยโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งในและต่างประเทศรวมกำลังการผลิตทั้งสิ้นกว่า 300 เมกะวัตต์ซึ่งธุรกิจของเรานอกจากจะเป็นธุรกิจด้านพลังงานสะอาดแล้ว ยังสามารถช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 200,000 ตัน CO2ต่อปี อีกด้วย

ในส่วนของการบรรยายนั้น นางนรินพร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีเงินสนับสนุนส่วนเพิ่มพิเศษจากค่าไฟฟ้าปกติ (Adder) และ Feed in Tariff (FIT) ทำให้ภาคธุรกิจ ทางด้านพลังงานหมุนเวียน มีการเติบโต สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลักร้อยเป็นหลักพัน โดยในปี 2564 จะมีปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 3,272 เมกะวัตต์ และจากแผน PDP 2018 รัฐบาลประกาศให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี ทั้งหมด 1,000 เมกะวัตต์ โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2562 เป็นต้นไป รวมถึงจะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ในช่วงปี 2561-2580 กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจการลงทุน ในโครงการที่รัฐบาลมีนโยบาย หรือกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม สมเหตุสมผล จูงใจแก่นักลงทุน สนใจมาลงทุนโดยไม่ลังเลใจหรืออยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ารูปแบบการสนับสนุนไม่จูงใจให้เกิดการเข้าร่วมโครงการ โดยจะเห็นได้จากผลการดำเนินโครงการช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการในจำนวนที่น้อย และผลที่ได้มีขนาดรวมไม่ถึงเมกะวัตต์ จาก 121 หลังคาเรือน ห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้ 15,000หลังคาเรือนหรือ 100 เมกะวัตต์ ในปี 2562

“ประภัตร”วางแผนเชิงรุกเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ตั้งเป้า เพิ่มผลผลิต 2 แสนตัน

People Unity News : “ประภัตร”วางแผนเชิงรุกเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ตั้งเป้า เพิ่มผลผลิต 2 แสนตันกระจายสู่เกษตรกร ปลูกข้าวคุณภาพ

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2562 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมวางแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว พร้อมด้วย นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับเกษตรกรด้วยการช่วยเหลือและสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรมีคุณภาพดีโดยในภาคการผลิตข้าวนั้น เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญในการผลิตข้าวคุณภาพดี และได้ให้ความสำคัญและติดตามการทำงานของกรมการข้าวมาอย่างต่อเนื่อง

ในการประชุมวันนี้ได้สร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมการข้าว ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงาน โดยได้สั่งการให้กรมการข้าวเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ จากเดิมเป้าหมาย 85,000 ตัน/ปี เป็น 260,000 ตัน/ปี ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร และช่วยเหลือเกษตรกรกรณีเกิดปัญหาภัยพิบัติหรือเกิดโรคในข้าว และให้แต่ละศูนย์สามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย จึงได้ระดมความคิดเห็นร่วมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป้าหมายศักยภาพการผลิต อาทิ ข้าวหอมมะลิ ปทุมธานี ข้าวเจ้า และข้าวเหนียว รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือ รถเกี่ยว เครื่องปักดำ เครื่องคัด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพเพียงพออย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าวมีภารกิจหลักในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ชั้นพันธุ์คัด พันธุ์หลัก พันธุ์ขยาย และพันธุ์จำหน่าย เพื่อเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยมี 1. กองวิจัยและพัฒนาข้าว ซึ่งมีศูนย์วิจัยข้าว 28 แห่ง ผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัด และพันธุ์หลัก ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การผลิต ดูแลหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปข้าววิทยาการเมล็ดพันธุ์และมาตรฐานพันธุ์ โดยมีการบูรณาการทำงานวิจัยร่วมกับ NECTEC ดำเนินโครงการพัฒนาระบบออนไลน์ จัดทำฐานข้อมูลร่วมกัน เพื่อการประเมินสถานการณ์เมล็ดพันธุ์ข้าว และ 2. กองเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 29 แห่ง มีหน้าที่วางแผนและผลิต เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่ายเพื่อสนับสนุนส่งเสริมและกระจายพันธุ์ข้าวตามนโยบายคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ ส่งเสริมเผยแพร่และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร พัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในท้องถิ่น เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชน สนับสนุนการดำเนินธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของเอกชน ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตการใช้และการตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาการเมล็ดพันธุ์ สนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์ข้าวและเกษตรกร

อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ได้เยี่ยมชมแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก พร้อมทั้งชมการสาธิตการใช้โดรนเพื่อการเกษตร ตลอดจนเยี่ยมชมโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ด ชมกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลกด้วย

ชาวอุดรร่วมใจเตรียมเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก

People Unity News : 19 มิถุนายน 2565 นายกฯ ปลื้มชาวอุดรทุกฝ่าย ร่วมใจเตรียมเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก รมต.เฉลิมชัย ลงตรวจพื้นที่ ยืนยันรัฐบาลสนับสนุนเต็มที่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569-14 มีนาคม 2570 (134 วัน) ที่ ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งรัฐบาลได้เห็นชอบในการสนับสนุนงบประมาณในขั้นต้น 2,500 ล้านบาท มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆใน จ.อุดรธานี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ประธานสภาหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทราบถึงความตื่นตัวและความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย เพราะประชาชนทราบดีว่างานนี้เป็นการสร้างชื่อเสียงและนำเสนออัตลักษณ์ของจังหวัด อีกทั้งจะสร้างเงินสะพัดในช่วงระหว่างการจัดงานที่อาจมากถึง 32,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้เข้าชมงานที่จะมากถึง 3.6 ล้านคน เป็นชาวไทยร้อยละ 70 และชาวต่างชาติร้อยละ 30 และเกิดการจ้างงานประมาณ 81,000 อัตรา

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการลำเลียงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง-หนองสำโรง-หนองแด และการปรับพื้นที่ให้มีพื้นที่ราบเพิ่มขึ้น ในส่วนของจังหวัดและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ได้ร่วมมือกันวางแผนการเป็นเจ้าภาพ สร้างความเข้าใจโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เมื่อจบสิ้นการจัดงาน ทางจังหวัดมีแผนจะอนุรักษ์พื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ ประเพณีวัฒนธรรม และศูนย์กลางกีฬานานาชาติ ของกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขงและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

“นายกรัฐมนตรี ดีใจที่ได้รับทราบว่าทุกภาคส่วนมีความยินดีและตื่นตัวกับการที่ จ.อุดรจะได้เป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก จับมือกันสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย และนายกฯยังได้ให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้งานนี้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และเป็นที่ประทับใจของแขกผู้มาเยือน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้แก่ชาวบ้านในจังหวัดและจังหวัดข้างเคียง ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

ธนาคารออมสินจัด 4 กระบวนการสนองนโยบายคลังสานต่อก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด

People Unity News : ธนาคารออมสินสานต่อก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด จัดมาตรการ “เยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” เตรียมวงเงินปล่อยสินเชื่อใหม่ 40,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ ให้ผ่อนเบาๆ

25 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง ได้มีพิธีแถลงข่าวการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานภายใต้สังกัด และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการดูแลเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ด้วยการสานต่อโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” และจัดตั้ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” เพื่อติดตาม สำรวจ และรับทราบความเดือดร้อน พร้อมเร่งเยียวยา ฟื้นฟู คืนอาชีพ คืนความสุขให้กับประชาชน ตลอดจนออกมาตรการเพื่อเติมความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ผู้บริหารหน่วยงานภายใต้สังกัด และผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดย ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เข้าร่วมในพิธี

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ตามแนวทางที่กระทรวงการคลัง ได้กำหนดกรอบและแนวทางไว้ โดยได้ออกมาตรการดูแลเป็นการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เป็นลูกค้าและประชาชนทั่วไป ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน มาตรการให้เงินกู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท และ 50,000 บาท การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน แก่สถาบันการเงิน น็อนแบงก์ ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารออมสิน การลงพื้นที่ตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนที่ขอทบทวนสิทธิ์ตามมาตรการชดเชยรายได้ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และล่าสุด ได้ดำเนินการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ลงทะเบียนในมาตรการลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยรายได้จากประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ 5,000 บาท อีกด้วย

“ช่วง 1-2 เดือนนี้ จะเห็นได้ว่ามีผู้มาติดต่อที่สาขาธนาคารออมสินเป็นจำนวนมาก หลายสาขามีคนเข้าแถวรอจนล้นออกมานอกสาขาเป็นคิวยาวมาก ท่ามกลางการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งธนาคารฯได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งในส่วนการรับรองลูกค้าและการดูแลความพร้อมของพนักงาน โดยหลายธุรกรรมได้แนะนำให้ลูกค้าใช้บริการออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น การลงทะเบียนสินเชื่อฉุกเฉินรายย่อย ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกัน เสี่ยงต่อการติดเชื้อ” ดร.ชาติชาย กล่าว

ทั้งนี้ ความคืบหน้าของมาตรการที่ธนาคารออมสินดำเนินการอยู่ ได้แก่

1.การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ ทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 2,894,333 ราย วงเงินรวม 1.129 ล้านล้านบาท

2.สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือ เงินกู้ฉุกเฉิน วงเงิน 10,000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และวงเงิน 50,000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีรายได้ประจำ วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ยื่นกู้แล้วจำนวน 2,663,197 ราย และได้ส่งข้อความ SMS นัดให้มายื่นเอกสารแล้ว 1,969,739 ราย โดยได้ดำเนินการอนุมัติไปแล้ว 310,006 ราย คิดเป็นวงเงิน 7,527.16 ล้านบาท โดยปริมาณงานในส่วนนี้มีมากกว่างานปกติถึง 10 เท่าตัว ซึ่งธนาคารฯได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มกำลัง และทำทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2563

3.เงินกู้ซอฟท์โลน 150,000 ล้านบาท ได้มีผู้ยื่นกู้แล้ว 12,352 ราย วงเงินรวม 131,976.81 ล้านบาท ปัจจุบันได้อนุมัติแล้ว 105,242.34 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่กำลังทยอยอนุมัติอีก 44,757.66 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2563 จะสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด

ล่าสุดธนาคารออมสินได้อนุมัติซอฟท์โลน อีก 2,000 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ให้กับสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่นำทรัพย์สินมาจำนำในช่วงนี้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ดร.ชาติชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทั้ง 9 แห่ง ธนาคารออมสินได้กำหนดแนวทาง “เยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” ด้วยแนวคิด “คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” ผ่าน 4 กระบวนการ คือ 1. เยียวยา ดำเนินการภายใต้มาตรการเสริมสภาพคล่องต่อเนื่องหลังจากการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนสิ้นสุด ด้วยการพักชำระหนี้ต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยให้เลือกชำระดอกเบี้ย 50 – 100% ได้ตามความสามารถ และยังคืนดอกเบี้ยให้อีก 20% (Cash Back) กรณีผ่อนขำระดีต่อเนื่อง รวมถึงขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไป ขณะเดียวกันได้ตั้งทีมคลินิกคลังสมอง หมอคลัง “เราไม่ทิ้งกัน” บริการด้วยระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์/ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์/สื่อสังคมออนไลน์ธนาคารออมสิน เช่น GSB Society ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลกับเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน รับเรื่องเยียวยา ให้คำปรึกษา ประสานเครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการประชาชนอย่างครอบคลุม รวดเร็วธนาคารออมสิน ยินดีดูแลผู้ได้รับผลกระทบที่เดินเข้ามาหาเรา ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยสามารถดำเนินชีวิตฝ่าฟันผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปให้ได้

กระบวนการที่ 2 การคืนอาชีพ ธนาคารฯได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยประชาชน สร้างงานชุมชน โครงการช่างประชารัฐ ให้ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงมีการจัด “ตลาดนัดเราไม่ทิ้งกัน” ทั่วประเทศ ขณะที่ กระบวนการที่ 3 คืนความสุข โดยธนาคารฯได้ร่วมกับชุมชนต่างๆ ดำเนินการ “ตู้คลังออมสินปันสุข” ทุกชุมชน ซึ่งได้นำร่องจัดทำไปแล้วในหลายพื้นที่ และต่อไปจะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม “ออมสินดูแล ห่วงใย ไม่ทิ้งกัน” สำหรับกระบวนการสุดท้าย กระบวนการที่ 4 ฟื้นฟูรายได้ ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนนาน จำนวน 4 ประเภท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 10,000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และ สินเชื่อซอฟท์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว

“ปัจจุบัน ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19) ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทำกิจกรรมหรือดำเนินชีวิตได้เป็นปกติให้มากที่สุดภายใต้หลักเกณฑ์ควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังได้เร่งออกมาตรการฟื้นฟูฯ ออกมาควบคู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมนี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่าหากต้องการความช่วยเหลือ จะได้รับอย่างแน่นอน โดยธนาคารออมสินยินดีดูแลผู้ต้องการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ ด้วยมุ่งหวังให้สามารถดำเนินชีวิตฝ่าฟันผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ให้มีความเป็นอยู่อย่างปกติตามสถานการณ์โดยเร็วและเหมาะสม” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

Advertising

Advertising

สถานการณ์จ้างงานดีต่อเนื่อง ว่างงานไตรมาส 3/65 ลดเหลือ 4.91 แสนคน

People Unity News : 5 พฤศจิกายน 2565 นายกฯ พอใจสถานการณ์จ้างงานดีต่อเนื่อง ขณะการว่างงานไตรมาส 3/65 ลดลงเหลือ 4.91 แสนคน ด้านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดตลาดนัดแรงงานดึงผู้ประกอบการออกบูธเปิดรับสมัครงานกว่า 1,500 ตำแหน่ง รับอุตสาหกรรมการบิน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถึงภาวะการมีงานทำของคนไทยประจำไตรมาสที่ 3/65 (ก.ค.-ก.ย.65) ซึ่งในภาพรวมสถานการณ์เป็นที่น่าพอใจ โดยประชาชนมีงานทำมากขึ้น ว่างงานลดลง เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งออกนโยบายเพื่อรักษาการมีงานทำของประชาชนตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด19

ทั้งนี้ไตรมาสที่ 3/65 ประเทศไทยมีประชากรผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 58.66 ล้านคน อยู่ในกำลังแรงงานอยู่ 40.09 ล้านคน นอกกำลังแรงงาน เช่น ทำงานบ้าน เรียนหนังสือ เด็ก คนชรา ผู้ป่วย และผู้พิการ 18.57 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.9 ล้านคนนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.57 ล้านคน เพิ่มจาก 39.01 ล้านคนในไตรมาสก่อนที่ 2/65 หรือเพิ่มขึ้น 5.6 แสนคน และเพิ่มขึ้น 8.2 แสนคนเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/64 ส่งผลให้การจ้างงานในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในการจ้างงานนอกภาคเกษตร ร้อยละ 4.3 เช่น ภาคบริการ การค้า และการ ขณะที่ภาคเกษตรการจ้างงานลดลงร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นไปตามภาวะปกติที่แรงงานภาคเกษตรจะลดลงเมื่อมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคบริการ การค้า และการผลิต

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของจำนวนผู้ว่างงาน ณ ไตรมาสที่ 3/65 อยู่ที่ 4.91 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ลดลงจาก 5.46 แสนคน หรือร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ 2/65 และจาก 9.11 แสนคน หรือ ร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ 3/64 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานสูงสุดในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ซึ่งสะท้อนรายได้ของแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นนั้นก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19

“นายกรัฐมนตรี พอใจกับสถานการณ์การมีงานทำของประชาชนที่ดีขึ้น กลับมาใกล้เคียงกับตอนก่อนการระบาดของโควิด 19 ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนผลสำเร็จของนโยบายที่รัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาการจ้างงาน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายมาตรการด้านสาธารณสุขจนผ่านพ้นวิกฤตและกำลังเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจในทุกมิติ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ทยอยเพิ่มการจ้างงานให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบินที่ขณะนี้มีแนวโน้มค่อนข้างสดใสด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 65 นี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ก็ได้จัดโครงการ “ตลาดนัดแรงงาน ณ ทสภ.” ครั้งที่ 8 (Suvarnabhumi Airport Job Fair 2022) ซึ่งเป็นงานที่รวมบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประมาณ 30 บริษัท มาออกบูธเพื่อรับสมัครพนักงานรวมกว่า 1,500 อัตรา ในตำแหน่งต่างๆ อาทิ วิศวกรไฟฟ้า พนักงานบริการลูกค้าภาคพื้น พนักงานคลังสินค้า พนักงานตรวจค้นผู้โดยสาร พนักงานรักษาความปลอดภัย ช่างเทคนิค

สำหรับผู้สนใจสามารถไปร่วมงานได้ในเวลา 9.00-15.00 น. ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 65 ณ ณ ศูนย์การขนส่งสาธารณะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนชุมชนสัมพันธ์ ฝ่ายกิจการพิเศษและมวลชนสัมพันธ์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หมายเลขโทรศัพท์ 0 – 2132 – 9084 , 0 – 2132 – 9093

Advertisement

ธอส.ต้อนรับปีใหม่ 2566 เปิดตัวเงินฝากออมทรัพย์ Happy Savings ดอกเบี้ยสูงสุด 2.25% ต่อปี

People Unity News : 6 มกราคม 2566 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ร่วมต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2566 จัดแคมเปญพิเศษสำหรับผู้รักการออมกับเงินฝากออมทรัพย์ Happy Savings รับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึง 2.25% ต่อปี (นับตั้งแต่วันที่เปิดบัญชีถึงวันที่ 31 มีนาคม 2569 ) เมื่อเปิดบัญชีเงินฝากตั้งแต่วันนี้ถึง  31 มีนาคม 2566 เพียงเปิดบัญชีขั้นต่ำ 10,000 บาท ขึ้นไป บุคคลธรรมดาได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากอัตราดอกเบี้ยเทียบเท่ากับได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 2.65% ต่อปี พิเศษ!! เปิดบัญชีตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 รับฟรี กระเป๋าบรรจุของใบใหญ่ 1 ราย/1 ใบ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL, GHB ALL GEN และ www.ghbank.co.th

Advertisement

นายกฯประชุมบอร์ด SME สนใจการแก้ปัญหาหนี้ของจีนนำมาปรับใช้กับไทยแก้หนี้ครัวเรือน

People Unity News : นายกฯประชุมบอร์ด  SME เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2565 จำนวน 1,224.8801 ล้านบาท มุ่งเป้าให้ MSME อยู่รอดหลังการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19

เมื่อวาน 25 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น.  ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 3/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งพัฒนา Single sign on (SSO) ระบบฐานข้อมูลสมาชิก สสว. เพื่อเชื่อมโยงการบริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ย้ำการใช้เงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เกิดความคุ้มค่า และประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SME โดยตรง ทั้งนี้ นายธนกร  วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะในที่ประชุมให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังล้าสมัยให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้คำนึงถึงการประกอบธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 และผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนที่จะได้รับ ซึ่งสามารถหารือร่วมกับสำนักงาน ป.ย.ป. และคณะทำงานด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการต่อยอดเศรษฐกิจ ยกระดับ SME รวมถึงการส่งเสริมให้มีพี่เลี้ยงสนับสนุนพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาขึ้นเป็น SME รายใหม่ ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกันกับศูนย์บ่มเพาะต่างๆที่มีอยู่ทั่วประเทศ เช่น ศูนย์ดิจิทัล ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงกันเป็นระบบและไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

นายกรัฐมนตรียังกำชับให้เร่งแก้อุปสรรคและข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME โดยจัดทำข้อมูลของ SME ให้ชัดเจนเพื่อใช้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งเงินทุนแต่ละประเภทได้อย่างเหมาะสม  รวมทั้งใช้ข้อมูลการบริหารงบประมาณของในส่วนของการพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดประกอบด้วย เพื่อเร่งสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนได้มากขึ้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมส่งเสริม SME ที่มีศักยภาพและมีนวัตกรรม  ส่วน SME ที่มีศักยภาพยังน้อย ก็ต้องหาแนวทางควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการค้าขายออนไลน์เพื่อให้ SME ขนาดเล็กสามารถขยายกิจการเป็นขนาดย่อมและขนาดใหญ่ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งทุกส่วนราชการช่วยกันดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งมอบหมาย สสว. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรออนไลน์และการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามาสู่ภาคเกษตรให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้

นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลได้มีการดูแลหนี้ของประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักการคือการแก้ปัญหาหนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งให้ความสนใจถึงการแก้ปัญหาหนี้ของจีนที่จะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยในการแก้ปัญหา “หนี้รายครัวเรือน” ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป

ที่ประชุมเห็นชอบมติสำคัญ  อาทิ ร่างระเบียบคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากเงินกองทุนสานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ผ่านผู้ให้บริการทางธุรกิจ พ.ศ. ….   รวมทั้งมีมติเห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม ประจาปี 2565 จำนวน 1,224.8801 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้ MSME อยู่รอด หลังการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 บรรเทาปัญหาและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งให้อยู่เป็นโดยการสร้างความพร้อมให้ SME ในการเข้าสู่ การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ และอยู่อย่างยั่งยืนคือ การปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เกิดความสะดวกแก่ SME

Advertising

รัฐบาลเดินหน้า รถไฟทางคู่สายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”

People Unity News : 15 ตุลาคม 65 รัฐบาลเดินหน้านับหนึ่งแล้ว กับการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” นายกฯ กำชับเร่งดำเนินการตามแผน เร่งเวนคืนที่ดินและส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง รฟท.พร้อมเปิดให้บริการปี 2571

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ระยะทาง 323 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง และการขนส่งจากประเทศไทยไปสู่ สปป.ลาว และประเทศจีนได้นั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าโครงการนี้อย่างใกล้ชิด โดยกำชับให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผน ทั้งนี้ การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอยู่ในขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน ซึ่งผู้รับจ้างได้เริ่มปฏิบัติงานตามหนังสือแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงานแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้า 0.051% ล่าช้ากว่าแผนงาน 0.102% (ข้อมูลเดือนกันยายน 2565) ทั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 71 เดือน หรือประมาณ 6 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดงานอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2571

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งสัญญาจ้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว งานโยธา งานระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 104 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,560 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.14%, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย งานโยธา งานระบบราง และงานระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 135 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.37% และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ งานโยธา งานวางระบบราง และงานอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 84 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 19,385 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.50% ทั้ง 3 สัญญาสิ้นสุดการปฏิบัติงานเดือนมกราคม 2571

ทั้งนี้ ภาพรวมผลงานการก่อสร้างล่าสุด ในส่วนของงานตามข้อกำหนดทั่วไป (General Requirements) ผู้รับจ้างได้จัดหา และบำรุงรักษาสำนักงานสนามสำหรับวิศวกร และผู้ควบคุมงาน รวมทั้งจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์สำหรับสำนักงานสนาม ตลอดจนจัดหาเจ้าหน้าที่สำนักงาน จัดประชาสัมพันธ์โครงการ และรับฟังความคิดเห็นก่อนดำเนินโครงการแล้ว ส่วนงานดิน (Earthwork) ผู้รับจ้างได้ดำเนินการปรับพื้นที่โดยถากถาง และขุดตอขุดราก (Clearing and Grubbing) และก่อสร้างคันทางดินถมด้วยวัสดุดินจากแหล่งภายนอก ขณะที่งานอุโมงค์ (Tunnelling Works) ผู้รับจ้างได้ดำเนินการสำรวจทางธรณีเทคนิคก่อนการก่อสร้าง เพื่อจัดทำรายงานและนำมาคำนวณปริมาณงานตามการออกแบบ สำหรับงานขุดทั่วไป ผู้รับจ้างได้ดำเนินการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ เพื่อนำมาคำนวณปริมาณงานตามภาพตัดทางธรณีวิทยา ส่วนผลงานการเวนคืนที่ดิน ปัจจุบันดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน และประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างทยอยทำสัญญาจ่ายค่าเวนคืน และส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะช่วงที่เป็นสายงานวิกฤติของงานก่อสร้าง

โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีจุดเริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านจังหวัดลำปาง พะเยา และสิ้นสุดบริเวณด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่ใช้เวลาดำเนินการยาวนานมากนับตั้งแต่เริ่มศึกษาโครงการเมื่อปี 2503 ผ่านรัฐบาลหลายยุค จนกระทั่งปี 2561 ครม. มีมติอนุมัติโครงการ ถือเป็นการปลดล็อค 60 ปี ที่รอคอย

โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ ที่จะเปิดพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและการค้า โดยผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก ตามหลัก Universal Design และยังมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทาง มีสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง ทางรถยนต์ลอดรถไฟ 102 แห่ง มีทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ ทั้งนี้เส้นทางโครงการฯ อยู่ในพื้นที่ จ.แพร่ ระยะทาง 77.20 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ เด่นชัย, สูงเม่น, แพร่, แม่คำมี ,หนองเสี้ยว และสอง อยู่ในพื้นที่ จ.ลำปาง ระยะทาง 52.40 กิโลเมตร มี 3 สถานี คือ แม่ตีบ ,งาว และปงเตา อยู่ในพื้นที่ จ.พะเยา ระยะทาง 54.10 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ มหาวิทยาลัยพะเยา, บ้านโทกหวาก ,พะเยา , ดงเจน, บ้านร้อง และบ้านใหม่ และอยู่ในพื้นที่ จ. เชียงราย ระยะทาง 139.40 กิโลเมตร มี 11 สถานี คือ ป่าแดด, ป่าแงะ, บ้านโป่งเกลือ ,สันป่าเหียง, เชียงราย, ทุ่งก่อ, เวียงเชียงรุ้ง, ชุมทางบ้านป่าซาง, บ้านเกี๋ยง, ศรีดอนชัย และเชียงของ

เมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของแล้วเสร็จ จะเป็นการสร้างสถิติใหม่ และไฮไลท์สำคัญ เพราะจะเป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้มีเส้นทางผ่านภูเขาสูง และเขตอุทยาน จึงต้องออกแบบก่อสร้างเป็นคันทางระดับดิน และทางรถไฟยกระดับ รวมถึงมีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์ 4 แห่งซึ่งมีความสูงเหนือระดับพื้นดิน เท่ากับตึกประมาณ 20 ชั้น โดยระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้น และขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร ที่ จ.แพร่ อยู่อำเภอสอง 2 อุโมงค์ โดยอุโมงค์ที่ 1 มีความยาว 1.175 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 2 ความยาว 6.240 กิโลเมตร ส่วนอุโมงค์ที่ 3 อยู่ อ.เมือง จ.พะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.400 กิโลเมตร

นอกจากนี้ตลอดสองข้างทางของเส้นทางสายใหม่ ยังมีความสวยงามของธรรมชาติ ผู้โดยสารจะได้เพลิดเพลินไปกับวิวผืนป่าที่เขียวชอุ่ม สดชื่นสบายตาแบบพาโนรามา โดยรถไฟจะแล่นผ่านเทือกเขา สะพาน สลับกับลอดอุโมงค์ จึงขึ้นแท่นเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามตลอดทาง และจะสร้างความประทับใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเดิม และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ รถไฟสายนี้จึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก นอกจากช่วยสนับสนุนการขนส่งสินค้าไปยังจีนตอนใต้แล้ว ยังเป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสาร และมองว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ เดินทางเข้ามายัง จ.แพร่มากขึ้น เพื่อเดินทางต่อไปยัง จ.เชียงราย และ อ.เชียงของ ข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

รถไฟสาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1 ชม.-1.30 ชม. เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ จึงเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และเป็นการเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ เพิ่มช่องทางส่งออกสินค้าจากไทย และสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้า การลงทุนของประเทศด้วย

Advertisement

“จุรินทร์”โชว์ 13 ความสำเร็จของไทยบนเวทีรมต.ศก.อาเซียน

People Unity News : “จุรินทร์”นำสรุป 13 เรื่อง เป็นผลความสำเร็จประเทศไทย ในฐานะประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน มั่นใจคืบหน้าและสำเร็จทั้งหมด

วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนฐานะประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 เปิดเผยผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 ว่า ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันในฐานะประธานอาเซียน (Priority Economic Deliverables) ในคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยินดีกับความสำเร็จและรับทราบความคืบหน้า Priority Economic Deliverables โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นถือเป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดสุดท้ายที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งตนทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ถัดจากนี้ก็เป็นการประชุม ASEAN SUMMIT ที่ท่านนายกฯ(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ) จะต้องเป็นประธานแล้ว

การประชุมครั้งสุดท้ายสำหรับที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปผลความสำเร็จของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ สำหรับด้านเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามเสาหลัก 1 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการที่จะผลักดันประเด็นสำคัญใน 3 หัวข้อใหญ่ คือ หัวข้อที่ 1 ก็คือในเรื่องของการเตรียมการรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หัวข้อที่ 2 การเชื่อมโยง หัวข้อที่ 3 การเดินหน้าไปด้วยกันไปสู่ความยั่งยืน ซึ่ง 3 หัวข้อนี้เป็นหัวข้อใหญ่และภายใต้ 3 หัวข้อนี้จะแปลงออกไปเป็นประเด็นสำคัญสำคัญทั้งหมด 13 ประเด็นด้วยกัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ซึ่งทั้ง 13 ประเด็นนั้นขอเรียนให้ได้รับทราบว่ามีความคืบหน้าและมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จครบทั้ง 13 ประเด็นภายในสิ้นปีนี้ในขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานที่ประชุมอาเซียน สำหรับปีต่อไปเป็นหน้าที่ของประเทศเวียดนามและต้องรอดูต่อไปว่าเวียดนามจะกำหนดประเด็นในการผลักดันเรื่องอะไรต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับ 13 ประเด็นในรายละเอียดนั้นขออนุญาตเรียนให้ทราบว่าประกอบด้วย
1 .แผนงานด้านดิจิตอลของอาเซียน
2 .แผนงานในการส่งเสริมนวัตกรรมอาเซียน
3 .การเตรียมการสำหรับการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือเรื่องของการใช้แรงงานพัฒนาแรงงานคนเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรการใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต
4.การเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
5 .การเตรียมการที่จะนำ SME ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เช่น การค้าออนไลน์ เป็นต้น
6 .การดำเนินการในเรื่อง ASEAN Single Window การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันที่ต้องมี อำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์ และไม่ซ้ำซ้อนทำให้การส่งออกระหว่างการคล่องตัวยิ่งขึ้น
7.เรื่องการผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วอย่างน้อยสามคู่ คือ ระหว่างไทยฟิลิปปินส์ ระหว่างไทยอินโดนีเซีย และระหว่างไทยกับมาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือของแบงค์ชาติของเรากับธนาคารพาณิชย์ของสามประเทศ
8.ก็คือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบที่เรียกว่า PPP
9 .การร่วมมือกันระหว่างอาเซียนในการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การใช้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว
10 .คือการแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันผลักดันให้ RCEP ซึ่งอาเซียนเป็นศูนย์กลางของ RCEPจบภายในสิ้นปีนี้
11 .ในเรื่องของการผลักดันเครือข่าย IUU ของอาเซียน คือ การทำประมงอาเซียนที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน
12 .เรื่องการส่งเสริมตลาดทุนของอาเซียนในประเทศต่างๆเพื่อเมื่อจะรับบริษัทเข้าไปจดทะเบียนโดยคำนึงถึงเป้าหมายของบริษัทนั้นนั้นที่มุ่งเน้นความยังยืนเช่น สิ่งแวดล้อมเป็นต้น
13 .ประเด็นสุดท้าย คือ การผลักดันให้มีการลงนาม ศูนย์พลังงานอาเซียนระหว่าง มหาวิทยาลัยต่างๆในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพ

ทั้ง 13 ประเด็นใน 13 หัวข้อใหญ่ที่ประเทศไทยได้กำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกันในฐานะประธานอาเซียนนี้ขอเรียนว่าเรามั่นใจว่าสิ้นปีนี้ จะสามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จครบทั้ง 13 หัวข้อ

ส่วนการลงนามวันนี้ (พิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน) เป็นการลงนามในพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งเป็นการปรับปรุงกลไกระงับข้อผิดพลาดที่เราใช้มา 10 กว่าปีมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทเที่ยวนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนกระบวนการต่างๆเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกอาเซียนเช่นการระบุชัดเจน ในเรื่องขั้นตอนระยะเวลาฟ้องร้องว่าใช้ระยะเวลากี่วันการพิจารณาคดีจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงระยะเวลาเท่าไร อย่างไร และมีการเพิ่มกลไกทางเลือกให้คู่พิพาทเลือกได้ เช่น อาจไม่ต้องไปสู่คณะลูกขุนแต่ใช้อนุญาโตตุลาการได้เป็นต้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้พิพาทรวมทั้งประเทศที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องข้อกฎหมายแนวทางการปฏิบัติต่างๆนี่คือพิธีสารที่จะมีการลงนามในเรื่องของกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนหลักใหญ่จะล้อกับหลักการของ WTO ที่ใช้กัน

13 มี.ค. “บิ๊กตู่” เปิดงาน “One Transportation for all” ที่ขอนแก่น-โคราช เร่งรถไฟทางคู่อีสาน

People unity : รัฐบาลเดินหน้าโครงข่ายคมนาคมรถไฟทางคู่ โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดงาน “One Transportation for all : ระบบคมนาคมหนึ่งเดียว เพื่อประชาชนทุกคน” ณ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเป็นประธานเปิดงาน “One Transportation for all : ระบบคมนาคมหนึ่งเดียว เพื่อประชาชนทุกคน” โดยกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาเครือข่ายคมนาคมและศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางรางและถนน ณ จังหวัดนครราชสีมา และทดลองการเดินรถในโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายรถไฟทางคู่ เส้นทางสายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ณ จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย โดยในวันพุธที่ 13  มีนาคม 2562  นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติภารกิจสำคัญ ณ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา  ดังนี้

ช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการใช้งานอาคารสถานีรถไฟขอนแก่น และตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่และทดลองเดินรถในโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายรถไฟทางคู่ เส้นทางสายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น  ช่วงบ่าย เป็นประธานเปิดงาน “One Transportation for all : ระบบคมนาคมหนึ่งเดียว เพื่อประชาชนทุกคน” ของกระทรวงคมนาคม และตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา จุดเชื่อมต่อการคมนาคมรถไฟทางคู่

ทั้งนี้ การตรวจราชการส่วนภูมิภาคเป็นหนึ่งในภารกิจที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายรัฐบาลด้วยตนเอง อีกทั้งยังทำให้เข้าใจลักษณะพื้นที่ สภาพปัญหา ความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อเป้าหมายการพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาจังหวัด ทำให้จัดสรรงบประมาณได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยสร้างการรับรู้ของประชาชนต่อนโยบายของรัฐบาล และเป็นขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

เศรษฐกิจ : 13 มี.ค. “บิ๊กตู่” เปิดงาน “One Transportation for all” ที่ขอนแก่น-โคราช เร่งรถไฟทางคู่อีสาน

People unity : post 11 มีนาคม 2562 เวลา 10.20 น.

Verified by ExactMetrics