วันที่ 25 เมษายน 2024

มท.1 ย้ำมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ

People Unity : มท.1 ย้ำชัดมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้ ปชช.

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2562 เวลา 13.00 น. ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารอิมแพ็คฟอรัม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายและบรรยายพิเศษ เรื่อง “กระทรวงมหาดไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังกว่า 1,000 คน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นกลไกของรัฐบาล เนื่องจากมีโครงสร้างในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ท้องถิ่น ท้องที่ และส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ ดังนั้น ทุกกระทรวงที่จะดำเนินนโยบายในระดับพื้นที่จะต้องผ่านโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งสิ้น ดังนั้น บทบาทของพัฒนากรจังหวัด อำเภอ จะต้องพัฒนาชุมชนในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ฯลฯ จึงถือว่านักพัฒนากรคือมือไม้ของรัฐบาลในส่วนภูมิภาค

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งในด้านเศรษฐกิจฐานรากนั้นได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และหลักประชารัฐคือ การมีส่วนร่วมของรัฐ เอกชน และประชาชน เป็นรากฐานในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ดังนั้น นโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกรมการพัฒนาชุมชน ต้องทำทั้งในส่วนของอำนาจหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน และช่วยสนับสนุนงานของรัฐบาลและกระทรวงอื่นๆที่ลงไปในพื้นที่ด้วย เช่น การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ OTOP และช่องทางจำหน่าย การขับเคลื่อนหมู่บ้านชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาตลาดประชารัฐให้เป็นตลาดที่สะอาดและปลอดภัย ผ่านการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โครงการตลาดประชารัฐ และการขับเคลื่อนภาคประชารัฐ (SE) หรือนโยบายของรัฐบาล เช่น การให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจัดการกองทุนต่างๆในพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และยั่งยืน การป้องกันและแก้ไขยาเสพติด เป็นต้น

ท้ายสุด พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เน้นย้ำว่า ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงมหาดไทย คือ ต้องสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระจายรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก  ตรงตามความต้องการของประชาชนและสภาพปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

เศรษฐกิจ : มท.1 ย้ำมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ

People Unity : post 18 สิงหาคม 2562 เวลา 13.30 น.

กรมการค้าภายใน คิกออฟจับมือห้างท้องถิ่น เปิดจุดขายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง 200 จุด

People Unity News : 29 เมษายน 2566 กรมการค้าภายใน คิกออฟ “Fruit Festival 2023” จับมือห้างท้องถิ่น เปิดจุดจำหน่ายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ปริมาณกว่า 1,000 ตัน ใน 200 จุดทั่วประเทศ ประชาชนแห่ซื้อ หลายจุดหมดเกลี้ยงในพริบตา

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ผนึกกำลังร่วมกับชมรมทายาทห้างค้าปลีก-ค้าส่งแห่งประเทศไทย (ห้างท้องถิ่น) ซึ่งมีสาขารวมกันกว่า 200 สาขาทั่วประเทศ แยกเป็นภาคอีสาน 69 สาขา ภาคใต้ 52 สาขา ภาคกลาง 41 สาขา ภาคเหนือ 38 สาขา ทำการ Kick off กิจกรรม Fruit Festival 2023 โดยนำมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จากแหล่งผลผลิตในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก กว่า 1,000 ตัน หรือ 1 ล้านกิโลกรัม มาเปิดจุดจำหน่ายในราคา 30 บาท/กิโลกรัม (กก.) เพื่อช่วยพี่น้องชาวสวนได้มีตลาดรองรับผลผลิตที่กำลังออกสู่ตลาดมากในขณะนี้ และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาบริโภคผลไม้เพิ่มขึ้น และผลักดันให้ราคามะม่วงน้ำดอกไม้ปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โดยจากการติดตามกิจกรรมเปิดจุดจำหน่ายมะม่วงร่วมกับห้างท้องถิ่นกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเดินทางมาซื้อมะม่วงตลอดทั้งวัน และบางจุดมะม่วงจำหน่ายหมดเกลี้ยงในพริบตา และผลผลิตที่เหลือคาดว่าจะจำหน่ายหมดเร็ว ๆ นี้ และเมื่อจำหน่ายหมด กรมจะเข้าไปรับซื้อมะม่วงจากเกษตรกรในพื้นที่ ๆ ผลผลิตออกมาก มาเปิดจุดจำหน่ายต่อไป ซึ่งไม่ใช่แค่เปิดจุดจำหน่ายผ่านห้างท้องถิ่น แต่ในห้างค้าส่งค้าปลีก เช่น โลตัส บิ๊กซี แมคโคร ท็อปส์ ได้เปิดจุดจำหน่ายมะม่วง และผลไม้อื่น ๆ ในโครงการ Fruit Festival 2023 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลจากการนำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อมะม่วงจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิตและกระจายออกนอกแหล่งผลิตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคามะม่วงน้ำดอกไม้ เกรด AB ปัจจุบันอยู่ที่ 20-25 บาท/กิโลกรัม (กก.) สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ 15-20 บาท/กก. ส่วนมะม่วงฟ้าลั่น ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 9-10 บาท/กก. สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ 6-7 บาท/กก.และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน และกูร์เมต์ มาร์เก็ต เปิดงาน “พาณิชย์ Fruit Festival 2023” ซึ่งเป็น 1 ใน 22 มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2566 เป็นครั้งแรก ณ พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อจำหน่ายผลไม้สดและแปรรูปมากกว่า 100 ชนิด เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด สับปะรดภูแล ส้มสายน้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ไอศกรีมทุเรียนและผลไม้ บ้าบิ่นทุเรียน พิซซ่าหน้าผลไม้ เป็นต้น และได้ร่วมมือกับพันธมิตรเอกชนและผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เช่น สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง (พีที พีทีทีสเตชัน บางจาก เชลล์) นิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการแปรรูป การเคหะแห่งชาติ ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ส่วนราชการท้องถิ่นเข้ามาช่วยระบายผลผลิตมะม่วงผ่านช่องทางที่ตัวเองมีอยู่ ทั้งการนำไปจำหน่ายในปั๊มน้ำมัน รับพรีออเดอร์ผลไม้จากนิคมอุตสาหกรรม นำไปเปิดจุดจำหน่ายที่การเคหะแห่งชาติ ส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการระบายผลไม้ และช่วยให้ประชาชนสามารถหาซื้อผลไม้ไปบริโภคได้ง่ายขึ้น และในปี 2566 คาดการณ์ผลผลิตผลไม้ในประเทศจะมีปริมาณ 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.2 ล้านตัน จากผลผลิต 6.56 ล้านตันในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 3% โดยผลผลิตที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ได้แก่ ทุเรียน เพิ่ม 18% มังคุด เพิ่ม 22% เงาะ เพิ่ม 4% ลองกอง เพิ่ม 80% และลำไย เพิ่ม 0.8%

และที่สำคัญกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับภาคเอกชนและเกษตรกร ประชุมกำหนดแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2566 ไว้ล่วงหน้าแล้ว และกำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566 จำนวน 22 มาตรการ มีเป้าหมายการรับซื้อผลผลิตรวม 700,000 ตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มนำมาตรการต่าง ๆ มาขับเคลื่อน เพื่อดูแลผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว ทำให้ราคาผลไม้อยู่ในเกณฑ์ดีตั้งแต่ต้นฤดู เช่น มะม่วงฟ้าลั่น ราคาสูงกว่าปีก่อน 46% มะม่วงน้ำดอกไม้ เพิ่ม 29-40% มังคุด เพิ่ม 80-146% เงาะโรงเรียน เพิ่ม 94% ทุเรียนหมอนทอง เพิ่ม 5% เป็นต้น

Advertisement

“สมคิด”เรียกหน่วยงานสังกัดก.คลังถกรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว

People Unity News : “สมคิด”เรียกหน่วยงานสังกัดก.คลังถกรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว โอ่ไทยเนื้อหอมนักลงทุนต่างชาติเตรียมแห่เข้าลงทุนเพียบ ขณะที่”อุตตม”ยันไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคลัง กล่าวว่า นักลงทุนรายใหญ่ทยอยติดต่อเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง (CCPIT) นำกลุ่มนักลงทุนมณฑลกวางตุ้งของจีนเข้ามาขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยังมีกลุ่มผู้บริหารไมโครซอร์ฟและอเมซอน ยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลของสหรัฐ รวมทั้งประธานสภาธุรกิจอังกฤษ-อาเซียน และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ( JBIC) นับว่าต่างชาติแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยสูงมาก

“จึงขอให้กระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกต่อการเข้ามาขยายการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะต่างชาติยังทยอยเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แสดงว่าไทยยังมีโอกาสสูงมาก เพราะความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทย มองเห็นแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ได้กังวลเรื่องปัจจัยเสี่ยง แม้ว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงเตือนระวังการลงทุนในภูมิภาคต่างๆ จากสภาเศรษฐกิจโลก” นายสมคิด กล่าววและว่า

จึงหารือกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง เพื่อประเมินสถานภาพเศรษฐกิจไทยทุกด้านเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมมาตรการออกมารองรับในช่วงเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ยอมรับว่าแรงซื้อสินค้าและการบริโภคด้านต่างๆ ของไทยเริ่มดีขึ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลโครงการชิมช้อปใช้เริ่มส่งผลออกมาในช่วงไตรมาส 3 จึงเป็นสัญญาณที่ดีและน่าพอใจ ยอมรับว่าการส่งออกน่าเป็นห่วง เพราะกำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง จึงหวังรายได้จากการส่งออกยากขึ้น และสั่งเข้มงวดการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมจัดเก็บรายได้หลักให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต แต่ต้องไม่บั่นทอนการบริโภคของประชาชน ส่วนคำสั่งนายกรัฐมนตรีเปิดทางให้นำเงินสำนักงานประกันสังคมออกมาปล่อยกู้เพื่อการลงทุนนั้น เป็นเรื่องพิจารณาในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูว่าเงินกองทุนเหล่านี้ควรนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ต้องนำใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัยไม่กระทบต่อฐานะหรือสมาชิกกองทุน สปสช.

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องดูแลเศรษฐกิจภาพรวม เพื่อพิจารณาว่ามีมาตรการที่เหมาะสม และช่วงเวลาจำเป็น เพื่อออกมาดูแลเศรษฐกิจขณะนี้ การจัดสรรงบประมาณปี 2563 จะเริ่มใช้จ่ายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 มาตรการแต่ละด้านต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าใช้งบประมาณ โดยเริ่มทำมาแล้วไม่ได้รองบปี 63 เพราะได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

การเสนอข่าวช่วงนี้มีความเปราะบาง อยากให้ระมัดระวัง เพราะหากกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศจะไม่เกิด การบริโภคไม่เกิดขึ้น หากเศรษฐกิจไทยไม่ย่ำแย่ตามที่เป็นข่าว แม้ได้รับผลกระทบจากการค้าโลก ต้องช่วยกันฟันฝ่าไปให้ได้ ประเทศอื่นแย่กว่าไทย เพราะข่าวที่ออกไม่ใช่ครบถ้วน ไม่ใช่ข่าวจริง หากข้อมูลใดออกมาไม่ชัดเจน ขออย่าสรุปตามข้อมูลดังกล่าว จึงขอให้ระมัดระวัง เพราะไทยไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่ในระยะสั้น ทั้งปัญหาหนี้เสีย เพราะไทยผ่านปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว ทั้งหนี้เสียสูง ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงเกินจริง เก็งกำไร แต่ปัจจุบันไม่มีสัญญาณดังกล่าว ต่างชาติยังรับรู้ จึงทยอยเข้ามาขยายการลงทุน” นายสมคิด กล่าว

สำหรับข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) จัดอันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจทั่วโลกปี 2562 นั้น เป็นการสอบถามภาคเอกชน เพื่อขอความเป็นต่อการเข้ามาลงทุนในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อประเมินว่าทั้งโลกมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง 30 ปัจจัย จึงสำรวจความเห็นนักธุรกิจแต่ละประเทศ เพื่อให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยง 30 ประการต้องให้ความสำคัญ ในส่วนของไทยเอกชนให้ความเห็น 5 ด้าน ต้องให้ความระวัง คือ เศรษฐกิจฟองสบู่ ไม่ได้หมายความว่าไทยมีความเสี่ยงสูงสุด เพราะคำถาม คือ ในช่วง 10 ปีข้างหน้าควรระมัดระวังปัจจัยอะไร ไม่ใช่ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจมีสภาพอย่างไร

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า การโจมตีทางไซเบอร์ เรื่อง Governance แปลบอกว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งเป็นการแปลความผิดเพี้ยน จึงพาดหัวว่า “สภาธุรกิจไทยระบุว่าไทยมีความเสี่ยงที่สุด” นับว่าเป็นคนละเรื่องกัน ผลจึงเกิดกับประเทศไทยสูงมาก จึงขอให้ระวังการนำเสนอข้อมูล เพราะประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นเจอหนักกว่าไทย ทั้งการว่างงาน เรื่อง Governance เรื่องฟองสบู่ หนักกว่าไทย แต่กลับมาทำให้ไทยดูแย่มากกว่าประเทศอื่น ดังนั้น ในสภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดีต้องเสนอข้อมูลอย่างระมัดระวัง การแถลงข้อมูลต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ควรแปลผิดแปลถูก จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความระมัดระวัง

ครม. เพิ่มมาตรการดึงต่างชาติถ่ายหนังในไทย คืนเงินให้กองถ่าย 150 ล้านบาท

People Unity News : 7 กุมภาพันธ์ 2566 ครม. ทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ คืนเงินเป็นร้อยละ 20-30 เพิ่มเพดานการคืนเงิน 150 ล้านบาท หวังดึงดูดกองถ่ายต่างชาติ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยการปรับเกณฑ์ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิม ร้อยละ 15-20 เพิ่มเป็นร้อยละ 20-30 ระยะเวลา 2 ปี โดยมีสิทธิประโยชน์ร้อยละ 20 เมื่อลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 10 หลังจากนี้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับปรุงประกาศกรมการท่องเที่ยว หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เช่น การกระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างงานคนไทย การเพิ่มมูลค่าค่าใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนโดยตรง

ส่วนที่ 2 การปรับเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่องเป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนต์ต่อเรื่องเพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อเป็นการรับกับแนวโน้มคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ โดยเรื่องที่เข้ามาถ่ายทำในไทยสูงสุดขณะนี้คือภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง Thai Cave Rescue

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำาภาพยนตร์ต่างประเทศเนื่องมาจากปัจจุบันประเทศต่างๆ เห็นประโยชน์จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) หรือคืนภาษี (Tax Rebate/Tax Credit) เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศตนอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข สำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยทั้ง 2 ส่วน จะส่งผลต่อภาระงบประมาณในปี 2567-68 (มาตรการมีผลในปี 66 แต่การคืนเงินจะเกิดขึ้นในปี 67-68) รวม 2 ปี เพิ่มขึ้นจาก 821.82 ล้านบาท เป็น 1,845 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.54

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพกว้าง มีเงินจากการลงทุนของบริษัทภาพยนตร์หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น 900-1,200 บาทต่อปี กระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ และการที่ชาวไทยได้ร่วมงานกับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนอกจากจะให้คนไทยได้รับการจ้างงานเพิ่มกว่า 800 อัตราต่อปี ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มทักษะและประสบการณ์ เป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับสากลด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มมีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งได้มีคณะถ่ายทำได้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2562 ก่อนเกิดโควิด19  ประเทศไทยมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 4,463 ล้านบาท ส่วนปี 64 ที่ยังมีโควิด19 ผู้สร้างภาพยนตร์ก็ยังคงเข้ามาถ่ายทำในไทยสร้างรายได้ 5,007 ล้านบาท

โดยนับแต่มีมาตรการส่งเสริม ได้มีภาพยนตร์ 43 เรื่องที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์  ทั้งหมดนี้สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในไทย 8,560 ล้านบาท มีภาพยนตร์ที่ได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ 34 เรื่อง เงินลงทุน 6,283 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย เช่น ค่าจ้างทีมงานชาวไทย ค่าเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่ารถ ค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันโควิด ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

โดย ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 รัฐบาลได้จ่ายเงินคืนภายใต้มาตรการดังกล่าว  29 เรื่อง เป็นเงิน 772 ล้านบาท เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวฯ 560 ล้านบาท และจากการจัดสรรงบกลางเพิ่มเติม 212 ล้านบาท

Advertisement

ข่าวดี!! การรถไฟฯ จัดโปรลดค่าขนส่งพัสดุรายย่อยไม่เกิน 2 กก. เหมาจ่าย ชิ้นละ 30 บาท

People Unity News : 17 ตุลาคม 2566 ทำเนียบฯ – การรถไฟฯ จัดโปรโมชั่นลดค่าบริการขนส่งพิเศษ พัสดุรายย่อยไม่เกิน 2 กก. เหมาจ่าย ชิ้นละ 30 บาท ช่วยลดค่าครองชีพ ถึง 31 มีนาคม 67

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ดำเนินการปรับลดค่าบริการขนส่งพิเศษสำหรับพัสดุประเภทหีบห่อวัตถุมีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม เหลือเพียงชิ้นละ 30 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดต้นทุนและรายจ่ายแก่ประชาชน ผู้ประกอบการ ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านออนไลน์ รวมถึงเอสเอ็มอี ให้มีต้นทุนการขนส่งที่ถูกลงกว่าปกติถึง 50-70% เริ่มเปิดให้บริการได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มีนาคม 2567

สำหรับสินค้าใช้บริการขนส่งดังกล่าว นายคารมกล่าวว่า จะต้องบรรจุในกล่องหรือซองที่ปิดมิดชิด แข็งแรง เป็นสินค้าที่ไม่เน่าเสียง่าย และมีน้ำหนักต่อชิ้นไม่เกิน 2 กิโลกรัม เช่น อะไหล่ เสื้อผ้า อาหารแห้ง โดยคิดอัตราค่าบริการแบบเหมาจ่ายชิ้นละ 30 บาท ตลอดระยะทางที่มีการขนส่งสินค้าของขบวนรถสินค้าและขบวนรถโดยสาร นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการสามารถรวมส่งสินค้าในครั้งเดียวกันได้ถึง 10 ชิ้น ซึ่งจะคิดค่าบริการเป็นรายชิ้นโดยไม่คิดค่าบริการยกขึ้นลง ตลอดจนมีการรับประกันความเสียหายของสินค้าที่เกิดจากการขนส่งตามระเบียบของการรถไฟฯ อีกด้วย

“ขอเชิญชวนประชาชนใช้บริการโปรโมชั่นพิเศษนี้ได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุดข้าราชการ และสามารถใช้บริการได้ทุกสถานีที่มีการรับ-ส่งสินค้าของการรถไฟฯ ซึ่งแต่ละครั้งจะใช้เวลาขนส่งจากต้นทางถึงปลายทางที่รวดเร็วภายใน 1-2 วัน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.railway.co.th หรือ Call Center 1690” นายคารม กล่าว

Advertisement

นายกฯ ยืนยัน เดินหน้ารัฐบาลดิจิทัล นำเทคโนโลยี AI คลาวด์ ยกระดับเศรษฐกิจ ผลักดันไทยเป็นเป้าหมายการลงทุน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 ธันวาคม 2566 นายกฯ ยืนยัน เดินหน้ารัฐบาลดิจิทัล นำเทคโนโลยี AI คลาวด์ ยกระดับเศรษฐกิจ ผลักดันไทยเป็นเป้าหมายการลงทุน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษในงาน “Google Digital Samart Thailand” ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ ระบุว่า รัฐบาลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Google เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังเทคโนโลยีสำคัญอย่างเช่น AI ในระบบคลาวด์ โดยความร่วมมือนี้จะช่วยสนับสนุนความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเพิ่มโอกาสสร้างงานที่มีมูลค่าสูงและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักสำหรับการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก ผมต้องขอบคุณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือกับ Google ทั้งในเรื่องของ AI คลาวด์ และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ทั้งนี้ หลังจากการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC รัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย เรื่องแรกคือ การจัดทำนโยบาย Go Cloud First ที่เราได้ร่วมมือกับ Google ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะนำนโยบายนี้ไปใช้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การนำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้ในการดำเนินการของรัฐบาลจะช่วยปรับปรุงคุณภาพและความรวดเร็วในการให้บริการแก่ประชาชน เรื่องที่สอง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน และรัฐบาลกำลังวางแนวทางสำหรับกรอบการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กมช. จะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้ และเรื่องที่สาม รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการใช้ Generative AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน โดย Google Cloud จะช่วยจัดฝึกอบรมและมอบเครื่องมือที่จำเป็นแก่บุคลากรของรัฐ ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจ AI ยุคใหม่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังย้ำด้วยว่า รัฐบาลและ Google จะทำงานร่วมกันต่อไปโดยให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Advertisement

“สนธิรัตน์”เผยปี 63 เริ่มคิกออฟลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน

People Unity News : “สนธิรัตน์”เผยนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนได้รับความสนใจจากผู้ประกอบและท้องถิ่นทั่วประเทศอย่างคึกคัก เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์ลงทุนและเริ่มคิกออฟ ปี ’63 ตั้งเป้าหมาย 1,000 MW ดันเศรษฐกิจไทยเงินสะพัดกว่า 1 แสนล้านบาท

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ยกร่างหลักเกณฑ์และแนวทางการร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเสร็จแล้ว โดยจัดทำรายละเอียดที่ครบสมบูรณ์และได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับจากเวทีรับฟังความความคิดเห็นมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและประชาชน

หลังจากนี้ พพ.เตรียมนำเสนอร่างหลักเกณฑ์ฯ นี้ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563

“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเป็นเจ้าของพลังงานได้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ยกระดับชุมชนสู่การเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้จำหน่ายไฟฟ้า ขณะนี้จึงได้รับความสนใจอย่างมากมาย มีองค์กรท้องถิ่นและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพลงทุน สอบถามเข้ามายังกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ร่างหลักเกณฑ์ฯ ที่กำลังจะออกมานี้จึงถือเป็นการสร้างความชัดเจนให้ทุกฝ่ายได้ดำเนินงานขั้นต่อไป”

นายสนธิรัตน์ เชื่อมั่นว่า โรงไฟฟ้าชุมชนถือเป็นการพลิกมิติด้านพลังงานครั้งสำคัญ จากที่เคยถูกมองว่าอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ มาสู่มือของประชาชนคนเล็ก คนน้อยสามารถมีสิทธิ์ มีเสียง มีส่วนร่วมกับชุมชนของตนเองได้ โดยอาศัยวัตถุดิบทางการเกษตร พืชผลพลังงานตามบริบทของท้องถิ่น และทรัพยากรหมุนเวียนตามธรรมชาติ เช่น แสงแดด นับว่าสอดคล้องกับทิศทางด้านพลังงานสะอาดและกระแสอนุรักษ์ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังก้าวไปอีกด้วย

สำหรับขนาดของโรงไฟฟ้าชุมชนแต่ละแห่งนั้น จะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (vspp) ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์/โรง มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ซึ่งนโยบายของกระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายจะส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทนี้และเข้าระบบได้ในปี 2565 ที่สำคัญ โครงการประเภท Quick Win จะสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายใน 6 เดือนหลังจากการได้ผลการคัดเลือก

ในส่วนรูปแบบการขายไฟฟ้าคืนกลับมายังภาครัฐนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมข้อมูลปริมาณความต้องการไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคไว้แล้วว่าในแต่ละพื้นที่มีมากน้อยอย่างไร พร้อมวางระบบสายส่งที่มีศักยภาพ ส่วนการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจะเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน กกพ.เตรียมความพร้อมเบื้องต้นไว้ระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะมีความพร้อมดำเนินการ สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างเป็นระบบ

“ขนุนหนองเหียงชลบุรี” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว

People Unity News : 13 พฤษภาคม 2566 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศ “ขนุนหนองเหียงชลบุรี” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว คาดสร้างเงินเข้าจังหวัดได้ไม่ต่ำกว่า 850 ล้านบาท/ปี และส่งออกไปต่างประเทศปีละ 106 ล้านบาท ย้ำหลังขึ้นทะเบียน GI จะยิ่งช่วยผลักดันสินค้าเป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่าและสร้างเงินให้ท้องถิ่นได้มากขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ผ่านแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ ขนุนหนองเหียงชลบุรี ซึ่งเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงมายาวนาน เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและท้องถิ่นที่ปลูกขนุน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้เพิ่มขึ้น

ขนุนหนองเหียงชลบุรี มีลักษณะเป็นขนุนผลใหญ่ เปลือกบาง ซังน้อย ยวงใหญ่ เนื้อหนา แห้ง และกรอบ เนื้อมีสีเหลืองทอง สีเหลืองเข้ม สีเหลืองอมส้ม ไปจนถึงสีแดงอมส้ม รสชาติหวานกำลังดี มีกลิ่นหอมไม่แรงเกินไป เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งปลูกและผลิตในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยมีหลายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองประเสริฐ พันธุ์มาเลย์ พันธุ์เพชรราชา พันธุ์แดงสุริยา และพันธุ์ทองส้ม โดยสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนกว่า 850 ล้านบาทต่อปี และสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น จีนและเวียดนาม มูลค่าประมาณ 106 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย รวมแล้ว 185 สินค้า ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก และยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไม่ให้ถูกกดราคาสินค้าเกษตร โดยกรมฯ ตั้งเป้าสร้างมูลค่าการตลาดสินค้า GI ไทย สร้างเงินไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาทอีกด้วย

Advertisement

ธปท.เผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ

People Unity News : ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ

30 ธันวาคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนตุลาคม หลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าและปัญหาอุปทานชะงัก หรือ supply disruption ทยอยคลี่คลายลง

ด้านการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ่านรายจ่ายเงินโอน ทั้งนี้ อุปสงค์ที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังเปราะบาง ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ยังกล่าวถึง การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ประเมินเบื้องต้นอาจจะได้รับผลกระทบในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และยังเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวมีไม่มากนักทั้งนี้ ในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ กนง.ได้รับประมาณการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.4 เนื่องจากยังมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ อีกทั้งมีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม แต่ก็ยังคงต้องติดตามการระบาดอย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ยังคงขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ส่วนผลกระทบจากโอมิครอนจะเริ่มเห็นผลกระทบช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565

Advertising

ธ.ก.ส. ยกระดับ SME สู่แกนกลางเกษตรไทย เติมความรู้ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 กุมภาพันธ์ 2567 ธ.ก.ส. พร้อมมุ่งสู่แกนกลางการเกษตร ยกระดับ SME และเกษตรกรหัวขบวน โดยเติมองค์ความรู้ด้านการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง และการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน พร้อมเชื่อมโยงการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ พัฒนาศักยภาพการผลิตและเชื่อมโยงการตลาด อันนำไปสู่การสร้างรายได้และช่วยให้เกษตรกรสามารถหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในการเปิดงานเสวนาโครงการ “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้” ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยนำเกษตรกรหัวขบวน และผู้ประกอบการ SME เกษตรในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มาร่วมสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ให้สามารถฟื้นฟูการประกอบอาชีพ มีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและมีรายได้เพิ่มขึ้น อันนำไปสู่การหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน โดยมีคณะผู้บริหาร เกษตรกรหัวขบวน ผู้ประกอบการ SME เกษตรและพนักงาน ธ.ก.ส. เข้าร่วมกิจกรรม ณ อาคารทาวเวอร์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในช่วงปี 2567 – 2569 พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องเข้าร่วมการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 900,000 ราย เพื่อขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นและเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้จับมือกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ การเพิ่มศักยภาพในการผลิต การแปรรูปสู่เกษตรมูลค่าสูง ทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปและพัฒนาผลผลิต ให้กับเกษตรกรหัวขบวนและผู้ประกอบการ SME เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ โดยเริ่มจากการปรับวิธีคิด เช่น ก่อนลงมือผลิต ตั้งคำถาม ขายอะไร? ขายใคร? ขายเมื่อไหร่? ขายที่ไหน? ขายปริมาณ? ขายราคา? รวมถึงสามารถเชื่อมโยงตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อย เช่น การรับซื้อผลผลิต การจ้างแรงงานในพื้นที่ หรือการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรรายย่อยในการพัฒนาศักยภาพในการผลิต เป็นต้น พร้อมจัดเสวนา “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้” โดยนำเครือข่ายส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เครือข่ายผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร  หัวขบวน กลุ่ม New Gen และ Young Smart Farmer ที่อยู่ในโครงการ Design & Manage by Area (D&MBA) ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ จำนวน 10 ราย มาร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองในการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในการประกอบอาชีพ สู่การสร้างงานสร้างรายได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างตรงจุดและยั่งยืน

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้รายย่อยผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

Advertisement

Verified by ExactMetrics