วันที่ 26 เมษายน 2024

โฆษก รบ.เผยบิ๊กตู่สั่งเร่งมาตรการการเงินช่วย SMEs-ผู้มีรายได้น้อยผ่านออมสินไปแล้วกว่า 4 แสนล้าน

People Unity News : โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯสั่งเร่งมาตรการทางการเงินช่วย SMEs และผู้มีรายได้น้อย ออมสินลุย 5 มาตรการช่วยธุรกิจฝ่าโควิด-19 อนุมัติสินเชื่อกว่า 4 แสนล้าน คาดโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของไทยจะกลับมาคึกคักตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

9 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จากที่ได้ให้สถาบันทางการเงินของรัฐ ออกมาตรการสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ เพื่อรักษาการจ้างงาน บรรเทาภาระหนี้สินประชาชน ซึ่งผลการดำเนินการมาตรการเป็นไปอย่างน่าพึงพอใจ โดยธนาคารออมสิน ได้รายงานผลการดำเนินมาตรการฯตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการภายใต้ 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. มาตรการเติมเม็ดเงิน เสริมสภาพคล่อง 2. มาตรการพักชำระหนี้ และชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย 3. มาตรการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบที่มีต้นทุนต่ำลงและเป็นธรรม  4. มาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า 5. มาตรการฟื้นฟู-สร้างงานสร้างอาชีพ รายละเอียด มีดังนี้

  1. มาตรการเติมเม็ดเงิน เสริมสภาพคล่อง ได้แก่

– การออกสินเชื่อประชาชนรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย อาทิ สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 สินเชื่อผู้มีรายได้อิสระ สินเชื่อผู้มีรายได้ประจำ สินเชื่อบ้านและรีไฟแนนซ์

– การออกสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SMEs เน้นช่วยเหลือกิจการร้านอาหาร โรงแรม และผู้ประกอบการท่องเที่ยว อาทิ Soft Loan เพื่อ SMEs ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สินเชื่อ “อิ่มใจ” สำหรับธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม สินเชื่อ SMEs “มีที่ มีเงิน”  สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิง ขนส่งค้าปลีก ฯลฯ

นายธนกร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 – 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วจำนวน 438,500 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อโครงการพิเศษเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาจากเหตุโควิด-19 จำนวน 213,000 ล้านบาท มีผู้ได้รับสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น 4.1 ล้านราย โดย 3.3 ล้านรายเป็นลูกค้าสินเชื่อโครงการพิเศษเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ลูกค้ารายย่อย และผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ช่วยให้ประชาชนจำนวนกว่า 2.5 ล้านราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ จากเดิมที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้สินเชื่อสถาบันการเงินได้ เนื่องจากไม่เคยมีเครดิตประวัติทางการเงิน หรือมีประวัติแต่มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อโดยปกติทั่วไป

  1. มาตรการพักชำระหนี้ และชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย สำหรับลูกหนี้กลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา ได้แก่

-ลูกค้ารายย่อย ให้พักเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือน

-ธุรกิจ SMEs ที่ถูกปิดกิจการตามมาตรการฯ ให้พักเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 2 เดือน

-ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ให้พักเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือน

-ธุรกิจ SMEs อื่นๆ / ลูกค้าสินเชื่อบ้าน / ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ให้พักเงินต้น สูงสุด 12 เดือน

ป้องกันไม่ให้ลูกหนี้จำนวน 3.4 ล้านราย กลายเป็น NPLs รวมวงเงินหนี้ จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังชะลอการดำเนินการทางกฎหมายลูกหนี้ที่เป็น NPLs แล้วเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 จนถึงสิ้นปี 2564 เพื่อช่วยลดภาระความกังวลเรื่องคดีความ ผ่อนปรนภาระหนี้ให้ลูกหนี้ทุกรายโดยอัตโนมัติ และให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ผ่อนปรนตามศักยภาพตามความสามารถในการชำระของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม

3.มาตรการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบที่มีต้นทุนต่ำลงและเป็นธรรม อาทิ

-การเข้าทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้ารายย่อยและผู้มีรายได้น้อย สามารถลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยตลาดสินเชื่อกลุ่มนี้จาก 24-28% ลงมาอยู่ที่ 16-18% สร้างโอกาสลดภาระการผ่อนชำระของผู้ที่ใช้สินเชื่อประเภทนี้อยู่แล้ว จำนวนกว่า 3.5 ล้านราย ให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในครอบครัวมากขึ้น

-การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน เพื่อช่วยเหลือให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ขาดรายได้โดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน (Collateral Based) ทั้งที่เป็นสินเชื่อใหม่ และที่กู้เพื่อนำไปไถ่ถอน

-การขายฝากที่คิดดอกเบี้ยสูง และสัญญาไม่เป็นธรรม ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เป็นเม็ดเงินรวม 16,147 ล้านบาท

  1. มาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า อาทิ การจัดทำโครงการออมสินห่วงใยส่งกำลังใจให้สังคม เช่น การจัดตั้งศูนย์พักคอย กทม. การตั้งทีมไรเดอร์ออมสินช่วย สปสช. ส่งยาแก่ผู้ป่วย การบริจาคทรัพย์สินให้ใช้เป็นสถานที่กักตัว รวมถึงการเปิด facebook เพจ “ออมสินห่วงใย” รับเรื่องช่วยเหลือประชาชน
  2. มาตรการฟื้นฟู-สร้างงานสร้างอาชีพ จัดทำโครงการเสริมทักษะงานช่าง และการอบรมวิชาชีพต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ตกงาน ถูกเลิกจ้าง อาทิ โครงการออมสินอาชีวะ สร้างอาชีพสู่ชุมชน โครงการครัวชุมชนสาหรับออมสิน โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

ทั้ง 5 มาตรการของธนาคารออมสิน เป็นมาตรการด้านการเงินตามการผลักดันของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของรัฐบาล ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เป็นกลไกในการเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ เพื่อรักษาการจ้างงาน ประคับประคองกิจการให้เดินหน้าต่อไป คาดการณ์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาเพิ่มเติม จะยิ่งส่งให้โมเมนตัมทางเศรษฐกิจของไทยกลับมาคึกคักตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จนถึงต้นปีหน้าด้วย

Advertising

กรมการข้าวเตรียมเยียวยาเกษตรกรหลังน้ำท่วม 1,340 บาทต่อไร่

People Unity News : กรมการข้าวเตรียมเยียวยาเกษตรกร หลังน้ำท่วม 1,340 บาทต่อไร่ พร้อมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ช่วยเหลือจำนวนกว่า 4.5 พันตัน

6 ต.ค.2564 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พี่น้องชาวนาหลายพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุเตี้ยนหมู่ที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะนาข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกในพื้นที่ลุ่ม จึงได้สั่งการให้กรมการข้าวเร่งให้การช่วยเหลือพี่น้องชาวนาโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯปี 62 ทั้งนี้ข้อมูลเบื้องต้นเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา พบว่านาข้าวในฤดูนาปี 2564/65 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งหมด 1.8 ล้านไร่ ในพื้นที่จำนวน 38 จังหวัด จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ นครสวรรค์ สุโขทัย และจังหวัดพิจิตร

สำหรับมาตรการการดูแลชาวนาผู้ปลูกข้าวหลังจากประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติประเมินพื้นที่ที่ได้รับความเสียอย่างสิ้นเชิงว่า พี่น้องชาวนาจะได้รับความช่วยเหลือ ไร่ละ 1,340 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ตามหลักเกณฑ์ปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564

อย่างไรก็ตามกิจกรรมของเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยหลังจากน้ำลดทั้งในพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่นอกเขตชลประทาน ภาครัฐฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีการติดตามให้คำแนะนำและดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป สำหรับปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวให้ความช่วยเหลือจะสนับสนุนให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 10 ไร่ๆละ 7 กิโลกรัม (นาดำ) และไร่ละ 15 กิโลกรัม (นาหว่าน) แบ่งเป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสงกว่า 1 ล้าน 7 แสนกิโลกรัม ข้าวหอมปทุมกว่า 500,000 กิโลกรัม และข้าวเหนียวกว่า 2 ล้าน 3 แสนกิโลกรัม รวมกว่า 4 ล้าน 5 แสนกิโลกรัม โดยปริมาณการสนับสนุนบรรเทาฟื้นฟูขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดภัยพิบัติร้ายแรงในแต่ละครั้ง หรือสภาพการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯปี 62 โดยมีการปรับอัตราการให้ความช่วยเหลือให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่เกิดภัย 1 ก.ย.64 ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท

Advertising

ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่งในพื้นที่ EEC

People Unity News : ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่ง ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

5 ต.ค.2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 6 แห่ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ

ปัจจุบันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) มีพื้นที่รับรองการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและการค้า จำนวน 15,836 ไร่ สามารถรองรับการลงทุนได้เพียง 5 ปี เพื่อเพิ่มจุดแข็งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและรองรับการลงทุนในอนาคต จึงต้องจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น 6 แห่ง ประกอบด้วย การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรมรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 6,884 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการได้ประมาณ 5,098 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 280,772 ล้านบาท ภายใน 10 ปี หรือระหว่างปี 2564 – 2573 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 698 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,501 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 978 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 421 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ และดิจิทัล และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,498 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์

สำหรับการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ที่ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวม 519 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการ 360 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 20,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี 2564 – 2573 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัย กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและกิจการที่เกี่ยวข้องไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะกำหนดพื้นที่นำร่องของ EEC ในการพัฒนาระบบโครงข่าย 5G อย่างเต็มรูปแบบ และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ที่ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) โดยเปลี่ยนแปลงแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ฯ และเพิ่มพื้นที่ประมาณ 18 ไร่ ทำให้พื้นที่รวมของศูนย์มีทั้งสิ้น 585 ไร่ จากเดิม 566 ไร่

Advertising

โฆษกรัฐบาลเผย ก.คลังโอนคนละครึ่งเฟส 3 เพิ่ม 1,500 เข้า “เป๋าตัง” แล้ววันนี้

People Unity News : โฆษกรัฐบาลเผย คลังโอนคนละครึ่งเฟส 3 เพิ่ม 1,500 เข้า “เป๋าตัง” แล้ววันนี้ รวมยอดใช้จ่ายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐสะสมกว่า 7.8 หมื่นล้าน ขณะยอดจ่ายเงินเยียวยานายจ้าง–ผู้ประกันตนของ ก.แรงงาน ทำเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 9.1 หมื่นล้าน

1 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ตุลาคม 2564) กระทรวงการคลัง ได้โอนเงินคนละครึ่งรอบที่ 2 จำนวน 1,500 บาท เข้าแอปฯ เป๋าตัง แล้วโดยนำไปรวมกับวงเงินสิทธิคงเหลือจากในรอบแรกให้อัตโนมัติ ส่วนประชาชนที่ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3 หลังวันที่ 1 ตุลาคมนั้นจะได้รับวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,000 บาท กระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยรวมของมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น มียอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 39.08 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 78,611.1 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 24.33 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 67,604.4 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 34,403.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 33,200.7 ล้านบาท 2) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 77,241 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,360 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 98.9 ล้านบาท 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.53 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 7,983 ล้านบาท และ 4) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.14 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 564.8 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 4 ตุลาคม เป็นต้นไป ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิคนละครึ่งเฟส 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ ผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ อย่าง GRAB และ LINE MAN ได้ โดยตอนนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 30,000 ราย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ New Normal ในยุคโควิด-19 และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในไตรมาสที่ 4 ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคมของปี 2564 ให้ขยายตัวมากขึ้นด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวเพิ่มเติมสำหรับความคืบหน้าโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม. 33 ม. 39 และ ม. 40 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ใน 29 จังหวัดล็อกดาวน์ 9 ประเภทกิจการ ว่า ล่าสุดกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้โอนเงินเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนสำเร็จ คิดเป็นมูลค่าเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จำนวน 91,739.06 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) จ่ายเงินเยียวยานายจ้าง จำนวน 150,472 แห่ง รวม 6,270.09 ล้านบาท คิดเป็น 83.20% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด 2) การจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม. 33 จำนวน 3,444,928 ราย รวม 16,150.56 ล้านบาท คิดเป็น 97.61% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด 3) จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม. 39 จำนวน 1,342,306 ราย รวม 12,302.12 ล้านบาท คิดเป็น 95.99% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด และ 4) จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม. 40 จำนวน 6,974,857 ราย รวม 57,016.29 ล้านบาท คิดเป็น 95.87% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลกลุ่มตกหล่นที่ไม่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งผู้ประกันตนสามารถยื่นทบทวนสิทธิได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

“ท่านนายกฯ ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่เพียงแต่จากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือ เร่งฟื้นฟูเยียวยาตามภารกิจของแต่ละหน่วยเต็มที่ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว” นายธนกรกล่าว

Advertising

ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ 10,000 ล้าน ให้ อบจ. อบต. เทศบาล พัทยา กทม. กู้ทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

People Unity News : ธ.ก.ส. หนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมฟื้นเศรษฐกิจ จัดสินเชื่อวงเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR – 2.25% ต่อปี  ให้ อบจ. อบต. เทศบาล เมืองพัทยาและ กทม. ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาต่างๆ  เพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินทุนหมุนเวียน สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และหนุนแรงงานคืนถิ่นให้มีอาชีพเลี้ยงตนเองได้ สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

27 กันยายน 2564 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มอัตราการเติบโตของ GDP ภายในประเทศที่ลดต่ำลง อันเนื่องจากการลงทุนในภาคเอกชนชะลอตัว  ดังนั้น เพื่อให้องค์กรภาครัฐทั่วประเทศ ซึ่งมีบทบาทในการดูแลประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงลดปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานคืนถิ่น ให้มีอาชีพเลี้ยงตนเองได้และยังเป็นการป้องกันปัญหาทางสังคม ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนาต่างๆ อัตราดอกเบี้ย MLR – ไม่เกิน 2.25% ต่อปี (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ ร้อยละ 4.875 ต่อปี) ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่นๆตามที่ธนาคารกำหนด

สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร โดยนำสินเชื่อดังกล่าวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือค่าลงทุน อาทิ   การสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ โรงสีข้าวชุมชน ตลาดจำหน่ายสินค้า การส่งเสริมพัฒนากลุ่มอาชีพต่างๆ ปรับปรุงพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน การศึกษา อบรม สัมมนา ดูงานหรือฝึกงานในด้านการส่งเสริมอาชีพ หรือเพื่อการศึกษาของบุคคลในครอบครัวของประชาชนในพื้นที่ การสร้างสนามกีฬา สวนสาธารณะ ศูนย์การแพทย์ชุมชน การเสริมสร้างการเข้าถึงระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงความต้องการทางด้านการแพทย์ การจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เป็นต้น

ทั้งนี้ อปท. จะต้องดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนสินเชื่อต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อปท. และมีการตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้คืนแก่ธนาคาร วงเงินกู้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้เงินกู้ โดยวิเคราะห์จากแผนการดำเนินงาน งบการเงิน ระดับขีดความสามารถในการก่อหนี้ของ อปท. แต่ละแห่ง ซึ่งกำหนดจากความสามารถในการจัดเก็บรายได้ และรายได้จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลาง ในส่วนของการชำระคืน กรณีเป็นทุนหมุนเวียนหรือเป็นค่าใช้จ่าย ชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน กรณีพิเศษ ไม่เกิน 18 เดือน กรณีเป็นค่าลงทุน ชำระคืนรายงวด ไม่เกิน 10 ปี (ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายผูกพันของ อปท.) ทั้งนี้ อปท. ที่มีความสนใจและต้องการขอรับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

Advertising

รมว.คลังลงพื้นที่เยี่ยมชมงานกลุ่มเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่แบบอินทรีย์ จ.ขอนแก่น

People Unity News : รมว.คลังเยี่ยมชมงานกลุ่มเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่แบบอินทรีย์ จ.ขอนแก่น

25 กันยายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมงาน “กลุ่มเกษตรกรทำนาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านกุดน้ำใส” ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรในการทำนาแปลงใหญ่แบบอินทรีย์ โดยได้มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) แบบปลอดภัย ได้มาตรฐาน Good Agricultural Practices (GAP) และแบบดั้งเดิม รวมถึงมีการแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อส่งจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีการเพาะเมล็ดพันธุ์  เพื่อส่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและให้เกษตรกรในตำบลกุดน้ำใส อีกทั้งมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต อาทิ การตรวจวิเคราะห์ดิน เครื่องหยอดเมล็ด การใช้โดรน การใช้เครื่องอบเครื่องเป่าในการบรรจุสินค้า โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 133 ราย พื้นที่การผลิตจำนวน 3,500 ไร่ สร้างผลผลิตได้กว่า 1,600 ตันต่อปี ซึ่ง ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนเงินทุนจากควบคู่กับให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการของกลุ่มฯ โดยมี นายสุรชัย รัศมี และ นายเสกสรรค์  จันทร์ขวาง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายฉัตรนพวัฒน์ วีระศักดิ์ ประธานกลุ่มฯ และผู้บริหารในพื้นที่ให้การต้อนรับ

Advertising

 

ชาวบัตรคนจน เฮ! ครม.ช่วยค่าน้ำค่าไฟ ค่าซื้อสินค้า ค่าเดินทาง คงเบี้ยผู้พิการ ตั้งแต่ ต.ค 64-ก.ย. 65

People Unity News : บัตรคนจน เฮ! ครม. เคาะงบกลาง 27,005.66 ล้านบาท ขยายเวลาลดค่าน้ำ/ค่าไฟ อุดหนุนค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภค และค่าเดินทาง คงเบี้ยผู้พิการ 1,000 บาท ตั้งแต่ ต.ค 64-ก.ย. 65 พร้อมเตรียมเปิดลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รอบใหม่

21 กันยายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการและขยายมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา อนุมัติงบกลางปี 64 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 27,005.66 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้

1) วงเงิน 2,018 ล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ/ค่าไฟ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 (12 เดือน) -กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือน ให้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรี ตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรณี ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ในวงเงิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน กรณีใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด ครอบคลุม 1.9 ล้านครัวเรือน โดยประมาณ

-สนับสนุนค่าน้ำประปา วงเงิน 100 บาท /ครัวเรือน /เดือน ในกรณีใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท โดยส่วนเกินต้องชำระด้วยตนเอง และกรณีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ รับภาระในการชำระค่าน้ำประปาเองทั้งหมด ครอบคลุมประมาณ 186,625 ครัวเรือน

2) วงเงิน 18,815 ล้านบาท สนับสนุน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ

-ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ โดยผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับ 200 บาท/คน/เดือน ในส่วนผู้มีสิทธิที่มีรายได้ ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับ 300 บาท/คน/เดือน และได้รับส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3 เดือน

-ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาทิ ค่าโดยสาร ขสมก. ระบบ e-Ticket /รถไฟฟ้า บขส. รถไฟ อย่างละ 500 บาท/คน/เดือน

-เบี้ยความพิการ จำนวน 1,000 บาท/คน/เดือน อีกด้วย

3) วงเงิน 1,642 ล้านบาท ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อรองรับกระบวนการลงทะเบียนรอบใหม่ โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียนของหน่วยรับลงทะเบียน และค่าใช้จ่ายในการผลิตและบริหารจัดการบัตรฯ

4) วงเงิน 4,530.66 ล้านบาท สำหรับจัดสรรสวัสดิการแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีบัตรฯ และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้ผู้สมัครรอบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

“การช่วยเหลือลดอัตราค่าน้ำ/ค่าไฟ ตลอดจนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลห่วงใยเพื่อให้สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ รวมทั้งการยกระดับและพัฒนา คุณภาพชีวิตแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” นายธนกร กล่าว

Advertising

แจกต้นฟ้าทะลายโจร พืชสุขภาพและเศรษฐกิจ แก่สถาบันเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น

People Unity News : แจกต้นฟ้าทะลายโจร พืชสุขภาพและเศรษฐกิจ แก่สถาบันเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น

18 กันยายน 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงาน Kick off โครงการส่งเสริมการผลิตฟ้าทะลายโจร ในสถาบันเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นและร่วมปลูกฟ้าทะลายโจรในแปลงปลูกฟ้าทะลายโจร พร้อมเปิดเผยว่า การจัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร สู้ภัยโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายการขยายพื้นที่ปลูกฟ้าทะลายโจร เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบในกระบวนการแปรรูปเข้าสู่ตลาดสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและสมาชิกของสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นโอกาสให้กับสหกรณ์ในการต่อยอด ขยายการส่งเสริมและเพิ่มพื้นที่ปลูกให้กับสมาชิกสหกรณ์รายอื่นๆ รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านปริมาณและราคาให้เกิดความสมดุล ส่งเสริมให้ประชาชนใช้พืชสมุนไพรไทยเป็นทางเลือกในการรักษาโรคเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรในสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและอนาคตอาจจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ต่อไป

Advertising

ประยุทธ์ ชมความก้าวหน้าสถานีดาวเทียม นำพาประเทศเดินหน้า พัฒนาสู่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

People Unity News : ประยุทธ์ ชมความก้าวหน้าสถานีดาวเทียม นำพาประเทศเดินหน้า พัฒนาสู่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

17 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจติดตามความก้าวหน้าสถานีดาวเทียมและศูนย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) โครงการอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อติดตามการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ ความคืบหน้าโครงการและการพัฒนาดาวเทียม โดยวิศวกรไทย ณ ศูนย์ทดสอบประกอบดาวเทียมแห่งชาติ ,การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ จากเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ และการนําเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการดำเนินงานและขอให้พัฒนาต่อไป เพราะการใช้เทคโนโลยีมาช่วยประมวลผล ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล นำพาประเทศเดินหน้าพัฒนาสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนตลอดไป

Advertising

เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยเกษตรกรสร้างพื้นที่เกษตรแบบครบวงจร

Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

People Unity News : เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยเหลือเกษตรกรสร้างพื้นที่เกษตรแบบครบวงจร

15 กันยายน 2564 นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังชมความคืบหน้าของโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ใด้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาปัญหาว่างงาน ลดปัญหาเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นแหล่งผลิตอาหาร โดยน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทาง ตั้งแต่รูปแบบของเกษตรทฤษฎีใหม่ในการ บริหารจัดการน้ำ เรียนรู้การจัดทำแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงการทำการเกษตร ทฤษฎีใหม่ที่สามารถสร้างแหล่งอาหารของครัวเรือน ผลผลิตที่สามารถจำหน่ายสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ดำเนินงานผลสำเร็จในพื้นที่ เกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศ ที่มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 28,000 ราย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 20,016 ราย นอกจากนี้ยังมีส่งเสริมการจ้างงานในโครงการแล้ว 13,649 ราย อย่างไรก็ตาม กระทรวงงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งเดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรสามารถพึ่งพาตนเองได้

Advertising

Verified by ExactMetrics