วันที่ 28 มีนาคม 2024

โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้เข้าร่วมครบแล้ว 28 ล้านสิทธิ์

People Unity News : โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้เข้าร่วมครบแล้ว 28 ล้านสิทธิ์

24 ต.ค.64 ภายหลังจากกระทรวงการคลัง ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนคนละครึ่ง ระยะที่ 3 บนเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อจากภาครัฐที่เป็นการใช้จ่ายแบบ Co-pay โดยรัฐช่วยจ่ายวันละ 150 บาท จำนวน 4,500 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติเพิ่มวงเงินสนับสนุน โดยจะโอนเงินเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตังให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์อีก 1,500 บาท ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ล่าสุดจากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เต็มจำนวน 28 ล้านสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จให้ทำการยืนยันตัวตนเพิ่มเริ่มใช้สิทธิ์แล้ว จะได้รับการโอนเงินเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตังทั้งสิ้น 3,000 บาท และจะได้เงินเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตังให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์อีก 1,500 บาท ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 สำหรับผู้ได้รับสิทธิ์รายใหม่ต้องยืนยันตัวตนทุกคน ส่วนผู้ได้รับสิทธิ์รายเดิม เฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนที่สาขาธนาคารกรุงไทย หรือตู้ ATM สีเทา ของธนาคารกรุงไทย ต้องนำบัตรประชาชนไปยืนยันตัวตนที่สาขาธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ หรือตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ตรวจสอบว่าเป็นตัวท่านจริง ป้องกันการแอบอ้างสวมสิทธิ์

Advertising

ธ.ก.ส. จับมือไปรษณีย์ไทย ขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ช่วยเกษตรกร-SMEs

People Unity News : ธ.ก.ส. ร่วมกับไปรษณีย์ไทย ยกระดับการจัดการสินค้าเกษตรไทยแบบครบวงจร ทั้งการผลิต แปรรูป การเพิ่มช่องทางจำหน่ายและตลาดรองรับสินค้าเกษตรส่งตรงสู่ผู้บริโภค ทั้งทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com และออฟไลน์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ พร้อมรับส่วนลดพิเศษ เมื่อซื้อสินค้าจากลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ www.thailandpostmart.com ตลอดทั้งเดือน พ.ย.นี้

20 ต.ค.64 นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มุ่งสนับสนุนช่องทางการตลาดที่หลากหลายให้กับเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการ SMEs เกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และสถาบันเกษตรกร เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ โดยร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดำเนินโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดและระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรเพื่อยกระดับเศรษฐกิจภาคการเกษตรไทย เพื่อพัฒนาและยกระดับการจัดการผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนสินค้าเกษตรแปรรูปครบวงจร ทั้งในด้านวางแผนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพและการพัฒนาคุณภาพผลผลิต รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลูกค้าและผู้ประกอบการมีโอกาสในการขายสินค้าและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ได้รับผลผลิตและสินค้าทางการเกษตรที่ดี มีคุณภาพ มีมาตรฐานรับรองจากเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเกษตรโดยตรง

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะคัดเลือกสินค้าทั้งที่เป็นสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูปที่มีคุณภาพดี จากผู้ผลิตโดยตรงกว่า 200 รายการ เช่น กล้วยตาก ตราจิราพร จังหวัดพิษณุโลก  หมอนยางพารา ตรา PARATO จังหวัดอุบลราชธานี  กล้วยหอมทอง บรรจุกล่อง จากสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี กาแฟคั่วบด ตราถ้ำสิงห์ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ จังหวัดชุมพร เป็นต้น  โดยนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์นำมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ www.thailandpostmart.com และช่องทางออฟไลน์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะดำเนินการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรหรือสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีการสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ข้างต้น ไปยังผู้บริโภคโดยตรง โดยคิดอัตราค่าบริการในราคาพิเศษ และเพื่อเป็นการขอบคุณผู้บริโภคที่ร่วมสนับสนุนการซื้อสินค้าจากเกษตรกร ผู้ประกอบการภาคการเกษตรดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com เพียงกรอกรหัส “BAAC55” รับส่วนลดทันที 55 บาท จำนวน 1,500 สิทธิ์เท่านั้น ระยะเวลากิจกรรมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน 2564

Advertising

ครม.เห็นชอบโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs วงเงิน 37,521.69 ล้านบาท

People Unity News : ที่ประชุม ครม. วานนี้ เห็นชอบอนุมัติโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs กรอบวงเงินจำนวน 37,521.69 ล้านบาท ช่วยลูกจ้าง-นายจ้างเดินหน้า พยุงเศรษฐกิจ

วานนี้ 19 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติ กรอบวงเงินจำนวน 37,521.69 ล้านบาท สำหรับโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ครอบคลุมเป้าหมายนายจ้างในธุรกิจ SMEs จำนวน 394,621 แห่ง ลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs จำนวน 4,236,320 คน

โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้าย พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการจัดหางาน กำหนดเงื่อนไขให้นายจ้างที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการโดยต้องลงทะเบียนและจัดส่งข้อมูลผ่านระบบ e-Service รวมถึงประสานสำนักงานประกันสังคมในการเร่งประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างกลุ่มเป้าหมายทราบถึงขั้นตอนดังกล่าว และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือในการจัดส่งข้อมูลผ่านระบบ e-Service เพื่อให้กรมการจัดหางานสามารถจ่ายเงินอุดหนุนได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานตามข้อเสนอโครงการ รวมถึงจะช่วยส่งเสริมนโยบายการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ครม.ยังได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการและดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป

“โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs จะช่วยลดปัญหาการว่างงาน โดยให้นายจ้างรักษาระดับการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs ไม่ให้ถูกเลิกจ้าง มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และได้รับโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเหลือนายจ้างลดค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างสัญชาติไทย ให้สามารถรักษาระดับการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยคาดการณ์ว่าจะรักษาระดับการจ้างงาน จำนวน 4,034,590 คน และส่งเสริมการจ้างงานใหม่ จำนวน 201,730 คน” นายธนกร กล่าว

Advertising

อนุญาตปลูกกัญชงไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ พร้อมสนับสนุนให้แปรรูปส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ

People Unity News : อนุญาตปลูกกัญชงไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ พร้อมสนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ

16 ตุลาคม 2564 นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชง (Hemp) เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ซึ่งกฎกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อ วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนทั้ง เกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตและนำกัญชงไปใช้ในทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์และการค้า เพื่อนำส่วนต่างๆของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ทั้งยา อาหาร เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น

หลังจากการปลดล็อคกัญชง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ขณะนี้มีผู้ขออนุญาตผลิต (ปลูก) เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม โดยได้รับอนุญาตแล้ว 324 ราย เนื้อที่ 3,250 ไร่ และอยู่ในระหว่างออกใบอนุญาต 127 ราย และขออนุญาตเพื่อศึกษาวิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ ได้รับอนุญาตแล้ว 34 ราย และอยู่ในระหว่างออกใบอนุญาต 11 ราย สำหรับในส่วนของการนำเข้า มีผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง 86 ราย จำนวน 6,179,304 เมล็ด มูลค่า 926,895,600 บาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก อย. พร้อมส่งเสริมกัญชงให้เป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน รวมทั้งพร้อมสนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อส่งออกนำรายได้เข้าประเทศต่อไป

Advertising

กระทรวงการคลังสรุปรวมมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2564 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

People Unity News : สำนักงานเศรษฐกิจการคลังสรุปรวมมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2564 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

15 ตุลาคม 2564 นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยการพักชำระหนี้และสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ธนาคารออมสิน

  1. มาตรการพักชำระหนี้ โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือนสำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภท สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
  2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน

2.1 สินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในปีแรก ปลอดชำระคืนเงิน 3 เดือนแรก และระยะเวลาผ่อนชำระ 3 – 5 ปี

2.2 สินเชื่อเคหะ วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในปีแรก ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 40 ปี

2.3 สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิม แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 ต่อปี ในปีแรก ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ระยะผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอสินเชื่อภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศภัยพิบัติหรือวันที่ประสบภัยพิบัติ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

  1. มาตรการพักชำระหนี้ โดยการพักชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยปรับ
  2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์

  1. สำหรับลูกค้าเดิมที่หลักประกันได้รับความเสียหาย สามารถขอรับการลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 เดือน
  2. สำหรับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่ประสงค์ยื่นขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างทดแทนอาคารเดิม หรือเพื่อซ่อมแซมอาคาร วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ในปีแรก และ MRR – 3.5 ต่อปีหรือร้อยละ 3 ในปีที่ 2 – 3
  3. ลูกหนี้มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ที่หลักประกันได้รับเสียหาย สามารถขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยใน 4 เดือนแรก และเดือนที่ 5 ถึงเดือนที่ 16 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
  4. ลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี
  5. ลูกหนี้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี ตลอดระยะเวลาคงเหลือ
  6. หลักประกันเสียหายทั้งหลังไม่สามรถซ่อมแซมได้ สามารถขอรับปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินคงเหลือเท่านั้น
  7. สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ จะพิจารณาจ่ายเงินสินไหมให้แก่ลูกค้าอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

  1. มาตรการพักชำระหนี้

1.1 สำหรับลูกค้าที่มีการกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) จะได้รับการพักชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน

1.2 สำหรับลูกค้าที่มีสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) จะได้รับพักชำระดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน

  1. มาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.99 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลากู้สูงสุด ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

2.1 หากลูกหนี้มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้รับวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 5 แสนบาท

2.2 หากลูกหนี้มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้รับวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท

2.3 หากลูกหนี้มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 5 ล้านบาท จะได้รับวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) พร้อมให้การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นพิเศษ โดยสามารถติดต่อสายด่วน Hotline ของ ธสน. โทร. 02 037 6099

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไรเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ และยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

  1. มาตรการช่วยเหลือลูกค้า SMEs สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และหนังสือค้ำประกันสินเชื่อลงวันที่ตั้งแต่ 15 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน (ถ้ามี) เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  2. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย.

2.1 มาตรการลดค่างวด โดยการผ่อนจ่ายร้อยละ 20 หรือจ่ายขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุด 3 เดือน และการพักดอกเบี้ยเกิดใหม่ หรือ

2.2 มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้า บสย. ที่ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือน โดยการพักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน และพักดอกเบี้ยเกิดใหม่

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2564 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า ทำให้มีเงินหมุนเวียน ช่วยฟื้นฟูกิจการ รวมถึงปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  1. ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือ 1115
  2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555
  3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000
  4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือ 1357
  5. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 271 3700 หรือสายด่วน Hotline 02 037 6099
  6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 264 3345 หรือ 1302
  7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999

Advertising

โฆษกรัฐบาลชี้แจง พ่อค้าแม่ค้า “โครงการเราชนะ” ถูกเรียกเงินคืนเพราะทำผิดเงื่อนไข

People Unity News : โฆษกรัฐบาลชี้แจง พ่อค้าแม่ค้า “โครงการเราชนะ” ถูกเรียกเงินคืนเพราะทำผิดเงื่อนไข รัฐบาลมุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ช่วยพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย วอนเห็นใจการทำงานของส่วนราชการ ต้องปกป้องและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ร่วมโครงการ

11 ต.ค. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงกรณีที่เกิดกระแสในโลกออนไลน์กรณีกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ประกอบการในโครงการเยียวยาของรัฐ โครงการเราชนะ ตรวจพบลักษณะธุรกรรมที่ผิดเงื่อนไข อาทิ ร้านค้ารับสแกนแล้วแลกเป็นเงินสด มีการสแกนเงินเต็มจำนวนวงเงินสิทธิ (1,000 2,000 บาท เป็นต้น) จำนวนมากและร้านค้าออนไลน์ที่รับสแกนซื้อ-ขายข้ามจังหวัด ทำให้จุดรับเงินขยับไปมาเกิน 7,000 กิโลเมตรใน 1 วัน หรือบางรายอยู่นอกพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการ  จึงจำเป็นต้องมีหนังสือประทับตราแจ้งคำสั่งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการ 2,099 ราย ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ  ผู้ประกอบการที่ขาดคุณสมบัติการเข้าร่วมโครงการเราชนะ (เป็นร้านค้าจากโครงการคนละครึ่ง แต่มีสถานะเป็นนิติบุคคล) ผู้ประกอบการที่ชี้แจงแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับธุรกรรมที่ตรวจพบ  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่ง พร้อมแสดงหลักฐานให้ทบทวนผลการพิจารณาต่อผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งกระทรวงการคลังมีขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ตั้งแต่การระงับสิทธิการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ชั่วคราวจนถึงการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ  รวมทั้งยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิดด้วย

โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า วิงวอนขอให้เห็นใจการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ทุกอย่างต้องยึดตามระเบียบและกฎหมายรองรับ  ซึ่งผู้ประกอบการที่สมัครใจร่วมโครงการ  ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนด ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการด้วย หากมีการดำเนินการที่ละเมิดกติกาหรือผิดวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ส่วนราชการที่รับผิดชอบก็มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามข้อบังคับ  เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของประชาชน และให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม เนื่องจากเงินทุกบาทที่นำใช้จ่ายมาจากภาษีของคนไทยทุกคน ขณะเดียวกันก็ฝากย้ำเตือนไปยังผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอย่าได้มีธุรกรรมเสี่ยง เพราะพบว่ามีการผิดเงื่อนไข อาจเสียสิทธิในการเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการอื่นของรัฐอื่นๆในอนาคตด้วย

Advertising

โฆษก รบ.เผยบิ๊กตู่สั่งเร่งมาตรการการเงินช่วย SMEs-ผู้มีรายได้น้อยผ่านออมสินไปแล้วกว่า 4 แสนล้าน

People Unity News : โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯสั่งเร่งมาตรการทางการเงินช่วย SMEs และผู้มีรายได้น้อย ออมสินลุย 5 มาตรการช่วยธุรกิจฝ่าโควิด-19 อนุมัติสินเชื่อกว่า 4 แสนล้าน คาดโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของไทยจะกลับมาคึกคักตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

9 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จากที่ได้ให้สถาบันทางการเงินของรัฐ ออกมาตรการสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ เพื่อรักษาการจ้างงาน บรรเทาภาระหนี้สินประชาชน ซึ่งผลการดำเนินการมาตรการเป็นไปอย่างน่าพึงพอใจ โดยธนาคารออมสิน ได้รายงานผลการดำเนินมาตรการฯตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการภายใต้ 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. มาตรการเติมเม็ดเงิน เสริมสภาพคล่อง 2. มาตรการพักชำระหนี้ และชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย 3. มาตรการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบที่มีต้นทุนต่ำลงและเป็นธรรม  4. มาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า 5. มาตรการฟื้นฟู-สร้างงานสร้างอาชีพ รายละเอียด มีดังนี้

  1. มาตรการเติมเม็ดเงิน เสริมสภาพคล่อง ได้แก่

– การออกสินเชื่อประชาชนรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย อาทิ สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 สินเชื่อผู้มีรายได้อิสระ สินเชื่อผู้มีรายได้ประจำ สินเชื่อบ้านและรีไฟแนนซ์

– การออกสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SMEs เน้นช่วยเหลือกิจการร้านอาหาร โรงแรม และผู้ประกอบการท่องเที่ยว อาทิ Soft Loan เพื่อ SMEs ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สินเชื่อ “อิ่มใจ” สำหรับธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม สินเชื่อ SMEs “มีที่ มีเงิน”  สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิง ขนส่งค้าปลีก ฯลฯ

นายธนกร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 – 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วจำนวน 438,500 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อโครงการพิเศษเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาจากเหตุโควิด-19 จำนวน 213,000 ล้านบาท มีผู้ได้รับสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น 4.1 ล้านราย โดย 3.3 ล้านรายเป็นลูกค้าสินเชื่อโครงการพิเศษเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ลูกค้ารายย่อย และผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ช่วยให้ประชาชนจำนวนกว่า 2.5 ล้านราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ จากเดิมที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้สินเชื่อสถาบันการเงินได้ เนื่องจากไม่เคยมีเครดิตประวัติทางการเงิน หรือมีประวัติแต่มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อโดยปกติทั่วไป

  1. มาตรการพักชำระหนี้ และชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย สำหรับลูกหนี้กลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา ได้แก่

-ลูกค้ารายย่อย ให้พักเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือน

-ธุรกิจ SMEs ที่ถูกปิดกิจการตามมาตรการฯ ให้พักเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 2 เดือน

-ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ให้พักเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือน

-ธุรกิจ SMEs อื่นๆ / ลูกค้าสินเชื่อบ้าน / ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ให้พักเงินต้น สูงสุด 12 เดือน

ป้องกันไม่ให้ลูกหนี้จำนวน 3.4 ล้านราย กลายเป็น NPLs รวมวงเงินหนี้ จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังชะลอการดำเนินการทางกฎหมายลูกหนี้ที่เป็น NPLs แล้วเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 จนถึงสิ้นปี 2564 เพื่อช่วยลดภาระความกังวลเรื่องคดีความ ผ่อนปรนภาระหนี้ให้ลูกหนี้ทุกรายโดยอัตโนมัติ และให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ผ่อนปรนตามศักยภาพตามความสามารถในการชำระของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม

3.มาตรการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบที่มีต้นทุนต่ำลงและเป็นธรรม อาทิ

-การเข้าทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้ารายย่อยและผู้มีรายได้น้อย สามารถลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยตลาดสินเชื่อกลุ่มนี้จาก 24-28% ลงมาอยู่ที่ 16-18% สร้างโอกาสลดภาระการผ่อนชำระของผู้ที่ใช้สินเชื่อประเภทนี้อยู่แล้ว จำนวนกว่า 3.5 ล้านราย ให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในครอบครัวมากขึ้น

-การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน เพื่อช่วยเหลือให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ขาดรายได้โดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน (Collateral Based) ทั้งที่เป็นสินเชื่อใหม่ และที่กู้เพื่อนำไปไถ่ถอน

-การขายฝากที่คิดดอกเบี้ยสูง และสัญญาไม่เป็นธรรม ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เป็นเม็ดเงินรวม 16,147 ล้านบาท

  1. มาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า อาทิ การจัดทำโครงการออมสินห่วงใยส่งกำลังใจให้สังคม เช่น การจัดตั้งศูนย์พักคอย กทม. การตั้งทีมไรเดอร์ออมสินช่วย สปสช. ส่งยาแก่ผู้ป่วย การบริจาคทรัพย์สินให้ใช้เป็นสถานที่กักตัว รวมถึงการเปิด facebook เพจ “ออมสินห่วงใย” รับเรื่องช่วยเหลือประชาชน
  2. มาตรการฟื้นฟู-สร้างงานสร้างอาชีพ จัดทำโครงการเสริมทักษะงานช่าง และการอบรมวิชาชีพต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ตกงาน ถูกเลิกจ้าง อาทิ โครงการออมสินอาชีวะ สร้างอาชีพสู่ชุมชน โครงการครัวชุมชนสาหรับออมสิน โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

ทั้ง 5 มาตรการของธนาคารออมสิน เป็นมาตรการด้านการเงินตามการผลักดันของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของรัฐบาล ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เป็นกลไกในการเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ เพื่อรักษาการจ้างงาน ประคับประคองกิจการให้เดินหน้าต่อไป คาดการณ์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาเพิ่มเติม จะยิ่งส่งให้โมเมนตัมทางเศรษฐกิจของไทยกลับมาคึกคักตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จนถึงต้นปีหน้าด้วย

Advertising

กรมการข้าวเตรียมเยียวยาเกษตรกรหลังน้ำท่วม 1,340 บาทต่อไร่

People Unity News : กรมการข้าวเตรียมเยียวยาเกษตรกร หลังน้ำท่วม 1,340 บาทต่อไร่ พร้อมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ช่วยเหลือจำนวนกว่า 4.5 พันตัน

6 ต.ค.2564 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พี่น้องชาวนาหลายพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุเตี้ยนหมู่ที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะนาข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกในพื้นที่ลุ่ม จึงได้สั่งการให้กรมการข้าวเร่งให้การช่วยเหลือพี่น้องชาวนาโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯปี 62 ทั้งนี้ข้อมูลเบื้องต้นเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา พบว่านาข้าวในฤดูนาปี 2564/65 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งหมด 1.8 ล้านไร่ ในพื้นที่จำนวน 38 จังหวัด จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ นครสวรรค์ สุโขทัย และจังหวัดพิจิตร

สำหรับมาตรการการดูแลชาวนาผู้ปลูกข้าวหลังจากประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติประเมินพื้นที่ที่ได้รับความเสียอย่างสิ้นเชิงว่า พี่น้องชาวนาจะได้รับความช่วยเหลือ ไร่ละ 1,340 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ตามหลักเกณฑ์ปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564

อย่างไรก็ตามกิจกรรมของเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยหลังจากน้ำลดทั้งในพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่นอกเขตชลประทาน ภาครัฐฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีการติดตามให้คำแนะนำและดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป สำหรับปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวให้ความช่วยเหลือจะสนับสนุนให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 10 ไร่ๆละ 7 กิโลกรัม (นาดำ) และไร่ละ 15 กิโลกรัม (นาหว่าน) แบ่งเป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสงกว่า 1 ล้าน 7 แสนกิโลกรัม ข้าวหอมปทุมกว่า 500,000 กิโลกรัม และข้าวเหนียวกว่า 2 ล้าน 3 แสนกิโลกรัม รวมกว่า 4 ล้าน 5 แสนกิโลกรัม โดยปริมาณการสนับสนุนบรรเทาฟื้นฟูขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดภัยพิบัติร้ายแรงในแต่ละครั้ง หรือสภาพการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯปี 62 โดยมีการปรับอัตราการให้ความช่วยเหลือให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่เกิดภัย 1 ก.ย.64 ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท

Advertising

ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่งในพื้นที่ EEC

People Unity News : ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่ง ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

5 ต.ค.2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 6 แห่ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ

ปัจจุบันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) มีพื้นที่รับรองการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและการค้า จำนวน 15,836 ไร่ สามารถรองรับการลงทุนได้เพียง 5 ปี เพื่อเพิ่มจุดแข็งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและรองรับการลงทุนในอนาคต จึงต้องจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น 6 แห่ง ประกอบด้วย การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรมรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 6,884 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการได้ประมาณ 5,098 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 280,772 ล้านบาท ภายใน 10 ปี หรือระหว่างปี 2564 – 2573 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 698 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,501 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 978 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 421 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ และดิจิทัล และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,498 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์

สำหรับการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ที่ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวม 519 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการ 360 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 20,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี 2564 – 2573 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัย กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและกิจการที่เกี่ยวข้องไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะกำหนดพื้นที่นำร่องของ EEC ในการพัฒนาระบบโครงข่าย 5G อย่างเต็มรูปแบบ และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ที่ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) โดยเปลี่ยนแปลงแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ฯ และเพิ่มพื้นที่ประมาณ 18 ไร่ ทำให้พื้นที่รวมของศูนย์มีทั้งสิ้น 585 ไร่ จากเดิม 566 ไร่

Advertising

โฆษกรัฐบาลเผย ก.คลังโอนคนละครึ่งเฟส 3 เพิ่ม 1,500 เข้า “เป๋าตัง” แล้ววันนี้

People Unity News : โฆษกรัฐบาลเผย คลังโอนคนละครึ่งเฟส 3 เพิ่ม 1,500 เข้า “เป๋าตัง” แล้ววันนี้ รวมยอดใช้จ่ายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐสะสมกว่า 7.8 หมื่นล้าน ขณะยอดจ่ายเงินเยียวยานายจ้าง–ผู้ประกันตนของ ก.แรงงาน ทำเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 9.1 หมื่นล้าน

1 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ตุลาคม 2564) กระทรวงการคลัง ได้โอนเงินคนละครึ่งรอบที่ 2 จำนวน 1,500 บาท เข้าแอปฯ เป๋าตัง แล้วโดยนำไปรวมกับวงเงินสิทธิคงเหลือจากในรอบแรกให้อัตโนมัติ ส่วนประชาชนที่ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3 หลังวันที่ 1 ตุลาคมนั้นจะได้รับวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,000 บาท กระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยรวมของมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น มียอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 39.08 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 78,611.1 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 24.33 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 67,604.4 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 34,403.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 33,200.7 ล้านบาท 2) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 77,241 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,360 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 98.9 ล้านบาท 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.53 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 7,983 ล้านบาท และ 4) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.14 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 564.8 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 4 ตุลาคม เป็นต้นไป ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิคนละครึ่งเฟส 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ ผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ อย่าง GRAB และ LINE MAN ได้ โดยตอนนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 30,000 ราย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ New Normal ในยุคโควิด-19 และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในไตรมาสที่ 4 ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคมของปี 2564 ให้ขยายตัวมากขึ้นด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวเพิ่มเติมสำหรับความคืบหน้าโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม. 33 ม. 39 และ ม. 40 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ใน 29 จังหวัดล็อกดาวน์ 9 ประเภทกิจการ ว่า ล่าสุดกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้โอนเงินเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนสำเร็จ คิดเป็นมูลค่าเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จำนวน 91,739.06 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) จ่ายเงินเยียวยานายจ้าง จำนวน 150,472 แห่ง รวม 6,270.09 ล้านบาท คิดเป็น 83.20% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด 2) การจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม. 33 จำนวน 3,444,928 ราย รวม 16,150.56 ล้านบาท คิดเป็น 97.61% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด 3) จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม. 39 จำนวน 1,342,306 ราย รวม 12,302.12 ล้านบาท คิดเป็น 95.99% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด และ 4) จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม. 40 จำนวน 6,974,857 ราย รวม 57,016.29 ล้านบาท คิดเป็น 95.87% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลกลุ่มตกหล่นที่ไม่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งผู้ประกันตนสามารถยื่นทบทวนสิทธิได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

“ท่านนายกฯ ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่เพียงแต่จากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือ เร่งฟื้นฟูเยียวยาตามภารกิจของแต่ละหน่วยเต็มที่ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว” นายธนกรกล่าว

Advertising

Verified by ExactMetrics