วันที่ 9 พฤษภาคม 2024

กระทรวงการคลังคาดเศรษฐกิจ​ไทยปี​ 67​ โต​ 2.4% ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวและการสนับสนุนจากนโยบายการคลัง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 เมษายน 2567 กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า​ เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 ถึง 2.9) ขยายตัวจากปี 2566 ที่ขยายร้อยละ 1.9 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ คาดว่าภาคการท่องเที่ยวในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 35.7 ล้านคน ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 26.7 ต่อปี ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ประชาชน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 ถึง 4.2) ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 ถึง 4.0) สำหรับการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 ถึง 2.8) โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 ถึง 3.9) โดยมีสินค้าทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ปรับลดลงเมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วของกระทรวงการคลัง ณ เดือน มกราคม 2567 ที่ร้อยละ 2.8 เนื่องจาก 1) การส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวซึ่งสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์และหมวดชิ้นส่วนและแผงวงจรในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 3) ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญ และ 4) ภาคการคลังที่ยังคงใช้การเบิกจ่ายตามงบประมาณตามปี 2566 ไปพลางก่อน

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่า​ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ถึง 1.1) ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงต่อจากนี้เม็ดเงินจากงบประมาณปี 2567 จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเร่งขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 สำหรับในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน กระทรวงการคลังมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับ 1) ความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability) มุ่งมั่นในการบริหารจัดการการคลังอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายของรัฐและระดับหนี้สาธารณะอย่างรับผิดชอบ และ 2) การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย (Potential GDP) มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในระดับภูมิภาคและระดับหมู่บ้าน โดยต่อยอดจากวิสัยทัศน์ 8 ด้าน ภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในด้านการผลิตและเทคโนโลยี รวมทั้งการส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะผ่านการปฏิรูปการศึกษาและการฝึกอบรมสายอาชีพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตของประเทศต่อไป การสนับสนุนประเด็นที่สำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีระดับภูมิภาคในอนาคต นอกจากนี้ หากเม็ดเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถเริ่มมีการใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (กรณีประชาชนใช้จ่ายเม็ดเงินส่วนใหญ่ภายในสิ้นปี 2567)

อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ 2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และ 3) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

Advertisement

พาณิชย์-เกษตร จัดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ หวังกู้วิกฤติข้าวไทยสู่ตลาดโลก

People Unity News : พาณิชย์-เกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อนประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ หวังกู้วิกฤติข้าวไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อวาน (5 พฤศจิกายน 2564) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย โดยมี นายชาตรี บุญนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว คณะผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเกษตรกรจากจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ ณ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท พร้อมคณะทูตพาณิชย์จาก 25 ประเทศ และพาณิชย์จังหวัดใน 27 แหล่งเพาะปลูกของประเทศ ร่วมกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์

นายชาตรี กล่าวว่า สำหรับการประกวดข้าวในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้นักวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ส่งผลงานเข้าประกวดในข้าว 3 ประเภท ได้แก่ ข้าวหอมไทย ข้าวขาวพื้นนุ่ม และข้าวขาวพื้นแข็ง ซึ่งมีพันธุ์ข้าวที่ส่งประกวดทั้งสิ้นจำนวน 48 พันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวจำนวน 31 พันธุ์ โดยไดันำพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวด มาทดลองปลูกในแปลงปลูกของศูนย์วิจัยข้าว 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก และศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ซึ่งจะดำเนินการตัดสินผลการประกวดในช่วงเดือนธันวาคม

ด้าน นางสาวนนทิชา เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการตัดสิน คณะกรรมการจะเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดกับข้าวพันธุ์เดิมที่โดดเด่นในแต่ละประเภท ทั้งด้านการเพาะปลูกในแปลง การขัดสี คุณภาพทางกายภาพของเมล็ด คุณภาพทางเคมี และคุณภาพการหุงต้ม ซึ่งเชื่อมั่นว่าการประกวดดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่ออนาคตข้าวไทยให้กับชาวนา ผู้ประกอบการค้าข้าว ตลอดจนผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ภายหลังได้นำประธานและคณะ เยี่ยมชมแปลงนาพันธุ์ข้าวจากการประกวดในพื้นที่ของศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ตลอดจนการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว

Advertising

รอง ปธ.ธนาคารโลกเข้าพบ “สมคิด” อวยไทยมาถูกทาง

People unity news online :  วันนี้ (30 มีนาคม 2560) เวลา 15.00 น. นาง Victoria Kwakwa รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนไทย ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานธนาคารโลกได้หารือถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยและโครงการที่รัฐบาลจะพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว โดยรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงภูมิหลังทางเศรษฐกิจของไทยที่ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ซึ่งประเทศไทยต้องใช้เวลา 6-7 ปีในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สิ่งนี้ทำให้ประเทศไทยได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ประเทศต้องการไม่ใช่แค่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปจะต้องมุ่งสร้างดุลยภาพการเติบโต โดยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

รองนายกรัฐมนตรีระบุเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับ CLMVT ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังเจริญเติบโตและเป็นกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน ประเทศไทยจึงยินดีร่วมมือกับธนาคารโลกจัดทำแผนแม่บทสำหรับการพัฒนา CLMVT และนำเสนอแผนดังกล่าวให้กลุ่มประเทศ CLMVT เพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งทางรองประธานธนาคารโลกได้แสดงความเข้าใจและยินดีร่วมมือกับไทยในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ รองประธานธนาคารโลกยังกล่าวชื่นชมนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 รวมถึงการเตรียมความพร้อมทางด้านการศึกษาและแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

People unity news online : post 30 มีนาคม 2560 เวลา 20.58 น.

สหรัฐคงสถานะไทย Watch List ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 พฤษภาคม 2567 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยสหรัฐคงสถานะไทยในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ย้ำชื่นชมประเทศไทยพัฒนาการและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยได้ดีเยี่ยม แต่สหรัฐมีข้อห่วงกังวลปัญหามีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ และอื่นๆ ขอให้ไทยแก้ไข

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (United States Trade Representative : USTR) ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา โดยคงสถานะไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเดินหน้าชี้แจงสหรัฐ ถึงพัฒนาการ และเร่งขับเคลื่อนการเจรจาแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL

ทั้งนี้ จากการประกาศสถานะดังกล่าว สหรัฐตระหนักถึงพัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายสิทธิบัตร รวมทั้งชื่นชมความพยายามของหน่วยงานไทยในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของสิทธิ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร การจัดทำระบบฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร (Thai Customs IPR Recordation System : TCIRs) การจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วนในการดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ

อย่างไรก็ดี สหรัฐยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาบางประการ อาทิ ยังคงมีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันสำหรับการสตรีมและดาวน์โหลด content โดยไม่ได้รับอนุญาต และความล่าช้าในการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

ทั้งนี้ กรมฯ มองว่าทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการส่งเสริม การคุ้มครอง และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมากรมฯ ได้เร่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างต่อเนื่องและมีพัฒนาการที่ชัดเจน โดยไทยมุ่งมั่นดำเนินทุกภารกิจเพื่อที่จะหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชีให้ได้ ซึ่งเห็นได้จากการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของสหรัฐ หลายเรื่องได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Smart DIP ซึ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับประชาชนในการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา มีเพียงบางเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Performances and Phonograms Treaty : WPPT) และการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning International Registration of Industrial Designs : Hague Agreement)

อย่างไรก็ตาม กรมฯ มั่นใจว่าสหรัฐจะพิจารณาให้ไทยหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชีในไม่ช้านี้ ทั้งนี้ กรมฯ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงขอเน้นย้ำว่ากรมฯ จะเร่งผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ให้สำเร็จโดยเร็ว โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 กรมฯ หารือกับ USTR เพื่อเร่งจัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ร่วมกับสหรัฐ ซึ่งจะเป็นกรอบในการดำเนินการเพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชีดังกล่าวได้ต่อไป

Advertisement

เกษตรกรนับพันบุกทำเนียบ ร้องนายกฯช่วย อ้าง ธ.ก.ส. ไม่ทำสัญญา

People Unity News : 11 กรกฎาคม 2566 เครือข่ายฟื้นฟูเกษตรกรนับพันเดินทาง บุกทำเนียบยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีติดตามมติ ครม. แก้หนี้ช่วยเหลือเกษตรกร หลังแบงค์รัฐไม่ทำสัญญา

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศรอบนอกทำเนียบรัฐบาลในระหว่าง การประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ตึกสันติไมตรี ได้มีกลุ่มเครือข่าย สมาชิกกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกรภาคอีสานและภาคเหนือ รวมถึง เครือข่ายสมัชชาเกษตรกรรายย่อย กว่า 1,000 คนนำโดยนางนิสา คุ้มกลอง เดินเท้ามาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่น หนังสือร้องเรียน ถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล 1111

ทั้งนี้ เพื่อขอให้ติดตาม มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่อนุมัติให้ 4 ธนาคารของรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคาร sme เพื่อฟื้นฟูหนี้สิน โดยให้เกษตรกร ใช้หนี้เพียงครึ่งหนึ่งของเงินต้น โดยรัฐจะออกให้อีกครึ่งหนึ่ง แต่ปรากฏว่า จนถึงขนาดนี้ ธ.ก.ส. ไม่ยอมทำสัญญา กับเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

Advertisement

ครม. อนุมัติ 3.5 พันล้าน จ้างงานบัณฑิตจบใหม่ – ปชช. 7,435 ตำบล เริ่ม ก.ค. – ก.ย. 65

People Unity News : 16 มิ.ย. 65 ที่ประชุม ครม. เมื่อ 14 มิ.ย. 65 เห็นชอบให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และ นวัตกรรม (อว.) ดำเนิน “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ  BCG (U2T for BCG and Regional Development) ใน 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,566.28 ล้านบาท โดยเกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไปและบัณฑิตจบใหม่ จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350 คน  เศรษฐกิจในพื้นที่หมุนเวียนระหว่างดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 600ล้านบาท/เดือน โดยจะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ อว. ไปขับเคลื่อนภาคการผลิตและบริการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรักษาระดับการจ้างงาน

โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ  BCG (U2T for BCG and Regional Development) มีวัตถุประสงค์ คือ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาและประชาชนในพื้นที่พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อทักษะการทำงานในปัจจุบันและที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG รวมทั้ง พัฒนาฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่  (Thailand Community Big Data :TCD)  ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในพื้นที่ของประเทศ

กลุ่มเป้าหมาย คือ บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ประชาชนในพื้นที่สถาบันอุดมศึกษาภาคประชาชนภาคสังคมและภาคส่วนต่างๆ โดยมีการจัดกิจกรรมไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม ในพื้นที่ 7,435 ตำบล ทั่วประเทศ 77 จังหวัด  เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและบริการ เพื่อเพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุน การจัดการตลาด การจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาบรรจุการขนส่งและการกระจายสินค้าและบริการ เป็นต้น  โดยสถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ (ตำบล) ทำหน้าที่เป็นผู้บูรณาการ ระบบ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูล TCD ในการวางแผนและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

การจ้างงาน  – พื้นที่ 3,000 ตำบล ต่อยอดจากโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย  จำนวน 8 คน/ตำบล ประกอบด้วยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามาไม่เกิน 5 ปีจำนวน  4 คน/ตำบล และผู้ที่ถูกเลิกจ้างและประชาชนในพื้นที่จำนวน 4 คน/ตำบล

-พื้นที่ 4,435 ตำบลใหม่ จำนวน 10 คน/ตำบล ประกอบด้วยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 5 ปี  5 คน/ตำบล และผู้ที่ถูกเลิกจ้างประชาชนในพื้นที่ 5 คน/ตำบล

ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย. 65

ประโยชน์ที่จะคาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการ คือ เกิดกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG ไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10  ในผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนไม่น้อยกว่า 4,500 รายการ เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป และบัณฑิตจบใหม่จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350  คน เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระหว่างการดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท/เดือน  มีการ Upskill/Reskill พัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG  รวมทั้งการใช้สามารถจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูล TCD ในการวิเคราะห์การจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ครบทุกพื้นที่

Advertisement

ออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อ “SMEs มีที่ มีเงิน” ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว ตามมติ ครม.

People Unity News : ออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อ “SMEs มีที่ มีเงิน” ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว ตามมติ ครม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปีแรกดอกเบี้ยต่ำ 0.10% ลงทะเบียนยื่นกู้ทาง www.gsb.or.th เริ่ม 18 กุมภาพันธ์ 2564

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังคงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักหลังจากการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)  เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาและเพิ่มสภาพคล่องสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมอบหมายธนาคารออมสินจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท เริ่มเปิดรับลงทะเบียนขอกู้ทางเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สามารถใช้ที่ดินเปล่า หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อนำเงินกู้ไปใช้เสริมสภาพคล่องให้กิจการ หรือเพื่อไถ่ถอนที่ดินซึ่งทำสัญญาขายฝากกับเอกชนไว้ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 โดยธนาคารฯให้วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินราชการ ระยะเวลากู้ 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษตามนโยบายรัฐบาล ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย = 0.10% ต่อปี ปีที่ 2 = 0.99% ต่อปี และปีที่ 3 = 5.99% ต่อปี กรณีบุคคลธรรมดาจำนวนเงินให้กู้ 1-10 ล้านบาท นิติบุคคลจำนวนเงินให้กู้ 1-50 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการขอสินเชื่อได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th

“สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ของธนาคารออมสิน เริ่มเปิดให้กู้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 มีแนวคิดเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ หรือมีความเสี่ยงสูญเสียที่ดินติดสัญญาขายฝากอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากที่ได้เตรียมวงเงินโครงการเริ่มแรก 5,000 ล้านบาท ต้องขยายเพิ่มเติมเป็น 10,000 ล้านบาท โดยมีผู้ลงทะเบียนขอกู้จนเต็มวงเงินในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับวงเงินใหม่ 10,000 ล้านบาทนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล โดยธนาคารจะพิจารณาให้กู้จากคุณภาพของหลักประกัน และคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

Advertising

ออมสิน ทำโครงการ “ตลาดออมสินรวมใจ” สร้างต้นแบบตลาดเพื่อเศรษฐกิจดี ชีวิตดี สังคมยั่งยืน

People Unity News : 11 พฤศจิกายน 2566 ออมสิน ทำโครงการยกระดับตลาดแบบองค์รวม “ตลาดออมสินรวมใจ” นำร่อง 18 แห่งทั่วประเทศ สร้างต้นแบบตลาดเพื่อเศรษฐกิจดี ชีวิตดี สังคมยั่งยืน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดทำโครงการยกระดับตลาดแบบองค์รวม (Holistic Market Project) ภายใต้ชื่อ “ตลาดออมสินรวมใจ” ต่อยอดแนวคิดงานพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม หรือ Holistic Area-Based Development ตั้งเป้าช่วยแก้ไขปัญหาหนี้และเป็นแหล่งเงินทุนแก่ผู้ขายในตลาดสดของชุมชน ล่าสุดได้ลงพื้นที่ตลาดเจดีย์แม่ครัว อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 1 ใน 18 ตลาดของโครงการฯ เพื่อติดตามความคืบหน้างาน รวมถึงร่วมประชุมประเมินปัญหา-อุปสรรค และกำหนดปัจจัยความสำเร็จของตลาดแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการ ณ ห้องประชุมคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

โครงการยกระดับตลาดแบบองค์รวม หรือ Holistic Market Project เป็นความร่วมมือของธนาคารออมสิน กับเจ้าของตลาด และหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ที่ได้ร่วมกันคัดเลือกตลาดเอกชนและตลาดเทศบาล นำร่อง 18 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในตลาด ได้แก่ พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย และผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรม หลุดพ้นจากการเป็นหนี้นอกระบบ ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้ค้าขายในตลาดผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ครอบคลุมการพัฒนาใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ด้วยการให้ความรู้และคำปรึกษาเรื่องการแก้ไขหนี้ในระบบ/นอกระบบ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และแนวทางการป้องกันการเกิดหนี้ 2) การส่งเสริมการออม เพื่อสร้างวินัยการออม 3) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เป็นธรรม ไม่พึ่งพิงหนี้นอกระบบ 4) ให้ความรู้ทางการเงิน Financial Literacy การบริหารการเงิน และวางแผนการออม 5) สนับสนุนให้มีอาชีพที่ 2 เป็นอาชีพเสริม และเพิ่มทักษะเฉพาะด้านที่มีความจำเป็น 6) ให้ความรู้ในการเพิ่มช่องทางการขาย/การตลาด ผ่านช่องทางออนไลน์ และ 7) สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการค้าขาย ทั้งการ Re-Branding ตลาด ปรับปรุงสถานที่ ร้านค้า ป้ายบอกโซนค้าขาย และสภาพแวดล้อมในตลาด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการติดตามความคืบหน้าและประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินโครงการฯ ทั้ง 18 ตลาด ได้แก่ ตลาดนัดจตุจักร จ.กรุงเทพฯ ตลาดน้ำดอนหวาย จ.นครปฐม ตลาดเจดีย์แม่ครัว จ.เชียงใหม่ ตลาดสดเทศบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ตลาดเทศบาลเมืองสะเดา จ.สงขลา และ ตลาดสดเจ้าพระยา จ.ชลบุรี

Advertisement

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแจงมีหนี้สาธารณะ 7.8 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 78 ล้านล้านบาท

People Unity News : หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ที่ระดับ 78 ล้านล้านบาท ไม่เป็นความจริง

ตามที่ได้มีการแชร์รูปภาพและเนื้อข่าวว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 สูงถึง 78 ล้านล้านบาท นั้น นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอชี้แจงว่า เนื้อหาข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง  โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 หนี้สาธารณะมีจำนวนทั้งสิ้น 7.8 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับร้อยละ 49.34 ประกอบด้วย หนี้รัฐบาล จำนวน 6.73 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 795,980 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 309,472 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,821 ล้านบาท ทั้งนี้ หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง จำนวน 6.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.40 ของ GDP สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ใช้แหล่งเงินอื่นมาชำระหนี้ จึงไม่เป็นภาระต่องบประมาณ

ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงการคลังได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ปี 2564 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังซึ่งกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ทั้งนี้ การเจตนานำเข้า เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือน ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

Advertising

“SPCG”หนุน “สนพ.” ดึงองค์ความรู้พลังงานหมุนเวียนต่อยอดธุรกิจ

People Unity : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ผู้แทน SPCG ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในโครงการ THE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”ณ อาคาร True Digital Park

เมื่อวันที่ 27ตุลาคม 2562ที่ผ่านมา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” มอบหมายให้ นางนรินพร มาลาศรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนขึ้นบรรยายในโครงการTHE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”หรือ “นโยบายทางด้านพลังงานหมุนเวียน หรือธุรกิจทางด้านพลังงานหมุนเวียน อะไรคือตัวนำในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางด้านพลังงานของประเทศไทย” จัดขึ้นณ อาคาร True Digital Parkโดยโครงการครั้งนี้

มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการ ผู้ประกอบธุรกิจพลังงาน ผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยี นิสิตและนักศึกษา รวมทั้งประชาชนได้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมกันสร้างสรรค์นโยบายเพื่อต่อยอดธุรกิจด้านพลังงานไทย และร่วมกำหนดนิยามความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของประเทศไทยให้พัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นางนรินพรได้กล่าวว่าบริษัท SPCG ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟรายแรกของประเทศไทยและประชาคมอาเซียนด้วยโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งในและต่างประเทศรวมกำลังการผลิตทั้งสิ้นกว่า 300 เมกะวัตต์ซึ่งธุรกิจของเรานอกจากจะเป็นธุรกิจด้านพลังงานสะอาดแล้ว ยังสามารถช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 200,000 ตัน CO2ต่อปี อีกด้วย

ในส่วนของการบรรยายนั้น นางนรินพร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีเงินสนับสนุนส่วนเพิ่มพิเศษจากค่าไฟฟ้าปกติ (Adder) และ Feed in Tariff (FIT) ทำให้ภาคธุรกิจ ทางด้านพลังงานหมุนเวียน มีการเติบโต สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลักร้อยเป็นหลักพัน โดยในปี 2564 จะมีปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 3,272 เมกะวัตต์ และจากแผน PDP 2018 รัฐบาลประกาศให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี ทั้งหมด 1,000 เมกะวัตต์ โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2562 เป็นต้นไป รวมถึงจะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ในช่วงปี 2561-2580 กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจการลงทุน ในโครงการที่รัฐบาลมีนโยบาย หรือกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม สมเหตุสมผล จูงใจแก่นักลงทุน สนใจมาลงทุนโดยไม่ลังเลใจหรืออยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ารูปแบบการสนับสนุนไม่จูงใจให้เกิดการเข้าร่วมโครงการ โดยจะเห็นได้จากผลการดำเนินโครงการช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการในจำนวนที่น้อย และผลที่ได้มีขนาดรวมไม่ถึงเมกะวัตต์ จาก 121 หลังคาเรือน ห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้ 15,000หลังคาเรือนหรือ 100 เมกะวัตต์ ในปี 2562

Verified by ExactMetrics