วันที่ 5 พฤษภาคม 2024

ก.เกษตร เร่งแก้ “ปุ๋ยแพง” พัฒนาศูนย์ดินปุ๋ยชุมชน พร้อมผลักดันธนาคารปุ๋ยอินทรีย์

People Unity News : 23 กรกฎาคม 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ปัญหาราคาปุ๋ยแพงและขาดแคลน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการชะลอการส่งออกปุ๋ยของจีนและรัสเซียทำให้ราคาปุ๋ยในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระยะเร่งด่วน ทำโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ชดเชยราคาปุ๋ยแก่เกษตรกร ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 0.01 เพื่อเสริมสภาพคล่องสถาบันเกษตรกร สนับสนุนงานวิจัยการใช้ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ค่าดิน และเจรจาขอซื้อปุ๋ยไนโตรเจนราคาพิเศษจากมาเลเซียตามข้อตกลงว่าด้วยการแบ่งผลิตอุตสาหกรรมอาเซียน

ในระยะกลางและระยะยาว ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคา และเจรจากับประเทศอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ย หรือกำหนดราคาแม่ปุ๋ยให้เกิดเสถียรภาพทั้งด้านปริมาณและราคา นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี โดยมีหมอดินอาสาถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เช่น การใช้ปุ๋ยและพัฒนาดินตามผลวิเคราะห์ค่าดินรายแปลง ส่งเสริมการไถกลบตอซัง ใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงผลักดันการตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

Advertisement

ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่งในพื้นที่ EEC

People Unity News : ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่ง ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

5 ต.ค.2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 6 แห่ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ

ปัจจุบันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) มีพื้นที่รับรองการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและการค้า จำนวน 15,836 ไร่ สามารถรองรับการลงทุนได้เพียง 5 ปี เพื่อเพิ่มจุดแข็งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและรองรับการลงทุนในอนาคต จึงต้องจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น 6 แห่ง ประกอบด้วย การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรมรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 6,884 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการได้ประมาณ 5,098 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 280,772 ล้านบาท ภายใน 10 ปี หรือระหว่างปี 2564 – 2573 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 698 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,501 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 978 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 421 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ และดิจิทัล และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,498 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์

สำหรับการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ที่ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวม 519 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการ 360 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 20,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี 2564 – 2573 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัย กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและกิจการที่เกี่ยวข้องไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะกำหนดพื้นที่นำร่องของ EEC ในการพัฒนาระบบโครงข่าย 5G อย่างเต็มรูปแบบ และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ที่ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) โดยเปลี่ยนแปลงแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ฯ และเพิ่มพื้นที่ประมาณ 18 ไร่ ทำให้พื้นที่รวมของศูนย์มีทั้งสิ้น 585 ไร่ จากเดิม 566 ไร่

Advertising

ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงร่วมลงทุนใน EEC

People unity : ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงร่วมลงทุนในโครงการ EEC

เมื่อวานนี้ (28 ก.พ.2562) เวลา 11.30 น. นางแคร์รี หล่ำ (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงเดินทางมาเยือนไทยเพื่อร่วมพิธีเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office: HKETO) ประจำประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการย้ำความเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีได้เชิญบริษัทฮ่องกงมาร่วมลงทุนในโครงการ EEC ซึ่งสามารถเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ (Greater Bay Area – GBA) ได้แก่ กวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า รวมถึงอนุภูมิภาค ACMECS ด้วย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ยินดีผลักดันความร่วมมือระหว่างอาเซียนและฮ่องกงในมิติต่างๆ

ด้านดิจิทัล ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความก้าวหน้าของโครงการเคเบิลใต้น้ำของไทยสู่ฮ่องกง เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาค (ASEAN Digital Hub) รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)

ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงพร้อมเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงมาลงทุนในไทยมากขึ้น และกล่าวว่า ฮ่องกงถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยมีมูลค่าเป็นอันดับ 3 จึงพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีการเงินให้แก่ไทยซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานทางการเงินและการธนาคารของไทยและภูมิภาค สำหรับด้านการศึกษา ฮ่องกงยินดีส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาให้แก่ไทยโดยเฉพาะวิทยาการในสาขาที่ฮ่องกงมีความก้าวหน้า โดยปัจจุบันมีโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวิชาการระหว่างกัน และมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในระดับปริญญาตรีด้วย

อนึ่ง ก่อนหน้าจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี นางแคร์รี หล่ำ (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้เข้าพบและหารือกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว

เศรษฐกิจ : ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงร่วมลงทุนใน EEC

People unity : post 1 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น.

4 ค่ายรถยนต์ยักษ์ยื้อตอบรับนโยบาย 4 ข้อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล

People unity : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประชุมร่วม 4 ค่ายรถยนต์ เพื่อเปิดรับฟังข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าระยะแรก หวังยกระดับให้ไทยเป็นฐานที่มั่นการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

15 มีนาคม 2562 : นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากช่องโหว่ของมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ผลิตรถยนต์ HEV/PHEV โดยไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Vehicles) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศ ดังนั้น สศอ. จึงได้นำเสนอมาตรการในการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ “Core Technology” ของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต รวมทั้งต้องการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ในราคาประหยัด และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือเรียกว่า “อีโค่อีวี (ECO EV)”

นายณัฐพล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มาตรการ ECO EV มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ (1) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถปรับพลิกโฉมฐานการผลิตรถยนต์ ECO Car ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งหลักของประเทศไทย ซึ่งถูกกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการภาษีสรรพสามิตของการส่งเสริม EV ระยะแรก และ (2) เพื่อปิดจุดอ่อนของมาตรการส่งเสริม EV ในรอบแรก ซึ่งจากโครงการที่บริษัทเสนอขอรับการสนับสนุนทั้งหมด สศอ. พบว่า มีปัญหาใน 3 ประเด็นหลักคือ ร้อยละ 79.8 ของรถยนต์ทุกคันเป็นการลงทุนผลิต HEV ที่ไม่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ จึงไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาให้ไปสู่ BEV ในอนาคตได้ และกว่าร้อยละ 91.8 ของรถยนต์ที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุน ไม่มีการลงทุนใน Core Technology ของ EV ในประเทศไทยเลย โดยเป็นการประกอบขั้นปลายสุด คือ ประกอบตัวถังและทดสอบแบตเตอรรี่  นอกจากนี้ รถยนต์ทุกคันที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุน มีราคาสูงกว่าที่ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ คือ ราว 1-6 ล้านบาท ซึ่งย่อมจะทำให้จะไม่แพร่หลายหรือมีขนาดการผลิตที่เพียงพอสำหรับการลงทุนผลิต Core Technology ของ EV ในประเทศไทย ประกอบกับ นายกรัฐมันตรีได้มีข้อสั่งการให้มีการเร่งรัดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย เพื่อเป็นอีกทางเลือกของประชาชนในกานช่วยกันลดฝุ่น pm 2.5 จากการใช้รถยนต์ดีเซล และเบนซิน

นายณัฐพล เปิดเผยอีกว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. ได้ทำงานร่วมกับ BOI และกระทรวงการคลัง และได้มีการปรับปรุงและสรุปข้อเสนอของมาตรการการ ECO EV จนล่าสุดสามารถตอบวัตถุประสงค์ต่างๆได้ครบทุกข้อ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้สรุปและประกาศมาตรการนี้ ได้รับทราบจากกระทรวงการคลังว่า ได้รับหนังสือร่วมลงนามจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่เสนอขอรับการส่งเสริม HEV 3 ราย คือ Toyota Honda และ Nissan และบริษัทผู้จัดจำหน่ายรถปิกอัพ 1 ราย คือ ตรีเพรชอิซูซุ ได้มีข้อท้วงติง และต้องการให้ภาครัฐดำเนินมาตรการในทิศทางอื่น และในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. จึงได้หารือกับผู้ผลิต HEV ทุกรายอีก ทั้งการหารือแบบรายบริษัท และกลุ่ม 3+1 รายนี้ ซึ่งทั้ง 3 รายรับที่จะเสนอแนวทางในการปรับโครงการการลงทุนของแต่ละบริษัท เพื่อให้ไม่เป็นเพียงโครงการประกอบ HEV ขั้นสุดท้ายดังที่เสนอมาในปัจจุบัน แต่จะเพิ่มให้มีการลงทุนเพื่อพยายามตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อข้างต้น คือ (1) ราคาที่คนไทยต้องเข้าถึง EV ได้ (2) มีกระบวนการผลิตของชิ้นส่วน EV core technology (3) มีการก้าวไปสู่รถยนต์ที่สามารถชาร์ทไฟฟ้าได้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาโครงข่ายการพัฒนาไฟฟ้า และ (4) มีเส้นทางการพัฒนาฐานการผลิต ECO Car ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต ที่มีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า

นายณัฐพล เปิดเผยถึงผลการประชุมเปิดรับฟังข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าระยะแรกในวันนี้ว่า “หลังจากที่ทั้ง 3 บริษัทได้ทราบโจทย์และขอกลับไปหาแนวทางประมาณ 1 เดือน ซึ่งในวันนี้บริษัทได้มารายงานผล ซึ่งสรุปได้ว่า บริษัทไม่มีข้อเสนอที่จะตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อ ในการแก้ปัญหามาตรการ EV ระยะแรกได้ โดยเห็นว่า ในช่วง 6 ปีนี้ ภาครัฐยังไม่ควรมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ควรรอให้มาตรการภาษีสรรพสามิตจบลงในปี 2568 ก่อน จึงควรหามาตรการแก้ไขต่อไป โดยหลังจากนี้ สศอ. จะสรุปสถานการณ์ล่าสุดเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ industry 4.0 เพื่อทราบสถานะและพิจารณาตัดสินใจต่อไปว่าประเทศไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะเดินออกจากข้อติดขัดของการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านี้ร่วมกันหรือไม่อย่างไร”

เศรษฐกิจ : 4 ค่ายรถยนต์ยักษ์ยื้อตอบรับนโยบาย 4 ข้อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล

People unity : post 17 มีนาคม 2562 เวลา 20.40 น.

ศก.ไทยเสี่ยง-ขยายต่ำ! มติกนง.5 ต่อ 2 เสียง ลดดอกเบี้ยลง 0.25%

People Unity News : ศก.ไทยเสี่ยง-ขยายต่ำ! มติกนง.5 ต่อ 2 เสียง ลดดอกเบี้ยลง 0.25% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือ 1.25%

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2562 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี

ทั้งนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลง ซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

สถานการณ์ความยากจนในไทย ปรับตัวดีขึ้น

People Unity News : 29 ตุลาคม 2565 โฆษกรัฐบาล เผยสถานการณ์ความยากจนในไทย ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากนโยบายสำคัญรัฐบาล ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทุกกลุ่ม แก้ปัญหาแบบมุ่งเป้าให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีคนยากจนจำนวนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนยากจนที่ร้อยละ 6.32 ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วนคนยากจนร้อยละ 6.83 ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนยากจนก็พบว่าในปี 2564 ครัวเรือนยากจนมีจำนวนทั้งสิ้น 1.24 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.79 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจนประมาณ 1.40 ล้านครัวเรือน

นายอนุชา กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่เน้นพุ่งเป้าให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุชัดว่า หากรัฐบาลไม่มีโครงการช่วยเหลือเยียวยา จำนวนคนจนจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 11 ล้านคน

นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังเผยให้เห็นว่า สถานการณ์การว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ 5.5 แสนคน ปรับตัวลดลงจาก 6.08 แสนคนในไตรมาส 1 ของปี 2565 หรือลดลงประมาณ 5.8 หมื่นคน โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยยกเว้นการกักตัวของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในบางสาขาเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม

นายอนุชา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการแก้ไขปัญหาทั้งในแบบภาพรวม และแบบเจาะจงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยได้แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นต้นตอของความยากจน 8 เรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ (เน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ SMEs) การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะครูและตำรวจ การแก้ไขปัญหาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินการนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ซึ่งเป้าหมายคือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน โดยได้วางกลไกครอบคลุมตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ ซึ่งในระดับปฏิบัติ หรือในระดับพื้นที่ จะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัวมีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือนให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัว ทีมพี่เลี้ยงก็จะมีมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาในแต่ละมิติที่แตกต่างกันไปตามแต่ละครอบครัว เช่น มิติสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง มิติความเป็นอยู่ ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มิติการศึกษา ฝึกอาชีพ มิติด้านรายได้ การจัดหาที่ดินทำกิน วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น

Advertisement

ธนาคารออมสินจัด 4 กระบวนการสนองนโยบายคลังสานต่อก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด

People Unity News : ธนาคารออมสินสานต่อก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด จัดมาตรการ “เยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” เตรียมวงเงินปล่อยสินเชื่อใหม่ 40,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ ให้ผ่อนเบาๆ

25 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง ได้มีพิธีแถลงข่าวการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานภายใต้สังกัด และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการดูแลเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ด้วยการสานต่อโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” และจัดตั้ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” เพื่อติดตาม สำรวจ และรับทราบความเดือดร้อน พร้อมเร่งเยียวยา ฟื้นฟู คืนอาชีพ คืนความสุขให้กับประชาชน ตลอดจนออกมาตรการเพื่อเติมความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ผู้บริหารหน่วยงานภายใต้สังกัด และผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดย ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เข้าร่วมในพิธี

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ตามแนวทางที่กระทรวงการคลัง ได้กำหนดกรอบและแนวทางไว้ โดยได้ออกมาตรการดูแลเป็นการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เป็นลูกค้าและประชาชนทั่วไป ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน มาตรการให้เงินกู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท และ 50,000 บาท การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน แก่สถาบันการเงิน น็อนแบงก์ ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารออมสิน การลงพื้นที่ตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนที่ขอทบทวนสิทธิ์ตามมาตรการชดเชยรายได้ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และล่าสุด ได้ดำเนินการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ลงทะเบียนในมาตรการลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยรายได้จากประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ 5,000 บาท อีกด้วย

“ช่วง 1-2 เดือนนี้ จะเห็นได้ว่ามีผู้มาติดต่อที่สาขาธนาคารออมสินเป็นจำนวนมาก หลายสาขามีคนเข้าแถวรอจนล้นออกมานอกสาขาเป็นคิวยาวมาก ท่ามกลางการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งธนาคารฯได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งในส่วนการรับรองลูกค้าและการดูแลความพร้อมของพนักงาน โดยหลายธุรกรรมได้แนะนำให้ลูกค้าใช้บริการออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น การลงทะเบียนสินเชื่อฉุกเฉินรายย่อย ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกัน เสี่ยงต่อการติดเชื้อ” ดร.ชาติชาย กล่าว

ทั้งนี้ ความคืบหน้าของมาตรการที่ธนาคารออมสินดำเนินการอยู่ ได้แก่

1.การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ ทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 2,894,333 ราย วงเงินรวม 1.129 ล้านล้านบาท

2.สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือ เงินกู้ฉุกเฉิน วงเงิน 10,000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และวงเงิน 50,000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีรายได้ประจำ วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ยื่นกู้แล้วจำนวน 2,663,197 ราย และได้ส่งข้อความ SMS นัดให้มายื่นเอกสารแล้ว 1,969,739 ราย โดยได้ดำเนินการอนุมัติไปแล้ว 310,006 ราย คิดเป็นวงเงิน 7,527.16 ล้านบาท โดยปริมาณงานในส่วนนี้มีมากกว่างานปกติถึง 10 เท่าตัว ซึ่งธนาคารฯได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มกำลัง และทำทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2563

3.เงินกู้ซอฟท์โลน 150,000 ล้านบาท ได้มีผู้ยื่นกู้แล้ว 12,352 ราย วงเงินรวม 131,976.81 ล้านบาท ปัจจุบันได้อนุมัติแล้ว 105,242.34 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่กำลังทยอยอนุมัติอีก 44,757.66 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2563 จะสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด

ล่าสุดธนาคารออมสินได้อนุมัติซอฟท์โลน อีก 2,000 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ให้กับสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่นำทรัพย์สินมาจำนำในช่วงนี้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ดร.ชาติชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทั้ง 9 แห่ง ธนาคารออมสินได้กำหนดแนวทาง “เยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” ด้วยแนวคิด “คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” ผ่าน 4 กระบวนการ คือ 1. เยียวยา ดำเนินการภายใต้มาตรการเสริมสภาพคล่องต่อเนื่องหลังจากการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนสิ้นสุด ด้วยการพักชำระหนี้ต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยให้เลือกชำระดอกเบี้ย 50 – 100% ได้ตามความสามารถ และยังคืนดอกเบี้ยให้อีก 20% (Cash Back) กรณีผ่อนขำระดีต่อเนื่อง รวมถึงขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไป ขณะเดียวกันได้ตั้งทีมคลินิกคลังสมอง หมอคลัง “เราไม่ทิ้งกัน” บริการด้วยระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์/ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์/สื่อสังคมออนไลน์ธนาคารออมสิน เช่น GSB Society ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลกับเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน รับเรื่องเยียวยา ให้คำปรึกษา ประสานเครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการประชาชนอย่างครอบคลุม รวดเร็วธนาคารออมสิน ยินดีดูแลผู้ได้รับผลกระทบที่เดินเข้ามาหาเรา ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยสามารถดำเนินชีวิตฝ่าฟันผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปให้ได้

กระบวนการที่ 2 การคืนอาชีพ ธนาคารฯได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยประชาชน สร้างงานชุมชน โครงการช่างประชารัฐ ให้ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงมีการจัด “ตลาดนัดเราไม่ทิ้งกัน” ทั่วประเทศ ขณะที่ กระบวนการที่ 3 คืนความสุข โดยธนาคารฯได้ร่วมกับชุมชนต่างๆ ดำเนินการ “ตู้คลังออมสินปันสุข” ทุกชุมชน ซึ่งได้นำร่องจัดทำไปแล้วในหลายพื้นที่ และต่อไปจะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม “ออมสินดูแล ห่วงใย ไม่ทิ้งกัน” สำหรับกระบวนการสุดท้าย กระบวนการที่ 4 ฟื้นฟูรายได้ ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนนาน จำนวน 4 ประเภท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 10,000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และ สินเชื่อซอฟท์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว

“ปัจจุบัน ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19) ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทำกิจกรรมหรือดำเนินชีวิตได้เป็นปกติให้มากที่สุดภายใต้หลักเกณฑ์ควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังได้เร่งออกมาตรการฟื้นฟูฯ ออกมาควบคู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมนี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่าหากต้องการความช่วยเหลือ จะได้รับอย่างแน่นอน โดยธนาคารออมสินยินดีดูแลผู้ต้องการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ ด้วยมุ่งหวังให้สามารถดำเนินชีวิตฝ่าฟันผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ให้มีความเป็นอยู่อย่างปกติตามสถานการณ์โดยเร็วและเหมาะสม” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

Advertising

Advertising

สำนักงานสลากฯ ชี้แจงวิธีการขึ้นเงินรางวัล ‘สลากดิจิทัล’

People Unity News : วันนี้ (วันที่ 3 มิถุนายน 2565) พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า กรณีถูกรางวัล ระบบจะแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง ภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ออกรางวัล โดยให้เลือกรับรางวัลได้ 2 ช่องทางคือ เลือกรับโดยการโอนเงิน ซึ่งจะโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยที่ผูกไว้กับแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งในอนาคตจะปรับเปลี่ยนให้สามารถผูกบัญชีธนาคารอื่นๆได้ เพื่อความสะดวกของผู้ซื้อ วิธีนี้จะเสียค่าธรรมเนียม 1% และ ค่าภาษีอากรแสตมป์ 0.5% ส่วนวิธีที่สอง สามารถเลือกมารับเงินรางวัลที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ โดยต้องกำหนด วัน เวลา ที่ต้องการเข้ามารับเงินรางวัลเพื่อที่สำนักงานสลากฯ จะจัดเตรียมสลากแบบใบตัวจริง เพื่อส่งคืนให้กับผู้ซื้อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการขึ้นเงินรางวัล วิธีนี้จะเสียเฉพาะค่าภาษีอากรแสตมป์ 0.5% ทั้งนี้ ยืนยันว่าการกำหนดค่าธรรมเนียม และค่าอากรแสตมป์ดำเนินการเช่นเดียวกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการนำสลากไปขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลาก หรือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารกรุงไทย

ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ถูกรางวัลสลากที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มฯ จะต้องแจ้งในระบบว่า จะเลือกรับเงินรางวัลผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งภายในกำหนด จะต้องมาขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลากภายใน 2 ปี โดยสลากที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม หรือดิจิทัล ที่ซื้อไว้จะแสดงอยู่ในประวัติข้อมูลการซื้อ 1 ปี ทั้งนี้ หากเลือกรับเงินรางวัลผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีที่ผูกไว้ จะได้รับเงินโอนหลังจากที่แจ้ง ภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมง ซึ่งยืนยันว่าจากที่ทดสอบระบบ การโอนเงินรางวัลไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ขอให้ผู้ซื้อสลากทุกคนไม่ต้องกังวล

พันโท หนุน ศันสนาคม กล่าวว่า การจำหน่ายสลากผ่านแพลตฟอร์มหรือสลากดิจิทัลนั้น สลากทุกใบเป็นของตัวแทนจำหน่ายรายย่อย สำนักงานสลากฯ เป็นแต่เพียงสนับสนุน จัดหาช่องทางการจำหน่ายในราคา 80 บาท ที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและส่งเสริมตัวแทนรายย่อยผู้ขาย ให้สามารถวางขายในแพลตฟอร์ม ซึ่งมีผู้เข้ามาซื้อเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องเสียค่าใช้ในการเร่ขาย ขณะเดียวกัน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการมอมเมา เพราะปัจจุบันประชาชนที่ซื้อสลากตามแผงจำหน่ายก็สามารถซื้อได้แบบไม่จำกัดจำนวนอยู่แล้ว และขอย้ำว่า สลากทุกใบเป็นของพ่อแม่พี่น้องตัวแทนรายย่อย ดังนั้น การจำหน่ายสลากดิจิทัล นอกจากประชาชนผู้ซื้อจะสามารถซื้อสลากได้ในราคาที่กำหนด คือ 80 บาทแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมรายได้ให้กับพ่อแม่พี่น้องที่เป็นตัวแทนรายย่อยอีกด้วย

Advertisement

เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยเกษตรกรสร้างพื้นที่เกษตรแบบครบวงจร

Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

People Unity News : เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยเหลือเกษตรกรสร้างพื้นที่เกษตรแบบครบวงจร

15 กันยายน 2564 นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังชมความคืบหน้าของโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ใด้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาปัญหาว่างงาน ลดปัญหาเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นแหล่งผลิตอาหาร โดยน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทาง ตั้งแต่รูปแบบของเกษตรทฤษฎีใหม่ในการ บริหารจัดการน้ำ เรียนรู้การจัดทำแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงการทำการเกษตร ทฤษฎีใหม่ที่สามารถสร้างแหล่งอาหารของครัวเรือน ผลผลิตที่สามารถจำหน่ายสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ดำเนินงานผลสำเร็จในพื้นที่ เกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศ ที่มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 28,000 ราย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 20,016 ราย นอกจากนี้ยังมีส่งเสริมการจ้างงานในโครงการแล้ว 13,649 ราย อย่างไรก็ตาม กระทรวงงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งเดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรสามารถพึ่งพาตนเองได้

Advertising

ชาวอุดรร่วมใจเตรียมเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก

People Unity News : 19 มิถุนายน 2565 นายกฯ ปลื้มชาวอุดรทุกฝ่าย ร่วมใจเตรียมเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก รมต.เฉลิมชัย ลงตรวจพื้นที่ ยืนยันรัฐบาลสนับสนุนเต็มที่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569-14 มีนาคม 2570 (134 วัน) ที่ ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งรัฐบาลได้เห็นชอบในการสนับสนุนงบประมาณในขั้นต้น 2,500 ล้านบาท มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆใน จ.อุดรธานี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ประธานสภาหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทราบถึงความตื่นตัวและความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย เพราะประชาชนทราบดีว่างานนี้เป็นการสร้างชื่อเสียงและนำเสนออัตลักษณ์ของจังหวัด อีกทั้งจะสร้างเงินสะพัดในช่วงระหว่างการจัดงานที่อาจมากถึง 32,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้เข้าชมงานที่จะมากถึง 3.6 ล้านคน เป็นชาวไทยร้อยละ 70 และชาวต่างชาติร้อยละ 30 และเกิดการจ้างงานประมาณ 81,000 อัตรา

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการลำเลียงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง-หนองสำโรง-หนองแด และการปรับพื้นที่ให้มีพื้นที่ราบเพิ่มขึ้น ในส่วนของจังหวัดและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ได้ร่วมมือกันวางแผนการเป็นเจ้าภาพ สร้างความเข้าใจโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เมื่อจบสิ้นการจัดงาน ทางจังหวัดมีแผนจะอนุรักษ์พื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ ประเพณีวัฒนธรรม และศูนย์กลางกีฬานานาชาติ ของกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขงและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

“นายกรัฐมนตรี ดีใจที่ได้รับทราบว่าทุกภาคส่วนมีความยินดีและตื่นตัวกับการที่ จ.อุดรจะได้เป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก จับมือกันสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย และนายกฯยังได้ให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้งานนี้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และเป็นที่ประทับใจของแขกผู้มาเยือน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้แก่ชาวบ้านในจังหวัดและจังหวัดข้างเคียง ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics