วันที่ 28 เมษายน 2024

รัฐบาลเผยให้ความสำคัญ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

People Unity News : 5 กันยายน 65 โฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลให้ความสำคัญ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ครึ่งปีแรก 2565 ส่งเสริมแล้ว 309 โครงการ มูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยเน้นการสนับสนุนการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) รวมทั้งสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศให้มากขึ้นนั้น ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีการขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหารมีจำนวนโครงการสูงสุด และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด

นายอนุชากล่าวว่า ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม จำนวน 750 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 375,670 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 309 โครงการ จาก 5 อุตสาหกรรมเดิมที่เป็นเป้าหมาย (ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, การเกษตรและแปรรูปอาหาร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, การท่องเที่ยว) และ 7 อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมาย (ดิจิทัล, การแพทย์, เทคโนโลยีชีวภาพ, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, อากาศยาน, พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา, ป้องกันประเทศ) คิดเป็นร้อยละ 41 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น มีมูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด โดยจำนวนโครงการส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร มีจำนวนโครงการสูงที่สุด (80 โครงการ) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล (72 โครงการ) ส่วนมูลค่าการลงทุนจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด (40,260 ล้านบาท) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (34,080 ล้านบาท)

สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร ที่มีการอนุมัติให้การส่งเสริมเป็นจำนวนโครงการสูงที่สุด 80 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,620 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ 14 โครงการ เงินลงทุน 10,995 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่มีการอนุมัติให้การส่งเสริม 43 โครงการ เงินลงทุนรวมสูงที่สุดคือ 40,260 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Battery Electric Vehicle (BEV), Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) และ Hybrid Electric Vehicle (HEV) 1 โครงการ เงินลงทุน 36,100 ล้านบาท เป็นต้น

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ส่งผลให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเร่งขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 384,430 ล้านบาทต่อปี สร้างการเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ไทยในอนาคตอย่างต่อเนื่อง” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

“มนัญญา”ตรวจด่านเชียงแสน พบสารเคมีผักผลไม้ 14 ชนิด

People Unity News : “มนัญญา”ตรวจด่านเชียงแสน พบสารเคมีผักผลไม้ 14 ชนิด กรมวิชาการเกษตรจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ให้มีศักยภาพ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจด่านตรวจพืชของเชียงแสน กรมวิชาการเกษตร ที่ท่าเรือห้าเชียงและท่าเรือเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยไม่แจ้งหน่วยงานในพื้นที่ล่วงหน้าและเข้าสังเกตการณ์ห้องปฏิบัติการตรวจหาสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ที่นำเข้าจากจีนและและเมียนมา พบกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชคือ ออการ์โนฟอสเฟตหรือคลอร์ไพรีฟอส ออการ์โนคลอรีน และไพรีทรอยด์

สำหรับด่านตรวจพืชแห่งนี้สุ่มตัวอย่าง 1,500 ตัวอย่างต่อปี เพื่อตรวจสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรนำเข้า โดยกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง เมื่อด่านตรวจพืชพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน แต่ไม่มีอำนาจกักกัน ต้องแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีอำนาจกักสินค้านำเข้าเพื่อการบริโภค ซึ่งจะหารือกับนายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อร่วมมือกันตรวจอย่างเข้มงวดและกักกันไม่ให้สินค้าที่มีสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนดนำเข้าได้

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ขึ้นด่านเชียงของให้มีศักยภาพตรวจหาสารเคมีได้ 100 กว่าชนิด ส่วน อย. จะกักกันผักผลไม้ที่มีค่าเกินมาตรฐานเพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่เกษตรกรไทย จากการที่ผักผลไม้ต่างประเทศเข้ามาตีตลาดปีละหลายแสนตัน จากด่านเชียงของ ผักผลไม้เหล่านี้จะส่งไปยังตลาดไท แล้วกระจายไปยังตลาดทั่วประเทศ

สำหรับสถิติการสุ่มตรวจสินค้าจากจีนและเมียนมา 1,500 ตัวอย่างในปีนี้ พบผักผลไม้ 14 ชนิดมีสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐาน ได้แก่ ไดโครโตฟอส เมทามิโดฟอส และเมวินฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อยู่ในกลุ่มออการ์โนฟอสเฟต ตรวจพบในพริก พริกหยวก และส้มจากเมียนมา นอกจากนี้ยังพบในคื่นช่าย ซาลารี กะหล่ำปลีม่วง พริกบล็อคเคอรี่ แรดิชที่นำเข้าจากจีน สำหรับสินค้าเกษตรที่พบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างมากที่สุดคือ ส้ม ซึ่งตรวจพบทุกตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

“จุรินทร์”ลุยต่อ”เยอรมนี” ขายข้าวเครื่องดื่ม ถุงมือยาง

People Unity News : “จุรินทร์”ลุยต่อ”เยอรมนี” ขายข้าวเครื่องดื่ม ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์กับเภสัชกรรม หลอดและท่อ

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายจุรินทร์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดการเดินทางเยือนเยอรมนี โดยเวลา 9.30 – 10.00 น. เป็นสักชีพยานการลงนาม MOU ระหว่างนักธุรกิจไทยและเยอรมนี (ข้าวและเครื่องดื่ม) ณ โรงแรม Hyatt Regency Dusseldorf
1 ผู้ส่งออกไทย บริษัท ยูนิเวอร์แซลไรซ์ จำกัด กับ บริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co. KG
2 ผู้ส่งออกไทย บริษัท Boonrawd Trading International Co.,Ltd กับ บริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co. KG

เวลา 11.00 – 11.30 น. เข้าร่วมกิจกรรมสาธิตการปรุงอาหารไทย ร่วมกับเชฟไทย ณ ห้าง METRO Deutschland GmbH ซึ่งปัจจุบันห้าง Metro เป็นบริษัทค้าส่งรายใหญ่อันดับต้นๆ ของเยอรมนี มีสาขาทั้งสิ้น 760 สาขา และมีพนักงานทั้งสิ้น 152,426 คน ในปีที่ผ่านมามีผลประกอบการทั้ง 36,534 ล้านยูโร

เวลา 14.30 น. เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Medica 2019 และเยี่ยมชมคูหาผู้ประกอบการไทย โดยงานแสดงสินค้า Medica 2019 ครั้งที่ 50 จัดโดย Messe Dusseldorf GmbH ในระหว่างวันที่18-21 พฤศจิกายน มีพื้นที่จัดแสดงสินค้าทั้งหมด 17 อาคาร รวมพื้นที่ 112,242 ตร.ม. มีผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าจำนวน 5,286 บริษัท จาก 71 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานรวมจำนวน 120,116 คน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการพบและเจรจาธุรกิจ พร้อมแสวงหาลู่ทางทางการค้ากับผู้ซื้อและผู้นำเข้ารายใหญ่จากทั่วโลก

และในงานนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้นำผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมทั้งสิ้น 15 บริษัท มีพื้นที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งหมด 114 ตารางเมตร โดยสินค้าที่นำมาแสดง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์และเภสัชกรรม ถุงมือยาง หลอดและท่อ เป็นต้น

“สมคิด” มอบนโยบาย “พลังงานสร้างไทย” กระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19

People Unity News : รองนายกฯ สมคิด มอบนโยบาย พลังงานสร้างไทยจับมือกระทรวงพลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลายคืนความสุขคนไทยลดรายจ่ายสร้างรายได้

25 มิ.ย.2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาประชุมมอบนโยบาย “พลังงานสร้างไทย” ณ ห้องประชุม 9 ชั้น15 อาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารและข้าราชการระดับสูงให้การต้อนรับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานชี้แจงว่า “การประชุมดังกล่าวเป็นการเตรียมแผนงานด้านพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนหลังสถานการณ์เชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยมีสาระสำคัญที่จะดำเนินการ 3 ด้านในช่วงปี 2563-2565 คือ

1.ลดรายจ่ายแก่ประชาชนช่วงโควิด-19 รวมกว่า 40,500 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาและดำเนินการต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ผ่านมาตรการช่วยเหลือสำคัญ เช่น ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการนำเข้า Spot LNG การยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum charge) ถึง กันยายน 2563 การตรึงราคาแก๊สหุงต้มถึง กันยายน 2563 และจะพิจารณาขยายไปถึงธันวาคม 2563 การช่วยเหลือส่วนต่างราคา NGV สำหรับรถสาธารณะ โดย ปตท. ช่วยเหลือส่วนต่างราคาจนถึง กรกฎาคม 2563 การจัดโครงการพลังงานร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 แจกแอลกอฮอล์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศกว่า 2 ล้านลิตร การลดเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันลง 50 สต.ต่อลิตร และลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลง 50 สต.ต่อลิตร

2.เร่งรัดการลงทุนด้านพลังงาน รวมกว่า 200,000 ล้านบาท ในปี 2563 สร้างการจ้างงานกว่า 10,000 คน โดยในปี 2563 จะมีการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เริ่มดำเนินการ LNG Hub เริ่มการลงทุนพัฒนา Grid Modernization และศึกษาความเป็นไปได้ของ Grid Connectivity กับประเทศเพื่อนบ้าน การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม และเร่ง LNG receiving Terminal

3.กระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูหลังโควิด-19 รวมกว่า 30,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คน ซึ่งต่อจากนี้ กฟผ. จะกระตุ้นให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนโรงไฟฟ้าและท่องเที่ยวเขื่อนทั่วไทย และ ปตท. จะจัด Living Community Market Place และเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับ Blue card พร้อมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีแผนที่จะขยายสายส่งไฟฟ้าเพื่อผันแม่น้ำยวมสู่อ่างเก็บน้ำภูมิพลเพื่อชลประทาน และยังช่วยลดปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ด้วย รวมไปถึงการพิจารณาหาแนวทางการนำไฟฟ้าส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

“ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เกิดการลงทุนและสร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน เมื่อครบเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ การใช้ระบบ Blockchain เข้ามาช่วยในการซื้อขายปาล์มภาคพลังงานทั้งระบบ จะเกิดการหมุนเวียนรายได้กว่า 14,000 ล้านบาท และการลงทุนเพื่อช่วยประกอบการ Start up โดย ปตท. สนับสนุนทุนไปแล้วกว่า 17 ราย และ กฟผ. จะมี Innovation Holding Company เข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าในยุค Disruptive technology นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะบูรณาการทำงานกับหน่วยงานอื่น เพื่อผลักดันการพัฒนา E-Transportation ให้ครบวงจร ซึ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยจะเร่งเดินหน้าตามแผนงานดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เดินหน้าอย่างเข้มแข็งต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

Advertising

จัดกิจกรรม “Unfolding Bangkok” ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย – ต่างชาติ เริ่ม มิ.ย. 65 – ม.ค. 66

People Unity News : 12 พฤษภาคม 2565 เตรียมพบ 4 กิจกรรม “Unfolding Bangkok” ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย – ต่างชาติตามนโยบายเปิดประเทศ เริ่ม มิ.ย. 65 – ม.ค. 66

รัฐบาลนำร่องกรุงเทพฯ จัดกิจกรรมนำสนอประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยในมิติที่แตกต่าง เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวตามนโยบายการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 เป็นต้นมา หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วย 4 กิจกรรม ภายใต้โครงการ Unfolding Bangkok เน้นเล่าประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยว

คาดว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยได้วันละ 20,000 คน รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และกลุ่มผู้สูงอายุกำลังซื้อสูงที่มองหากิจกรรมเชิงวัฒนธรรม

Advertisement

“สนธิรัตน์” สนใจนำเครือข่ายโลจิสติกส์อัจฉริยะของไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์คเชื่อมโยงโลจิสติกส์ไทย

People unity news online : สนธิรัตน์ นำผู้บริหารเข้าดูงานไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์ค ดูการจัดการสต็อคสินค้าที่ทันสมัยที่สุดในเครือกลุ่มอาลีบาบา เผยเตรียมเชิญผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยหารือ

6 พฤศจิกายน 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการนำคณะซึ่งพร้อมด้วย นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมกิจการไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์ค (Cainigo Network) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภายใต้อาลีบาบากรุ๊ป ว่า การเยี่ยมชมศูนย์กลางโลจิสติกส์ครั้งนี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะเรื่องของระบบการจัดการล้ำยุคที่ไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์ค นำมาใช้ เช่น ระบบ AI ระบบ Edge Computing อีกทั้งการลดลงต้นทุนโดยนำโรบอท AGV (Automatic Guided Vehicles) เข้ามาใช้งานด้วย

สำหรับ โรบอทที่นำมาใช้กว่า 500 ตัว ทำหน้าที่ในการหยิบและแพ็คสินค้า ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของพนักงานได้ถึง 50,000 ขั้นตอนต่อคนต่อวัน นอกจากนี้ ภายในคลังสินค้ายังใช้เซนเซอร์อินฟราเรด ที่สามารถระบุความสูงของกองสินค้าคงคลัง และใช้กล้องคำนวณความสามารถในการบรรจุของคลังแบบเรียลไทม์ ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว ปัจจุบัน ไช่เหนี่ยวสามารถให้บริการส่งสินค้าไปยัง 30 เมืองในต่างประเทศครอบคลุมทุกภูมิภาคได้ภายใน 5 วัน โดยมีเป้าหมายจะให้บริการส่งสินค้าไปยังทุกพื้นที่ในโลกภายใน 72 ชั่วโมง ภายใน 3 ปี

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าระบบที่ไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์คนำมาใช้ในระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าที่มีการสั่งซื้อผ่านการค้าอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบาเอง ที่จะคอยให้บริการลูกค้านั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และน่าสนใจที่จะทำอย่างไรให้โลจิสติกส์ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนให้กับไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์คได้ อีกทั้งประโยชน์ที่ไทยจะได้เรียนรู้ระบบการจัดการโรบอท ที่จะนำมาปรับปรุงการจัดการขนส่งสินค้าของไทย เพราะมองว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะเข้าแข่งขัน แต่หากสร้างพาร์ทเนอร์จะเป็นการดีมากกว่า

ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมหารือและเชิญผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยเข้ามาหารือเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมโยงกับไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์คจะดำเนินการเชื่อมโยงได้อย่างไรบ้าง เพราะกิจการโลจิสติกส์จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายอย่างไร มีเป้าหมายที่ต้องการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับโลจิสติกส์อัจฉริยะในภูมิภาค ซึ่งแนวโน้มการค้าโลกที่มุ่งสู่ยุค E-Commerce อย่างเต็มรูปแบบ ไทยก็คงหนีไม่พ้นจึงต้องเตรียมความพร้อมและต้องพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์อัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพสูงไว้รองรับ

People unity news online : post 6 พฤศจิกายน 2561 เวลา 14.00 น.

พาณิชย์เตรียมนำรูปแบบ “เถาเป่าวิลเลจโมเดล” มาใช้ในไทยเพื่อลดจำนวนคนจน

People unity news online : พาณิชย์เตรียมจัดทีมศึกษารูปแบบ “เถาเป่าวิลเลจโมเดล” ก่อนนำปรับใช้กับไทย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2561 ตนจะนำคณะภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางไปหารือกับผู้บริหารของอาลีบาบาที่ดูแลโครงการ “เถาเป่าวิลเลจ” ซึ่งเป็นโครงการที่อาลีบาบาช่วยเหลือให้คนยากคนจนที่อยู่ในชนบทให้สามารถขายสินค้าได้ และสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนจีนได้สำเร็จ

“เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนในจีน ธนาคารโลกยังยอมรับว่าการใช้ระบบดิจิทัล การค้าขายออนไลน์ ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้จริง โดยลดจำนวนผู้ยากจนจากที่มีอยู่ 30% ของประชากร ลดลงเหลือแค่ 8% ในปัจจุบัน ผมจึงได้หารือกับแจ็คหม่าว่าสนใจโมเดลนี้ และอยากได้รายละเอียดการทำโครงการมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในไทย โดยผมบอกกับแจ็คหม่าว่าเรื่องคนจน ผมไม่ยอม ซึ่งเท่าที่พูดคุยกันเคมีผมกับแจ็คหม่าถือว่าตรงกันในเรื่องนี้ และเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุน โดยได้มอบหมายให้ผู้ที่ดูแลโครงการไปพูดคุยในรายละเอียดต่อ ผมจึงต้องเดินทางไป” นายสนธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากไปหารือรายละเอียดการขับเคลื่อนโครงการเถาเป่าวิลเลจแล้ว จะนำรายละเอียดต่างๆ มาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาความยากจนในไทย โดยจะมีความชัดเจนว่าจะเริ่มที่จังหวัดไหน สินค้าอะไร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นแกนในการขับเคลื่อนหลัก เพราะที่ผ่านมา มีหลายๆหน่วยงานทำ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะผลักดันให้สำเร็จให้ได้

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้หารือกับผู้บริหารเหอหม่า ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของอาลีบาบาที่จำหน่ายสินค้าสด เช่น ผัก ผลไม้ อาหารทะเล ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าเพื่อรับประทานที่ร้าน หรือซื้อแล้วให้จัดส่งไปที่บ้านก็ได้ โดยจุดเด่นของเหอหม่า คือ ขายสินค้าสด ที่มีต้นทุนถูกกว่าราคาจำหน่ายในท้องตลาด โดยกระทรวงฯจะร่วมมือในการจัดส่งสินค้าสดให้กับเหอหม่า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคชาวจีน

“ตอนนี้กำลังคุยกันในรายละเอียดว่าเหอหม่าต้องการสินค้าอะไร ปริมาณเท่าไร คุณภาพ มาตรฐานแบบไหน ราคาเป็นยังไง ซึ่งหากได้ข้อสรุป จะสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารสดของไทยไปจีนได้อีกมาก”

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับอาลีบาบาในการเพิ่มจำนวนสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายใน Tmall ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายสินค้าข้าว ทุเรียน และลำไยไปแล้ว โดยขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกสินค้าเข้าไปจำหน่ายเพิ่มขึ้น

People unity news online : post 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 23.30 น.

ผู้สูงวัยเฮ! คลังแก้ลงทะเบียน“ชิมช้อปใช้ เฟส 3”-“อุตตม”รับไม่คึก

People Unity News : ลุงป้าที่ติดปัญหาลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ไม่สำเร็จ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ประสาน ธนาคารกรุงไทย จัดเจ้าหน้าที่ประจำสาขาทั่วประเทศ ช่วยให้คำแนะนำเพื่อให้การลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” “อุตตม”ยอมรับไม่คึกคัก ทำใจจีดีพีปีนี้วืดเป้าหมาย

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” สำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) โดยมีการจำกัดสิทธิ์ที่ 500,000 คน ซึ่งได้เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.62 ที่ผ่านมา พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทะเบียน ทำให้ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงได้ประสานไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อให้สั่งการไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำขั้นตอนการลงทะเบียนแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากนี้ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป

การกันสิทธิ์ไว้ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 เม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 900,000 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยของผู้สูงอายุราว 9,000–10,000 บาทต่อเดือน สินค้าและบริการที่รองรับกลุ่มผู้สูงวัยมีหลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สถานบริการผู้สูงวัย ธุรกิจบริการรถเช่า ธุรกิจทัวร์ รวมถึงกลุ่ม Delivery เป็นต้น

นายชาญกฤช กล่าวว่า จากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้สูงอายุคนไทยพบว่า มีการใช้จ่ายเพื่ออาหาร การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย และเพื่อการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง ทั้งนี้อยากให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์ในโครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ครบ 500,000 คน เพื่อท่องเที่ยวร่วมกันกับบุตรหลาน ซึ่งหากผู้สูงอายุใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว 10,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศและกระจายลงสู่เศรษฐกิจฐานรากราว 5,000 ล้านบาท

สำหรับตัวเลขการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ยังเหลือสิทธิ์ จำนวน 409,825 สิทธิ์ ทั้งนี้โครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” จะไม่แจกเงิน 1,000 บาท ในประเป๋าที่ 1 (G-wellet 1) แต่จะเน้นให้ประชาชนใช้จ่ายเงินตัวเองผ่านกระเป๋า 2 (G-wellet 2) เพื่อรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 15% เมื่อใช้จ่ายเงินไม่เกิน 30,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,500 บาท) และรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 20% เมื่อใช้จ่ายเงินมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,000 บาท) รวมเงินคืนสูงสุดไม่เกิน 8,500 บาท โดยสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน จนถึง 31 ม.ค.63 พร้อมรับ 1 สิทธิ์ทุกการใช้จ่าย 1,000 บาท เพื่อลุ้นจับรางวัลทองคำทุกสัปดาห์อีกด้วย

“อุตตม”ยอมรับเฟส3 ชิมช้อปใช้ไม่คึกคัก

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวยอมรับว่า มาตรการชิมช้อปใช้เฟสที่ 3 ไม่คึกคัดเท่ากับเฟส 1 และ 2 แต่เท่าที่ประเมินเสียงตอบรับก็พอใช้ได้ อย่างไรก็ดี ถือว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะเฟส 3 เป็นมาตรการที่ต่อยอดจากเฟส 1 และ 2

“ต้องเรียนว่า เท่าที่ทราบ เสียงตอบรับก็ใช้ได้ แต่แตกต่างจากเฟสแรก ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะว่า เราวางแผนแต่ต้นว่า เฟส 3 เป็นการขยายต่อยอดเฟส 1 และ 2 การที่มาตรการนี้จะเป็นอย่างไร ก็ติดตามภาพรวม อย่าดูเป็นเฟสๆ อันนั้น ไม่ใช่ความตั้งใจ แต่ที่ตั้งใจ คือ ทำออกมาแล้วต้องส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ”

นายอุตตมกล่าวย้ำว่า ให้การดำเนินการของมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 3 เดินหน้าต่อไป อย่าไปคิดว่า ไม่ประสบสำเร็จ ต้องให้โอกาสดำเนินการ อะไรที่สมควรปรับก็ปรับไป มองต่อเนื่อง อย่าเพิ่งไปตกใจกับแต่ละจุด เหมือนตอนที่เราเริ่มเฟส 1 ก็บอกว่า จะติด แต่เราก็มาได้

ทำใจจีดีพีปีนี้วืดเป้าหมาย

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า การประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2562 ของ สศช. ที่ระบุว่าไตรมาส 3 ขยายตัวที่ 2.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 2.3% ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาส 3/2562 ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมยังเป็นเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเป้าหมายจีดีพีในปีนี้จะเติบโตได้ตามระดับที่ สศช. ประเมิน ที่ 2.6% ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ 2.8%

“ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มก็ยังมีเวลา เหลืออีก 1 เดือนครึ่ง เพื่อดำเนินการไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 2.6% ตามที่ สศช. กังวลว่าหากรัฐบาลไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ เพิ่มอีกจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามกว่าที่ประเมินไว้” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวอีกว่า ล่าสุดกระทรวงการคลังได้เร่งรัดเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปได้ตามแผน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในไตรมาส 4/2562 เข้ามาเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ตรงนี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับความกังวลของภาคอุตสาหกรรมที่มีการปิดโรงงานในช่วงที่ผ่านมานั้น ตามข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีการเปิดโรงงานมากกว่าการปิด ถึงแม้จะมีการลดกำลังการผลิตลง แต่เม็ดเงินลงทุนของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูงถึง 4.3 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของช่วงที่ผ่านมา 36.3% ปัจจัยนี้จะเป็นอีกตัวช่วยในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

ขณะที่การบริโภค พบว่า ยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยหากดูจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในประเทศยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 3 หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนพบว่าไม่ได้รับความนิยมเหมือนระยะก่อนหน้า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะมาตรการในระยะที่ 3 เป็นการขยายผล และต่อยอด จึงอยากให้มองในภาพรวมของมาตรการชิมช้อปใช้ทั้งหมดทุกระยะ ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังติดตามและประเมินอยู่

รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการหารือเพื่อติดตามเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ได้มีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานเพื่อดูแลเศรษฐกิจ โดยนโยบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย เป็นหน้าที่ของ ธปท. จะตัดสินใจ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การปิดโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท จากระดับ 33 บาท มาเป็น 30 บาท หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 10% ซึ่งมองว่า ธปท. จำเป็นต้องดูแลเรื่องค่าเงินบาทมากกว่านี้ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาเติบโตได้เป็นปกติเหมือนที่ผ่านมา

ก.คลังรายงานเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีทุกภาค เหนือ อีสาน ใต้ ออก ตก กทม. ปริมณฑล

People unity news online : เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

29 ตุลาคม 2561 นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพร้อมด้วย นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และ นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน ปี 2561 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว  สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชัยนาท ลพบุรี และอ่างทอง เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 5.6 เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 28.8 และ 3.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 15.5 และ 3.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 8,976 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 75.2 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 96.5 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.6 และ 11.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.8 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 และ 4.2 ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัด ระยอง และสระแก้วเป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 11.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อยู่ที่ 8,244 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 64.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยอง และปราจีนบุรี สำหรับด้านอุปทาน การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนกันยายน ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 109.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะการ และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 และ 8.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดตาก นครสวรรค์ และเชียงใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.7 และ 7.8 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 27.8 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดตาก และเชียงใหม่ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.6 และ 8.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวเร่งร้อยละ 28.3 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี  และกาญจนบุรี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 21.3 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัว สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 679 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 78.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี เป็นต้น  สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี ในขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หดตัว อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.8 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 818 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและตรัง เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 6.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 6.2 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดขอนแก่น สกลนคร และสุรินทร์  ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -0.03 และ -6.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ยังคงขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนกันยายน 2561 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ  1.0 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.2 และ 9.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนหดตัวลง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -4.9 และ -2.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัว สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดนครปฐม กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

People unity news online : post 30 ตุลาคม 2561 เวลา 08.40 น.

“ประยุทธ์” สั่งดูแลค่าครองชีพ ให้ ก.พาณิชย์คุยผู้ประกอบการศูนย์อาหาร ลดต้นทุนอาหารจานด่วน

People Unity News : “ประยุทธ์” สั่งดูแลค่าครองชีพประชาชน ให้ ก.พาณิชย์เร่งพูดคุยผู้ประกอบการศูนย์อาหาร ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอาหารจานด่วน เพิ่มรายการอาหารทางเลือกใหม่ๆ

15 พฤศจิกายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ประจำวัน ทราบถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขณะนี้ร้านอาหารตามสั่ง/อาหารจานด่วน มีการปรับราคาขึ้นหลายรายการ เนื่องจากช่วงนี้ วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารมีราคาสูง อาทิ น้ำมันปาล์ม ไข่ไก่ ผักสด จึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบดูแลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งกรมการค้าภายในแจ้งว่า จะมีการหารือกับห้างสรรพสินค้าที่ให้บริหารศูนย์อาหาร Food court เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการในแง่ต้นทุนการผลิต ค่าเช่า ส่วนแบ่งการขาย รวมถึงหารือกับผู้ประกอบการตลาดสด เร่งติดตามราคาสินค้า อาหารสด เครื่องปรุงต่างๆ ช่วยลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ขายอาหารจานด่วนไม่ให้ขาดทุน และยังสามารถจัดจำหน่ายรายการอาหารทางเลือกอื่นๆในราคาที่เหมาะสม ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้บริโภคในขณะนี้

“ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีโครงการคนละครึ่ง และร้านอาหารธงฟ้าราคาประหยัด ที่จะสามารถช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในการซื้อของอุปโภคบริโภคในราคาที่ถูกลง และยังได้วางแผนการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนให้ทั่วถึง” นายธนกร กล่าว

Advertising

Verified by ExactMetrics