วันที่ 10 พฤษภาคม 2024

รัฐบาลโชว์ผลงานบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ มั่นใจสุดๆเพราะวางยุทธศาสตร์ไว้ถึง 6 ด้าน

People unity news online : นายกรัฐมนตรีโชว์ผลงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ สร้างระบบให้เป็นเอกภาพ วางกลไกการบริหารและมีองค์กรกำกับดูแลชัดเจน รวมทั้งมีกฎหมาย  พ.ร.บ.รองรับ และวางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการไว้ถึง 6 ด้าน พร้อมสั่งทุกหน่วยงานเตรียมรับมือน้ำหลากในปีนี้

เมื่อวานนี้ (4 มิถุนายน 2561) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและทราบถึงสถานการณ์น้ำ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศ  รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมพร้อมการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆด้านทรัพยากรน้ำ 38 หน่วยงาน ให้เป็นเอกภาพ โดยก่อนการเปิดงานเสวนาฯ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการ ณ บริเวณโถงกลางด้วย

จากนั้น นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวรายงานว่า ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำทรัพยากรน้ำของประเทศ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน มีระบบและมีความเป็นเอกภาพจากทุกภาคส่วน สอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วม ตลอดจนการจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ และยังจะมีการปรับปรุงยุทธศาสตร์ฯน้ำ 20 ปี ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งจะได้มีการตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมาบังคับใช้อีกด้วย

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 นี้ คาดว่า จะมีค่าฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ  5 – 10 % ซึ่งน้อยกว่าปี 2560 โดยอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน 2561 และจะมีโอกาสเกิดพายุเข้าประเทศไทยจำนวน 1 – 2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2561  ซึ่งได้มีการวางแผนเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูฝนไว้จำนวน 60 ล้านไร่ทั่วประเทศ  พร้อมทั้งได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในทุกภาคส่วนรวม 88,771 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้หลังสิ้นฤดูฝนคาดว่าจะมีน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่การเกษตรฤดูแล้ง ปี 2561/62 ประมาณ 60,064 ล้านลบ.ม.  มากกว่าปี 2560 จำนวน 10,910 ล้านลบ.ม.  ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในปีนี้นั้น รัฐบาลได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก โดยให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก การจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดการเสวนาความตอนหนึ่งว่า น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งการอุปโภค บริโภค การประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และยังช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ จากเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายหลังปี พ.ศ.2558 ได้มุ่งไปสู่ความมั่นคงด้านน้ำ สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ใน 15 ปีข้างหน้าที่จะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาของประชาคมโลก โดยเป้าหมายในการสร้างหลักประกันให้มีการบริหารจัดการน้ำและการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับประชาชนทุกคน โดยให้ความสำคัญต่อความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มีปริมาณน้ำที่เพียงพอและมีคุณภาพต่อการดำรงชีวิต โดยรัฐบาลมีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งการบริหารจัดการน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย การขาดแคลนน้ำ รวมทั้งการรักษาระบบนิเวศ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ตลอดจนการเชื่อมโยงโครงข่ายลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศใหม่ให้มีระบบและมีเอกภาพยิ่งขึ้น โดยได้วางกลไกการบริหารใหม่ในลักษณะ 3 เสา ประกอบด้วย

1.ด้านกฎหมาย  จะมีการตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 คาดจะพิจารณาแล้วเสร็จและประกาศใช้ภายในปี 2561 นี้อย่างแน่นอน

2.ด้านองค์กรรับผิดชอบเรื่องน้ำในระดับชาติ มีการตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และขับเคลื่อนแผนงานตามยุทธศาสตร์น้ำที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยทำหน้าที่รับนโยบายจาก กนช.ไปกำกับและติดตามให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมบูรณาการแผนงาน โครงการและงบประมาณด้านน้ำที่ปัจจุบันได้กระจายอยู่ตามหน่วยปฏิบัติใน 8 กระทรวง และอยู่ในพื้นที่จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค ให้เกิดการแก้ไขปัญหาน้ำที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ

และ 3.ด้านแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2558 – 69) เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าหมายพัฒนาประปาหมู่บ้าน 7,490 หมู่บ้าน ปรับปรุงประปาหมู่บ้าน 9,093 หมู่บ้าน ชุมชนเมือง มีระบบประปาเพิ่มขึ้น 255 เมือง และขยายเขตประปา 688 แห่ง  ขณะนี้ จัดทำประปาหมู่บ้านแล้วเสร็จ 7,234 แห่ง คงเหลืออีก 256 หมู่บ้าน ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพประปาเดิม ขยายประปาโรงเรียนให้ถึงชุมชน พัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งขยายประปาเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภคทั่วถึงทั้งประเทศ พร้อมทั้งมีคุณภาพได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพื่อจัดหาน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงในภาคการผลิตเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยมีเป้าหมายพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำได้ไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่ชลประทาน ไม่น้อยกว่า 8.7 ล้านไร่ รวมทั้งจัดหาน้ำเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายสำคัญในภาคตะวันออกเพื่อรองรับความต้องการของพื้นที่เดิม และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในภาคต่างๆ  ซึ่งขณะนี้สามารถเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรม ได้ 2,358 ล้านลบ.ม. โดยแยกเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทานเพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,418 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 2.39 ล้านไร่ การพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาตินอกเขตชลประทาน เพิ่มปริมาณน้ำได้ 875 ล้านลบ.ม. ประกอบด้วย การขุดสระน้ำในไร่นา จำนวน 180,278 บ่อ อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ 6,461 แห่ง การขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 221,100 ไร่ จัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรได้จำนวน 7,490 ไร่  รวมทั้งยังได้พัฒนาแก้มลิงเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำและระบบชลประทานได้อีก 470 แห่ง สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป  โดยกำหนดเป้าหมาย 20 ปีพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนทุกรูปแบบ 20,517 ล้าน ลบ.ม. พร้อมเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ เพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทานเดิม พัฒนาระบบผันน้ำ และอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยมีโครงการสำคัญในปี 2562 – 65 ได้แก่ แผนพัฒนาน้ำต้นทุนรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)  โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง และโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล จะทำให้ประเทศไทยมีน้ำต้นทุนมั่นคงยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพื่อลดความเสียหายจากอุทกภัยของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ  โดยมีเป้าหมายปรับปรุงเพิ่มอัตราการไหลของน้ำมากกว่าร้อยละ 10 ในลำน้ำสายหลัก 870 กิโลเมตร ลดความเสียหายจากน้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำวิกฤต 10 ลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 185 แห่ง ปัจจุบันได้ทำการขุดลอกลำน้ำสายหลัก สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการระบายได้แล้ว 292 กิโลเมตร พร้อมจัดทำการป้องกันน้ำท่วมชุมชนได้ 63 แห่ง พัฒนาพื้นที่รับน้ำนองในพื้นที่ทุ่งบางระกำและลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 ทุ่ง   แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำในภาคใต้ สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จัดทำผังน้ำ และทางระบายน้ำในทุกแม่น้ำสายหลักของทุกลุ่มน้ำ จะดำเนินการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำทั่วประเทศ บรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งระบบ  และจัดทำผังการระบายน้ำในระดับจังหวัด เมืองและพื้นที่เฉพาะ โดยโครงการสำคัญในปี 2562 – 65  ได้แก่  โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9 แผน  โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำในเขต กทม. จะทำให้พื้นที่น้ำท่วมเขตเมืองและระดับลุ่มน้ำลดลงอย่างชัดเจน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ เพื่อให้แหล่งน้ำมีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 201 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย 47 แห่ง ลดปริมาณน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ป่าสัก มูล ชี ควบคุมความเค็ม บริเวณปากแม่น้ำไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการเกษตรและการประปา กำจัดวัชพืชและขยะลอยน้ำ  ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการจัดทำระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนได้ 53 แห่ง จัดทำบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาลและตรวจติดตามคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ทิ้งขยะ จำนวน 19 แห่ง และการควบคุมระดับความเค็ม 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำภาคใต้ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการพัฒนาระบบติดตามเฝ้าระวังให้ในพื้นที่วิกฤติ จัดการน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด นำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ และการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาคลองเปรมประชากร เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพื้นที่เสื่อมโทรม เพื่อปรับสมดุลระบบนิเวศโดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ 4.77 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้เกิดป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง  ซึ่งปัจจุบันได้ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ภาคต่างๆแล้วรวม 368,481 ไร่ สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป  จะดำเนินการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 8.35 ล้านไร่ ป้องกันและลดการพังทลายของดินในพื้นที่ลาดชัน และจัดทำผังพื้นที่อนุรักษ์ โดยมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปจัดทำแผนงานร่วมกับแผนหลักการฟื้นฟูพื้นที่ป่าทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน

และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ ได้ตั้งเป้าหมายให้มีองค์กร กฎหมาย ระบบข้อมูล การประชาสัมพันธ์ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ จัดตั้งหน่วยงานกลาง และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพ ภูมิอากาศ เศรษฐกิจและสังคม  ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชน พร้อมประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ รวมทั้ง ให้มีศูนย์อำนวยการข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในกรณีฉุกฉิน เพื่อแก้ไขวิกฤติน้ำของชาติอย่างเป็นรูปธรรม

ตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเตรียมพร้อมในฤดูน้ำหลากในปีนี้ ได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก โดยให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยมีการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อเตรียมรับมือน้ำหลาก โดยมีการติดตามงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน

People unity news online : post 5 มิถุนายน 2561 เวลา 11.20 น.

“ประยุทธ์” ชี้แจงขอโทษพุทธอิสระไม่ได้เข้าข้าง ยันไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพุทธอิสระ

People unity news online : นายกฯขอโทษแทนเจ้าหน้าที่เพราะทำไม่เหมาะสม ปฏิเสธไม่ได้เข้าข้างใคร ยืนยันไร้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระพุทธอิสระ วอนหยุดบิดเบือนสร้างความแตกแยกเมื่อวานนี้ (27 พฤษภาคม 2561) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มการเมืองตั้งข้อสังเกตเรื่องนายกรัฐมนตรีกล่าวขอโทษประชาชนแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพระพุทธอิสระว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกันหรือไม่ ว่า

“การกล่าวขอโทษของนายกฯไม่ได้เข้าข้างใคร แต่ขอโทษเพราะเจ้าหน้าที่ทำไม่เหมาะสม ไม่ว่าผู้ต้องหาจะเป็นใครก็ตาม เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วจะถูกตัดสินโดยศาล รวมทั้งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเขตวัดหรือสังฆาวาส ซึ่งอาจทำให้กระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนได้ โดยได้ตักเตือนให้เจ้าหน้าที่ยึดแนวทางปฏิบัตินี้แล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากให้นำไปบิดเบือนสร้างเรื่องกันต่อไปโดยเฉพาะกลุ่มการเมืองและสื่อมวลชนบางสำนัก”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวใดๆกับนายสุวิทย์ และไม่เคยคิดนำเรื่องส่วนตัวไปปะปนกับการบริหารบ้านเมือง พร้อมทั้งย้ำว่ารัฐบาลยึดหลักกฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย หากกระทำผิดต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน

People unity news online : post 28 พฤษภาคม 2561 เวลา 15.20 น.

นายกฯประชุม คกก.ไซเบอร์แห่งชาติครั้งแรก เตรียมตั้ง Cyber Security Agency รับมือภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ

People unity news online : นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คกก. เตรียมการไซเบอร์แห่งชาติครั้งแรก ผลักดัน 4 เรื่องใหญ่ หวังหน่วยงานรัฐ เอกชน มีกำลังคนรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ พร้อมเตรียมตั้ง Cyber Security Agency รับมือภัยคุกคามไซเบอร์ทุกรูปแบบ

เมื่อวานนี้ (9 พฤษภาคม 2561) เวลา 14.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ Cyber Security ครั้งที่ 1/2561 พร้อมด้วย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ภายหลังเลิกการประชุม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงข่าวว่า ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการจัดทำนโยบายแผนระดับชาติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ตลอดจนการเตรียมการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติให้ทันสถานการณ์โลกในปัจจุบันต่อไป

ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ 4 เรื่อง คือ 1. กรอบแนวคิดนโยบายและแผนระดับชาติ เพื่อปกป้อง รับมือ ป้องกัน และลดความเสี่ยงและความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน 2. แนวทางการกำหนดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure: CII) ของประเทศ และแนวทางปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Standard Operating Procedure: SOP) 3. แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะเร่งด่วน และ 4. แนวทางการจัดตั้ง Cybersecurity Agency (CSA) ทำหน้าที่หน่วยประสานงานกลางและหน่วยงานเผชิญเหตุด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ชั่วคราว เพื่อให้ความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ของชาติอยู่ในระดับมาตรฐานสากล

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯชุดนี้ คือเตรียมการด้านการพัฒนาและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อม สามารถปกป้อง ป้องกัน และรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามไซเบอร์ ตลอดจนเตรียมแผนปฏิบัติการและมาตรการตอบสนองด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในขณะนี้ เกิดจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ใช้ง่าย และมีราคาถูก ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร้ขีดจำกัด และภัยคุกคามไซเบอร์ที่ตามมา อาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง เช่น การรั่วไหลของข้อมูลที่สำคัญหรือข้อมูลที่มีชั้นความลับ อันอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ โดยสภาวะภัยคุกคามไซเบอร์ของไทยนั้น เหตุจูงใจไม่เฉพาะเพียงผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความหละหลวมในการให้ความใส่ใจต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของบุคลากรในองค์กรด้วย

สำหรับดัชนีความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศนั้น ในปี 2560 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้ทำการสำรวจระดับความเอาจริงเอาจัง (Commitment) ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของแต่ละประเทศ โดยพิจารณาจากมาตรการ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย (Legal) ด้านเทคนิค (Technical) ด้านหน่วยงาน/นโยบาย (Organizational) ด้านการพัฒนาศักยภาพ (Capacity building) และด้านความร่วมมือ (Cooperation) พบว่า Global Cybersecurity Index (GCI) ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 194 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนแล้ว ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันขับเคลื่อนให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 20 อันดับแรกของประเทศที่มีความพร้อมต่อไป

อีกทั้งในส่วนเรื่องของยุทธศาสตร์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศ โดยคณะกรรมการชุดนี้ ได้กำหนดแผนงานระยะเร่งด่วน 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี ตามลำดับที่หน่วยงานจะร่วมกันทำต่อไปใน 8 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2564 คือ 1. การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ (Critical Information Infrastructure Protection: CIIP) 2.การสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Emergency Readiness) 3. การบูรณาการการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ (Cybersecurity Governance) 4.การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Public-Private Partnership) 5. การสร้างความตระหนักและรอบรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Capacity Building) 6. การพัฒนากฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Law, Regulation and Standard) 7. การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (International Cooperation) และ 8. การวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Research & Development)

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการจัดกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ (Critical Information Infrastructure: CII) 6 กลุ่มแรก ได้แก่ 1.กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐ 2. กลุ่มการเงิน 3. กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม 4. กลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์ 5. กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค และ 6. กลุ่มสาธารณสุข พร้อมยกระดับแผนการทำงานร่วมกัน เช่น ซ้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือไซเบอร์ (National Incident Handling Flow)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre ตามมติที่ประชุม TELMIN-Japan หรือการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ณ ประเทศกัมพูชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดตั้งศูนย์ฯดังกล่าว ขณะนี้ได้มีความพร้อมเป็นอย่างมาก โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการประมาณเดือนมิถุนายน 2561 ที่จะถึงนี้ ซึ่งกระทรวงดีอี ได้มอบหมายให้ ETDA เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์ฯนี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่นทั้งด้านงบประมาณและองค์ความรู้ต่างๆ ทำให้สามารถดำเนินการฝึกอบรมให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญในการรับถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากประเทศชั้นนำด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งจะผนึกกำลังสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร อันจะส่งผลดีต่อการประเมินความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในเวทีสากล รวมถึงการปรับปรุงอันดับ ITU GCI ให้ขึ้นสู่ 20 อันดับต้นของโลกได้

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากร ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กว่า 1,000 คน ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงาน CII, ภาครัฐ-เอกชน และสถาบันการศึกษาเตรียมพร้อมหน่วยงานประสานงานกลาง ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ ETDA ทำหน้าที่หน่วยประสานงานกลาง เป็นการชั่วคราวก่อนระหว่างจัดตั้ง Cybersecurity Agency (CSA) เพื่อรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีให้รู้เท่าทันสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

People unity news online : post 10 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.10 น.

“ประยุทธ์” เผยแรงบันดาลใจแต่งเพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน”

People unity news online : “ประยุทธ์” เผยแรงบันดาลใจแต่งเพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน” มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำเพื่อแผ่นดิน ขอให้ทุกคนช่วยกันทำเพื่อประเทศชาติ แม้จะมีคำติฉินนินทาหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ขอให้อดทน

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 เวลา 14.20 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน” ว่า เพลงนี้มีการเรียบเรียงทำนองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เรียบเรียงคำร้อง และทำนองโดยผู้แต่งเพลงบุพเพสันนิวาส ท่วงทำนองจึงมีความคล้ายคลึงกัน โดยแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำเพื่อแผ่นดิน ขอให้ทุกคนช่วยกันทำเพื่อประเทศชาติ แม้จะมีคำติฉินนินทาหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ขอให้อดทน และในวันนี้ได้กล่าวกับคณะรัฐมนตรีในที่ประชุมว่า ทุกคนมีหัวใจเดียวกัน คือ หัวใจที่มีความมุ่งมั่นทำเพื่อแผ่นดิน บทเพลงทุกเพลงที่แต่งมาตั้งใจมอบให้ทุกคน ด้วยความศรัทธา และความเชื่อมั่นในการทำเพื่อแผ่นดิน ทำเพื่อประเทศชาติ มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ครบวงจร โดยมียุทธศาสตร์ชาติเป็นแผนหลักในการบริหารประเทศ อาศัยกลไกประชารัฐในการขับเคลื่อน รวมทั้งแนวทางไทยนิยมที่เป็นนโยบายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

People unity news online : post 11 เมษายน 2561 เวลา 14.00 น.

“ประยุทธ์” เปิด Website และ Facebook “สายตรง ไทยนิยม”

People unity news online : รัฐบาลเปิดสายตรงไทยนิยม ช่องทางการรับฟังปัญหาจากประชาชน 24 ชม. โดยได้เพิ่มช่องทางสื่อสารเปิด Website และ Facebook ชื่อ “สายตรง ไทยนิยม”

เมื่อวานนี้ (3 เมษายน 2561) เวลา 13.45 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการสายตรงไทยนิยม โดยฝากสื่อมวลชนชี้แจงต่อประชาชนถึงช่องทางการสื่อสารของรัฐบาล โดยได้เพิ่มช่องทางสื่อสารเปิด Website และ Facebook ชื่อ “สายตรง ไทยนิยม” เพื่อรับคำร้องเรียน ร้องทุกข์ ข้อเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น และใช้ในการกระจายข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ข้อมูลสาธารณประโยชน์ ข้อเท็จจริงต่างๆที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เสริมช่องทางเดิมที่มีอยู่ ซึ่งโครงการนี้ไม่ใช่โครงการประชานิยม แต่เป็นอีกหนึ่งช่องทางการรับฟังปัญหาจากประชาชน ในขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความต้องการสาธารณูปโภคพื้นฐานมากถึง 50% ทั้งนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การค้าขาย  การคมนาคมได้สะดวก นอกจากนี้ ยังมีด้านสาธารณสุข 8% ด้านการเกษตรประมาณ 10% และด้านอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานต้องทำงานในเชิงโครงสร้างในพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ส่งเสริมผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการดูแลแรงงานภาคการเกษตรให้กลับสู่ภูมิลำเนา รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการเกษตรทั้งระบบ ซึ่งได้ดำเนินการทบทวนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานให้มากขึ้น รวมทั้งการเจรจาค้าขายกับต่างประเทศ โดยต้องระมัดระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรภายในประเทศ ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนคำนึงถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ เพื่อให้เป็นแรงงานที่มีศักยภาพ และเพิ่มรายได้สูงขึ้น

People unity news online : post 4 เมษายน 2561 เวลา 09.00 น.

นายกฯระบุร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ต้องไม่กระทบโรดแมป และต้องไม่มีปัญหาภายหลัง

People unity news online : นายกรัฐมนตรียืนยัน ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย โดยรัฐบาลประสานงานใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กระทบโรดแมป

เมื่อวานนี้ (3 เมษายน 2561) เวลา 13.45 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ได้ส่งหนังสือตอบกลับไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับประเด็นการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ภายหลังมีการประสานงานและหารือระหว่างฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลและ สนช. เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนส่งร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ และเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยไม่เกิดความขัดแย้งในภายหลัง ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ สนช. เป็นผู้ดำเนินการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามไม่ให้เกิดปัญหาในการเลือกตั้ง โดยมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังดำเนินการไม่ให้กระทบโรดแมป และไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ส่วนการแก้ไขคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ตามที่พรรคการเมืองทักท้วงว่า มีปัญหาในทางปฏิบัตินั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้หารือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อนำเสนอประเด็นข้อติดขัดต่างๆมายัง คสช. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางธุรการ ดังนั้น คสช. จะพิจารณาแก้ไขในประเด็นที่เป็นปัญหา โดยยังไม่ยกเลิกคำสั่ง คสช. เพื่อลดปัญหาทางธุรการเท่านั้น

People unity news online : post 4 เมษายน 2561 เวลา 07.50 น.

พรุ่งนี้ “ประยุทธ์” ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เปิดงานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้

People unity news online : พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เตรียมเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจราชการจังหวัดปัตตานี วันพุธที่ 4 เมษายน 2561 โดยมีกำหนดการดังนี้

เวลา 07.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเดินทางโดยเครื่องบิน C – 130 จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ไปยังท่าอากาศยานปัตตานี ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จากนั้น เดินทางต่อไปยังสนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานีเพื่อเป็นประธานพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 13 โดยกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการของรัฐ เอกชน และท้องถิ่นร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 7 เมษายนนี้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นกิจกรรมแสดงออกถึงความจงรักภักดีของลูกเสือต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เทิดพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ และเพื่อแสดงความพร้อมศักยภาพของลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงเพื่อส่งเสริมให้ลูกเสือทำความดีมีจิตอาสา มีความสามัคคีอยู่ร่วมในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสันติสุข สำหรับการชุมนุมลูกเสือครั้งนี้ มีตัวแทนลูกเสือ – เนตรนารีจากจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมงานชุมนุม รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,548 คน โดยมีตัวแทนลูกเสือจากต่างประเทศเข้าร่วมจำนวน 443 คน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เนปาล ศรีลังกา และกาตาร์

จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมพญาตานี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี

ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการพบปะพร้อมมอบอุปกรณ์กีฬาให้ตัวแทนนักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่ จำนวน 5 โรงเรียน ณ วัดทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมชุมชนพหุวัฒนธรรม (ไทยพุทธและไทยมุสลิม) ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ พร้อมพบปะผู้นำศาสนาและประชาชน เพื่อรับทราบปัญหา ข้อเสนอแนะ รวมถึงสร้างการรับรู้ต่อนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาล รวมทั้งเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในพื้นที่ ณ อาคารอเนกประสงค์ มัสยิด นัจมุดดีน บ้านควนลังงา จังหวัดปัตตานี เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

People unity news online : post 3 เมษายน 2561 เวลา 07.50 น.

นายกฯเตรียมลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู 22 มีนาคมนี้

People unity news online : นายกรัฐมนตรีเตรียมลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ในวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2561 เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาความยากจนในภาคการเกษตรเชิงบูรณาการตามแนวทางศาสตร์พระราชา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ มีกำหนดการลงพื้นปฏิบัติราชการ ณ จังหวัดหนองบัวลำภู ในวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2561 เพื่อพบปะประชาชนและติดตามการแก้ไขปัญหาความยากจนในภาคการเกษตรเชิงบูรณาการตามแนวทางศาสตร์พระราชา ได้แก่ การพัฒนาเกษตรปลอดภัยสู่เกษตรอินทรีย์เพื่อลดปัญหาสุขภาพจากสารเคมีตกค้างและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนโดยใช้เทคโนโลยี Solar Cell เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการบริหารจัดการที่สาธารณประโยชน์แบบมีส่วนร่วม รวมถึงการสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นเมือง และพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ่านนวัตกรรมจนได้ผ้าที่มีคุณภาพชั้นเยี่ยม ไม่มีสารเคมีตกค้างได้รับการยอมรับทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกำหนดการ ดังนี้

เวลา 07.00 น. ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 23 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยเครื่องบิน Embraer และเดินทางต่อไปยังจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเดินทางไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักอินทรีย์ โพธิ์ศรีสำราญ ตำบลหัวนา อำเภอเมือง เพื่อพบปะประชาชน และเป็นสักขีพยานในการมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชนโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลให้แก่ผู้แทนประชาชน พร้อมมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัย และทำพิธีเปิดป้ายศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพธิ์ศรีสำราญ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ พลังงานทดแทน ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเกษตรกรและแปลงปลูกผักอินทรีย์

ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ รับฟังการนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานของเครือข่าย เยี่ยมชมร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมเวทีประชาคมหมู่บ้านตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ประมาณ 300 คน ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมกระบวนการผลิตผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ด้านหัตถกรรม และสินค้าโอทอป เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ เวลา 17.00 น. นายกรัฐมนตรีเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

People unity news online : post 20 มีนาคม 2561 เวลา 11.00 น.

คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกฯเสนอให้สังคมผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ

People unity news online : เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น. พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษของนายกรัฐมนตรี ณ ห้องประชุมอาคารรับรองเกษะโกมล บ้านเกษะโกมล

ในที่ประชุม คณะกรรมการฯเห็นว่า โดยที่ในปี พ.ศ.2560 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 11.35  ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.8 ของประชากรไทย และมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องกำหนดมาตรการ โดยการร่วมมือของกระทรวง ส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านการดูแลผู้สูงอายุ ด้านแรงงาน ซึ่งผู้สูงอายุต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเพิ่มเติม รวมทั้งจะต้องเตรียมการรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศและก้าวไปสู่ THAILAND 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม คณะกรรมการฯจึงสมควรเสนอให้มีการกำหนดเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ในการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อันจะทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิประโยชน์ ความคุ้มครอง และความเป็นธรรมในการทำงานต่อไป

People unity news online : post 16 มีนาคม 2561 เวลา 14.00 น.

มหาดไทยชี้แจง “ไทยนิยมยั่งยืน” ไม่ใช่โครงการหว่านเงินโดยไม่มีโครงการ

People unity news online : จากกรณีที่ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “มองการณ์ไกลประเทศไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม และการผูกขาดเศรษฐกิจ” ตอนหนึ่งว่า…โครงการไทยนิยมฯที่มีการกำหนดงบประมาณไว้ล่วงหน้า โดยที่ยังไม่แน่ชัดว่า โครงการคืออะไร สอดคล้องกับกลุ่มที่จะต้องช่วยเหลือหรือไม่…

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2561 นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า โครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นการบูรณาการทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อจัดทำเวทีประชาคมในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนจะร่วมกันระบุปัญหาที่แท้จริงของชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หรือนำความต้องการของประชาชน/ชุมชนนำมาจัดทำแผนงาน/โครงการ เช่น โครงการเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ หมู่บ้าน/ชุมชน (พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก) หมู่บ้าน/ชุมชนละ 200,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการที่จะถูกเสนอโดยประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานอันประกอบด้วย ถนน น้ำเพื่อการบริโภค/อุปโภค ระบบไฟฟ้า จึงเป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ในการบริหารงบประมาณการลงเวทีประชาคมได้คำนึงถึงความคุ้มค่าและความถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำถึงการดำเนินงาน “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด

ภาพ : บ้านเมือง

People unity news online : post 13 มีนาคม 2561 เวลา 02.10 น.

Verified by ExactMetrics