People unity news online : นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คกก. เตรียมการไซเบอร์แห่งชาติครั้งแรก ผลักดัน 4 เรื่องใหญ่ หวังหน่วยงานรัฐ เอกชน มีกำลังคนรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ พร้อมเตรียมตั้ง Cyber Security Agency รับมือภัยคุกคามไซเบอร์ทุกรูปแบบ

เมื่อวานนี้ (9 พฤษภาคม 2561) เวลา 14.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ Cyber Security ครั้งที่ 1/2561 พร้อมด้วย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ภายหลังเลิกการประชุม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงข่าวว่า ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการจัดทำนโยบายแผนระดับชาติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ตลอดจนการเตรียมการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติให้ทันสถานการณ์โลกในปัจจุบันต่อไป

ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ 4 เรื่อง คือ 1. กรอบแนวคิดนโยบายและแผนระดับชาติ เพื่อปกป้อง รับมือ ป้องกัน และลดความเสี่ยงและความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน 2. แนวทางการกำหนดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure: CII) ของประเทศ และแนวทางปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Standard Operating Procedure: SOP) 3. แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะเร่งด่วน และ 4. แนวทางการจัดตั้ง Cybersecurity Agency (CSA) ทำหน้าที่หน่วยประสานงานกลางและหน่วยงานเผชิญเหตุด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ชั่วคราว เพื่อให้ความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ของชาติอยู่ในระดับมาตรฐานสากล

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯชุดนี้ คือเตรียมการด้านการพัฒนาและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อม สามารถปกป้อง ป้องกัน และรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามไซเบอร์ ตลอดจนเตรียมแผนปฏิบัติการและมาตรการตอบสนองด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในขณะนี้ เกิดจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ใช้ง่าย และมีราคาถูก ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร้ขีดจำกัด และภัยคุกคามไซเบอร์ที่ตามมา อาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง เช่น การรั่วไหลของข้อมูลที่สำคัญหรือข้อมูลที่มีชั้นความลับ อันอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ โดยสภาวะภัยคุกคามไซเบอร์ของไทยนั้น เหตุจูงใจไม่เฉพาะเพียงผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความหละหลวมในการให้ความใส่ใจต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของบุคลากรในองค์กรด้วย

สำหรับดัชนีความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศนั้น ในปี 2560 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้ทำการสำรวจระดับความเอาจริงเอาจัง (Commitment) ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของแต่ละประเทศ โดยพิจารณาจากมาตรการ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย (Legal) ด้านเทคนิค (Technical) ด้านหน่วยงาน/นโยบาย (Organizational) ด้านการพัฒนาศักยภาพ (Capacity building) และด้านความร่วมมือ (Cooperation) พบว่า Global Cybersecurity Index (GCI) ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 194 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนแล้ว ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันขับเคลื่อนให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 20 อันดับแรกของประเทศที่มีความพร้อมต่อไป

อีกทั้งในส่วนเรื่องของยุทธศาสตร์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศ โดยคณะกรรมการชุดนี้ ได้กำหนดแผนงานระยะเร่งด่วน 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี ตามลำดับที่หน่วยงานจะร่วมกันทำต่อไปใน 8 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2564 คือ 1. การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ (Critical Information Infrastructure Protection: CIIP) 2.การสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Emergency Readiness) 3. การบูรณาการการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ (Cybersecurity Governance) 4.การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Public-Private Partnership) 5. การสร้างความตระหนักและรอบรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Capacity Building) 6. การพัฒนากฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Law, Regulation and Standard) 7. การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (International Cooperation) และ 8. การวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Research & Development)

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการจัดกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ (Critical Information Infrastructure: CII) 6 กลุ่มแรก ได้แก่ 1.กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐ 2. กลุ่มการเงิน 3. กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม 4. กลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์ 5. กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค และ 6. กลุ่มสาธารณสุข พร้อมยกระดับแผนการทำงานร่วมกัน เช่น ซ้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือไซเบอร์ (National Incident Handling Flow)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre ตามมติที่ประชุม TELMIN-Japan หรือการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ณ ประเทศกัมพูชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดตั้งศูนย์ฯดังกล่าว ขณะนี้ได้มีความพร้อมเป็นอย่างมาก โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการประมาณเดือนมิถุนายน 2561 ที่จะถึงนี้ ซึ่งกระทรวงดีอี ได้มอบหมายให้ ETDA เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์ฯนี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่นทั้งด้านงบประมาณและองค์ความรู้ต่างๆ ทำให้สามารถดำเนินการฝึกอบรมให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญในการรับถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากประเทศชั้นนำด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งจะผนึกกำลังสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร อันจะส่งผลดีต่อการประเมินความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในเวทีสากล รวมถึงการปรับปรุงอันดับ ITU GCI ให้ขึ้นสู่ 20 อันดับต้นของโลกได้

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากร ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กว่า 1,000 คน ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงาน CII, ภาครัฐ-เอกชน และสถาบันการศึกษาเตรียมพร้อมหน่วยงานประสานงานกลาง ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ ETDA ทำหน้าที่หน่วยประสานงานกลาง เป็นการชั่วคราวก่อนระหว่างจัดตั้ง Cybersecurity Agency (CSA) เพื่อรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีให้รู้เท่าทันสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

People unity news online : post 10 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.10 น.