People unity news online : นายกรัฐมนตรีโชว์ผลงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ สร้างระบบให้เป็นเอกภาพ วางกลไกการบริหารและมีองค์กรกำกับดูแลชัดเจน รวมทั้งมีกฎหมาย  พ.ร.บ.รองรับ และวางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการไว้ถึง 6 ด้าน พร้อมสั่งทุกหน่วยงานเตรียมรับมือน้ำหลากในปีนี้

เมื่อวานนี้ (4 มิถุนายน 2561) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและทราบถึงสถานการณ์น้ำ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศ  รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมพร้อมการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆด้านทรัพยากรน้ำ 38 หน่วยงาน ให้เป็นเอกภาพ โดยก่อนการเปิดงานเสวนาฯ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการ ณ บริเวณโถงกลางด้วย

จากนั้น นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวรายงานว่า ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำทรัพยากรน้ำของประเทศ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน มีระบบและมีความเป็นเอกภาพจากทุกภาคส่วน สอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วม ตลอดจนการจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ และยังจะมีการปรับปรุงยุทธศาสตร์ฯน้ำ 20 ปี ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งจะได้มีการตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมาบังคับใช้อีกด้วย

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 นี้ คาดว่า จะมีค่าฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ  5 – 10 % ซึ่งน้อยกว่าปี 2560 โดยอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน 2561 และจะมีโอกาสเกิดพายุเข้าประเทศไทยจำนวน 1 – 2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2561  ซึ่งได้มีการวางแผนเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูฝนไว้จำนวน 60 ล้านไร่ทั่วประเทศ  พร้อมทั้งได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในทุกภาคส่วนรวม 88,771 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้หลังสิ้นฤดูฝนคาดว่าจะมีน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่การเกษตรฤดูแล้ง ปี 2561/62 ประมาณ 60,064 ล้านลบ.ม.  มากกว่าปี 2560 จำนวน 10,910 ล้านลบ.ม.  ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในปีนี้นั้น รัฐบาลได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก โดยให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก การจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดการเสวนาความตอนหนึ่งว่า น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งการอุปโภค บริโภค การประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และยังช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ จากเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายหลังปี พ.ศ.2558 ได้มุ่งไปสู่ความมั่นคงด้านน้ำ สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ใน 15 ปีข้างหน้าที่จะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาของประชาคมโลก โดยเป้าหมายในการสร้างหลักประกันให้มีการบริหารจัดการน้ำและการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับประชาชนทุกคน โดยให้ความสำคัญต่อความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มีปริมาณน้ำที่เพียงพอและมีคุณภาพต่อการดำรงชีวิต โดยรัฐบาลมีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งการบริหารจัดการน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย การขาดแคลนน้ำ รวมทั้งการรักษาระบบนิเวศ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ตลอดจนการเชื่อมโยงโครงข่ายลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศใหม่ให้มีระบบและมีเอกภาพยิ่งขึ้น โดยได้วางกลไกการบริหารใหม่ในลักษณะ 3 เสา ประกอบด้วย

1.ด้านกฎหมาย  จะมีการตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 คาดจะพิจารณาแล้วเสร็จและประกาศใช้ภายในปี 2561 นี้อย่างแน่นอน

2.ด้านองค์กรรับผิดชอบเรื่องน้ำในระดับชาติ มีการตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และขับเคลื่อนแผนงานตามยุทธศาสตร์น้ำที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยทำหน้าที่รับนโยบายจาก กนช.ไปกำกับและติดตามให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมบูรณาการแผนงาน โครงการและงบประมาณด้านน้ำที่ปัจจุบันได้กระจายอยู่ตามหน่วยปฏิบัติใน 8 กระทรวง และอยู่ในพื้นที่จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค ให้เกิดการแก้ไขปัญหาน้ำที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ

และ 3.ด้านแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2558 – 69) เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าหมายพัฒนาประปาหมู่บ้าน 7,490 หมู่บ้าน ปรับปรุงประปาหมู่บ้าน 9,093 หมู่บ้าน ชุมชนเมือง มีระบบประปาเพิ่มขึ้น 255 เมือง และขยายเขตประปา 688 แห่ง  ขณะนี้ จัดทำประปาหมู่บ้านแล้วเสร็จ 7,234 แห่ง คงเหลืออีก 256 หมู่บ้าน ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพประปาเดิม ขยายประปาโรงเรียนให้ถึงชุมชน พัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งขยายประปาเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภคทั่วถึงทั้งประเทศ พร้อมทั้งมีคุณภาพได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพื่อจัดหาน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงในภาคการผลิตเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยมีเป้าหมายพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำได้ไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่ชลประทาน ไม่น้อยกว่า 8.7 ล้านไร่ รวมทั้งจัดหาน้ำเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายสำคัญในภาคตะวันออกเพื่อรองรับความต้องการของพื้นที่เดิม และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในภาคต่างๆ  ซึ่งขณะนี้สามารถเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรม ได้ 2,358 ล้านลบ.ม. โดยแยกเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทานเพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,418 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 2.39 ล้านไร่ การพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาตินอกเขตชลประทาน เพิ่มปริมาณน้ำได้ 875 ล้านลบ.ม. ประกอบด้วย การขุดสระน้ำในไร่นา จำนวน 180,278 บ่อ อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ 6,461 แห่ง การขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 221,100 ไร่ จัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรได้จำนวน 7,490 ไร่  รวมทั้งยังได้พัฒนาแก้มลิงเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำและระบบชลประทานได้อีก 470 แห่ง สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป  โดยกำหนดเป้าหมาย 20 ปีพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนทุกรูปแบบ 20,517 ล้าน ลบ.ม. พร้อมเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ เพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทานเดิม พัฒนาระบบผันน้ำ และอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยมีโครงการสำคัญในปี 2562 – 65 ได้แก่ แผนพัฒนาน้ำต้นทุนรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)  โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง และโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล จะทำให้ประเทศไทยมีน้ำต้นทุนมั่นคงยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพื่อลดความเสียหายจากอุทกภัยของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ  โดยมีเป้าหมายปรับปรุงเพิ่มอัตราการไหลของน้ำมากกว่าร้อยละ 10 ในลำน้ำสายหลัก 870 กิโลเมตร ลดความเสียหายจากน้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำวิกฤต 10 ลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 185 แห่ง ปัจจุบันได้ทำการขุดลอกลำน้ำสายหลัก สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการระบายได้แล้ว 292 กิโลเมตร พร้อมจัดทำการป้องกันน้ำท่วมชุมชนได้ 63 แห่ง พัฒนาพื้นที่รับน้ำนองในพื้นที่ทุ่งบางระกำและลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 ทุ่ง   แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำในภาคใต้ สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จัดทำผังน้ำ และทางระบายน้ำในทุกแม่น้ำสายหลักของทุกลุ่มน้ำ จะดำเนินการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำทั่วประเทศ บรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งระบบ  และจัดทำผังการระบายน้ำในระดับจังหวัด เมืองและพื้นที่เฉพาะ โดยโครงการสำคัญในปี 2562 – 65  ได้แก่  โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9 แผน  โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำในเขต กทม. จะทำให้พื้นที่น้ำท่วมเขตเมืองและระดับลุ่มน้ำลดลงอย่างชัดเจน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ เพื่อให้แหล่งน้ำมีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 201 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย 47 แห่ง ลดปริมาณน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ป่าสัก มูล ชี ควบคุมความเค็ม บริเวณปากแม่น้ำไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการเกษตรและการประปา กำจัดวัชพืชและขยะลอยน้ำ  ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการจัดทำระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนได้ 53 แห่ง จัดทำบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาลและตรวจติดตามคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ทิ้งขยะ จำนวน 19 แห่ง และการควบคุมระดับความเค็ม 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำภาคใต้ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการพัฒนาระบบติดตามเฝ้าระวังให้ในพื้นที่วิกฤติ จัดการน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด นำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ และการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาคลองเปรมประชากร เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพื้นที่เสื่อมโทรม เพื่อปรับสมดุลระบบนิเวศโดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ 4.77 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้เกิดป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง  ซึ่งปัจจุบันได้ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ภาคต่างๆแล้วรวม 368,481 ไร่ สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป  จะดำเนินการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 8.35 ล้านไร่ ป้องกันและลดการพังทลายของดินในพื้นที่ลาดชัน และจัดทำผังพื้นที่อนุรักษ์ โดยมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปจัดทำแผนงานร่วมกับแผนหลักการฟื้นฟูพื้นที่ป่าทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน

และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ ได้ตั้งเป้าหมายให้มีองค์กร กฎหมาย ระบบข้อมูล การประชาสัมพันธ์ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ จัดตั้งหน่วยงานกลาง และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพ ภูมิอากาศ เศรษฐกิจและสังคม  ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชน พร้อมประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ รวมทั้ง ให้มีศูนย์อำนวยการข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในกรณีฉุกฉิน เพื่อแก้ไขวิกฤติน้ำของชาติอย่างเป็นรูปธรรม

ตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเตรียมพร้อมในฤดูน้ำหลากในปีนี้ ได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก โดยให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยมีการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อเตรียมรับมือน้ำหลาก โดยมีการติดตามงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน

People unity news online : post 5 มิถุนายน 2561 เวลา 11.20 น.