วันที่ 26 เมษายน 2024

ครม.เศรษฐกิจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน เงินครองชีพ-เงินเที่ยว-สินเชื่อเกษตรกร

People Unity : นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน ดูแลภัยแล้ง ดูแลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ช่วยเหลือค่าครองชีพ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 20 ส.ค.นี้

วันนี้ (16 ส.ค.2562) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 1/2562 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน

ภายหลังการประชุม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ ด้านการดูแลภัยแล้ง การดูแลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการช่วยเหลือค่าครองชีพ  ซึ่งมีทั้งงบประมาณปี 62 และวงเงินสินเชื่อสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เพื่อให้มีผลทันทีในเดือนสิงหาคม 2562

สำหรับมาตรการที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือค่าครองชีพ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งทุกคนที่ถือบัตรฯจำนวน 14.5 ล้านคน จะได้รับการเติมเงินพิเศษเพิ่มคนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ระหว่างสิงหาคม – กันยายนนี้ รวม 1,000 บาท ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเดือนละ 500 บาทเป็นเวลา 2 เดือนเช่นเดียวกัน กลุ่มสุดท้าย คือเงินเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ที่ถือบัตรฯ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ได้เดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 2 เดือน

ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ประชุมเห็นชอบให้แจกเงินให้กับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดนอกเขตภูมิลำเนาจำนวน 1,000 บาท โดยมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นจำนวน 10 ล้านคน โดยต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ผ่านแอพพลิเคชันที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น และยังให้ผู้ที่ได้สิทธิ์สามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอคืนเงินได้อีก 15% ของค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะมีความชัดเจนหลังจากเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว และยังมีการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน และอินเดีย แต่ต้องหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไปว่าจะยกเว้นให้นานเท่าไร

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นเวลา 1 ปี และให้สินเชื่อฉุกเฉินจาก ธ.ก.ส. คนละไม่เกิน 50,000 บาท ปีแรกฟรีดอกเบี้ย รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายจากผลกระทบภัยแล้งรายละไม่เกิน 5 แสนบาท วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ของ ธ.ก.ส. และช่วยเหลือต้นทุนการผลิตกับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 3 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สำหรับผู้ที่ซื้อเครื่องจักรสามารถนำเงินค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กและกลาง ทั้งการช่วยเหลือผ่านกองทุนของรัฐบาล จากธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ช่วยค้ำประกัน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน วงเงินรวม 52,000 ล้านบาท สุดท้ายคือการช่วยพักชำระหนี้เงินต้นให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแจงว่ามาตรการต่างๆเหล่านี้ ได้มีการหารือกับสำนักงบประมาณมาโดยตลอด และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังสามารถเดินหน้าเติบโต และบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ร้อยละ 3 ทั้งปี

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ที่ประชุมตั้งเป้าหมายว่าจะดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% ในปีนี้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ระหว่าง 2.7 – 3.2% และมีค่ากลาง 3% โดยรายละเอียดทั้งหมดจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ ขณะที่ ครม. เศรษฐกิจครั้งต่อไปจะหารือในเรื่องของมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และมาตรการส่งเสริมการส่งออกโดยกระทรวงพาณิชย์ในปลายเดือนสิงหาคมนี้

เศรษฐกิจ : ครม.เศรษฐกิจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน เงินครองชีพ-เงินเที่ยว-สินเชื่อเกษตรกร

People Unity : post 16 สิงหาคม 2562 เวลา 19.30 น.

ธอส.ขยายเวลาช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปจนถึง 31 ม.ค.64

People Unity News : ธอส.เปิดให้ลูกค้าเดิมที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยื่นคำขอลงทะเบียนเข้ามาตรการระยะที่ 2 ผ่าน APP GHB ALL ระหว่าง 2 – 29 ต.ค. 63

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศให้ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ และยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการระยะที่ 2 โดยขยายระยะเวลาความช่วยเหลือไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 รวม 4 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท มาตรการที่ 3 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 3.90% ต่อปี มาตรการที่ 8 และมาตรการที่ 8.5 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน เปิดให้ลงทะเบียนผ่าน APP GHB ALL ในวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 15.00น. เป็นต้นไป จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 20.00 น.

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าธนาคาร ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้มีมติตามที่ฝ่ายจัดการเสนออนุมัติให้ ธอส. ขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 เฉพาะลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการที่ 1, มาตรการที่ 3, มาตรการที่ 8 และมาตรการที่ 8.5 และรายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ ลูกค้าเดิมที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถแจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการขยายความช่วยเหลือ ระยะที่ 2 ได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 20.00 น. พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันว่ายังมีผลกระทบทางรายได้จริงให้ธนาคารพิจารณา อาทิ สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย และ Statement เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

Advertising

ไบโอเทค เปิดตัวข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ ‘หอมนาคา’ สะเทินน้ำสะเทินบก สายพันธุ์แรกของไทย

People Unity News : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พัฒนา ข้าวหอมนาคาข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ทนแล้ง และทนโรค ถือเป็น ข้าวเหนียวสะเทินน้ำสะเทินบกสายพันธุ์แรกของไทย

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ปัญหาหลักของการปลูกข้าวเหนียวที่พี่น้องชาวนาต้องเผชิญ คือ ‘ข้าวล้ม’ เพราะข้าวเหนียวพันธุ์ไทยเป็นข้าวต้นสูง เวลาลมฝนมาแรงข้าวจะล้มนอนแม้ยังออกไม่เต็มรวง ปีไหนแล้ง ‘ขาดน้ำ’ ผลผลิตจะออกน้อย หนำซ้ำยังต้องเผชิญกับ ‘โรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง’ ทำให้การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ของคนทำนา เพราะชะตาชีวิตต้องแขวนอยู่บนปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้ นักวิจัยไทยจึงพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่อเอาชนะปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

“จนในปีที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับนายศรีสวัสดิ์ ขันทอง และคณะวิจัย นำความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม มาศึกษาและพัฒนาพันธุกรรมของข้าวเหนียวไทย เพื่อชูยีนเด่น ลดยีนด้อย ผ่านการผสมและคัดเลือกพันธุ์อย่างเหมาะสม จนได้ผลงานข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ ‘หอมนาคา’ ที่สามารถจมอยู่ในน้ำได้นาน 1 – 2 สัปดาห์ และทนทานต่อการขาดน้ำในบางระยะของการปลูกข้าว สอดรับกับสภาพพื้นที่ และยังทนทานต่อโรคไหม้และขอบใบแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้ชาวนาสูญเสียผลผลิตอีกด้วย ข้าวเหนียวหอมนาคาสามารถปลูกได้ตลอดปี เพราะเป็นข้าวไม่ไวแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 130 – 140 วัน โดดเด่นด้วยลักษณะลำต้นไม่สูง เก็บเกี่ยวง่าย สามารถเก็บได้ด้วยเครื่องทุ่นแรง สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่และแนวโน้มการทำนาในอนาคตที่เครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่ ทั้งนี้ผลจากการทดลองปลูกพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีผลผลิต 800 – 900 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานมีผลผลิตสูงถึง 700 – 800 กิโลกรัมต่อไร่ ต่างจากเดิมที่มักมีผลผลิตเพียง 400 – 500 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ในด้านกระแสตอบรับจากผู้บริโภค ข้าวเหนียวหอมนาคาเป็นที่ชื่นชอบ เพราะเมื่อนำมานึ่งรับประทาน ข้าวมีความหอมและนุ่ม ถูกปากคนไทย อีกทั้งเมื่อหยิบทานข้าวจะไม่ติดมือ วางตั้งทิ้งไว้ข้าวก็ไม่แข็ง และนำไปอุ่นซ้ำข้าวก็ไม่เละ ถือเป็นความโดดเด่นทางพันธุกรรม”

ดร.ธีรยุทธ กล่าวว่า การดำเนินงานต่อจากนี้ คณะวิจัยตั้งเป้าเผยแพร่ความรู้เรื่องการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ชาวนาสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เอง ลดการพึ่งพิงรัฐหรือนายทุน ในด้านการค้าคณะวิจัยได้เจรจากับโรงสี ถึงข้อเด่นของข้าวสายพันธุ์นี้เพื่อให้เกิดการรับซื้อไปจำหน่ายต่อ ซึ่งโรงสีค่อนข้างให้ความสนใจ นอกจากนั้นผลจากการทดสอบเรื่องการแปรรูป ข้าวเหนียวสามารถพองตัวเป็นข้าวพองได้ดี จึงอยู่ในช่วงของการเจรจาให้โรงงานได้ลองนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารแปรรูป ส่วนสุดท้ายคือทางด้านผลกำไรจากการขายข้าวที่ชาวนาจะได้รับ คณะวิจัยมีความเห็นว่าราคาข้าวน่าจะอยู่ในเกณฑ์ทั่วไปของตลาด เพื่อให้เกิดการซื้อง่ายขายคล่อง เพราะกำไรที่ชาวนาจะได้เพิ่มมาจากปริมาณผลผลิตที่ได้มากขึ้นจากแต่ละรอบการปลูก และปริมาณการใช้ยาและสารเคมีที่ลดลงอยู่แล้ว การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวครั้งนี้ ถือเป็นผลงานสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยกระดูกสันหลังของชาติฝ่าฟันอุปสรรคในการทำการเกษตร ท่ามกลางสถานการณ์ธรรมชาติที่แปรปรวน

โฆษณา

นายกฯสั่ง ก.แรงงานเตรียมความพร้อมแรงงานไทยไปทำงาน ตปท. หลังโควิด 19 คลี่คลาย

People Unity News : นายกรัฐมนตรีสั่งการ ก.แรงงาน เร่งเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานไทยที่สนใจไปทำงานต่างประเทศ หลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒนา โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2563  ประเทศต่างๆทั่วโลกประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว แต่คาดว่ากิจกรรมด้านเศรษฐกิจจะกลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ว  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งแรงงานไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆที่ตลาดแรงงานในต่างประเทศต้องการ ทั้งในประเทศที่เป็นคู่เจรจาเดิม และที่เป็นที่นิยมของแรงงานไทย เช่น  ไต้หวัน  สาธารณรัฐเกาหลี  มาเลเซีย  ญี่ปุ่น  อิสราเอล  และในภูมิภาคอื่นทั่วโลกต่างยอมรับเรื่องความมีวินัย และทักษะฝีมือของแรงงาน  ประกอบกับประเทศไทยมีการบริหารจัดการโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้แทนจากประเทศต่างๆเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี อาทิเช่น เอกอัครราชทูตคูเวตได้แจ้งความประสงค์ต้องการแรงงานไทยไปทำงานในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ  โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานร่วมกับภาคเอกชน เร่งเตรียมความพร้อมในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศให้ได้รับประโยชน์สูงสุด  ได้ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ รวมถึงทักษะด้านภาษา ซึ่งหากการเดินทางระหว่างประเทศสามารถทำได้ตามปกติ สามารถจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศได้ทันที ให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายจำนวน 100,000 คน ตามที่ตั้งเป้าไว้ คาดว่าจะทำให้มีรายได้เข้าประเทศกว่า 140,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ขอย้ำให้แรงงานไทยที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เตรียมร่างกาย และทักษะฝีมือไว้ให้พร้อม รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ

Advertising

“ศักดิ์สยาม”สั่งขบ.ใช้ AIทำงาน-สั่งศึกษาติดGPSรถยนต์ส่วนบุคคล

People Unity : “ศักดิ์สยาม” ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก สั่งขบ.ใช้ AIทำงาน-สั่งศึกษาติด GPSรถยนต์ส่วนบุคคล

วันที่ 21 ต.ค.2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนางสาวกอบกุล โมทนา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม โดยมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ให้การต้อนรับ ที่กรมการขนส่งทางบก

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้มอบนโยบายการบริหารงาน ให้กับผู้บริหาร ข้าราชการกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยมีนโยบายหลักๆ11 เรื่อง ทั้งนี้ โดยเน้นหนักเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกศึกษารายละเอียดเรื่องของการนำเทคโนโลยี (AI) มีปรับใช้เพื่อความสะดวกและแม่นยำมากขึ้น รวมถึงกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจังหลายเรื่อง ซึ่งทั้งหมดกระทรวงคมนาคมวางเป้าหมายที่จะลดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนลงให้ได้มากที่สุด

“ประเด็นสำคัญที่ต้องการให้เร่งดำเนินการ คือ การติดตั้งระบบ GPS รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์จากโรงงาน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ตั้งแต่ต้นทาง ภาคเอกชนค่ายรถต่าง ๆ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เนื่องจากการควบคุมจีพีเอสรถทุกคันจะมีการเข้าถึงสิทธิ์ข้อมูลต่าง ๆ ในการเดินทางต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้รถ และในอนาคตก็จะมีแหล่งข้อมูลการใช้รถขนาดใหญ่ที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัย โดยมีกรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานที่ monitor ข้อมูลเหล่านี้ ส่วนการปฏิบัติที่จะขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวไปสู่ผู้กระทำนั้น กรมการขนส่งทางบกจะเริ่มทำการศึกษาและคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เพื่อให้ได้ข้อสรุปกับการนำนโยบายเหล่านี้มาใช้” นายศักดิ์ กล่าว

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงการกระทำผิดกฎหมายจราจรแล้ว จะต้องมีการถูกตัดแต้มนั้น กรณีดังกล่าวมอบให้กรมการขนส่งทางบกเก็บฐานข้อมูลในกรณีของผู้ใช้รถที่มีใบอนุญาตจะมีคะแนน 100 คะแนนเต็ม แต่หากมีการกระทำผิดกฎหมายจราจรก็จะมีการทยอยหักแต้มไปเรื่อย ๆ และเมื่อมีการหักจนครบเพดานขั้นต่ำที่วางไว้จะถูกยึดใบอนุญาตถาวร เช่นเดียวกับรถแต่ละคันหากมีการบันทึกข้อมูลการกระทำผิดซ้ำจะถูกจำหน่ายทะเบียนรถคันนั้นออกจากระบบ ซึ่งทั้งหมดกระทรวงคมนาคมจะนำมาเป็นแนวทางดูแลงานด้านความปลอดภัยและเพิ่มวินัยจราจรให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกำกับดูแลด้านกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่จะนำระบบสินบนนำจับมากำกับดูแลงานความปลอดภัยของรถสาธารณะ โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หากพบรถของผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเงื่อนไขความปลอดภัย สามารถแจ้งดำเนินคดี เช่น กรณีที่ผู้ประกอบการทำผิดและต้องเสียเบี้ยปรับ 50,000 บาท อาจจะหักเงินดังกล่าวเป็นสินบนนำจับ 10% มอบให้แก่ผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งเรื่องเหล่านี้ขอให้กรมการขนส่งทางบกไปลองศึกษาข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

ด้าน นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกพร้อมรับมอบนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติโดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลและจัดทำแผนการดำเนินการอย่างรอบด้านและเร่งดำเนินการติดตามประเมินผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีแผนปฏิบัติราชการกรมการขนส่งทางบก ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายรัฐบาล และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม (พ.ศ. 2563-2565) โดยดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด 3S ประกอบด้วย S (Safety & Security) คือ ควบคุม กำกับ ดูแลระบบการขนส่งทางถนนทุกรูปแบบให้มีความปลอดภัยและมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงและปลอดภัย S (Sustainability) คือ ควบคุม กำกับ ดูแลระบบการขนส่งทางถนนทุกรูปแบบให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ทุกกลุ่ม

“ประภัตร”ล่องอีสานแก้โรคไหม้คอรวงข้าวระบาด เตรียมระดมโดรนฉีดพ่นไตรโคเดอร์ม่า

People Unity News : “ประภัตร”ล่องอีสาน ลุยตรวจ  การแพร่ระบาด โรคระบาด ไหม้คอรวงข้าว   คาดเสียหายแล้วกว่า 5 แสนไร่ เตรียมระดมโดรนฉีดพ่นตามคำขอชาวนาที่ยังพอช่วยได้พร้อมเตรียมเสนอ   กนข. ขอเงินช่วยเหลือ  กล่า 1,000 ล้าน ก่อนเสนอ ครม.  ชดเชยพื้นที่เสียหาย ช่วยหลัง ผู้ว่าราชการสุรินทร์ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2562 นายประภัตร โพธสุธน รมช. เกษตรฯ พร้อมคณะได้เดินทางไปยัง บ้านหนองบัว หมู่ที่ 3 ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี  จ. สุรินทร์ และบ้าน ขาม ต. หนองบัวบาน อ. รัตนบุรี  จ. สุรินทร์  เพื่อตรวจเยี่ยม  พื้นที่การแพร่ระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวโดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมคณะให้การตอนรับ  พร้อมกับมีการบรรยายสรุปสถานการณ์ ไหม้คอรวงข้าวโดย นายวันรบ เฮ่ประโคน เกษตรจังหวัดสุรินทร์ เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน

โดยนายประภัตร เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบล่าสุด พบว่า นาข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นรอยต่อหลายจังหวัด  ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิขณะนี้ พบว่า นาข้าว   เสียหายแล้วประมาณ 5 แสน ไร่  โดยบางส่วนที่ยังไม่เสียหายนั้นทางผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ ได้ขอให้ทางกระทรวงเกษตรประสานงานเพื่อขอโดรนจากเอกชนช่วยฉีดพ่น เข้าช่วยฉีดพ่นไตรโคเดอร์ม่าเท่าที่ยังสามารถช่วยได้  เนื่องจากเหลือเวลาอีกเพียง 20 วัน ข้าวก็จะสุกที่สามารถเก็บเกี่ยว ได้ซึ่งไม่ทันต่อการใช้ อย่างอื่นมาแก้ปัญหาโดยเฉพาะสารเคมีอาจทำให้เกิดปัญหาสารตกค้างได้จึงเลือกจะใช้วิธีการฉีดพ่นไตรโคเดอร์ม่า เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ที่สุดแล้ว โดยขณะนี้ได้ประสารงานเอกชนใจบุญและพร้อมที่จะส่งโดรนเข้ามาช่วยเหลือฟรี ส่วน ไตรโค้เดอร์ม่าก็มีการแจกฟรี จึงไม่กระทบต่อต้นทุนของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามในส่วนมาตร.ในส่วนที่ ในการช่วยเหลือในความเสียหาย เบื้อนต้นได้สั่งการให้ทางผู้ว่าราชการจ. สุรินทร์  ตั้งคณะกรรมาร เข้ามา สรุปข้อมูลความเสียหายทั้งหมด  พร้อมตรวจสอบรายละเอียด ปริมาณ ข้าวที่ลดลง เพราะบางส่วน  ไม่ได้มีการเสียหายสิ้นเชิง เพียงแต่ผลผลิตลดน้อยลง   โดยข้อมูลโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ70   ในส่วนปคิมาณผลผลิตที่เคยได้เพราะข้าวลีบซึ่งรัฐบาลอาจจะช่วยเหลือและเติมในส่วนที่ขาดหายไป ในเรื่องของราคาส่วน การชดเชยพื้นที่เสียหาย จะชดเชยให้ไร่ละ1,113 ต่อไร่ ไม่เกินไม่เกิน 20 ไร่ ตามกรอบการให้การช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัติ    โดยคาดว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นน่าจะใช้งบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวประมาณ กว่า1,000  ล้านบาท เท่านั้น ซึ่จากนี้ไปคงต้องรอทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์  ตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมา ทำงานเพื่อสรุปรายละเอียดความเสียหายทั้งหมด  และมีการประกาศ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ  เพื่อสรุปข้อมูลเสนอมายังกระทรวงเกษตรก่อนที่ จะเสนอ ไปยัง คณะกรรมการนโยบายข้าว  หรือ กนข หากเห็นด้วยก็จะเสนอต่อ ครม. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

ส่วนการแก้ปัญหาการแพร่รับบาดเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ ขึ้นมาอีก ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กรมการข้าวเข้าทำความเข้าใจและฝึกอบรมให้กับเกษตกรป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ไหม้คอรวงข้าวโดยจะฝึกอบรมให้กับเกษตรกร ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพร้อมเรื่องการ เตรียมการเพาะปลูกข้าวในฤดูต่อไป โดยเกษตรกรจะต้องมีการคลุกเม็ดพันธ์ ข้าว กับไตรโคเดอร์ม่าก่อนหว่านข้าวในฤดูกาลต่อไป  ขณะเดียวกันจะต้องรู้หลักการใช้ปุ๋ยให้ถูกวิธ๊ โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย   ซึ่งการ การใช้ปุ๋ยที่ผิดหลักเป็นสาเหตุหนึ่งขอการเกิดโรคระบาดด้วย

“วันนี้เท่าที่ตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า เหลืออีกไม่ถึง 20 วัน ก็ จะสิ้นสุดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวทั้งหมด คงจะต้องปล่อย   ซึ่งทางผู้ว่าราชการ สุรินทร์ ก็ร้องขอให้ ช่วยระดมฉีดพ่น ไตรโคเดอร์ม่า ช่วยและช่วยให้เราประสาน โดรนเข้ามาช่วย เบื้องตนได้มีการประสาน ไปกับกลุ่มเอกชน เขารับปากจะเข้ามาช่วยฟรี ซึ่ง จะเข้ามาดำเนินการทันที ในวันที่7 พฤศจิกายนนี้  ก็จะระดมฉีดพ่น เท่าที่จะช่วยได้เพราะหากฉีดพ่นเคมีคงจะไม่ดี เพราะอาจเกิดปัญหาสารตกค้างได้วิธีการนี้น่าจะดีที่สุด ส่วนการให้การช่วยเหลือ ก็ ได้สั่งการให้ทางผู้ว่าราชการ จังหวัดตั้งคณะทำงานร่วมกับทางกรมการข้าว เพื่อสรุปข้อมูลรวมกัน  ก่อนเสนอ รายละเอียดเพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการ  กนข . และเสนอ ครม. ต่อไป โดยเบื้องต้นก็คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณกว่า1,000ล้านบาท    “นายประภัตร กล่าว นายประภัตร กล่าวด้วยว่า ในส่วนความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งฝนแล้ง น้ำท่วม และโรคระบาดที่เกิดขึ้น ตนยอมรับว่า อาจเสียหายจริงแต่ไม่น่าถึงขั้นขาดแคลน และขออย่าตื่นตระหนก ยืนยันว่าปริมาณผลผลิตยังเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศอย่างแน่นอนส่วนเรื่องราคา ที่อาจสูงขึ้นเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ จะต้องเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการบริหารจัดการ” นายประภัตร กล่าว

ด้านนายไกรสร กล่าวว่า จากการดำเนินการในเรื่องการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ โรค ไหม้คอรวงข้าว  ทางจังหวัดได้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่  โดยจากการฉีดพ่นไตรโคเดอร์ม่า มี่ผ่านมาสามารถชะลอการระบาด ได้จริง เมื่อเทียบกับพื้นที่ ที่ไม่ได้มีการฉีดพ่น จากนี้ไป คงจะต้องทำความเข้าใจถึงวิธีปกกันการแพร่ระบาดและเร่งดำเนินการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือ เกษตรกรให้เร็วที่สุด  และจากการตรวจสอบยังพบด้วยว่าพื้นที่ มีการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ ใช้สารเคมี และจากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ การส่งเสริมการปลูกข้าวอินนทรีย์ ไม่มีการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวแม้แต่พื้นที่เดียว

“จุรินทร์”เชื่อมั่นจะมีข่าวดี ให้การยางฯวิ่งเจรจาจีนเพิ่มส่งออก

People Unity News : “จุรินทร์”เชื่อมั่นจะมีข่าวดี ให้การยางฯวิ่งเจรจาจีนเพิ่มส่งออก พร้อมสรุป MOU ขายยาง 3.4 หมื่นล้าน พาณิชย์-เกษตร ในเวลา 3 เดือนกว่า

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ภายหลังร่วมงาน เปิดงาน “Thailand Rubber Expo” นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องยางพาราจะมีอยู่ 2-3 ประเด็นที่จะต้องมีการเร่งรัดดำเนินการ เรื่องที่หนึ่ง คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งขณะนี้ได้มีการ โอนเงินส่วนต่างงวดแรกแล้ว แต่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ดำเนินการจนถึงวันนี้โอนเงินส่วนต่างไปได้ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ที่โครงการประกันรายได้ยางล่าช้าเพราะยังมีการตรวจสวน โดยการยางแห่งประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็ทำให้เกิดความล่าช้า เพราะกำลังการยางมีไม่เพียงพอกว่าจะประชุมคณะกรรมการตรวจสวนยางเสร็จก็ใช้เวลา ล่าสุดจึงได้เชิญรัฐมนตรีเกษตรฯ และสำนักงบประมาณ การยางแห่งประเทศไทย และ ธ.ก.ส. มาหารือร่วมกันได้ข้อสรุปแล้วว่าการยางจะไปปรับระเบียบในการตรวจสวนโดยให้เจ้าของสวนเป็นผู้ยื่น ว่ามีจำนวนกี่ไร่และทำยางชนิดใด แล้วให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่งทำการรับรองและจากนั้นก็ส่งให้การยาง แล้วการยางก็ส่งให้กับ ธ.ก.ส.ก็สามารถโอนเงินส่วนต่างได้ทันที ตรงนี้ก็คาดว่าถ้าจากนี้ไปจะทำให้การโอนเงินมีความรวดเร็วขึ้น รวมทั้งผู้ที่ถือบัตรสีชมพูก็สามารถได้รับเงินส่วนต่างด้วยได้ เพราะได้หารือร่วมกับสำนักงบเรียบร้อยแล้วนี่คือเรื่องประกันรายได้

ประการที่สอง เรื่องการแปรรูปยางพาราหรือการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งก็คือการใช้ยางจากภาคเอกชนซึ่งจะมีคนมาลงทุนเพิ่มเติมขึ้น เมื่อสักครู่มีนักลงทุนจีนแจ้งให้ทราบว่าจะมีการมาลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นในการทำโรงงานผลิตยางจำนวนมากที่จะมาลงทุนล็อตถัดไป อันนี้ถือเป็นข่าวดี รวมทั้งสหกรณ์ ภาคเอกชนต่างๆที่ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมในการใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการที่จะผลิตสินค้าตั้งต้น เหมือนงานเอ็กซ์โปยางวันนี้ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีเกษตร มาเยี่ยมชมและมาเปิดงานก็เห็นความหลากหลายของนวัตกรรมและสินค้าหลากหลายที่ใช้นวัตกรรมมากขึ้น และการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มขึ้น อีกส่วนหนึ่งโดยส่วนราชการตรงนี้คณะรัฐมนตรีเคยมีมติไปก่อนหน้านี้แล้วว่าให้ส่วนราชการเพิ่มการใช้ยางในการทำถนน ทำฝาย ทำวัตถุดิบ ทำสินค้า ที่ใช้เพื่อการจราจรรวมทั้งอื่นๆด้วย ซึ่งอันนี้ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก

“ผมจึงมอบหมายให้ทางท่านรัฐมนตรีเกษตรและการยางได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้สั่งการไปนั้นขณะนี้แต่ละส่วนราชการ ได้ดำเนินการไปถึงไหนอย่างไรมีการผลิตผลิตภัณฑ์อะไร ใช้ยางไปมากน้อยแค่ไหนและจะรายงานให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ หรือพิจารณาสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป เพื่อเพิ่มการใช้อย่างในประเทศ ” นายจุรินทร์ กล่าว

เรื่องที่สาม คือการส่งออกยางอันนี้เป็นเรื่องที่มีการเร่งรัด ผมได้นำคณะเอกชนและการยางแห่งประเทศไทยไปเปิดตลาดในหลายพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จชัดเจนมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะซื้ออย่างจากประเทศไทยเช่นอินเดีย 100,000 ตัน ก็เป็นมูลค่า ประมาณ 9,000 ล้านบาทและที่ตุรกีล็อตใหญ่สุด คือหมอนยางพารา 20 ล้านใบ โดยการยาง 10 ล้านใบ ภาคเอกชน 10 ล้านใบ รวมเป็นมูลค่าทั้งหมด 12,000 ล้านบาท และล่าสุดการยางขายให้กับจีนและฮ่องกงรวม 260,000 ตันเป็นเงิน 13,000 ล้านบาททั้งหมดนี้ รวมกัน 3-4 ประเทศที่ผมเรียนก็ 34,000 ล้านบาท ซึ่งขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการต่อไปก็คือ จะต้องมีการเร่งรัดการส่งมอบเพราะทันทีที่มีการส่งมอบตัวเลขการส่งออกก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งขณะนี้ผมได้ขอให้ภาคเอกชนกระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับภาคเอกชนให้เร่งส่งมอบโดยเร็วตั้งแต่เดือนธันวาเป็นต้นไปและให้การอย่างเร่งส่งมอบสัญญาที่ได้ไปเซ็นเพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออกและจะได้มีผลในการที่จะนำเงินเข้าประเทศมาช่วยเกษตรกรต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดใหม่นอกจาก 30 ประเทศที่ผมเดินทางแล้ว ตะวันออกกลางกับแอฟริกาใต้ ก็จะเป็นเป้าหมาย ผมได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการแล้วและสอดคล้องกับท่านนายกได้มีดำริเมื่อสักครู่ ว่าอยากให้ไปเปิดตลาดที่แอฟริกาใต้ ก็จะไปทริปเดียวกันกับตะวันออกกลาง ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าระหว่างบาห์เรนกับกาตาร์ ตรงไหนที่พร้อมกว่ามีความเหมาะสมกว่า มีลูกค้าที่จะเซ็นสัญญาซื้อขายกับเราได้และถัดไปก็จะต่อไปที่แอฟริกา จะเป็นทริปเดียวกันหวังว่าจะเพิ่มยอดส่งออกเรื่องยางพาราได้อีกไม่น้อยทีเดียว และทันทีที่มีการส่งมอบเปิด เงินก็เข้าประเทศลงเรือผ่านด่านศุลกากรเป็นขั้นตอนกระบวนการตัวเลขการส่งออกก็จะเพิ่มขึ้น สำหรับประกันรายได้ตอนนี้ช้ามาพอสมควร อย่างไรก็ตามสำหรับจีน 60,000 ตัน กับ ฮ่องกง 200,000 ตัน ที่เซ็นต์ ไปและขณะนี้การยางก็กำลังเจรจากับจีนเพิ่มเติมอยู่และจะมีข่าวดีเร็วๆนี้

ถึงคิวชาวไร่ข้าวโพดแล้ว!!ประชุมร่วม 3 ฝ่ายเคาะราคาประกันรายได้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าในวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2562 นี้ นายจุรินทร์ มีกำหนดการเดินทางไปจังหวัดลำปาง ในวาระสำคัญของพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด โดยจะมีการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น 3 ฝ่าย ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชนและเกษตรกร ณ ห้องเอื้องหลวง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในเวลา 15.00 – 17.00 น.

การประชุมระดมความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ที่ต้องการดูแลและช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่กำลังเผชิญปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และข้าวโพดก็เป็นอีกหนึ่งในพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ อันเป็นพืชชนิดที่ 5 ที่ได้มีการพิจารณาราคาประกันรายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการพิจารณาโครงการประกันรายได้ให้กับพืชเศรษฐกิจสำคัญไปแล้ว 4 ชนิด อนึ่ง “โครงการประกันรายได้” นี้ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งต้นหลักคิดโดยยึดประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรเป็นที่ตั้ง เพื่อให้มีหลักประกันในเรื่องราคาพืชผลที่มุ่งเน้นให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอในการดำรงชีพได้

“วีรศักดิ์”เล็งปลุกตลาดงานหัตถศิลป์แดนอีสานชูผ้าไหมเป็นพระเอก

People Unity News : “วีรศักดิ์”เตรียมลงพื้นที่ขอนแก่นปลายเดือนนี้ ลุยปลุกตลาดงานหัตถศิลป์แดนอีสาน ชูผ้าไหมเป็นพระเอก ลั่นต้องต่อยอดจดลิขสิทธิ์ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย เร่งนำรายได้กลับสู่ชุมชนสร้างความเข้มแข็งจากท้องถิ่นเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศจากความผันผวนของการค้าโลก

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เร่งดำเนินงานเก็บรวบรวม งานอนุรักษ์ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ด้านหัตถศิลป์ไทย เพื่อต่อยอดนำความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์ไทยนั้น ล่าสุดทาง SACICT เตรียมจัดกิจกรรมประชุมสมาชิก SACICT Craft Network ครั้งที่ 3 ในกลุ่มผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมอวานี

เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายงานหัตถศิลป์ ในกลุ่มผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ต้องเร่งดำเนินงานทั้งสิ้น 424 ราย แบ่งเป็นประเภท งานผ้า งานจักสาน งานโลหะ เครื่องกระดาษ และอื่นๆ ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการงานผ้ามากที่สุด ซึ่งงานผ้าทอของภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่าเป็นศิลปหัตถกรรมไทยที่สร้างชื่อเชียงให้กับประเทศไทยมากที่สุด ทั้งนี้ นอกเหนือจากกิจกรรมประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ตนยังจะลงพื้นที่งานหัตถกรรมผ้าไหมมัดหมี่ชนบท ไปเยี่ยมชมผลงานของครูสงคราม งามยิ่ง ครูศิลป์ของแผ่นดิน ที่กวาดรางวัลจากการประกวดทั้งในและต่างประเทศมาแล้วนับไม่ถ้วน รวมถึงยังจะเดินทางไปเยี่ยมชมนวัตกรรมเส้นไหมอินทรีย์ นวัตกรรมผ้าไหมแต้มหมี่ และจะไปพบปะครูช่าง และทายาทในชุมชนเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการผลักดันต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมจะเน้นประเด็นสร้างความตระหนักและเห็นคุณค่าของการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทางการค้าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม มุ่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด ทั้งยังเป็นการติดอาวุธทางปัญญาด้วยองค์ความรู้ทางเทคนิค ตลอดจนการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ที่ผสานอัตลักษณ์แห่งภูมิปัญญา ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแปรรูปสินค้าให้ตรงกับยุคสมัยและความนิยมของผู้บริโภค มีการเชื่อมประสานไปยังผู้ซื้อ ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงตลาดออนไลน์ เพื่อจะสร้างพันธมิตรด้านการค้าใหม่ๆ ต่อไปได้อย่างไม่จำกัดอีกด้วย” นายวีรศักดิ์ กล่าว

นายวีรศักดิ์ กล่าวย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเร่งเชื่อมกลไกการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายในประเทศรองรับความผันผวนของการค้าโลก ซึ่งขณะนี้ทุกองคาพยพของกระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นไปที่การปลุกเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy)เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแกร่ง ทำให้พี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคได้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของ SACICT ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร และเน้นการปรับกระบวนการคิด สร้างมุมมองใหม่ให้กับช่างผู้ผลิตให้สามารถผลิตงานศิลปหัตถกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงสามารถต่อยอดเกิดเป็นอาชีพและขายได้จริงในตลาด ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่มีความมั่งคั่งด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะอันโดดเด่น สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อสินค้าไทยกลับไปเป็นของที่ระลึก สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง สินค้าที่นักท่องเที่ยวที่ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของที่ระลึกนั้น นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมแล้ว ยังเป็นการสืบสาน ต่อยอด เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้ผลงานอันทรงคุณค่าจากฝีมืออันประณีตยังคงอยู่สืบไปด้วย

นายกฯห่วงเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าต่อนโยบายประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

People Unity : นายกฯห่วงเศรษฐกิจฐานราก เร่งเดินหน้านโยบายดูแลช่วยเหลือ พร้อมออกมาตรการหนุนอย่างเป็นรูปธรรม

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากจึงได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเศรษฐกิจฐานรากเป็นเสาหลักของความมั่นคงประเทศ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เน้นย้ำว่าจะต้องเร่งดูช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่มีรายได้ไม่เกิน 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีถึง 40% หรือ 26.9 ล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย แต่กลับอยู่ในสภาพที่ง่อนแง่น

“นโยบายประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยจะ 1) สานต่อนโยบายเกษตรประชารัฐซึ่งเป็นแนวทางเกษตรยั่งยืนด้วยมาตรการ 3 เพิ่ม 3 ลด 2) ตั้งกองทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่เอกชนและชุมชนร่วมทุนกัน ใช้เป็นกลไกการเงินของชุมชน 3) ส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากมีความหลากหลาย 4) เสริมความแข็งแกร่ง SMEs รายเล็กๆ ด้วยการเติมทุน เติมทักษะ เติมรายได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการกระตุ้นการลงทุน เร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ การขยายสิทธิบัตรสวัสดิการไปยังกลุ่มอื่น รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากด้วย คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเร็วๆนี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีใส่ใจในเรื่องนี้มาก โดยพบว่าการบริหารประเทศในอดีตเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคที่มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ดังนั้น เป้าหมายในการดูแลเศรษฐกิจฐานราก คือ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งเรื่องสังคม ผู้คน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ปัญหาของ “ชาวนา” เป็นปัญหา “เชิงโครงสร้าง” มีรากของปัญหา เช่น การถูกกดราคา กฎหมายและตลาดไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อย ภัยธรรมชาติ ต้นทุนสูง ไม่มีที่ดินของตนเอง ขาดความรู้ มีภาระหนี้สิน ฯลฯ จึงต้องเร่งแก้ไขที่ต้นตอไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวพันกัน

เศรษฐกิจ : นายกฯห่วงเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าต่อนโยบายประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

People Unity : post 12 สิงหาคม 2562 เวลา 10.10 น.

คลัง”ชิมช้อปใช้”สัญจรโคราช! เข้าครม. 22 ต.ค.ต่อยอดเฟส2

People Unity : คลังเตรียมต่อยอดชิมช้อปใช้เฟส 2 หลังคลังเตรียมเสนอ ครม. 22 ต.ค. หวังสำรวจยอดการจับจ่ายใช้สอยผ่านร้านค้ารายย่อยในโคราช พร้อมกระตุ้นนักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยผ่านกระเป๋า 2

วันที่ 19 ต.ค.2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ได้เดินทางลงพื้นที่ที่ตลาดนัดเซฟวัน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นตลาดนัดกลางคืนใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสำรวจยอดการจับจ่ายใช้สอยของผู้ได้รับสิทธิ์โครงการชิมช้อปใช้ผ่านร้านค้ารายย่อยในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งรณรงค์ให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ออกมาจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะกระเป๋า 2 เพราะสามารถได้รับเงินคืนสูงถึง 15%

พร้อมกันนี้ ยังได้กำชับให้ผู้ประกอบการทุกรายห้ามละเมิดกฎอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะถูกปิดแอ๊พถุงเงินทันที และจะถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามเข้าร่วมโครงการต่างๆของรัฐบาลในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่า ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่กล้าฝ่าฝืนคำสั่งของกระทรวงการคลัง ด้วยการเปิดรับแลกสิทธิ์ 1,000 บาท เป็นเงินสดหรือแลกสิทธิ์ข้ามจังหวัด เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าของเฟส 2 นั้น กระทรวงการคลังเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 ต.ค. หวังดึงประชาชนร่วมโครงการจาก 10 ล้านคน ประมาณ 2-5 ล้านคน การเพิ่มจำนวนร้านค้าด้วยการดึงเครือข่ายลูกค้าของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมอีกราว 1 แสนร้านค้า หลังจากเฟสแรก มีร้านค้าใหม่มาร่วมโครงการเกือบแสนราย รวมทั้งต้องปรับเวลาการลงทะเบียนเป็นกลางวัน และหวังขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 62 เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว เมื่อ ครม.พิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน สิ่งจูงใจในการร่วมลงทะเบียนโครงการชิมช้อปใช้เฟส 2 กระซิบบอกได้เลยว่าน่าสนใจไม่แพ้ชิมช้อปใช้เฟสแรกอย่างแน่นอน

สรุปยอดการใช้จ่ายจนถึงวันที่ 18 ต.ค. 62 มียอดการใช้จ่ายทั้งสิ้น 8,676.8 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดจากกระเป๋า 1 จำนวน 8,537.2 ล้านบาท จากกระเป๋า 2 จำนวน 139.6 ล้านบาท แบ่งเป็นร้านชิม จำนวน 1,241.0 ล้านบาท ร้านช้อป จำนวน 4,847.1 ล้านบาท ร้านใช้ จำนวน 116.4 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป 2,472.3 ล้านบาท

Verified by ExactMetrics