วันที่ 29 เมษายน 2024

ออมสิน ทำโครงการ “ตลาดออมสินรวมใจ” สร้างต้นแบบตลาดเพื่อเศรษฐกิจดี ชีวิตดี สังคมยั่งยืน

People Unity News : 11 พฤศจิกายน 2566 ออมสิน ทำโครงการยกระดับตลาดแบบองค์รวม “ตลาดออมสินรวมใจ” นำร่อง 18 แห่งทั่วประเทศ สร้างต้นแบบตลาดเพื่อเศรษฐกิจดี ชีวิตดี สังคมยั่งยืน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดทำโครงการยกระดับตลาดแบบองค์รวม (Holistic Market Project) ภายใต้ชื่อ “ตลาดออมสินรวมใจ” ต่อยอดแนวคิดงานพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม หรือ Holistic Area-Based Development ตั้งเป้าช่วยแก้ไขปัญหาหนี้และเป็นแหล่งเงินทุนแก่ผู้ขายในตลาดสดของชุมชน ล่าสุดได้ลงพื้นที่ตลาดเจดีย์แม่ครัว อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 1 ใน 18 ตลาดของโครงการฯ เพื่อติดตามความคืบหน้างาน รวมถึงร่วมประชุมประเมินปัญหา-อุปสรรค และกำหนดปัจจัยความสำเร็จของตลาดแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการ ณ ห้องประชุมคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

โครงการยกระดับตลาดแบบองค์รวม หรือ Holistic Market Project เป็นความร่วมมือของธนาคารออมสิน กับเจ้าของตลาด และหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ที่ได้ร่วมกันคัดเลือกตลาดเอกชนและตลาดเทศบาล นำร่อง 18 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในตลาด ได้แก่ พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย และผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรม หลุดพ้นจากการเป็นหนี้นอกระบบ ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้ค้าขายในตลาดผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ครอบคลุมการพัฒนาใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ด้วยการให้ความรู้และคำปรึกษาเรื่องการแก้ไขหนี้ในระบบ/นอกระบบ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และแนวทางการป้องกันการเกิดหนี้ 2) การส่งเสริมการออม เพื่อสร้างวินัยการออม 3) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เป็นธรรม ไม่พึ่งพิงหนี้นอกระบบ 4) ให้ความรู้ทางการเงิน Financial Literacy การบริหารการเงิน และวางแผนการออม 5) สนับสนุนให้มีอาชีพที่ 2 เป็นอาชีพเสริม และเพิ่มทักษะเฉพาะด้านที่มีความจำเป็น 6) ให้ความรู้ในการเพิ่มช่องทางการขาย/การตลาด ผ่านช่องทางออนไลน์ และ 7) สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการค้าขาย ทั้งการ Re-Branding ตลาด ปรับปรุงสถานที่ ร้านค้า ป้ายบอกโซนค้าขาย และสภาพแวดล้อมในตลาด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการติดตามความคืบหน้าและประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินโครงการฯ ทั้ง 18 ตลาด ได้แก่ ตลาดนัดจตุจักร จ.กรุงเทพฯ ตลาดน้ำดอนหวาย จ.นครปฐม ตลาดเจดีย์แม่ครัว จ.เชียงใหม่ ตลาดสดเทศบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ตลาดเทศบาลเมืองสะเดา จ.สงขลา และ ตลาดสดเจ้าพระยา จ.ชลบุรี

Advertisement

สมาคมธนาคารไทย ยืนยันไม่สามารถใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงินได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 กุมภาพันธ์ 2567 TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย ยืนยันไม่สามารถใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน

ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ขอชี้แจงกรณีที่มีข่าวการดูดเงินเพียงการโทรพูดคุย 2 นาที โดยไม่ต้องกดลิงก์ว่า ปัจจุบันธนาคารไม่มีการใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน ดังนั้นเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงและยังไม่พบเหตุการณ์ความเสียหายเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก

ระบบของธนาคารมีการป้องกันและพัฒนาการพิสูจน์ยืนยันตัวตนอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการให้ยืนยันตัวตนผ่านการสแกนหน้า ควบคู่กับข้อมูลส่วนบุคคล และรวมถึงการกำหนดวงเงินในการทำธุรกรรม นอกจากนี้  TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารสมาชิก ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) ของลูกค้าทุกคน พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการธนาคาร และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและประชาชน

อย่างไรก็ดี ประชาชนต้องพึงระวัง

1.ไม่ดาวน์โหลด รวมถึงกดลิงก์ใด ๆ โดยเฉพาะจากบุคคลที่ไม่รู้จัก

2.ไม่สแกนหน้ากับโปรแกรมจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store

3.เมื่อรู้ตัว หรือสงสัยว่ากำลังคุยกับมิจฉาชีพ ไม่แนะนำให้คุยต่อ เพราะอาจจะหลงเชื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากมิจฉาชีพอาจจะมีข้อมูลจริงทำให้พูดคุยแล้วยิ่งหลงเชื่อ

4.หากสงสัย ให้โทรสอบถามที่เบอร์ทางการของหน่วยงานโดยตรง

หากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว หรือมีข้อสงสัย ขอให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งานทันที หรือ ติดต่อ ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของการทำธุรกรรม โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

Advertisement

ไข่ไก่แพงขึ้นอีก 20 สตางค์ แตะ 3.80 บาท/ฟอง ตั้งแต่พรุ่งนี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 เมษายน 2567 เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ โดยเป็นการขยับราคาห่างจากรอบที่แล้วไม่ถึง 2 สัปดาห์ สาเหตุเพราะช่วงนี้อากาศร้อนยิ่งขึ้นอีก ปริมาณไข่ไก่ลดและขนาดฟองเล็กลง ประกอบกับสงครามในต่างประเทศ ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่วอนผู้บริโภคเข้าใจและขออย่าตกใจ ปริมาณไข่ไก่แม้น้อยลง 5-10% แต่ยังเพียงพอบริโภค

เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด ออกประกาศแจ้งสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ปรับราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกรขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์ หรือแผงละ 6 บาท ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (29 เมษายน 2567) เป็นต้นไป ส่งให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับจากฟองละ 3.60 บาท เป็น 3.80 บาทหรือแผงละ 114.00 บาท

การปรับราคาขึ้นครั้งนี้ เป็นการปรับห่างจากครั้งก่อนหน้าเพียง 12 วัน โดยครั้งที่แล้ว ปรับขึ้นจากฟองละ 3.40 บาท เป็น 3.60 บาทหรือแผงละ 108.00 บาท เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567

สำหรับราคาไข่ไก่ตามขนาดของวันนี้ (28 เมษายน 2567) มีดังนี้

ไข่ไก่ เบอร์ 0 ราคา 4.10 บาท/ฟอง ราคา 123.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 1 ราคา 3.90 บาท/ฟอง ราคา 117.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 2 ราคา 3.70 บาท/ฟอง ราคา 111.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 3 ราคา 3.60 บาท/ฟอง ราคา 108.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 4 ราคา 3.50 บาท/ฟอง ราคา 105.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 5 ราคา 3.40 บาท/ฟอง ราคา 102.00 บาท/แผง

ไข่ไก่ เบอร์ 6 ราคา 3.30 บาท/ฟอง ราคา 99.00 บาท/แผง

โดยราคาใหม่ที่ปรับขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์จะเริ่มพรุ่งนี้ (29 เม.ย.)

นายชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่กล่าวว่า ระยะนี้อากาศร้อนยิ่งขึ้น ประกอบกับน้ำน้อยลง สภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้แม่ไก่มีความเครียดจึงออกไข่น้อยลงและขนาดฟองเล็กลง เกษตรกรรายย่อยต้องลงทุนเพิ่ม ด้วยการซื้อน้ำมาให้แม่ไก่กินและใช้น้ำฉีดพ่นละอองบนหลังคาโรงเรือนแบบเปิด เพื่อลดความร้อน ส่วนโรงเรือนปิดแบบอีแวป ต้องเปิดระบบทำความเย็นที่ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลาซึ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ยังประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยต้องนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะสงครามในต่างประเทศ แม้ภาครัฐจะแจ้งว่า ไม่กระทบไทย แต่ขณะนี้ได้รับแจ้งถึงราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มแล้ว

รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่คาดการณ์ว่า ปริมาณไข่ไก่ในตลาดลดลงประมาณ 5-10% แต่ฟาร์มขนาดเล็กหรือฟาร์มที่มีระบบจัดการไม่ดีอาจจะถึง 20% ส่วนฟาร์มที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระจะยิ่งกระทบรุนแรง ขณะนี้ผู้เลี้ยงรายย่อยบางรายเริ่มปลดแม่ไก่ออกเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

Advertisement

สถานการณ์จ้างงานดีต่อเนื่อง ว่างงานไตรมาส 3/65 ลดเหลือ 4.91 แสนคน

People Unity News : 5 พฤศจิกายน 2565 นายกฯ พอใจสถานการณ์จ้างงานดีต่อเนื่อง ขณะการว่างงานไตรมาส 3/65 ลดลงเหลือ 4.91 แสนคน ด้านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดตลาดนัดแรงงานดึงผู้ประกอบการออกบูธเปิดรับสมัครงานกว่า 1,500 ตำแหน่ง รับอุตสาหกรรมการบิน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถึงภาวะการมีงานทำของคนไทยประจำไตรมาสที่ 3/65 (ก.ค.-ก.ย.65) ซึ่งในภาพรวมสถานการณ์เป็นที่น่าพอใจ โดยประชาชนมีงานทำมากขึ้น ว่างงานลดลง เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งออกนโยบายเพื่อรักษาการมีงานทำของประชาชนตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด19

ทั้งนี้ไตรมาสที่ 3/65 ประเทศไทยมีประชากรผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 58.66 ล้านคน อยู่ในกำลังแรงงานอยู่ 40.09 ล้านคน นอกกำลังแรงงาน เช่น ทำงานบ้าน เรียนหนังสือ เด็ก คนชรา ผู้ป่วย และผู้พิการ 18.57 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.9 ล้านคนนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.57 ล้านคน เพิ่มจาก 39.01 ล้านคนในไตรมาสก่อนที่ 2/65 หรือเพิ่มขึ้น 5.6 แสนคน และเพิ่มขึ้น 8.2 แสนคนเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/64 ส่งผลให้การจ้างงานในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในการจ้างงานนอกภาคเกษตร ร้อยละ 4.3 เช่น ภาคบริการ การค้า และการ ขณะที่ภาคเกษตรการจ้างงานลดลงร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นไปตามภาวะปกติที่แรงงานภาคเกษตรจะลดลงเมื่อมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคบริการ การค้า และการผลิต

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของจำนวนผู้ว่างงาน ณ ไตรมาสที่ 3/65 อยู่ที่ 4.91 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ลดลงจาก 5.46 แสนคน หรือร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ 2/65 และจาก 9.11 แสนคน หรือ ร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ 3/64 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานสูงสุดในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ซึ่งสะท้อนรายได้ของแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นนั้นก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19

“นายกรัฐมนตรี พอใจกับสถานการณ์การมีงานทำของประชาชนที่ดีขึ้น กลับมาใกล้เคียงกับตอนก่อนการระบาดของโควิด 19 ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนผลสำเร็จของนโยบายที่รัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาการจ้างงาน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายมาตรการด้านสาธารณสุขจนผ่านพ้นวิกฤตและกำลังเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจในทุกมิติ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ทยอยเพิ่มการจ้างงานให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบินที่ขณะนี้มีแนวโน้มค่อนข้างสดใสด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 65 นี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ก็ได้จัดโครงการ “ตลาดนัดแรงงาน ณ ทสภ.” ครั้งที่ 8 (Suvarnabhumi Airport Job Fair 2022) ซึ่งเป็นงานที่รวมบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประมาณ 30 บริษัท มาออกบูธเพื่อรับสมัครพนักงานรวมกว่า 1,500 อัตรา ในตำแหน่งต่างๆ อาทิ วิศวกรไฟฟ้า พนักงานบริการลูกค้าภาคพื้น พนักงานคลังสินค้า พนักงานตรวจค้นผู้โดยสาร พนักงานรักษาความปลอดภัย ช่างเทคนิค

สำหรับผู้สนใจสามารถไปร่วมงานได้ในเวลา 9.00-15.00 น. ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 65 ณ ณ ศูนย์การขนส่งสาธารณะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนชุมชนสัมพันธ์ ฝ่ายกิจการพิเศษและมวลชนสัมพันธ์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หมายเลขโทรศัพท์ 0 – 2132 – 9084 , 0 – 2132 – 9093

Advertisement

นายกฯ ดันนครพนม เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 กุมภาพันธ์ 2567 นายกฯ ดัน จ.นครพนม เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เชื่อมีศักยภาพจัดเทศกาลระดับโลก – ขอภาคเอกชนช่วยโปรโมทสินค้านครพนม สู่ตลาดโลก

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมายังจุดที่ 3 ประชุมหารือแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาของจังหวัดนครพนม ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยนครพนม

โดยรับฟังบรรยายสรุป พิจารณาแผนงานของจังหวัดนครพนม ที่ขอการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้แก่โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และการบริหารจัดการน้ำ การยกระดับเมืองรองเป็นเมืองหลัก Medical and wellness Hub ให้จังหวัดนครพนมเป็นเมืองหลักแห่งการพักผ่อน พร้อมส่งเสริมให้ มีเทศกาลต่างๆ เช่น นครพนมแฟชั่นวีค ยกระดับเทศกาลไหลเรือไฟโลก

ซึ่งช่วงหนึ่งในการรับฟังรายงาน นายกรัฐมนตรีได้สอบถามความคืบหน้าและงบประมาณ ที่จะใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลนครพนม ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้เสนอแผนงานรวมกันกับแผน Medical and wellness Hub โดยนายจุลพันธ์อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ เสนอว่าการทำโครงการนี้จะต้องใช้งบกลาง เนื่องจากเป็นการดำเนินการในงบผูกพันต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าดีใจที่ได้กลับมาจังหวัดนครพนมอีกครั้งหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับจังหวัดนครพนม ที่ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ จากการรับฟังรายงาน ทราบว่ารายได้ของจังหวัดนครพนมแบ่งเป็น ร้อยละ 30 มาจาก ภาคการเกษตรและอีกร้อยละ 70 มาจากภาคการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า ถือเป็นตัวเลขที่ สะท้อนความเป็นจริง

ส่วนระบบชลประทานเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร คงได้มีการพูดคุยกันอยู่แล้วอยู่แล้ว ขอให้สบายใจว่าเราจะดูแลอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าในอนาคต ไม่เกิน 5 ปี จะสามารถพัฒนาให้สนามบินจังหวัดนครพนม เป็นสนามบินนานาชาติ เพราะจังหวัดนครพนมมีจุดแข็ง สมควรได้ยกระดับจากเมืองรองเป็นเมืองหลัก ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับพี่น้องประชาชนชาวนครพนม ที่บริษัทใหญ่ระดับโลกสนใจที่จะมาลงทุนในจังหวัดนครพนม แต่อยากให้ภาคเอกชน ช่วยโปรโมทสินค้านครพนมให้เป็นที่รู้จัก และไปสู่ตลาดโลก และมองว่าการพัฒนาสินค้าถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ยังขาดเรื่องดีไซน์ อย่างผ้าไหม ที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว ต้องการให้องค์กรต่างๆ นำความรู้เข้ามามาช่วย เพื่อให้ได้มาตรฐานโลกและนำไปขายในตลาดโลกได้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้การสนับสนุน แต่ว่าเราต้องช่วยกันเยอะกว่านี้

นายกรัฐมนตรี ยังระบุ เรื่องยุทธศาสตร์ถือว่ามีความสำคัญ เราไม่ได้มีเพียงจังหวัดนครพนม ยังมีจังหวัดหนองคาย มุกดาหาร ที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน และยังต้องพัฒนาศูนย์ขนถ่ายสินค้า เพราะหากมีการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น จะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมโหฬาร

จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของดีประจำ 12 อำเภอ และชมการแสดงลำภูไท ศรีโคตรบูรณ์ และชมสินค้า OTOP จากอำเภอต่างๆ โดยเฉพาะผ้าฝ้ายย้อมคราม อ.นาหว้า ที่เป็นของขึ้นชื่อจังหวัดนครพนม และยังได้มีการจัดนิทรรศการของพระธาตุประสิทธิ์ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำวันพฤหัสบดี เป็นวันเกิดของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

Advertisement

ก.คลังเพิ่มทุนโครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียน 90 ล้าน

People Unity News : 1 มีนาคม 2566 คลังงัดงบกลางเพิ่มทุนโครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียน 90 ล้านบาท  คงสัดส่วนผู้ถือหุ้นตามข้อตกลงโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ครม.เห็นชอบการเพิ่มทุนในโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน โดยเพิ่มทุนเพื่อชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนส่วนแรกในสัดส่วนของกระทรวงการคลัง จำนวน 90 ล้านบาท สำหรับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลเจ้าของโครงการเป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) และให้โครงการสามารถดำเนินงานต่อไปได้ มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาใช้จ่ายงบกลาง ปีงบประมาณ 2566  ชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนแรกตามขั้นตอนของกฎหมาย

โครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน เป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) โดยไทยเป็นสมาชิกร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบูรไน ซึ่งข้อตกลงกำหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของยอดลงทุนทั้งหมด และรัฐบาลเจ้าของโครงการต้องลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของยอดเงินลงทุนนั้น โดยอีกร้อยละ 40 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้ลงทุน โครงการนี้ มีบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการ มีทุนจดทะเบียน 2,805.8 ล้านบาท และกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ร้อยละ 20 เป็นเงิน 516.16 ล้านบาท ลักษณะของโครงการ เป็นการทำเหมืองใต้ดิน  มีแร่โพแทชและเกลือหินเป็นผลผลิตสำคัญ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีมูลค่าแหล่งแร่รวม 200,000 ล้านบาท และได้เริ่มพัฒนาเหมืองขั้นต้นเพื่อการผลิตแร่โพแทชไว้แล้ว เช่น การขุดเจาะอุโมงค์เข้าสู่เหมืองใต้ดินเพื่อการขนส่ง การสร้างห้องใต้ดินเพื่อทดลองผลิตแร่โพแทช ซึ่งไม่พบปัญหาด้านวิศวกรรม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทไม่สามารถหาทุนเพื่อดำเนินธุรกิจได้ แม้ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังได้พยายามเพิ่มทุนแก่บริษัทหลายครั้ง เช่น ขยายนิยามผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาลไทยให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจไทย รวมถึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจไทย แต่ไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจ  จึงไม่สามารถผลิตแร่ได้ตามเป้าหมาย  อีกทั้ง มีภาคเอกชนรายใหม่ให้ความสนใจ เข้ามาลงทุนในโครงการ  อาจจะส่งผลต่อสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเปลี่ยนแปลง กระทรวงการคลังจึงต้องเพิ่มทุนในครั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement)

Advertisement

ข่าวดีชาวไร่อ้อย! ครม. เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูผลิตปี 64/65 ตันละ 1,106.40 บาท

People Unity News : 7 มีนาคม 2566 ที่ประชุม ครม. (7 มี.ค. 66) เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 64/65 เป็นรายเขต 9 เขต โดยมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้

1.ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 64/65 เฉลี่ยทั่วประเทศในอัตรา ตันอ้อยละ 1,106.40 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.

2.อัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 66.38 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.

3.ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิต ปี 2564/2565 เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 474.17 บาทต่อตันอ้อย

ซึ่งราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 64/65 อยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ดังนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่โรงงาน

ส่วนรายได้สุทธิจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย โรงงานน้ำตาลต้องนำส่งเงินส่วนต่างระหว่างรายได้สุทธิและราคาอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตันอ้อยละ 10 บาท ตามมาตรา 57 พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

Advertisement

Verified by ExactMetrics