วันที่ 7 พฤษภาคม 2024

ธอส.ช่วยชาวใต้น้ำท่วมด้วย 7 มาตรการทั้งพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม/สร้าง จ่ายค่าสินไหมด่วน

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือชาวใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2563” ประกอบด้วย 1) ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก 2) ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก 3) ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน ดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด 4) ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ย 1% ต่อปี 5) เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี 6) ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร และ 7) พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ จ่ายค่าสินไหมเร่งด่วน และกรณีกรมธรรม์เริ่มคุ้มครองตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี ติดต่อขอใช้มาตรการถึง 30 ธันวาคม 2563

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ได้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก หลังจากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจนมีผลให้ที่อยู่อาศัยเกิดความเสียหายและประชาชนได้รับผลกระทบในด้านการประกอบอาชีพ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” จึงพร้อมบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2563” (กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท) โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้นกรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี

สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าตรวจสอบหลักประกันค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ปี 2563” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์(Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

Advertising

“ประภัตร”แนะเร่งขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพกำจัดศัตรูพืชสูตรโครงการหลวง

People Unity : “ประภัตร” ออกโรงหาสารทางเลือกทดแทน 3 สารพิษเกษตรให้ชาวไร่ชาวนา แนะหน่วยงานเร่งขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพกำจัดศัตรูพืชสูตรโครงการหลวง และสูตรภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้จบรู้ผลใน3-7วันนี้ ลั่นไม่กระทบต้นทุนทำเกษตร

เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2562 นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีการแบน 3 สารเคมี คลอร์ไพรีฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 โดยห้าม จำหน่าย ผลิต ครอบครอง นำเข้า ส่งออก ให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค.นี้ทันทีว่าคนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าสาร 3 ตัวมีอันตรายต่อร่างกาย ตนเห็นด้วยที่ยุติการใช้สารเคมี โดยกระทรวงเกษตรฯทุกคนเห็นด้วยเราสนับสนุนการแบนสารครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯจะร่วมมือกับทุกฝ่ายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพราะต้องยอมรับว่าเกษตรกรบางส่วน ยังเคยชินกับการใช้สารเคมี ดังนั้นการปรับเปลี่ยนให้มาใช้สารทางเลือกในการทำเกษตรปลอดภัย จะต้องทำให้เกษตรกรเกิดความเชื่อถือในสารชีวภัณฑ์ตัวใหม่ ที่เป็นอินทรีย์ มาทดแทน โดยจะไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นไม่ให้เป็นภาระกับชาวไร่ชาวนา

“ชาวไร่ ชาวนา บางส่วนยังติดการใช้สารเคมี เพราะเคยใช้อะไร ที่หาง่าย ฉีดแล้วหญ้า แมลง ตายทันที ถ้ามาใช้ตัวใหม่ศัตรูพืชตายช้าลง ก็ยังอยากใช้ตัวเดิม ซึ่งการแบน3สารในครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ ขอให้ทุกฝ่ายจะต้องมาพูดกันช่วยกัน หันหน้ามาช่วยกัน ทำให้เกษตรกรฐานราก ให้อยู่ได้ เพราะเกษตรกรเป็นฐานใหญ่ของประเทศ ใครมีข้อคิดเห็นดีๆมาเสนอได้ ซึ่งสารทดแทน มีมากหลายอย่าง สิ่งสำคัญต้องทำให้เกษตรกร เชื่อถือ ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ที่อาจกำจัดศัตรูพืชได้ช้ากว่า3สาร ซึ่งต้องหาทางเลือก ทางออกทำเกษตรที่มีความปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องคิดทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อคนไทย ไม่ให้แผ่นดินไทย เต็มไปด้วยสารพิษ เป็นที่ทิ้งสารเคมีที่ต่างประเทศ แต่มีเพียงคนกลุ่มเดียวได้ผลประโยชนมหาศาลจากการเอาเปรียบคนไทยมาตลอด ซึ่งจากนี้กรมวิชาการเกษตร ต้องเปิดรับการขึ้นทะเบียน ให้กับสารทดแทน สารชีวภัณฑ์ ที่คิดค้นโดยคนไทย นำภูมิปัญญาชาวบ้าน มาขึ้นทะเบียนสูตรต่างๆไว้ ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพ วีธีการทำเกษตรปลอดสาร ที่ใช้ทำในโครงการหลวง ของในหลวงรัชกาลที่9 พระองค์ทรงทำต้นแบบไว้มากมายให้คนไทย” นายประภัตร กล่าว

นายประภัตร กล่าวว่ากรมวิชาการเกษตร ต้องเปิดรับการขอจดขึ้นทะเบียน สูตรปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช ที่เป็นอินทรีย์ ทำในประเทศได้ผลดี ทุกวันนี้ทำใช้กันในชุมชนมีเป็นจำนวนมาก และต้องให้รู้ผลโดยเร็วภายใน3-7วัน เพื่อมาเป็นสารทางเลือกให้กับเกษตรกร รวมทั้งควรเปิดโอกาส ผู้ประกอบการ ผู้คิดค้น ที่มีสารทดแทน ใครมีของดี นำมาเข้าสู่ขั้นตอนทางวิชาการ และกรมวิชาการเกษตร ต้องบอกมาว่าไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพราะอะไรใน 3-7วัน หากเครื่องมือตรวจสอบไม่พอ ตนจะขอให้เอกชน มาช่วยเพื่อการทดสอบจะได้รวดเร็วขึ้น เพราะชาวไร่ ชาวนา ต้องมีทางเลือกให้เขาโดยไม่กระทบต้นทุน ซึ่งตนเห็นว่าโครงการหลวง ทั่วประเทศ มีสารอินทรีย์ สูตรกำจัดวัชพืช แมลง ที่เกษตรกรสามารถทำได้เอง ให้หน่วยงานเข้าไปดู นำมาขึ้นทะเบียนโดยเร็วเพื่อให้นำทำเองใช้ได้อย่างแพร่หลาย ทั้งมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเกษตรกรอีกด้วย

ก.พาณิชย์-ก.เกษตรฯ ชูวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”

People Unity News : พาณิชย์-เกษตรฯ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนําการผลิต ณ กระทรวงพาณิชย์ (สนามบินนํ้า) โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มจีดีพีประเทศ และเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการ พร้อมร่วมกันสร้าง Single Big Data โดยใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน สร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” สร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับ มุ่งพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรถือเป็นรากฐานของประเทศและมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรอย่างเป็นระบบ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรไทยสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายได้อย่างเหมาะสม มีการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังคำนึงถึงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินนโยบายและมาตรการที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” ควบคู่กับการทำเกษตรสมัยใหม่ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและล้นตลาด นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินนโยบายสนับสนุนในด้านอื่นๆ อาทิ การบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากภัยแล้งและอุทกภัย การส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย เช่น สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรอง GAP การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและบริการที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง เช่น สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรพรีเมี่ยม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผ่านระบบเกษตรแปลงใหญ่ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ในทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาเกษตรกรเป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่มีความเข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน มีศักยภาพในการบริหารจัดการการผลิตอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ผ่านตลาดออนไลน์ ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center หรือ NABC) และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritechand Innovation Center หรือ AIC) เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและพี่น้องเกษตรกรสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตและการตลาด รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม และเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะและเกษตรสมัยใหม่

“ภาคเกษตรของไทยถือเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะสนับสนุนการผลิต ควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งสินค้าเกษตรทั่วไป สินค้าที่ได้มาตรฐาน และสินค้าพรีเมี่ยม ให้ตรงตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม การพัฒนาภาคเกษตรของประเทศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และเกษตรกร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นให้เกิดการปรับตัว เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพต่อไป” นายเฉลิมชัย กล่าว

Advertising

“พิพัฒน์” บรรเจิดไอเดียเตรียมแผน travel bubble เสนอ ศบค. 17 มิ.ย.นี้ฟื้นท่องเที่ยวไทย

People Unity News : 4 กระทรวง เตรียมแผน travel bubble เสนอ ศบค. 17 มิ.ย. “พิพัฒน์” มั่นใจไทยมีศักยภาพท่องเที่ยว-สาธารณสุข

14 มิ.ย. 2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา มั่นใจในศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ของไทย จึงได้ผลักดัน travel bubble หรือ การจับคู่ประเทศ เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีด้านการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ทั่วโลกกำลังหันมาสนใจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆประเทศเริ่มดีขึ้น โดยล่าสุดที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นของการหารือระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาข้อสรุปในแนวทางการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเจรจากับประเทศกลุ่มเป้าหมาย ข้อปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาด ก่อนเสนอ ศบค. พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย.นี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า อย่างที่ทราบว่าเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงหวังให้ travel bubble เป็นจุดเริ่มต้นในการรองรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย โดยไทยมีจุดแข็งในการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ระยะแรกจะเปิดรับกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาลในไทย คาดว่าจะชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณวันละ 1,000 คน ซึ่งเมื่อดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง แล้วพบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ก็จะพิจารณาให้นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆเข้ามาตามลำดับ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแนวทาง travel bubble จะไม่มีการกักตัว 14 วัน แต่มีมาตรการอื่นรองรับ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย โดยเริ่มจากการเลือกประเทศกลุ่มเป้าหมายที่มีความปลอดภัย สามารถควบคุมโรคได้ดี ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทางและตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงไทย อาจกำหนดพื้นที่ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปได้ มีการติดตามตัวผ่านแอพพลิเคชันตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย ฯลฯ ที่สำคัญชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยนั้น ล้วนมาจากประเทศที่มีความสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดีเท่าๆกัน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง แม้เจอสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็สามารถรับมือได้เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าด้วยศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและความสามารถด้านสาธารณสุขของไทย จะกระตุ้นให้ชาวต่างชาติมองเป็นจุดแข็งของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น และการท่องเที่ยวจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกเริ่มดีขึ้น

Advertising

“CKPower”โตต่อเนื่อง! ไซยะบุรีพร้อมขายไฟ 1,220 เมกะวัตต์ให้ไทยตามกำหนด

People Unity News : “CKPower”โตต่อเนื่อง! ไซยะบุรีพร้อมขายไฟ 1,220 เมกะวัตต์ตามกำหนด เสริมเสถียรภาพพลังงานสะอาดให้ไทยแล้ว 29 ต.ค.นี้ ผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงินเตรียมยิ้มรับรายได้ก้อนโต หลังทุ่มเงินลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท ก่อสร้าง 8 ปี ตอบโจทย์การใช้งานพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของไทย

วันที่ 29 ตุลาคม 2562 นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ คือ “CKP” ผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สปป. ลาว เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป บริษัทฯ จะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าครบทั้ง 7 เครื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ไซยะบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเป็นทางการ ภายหลังจาก กฟผ.ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมของโรงไฟฟ้าไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยกฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีในราคาเฉลี่ยประมาณ 2 บาท ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสปป.ลาว เข้าทาง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีก 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ เพื่อใช้ภายในสปป.ลาว

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่รัฐบาลสปป. ลาว ให้แก่บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CKPower มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River) แห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว มีมูลค่าโครงการทั้งสิ้นรวม 135,000 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 รวมระยะเวลา 8 ปี

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทยอยทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเริ่มขายไฟฟ้าอย่างไม่เป็นทางการจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกให้ กฟผ.เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักทั้ง 7 เครื่อง ต้องผ่านการทดสอบจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ. ด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด ทั้งการทดสอบสมรรถนะการเดินเครื่องแยกเป็นเครื่องๆ (Individual Test) และทดสอบเดินเครื่องพร้อมกันเป็นชุด (Joint Test) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สามารถทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักที่มีเสถียรภาพสูง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน (Daily Peaking) รวมถึงสามารถทำหน้าที่รองรับสภาวะฉุกเฉิน กรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บริเวณข้างเคียงเกิดขัดข้อง

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า CKPower ในฐานะผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยบริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มเติมกว่า 19,400 ล้านบาท เพื่อศึกษา พัฒนา และเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อธรรมชาติและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมูลค่าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นประวัติการณ์ มีความทันสมัย ด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำมีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย และที่สำคัญเป็นการศึกษาและพัฒนาให้เหมาะกับพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด จึงถือว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรมปลาในลุ่มแม่น้ำโขงที่ต่อเนื่องและมีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในขณะนี้

“CKPower ในฐานะผู้พัฒนาและบริหารโครงการและโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ขอแสดงความขอบคุณรัฐบาล สปป.ลาว รวมทั้งรัฐบาลไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว องค์กร หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ที่ให้ความเชื่อมั่นในการเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สามารถส่งไฟฟ้าสะอาดให้แก่ประเทศไทยและ สปป.ลาว ได้ตรงตามกำหนด บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจบนสมดุลระหว่างผลตอบแทนและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน” นายธนวัฒน์ กล่าว

ข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี : ทุนจดทะเบียน 790,000,000 เหรียญสหรัฐ ผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CK Power Public Company Limited) 37.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (Natee Synergy Company Limited) 25% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos) 20% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (Electricity Generating Company Limited) 12.50% และ บริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) (PT Sole Company Limited) 5%

ข้อมูลเกี่ยวกับ CKPower : บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์

ออมสิน จับมือ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รับขึ้นเงินรางวัลสลากฯ เริ่มงวดแรก 16 พ.ค.นี้

People Unity News : ธนาคารออมสิน ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้บริการรับขึ้นเงินรางวัลสลากฯ ให้กับประชาชนและผู้รับซื้อ ทุกรางวัล ยกเว้นรางวัลที่ 1 คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ผ่านธนาคารออมสิน 1,062 สาขาทั่วประเทศ เริ่มงวดแรก 16 พฤษภาคมนี้

วันนี้ (27 มีนาคม 2563) ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานกรรมการธนาคารออมสิน และประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการขึ้นรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ระหว่าง ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งธนาคารออมสินจะเป็นตัวแทนในการให้บริการรับขึ้นเงินรางวัล ผ่านธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถูกรางวัลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารฯพร้อมเป็นตัวแทนสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในการให้บริการรับขึ้นเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ผ่านช่องทางธนาคารออมสินสาขาทั่วประเทศ ที่มีอยู่กว่า 1,062 แห่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนผู้ถูกรางวัล และผู้รับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล/สลากการกุศล สามารถขึ้นเงินรางวัลได้ง่าย และสะดวกสบายขึ้น นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยสูง เพราะสามารถฝากเงินเข้าบัญชี เพื่อทำธุรกรรมอื่นๆของธนาคารได้ทันที รวมถึงสาขาของธนาคารออมสินทุกแห่ง สามารถตรวจสอบสลากฯด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันปัญหาการปลอมแปลง

ทั้งนี้ การขอรับขึ้นเงินรางวัล ผู้ถูกรางวัลจะต้องนำสลากกินแบ่งรัฐบาล/สลากการกุศล ฉบับจริง มาติดต่อด้วยตนเองที่ธนาคารออมสินสาขา โดยธนาคารจะรับขึ้นเงินทุกรางวัล ยกเว้นรางวัลที่ 1 และรับเฉพาะสลากงวดปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งสามารถขึ้นรางวัลได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันออกรางวัลในงวดนั้น ไปจนถึงเวลา 12.00 น. ของวันออกรางวัลในงวดถัดไป โดยจะคิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1 ของมูลค่ารางวัลแต่ละรางวัล และค่าอากรแสตมป์ ร้อยละ 0.5 – 1.0 ของมูลค่ารางวัล ตามประเภทของสลาก รวมเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.5 – 2.0 ของมูลค่ารางวัล ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการขึ้นรางวัลสลากฯ ได้ตั้งแต่งวดแรกวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ตามสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสินทุกช่องทาง ได้แก่ Website : www.gsb.or.th, Line Official, Facebook : GSB Society หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ธนาคารออมสิน Call Center โทร.1115

พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สำนักงานสลากฯ มีตัวแทนให้บริการรับขึ้นเงินรางวัล ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย จากเดิมสามารถขึ้นเงินรางวัลได้ที่สำนักงานสลากฯ ถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี เพียงแห่งเดียว หรือตามแผงลอตเตอรี่และร้านค้าบางแห่ง ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมสูงถึงร้อยละ 2-5 สำหรับความร่วมมือนี้ในครั้งนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถูกรางวัลมีทางเลือกมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียมที่ถูกเรียกเก็บเมื่อนำสลากไปขึ้นเงินรางวัลที่แผงลอตเตอรี่หรือร้านค้าบางแห่ง และสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการนำสลากฯปลอมมาขึ้นเงินรางวัลได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากสาขาของธนาคารออมสินมีมาตรฐานในการตรวจสอบสลากฯที่ดี มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย และมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดี

โฆษณา

“อุตตม”ทอดกฐินสามัคคีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนพระปริยัติธรรมดอยสะเก็ด

People Unity News : กระทรวงการคลังทอดกฐินสามัคคีและวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ที่วัดสันปูเลยสะหลีเวียงแก้ว อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ที่พระครูบาน้อย เขมปัญโญ เป็นเจ้าอาส ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานพิธีทอดกฐินสามัคคีและพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม โดยมีนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยส่วนราชการภาคเอกชนและประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

ทั้งนี้เพื่อจัดหาทุนทรัพย์ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดสันปูเลยสะหลีเวียงแก้วและเพื่อเป็นที่ศึกษาในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีของพระภิกษุสามเณรประจำคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่

Cr.https://region3.prd.go.th/prcm/cmnews.php?ID=191102122546&fbclid=IwAR1CRXHeeT_aznZTimnJ2zOktTK6TBzRRUulTZLUb4XEh5g8TXAIZSPfm54

“จุรินทร์” จับคู่ธุรกิจสินค้าผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปมูลค่าเกือบ 7,000 ล้าน

People Unity News : “จุรินทร์” รุกหนักนำกระทรวงพาณิชย์ลุยจับคู่ธุรกิจสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป มูลค่าเกือบ 7,000 ล้าน

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เวลา 9.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา ลาดพร้าว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานสักขีพยาน การทำข้อตกลง MOU ในงานการจับคู่ธุรกิจ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและใช้เวทีการเจรจาการค้าโครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป เบื้องต้นมูลค่าการเจรจาจากการจัดโครงการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป คิดเป็นจำนวน 232.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6,980 ล้านบาท

แบ่งเป็น 1.มูลค่าการเจรจาจากการลงนาม MOU ระหว่างบริษัทไทย และคู่ค้าต่างประเทศได้แก่ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีน และอินเดีย จำนวน 14 ฉบับ มูลค่าการซื้อขายคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 138.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,160 ล้านบาท ประกอบด้วย สินค้าข้าว (ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอม ข้าวขาว ข้าวเหนียว) ปริมาณรวม 145,000 ตัน ภายในหนึ่งปี สินค้าผลไม้อบแห้ง มะพร้าวอบแห้ง มะม่วงอบแห้ง 500 ตู้ ภายในห้าปี สินค้ามะขามหวาน 20 ตู้ ภายในหนึ่งปี การลงนาม MOU ข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับ Bigbasket.com (บริษัท Supermarket Grocery Supplies Pvt. Ltd.) 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือประมาณ 150 ล้านบาท) ภายในสองปี และมูลค่าคาดการณ์การค้าภายในงานเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) คิดเป็นจำนวน 94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,820 ล้านบาท

หลังจากนั้นในช่วงการเป็นประธานเปิดโครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป นายจุรินทร์ กล่าวว่า  วันนี้ถือว่าเป็นวันพิเศษอีกวันหนึ่งของประเทศไทยที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีโอกาสจัดให้มีการพบปะกันระหว่างผู้ส่งออกของไทยและผู้นำเข้าจากประเทศต่างๆที่มาจากทั้งประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาเซียน ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป อเมริกา และแอฟริกา รวมทั้งสิ้น 176 บริษัท ขณะเดียวกันก็มีบริษัทจากประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกมารวมกันอยู่ในที่นี้รวมทั้งสิ้น 150 บริษัท เพื่อเจรจาทำธุรกิจกัน ก่อให้เกิดการซื้อขายระหว่างกันที่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขส่งออกของประเทศไทยได้ในทันที

“โดยสินค้าที่จะนำมาใช้ในการเจรจาซื้อขายกันในที่ประชุมแห่งนี้ประกอบด้วยสินค้าทั้งหมด 5 หมวด ซึ่งจะมุ่งเน้นสินค้าทางการเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูป ประกอบด้วยยางพารา มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าระหว่างประเทศ ที่ได้จัดให้มีการเจรจาพบปะระหว่างผู้นำเข้าและผู้ประกอบการไทยที่เกิดขึ้นในวันนี้ ขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับผู้ส่งออกไทยที่จะช่วยกันนำตัวเลขการส่งออกให้กับประเทศไทยได้ต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

โฆษณา

ครม.เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. เพิ่มทุนเป็น 8 หมื่นล้าน ส่งผลให้ปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้ถึง 2.4 แสนล้าน

People Unity News : ครม.มีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นชอบการเพิ่มทุนเรือนหุ้นของ ธ.ก.ส. จากเดิม 60,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินภารกิจเป็นธนาคารพัฒนาชนบท ให้สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายของภาครัฐตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นชอบการเพิ่มทุนเรือนหุ้นของ ธ.ก.ส. จากเดิม 60,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินภารกิจเป็นธนาคารพัฒนาชนบท ให้สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายของภาครัฐตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขยายงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ทั้งด้านการอำนวยสินเชื่อ และการทำงานในท้องถิ่นร่วมกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งให้ความสำคัญต่อการดูแลเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และขับเคลื่อนประเทศในระยะต่อไป

ความมั่นคงทางการเงินของ ธ.ก.ส. ที่แข็งแกร่งขึ้นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ ธ.ก.ส. สามารถผลักดันภารกิจได้อย่างเต็มศักยภาพตามภารกิจหลักในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคเกษตรของไทย รวมถึงการเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและขยายบทบาทของ ธ.ก.ส. ให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างครบวงจรมากขึ้น ทั้งด้านการอำนวยสินเชื่อและการทำงานร่วมกับเครือข่าย เช่น การส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่หรือ Smart Farmer การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (Small and Medium Agriculture Enterprises : SMAEs) วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินประชาชน และสหกรณ์การเกษตร การนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลิตผล แปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและร้านค้าชุมชน ตลอดจนสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจแนวใหม่โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงการดูแลให้ความช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางเมื่อเกิดเหตุภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ

การเพิ่มทุนในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ ธ.ก.ส. สามารถขยายบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม โดยจะทำให้ ธ.ก.ส. สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 12 เท่าของทุนที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อที่สามารถเพิ่มขึ้น 2.4 แสนล้านบาท ส่งผลให้มีเกษตรกรมีเงินทุนเพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งขึ้น และกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตรให้ขยายตัวสูงขึ้น

โฆษณา

สรรพากรขยายเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ ต่อต้านการเลี่ยงภาษีข้ามชาติ

People Unity News : ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงแบบพหุภาคี Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters หรือ MAC กับกว่า 130 ประเทศ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสทางภาษี สร้างความเป็นธรรมในการบริหารจัดเก็บภาษี และต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ  ซึ่งเป็นไปตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในฐานะผู้รับมอบอำนาจเต็มเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมพิธีลงนาม

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “MAC นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยจัดเก็บภาษีทั่วโลกบูรณาการความร่วมมือกันตามกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และกลุ่ม G20 เรื่อง Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (Inclusive Framework on BEPS) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการโยกย้ายฐานภาษีของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ และกรอบความร่วมมือ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) ที่กำหนดมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศทุกรูปแบบ เพื่อให้หน่วยจัดเก็บภาษีได้ใช้ประโยชน์สูงสุด จากข้อมูลที่ผ่านช่องทางการแลกเปลี่ยนภายใต้ความตกลง MAC ทั้งนี้ การเข้าร่วม MAC ของประเทศไทยเป็นการขยายเครือข่ายคู่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษี จากเดิม 60  คู่สัญญาภายใต้ความตกลงแบบทวิภาคี เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Tax Agreement : DTA) เป็นกว่า 130 ประเทศภายใต้ความตกลง MAC และแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับนานาประเทศ”

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างนำร่างความตกลง MAC ที่ได้ลงนามแล้วเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับต่อไป โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้ความตกลง MAC จะส่งผลให้กรมสรรพากรมีข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความเสี่ยงทางภาษีของผู้ประกอบการข้ามชาติ สนับสนุนการใช้บังคับกฎหมายของกรมสรรพากรในการส่งเสริมความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เช่น กฎหมาย e-Service ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ และขยายฐานภาษีที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

Advertising

Verified by ExactMetrics