วันที่ 27 เมษายน 2024

“จุรินทร์”กระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน ติดตามการซื้อ-ขายยางพารา

People Unity : “จุรินทร์”กระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน หารือความร่วมมือพร้อมติดตามการซื้อ-ขายยางพาราไทย

วันที่ 18 ตุลาคม 2562 เวลา 14.00 น. นายหาน ฉางฟู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทสาธารณรัฐประชาชนจีนและคณะ ได้เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยเบื้องต้นมีการหารือด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านกลไกความร่วมมือด้านการเกษตรทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี การแรกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและการอบรมบุคลากรรวมทั้งความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน ซึ่งโอกาสนี้หลังจากการคารวะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้วทางคณะจะได้ไปพบปะแลกเปลี่ยนในเชิงรายละเอียดกับนายเฉลิมชัยศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในช่วงเย็นวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ต่อไป

นายหาน ฉางฟู่ กล่าวว่า ทางการจีนเน้นว่าการมาเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันเป็นประโยชน์ของทั้งสองประเทศพร้อมทั้งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์และผักดันให้เกิดความร่วมมือที่ดีขึ้นทางด้านการเกษตรระหว่างไทยและจีนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม นายหานระบุด้วยว่ากระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงเกษตรของประเทศต่างไทยภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเกษตรไทยจีนซึ่งประชุมร่วมกันมาแล้ว 11 ครั้ง รวมทั้งความร่วมมือด้านอาหารและการเกษตรจีน-อาเซียน และความร่วมมือด้านการเกษตรภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งทั้งสองคนไกลนี้ประเทศไทยมีความสำคัญมาก

รายงานข่าวแจ้งว่า นายจุรินทร์ ได้แสดงความขอบคุณและชื่นชมประเทศจีนในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศจีนซึ่งประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาระดับโลกทั้งนี้ไทยเองก็จะได้เรียนรู้เนื่องจากทางการจีนมีความสำเร็จทั้งวิธีการที่ชัดเจน มีกระบวนการแก้ และผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะได้มีการนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับไทยอย่างไรต่อไป

ในช่วงท้ายของการหารือ นายจุรินทร์ ยังได้ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯของจีน ช่วยติดตามอีกแรงกรณีพันธะสัญญาที่ทางจีนจะซื้อยางพาราจากทางการยางแห่งประเทศไทยเกือบ 200,000 ตัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้หารือไประดับหนึ่งแล้วภายใต้ กรอบความร่วมมือ( ตามโครงการ One Belt One Road ) ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาราคายาวพาราตกต่ำในประเทศไทย และต้องการช่วยเกษตรกรชาวสวนยางเร่งด่วน ซึ่งนายหาน ฉางฟู่ ได้รับปากจะนำไปติดตามกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป

“บิ๊กตู่” ตั้งเป้าปี 61 รายได้ท่องเที่ยว 3 ล้านๆบาท แนะทุกจังหวัดพัฒนาจุดขายท่องเที่ยว

People unity news online : เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยในปี 2561 ว่า รัฐบาลตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2560 อีกร้อยละ 10 หรือคิดเป็นตัวเลขประมาณ 3.03 ล้านล้านบาท โดยยังคงเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่มุ่งให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาพำนักอยู่ในประเทศไทยนานขึ้นผ่านมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งอาศัยแรงเสริมจากผลสำรวจของต่างประเทศที่จัดอันดับให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถใช้เวลาท่องเที่ยวระยะยาวแต่คุ้มค่ามากที่สุดโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ช่วยผลักดันให้สำเร็จผลมากยิ่งขึ้น

“ปี 2561 จะเป็นปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน หรือ Amazing Thailand year 2018 โดยรัฐบาลขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และสายการบิน ร่วมกันจัดกิจกรรม และใช้ตราสัญลักษณ์ประชาสัมพันธ์การจัดงาน รวมถึงมอบสินค้าและบริการราคาพิเศษ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว”

นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า กรอบเวลาของปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.60 – 1 ม.ค.62 โดยสาเหตุที่เริ่มต้นในช่วงปลายปีนี้นั้นเพราะจะมีงานสำคัญระดับโลกเกิดขึ้นในไทย คือ การสวนสนามทางเรือนานาชาติของกองทัพอาเซียนและนอกอาเซียน รวมกว่า 30 ประเทศ ในวันที่ 18 พ.ย.60 ณ อ่าวพัทยา และการแข่งขันเครื่องบิน Air Race 1 Thailand ซึ่งเป็นการแข่งขันเครื่องบินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของเอเชีย

“นายกฯอยากให้ทุกจังหวัดดึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ไม่ว่าจะในแง่ของภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ออกมาเป็นจุดขาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เป็นทางเลือกในการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกลุ่มจังหวัด ภาค ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าว

People unity news online : post 11 กันยายน 2560 เวลา 13.25 น.

ออมสินเปิดให้ผู้ใช้ MyMo รายใหม่ยื่นกู้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ได้ 6 มิ.ย.นี้

People Unity News : ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเผยยอดผู้กู้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ช่วยรายย่อย อนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 430,000 ราย เตรียมขยายให้ผู้ใช้ MyMo รายใหม่ยื่นกู้ได้ 6 มิ.ย.นี้

2 มิ.ย.64 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อตามมาตรการ “สินเชื่อสู้ภัย COVID-19” วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามีประชาชนให้ความสนใจยื่นกู้เป็นจำนวนมาก โดยธนาคารฯ ได้อนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้าแล้วเป็นจำนวนกว่า 430,000 ราย ทั้งนี้ ร้อยละ 95 ของจำนวนที่อนุมัติดังกล่าว เป็นการอนุมัติโดยเกณฑ์ผ่อนปรน ซึ่งไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ในกรณีปกติ จึงต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนธนาคารในการจัดทำมาตรการครั้งนี้

สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ กล่าวคือไม่ผ่านเกณฑ์ผ่อนปรนนั้น สาเหตุหลักเกิดจากผลการประเมินความเสี่ยงโดยหน่วยงานภายนอก ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ทั้งนี้ หากลูกค้ายังมีความจำเป็นที่ต้องการสินเชื่อ อาจเลือกใช้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่ปัจจุบันธนาคารออมสิน ร่วมกับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ เหลือเพียง 0.49% ต่อเดือนตลอดอายุสัญญา ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าโครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ไม่มากนัก ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อนี้ได้ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ธนาคารออมสิน 550 สาขา

อนึ่ง ธนาคารฯ ได้ปรับหลักเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 โดยให้ผู้ที่เปิดใช้ MyMo ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2564 สามารถกดลงทะเบียนยื่นขอกู้ได้ ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป (ปรับจากเดิมที่กำหนดไว้เป็นก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2564) เพื่อขยายขอบเขตความช่วยเหลือครอบคลุมประชาชนที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อนี้ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ขอกู้จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือ มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปี – 70 ปี และไม่เป็นเกษตรกร หรือข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ โดยธนาคารฯเปิดให้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ได้ทางแอป MyMo จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ

Advertising

“สมคิด”เรียกหน่วยงานสังกัดก.คลังถกรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว

People Unity News : “สมคิด”เรียกหน่วยงานสังกัดก.คลังถกรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว โอ่ไทยเนื้อหอมนักลงทุนต่างชาติเตรียมแห่เข้าลงทุนเพียบ ขณะที่”อุตตม”ยันไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคลัง กล่าวว่า นักลงทุนรายใหญ่ทยอยติดต่อเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง (CCPIT) นำกลุ่มนักลงทุนมณฑลกวางตุ้งของจีนเข้ามาขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยังมีกลุ่มผู้บริหารไมโครซอร์ฟและอเมซอน ยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลของสหรัฐ รวมทั้งประธานสภาธุรกิจอังกฤษ-อาเซียน และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ( JBIC) นับว่าต่างชาติแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยสูงมาก

“จึงขอให้กระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกต่อการเข้ามาขยายการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะต่างชาติยังทยอยเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แสดงว่าไทยยังมีโอกาสสูงมาก เพราะความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทย มองเห็นแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ได้กังวลเรื่องปัจจัยเสี่ยง แม้ว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงเตือนระวังการลงทุนในภูมิภาคต่างๆ จากสภาเศรษฐกิจโลก” นายสมคิด กล่าววและว่า

จึงหารือกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง เพื่อประเมินสถานภาพเศรษฐกิจไทยทุกด้านเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมมาตรการออกมารองรับในช่วงเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ยอมรับว่าแรงซื้อสินค้าและการบริโภคด้านต่างๆ ของไทยเริ่มดีขึ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลโครงการชิมช้อปใช้เริ่มส่งผลออกมาในช่วงไตรมาส 3 จึงเป็นสัญญาณที่ดีและน่าพอใจ ยอมรับว่าการส่งออกน่าเป็นห่วง เพราะกำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง จึงหวังรายได้จากการส่งออกยากขึ้น และสั่งเข้มงวดการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมจัดเก็บรายได้หลักให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต แต่ต้องไม่บั่นทอนการบริโภคของประชาชน ส่วนคำสั่งนายกรัฐมนตรีเปิดทางให้นำเงินสำนักงานประกันสังคมออกมาปล่อยกู้เพื่อการลงทุนนั้น เป็นเรื่องพิจารณาในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูว่าเงินกองทุนเหล่านี้ควรนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ต้องนำใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัยไม่กระทบต่อฐานะหรือสมาชิกกองทุน สปสช.

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องดูแลเศรษฐกิจภาพรวม เพื่อพิจารณาว่ามีมาตรการที่เหมาะสม และช่วงเวลาจำเป็น เพื่อออกมาดูแลเศรษฐกิจขณะนี้ การจัดสรรงบประมาณปี 2563 จะเริ่มใช้จ่ายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 มาตรการแต่ละด้านต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าใช้งบประมาณ โดยเริ่มทำมาแล้วไม่ได้รองบปี 63 เพราะได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

การเสนอข่าวช่วงนี้มีความเปราะบาง อยากให้ระมัดระวัง เพราะหากกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศจะไม่เกิด การบริโภคไม่เกิดขึ้น หากเศรษฐกิจไทยไม่ย่ำแย่ตามที่เป็นข่าว แม้ได้รับผลกระทบจากการค้าโลก ต้องช่วยกันฟันฝ่าไปให้ได้ ประเทศอื่นแย่กว่าไทย เพราะข่าวที่ออกไม่ใช่ครบถ้วน ไม่ใช่ข่าวจริง หากข้อมูลใดออกมาไม่ชัดเจน ขออย่าสรุปตามข้อมูลดังกล่าว จึงขอให้ระมัดระวัง เพราะไทยไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่ในระยะสั้น ทั้งปัญหาหนี้เสีย เพราะไทยผ่านปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว ทั้งหนี้เสียสูง ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงเกินจริง เก็งกำไร แต่ปัจจุบันไม่มีสัญญาณดังกล่าว ต่างชาติยังรับรู้ จึงทยอยเข้ามาขยายการลงทุน” นายสมคิด กล่าว

สำหรับข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) จัดอันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจทั่วโลกปี 2562 นั้น เป็นการสอบถามภาคเอกชน เพื่อขอความเป็นต่อการเข้ามาลงทุนในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อประเมินว่าทั้งโลกมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง 30 ปัจจัย จึงสำรวจความเห็นนักธุรกิจแต่ละประเทศ เพื่อให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยง 30 ประการต้องให้ความสำคัญ ในส่วนของไทยเอกชนให้ความเห็น 5 ด้าน ต้องให้ความระวัง คือ เศรษฐกิจฟองสบู่ ไม่ได้หมายความว่าไทยมีความเสี่ยงสูงสุด เพราะคำถาม คือ ในช่วง 10 ปีข้างหน้าควรระมัดระวังปัจจัยอะไร ไม่ใช่ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจมีสภาพอย่างไร

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า การโจมตีทางไซเบอร์ เรื่อง Governance แปลบอกว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งเป็นการแปลความผิดเพี้ยน จึงพาดหัวว่า “สภาธุรกิจไทยระบุว่าไทยมีความเสี่ยงที่สุด” นับว่าเป็นคนละเรื่องกัน ผลจึงเกิดกับประเทศไทยสูงมาก จึงขอให้ระวังการนำเสนอข้อมูล เพราะประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นเจอหนักกว่าไทย ทั้งการว่างงาน เรื่อง Governance เรื่องฟองสบู่ หนักกว่าไทย แต่กลับมาทำให้ไทยดูแย่มากกว่าประเทศอื่น ดังนั้น ในสภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดีต้องเสนอข้อมูลอย่างระมัดระวัง การแถลงข้อมูลต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ควรแปลผิดแปลถูก จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความระมัดระวัง

รมว.สุชาติ เร่งแก้ปัญหาการว่างงาน ประเดิมจ้างงานในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด 40,951 อัตรา

สุชาติ ชมกลิ่น

People Unity News : รมว.แรงงาน เร่งขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาว่างงาน มุ่งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เดินหน้าจ้างงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 คลี่คลาย กว่า 40,951 อัตรา มุ่งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังโรงงานปิดตัวเป็นจำนวนมาก แนะเด็กไทยเลือกเรียนสายอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องตลาดแรงงาน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานที่เกิดกับพี่น้องแรงงานในทุกภาคส่วนของประเทศไทย ซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แม้กระทั่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องเผชิญกับสภาวะดังกล่าว ซึ่งกรมการจัดหางานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งหามาตรการเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้ประชาชนได้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงานเศรษฐกิจและสังคม  โดยเร่งเตรียมตำแหน่งงานว่าง พร้อมร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง อบรมยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการในการจูงใจนักลงทุนให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC  โดยเฉพาะการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมใหม่

“ขณะนี้ สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศได้คลี่คลายลง กรมการจัดหางานมีแนวคิดจะกระตุ้น การจ้างงานในพื้นที่ EEC ทันที ซึ่งจะสอดรับการเป็นพื้นที่การลงทุนของรัฐบาล ที่ดึงให้นักลงทุนมาประกอบกิจการเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ในพื้นที่ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยประเภทงานที่ EEC มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานด้านการผลิตอื่นๆ แรงงานทั่วไป 12,706  อัตรา 2.พนักงานรักษาความปลอดภัย 11,437 อัตรา  3.พนักงานบริการอื่นๆ 1,807 อัตรา 4.ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับอื่นๆ 1,186 อัตรา 5.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ 872 อัตรา 6.ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า 826 อัตรา  7.ช่างเทคนิควิศวกรรมโยธา (ก่อสร้าง) 618 อัตรา 8.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 609 อัตรา 9.เจ้าหน้าที่เทคนิคเคมี ช่างเทคนิค (อินทรีย์เคมี ยาง พลาสติก โพลิเมอร์ สี กระดาษ น้ำมัน เส้นใย อาหารและเครื่องดื่ม) 604 อัตรา 10.เจ้าหน้าที่การตลาด 516 อัตรา และอื่นๆ (ช่างเทคนิควิศวกรรมเครื่องกลอื่นๆ แม่บ้านและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า ฯลฯ) 9,770 อัตรา โดยแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ EEC มีทุกระดับตั้งแต่แรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือ และไร้ฝีมือ ซึ่งมีความต้องการครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงปริญญาตรี ขึ้นไป” นายสุชาติ กล่าว

Advertising

มท.1 ย้ำมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ

People Unity : มท.1 ย้ำชัดมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้ ปชช.

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2562 เวลา 13.00 น. ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารอิมแพ็คฟอรัม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายและบรรยายพิเศษ เรื่อง “กระทรวงมหาดไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังกว่า 1,000 คน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นกลไกของรัฐบาล เนื่องจากมีโครงสร้างในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ท้องถิ่น ท้องที่ และส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ ดังนั้น ทุกกระทรวงที่จะดำเนินนโยบายในระดับพื้นที่จะต้องผ่านโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งสิ้น ดังนั้น บทบาทของพัฒนากรจังหวัด อำเภอ จะต้องพัฒนาชุมชนในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ฯลฯ จึงถือว่านักพัฒนากรคือมือไม้ของรัฐบาลในส่วนภูมิภาค

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งในด้านเศรษฐกิจฐานรากนั้นได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และหลักประชารัฐคือ การมีส่วนร่วมของรัฐ เอกชน และประชาชน เป็นรากฐานในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ดังนั้น นโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกรมการพัฒนาชุมชน ต้องทำทั้งในส่วนของอำนาจหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน และช่วยสนับสนุนงานของรัฐบาลและกระทรวงอื่นๆที่ลงไปในพื้นที่ด้วย เช่น การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ OTOP และช่องทางจำหน่าย การขับเคลื่อนหมู่บ้านชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาตลาดประชารัฐให้เป็นตลาดที่สะอาดและปลอดภัย ผ่านการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โครงการตลาดประชารัฐ และการขับเคลื่อนภาคประชารัฐ (SE) หรือนโยบายของรัฐบาล เช่น การให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจัดการกองทุนต่างๆในพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และยั่งยืน การป้องกันและแก้ไขยาเสพติด เป็นต้น

ท้ายสุด พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เน้นย้ำว่า ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงมหาดไทย คือ ต้องสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระจายรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก  ตรงตามความต้องการของประชาชนและสภาพปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

เศรษฐกิจ : มท.1 ย้ำมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ

People Unity : post 18 สิงหาคม 2562 เวลา 13.30 น.

ธอส.ขยายเวลาช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปจนถึง 31 ม.ค.64

People Unity News : ธอส.เปิดให้ลูกค้าเดิมที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยื่นคำขอลงทะเบียนเข้ามาตรการระยะที่ 2 ผ่าน APP GHB ALL ระหว่าง 2 – 29 ต.ค. 63

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศให้ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ และยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการระยะที่ 2 โดยขยายระยะเวลาความช่วยเหลือไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 รวม 4 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท มาตรการที่ 3 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 3.90% ต่อปี มาตรการที่ 8 และมาตรการที่ 8.5 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน เปิดให้ลงทะเบียนผ่าน APP GHB ALL ในวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 15.00น. เป็นต้นไป จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 20.00 น.

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าธนาคาร ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้มีมติตามที่ฝ่ายจัดการเสนออนุมัติให้ ธอส. ขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 เฉพาะลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการที่ 1, มาตรการที่ 3, มาตรการที่ 8 และมาตรการที่ 8.5 และรายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ ลูกค้าเดิมที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถแจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการขยายความช่วยเหลือ ระยะที่ 2 ได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 20.00 น. พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันว่ายังมีผลกระทบทางรายได้จริงให้ธนาคารพิจารณา อาทิ สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย และ Statement เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

Advertising

เปิดค่าใช้จ่ายไปทำงานซาอุฯ จัดส่งโดยรัฐ คนละ 32,800 บาท

People Unity News : 14 เม.ย. 65 คืบหน้า! รัฐบาลเตรียมส่ง “แรงงานไทยกลุ่มแรก” ไปทำงานซาอุดีฯ ภายใน 3 เดือน หลังลงนาม MOU ผู้สนใจไปทำงานต่างประเทศ โทร.สายด่วน 1506 กด 2

สืบเนื่องจากรัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงาน กับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ข้อตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงาน และ 2.ข้อตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานทำงานบ้าน เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด มีข่าวดี นายจ้างซาอุดีฯ ได้แจ้งความต้องการตำแหน่งงาน, เงื่อนไขการจ้างงานและคุณสมบัติของแรงงาน มายังกระทรวงแรงงานแล้ว โดยกรมการจัดหางานจะคัดเลือกคนหางานจากศูนย์ทะเบียนคนหางาน ที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้เป็นลำดับแรก

หากคนหางานในศูนย์ทะเบียนฯ ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของนายจ้าง จะดำเนินการประกาศรับสมัครต่อไป และจะเร่งส่ง “แรงงานกลุ่มแรก” ภายใน 3 เดือนหลังลงนาม MOU

ทั้งนี้ กรมการจัดหางานได้แจงค่าใช้จ่ายการเดินทางไปทำงาน กรณีจัดส่งโดยรัฐ ประมาณ 32,800 บาท ดังนี้

✅ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 20,000 บาท

✅ค่าธรรมเนียมการยื่นขอวีซ่าแบบเข้าออกครั้งเดียว 6,000 บาท

✅ค่าหนังสือเดินทาง 1,500 บาท

✅ค่าตรวจสุขภาพ 2,300 บาท

✅ค่าตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประมาณ 1,000 บาท

✅ค่าประกันสุขภาพโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประมาณ 1,000 บาท

✅ค่าทดสอบฝีมือแรงงาน 500 บาท

✅ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม 100 บาท

✅ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 400 บาท

ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 กด 2 หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ toea.doe.go.th (ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ)

Advertisement

จัดเต็ม!ครม.ออกมาตรการทั้งเร่งด่วนและระยะที่ 2 เยียวยาประชาชน พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจ

People Unity News : ครม. ไฟเขียว มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ลดค่าประปา-ไฟฟ้า พร้อมเพิ่มวงเงินโครงการ “เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน” เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งออกมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางภาษี

5 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงถึงการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจควบคู่ไปกับการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จึงจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อพิจารณาความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่ผ่านมาได้ออกมาตรการจำนวนมาก อาทิ โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน และมาตรการทางการเงิน อาทิ มาตรการสินเชื่อ พักทรัพย์ พักหนี้ และมาตรการทางภาษี การลดภาษี และมาตรการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเร่งพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน โดยสรุปได้เป็นมาตรการ ดังต่อไปนี้

มาตรการระยะที่ 1 ประกอบด้วย  3 มาตรการหลักที่สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่

1) มาตรการด้านการเงิน มี 2 มาตรการ คือ  (1.1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และ (1.2) มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs โดยให้ SFIs ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระ และสามารถนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม

2) มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยภาครัฐจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกิจการที่ถูกปิด

3) มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ได้แก่การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท และ การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม.33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท

มาตรการระยะที่ 1 นั้น ในวันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา และไฟฟ้า ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 สำหรับการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอนเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. โดยการขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนสิ้นปี 2564 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ต้องกักตัวหรือต้องหยุดทำงาน

นายกรัฐมนตรีเผยว่านอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว  รัฐบาลยังได้วางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ ด้วยมาตรการระยะที่ 2 ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ซึ่งคาดว่าถ้าทุกคนร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดอย่างเต็มที่ สถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท ได้แก่

1.มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13.6 ล้านคน และ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2.5 ล้านคน

2.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ซึ่งโครงการที่ประชาชนมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว และเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากได้โดยตรง และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เป็นโครงการใหม่ โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ มาตรการในระยะที่ 2 ทั้ง 4 โครงการ จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีโอกาสในการขายสินค้า และบริการได้มากยิ่งขึ้น โดยมาตรการในระยะที่ 2 นี้ คณะรัฐมนตรีได้รับทราบในหลักการ พร้อมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าทั้งหมดนี้คือการดำเนินการอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและ ศบค. ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด ทั้งด้านการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด และการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีและในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ไม่มีวันท้อถอยหรือท้อแท้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ และจะไม่หยุดในการคิดและทำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกคนให้ปลอดภัย และให้ประเทศไทยที่รักของเราทุกคน ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แข็งแรงและยั่งยืน

Advertising

ก.คลังรายงานเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีทุกภาค เหนือ อีสาน ใต้ ออก ตก กทม. ปริมณฑล

People unity news online : เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

29 ตุลาคม 2561 นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพร้อมด้วย นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และ นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน ปี 2561 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว  สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชัยนาท ลพบุรี และอ่างทอง เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 5.6 เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 28.8 และ 3.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 15.5 และ 3.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 8,976 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 75.2 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 96.5 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.6 และ 11.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.8 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 และ 4.2 ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัด ระยอง และสระแก้วเป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 11.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อยู่ที่ 8,244 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 64.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยอง และปราจีนบุรี สำหรับด้านอุปทาน การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนกันยายน ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 109.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะการ และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 และ 8.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดตาก นครสวรรค์ และเชียงใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.7 และ 7.8 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 27.8 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดตาก และเชียงใหม่ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.6 และ 8.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวเร่งร้อยละ 28.3 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี  และกาญจนบุรี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 21.3 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัว สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 679 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 78.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี เป็นต้น  สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี ในขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หดตัว อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.8 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 818 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและตรัง เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 6.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 6.2 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดขอนแก่น สกลนคร และสุรินทร์  ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -0.03 และ -6.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ยังคงขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนกันยายน 2561 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ  1.0 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.2 และ 9.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนหดตัวลง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -4.9 และ -2.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัว สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดนครปฐม กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

People unity news online : post 30 ตุลาคม 2561 เวลา 08.40 น.

Verified by ExactMetrics