วันที่ 18 พฤษภาคม 2024

ธอส.ขยายเวลาช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปจนถึง 31 ม.ค.64

People Unity News : ธอส.เปิดให้ลูกค้าเดิมที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยื่นคำขอลงทะเบียนเข้ามาตรการระยะที่ 2 ผ่าน APP GHB ALL ระหว่าง 2 – 29 ต.ค. 63

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศให้ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ และยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการระยะที่ 2 โดยขยายระยะเวลาความช่วยเหลือไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 รวม 4 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท มาตรการที่ 3 พักชำระเงินต้น 3 เดือน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 3.90% ต่อปี มาตรการที่ 8 และมาตรการที่ 8.5 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน เปิดให้ลงทะเบียนผ่าน APP GHB ALL ในวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 15.00น. เป็นต้นไป จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 20.00 น.

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าธนาคาร ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้มีมติตามที่ฝ่ายจัดการเสนออนุมัติให้ ธอส. ขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 เฉพาะลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการที่ 1, มาตรการที่ 3, มาตรการที่ 8 และมาตรการที่ 8.5 และรายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ ลูกค้าเดิมที่รายได้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถแจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการขยายความช่วยเหลือ ระยะที่ 2 ได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2563 เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 20.00 น. พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันว่ายังมีผลกระทบทางรายได้จริงให้ธนาคารพิจารณา อาทิ สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย และ Statement เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

Advertising

“ประวิตร” เห็นชอบแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี 2564 – 2565

People Unity News : “ประวิตร” เห็นชอบแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี พ.ศ.2564 – 2565

วันนี้ (1 ตุลาคม 2563) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 109 ชั้น 1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช) ช่วงที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย 1) การดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Academy: AHRDA) ภายใต้วิสัยทัศน์ “พัฒนากำลังแรงงานด้านยานยนต์ไทยให้มีมาตรฐานสมรรถนะในระดับสากล” 2) การดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy: MARA) เพื่อสอดรับนโยบายของรัฐบาลใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) 3) การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการบูรณาการระบบข้อมูลด้านแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนในระดับชาติ ในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการกำลังแรงงาน แผนพัฒนากำลังแรงงาน และการฝึกอาชีพ ระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน และ 4) การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในภาพรวมของจังหวัด เพิ่มโอกาสในการทำงานในพื้นที่

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญ ได้แก่ แนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี พ.ศ.2564 – 2565 ของหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมของส่วนราชการ โดยอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงพิจารณาแนวทางการพัฒนาอาชีพคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และการปรับปรุงองค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.)

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวความห่วงใยต่อสถานการณ์การว่างงานของภาคอุตสาหกรรม จากผลกระทบของ covid-19 และจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้กำชับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เร่งขับเคลื่อนมาตรการพัฒนากำลังคนทุกระดับของประเทศ โดยจะต้องบูรณาการร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตแรงงานไทย รวมถึงส่งเสริมอาชีพคนพิการอย่างเป็นระบบให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยในภาวะวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ต่อไป

Advertising

“บิ๊กป้อม” สั่งผลักดันกิจกรรมทางกีฬา เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ

People Unity News : “บิ๊กป้อม” สั่งผลักดันกิจกรรมทางกีฬา เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ

วันนี้ (30 ก.ย. 63) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10/2563 โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมด้วย โดยที่ประชุมพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจได้แก่ ประกาศกำหนดชนิดกีฬาเพิ่มเติม คือ คิกบ็อกซิ่ง (Kickboxing) แนวทางแก้ปัญหาอุปสรรคการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) แผนการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เป็นต้น

ที่ประชุมได้รับรองแผนงานของผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (นายก้องศักด ยอดมณี) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 10 แผนงาน ดังนี้ 1. แผนยกระดับการให้บริการของการกีฬาแห่งประเทศไทย SMART NATIONAL SPORTS PARK 2. แผนยกระดับหน่วยงานด้านกฎหมายของการกีฬาแห่งประเทศไทย (SPORTS LAW) 3. แผนการยกระดับการบริหารจัดการองค์กรทั้งระบบตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ 4. แผนการพัฒนาข้อมูลดิจิทัลด้านการกีฬา (SPORTS DIGITAL PLATFORM) 5. แผนการยกระดับกิจกรรมและการแข่งขันกีฬา เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ 6. แผนการจัดตั้งเมืองกีฬา (SPORTS CITY) 7. แผนการพัฒนานักกีฬาคนพิการอย่างครบวงจร 8. แผนการส่งเสริมกิจกรรมกีฬา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 9. แผนการยกระดับการบริการทางการแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาของการกีฬาแห่งประเทศไทย (SPORT MEDICAL SERVICES) และ 10. แผนยกระดับการจัดสวัสดิการบุคลากรการกีฬาแห่งประเทศไทย

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายโดยถึงการบริหารงบประมาณประจำปี 2564 ซึ่งเป็นการเริ่มปีงบประมาณใหม่ ให้ดำเนินการไปตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้อย่างถูกต้อง โปร่งใส ตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่สุดคือต้องติดตามการใช้จ่ายให้ทันระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด รวมทั้งให้การกีฬาแห่งประเทศไทยได้เร่งพัฒนาบุคลากร และการบริหารจัดการภายในให้สามารถส่งเสริมสนับสนุนด้านการกีฬาของประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของสมาคมกีฬาต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็ว เป็นระบบอย่างชัดเจน ให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา การเตรียมพร้อมนักกีฬาก่อนการเข้าแข่งขัน  นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณาจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน การออกกำลังกาย และการจัดการแข่งขันกีฬาภายในให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจให้แต่ละภูมิภาคมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในส่วนของสมาคมกีฬาให้พิจารณาสนับสนุนส่งเสริมให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์ประเทศไทยเพื่อเปิดกว้างให้มีการพิจารณานักกีฬาที่มีศักยภาพตามความต้องการของแต่ละสมาคมกีฬาอย่างแท้จริงด้วย

Advertising 

อนุชา หวัง กทบ. เป็นที่พึ่งชุมชน ช่วยยกระดับภาคการเกษตร

People Unity News : อนุชา หวัง กทบ. เป็นที่พึ่งชุมชน ช่วยยกระดับภาคการเกษตรซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศสู่ภาคธุรกิจ เสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ เพื่อความยั่งยืนของประเทศ

28 กันยายน 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบนโยบาย เรื่อง “ทิศทางการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” แก่คณะผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.)

สำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองปัจจุบันมีจำนวน 79,604 แห่งทั่วประเทศ เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนของชุมชนเพื่อการลงทุน สร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ของประชาชนในชุมชน มีเงินทุนหมุนเวียนในกองทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนการขับเคลื่อนกองทุนคนในชุมชนจะเป็นผู้บริหารจัดการ รวมถึงเป็นผู้กำหนดทิศทางและบริหารจัดการภายใต้ปรัชญา 5 ประการ คือ 1) เสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น 2) ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตและจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญหาของตนเอง 3) เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาส 4) เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ราชการ เอกชน และประชาสังคม และ 5) กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า ชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนสำคัญ และเป็นเสาหลักของประเทศ จากผลสำรวจพบว่าเฉลี่ยร้อยละ 74% ในหมู่บ้านทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุน คอยผลักดันให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและด้านการตลาด รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ดังนั้น กทบ. จึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจฐานราก และเป็นกลไกสนองนโยบายของรัฐบาล รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ต้องทำให้ภาคเกษตรเข้มแข็งขยับขึ้นมาสู่ภาคธุรกิจ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถยืนหยัดด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนฯทั่วประเทศกว่า 13 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงพลังสำคัญที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ กำลังซื้อของเกษตรกรและชาวบ้านจะเป็นกำลังสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจชุมชนฟื้นตัว และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศต่อไป

Advertising 

กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุขพร้อมแล้วเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ

People Unity News : กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุข พร้อมแล้ว เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ ย้ำ มาตรการรัดกุม ไม่เสี่ยงโควิด-19 ระบาดระลอก 2

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.63 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV)  ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว คาดว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ โดยมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม มีข้อปฏิบัติก่อนการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง, ทำประกันสุขภาพประกันโควิด-19 ตามข้อกำหนดของรัฐบาล , แจ้งข้อมูลกับบริษัทผู้ประสานงานก่อนการเดินทาง ทั้งโปรแกรมการเดินทางและกำหนดการที่อยู่ในประเทศไทย ผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ ตั๋วเครื่องบินทั้งมาและกลับ ลงนามในหนังสือยินยอมยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลไทยกำหนด ฯลฯ โดยเมื่อเดินทางถึงไทยแล้ว จะต้องมีการกักตัว 14 วัน

“ส่วนที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิดจะให้นักท่องเที่ยวกักตัว 7 วันนั้น ขณะนี้ยังไม่เริ่ม โดยจะเริ่มจากการกักตัว 14 วันก่อน แล้วค่อยพิจารณาคลายมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเข้าการหารือในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อีกครั้งในวันที่ 28 ก.ย.นี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการเดินทางนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดเล็ก หรือ เครื่องบินส่วนตัว ทุกเที่ยวบินจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศปก.กต. หรือ ศปก.ศบค. ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประมาณการรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1,200 คนต่อเดือน รายได้อยู่ที่ 1,030,732,800 บาท และคาดว่า 1 ปีจะมีนักท่องเที่ยว 14,400 คน โดยประมาณการรายได้ 12,368,793,600 บาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย ว่าไม่เสี่ยงต่อการระบาดระลอก 2 ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันมากกว่า 100 วัน ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆของโลก นอกจากนี้ ชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความประสงค์ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว และใช้ชีวิตพร้อมครอบครัว แบบพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศต่างๆทั่วโลก ดังนั้น ไทยจึงจะใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากได้ผลกระทบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

Advertising  

รัฐบาลทุ่มงบ 1.9 พันล้านบาท ตั้งเป้าเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน

People Unity News : รัฐบาลทุ่มงบ 1.9 พันล้านบาท ตั้งเป้าเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ เกษตรกร 8 หมื่นราย ในปี 2565

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงเป็นสินค้าเกษตรที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกอย่างมาก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงแสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ และที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมากคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทย มีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2560 – 2565 ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกัน 7 กระทรวง ประกอบไปด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นการมุ่งเป้าภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ  1) ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 2) พัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการเกษตรอินทรีย์ และ 3) พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรองรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับชุมชน ประเทศ และภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนได้ตกลงที่จะจัดทำมาตรฐานกลางของอาเซียน หรือชื่อทางการว่า Mutual Recognition Arrangement for Organic Agriculture โดยในปีงบประมาณ 2564 จะมีโครงการ รวมทั้งสิ้น 209 โครงการ งบประมาณรวม 1.9 พันล้านบาท

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมการบริโภคเกษตรอินทรีย์ ในกลุ่มโรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม และร้านอาหาร และสนับสนุนการปลูกในที่ดินเกษตรกร ที่ดินภายใต้การจัดสรรที่ดินแห่งชาติ และ ส.ป.ก. ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือโครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการผลิต องค์ความรู้ และการตลาด โดยสามารถหาข้อมูลได้ที่เกษตรอำเภอใกล้บ้าน

“รัฐบาลขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังจะเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้อย่างมาก โดยภาครัฐมีแผนให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ระดับต้นทาง เช่น การพัฒนาสารชีวภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มห้องปฏิบัติการตรวจรับรองผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ระดับกลางทาง เช่น การแปรรูปผลผลิต ปรับระบบโลจิสติกส์สินค้า และระดับปลายทาง เชื่อมโยงตลาดตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ส่งเสริมผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เน้นการขายทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มสากล และแพลตฟอร์มกลางให้ผู้ซื้อมั่นใจในมาตรฐาน การขายออฟไลน์ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าระดับจังหวัด และเอ็กซ์โประดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการจับคู่ผู้ผลิตและผู้ซื้อ” รองโฆษกฯ กล่าว

Advertising

คปภ. ขานรับนโยบาย รมว.คลัง เดินหน้าประกันภัยพืชผลการเกษตร

People Unity News : คปภ. ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินหน้าพัฒนากลไกด้านประกันภัยพืชผลการเกษตร เพื่อมุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับเกษตรกรไทย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสภาวการณ์ของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น น้ำท่วม ลมพายุ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก  ดังนั้น การลดความเสี่ยงภัยด้วยระบบประกันภัย จึงมีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญเกษตรกรสามารถนำเงินที่ได้รับจากการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปดำเนินการเพาะปลูกในฤดูการผลิตต่อไป

ที่ผ่านมาการเกิดภัยธรรมชาติ และการเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรยังคงเกิดขึ้นทุกปี และแม้ว่าปัจจุบัน ได้มีการนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยรับภาระความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้น เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่รัฐบาลร่วมสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การดำเนินงานดังกล่าว เป็นการเสนอโครงการช่วยเหลือแบบปีต่อปี โดยขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละปี ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรทางด้านประกันภัยมีความต่อเนื่องและยั่งยืน สำนักงาน คปภ. จึงได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรม ได้แก่ พืชผล ปศุสัตว์ และประมง โดยได้มีการศึกษากฎหมายประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น โดยกลุ่มที่มีกฎหมายประกันภัยพืชผลเป็นการเฉพาะ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี

สำหรับร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมที่กำลังศึกษา นอกจากศึกษากฎหมายดังกล่าวจากหลายประเทศแล้ว ยังเน้นไปที่กฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีความน่าสนใจ เนื่องจากโครงสร้างของกฎหมายมีบทบัญญัติที่ชัดเจนและครอบคลุมเนื้อหาการประกันภัยด้านเกษตรกรรม มีสาระสำคัญ อาทิเช่น การกำหนดประเภทของผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ครอบคลุมทั้งประเภทพืชผล ปศุสัตว์ และประมง  การกำหนดรูปแบบการประกันภัย ที่เหมาะสมในแต่ละผลิตภัณฑ์ การกำหนดประเภทความเสี่ยงภัย อัตราเบี้ยประกันภัยและวิธีการประเมินความเสียหาย การกำหนดบทบาทภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทประกันภัย และระบบการประกันภัยต่อ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 และจะสิ้นสุดโครงการฯ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะแนวทางที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านเกษตรกรรมประเภทต่างๆ จึงได้จัดให้มีการลงพื้นที่ในการจัดประชุมกลุ่มย่อย ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในการวิจัยและประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลได้แก่ สำนักงาน คปภ. ผู้มีส่วนได้เสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยได้จัดประชุมกลุ่มย่อยไปแล้ว จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสระบุรี จังหวัดสกลนคร และจังหวัดราชบุรี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ตนและคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ลงพื้นที่ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับความเสี่ยงภัยด้านการประมง โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อย จำนวน 5 กลุ่ม เพื่อระดมสมองและเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็น โดยมุ่งเน้นเรื่องการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อการศึกษาและวิจัยตามโครงการฯ เช่น ปัจจัยที่มีความเสี่ยง ต้นทุนในการเลี้ยงกุ้ง ความเสี่ยงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องการให้ระบบประกันภัยเข้ามารองรับความเสียหาย ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันภัยของเกษตรกร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลการเลี้ยงกุ้ง ณ ศรีวิชัยฟาร์ม ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้รับทราบปัญหาอุปสรรคและความเสี่ยงภัยในการเลี้ยงกุ้ง เช่น การเกิดโรคระบาดในกุ้ง การเกิดภัยธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการประมงในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้การพัฒนากรอบแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรม มีความสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด

“การศึกษาวิจัยเพื่อยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนจะเป็นการส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นการน้อมรับนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ได้มอบหมายให้สำนักงาน คปภ. พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ระบบประกันภัยไปช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกลไกทางด้านประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงด้านเกษตรกรรม เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการคุ้มครองด้านประกันภัย และได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Advertising

รัฐบาลแจงยังไม่เริ่ม “ภูเก็ตโมเดล” เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขออย่ากังวล จะทำรัดกุมที่สุด

People Unity News : รัฐบาลแจงยังไม่เริ่ม “ภูเก็ตโมเดล” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เผยอยู่ในขั้นหารืออีกหลายขั้นตอน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเตรียมใช้ภูเก็ตโมเดล เป็นต้นแบบเปิดรับนักท่องเที่ยวนั้น โครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการหารือในรายละเอียด ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องมาพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยว กลุ่มชาวต่างชาติที่จะเข้ามา วิธีการคัดกรอง การป้องกัน ฯลฯ ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร จนกว่าจะมั่นใจได้ว่า เมื่อเปิดรับชาวต่างชาติแล้ว จะไม่นำมาซึ่งความเสี่ยงการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขอให้ชาวภูเก็ต และนักท่องเที่ยวชาวไทยสบายใจได้ ว่าตอนนี้ยังไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยการดำเนินการจะทำอย่างรัดกุมมากที่สุด การเปิดรับนักท่องเที่ยวจะทำอย่างเหมาะสม ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื่อโควิด-19 ระลอก 2 และภูเก็ตโมเดลจะเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (New Normal) ที่กำหนดพื้นที่ให้ท่องเที่ยวแบบจำกัด มีการกักตัว 14 วันก่อนให้เดินทางท่องเที่ยวอย่างแน่นอน ที่สำคัญจะพิจารณาเฉพาะประเทศที่ปลอดโควิด ช่วงนี้รัฐบาลขอเชิญชวนคนไทยออกไปเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีการกระจายรายได้ลงสู่ประชาชนในแต่ละพื้นที่

Advertising

นายกฯเผยกำลังหามาตรการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในไทยเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนัก

People Unity News : นายกรัฐมนตรี เผยกำลังหารือถึงมาตรการที่เหมาะสมในการเปิดการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย โดยมีการเตรียมระบบมาตรการทางด้านสาธารณสุขรองรับให้ประชาชนเกิดความมั่นใจศักยภาพด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19

วันนี้ (26 ส.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการเปิดการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยว่า ขณะนี้กำลังมีการหารือและพิจารณาถึงมาตรการที่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการได้ว่าเป็นพื้นที่ใด โดยเฉพาะจังหวัดที่ได้รับผลกระทบที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว โดยระยะแรกอาจดำเนินการในจำนวนน้อยก่อนเพื่อทดสอบระบบที่มีการเตรียมมาตรการต่างๆรองรับ ทั้งการตรวจคัดกรอง การสวมหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างที่เหมาะสม หรือ Social Distancing การใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัว และแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ไทยชนะ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจศักยภาพด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ สิ่งสำคัญคนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้หากไม่ทำอะไรเลยสถานการณ์เศรษฐกิจจะหนักกว่านี้เรื่อยๆ โดยเฉพาะสถานประกอบการต่างๆต้องปิดลงส่งผลให้ลูกจ้างตกงาน ซึ่งอะไรที่สามารถผ่อนคลายได้รัฐบาลก็พยายามอย่างมากที่จะดำเนินการมาตรการที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

Advertising

ศบศ.ทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ให้นายจ้างและลูกจ้างได้พบปะกันหวังกระตุ้นการจ้างงาน

People Unity News : ศบศ. รับนโยบายนายกฯ เน้นการจ้างงาน สนับสนุนภาคธุรกิจ และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน แพลนจัดทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” หวังนายจ้างและลูกจ้างได้พบปะกัน

19 ส.ค. 63 เวลา 11.40 น. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นายสมิทธิ์ พนมยงค์ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 1/2563 สาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชนในทุกภาคส่วนทั้งด้านธุรกิจ ผู้ประกอบการและอาชีพอิสระ จึงจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าหลังจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ไทยยังคงมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งระดับ Micro (ระดับพื้นที่) ซึ่งมอบหมายให้รัฐมนตรีรายกระทรวง ลงไปดูแลในระดับพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ดูแลแก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ภัยแล้ง สำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับ Macro (ระดับประเทศ) นั้น ศบศ. จะเป็นศูนย์ใหญ่ที่รับผิดชอบ โดยอาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วน ตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งภายใต้ศูนย์นี้ ยังมีการทำงานของคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่แน่นอน การดำเนินการจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง รอบคอบ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

นายสมิทธิ์ พนมยงค์  โฆษก ศบศ. ได้แถลงเพิ่มเติมเป้าหมายการทำงานของ ศบศ. คือ ลดการถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่มีการประเมินในปีนี้ทั้งปีจะติดลบลดลงอยู่ที่ร้อยละ 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการดำเนินการแล้วอย่างเช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะมีการปรับปรุงขอบเขตการใช้สิทธิ เช่น จากเดิม 5 คืน ต่อ 1 สิทธิ เป็น 10 คืน ต่อ 1 สิทธิ และปรับเพิ่มค่าโดยสารเครื่องบิน จากเดิม 1,000 บาท ปรับเป็น 2,000 บาท รวมทั้งขยายฐานการใช้สิทธิสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการจัดอบรม สัมมนา ท่องเที่ยวอยู่แล้ว ใช้ในโครงการฯนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ได้มีขยายคุณสมบัติของผู้ประกอบการในการขอสินเชื่อ (Soft Loan) เพื่อขยายขอบเขตทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เข้าถึงสินเชื่อนั้นได้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเป้าหมายหลักแก่ ศบศ. คือ 1.การจ้างงาน 2.การสนับสนุนภาคธุรกิจ และ 3.การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

จากนั้น  รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มีการเห็นชอบในหลักการ 4 เรื่องสำคัญ  ได้แก่ 1.สนับสนุนการท่องเที่ยว ในโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน โดยมีการปรับปรุงขยายสิทธิ และการช่วยเหลือค่าเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางได้ไกลขึ้น และขยายวงกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นให้ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถใช้สิทธิในการจัดประชุมสัมมนา 2.สนับสนุนการดูแลภาคธุรกิจ SME ให้เข้าถึงได้มากขึ้น เพื่อให้มีสภาพคล่องและธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ 3.มาตรการจ้างงาน โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่และผู้ที่กำลังตกงานโดยมีการทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” โดยเน้นให้มีข้อมูลในรูปแบบ Big Data รวมศูนย์ข้อมูลเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จ้างงานและผู้รับจ้างได้มีโอกาสเจอกันง่ายขึ้น และ 4. มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

Advertising

Verified by ExactMetrics