วันที่ 25 เมษายน 2024

อนุชา หวัง กทบ. เป็นที่พึ่งชุมชน ช่วยยกระดับภาคการเกษตร

People Unity News : อนุชา หวัง กทบ. เป็นที่พึ่งชุมชน ช่วยยกระดับภาคการเกษตรซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศสู่ภาคธุรกิจ เสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ เพื่อความยั่งยืนของประเทศ

28 กันยายน 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบนโยบาย เรื่อง “ทิศทางการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” แก่คณะผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.)

สำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองปัจจุบันมีจำนวน 79,604 แห่งทั่วประเทศ เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนของชุมชนเพื่อการลงทุน สร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ของประชาชนในชุมชน มีเงินทุนหมุนเวียนในกองทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนการขับเคลื่อนกองทุนคนในชุมชนจะเป็นผู้บริหารจัดการ รวมถึงเป็นผู้กำหนดทิศทางและบริหารจัดการภายใต้ปรัชญา 5 ประการ คือ 1) เสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น 2) ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตและจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญหาของตนเอง 3) เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาส 4) เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ราชการ เอกชน และประชาสังคม และ 5) กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า ชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนสำคัญ และเป็นเสาหลักของประเทศ จากผลสำรวจพบว่าเฉลี่ยร้อยละ 74% ในหมู่บ้านทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุน คอยผลักดันให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและด้านการตลาด รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ดังนั้น กทบ. จึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจฐานราก และเป็นกลไกสนองนโยบายของรัฐบาล รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ต้องทำให้ภาคเกษตรเข้มแข็งขยับขึ้นมาสู่ภาคธุรกิจ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถยืนหยัดด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนฯทั่วประเทศกว่า 13 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงพลังสำคัญที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ กำลังซื้อของเกษตรกรและชาวบ้านจะเป็นกำลังสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจชุมชนฟื้นตัว และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศต่อไป

Advertising 

กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุขพร้อมแล้วเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ

People Unity News : กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุข พร้อมแล้ว เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ ย้ำ มาตรการรัดกุม ไม่เสี่ยงโควิด-19 ระบาดระลอก 2

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.63 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV)  ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว คาดว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ โดยมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม มีข้อปฏิบัติก่อนการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง, ทำประกันสุขภาพประกันโควิด-19 ตามข้อกำหนดของรัฐบาล , แจ้งข้อมูลกับบริษัทผู้ประสานงานก่อนการเดินทาง ทั้งโปรแกรมการเดินทางและกำหนดการที่อยู่ในประเทศไทย ผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ ตั๋วเครื่องบินทั้งมาและกลับ ลงนามในหนังสือยินยอมยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลไทยกำหนด ฯลฯ โดยเมื่อเดินทางถึงไทยแล้ว จะต้องมีการกักตัว 14 วัน

“ส่วนที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิดจะให้นักท่องเที่ยวกักตัว 7 วันนั้น ขณะนี้ยังไม่เริ่ม โดยจะเริ่มจากการกักตัว 14 วันก่อน แล้วค่อยพิจารณาคลายมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเข้าการหารือในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อีกครั้งในวันที่ 28 ก.ย.นี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการเดินทางนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดเล็ก หรือ เครื่องบินส่วนตัว ทุกเที่ยวบินจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศปก.กต. หรือ ศปก.ศบค. ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประมาณการรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1,200 คนต่อเดือน รายได้อยู่ที่ 1,030,732,800 บาท และคาดว่า 1 ปีจะมีนักท่องเที่ยว 14,400 คน โดยประมาณการรายได้ 12,368,793,600 บาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย ว่าไม่เสี่ยงต่อการระบาดระลอก 2 ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันมากกว่า 100 วัน ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆของโลก นอกจากนี้ ชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความประสงค์ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว และใช้ชีวิตพร้อมครอบครัว แบบพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศต่างๆทั่วโลก ดังนั้น ไทยจึงจะใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากได้ผลกระทบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

Advertising  

รัฐบาลทุ่มงบ 1.9 พันล้านบาท ตั้งเป้าเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน

People Unity News : รัฐบาลทุ่มงบ 1.9 พันล้านบาท ตั้งเป้าเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ เกษตรกร 8 หมื่นราย ในปี 2565

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงเป็นสินค้าเกษตรที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกอย่างมาก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงแสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ และที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมากคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทย มีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2560 – 2565 ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกัน 7 กระทรวง ประกอบไปด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นการมุ่งเป้าภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ  1) ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 2) พัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการเกษตรอินทรีย์ และ 3) พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรองรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับชุมชน ประเทศ และภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนได้ตกลงที่จะจัดทำมาตรฐานกลางของอาเซียน หรือชื่อทางการว่า Mutual Recognition Arrangement for Organic Agriculture โดยในปีงบประมาณ 2564 จะมีโครงการ รวมทั้งสิ้น 209 โครงการ งบประมาณรวม 1.9 พันล้านบาท

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมการบริโภคเกษตรอินทรีย์ ในกลุ่มโรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม และร้านอาหาร และสนับสนุนการปลูกในที่ดินเกษตรกร ที่ดินภายใต้การจัดสรรที่ดินแห่งชาติ และ ส.ป.ก. ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือโครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการผลิต องค์ความรู้ และการตลาด โดยสามารถหาข้อมูลได้ที่เกษตรอำเภอใกล้บ้าน

“รัฐบาลขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังจะเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้อย่างมาก โดยภาครัฐมีแผนให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ระดับต้นทาง เช่น การพัฒนาสารชีวภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มห้องปฏิบัติการตรวจรับรองผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ระดับกลางทาง เช่น การแปรรูปผลผลิต ปรับระบบโลจิสติกส์สินค้า และระดับปลายทาง เชื่อมโยงตลาดตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ส่งเสริมผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เน้นการขายทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มสากล และแพลตฟอร์มกลางให้ผู้ซื้อมั่นใจในมาตรฐาน การขายออฟไลน์ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าระดับจังหวัด และเอ็กซ์โประดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการจับคู่ผู้ผลิตและผู้ซื้อ” รองโฆษกฯ กล่าว

Advertising

คปภ. ขานรับนโยบาย รมว.คลัง เดินหน้าประกันภัยพืชผลการเกษตร

People Unity News : คปภ. ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินหน้าพัฒนากลไกด้านประกันภัยพืชผลการเกษตร เพื่อมุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับเกษตรกรไทย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสภาวการณ์ของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น น้ำท่วม ลมพายุ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก  ดังนั้น การลดความเสี่ยงภัยด้วยระบบประกันภัย จึงมีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญเกษตรกรสามารถนำเงินที่ได้รับจากการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปดำเนินการเพาะปลูกในฤดูการผลิตต่อไป

ที่ผ่านมาการเกิดภัยธรรมชาติ และการเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรยังคงเกิดขึ้นทุกปี และแม้ว่าปัจจุบัน ได้มีการนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยรับภาระความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้น เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่รัฐบาลร่วมสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การดำเนินงานดังกล่าว เป็นการเสนอโครงการช่วยเหลือแบบปีต่อปี โดยขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละปี ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรทางด้านประกันภัยมีความต่อเนื่องและยั่งยืน สำนักงาน คปภ. จึงได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรม ได้แก่ พืชผล ปศุสัตว์ และประมง โดยได้มีการศึกษากฎหมายประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น โดยกลุ่มที่มีกฎหมายประกันภัยพืชผลเป็นการเฉพาะ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี

สำหรับร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมที่กำลังศึกษา นอกจากศึกษากฎหมายดังกล่าวจากหลายประเทศแล้ว ยังเน้นไปที่กฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีความน่าสนใจ เนื่องจากโครงสร้างของกฎหมายมีบทบัญญัติที่ชัดเจนและครอบคลุมเนื้อหาการประกันภัยด้านเกษตรกรรม มีสาระสำคัญ อาทิเช่น การกำหนดประเภทของผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ครอบคลุมทั้งประเภทพืชผล ปศุสัตว์ และประมง  การกำหนดรูปแบบการประกันภัย ที่เหมาะสมในแต่ละผลิตภัณฑ์ การกำหนดประเภทความเสี่ยงภัย อัตราเบี้ยประกันภัยและวิธีการประเมินความเสียหาย การกำหนดบทบาทภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทประกันภัย และระบบการประกันภัยต่อ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 และจะสิ้นสุดโครงการฯ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะแนวทางที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านเกษตรกรรมประเภทต่างๆ จึงได้จัดให้มีการลงพื้นที่ในการจัดประชุมกลุ่มย่อย ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในการวิจัยและประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลได้แก่ สำนักงาน คปภ. ผู้มีส่วนได้เสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยได้จัดประชุมกลุ่มย่อยไปแล้ว จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสระบุรี จังหวัดสกลนคร และจังหวัดราชบุรี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ตนและคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ลงพื้นที่ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับความเสี่ยงภัยด้านการประมง โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อย จำนวน 5 กลุ่ม เพื่อระดมสมองและเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็น โดยมุ่งเน้นเรื่องการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อการศึกษาและวิจัยตามโครงการฯ เช่น ปัจจัยที่มีความเสี่ยง ต้นทุนในการเลี้ยงกุ้ง ความเสี่ยงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องการให้ระบบประกันภัยเข้ามารองรับความเสียหาย ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันภัยของเกษตรกร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลการเลี้ยงกุ้ง ณ ศรีวิชัยฟาร์ม ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้รับทราบปัญหาอุปสรรคและความเสี่ยงภัยในการเลี้ยงกุ้ง เช่น การเกิดโรคระบาดในกุ้ง การเกิดภัยธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการประมงในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้การพัฒนากรอบแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรม มีความสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด

“การศึกษาวิจัยเพื่อยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนจะเป็นการส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นการน้อมรับนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ได้มอบหมายให้สำนักงาน คปภ. พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ระบบประกันภัยไปช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกลไกทางด้านประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงด้านเกษตรกรรม เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการคุ้มครองด้านประกันภัย และได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Advertising

รัฐบาลแจงยังไม่เริ่ม “ภูเก็ตโมเดล” เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขออย่ากังวล จะทำรัดกุมที่สุด

People Unity News : รัฐบาลแจงยังไม่เริ่ม “ภูเก็ตโมเดล” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เผยอยู่ในขั้นหารืออีกหลายขั้นตอน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเตรียมใช้ภูเก็ตโมเดล เป็นต้นแบบเปิดรับนักท่องเที่ยวนั้น โครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการหารือในรายละเอียด ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องมาพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยว กลุ่มชาวต่างชาติที่จะเข้ามา วิธีการคัดกรอง การป้องกัน ฯลฯ ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร จนกว่าจะมั่นใจได้ว่า เมื่อเปิดรับชาวต่างชาติแล้ว จะไม่นำมาซึ่งความเสี่ยงการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขอให้ชาวภูเก็ต และนักท่องเที่ยวชาวไทยสบายใจได้ ว่าตอนนี้ยังไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยการดำเนินการจะทำอย่างรัดกุมมากที่สุด การเปิดรับนักท่องเที่ยวจะทำอย่างเหมาะสม ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื่อโควิด-19 ระลอก 2 และภูเก็ตโมเดลจะเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (New Normal) ที่กำหนดพื้นที่ให้ท่องเที่ยวแบบจำกัด มีการกักตัว 14 วันก่อนให้เดินทางท่องเที่ยวอย่างแน่นอน ที่สำคัญจะพิจารณาเฉพาะประเทศที่ปลอดโควิด ช่วงนี้รัฐบาลขอเชิญชวนคนไทยออกไปเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีการกระจายรายได้ลงสู่ประชาชนในแต่ละพื้นที่

Advertising

นายกฯเผยกำลังหามาตรการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในไทยเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนัก

People Unity News : นายกรัฐมนตรี เผยกำลังหารือถึงมาตรการที่เหมาะสมในการเปิดการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย โดยมีการเตรียมระบบมาตรการทางด้านสาธารณสุขรองรับให้ประชาชนเกิดความมั่นใจศักยภาพด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19

วันนี้ (26 ส.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการเปิดการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยว่า ขณะนี้กำลังมีการหารือและพิจารณาถึงมาตรการที่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการได้ว่าเป็นพื้นที่ใด โดยเฉพาะจังหวัดที่ได้รับผลกระทบที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว โดยระยะแรกอาจดำเนินการในจำนวนน้อยก่อนเพื่อทดสอบระบบที่มีการเตรียมมาตรการต่างๆรองรับ ทั้งการตรวจคัดกรอง การสวมหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างที่เหมาะสม หรือ Social Distancing การใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัว และแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ไทยชนะ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจศักยภาพด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ สิ่งสำคัญคนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้หากไม่ทำอะไรเลยสถานการณ์เศรษฐกิจจะหนักกว่านี้เรื่อยๆ โดยเฉพาะสถานประกอบการต่างๆต้องปิดลงส่งผลให้ลูกจ้างตกงาน ซึ่งอะไรที่สามารถผ่อนคลายได้รัฐบาลก็พยายามอย่างมากที่จะดำเนินการมาตรการที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

Advertising

ศบศ.ทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ให้นายจ้างและลูกจ้างได้พบปะกันหวังกระตุ้นการจ้างงาน

People Unity News : ศบศ. รับนโยบายนายกฯ เน้นการจ้างงาน สนับสนุนภาคธุรกิจ และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน แพลนจัดทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” หวังนายจ้างและลูกจ้างได้พบปะกัน

19 ส.ค. 63 เวลา 11.40 น. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นายสมิทธิ์ พนมยงค์ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 1/2563 สาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชนในทุกภาคส่วนทั้งด้านธุรกิจ ผู้ประกอบการและอาชีพอิสระ จึงจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าหลังจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ไทยยังคงมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งระดับ Micro (ระดับพื้นที่) ซึ่งมอบหมายให้รัฐมนตรีรายกระทรวง ลงไปดูแลในระดับพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ดูแลแก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ภัยแล้ง สำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับ Macro (ระดับประเทศ) นั้น ศบศ. จะเป็นศูนย์ใหญ่ที่รับผิดชอบ โดยอาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วน ตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งภายใต้ศูนย์นี้ ยังมีการทำงานของคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่แน่นอน การดำเนินการจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง รอบคอบ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

นายสมิทธิ์ พนมยงค์  โฆษก ศบศ. ได้แถลงเพิ่มเติมเป้าหมายการทำงานของ ศบศ. คือ ลดการถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่มีการประเมินในปีนี้ทั้งปีจะติดลบลดลงอยู่ที่ร้อยละ 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการดำเนินการแล้วอย่างเช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะมีการปรับปรุงขอบเขตการใช้สิทธิ เช่น จากเดิม 5 คืน ต่อ 1 สิทธิ เป็น 10 คืน ต่อ 1 สิทธิ และปรับเพิ่มค่าโดยสารเครื่องบิน จากเดิม 1,000 บาท ปรับเป็น 2,000 บาท รวมทั้งขยายฐานการใช้สิทธิสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการจัดอบรม สัมมนา ท่องเที่ยวอยู่แล้ว ใช้ในโครงการฯนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ได้มีขยายคุณสมบัติของผู้ประกอบการในการขอสินเชื่อ (Soft Loan) เพื่อขยายขอบเขตทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เข้าถึงสินเชื่อนั้นได้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเป้าหมายหลักแก่ ศบศ. คือ 1.การจ้างงาน 2.การสนับสนุนภาคธุรกิจ และ 3.การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

จากนั้น  รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มีการเห็นชอบในหลักการ 4 เรื่องสำคัญ  ได้แก่ 1.สนับสนุนการท่องเที่ยว ในโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน โดยมีการปรับปรุงขยายสิทธิ และการช่วยเหลือค่าเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางได้ไกลขึ้น และขยายวงกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นให้ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถใช้สิทธิในการจัดประชุมสัมมนา 2.สนับสนุนการดูแลภาคธุรกิจ SME ให้เข้าถึงได้มากขึ้น เพื่อให้มีสภาพคล่องและธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ 3.มาตรการจ้างงาน โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่และผู้ที่กำลังตกงานโดยมีการทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” โดยเน้นให้มีข้อมูลในรูปแบบ Big Data รวมศูนย์ข้อมูลเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จ้างงานและผู้รับจ้างได้มีโอกาสเจอกันง่ายขึ้น และ 4. มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

Advertising

รมว.สุชาติ เร่งแก้ปัญหาการว่างงาน ประเดิมจ้างงานในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด 40,951 อัตรา

สุชาติ ชมกลิ่น

People Unity News : รมว.แรงงาน เร่งขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาว่างงาน มุ่งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เดินหน้าจ้างงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 คลี่คลาย กว่า 40,951 อัตรา มุ่งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังโรงงานปิดตัวเป็นจำนวนมาก แนะเด็กไทยเลือกเรียนสายอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องตลาดแรงงาน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานที่เกิดกับพี่น้องแรงงานในทุกภาคส่วนของประเทศไทย ซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แม้กระทั่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องเผชิญกับสภาวะดังกล่าว ซึ่งกรมการจัดหางานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งหามาตรการเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้ประชาชนได้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงานเศรษฐกิจและสังคม  โดยเร่งเตรียมตำแหน่งงานว่าง พร้อมร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง อบรมยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการในการจูงใจนักลงทุนให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC  โดยเฉพาะการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมใหม่

“ขณะนี้ สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศได้คลี่คลายลง กรมการจัดหางานมีแนวคิดจะกระตุ้น การจ้างงานในพื้นที่ EEC ทันที ซึ่งจะสอดรับการเป็นพื้นที่การลงทุนของรัฐบาล ที่ดึงให้นักลงทุนมาประกอบกิจการเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ในพื้นที่ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยประเภทงานที่ EEC มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานด้านการผลิตอื่นๆ แรงงานทั่วไป 12,706  อัตรา 2.พนักงานรักษาความปลอดภัย 11,437 อัตรา  3.พนักงานบริการอื่นๆ 1,807 อัตรา 4.ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับอื่นๆ 1,186 อัตรา 5.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ 872 อัตรา 6.ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า 826 อัตรา  7.ช่างเทคนิควิศวกรรมโยธา (ก่อสร้าง) 618 อัตรา 8.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 609 อัตรา 9.เจ้าหน้าที่เทคนิคเคมี ช่างเทคนิค (อินทรีย์เคมี ยาง พลาสติก โพลิเมอร์ สี กระดาษ น้ำมัน เส้นใย อาหารและเครื่องดื่ม) 604 อัตรา 10.เจ้าหน้าที่การตลาด 516 อัตรา และอื่นๆ (ช่างเทคนิควิศวกรรมเครื่องกลอื่นๆ แม่บ้านและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า ฯลฯ) 9,770 อัตรา โดยแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ EEC มีทุกระดับตั้งแต่แรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือ และไร้ฝีมือ ซึ่งมีความต้องการครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงปริญญาตรี ขึ้นไป” นายสุชาติ กล่าว

Advertising

นายกฯพอใจบริษัทจัดอับดับเรตติ้งญี่ปุ่น (JCR) มีมุมมองเศรษฐกิจไทย “มีเสถียรภาพ”

People Unity News : นายกฯ พอใจบริษัทการจัดอับดับเรตติ้งของญี่ปุ่น (JCR) มุมมองภาพรวมเศรษฐกิจไทย “มีเสถียรภาพ” แนวโน้มการลงทุนต่างชาติเพิ่ม ยืนยันไทยมีแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่รัดกุม

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ยืนยันมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable outlook) และความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศที่ระดับ A- และสกุลเงินบาทที่ระดับ A เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างมีประสิทธิภาพ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ ก็มีข้อมูลที่น่ายินดี เมื่อบีโอไอได้เปิดเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนของปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน) รวม 754 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7  มูลค่าเงินลงทุน 158,890 ล้านบาท และเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในโครงการใหม่ถึง 366 โครงการ หรือร้อยละ 49 โดยมียอดเงินลงทุนรวม 42,520 ล้านบาท ขณะที่เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซีถึง 225 โครงการมูลค่าเงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท  ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลทำงานแบบ “New Normal” เดินหน้าสู่อนาคต โดยมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังโควิด-19 แต่ยังคงยึดวินัยการเงินการคลัง รักษาระดับหนี้สาธารณะ ซึ่งนายกฯมอบแนวทางให้สำนักบริการหนี้สาธารณะที่ดูแลเรื่องการกลั่นกรองแผนความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) และแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ยึดเหตุผลความจำเป็นและความต้องการเงินกู้อย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่กฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐและกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะทั้งนี้เพื่อให้การลงทุน การดำเนินโครงการ/แผนงาน นำไปสู่การกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจและรองรับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังย้ำว่า การจัดเรทติ้งของญี่ปุ่นเป็นสัญญาณที่ดีสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ยากลำบาก แต่รัฐบาลพร้อมขับเคลื่อนโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ และการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งได้ทำมาแล้วหลายโครงการมากและยังคงจัดสรรงบประมาณให้เดินหน้าต่อ

Advertising

รัฐบาลยืนยันโครงการอีอีซีไม่สะดุด แม้ปรับ ครม.ใหม่

People Unity News : รัฐบาลยืนยันโครงการอีอีซี ไม่สะดุด ปรับ ครม. ไม่กระทบ เดินหน้าตามแผน รอลงนามเอกชนสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบังระยะ 3 เร็วๆนี้

สืบเนื่องจากมีข้อกังวลว่าการปรับคณะรัฐมนตรีอาจมีผลต่อความต่อเนื่องของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสําคัญในอีอีซี มีความคืบหน้าไปมาก โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าการดําเนินงาน โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสําคัญได้ลงนามกับคู่สัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างเดินหน้าต่ออย่างเดียวไม่ต้องมีข้อกังวลใดๆ ซึ่งรายละเอียด มีดังนี้

1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินลงนามสัญญาร่วมลงทุนวันที่ 24 ต.ค.2562 ปัจจุบันการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภค อยู่ระหว่างเตรียมดําเนินการรื้อย้าย โดยรถไฟความเร็วสูงสายนี้ เข้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน ยกระดับสนามบินอู่ตะเภา มาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 อีกท้ังเป็นการสร้างพื้นที่ต่อขยายของเมืองให้กับกรุงเทพ และพื้นที่อีอีซี (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง)

2.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ช่วงที่ 1 ลงนามสัญญาร่วมลงทุน วันที่ 1 ต.ค.2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการกํากับดูแล และคณะกรรมการบริหารสัญญา โดย สกพอ. และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนคณะกรรมการบริหารสัญญาและหน่วยงานเจ้าของโครงการ ในการควบคุมและกํากับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาตามที่กําหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อดําเนินการก่อสร้าง

3.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเมื่อ 19 มิ.ย.2563 ถือเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพ” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทําให้ 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมทั้งเป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือก ได้เร่งเจรจาผลตอบแทน และร่างสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วยบริษัท พีทีที แทงค์เทอร์มินัล จํากัด ในกลุ่ม บมจ.ปตท (PTT) บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวล ลอปเมนท์ (GULF) บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited) ที่เป็นเอกชนผู้รับการคัดเลือก คาดว่าจะได้ผลการคัดเลือกเอกชน และลงนามสัญญาได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้ ยังมีโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทําร่างเอกสารคัดเลือกเอกชนเพื่อรับฟังความเห็นอีกครั้ง ก่อนสรุปผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อพิจารณาแนวทางการดําเนินงานโครงการต่อไป

นางสาวรัชดา ยังกล่าวด้วยว่า แม้จะมีการยื่นขอการลงทุนในอีอีซีลดลงในช่วง เม.ย.-มิ.ย. เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด 19 แต่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นจากนี้เป็นต้นไป เพราะยังมีนักลงทุนที่ต้องการย้ายการลงทุนสืบเนื่องจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และ 3 อันดับแรกของประเทศที่เข้ามาลงทุนประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

“ขอให้ประชาชนและภาคเอกชนสบายใจและมั่นใจได้ว่า ท่านนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้ความสำคัญขับเคลื่อนการลงทุนในไทยและในพื้นที่ อีอีซี ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี สกพอ. ที่เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามดูแลการดำเนินงานโครงการอีอีซี  การปรับครม.จึงไม่กระทบต่อความต่อเนื่องของโครงการแต่อย่างใด และนอกจากความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างพื้นฐาน สกพอ.ได้เดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรร่วมกับสถาบันการศึกษาและเอกชน เพื่อรองรับการจ้างงานในอีอีซี เป้าหมายจำนวนหลักแสนอัตรา ระยะเวลา 2562-2566” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

Advertising

Verified by ExactMetrics