วันที่ 28 เมษายน 2024

รัฐบาลชวนผู้ประกอบการเข้าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รับสิทธิประโยชน์ภาษี-จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 

People Unity News : รัฐบาลชวนผู้ประกอบการเข้าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รับสิทธิประโยชน์ภาษีและจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผู้สนับสนุนได้ลดหย่อนภาษีด้วย

8 พ.ย.64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงการขับเคลื่อนการประกอบกิจการเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจ และภาคประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ซึ่งในช่วงเวลาสองปีของการเริ่มใช้กฎหมายฉบับนี้ คณะกรรมการฯได้ผลักดันให้มีการออกสิทธิประโยชน์หลายอย่าง เพื่อเป็นแต้มต่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และนำผลกำไรคืนสู่สังคมต่อไป ขณะนี้มีจำนวนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise:SE )  ที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) จำนวน 162 กิจการ

การดำเนินงานที่ผ่านมาหลายหน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการในการสนับสนุนการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม อาทิ กรมสรรพาการมีประกาศให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการจดทะเบียนกับ สวส. กล่าวคือ 1) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่นิติบุคคลที่จดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไร 2) ผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถหักลดหย่อนเงินลงทุนในหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมและได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ 3) ผู้บริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศให้กิจการ SE ที่ผ่านการจดทะเบียนรับรอง สามารถระดมทุนเสนอขายหุ้นต่อประชาชนได้ โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตจาก ก.ล.ต.ตามปกติ เป็นต้น และล่าสุดที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ คือ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างผลิตผลชิ้นงาน หรือบริการที่ผลิตหรือจัดทำขึ้นจะวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ ทำให้วิสาหกิจฯมีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น

นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ได้กล่าวมาแล้ว คณะกรรมการฯยังผลักดันให้มีการเสริมแกร่งแก่วิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น การสร้างเครือข่ายกับ 18 หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อเป็นพี่เลี้ยงด้านการตลาด การลงทุน การระดมทุน การส่งเสริมศักยภาพกลุ่มกิจการเพื่อสังคมสำหรับคนพิการ และที่สำคัญ กระทรวงพาณิชย์ได้ริเริ่มการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Online Business Matching) นำกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม 13 ราย พบผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากต่างประเทศ กว่า 34 รายจาก 13 ประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม เยอรมัน สเปน ซาอุดิอาระเบียและประเทศกลุ่มยุโรป นำไปสู่มูลค่าการค้าประมาณ 15 ล้านบาท  โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่เจรจาทางธุรกิจเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องสำอางค์ สินค้าเพื่อสุขภาพและในระยะต่อไปก็จะดำเนินการให้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการส่งออกร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ รวมถึงจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับปีหน้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เล็งเห็นโอกาสที่จะเพื่มจำนวนผู้จดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสนใจ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งก็มีศักยภาพที่จะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนหลายอย่าง มีโอกาสต่อยอดธุรกิจให้มีรากฐานที่แข็งแรง มั่นคง และยั่งยืนตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศให้ยั่งยืนต่อไป ผู้สนใจ สามารถติดต่อ สวส. ได้ที่ https://www.osep.or.th/ โทร 02 246 2344

Advertising

พาณิชย์-เกษตร จัดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ หวังกู้วิกฤติข้าวไทยสู่ตลาดโลก

People Unity News : พาณิชย์-เกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อนประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ หวังกู้วิกฤติข้าวไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อวาน (5 พฤศจิกายน 2564) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย โดยมี นายชาตรี บุญนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว คณะผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเกษตรกรจากจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ ณ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท พร้อมคณะทูตพาณิชย์จาก 25 ประเทศ และพาณิชย์จังหวัดใน 27 แหล่งเพาะปลูกของประเทศ ร่วมกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์

นายชาตรี กล่าวว่า สำหรับการประกวดข้าวในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้นักวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ส่งผลงานเข้าประกวดในข้าว 3 ประเภท ได้แก่ ข้าวหอมไทย ข้าวขาวพื้นนุ่ม และข้าวขาวพื้นแข็ง ซึ่งมีพันธุ์ข้าวที่ส่งประกวดทั้งสิ้นจำนวน 48 พันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวจำนวน 31 พันธุ์ โดยไดันำพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวด มาทดลองปลูกในแปลงปลูกของศูนย์วิจัยข้าว 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก และศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ซึ่งจะดำเนินการตัดสินผลการประกวดในช่วงเดือนธันวาคม

ด้าน นางสาวนนทิชา เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการตัดสิน คณะกรรมการจะเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดกับข้าวพันธุ์เดิมที่โดดเด่นในแต่ละประเภท ทั้งด้านการเพาะปลูกในแปลง การขัดสี คุณภาพทางกายภาพของเมล็ด คุณภาพทางเคมี และคุณภาพการหุงต้ม ซึ่งเชื่อมั่นว่าการประกวดดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่ออนาคตข้าวไทยให้กับชาวนา ผู้ประกอบการค้าข้าว ตลอดจนผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ภายหลังได้นำประธานและคณะ เยี่ยมชมแปลงนาพันธุ์ข้าวจากการประกวดในพื้นที่ของศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ตลอดจนการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว

Advertising

บอร์ด กพช.เห็นชอบอัตราส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.005 บาท/ลิตร 1 ปี 0.05 บาท/ลิตร 2 ปี ลดภาระประชาชน

People Unity News : บอร์ด กพช. เห็นชอบกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานฯ ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี บรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วันนี้ (5 พ.ย.64) เวลา 14.00 น. ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วย ซึ่ง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุม  ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลวางนโยบายอย่างเป็นขั้นตอนเกี่ยวกับมิติการใช้พลังงานสะอาดและการลดก๊าซเรือนกระจกที่ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในเวทีโลกในการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ที่สก็อตแลนที่ผ่านมา ร่วมกับนานาขาติ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก  ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้เตรียมพร้อมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศโดยแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย และให้สอดคล้องกับนโยบายการใช้พลังงานสะอาดตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของโลก ขณะเดียวกัน การลงทุนด้านพลังงานต่างๆต้องมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่มีการผูกขาด สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังด้วย

โอกาสนี้  นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบกับการกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนซ้า และน้ำมันเตาในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวล 3 ปี   เพราะเป็นความจำเป็นในการลดภาระและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้  นายกรัฐมนตรียังขอให้ กกพ. ให้เร่งดำเนินการเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้เกิดผลโดยเร็ว เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าจากขยะถือเป็นพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดที่จะนำไปสู่การลดโลกร้อน และยังสามารถแก้ปัญหาบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยต้องคำนึงไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศด้วย พร้อมให้กระทรวงมหาดไทยและกกพ. ได้จัดตั้งกลไกดำเนินงานร่วมกันในการพิจารณากลั่นกรองโครงการโรงไฟฟ้าขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการกำหนด TOR ให้มีความชัดเจนมีความโปร่งใสเพื่อไม่เกิดข้อขัดแข้งตามมาในอนาคต

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญๆ  ดังนี้

1 ) ปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตา ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งยังเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 ปีละ 4,000 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนและกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท

2) ทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Price Review) จากสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท PETRONAS LNG LTD.,  จากสถานการณ์ตลาด LNG ในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงื่อนไขสัญญาระหว่าง บริษัท ปตท. และ PETRONAS นั้นก็ให้คู่สัญญาเปิดเจรจา Price Review ได้ในระหว่างปีที่ 5 ของสัญญา ปตท. จึงขอเจรจาในปี 2564 เพื่อปรับลดราคา LNG โดยได้ข้อสรุปผลการเจรจา LNG Price Review สามารถปรับลดสูตรราคา LNG SPA ลงเฉลี่ย -7% ซึ่งสามารถลดต้นทุนการจัดหา LNG ลงประมาณ 900 – 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือรวมประมาณ 4,500 – 5,000 ล้านบาทในปี 2565 – 2569 หรือลดต้นทุนค่า Ft ประมาณ 0.42 สตางค์ต่อหน่วย และ กพช.มอบหมายให้บริษัท ปตท.ฯ เสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาต่อไป

3) เห็นชอบบรรจุโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ.ระยอง ซึ่งมีกำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 10.8 ล้านตัน ต่อปี (ขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี) ไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการฯ ตามแผนดำเนินงานของ EEC และสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

4) เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าและการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ดังนี้ โครงการน้ำงึม 3 ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.8934 บาทต่อหน่วย โครงการปากแบง ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.7935 บาทต่อหน่วย โครงการปากลาย ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.9426 บาทต่อหน่วย โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดสัญญาและมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง  และโครงการปากลาย ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป. ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำจาก สปป. ลาว นั้น สอดคล้องตามกรอบ “แผนพลังงานชาติ” ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และสอดคล้องทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด ลดการปล่อย CO2 อีกด้วย

5) ที่ประชุมเห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 – 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี โดยมอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินการแต่ละโครงการต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

Advertising

ก.คลังเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น “ออมไปด้วยกัน” 15 พ.ย.นี้ เยาวชนอายุ 15 ปีซื้อได้

People Unity News : ลงทุนอย่างมั่นใจไปกับพันธบัตรออมทรัพย์ “ออมไปด้วยกัน” เริ่มจำหน่ายผ่านวอลเล็ต สบม. 15 พฤศจิกายนนี้

3 พ.ย.64 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังจะเริ่มจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น “ออมไปด้วยกัน” โดยในครั้งนี้กระทรวงการคลังได้เพิ่มวงเงินจำหน่ายเป็น 80,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ลงทุนทุกกลุ่ม และจ่ายดอกเบี้ยให้ประชาชนทุก 3 เดือน ประชาชนสามารถเลือกลงทุนได้ 2 รุ่นอายุ และซื้อได้ทั้งในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

รายละเอียดการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมไปด้วยกัน เป็นดังนี้

1.รุ่นออมไปด้วยกันบนวอลเล็ต สบม. จำหน่ายให้แก่ประชาชน 2 รุ่น วงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 2.10 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.00 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป (ผู้เยาว์จะต้องลงทะเบียนในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และไปยืนยันตัวตนพร้อมผู้ปกครองเพื่อกรอกเอกสารให้ความยินยอม ณ สาขาธนาคารกรุงไทยสำหรับการซื้อครั้งแรก) ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท – 10 ล้านบาท จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และเติมเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ผ่านพร้อมเพย์จากทุกธนาคาร หรือผูกบัญชีธนาคารกรุงไทยกับ วอลเล็ต สบม. รวมถึงเติมเงินสดด้วย Wallet ID ได้ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา เพื่อเตรียมซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานวอลเล็ต สบม. ได้ที่ Call Center โทร. 02-111-1111 หรือที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

2.รุ่นออมไปด้วยกัน จำหน่ายให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงินรวม 70,000 ล้านบาท จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาทและไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง โดยจะจำหน่ายให้กับประชาชนก่อนนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด 2 วัน  เพื่อบริหารจัดการการใช้บริการ ณ สาขาธนาคารของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ หากเป็นผู้เยาว์ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่ายและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน โดยวันจำหน่าย วงเงิน และรุ่นอายุเป็นดังนี้

1) จำหน่ายให้แก่ประชาชน 2 รุ่น วงเงิน 55,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 2.10 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.00 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำหน่ายทั้งในช่องทาง Counter Internet Banking และ Mobile Banking ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

2) จำหน่ายให้แก่นิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด รุ่นอายุ 10 ปี วงเงิน 15,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.20 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยจำหน่ายเฉพาะช่องทาง Counter ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

ทั้งนี้ วงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง และกระทรวงการคลังสามารถปรับเพิ่ม/ลดวงเงินทั้ง 2 รุ่นที่จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายได้ตามความเหมาะสม

สบน. ได้แจ้งให้ธนาคารตัวแทนจำหน่ายปรับวิธีการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านช่องทางต่างๆของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

Advertising

ลำปางฟื้นรถม้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงโควิด กระตุ้นท่องเที่ยว รับเปิดประเทศ

People Unity News : ลำปาง เร่งฟื้นรถม้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมเปิดประเทศ

31 ต.ค. 2564 นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้มอบหมายให้ นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นางวรรณวิไล กันเพ็ชร์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ผู้บริหารองค์กร/สมาคมภาคเอกชน ร่วมเปิดกิจกรรรมโครงการ “ชาวลำปาง ร่วมใจช่วยรถม้า” ณ บริเวณสวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา พร้อมนั่งรถม้าชมเมืองผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของลำปาง

โครงการ “ชาวลำปาง ร่วมใจช่วยรถม้า” เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย-ลำปาง สโมสรโรตาลี่ดอยพระบาท บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการนำเที่ยวรถม้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อต่อลมหายใจคนขับรถม้าให้อยู่คู่กับคนลำปาง โดยมีการมอบกรมธรรม์ประกันชีวิต สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่างๆแก่ผู้ขับรถม้า พร้อมมอบอาหารสำหรับม้า

Advertising

เอนก ลงนามผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงป้อนธุรกิจ-อุตสาหกรรม โวอีก 16 ปีไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

People Unity News : เอนก เผย อว. จะผลิตกำลังคนที่มีทักษะตอบสนองเป็นพิเศษต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม พร้อมพลิกโฉมมหาวิทยาลัยทุกด้านให้จบออกมาทำงานได้ทันที ตั้งเป้า 16 ปี ไทยเริ่มออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง

26 ตุลาคม 2564  ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงนโยบายการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของ อว. หลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการระบบพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ระหว่าง สำนักงานปลัด อว. กับ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ประธานสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ว่า ประเทศไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะมีกำลังคนที่ทันโลก มีฐานทรัพยากรที่หลากหลาย และมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ การลงนามบันทึกข้อตกลง ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพื่อเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรกำลังคนที่จะมีความสามารถอย่างแท้จริงตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในอนาคต นั่นคือโอกาสสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านทั้งเทคโนโลยีด้านนวัตกรรม ซึ่งด้านทรัพยากรหรือกำลังคนสมรรถนะสูงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเป็นองค์ประกอบหลักต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการ ดังนั้น การผลิตกำลังคนที่มีทักษะตรงกับความต้องการอย่างเป็นระบบ จึงเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถดึงดูดการลงทุนทั้งในภาคการผลิตและบริการได้ โดยหากประเทศไทยสามารถสร้างระบบการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพได้จะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดมาตรการการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“อว. พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการทำในสิ่งที่ตอบสนองต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อว. ได้ปวารณาตัวว่าจะเป็นกลไกลหลักในการขยับไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและหลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ภายใน 16 ปีข้างหน้า และภายใน 10 ปีนี้ อว. จะมีเครื่องมือและสรรพกำลัง มีแผนยุทธศาสตร์ที่เป็นเลิศทั้งด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สิ่งที่ อว. จะเร่งทำต่อไปคือการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย ทั้งด้านการเรียนการสอนแบบใหม่ การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดีขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ก้าวหน้า รวมถึงการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญสูง จบออกมาใช้งานได้ทันที พร้อมยังสนับสนุนในทุกด้าน สิ่งใดที่ติดขัด เป็นข้อจำกัด ที่จะให้การทำงานลำบาก ก็พร้อมให้ใช้กระบวนการแซนด์บอกซ์ ตนหวังว่าการลงนามในวันนี้จะไม่เป็นเพียงการร่วมมือระยะสั้น แต่จะกลายเป็นการสร้างระบบการจัดการทรัพยากรกำลังคนที่มีคุณภาพของประเทศที่จะเกิดขึ้นต่อไปอย่างมากมายในอนาคต” ดร.เอนก กล่าว

Advertising

โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้เข้าร่วมครบแล้ว 28 ล้านสิทธิ์

People Unity News : โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้เข้าร่วมครบแล้ว 28 ล้านสิทธิ์

24 ต.ค.64 ภายหลังจากกระทรวงการคลัง ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนคนละครึ่ง ระยะที่ 3 บนเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อจากภาครัฐที่เป็นการใช้จ่ายแบบ Co-pay โดยรัฐช่วยจ่ายวันละ 150 บาท จำนวน 4,500 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติเพิ่มวงเงินสนับสนุน โดยจะโอนเงินเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตังให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์อีก 1,500 บาท ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ล่าสุดจากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เต็มจำนวน 28 ล้านสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จให้ทำการยืนยันตัวตนเพิ่มเริ่มใช้สิทธิ์แล้ว จะได้รับการโอนเงินเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตังทั้งสิ้น 3,000 บาท และจะได้เงินเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตังให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์อีก 1,500 บาท ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 สำหรับผู้ได้รับสิทธิ์รายใหม่ต้องยืนยันตัวตนทุกคน ส่วนผู้ได้รับสิทธิ์รายเดิม เฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนที่สาขาธนาคารกรุงไทย หรือตู้ ATM สีเทา ของธนาคารกรุงไทย ต้องนำบัตรประชาชนไปยืนยันตัวตนที่สาขาธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ หรือตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ตรวจสอบว่าเป็นตัวท่านจริง ป้องกันการแอบอ้างสวมสิทธิ์

Advertising

ธ.ก.ส. จับมือไปรษณีย์ไทย ขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ช่วยเกษตรกร-SMEs

People Unity News : ธ.ก.ส. ร่วมกับไปรษณีย์ไทย ยกระดับการจัดการสินค้าเกษตรไทยแบบครบวงจร ทั้งการผลิต แปรรูป การเพิ่มช่องทางจำหน่ายและตลาดรองรับสินค้าเกษตรส่งตรงสู่ผู้บริโภค ทั้งทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com และออฟไลน์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ พร้อมรับส่วนลดพิเศษ เมื่อซื้อสินค้าจากลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ www.thailandpostmart.com ตลอดทั้งเดือน พ.ย.นี้

20 ต.ค.64 นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มุ่งสนับสนุนช่องทางการตลาดที่หลากหลายให้กับเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการ SMEs เกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และสถาบันเกษตรกร เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ โดยร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดำเนินโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดและระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรเพื่อยกระดับเศรษฐกิจภาคการเกษตรไทย เพื่อพัฒนาและยกระดับการจัดการผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนสินค้าเกษตรแปรรูปครบวงจร ทั้งในด้านวางแผนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพและการพัฒนาคุณภาพผลผลิต รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลูกค้าและผู้ประกอบการมีโอกาสในการขายสินค้าและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ได้รับผลผลิตและสินค้าทางการเกษตรที่ดี มีคุณภาพ มีมาตรฐานรับรองจากเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเกษตรโดยตรง

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะคัดเลือกสินค้าทั้งที่เป็นสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูปที่มีคุณภาพดี จากผู้ผลิตโดยตรงกว่า 200 รายการ เช่น กล้วยตาก ตราจิราพร จังหวัดพิษณุโลก  หมอนยางพารา ตรา PARATO จังหวัดอุบลราชธานี  กล้วยหอมทอง บรรจุกล่อง จากสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี กาแฟคั่วบด ตราถ้ำสิงห์ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ จังหวัดชุมพร เป็นต้น  โดยนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์นำมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ www.thailandpostmart.com และช่องทางออฟไลน์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะดำเนินการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรหรือสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีการสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ข้างต้น ไปยังผู้บริโภคโดยตรง โดยคิดอัตราค่าบริการในราคาพิเศษ และเพื่อเป็นการขอบคุณผู้บริโภคที่ร่วมสนับสนุนการซื้อสินค้าจากเกษตรกร ผู้ประกอบการภาคการเกษตรดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com เพียงกรอกรหัส “BAAC55” รับส่วนลดทันที 55 บาท จำนวน 1,500 สิทธิ์เท่านั้น ระยะเวลากิจกรรมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน 2564

Advertising

ครม.เห็นชอบโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs วงเงิน 37,521.69 ล้านบาท

People Unity News : ที่ประชุม ครม. วานนี้ เห็นชอบอนุมัติโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs กรอบวงเงินจำนวน 37,521.69 ล้านบาท ช่วยลูกจ้าง-นายจ้างเดินหน้า พยุงเศรษฐกิจ

วานนี้ 19 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติ กรอบวงเงินจำนวน 37,521.69 ล้านบาท สำหรับโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ครอบคลุมเป้าหมายนายจ้างในธุรกิจ SMEs จำนวน 394,621 แห่ง ลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs จำนวน 4,236,320 คน

โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้าย พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการจัดหางาน กำหนดเงื่อนไขให้นายจ้างที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการโดยต้องลงทะเบียนและจัดส่งข้อมูลผ่านระบบ e-Service รวมถึงประสานสำนักงานประกันสังคมในการเร่งประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างกลุ่มเป้าหมายทราบถึงขั้นตอนดังกล่าว และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือในการจัดส่งข้อมูลผ่านระบบ e-Service เพื่อให้กรมการจัดหางานสามารถจ่ายเงินอุดหนุนได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานตามข้อเสนอโครงการ รวมถึงจะช่วยส่งเสริมนโยบายการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ครม.ยังได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการและดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป

“โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs จะช่วยลดปัญหาการว่างงาน โดยให้นายจ้างรักษาระดับการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs ไม่ให้ถูกเลิกจ้าง มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และได้รับโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเหลือนายจ้างลดค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างสัญชาติไทย ให้สามารถรักษาระดับการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยคาดการณ์ว่าจะรักษาระดับการจ้างงาน จำนวน 4,034,590 คน และส่งเสริมการจ้างงานใหม่ จำนวน 201,730 คน” นายธนกร กล่าว

Advertising

อนุญาตปลูกกัญชงไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ พร้อมสนับสนุนให้แปรรูปส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ

People Unity News : อนุญาตปลูกกัญชงไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ พร้อมสนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ

16 ตุลาคม 2564 นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชง (Hemp) เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ซึ่งกฎกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อ วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนทั้ง เกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตและนำกัญชงไปใช้ในทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์และการค้า เพื่อนำส่วนต่างๆของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ทั้งยา อาหาร เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น

หลังจากการปลดล็อคกัญชง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ขณะนี้มีผู้ขออนุญาตผลิต (ปลูก) เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม โดยได้รับอนุญาตแล้ว 324 ราย เนื้อที่ 3,250 ไร่ และอยู่ในระหว่างออกใบอนุญาต 127 ราย และขออนุญาตเพื่อศึกษาวิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ ได้รับอนุญาตแล้ว 34 ราย และอยู่ในระหว่างออกใบอนุญาต 11 ราย สำหรับในส่วนของการนำเข้า มีผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง 86 ราย จำนวน 6,179,304 เมล็ด มูลค่า 926,895,600 บาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก อย. พร้อมส่งเสริมกัญชงให้เป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน รวมทั้งพร้อมสนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อส่งออกนำรายได้เข้าประเทศต่อไป

Advertising

Verified by ExactMetrics