วันที่ 28 เมษายน 2024

ประยุทธ์ เตรียมเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง จันทร์ที่ 14 มี.ค.นี้

People Unity News : ประยุทธ์ เตรียมเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง จันทร์ที่ 14 มี.ค.นี้

12 มีนาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเป็นประธานเปิด “เที่ยวบินปฐมฤกษ์  ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา” วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2565 ณ อาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานเบตง ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

นายธนกรกล่าวว่า สนามบินเบตง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 แล้วเสร็จเมื่อปี 2562 อาคารที่พักผู้โดยสาร มีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ประมาณ 300 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้ 876,000 คนต่อปี ทางวิ่งหรือรันเวย์มีขนาดความยาว 1,800 เมตร รองรับได้เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินแบบใบพัด ATR 70-80 ที่นั่ง สำหรับเส้นทางบินและการขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทางให้สัญจรไปมาได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่

“สนามบินเบตง จังหวัดยะลา เริ่มหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเห็นชอบในหลักการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2559 – 2561) เพื่อจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอําเภอเบตงของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีมุ่งหวังให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นซึ่งจะส่งผลในเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ด้วย อีกทั้งสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างการพาณิชย์ในระดับประเทศและต่างประเทศ และยังส่งเสริมการรองรับตลาดการท่องเที่ยว การพาณิชย์ เพื่อการลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น โดยเฉพาะรัฐปีนัง เคดาร์ เปรัค ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดน รวมทั้งเพื่อเป็นการพัฒนาสภาพสังคม จิตวิทยา การเมือง การปกครองของ ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งเพื่อสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายเปิดการค้าเสรีอาเซียนของรัฐบาล” นายธนกร กล่าว

Advertising

ก.คลังเผยยอดใช้จ่ายการบริโภค 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อ มีผู้ใช้สิทธิ 40.72 ล้านราย วงเงิน 53,889.99 ลบ.

People Unity News : ก.คลังเผยยอดใช้จ่ายการบริโภคผ่าน 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อ มีผู้ใช้สิทธิรวม 40.72 ล้านราย ยอดใช้จ่ายรวม 53,889.99 ล้านบาท

4 มี.ค. 2565 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศปี 2565 ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 พบว่า จากข้อมูลสะสม ณ วันที่ 3 มีนาคม 2565 ณ เวลา 23.00 น. มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 40.72 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 53,889.99 ล้านบาท โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้

  1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 13.28 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 4,116.12 ล้านบาท
  2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 1.21 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 352.97 ล้านบาท
  3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 (ประชาชนกลุ่มเดิมฯ) จำนวน 25.46 ล้านราย ซึ่งมียอดใช้จ่าย 48,384.0 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 (ประชาชนกลุ่มใหม่ฯ) จำนวน 7.7 แสนราย ซึ่งมียอดใช้จ่าย 1,036.9 ล้านบาท รวมมีผู้ใช้สิทธิทั้งหมดจำนวน 26.23 ล้านราย และยอดการใช้จ่ายรวม49,420.9 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 25,104.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 24,316.2 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 20,417.0 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 8,553.9 ล้านบาท ร้านOTOP 2,213.6 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 17,279.6 ล้านบาท ร้านบริการ 867.7 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 89.1 ล้านบาท โดยมีประชาชนที่ได้รับสิทธิทั้งหมด 26.38 ล้านราย ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มเดิมฯ ที่กดยืนยันสิทธิและมีการใช้สิทธิโครงการฯ ระยะที่ 4 แล้ว จำนวน 25.46 ล้านราย จากจำนวนผู้ใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวน 26.35 ล้านราย สำหรับผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 4 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วจำนวน 1.35 ล้านราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่  2.58 หมื่นราย

สำหรับข้อมูลการใช้จ่ายสะสมผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีการใช้จ่ายสะสม 1,424.7 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 737.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย  687.4 ล้านบาท และในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ที่ขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มมีจำนวน 9.23 หมื่นราย

ทั้ง 3 โครงการดังกล่าวข้างต้น ประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการร้านค้ารายใหม่ยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ผ่าน www.คนละครึ่http://xn--72c.com/ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยในพื้นที่หรือสาขาธนาคารกรุงไทยฯ ได้อย่างต่อเนื่องจนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศปิดรับสมัคร

Advertising

ครม. ไฟเขียว 2 มาตรการภาษี ดึงต่างชาติศักยภาพสูงเข้าประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

People Unity News : ครม. ไฟเขียว 2 มาตรการภาษี ดึงต่างชาติศักยภาพสูงเข้าประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

23 ก.พ. 2565 ที่ประชุม ครม. เมื่อวาน (22 ก.พ. 65) อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร โดยเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงทางด้านเศรษฐกิจ/ความรู้ความเชี่ยวชาญสู่ประเทศไทย กระตุ้นการบริโภค การลงทุน และขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศเพิ่มขึ้น ดังนี้

1.การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (LTR Visa) 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย

2.การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 17% สำหรับผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี หากจบการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงาน 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

Advertising

ประยุทธ์ พอใจเศรษฐกิจไทยปี 64 เติบโต 1.6% สูงกว่าคาด

People Unity News : ประยุทธ์ พอใจเศรษฐกิจไทยปี 2564 เติบโต 1.6% สูงกว่าคาด ย้ำเดินหน้าฟื้นฟูประเทศในภาคท่องเที่ยว เร่งการลงทุนภาครัฐ ผลักดันการส่งออก ดูแลปัญหาหนี้สินครัวเรือน พร้อมจำกัดวงการแพร่ระบาดโควิด-19

22 ก.พ. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/64 และทั้งปี 2564 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 1.6% ซึ่งสูงกว่าที่ สศช. ได้ประมาณการไว้ 1.2%

ทั้งนี้ การเติบโตในหลายส่วนก็เป็นผลจากมาตรการต่างๆของรัฐบาล เช่น การบริโภคของประชาชนที่ดีขึ้นจากที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยา แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย การบริโภคและลงทุนของรัฐที่เติบโตจากการเร่งรัดการเบิกจ่าย ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจากการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการที่ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนทั้งด้านการป้องกันและรักษาจากโรคโควิด-19

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพอใจกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญกับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก โดยรัฐบาลได้พยายามทุกวิถีทางอย่างเต็มที่ในการดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

สำหรับปี 2565 ที่สภาพัฒน์ได้ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายด้านแต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าในปี 2565 นี้รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการดูแลการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด

โดยรัฐบาลจะรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมาได้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในครัวเรือน ที่จะมีการดูแลกลไกต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชน แก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนให้ต่อเนื่อง  ฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐทั้งส่วนของรายจ่ายประจำและการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่การลงทุนเอกชนจะดำเนินนโยบายสนับสนุนทั้งการฟื้นตัวและลงทุนของนักลงทุนไทย และการดึงดูดลงทุนของต่างชาติ ตลอดจนการขับเคลื่อนการส่งออกที่ปีนี้จะยังคงได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายกระทรวงการคลังและ สศช. ในการเฝ้าติดตามประเด็นความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ  เช่น กรณีที่เกิดไวรัสกลายพันธุ์  นโยบายเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารประเทศต่างๆ ที่เริ่มปรับตัวตามแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วโลก ตลอดจนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดในบางพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

Advertising

ประยุทธ์ หารือ หอการค้าร่วมต่างประเทศ แสวงหาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน

People Unity News : ประยุทธ์ หารือ หอการค้าร่วมต่างประเทศ ยืนยันพร้อมร่วมมือทุกมิติ มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ Upskill – Reskill

วันนี้ (17 ก.พ. 65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้การต้อนรับ นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อหารือด้านความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และแก้ไขปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคระหว่างกันจากสถานการณ์โควิด-19

ด้านประธาน JFCCT ขอบคุณรัฐบาลสำหรับการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนทางการค้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และแสดงความเชื่อมั่นนโยบายการเปิดประเทศของไทย และพร้อมสนับสนุนการพัฒนาทักษะของทรัพยากรบุคคล (Upskill – Reskill) ผ่านการอบรม และใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะถ่ายทอด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งไทยกำหนดให้ “ประเทศไทย 4.0” เป็นแนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นโยบายสีเขียว BCG Model และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 และให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการดำเนินธุรกิจของ ภาคเอกชนบนพื้นฐานของ ESG จะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

Advertising

ออมสิน ผลักดันปี 65 ปีแห่งการแก้หนี้สินภาคครัวเรือน วาระแห่งชาติตามนโยบายรัฐ

People Unity News : ออมสิน ผลักดัน ปี 65 ปีแห่งการแก้หนี้สินภาคครัวเรือน วาระแห่งชาติตามนโยบายรัฐ

15 ก.พ. 65 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งดำเนินการแก้ไขหนี้สินให้กับประชาชน ให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน ธนาคารออมสินตระหนักถึงสภาพปัญหาที่ลูกหนี้หรือประชาชนต้องเผชิญกับความยากลำบากที่เกิดขึ้น  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ต้องขาดรายได้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารจึงได้ออกมาตรการ “ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกหนี้ NPLs” จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้ต้องกังวลเรื่องคดีความ และขับเคลื่อนนโยบายรัฐในการช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ มาตรการชะลอหรือผ่อนปรนการดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกหนี้ NPLs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโควิด 19 ครั้งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ที่กลายเป็น NPLs ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วยสินเชื่อ 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อบุคคล-รายย่อย สินเชื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา และ สินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยธนาคารจะชะลอการฟ้องคดีต่อศาลไว้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งรวมถึงลูกหนี้ที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาล และมีการผ่อนชำระดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่มาเริ่มค้างชำระในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 – 31 ธันวาคม 2564 ธนาคารจะชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย โดยชะลอไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณีตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย

อนึ่ง ในปี 2564 มีลูกหนี้ที่เป็น NPLs ที่ได้รับประโยชน์ หรือความช่วยเหลือจากมาตรการชะลอการดำเนินการทางกฎหมายจำนวนมาก และปัจจุบันลูกหนี้ดังกล่าวมีสถานะปกติแล้ว ดังนั้น ธนาคารจึงขอแนะนำให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหา โปรดติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 นี้.  https://www.gsb.or.th/news/gsbpr3-65/

Advertising

รัฐบาลเปิดแผนโครงการรถไฟ “ไทย-ลาว-จีน” รองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ

People Unity News : รัฐบาลเปิดแผนโครงการรถไฟ “ไทย – ลาว – จีน” รองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ

14 ก.พ. 65 จากโครงการรถไฟลาว – จีน ที่เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลพร้อมเดินหน้าเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟไทย ลาว และจีน เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ ด้วยแผนดำเนินการเชื่อมโยงรถไฟระหว่าง 3 ประเทศ ดังนี้

✔️แผนการก่อสร้างของ รฟท.

🚝โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา มีระยะทาง 250 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา  ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการ ปี 2569

🚝โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย เป็นส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 รวมระยะทางโดยประมาณ 356 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA คาดว่าจะเปิดให้บริการ 2571

🚝โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย มีระยะทางโดยประมาณ 167 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 15 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือน ก.พ. 2565

✔️การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน

🚝เพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวนและขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ โดยกรมทางหลวงทำการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟ ในระดับ U-20 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพานต่อไป

🚝ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่แล้ว ห่างประมาณ 30 เมตร ที่มีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน และทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันได้ข้อตกลงว่าฝ่ายไทยและลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย (อยู่ระหว่างหาข้อสรุปของผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบ)

✔️ การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า

พื้นที่ด่านศุลกากรหนองคายคาดว่ามีความสามารถในการรองรับรถบรรทุกได้สูงสุด 650 คันต่อวัน แนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย – ลาว ที่ใช้ขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะเร่งด่วน : การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า

ระยะยาว : การพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต)

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคเอกชนต่อการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างรอบด้าน จึงจำเป็นต้องมีการรับฟังความเห็นของภาคเอกชน เพื่อเป็น Team Thailand ร่วมกับภาครัฐของไทย ในการจัดทำแผนเชื่อมโยงระหว่างสามประเทศทั้ง ไทย ลาว และจีนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย

Advertising

รัฐบาลชวนสายเที่ยว-บริษัททัวร์ ร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทย เผยเหลือสิทธิ์กว่า 168,000 สิทธิ์

People Unity News : รัฐบาลเชิญชวนสายเที่ยว-บริษัททัวร์ ร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทย เผยเหลือสิทธิ์กว่า 168,000 สิทธิ์ นายกรัฐมนตรีกำชับปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคเข้มงวด

11 ก.พ. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาโครงการทัวร์เที่ยวไทยจากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.พ. 2565 ไปสิ้นสุด พ.ค. 2565 ขณะนี้ระบบได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนซื้อรายการนำเที่ยว บริษัทนำเที่ยวรายเดิมเริ่มส่งรายการนำเที่ยว และบริษัทนำเที่ยวรายใหม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้แล้ว จึงขอเชิญชวนทั้งประชาชนที่สนใจ และผู้ประกอบการนำเที่ยวเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถดำเนินการขอรับสิทธิตามโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์ โดยสามารถตรวจสอบแพ็คเกจท่องเที่ยวของบริษัทนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย ซึ่งมีการจัดแบ่งกลุ่มให้เลือก 3 กลุ่ม  ประกอบด้วยกลุ่ม silver เป็นแพ็คเกจทัวร์ราคาถูก กลุ่ม Gold แพ็คเกจทัวร์ราคาปานกลาง และกลุ่ม Platinum แพ็คเกจทัวร์ราคาสูง

ขณะที่ผู้ประกอบการนำเที่ยวรายเดิมสามารถยื่นรายการนำเที่ยวส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและศึกษารายละเอียดขั้นตอนและหลักเกณฑ์ตามโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย  ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 9 ก.พ. 2565 เหลือสิทธิตามโครงการกว่า 168,000 สิทธิ จากที่รัฐบาลให้สิทธิ 2 แสนสิทธิ

สำหรับสิทธิตามโครงการนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนส่วนลดค่าแพ็คเกจท่องเที่ยวในประเทศให้ประชาชนผู้ร่วมโครงการ 40% แต่ไม่เกิน 5,000 บาท/สิทธิ โดยให้ 1 สิทธิต่อคน  รวมทั้งหมด 2 แสนสิทธิ  โดยผู้จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป และจะไม่สามารถใช้แพ็คเกจท่องเที่ยวของโครงการทัวร์เที่ยวไทยในช่วงเวลาเดียวกับการเข้าพักโรงแรม/ที่พักของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ได้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  ได้กำชับว่าเนื่องจากขณะยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงขอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้มงวดในเรื่องของการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวภายใต้โครงการฯ และกำกับให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวดูแลนักท่องเที่ยวตามมาตรการป้องกันโรคโดยเคร่งครัด

Advertising

ก.เกษตร-ก.พาณิชย์ ทำโครงการ “ข้าวแกง 20 บาท” บรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน

People Unity News : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ นำร่อง “ร้านข้าวแกง 20 บาท” บางพลัด – บางกอกน้อย บรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ตั้งเป้าขยายทั่ว กทม. ร้านที่สนใจ ติดต่อ สายด่วนธงฟ้า 1569

7 ก.พ. 65 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน จัดโครงการ “ข้าวแกง 20 บาท ถูกใจชุมชน” นำร่อง 10 ร้านค้า ในชุมชนเขตบางพลัดและบางกอกน้อย เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน โดยโครงการฯ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ปัจจัยการผลิต และวัตถุดิบต่างๆ เช่น เนื้อไก่ ไข่ไก่ ให้พ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการนำไปปรุงเป็นข้าวแกง จำหน่ายแก่ประชาชนในราคา 20 บาท

รวมถึงมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวแก่ตัวแทนชุมชนเพื่อไปปลูกใช้ในครัวเรือน และหากเหลือใช้สามารถนำส่งขายแก่ร้านข้าวแกงในโครงการฯได้ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายให้มีร้านข้าวแกง 20 บาททั่ว กทม. ชุมชนละอย่างน้อย 1 ร้าน ร้านข้าวแกงที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ติดต่อได้ที่ ไลน์แอด @khowgang20baht หรือ โทร. 025075682 หรือสายด่วนธงฟ้า 1569

Advertising

เริ่มแล้ว!โครงการ “บอกดิน 3” 1 ก.พ.-30 มิ.ย. 65 รับแจ้งข้อมูลตำแหน่งที่ดินที่ยังไม่เป็นโฉนด

People Unity News : 6 ก.พ. 65 เริ่มแล้ว! โครงการ “บอกดิน 3”  สำหรับการแจ้งข้อมูลตำแหน่งที่ดินทุกประเภทที่ยังไม่เป็นโฉนดที่ดิน เริ่ม 1 ก.พ. – 30 มิ.ย. 65 โดยจะนำตำแหน่งที่ดินที่แจ้งไปตรวจสอบเบื้องต้นสำหรับใช้ในการจัดทำแผนงานด้านการบริหารจัดการที่ดินของรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงใดและยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ขอให้ดำเนินการดังนี้

> นำโทรศัพท์มือถือที่มีอินเทอร์เน็ตไปยืนบริเวณกลางแปลงที่ดิน

> กดลิงค์ https://bokdin3.dol.go.th หรือท่านที่ดาวน์โหลดแอปฯ “SmartLands” ไว้แล้ว ให้คลิกเลือกเมนู “บอกดิน” แล้วทำการกดแจ้งตำแหน่งที่ดิน

> รอค่าพิกัดขึ้น จากนั้นกรอกข้อมูลเจ้าของที่ดิน ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ เลือกหลักฐานในที่ดินที่มี เช่น น.ส. 3 น.ส. 3 ก.

> หากไม่มีหลักฐานอะไรเลย ให้เลือกอื่นๆ แล้วกดส่ง เป็นเสร็จสิ้น แล้วให้รอการแจ้งกลับจากกรมที่ดิน (ส่วนที่เป็นโฉนดที่ดินแล้ว ไม่ต้องกดแจ้งตำแหน่งที่ดิน)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ DOL Call Center : 0 2141 5555 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

Advertising

Verified by ExactMetrics