วันที่ 8 พฤษภาคม 2024

ประยุทธ์ ประกาศต่อที่ประชุมผู้นำ COP26 ไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือเพียง 0.72%

People Unity News : พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ COP26 ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง ย้ำต้องหยุดทำร้ายธรรมชาติเพราะไม่มีโลกใบที่สองเหมือนโลกนี้อีกแล้ว

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งตรงกับเวลา 23.00 น. ของไทย) ณ ศูนย์การประชุม The Scottish Event Campus พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสาระสำคัญการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมยืนยันไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกเพื่ออนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่ไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 2015 เพราะไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกเพียงร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยจึงอยู่ในกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเป็นภาคีของความตกลงปารีส และไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง แข็งขัน

ในส่วนของไทย ได้กำหนดเป้าหมาย NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Actions) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อย ร้อยละ 7 ภายในปี ค.ศ. 2020 แต่ไทยสามารถทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงกว่า 2 เท่า ก่อนกำหนดเวลาถึง 1 ปี เพราะในปี ค.ศ. 2019 ไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วถึงร้อยละ 17 นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศแรกๆที่จัดส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) และได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำให้กับ UNFCCC รวมถึงได้จัดทำแผนงานต่างๆในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. 2050

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 (ค.ศ. 2022) ว่าไทยได้กำหนดให้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ เป็นวาระหลักในการประชุมฯ

ซึ่งในตอนท้ายของการประชุมนายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันดูแล รักษาโลก เพราะ “เราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องการรักษา เยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี ‘โลกที่สอง’ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว”

ทั้งนี้ ภายหลังนายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมฯ เวลา 19.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งตรงกับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 02.00 น. ของไทย) ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Kelvingrove นายกรัฐมนตรีได้ร่วมงานเลี้ยงรับรองสำหรับผู้นำที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ของสหราชอาณาจักรเข้าร่วมในโอกาสดังกล่าวด้วย

Advertising

ประยุทธ์ ประชุม IMT-GT เสนอพลิกโฉมท่องเที่ยว-เกษตร-ฮาลาล เชื่อมการค้าการลงทุนอนุภูมิภาค

People Unity News : นายกฯ เข้าร่วมการประชุมผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย (IMT-GT) ครั้งที่ 13 มุ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-เกษตร-ฮาลาล เชื่อมโยงการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาค

วันนี้ (28 ตุลาคม 2564) เวลา 10.15 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 13 (IMT-GT Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นายอิซมาอิล ซับรี ยักกบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธาน ADB เข้าร่วม โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานการประชุมเชื่อมั่นว่าประเทศสมาชิกจะสามารถพัฒนาผ่านดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของ IMT-GT ได้อย่างมีศักยภาพภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และเชื่อมั่นว่าจากความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนจะทำให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ ได้รวดเร็วขึ้นและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ขณะเดียวกันปัจจัยอื่นๆที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคนี้จะเป็นประโยชน์

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิดอาจทำให้กระทบต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯบ้าง อินโดนีเซียมีข้อเสนอว่าควร 1. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาถนนและท่าเรือ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับสูงและยั่งยืน เช่น ดิจิทัลทางการเกษตร และ 3. เร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีนี้ว่า ยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงาน IMT-GT ในครั้งนี้ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก รวมถึงอนุภูมิภาค IMT-GT เป็นอย่างมาก แต่การดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในเชิงรุก ควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในทั้ง 3 ประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การให้ความช่วยเหลือประชาชนในหลายรูปแบบ ล้วนมีส่วนประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจของทุกประเทศให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตมาได้ ทั้งนี้ในส่วนของไทย ได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และได้เตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ผ่านโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” ซึ่งความสำเร็จของโครงการถือเป็นเครื่องยืนยันว่า ไทยมีความพร้อมที่จะเปิดประเทศ

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทั้งสามประเทศจะสามารถร่วมมือกันในลักษณะที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ให้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การร่วมกำหนดมาตรฐานด้านการท่องเที่ยววิถีใหม่ ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอย่างรัดกุม

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางความร่วมมือของ IMT-GT เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เร่งพัฒนาและต่อยอดการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงแนวคิด รวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างอุทยานธรณีโลก 3 ประเทศ เน้นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ 2.อุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด 3.อุตสาหกรรมฮาลาล ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก พร้อมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักของ IMT-GT ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.ความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมที่ไร้รอยต่อ สนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันเร่งรัดโครงการที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งพิจารณาโครงการใหม่ๆที่เกิดขึ้น เข้ามาบรรจุไว้ในโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (PCPs)

2.ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ เร่งรัดการลงนามกรอบความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกันโรคพืชและสัตว์ (CIQ) ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีภายในต้นปีหน้า เพื่อให้การข้ามพรมแดนและการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่าง 3 ประเทศมีความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น นำไปสู่การขยายตัวด้านการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาค

3.การเสริมสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินโครงการเมืองสีเขียว และโครงการตามแผนการลงทุนกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ของไทย ผ่านการระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการแล้ว

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อน IMT-GT ในระยะต่อไป ไม่เพียงแต่จะต้องตอบโจทย์วิสัยทัศน์ปี 2036 และเป้าหมายการพัฒนาของประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่จะต้องสอดรับกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลการประชุมในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ

Advertising

ผบ.กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก เยือนไทยกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร

People Unity News : ผบ.กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก เข้าเยี่ยมคำนับ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำสร้างสรรค์ ไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพกัน

11 ต.ค. 64 พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 11.00 น.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้การต้อนรับการเยี่ยมคำนับของ  พล.ร.อ.John C. Aquilino (จอห์น ซี อากีลีโน) ผบ.กกล.สหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก และคณะ  ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกองทัพไทย เพื่อแนะนำตัวและกระชับความสัมพันธ์

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับ พล.ร.อ.จอห์น ที่ได้รับตำแหน่ง ผบ.กกล.สหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก และขอขอบคุณสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนวัคซีน 2.5 ล้านโดส พร้อมตู้เก็บวัคซีน 200 ตู้ให้ไทย ต่อจากนั้น ทั้งสองฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในประเด็นต่างๆร่วมกัน ทั้งด้านความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโควิด 19 ความสัมพันธ์ทางทหาร การฝึกร่วมผสม Cobra Gold 2021 ความร่วมมือด้านการฝึกศึกษา ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งความร่วมมือในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลภายใต้กรอบความร่วมมือ กห.อาเซียน กับประเทศคู่เจรจา

และในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ของพันธมิตรที่เก่าแก่และแน่นแฟ้นระหว่างกัน ในการสนับสนุนและดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพ เสรีภาพและความมั่นคงของภูมิภาคร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจและการเคารพซึ่งกันและกัน

Advertising

ไทยโชว์เทคโนโลยีดิจิทัลประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว-สินค้าไทยในงาน World Expo 2020 Dubai

People Unity News : ไทยโชว์ศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัล ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและสินค้าไทย ในงาน World Expo 2020 Dubai

3 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมผลสำเร็จจากการเปิดต้อนรับผู้เข้าชมทั่วโลกอย่างเป็นทางการของอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” (Mobility for the Future) ในงาน World Expo 2020 Dubai ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้สร้างความเชื่อมั่นผ่านศักยภาพและความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมผ่านนโยบาย Digital Thailand 4.0 รวมถึงวิสัยทัศน์ในการมุ่งเป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาค” ควบคู่กับการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า การลงทุน การเดินทาง การขนส่งและจุดหมายการเดินทางของประชาชนทั่วโลก ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสต่อยอดตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย โอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังได้ชื่นชมโครงการที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนเยาวชนอาสาสมัครไทยมีส่วนร่วมและเป็นตัวแทนประเทศประจำอาคารแสดงประเทศไทย เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับรัฐบาล “พลิกโฉมประเทศไทย” ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อวันนี้และวันข้างหน้าสำหรับคนไทยทุกคน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าการแสดงศักยภาพของไทยในงาน World Expo 2020 Dubai จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้ ตลอดจนจะช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แผนการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ทั้งที่เริ่มดำเนินการแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โครงการสมุยพลัส โครงการส่วนขยายของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวระยะที่ 2 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง กระจายรายได้สู่ชุมชน และรักษาการจ้างงาน ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับ งาน World Expo ถือเป็น 1 ใน 3 ของงานยิ่งใหญ่ระดับโลก จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยงานมหกรรมโลก โดยอาคารแสดงประเทศไทย ประกอบด้วย 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ นิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ แนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต พื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ประกอบไปด้วย ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และ Showcase Thailand 4.0 การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย และเวทีการแสดงวัฒนธรรมประเพณีไทย

Advertising

“จุรินทร์” รุกตลาดกลุ่มประเทศยูเรเซีย เพิ่มการค้า-การลงทุน ผลักดันการเจรจา FTA

People Unity News : รัฐบาลกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย เพิ่มการค้า-การลงทุน ผลักดันสู่เจรจา FTA

23 กันยายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขยายตลาดการค้า การลงทุนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union) ประกอบด้วย ประเทศรัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาเมเนีย และคีกีซสถาน โดยจะมีการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission: EEC) ครั้งที่ 2 แบบทางไกล ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 27 ก.ย.นี้  โดยฝ่ายไทยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

ที่ผ่านมาไทยและกลุ่มประเทศยูเรเซีย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ผ่านกลไกคณะทำงานร่วม โดยในปี 2563 มูลค่าการค้ารวมประมาณกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศ สินค้าหลักที่ไทยนำเข้า คือ น้ำมันดิบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย ยาจำกัดศัตรูพืช สินแร่โลหะ เป็นต้น

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ ท่าทีของประเทศไทย จะมุ่งเน้นไปที่ 1) การหาแนวทางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 2) การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบาย กฏระเบียบด้านการค้าและการลงทุน เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย มาตรการเยียวยาทางการค้า กฎระเบียบด้านศุลกากรและกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรการสุขอนามัย จะผลักดันความร่วมมือในสาขา อาทิ นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล เกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG โมเดล) และความร่วมมือด้านยางพารา และ 3) ติดตามความคืบหน้าเรื่องการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และกระบวนการจัดทำ FTA ของแต่ละฝ่าย

“รัฐบาลอยู่ระหว่างการศึกษา และเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยทุกเรื่องได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วน สำหรับการประชุมกับกลุ่มประเทศยูเรเซียในครั้งนี้ ผลลัพธ์จะนำไปสู่การยกระดับและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง เป็นช่องทางสำคัญในการผลักดันการนำไปสู่การเริ่มต้นเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต” นางสาวรัชดากล่าว

Advertising

“บิ๊กตู่” กล่าวต่อที่ประชุม UN มุ่งการพัฒนายั่งยืนผ่านระบบสาธารณสุข โมเดลเศรษฐกิจ BCG และ Digital

People Unity News : ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงผ่านกิจกรรม SDG Moment มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านระบบสาธารณสุข โมเดลเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาด้าน Digital ในการประชุม UNGA สมัยที่ 76

20 กันยายน 2564 เวลา 21.41 น. (ซึ่งตรงกับเวลา 10.41 น. ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรม “Sustainable Development Goals (SDG Moment)” ครั้งที่ 2 ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 76 (76th Session of the United Nations General Assembly: UNGA76) ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่มีส่วนร่วมในกิจกรรม SDG Moment รัฐบาลไทยร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อดำเนินนโยบายและใช้งบประมาณให้ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศและนำไปสู่การบรรลุ SDGs ตลอดจนได้นำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจ (VNR: Voluntary National Review) ต่อสหประชาชาติ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีระบุถึงหมุดหมายที่สำคัญ 3 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ดังนี้

1.ส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนทุกช่วงอายุ โควิด-19 ได้ตอกย้ำความสำคัญของการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณสำหรับการประกันสุขภาพ ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุขอย่างพอเพียง เร่งด่วน  เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองในยามวิกฤตได้

2.สร้าง “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ผ่านการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานทดแทน และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตขนาดใหญ่ของโลก ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตรถไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ไทยทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030

3.ขจัดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาด้าน digital literacy เพื่อปลดล็อคศักยภาพให้แก่ประชาชนในประเทศ ใช้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP ที่เกิดจาก Big Data เพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย รวมถึงปัญหาความยากจนอื่นๆต่อไป

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

อนึ่ง กิจกรรม SDG Moment จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2563 ในรูปแบบการอภิปรายทั่วไปตามข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่ต้องการย้ำความสำคัญและสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ภายในปี ค.ศ.2030 เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไทยเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์แผนการขับเคลื่อน SDGs ของไทย โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นมาตรการฟื้นฟูจากโควิด – 19 ที่สร้างสมดุล

Advertising

นายกรัฐมนตรี หารือเอกอัครราชทูตศรีลังกาฯ เพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน

People Unity News : นายกรัฐมนตรี หารือเอกอัครราชทูตศรีลังกาฯ เพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน

6 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับนางโกโลนเน อัปปุหามิลาเค จมินทะ อิโนกา โกโลนเน (H.E. Mrs. Colonne Appuhamillage Chaminda Inoka Colonne) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไทยและศรีลังกา มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจต่อกัน ขอให้ทั้งสองประเทศเร่งการเจรจาการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) ไทย – ศรีลังกา เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในอนาคต

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความยินดีต่อศรีลังกาในการดำรงตำแหน่งประธานกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ซึ่งไทยพร้อมจะเข้าร่วมการประชุมฯ ที่ศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้ โดยไทยจะรับตำแหน่งประธาน BIMSTEC ต่อจากศรีลังกา หวังว่าศรีลังกาจะสนับสนุนไทยในการเป็นประธาน BIMSTEC โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างท่าเรือ

ด้านเอกอัครราชทูตศรีลังกาฯ กล่าวว่า ยินดีที่จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการเสริมสร้างการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะด้านการเกษตรและประมง

Advertising

ทูตเกาหลีเหนือเข้าพบ “อนุชา” สานต่อความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีเหนือ

People Unity News : ไทย-เกาหลีเหนือ ยินดีต่อความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่มีมาอย่างยาวนาน และพร้อมสานต่อความสัมพันธ์ต่อไป

เมื่อ 9 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายคิม เช พง (H.E. Mr. Kim Je Bong) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีประจำประเทศไทย ยินดีที่ไทยกับเกาหลีเหนือมีความสัมพันธ์เป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ยืนยันรัฐบาลไทยพร้อมทำงานร่วมกับเอกอัครราชทูตฯอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชื่นชมเกาหลีเหนือที่ได้จัดการกับภัยธรรมชาติพายุไต้ฝุ่นในประเทศเกาหลีเหนือได้อย่างเรียบร้อย

เอกอัครราชทูตฯขอบคุณรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่สละเวลาให้เข้าพบในวันนี้ พร้อมทั้งแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือที่มีความเป็นมิตรที่ดีแก่กันมาตลอดระยะเวลา 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ยืนยันพร้อมทำงานเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเอกอัครราชทูตฯชื่นชมรัฐบาลไทยที่ทำงานอย่างหนักเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ ประเทศไทยโชคดีที่รัฐบาลดำเนินมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นระยะเวลานาน เป็นที่ชื่นชมจากต่างชาติ พร้อมทั้งอวยพรเกาหลีเหนือให้ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดดูแลประชาชนให้ปลอดภัย

Advertising 

เอฟเอโอ ชื่นชมความก้าวหน้าการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

People Unity News : เอฟเอโอ ชื่นชมความก้าวหน้าการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยืนยันพร้อมสนับสนุนไทยด้านเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยรับมือโควิด19

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมาย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอุมาพร พิมลบุตร นายพิศาล พงศาพิชณ์ ตัวแทนหน่วยราชการในกระทรวง ให้การต้อนรับ นายจอง จิน คิม (Mr. Jong-Jin Kim) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการหารือครอบคลุมประเด็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิด (Hand in Hand initiative) และความร่วมมือแบบหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (South-South Cooperative Programmed) การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และการสนับสนุนโครงการในการพัฒนาด้านการเกษตร ระหว่าง FAO กับประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (FAO/RAP) ในการประเมินผลกระทบของโรคที่มีต่อภาคการเกษตร (the COVID-19 country assessment of impact and response option on food system, food security and nutrition and livelihoods) โดย FAO มีโครงการสนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหาหลัง COVID และสนับสนุนโครงการความร่วมมือที่มีอยู่เดิมได้แก่ การลดการสูญเสียอาหาร (National Food loss baseline) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (Center of Excellence on Soil Research in Asia : CESRA) และการขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกการเกษตรโลกที่จังหวัดพัทลุงและเพชรบุรี โดย FAO ชื่นชมความก้าวหน้าของการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยและยืนยันว่า FAO ยินดีสนับสนุนพร้อมทั้งขยายความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศไทย

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึงนโยบายปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเกษตร (Excellence center) ทั่วทั้งประเทศเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับแนวทางของ FAO เพื่อรับมือโจทย์สำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยทางอาหารและพร้อมขยายความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับ FAO ตามข้อเสนอที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน

สำหรับการพบหารือของผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเดินทางเข้าร่วมประชุมความร่วมมือกับทาง FAO ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงโรมของที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯเมื่อปลายปีที่แล้ว ตามมาด้วยการเดินทางมาเยือนไทยของผู้อำนวยการใหญ่ FAO (นายฉู ตงหยู) เมื่อวันที่ 17 -18 กุมภาพันธ์ 2563 โดยหารือความร่วมมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

Advertising

รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : ไทยและรัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรองรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมบทบาทของเอกอัครราชทูตฯตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซียเป็นอย่างดี มีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าไทยจะได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนระดับสูงของรัสเซียในปีนี้

เอกอัครราชทูตฯชื่นชมรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาล รับผิดชอบต่อนโยบายของไทยในหลายด้าน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัสเซียในฐานะที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และมีทรัพยากรด้านพลังงาน เชื่อว่ายังมีช่องทางที่เป็นโอกาสอีกหลากหลายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยพร้อมส่งเสริมกลไกที่ให้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่าจะร่วมมือผลักดันให้การค้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าพร้อมผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยฝ่ายไทยขอบคุณที่รัสเซียนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม และขอบคุณที่รัสเซียดูแลนักลงทุนไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และสนับสนุนความร่วมมือผ่านอุตสาหกรรม S-Curves ในสาขาต่างๆที่รัสเซียเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ยินดีจัดการหารือระหว่างรัสเซียและฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางลดข้อจำกัด เพื่อเพิ่มการลงทุนระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ฝ่ายรัสเซียได้ชื่นชมไทยด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยมีชาวรัสเซียที่เดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก จึงขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนการเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเป็นส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอให้ไทยพิจารณาความร่วมมือระหว่างระดับจังหวัดของไทยกับภูมิภาคของรัสเซียเป็นอีกช่องทางความร่วมมือด้วย

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : post 21 สิงหาคม 2562 เวลา 11.30 น.

Verified by ExactMetrics