วันที่ 21 มกราคม 2025

นายกฯยันจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา เพื่อกลั่นกรองข้อมูล – สื่อสาร

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 พฤศจิกายน 2567 นายกฯ “แพทองธาร” คาดแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย – กัมพูชา เข้าที่ประชุม ครม. อีก 2 สัปดาห์ ย้ำจำเป็นต้องมากลั่นกรองข้อมูล – สื่อสาร

วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2567) เวลา 11.45 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ถึงประเด็นที่ประชุม ครม. เห็นชอบแต่งตั้งคณะทางเทคนิคที่จะไปพูดคุยกับทางด้านประเทศกัมพูชา ว่า ยังไม่มีการแต่งตั้งวันนี้ยังไม่มีเรื่องดังกล่าวเข้าในที่ประชุม ครม. แต่คิดว่าไม่เกินอีกสองสัปดาห์จะมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.

ผู้สื่อข่าวได้ถามว่าเป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องพูดคุยเจรจา กับทางด้านประเทศกัมพูชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่อง MOU 44 ที่ได้พูดเมื่อวานต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อเจรจา อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องระหว่างประเทศเราต้องมีคณะกรรมการ และเป็นที่แน่นอนว่าทุกรัฐบาลมีมาแล้ว แต่รัฐบาลนี้ยังแต่งตั้งไม่แล้วเสร็จ แต่ถ้าแต่งตั้งแล้วเสร็จเมื่อมีคำถามหรือต้องสื่อสารกับประชาชนภายในประเทศหรือแต่ละประเทศอย่างไร คณะกรรมการนี้จะกรองเรื่องของข้อมูลและการสื่อสารก่อน เพราะฉะนั้นต้องมีการแต่งตั้งแน่นอน ตั้งไว้เพื่อเจรจากัน

ส่วนจะเป็นนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นั่งเก้าอี้เป็นประธานฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศแถลงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี  ระบุว่า คงต้องไปดูกันอีกที

Advertisement

 

นายกฯระบุหากไทยยกเลิก MOU 44 อาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 พฤศจิกายน 2567 นายกรัฐมนตรี ยืนยันเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ไม่มีการยกเลิก MOU 44 เตรียมตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทย คุย กัมพูชา ยืนยันรัฐบาล รักษาผลประโยชน์ให้คนไทย

วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2567) เวลา 15.00 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือพรรคร่วมรัฐบาล กรณี MOU 44 บันทึกข้อตกลงไทย – กัมพูชา  เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย – กัมพูชา โดยยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นมาตั้งนานแล้ว ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างรับรู้อยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นไปตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า เกาะกูด ไม่เคยมีปัญหากับทางกัมพูชา และไม่เคยมีข้อสงสัยในเรื่องนี้ อาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันของคนในประเทศไทยเอง  ซึ่งความจริงแล้วขอให้มั่นใจได้ว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย  ส่วน MOU 44 ยังคงอยู่ไม่สามารถมีการยกเลิกได้ หากจะยกเลิกต้องใช้ข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ  หากไทยยกเลิกเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจถูกฟ้องได้ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ

ส่วนรัศมีรอบเกาะกูดในพื้นที่ทะเล มีความชัดเจนอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า MOU ดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกาะกูด เพราะเส้นที่ตีหากไปดูทางกัมพูชาก็ได้ตีเส้นเว้นเกาะกูดไว้ เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกัน ซึ่งในการพูดคุยไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดิน แต่มีการพูดคุยทางทะเลในสัดส่วนที่มีการขีดเส้น ซึ่ง MOU มีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาใน MOU เป็นข้อตกลงจะมีการเจรจากันทั้งสองประเทศ นี้คือความหมายใน MOU 44 ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้น หรือต้องตกลงพูดคุยกันอย่างไร ต้องมีคณะกรรมการ คณะทำงานมาพูดคุยกัน ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการทางกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของไทยเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการด้วย เนื่องจากคณะกรรมการต้องจบไปตามรัฐบาล ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการนี้อยู่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ จะได้คณะกรรมการในเร็วๆ นี้ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการเสร็จสิ้น ก็จะมีการศึกษาและหารือกัน ว่าระหว่างประเทศจะดำเนินการข้อตกลงอย่างไร

ส่วนที่มีการมองว่า หากไม่ยกเลิก MOU 44 จะทำให้ไทยยอมรับเส้นของกัมพูชานั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด ไม่มีการยอมรับเส้นใด ๆ ซึ่ง MOU นี้ คือการที่คิดไม่เหมือนกันแต่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาได้ดำเนินการขีดเส้นมาก่อน เมื่อปี 2516 ประเทศไทยก็ดำเนินการขีดเส้นด้วย เมื่อขีดเหมือนกัน แต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงต้องมี MOU ขึ้นมา แล้วเปิดการเจรจา เป็นความเท่าเทียมกันว่าทั้งสองประเทศ จะต้องพูดคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร  โดย MOU นี้ไม่เกี่ยวข้องกันเกาะกูด และเกาะกูดก็ไม่ได้อยู่การเจรจา จึงขอให้คนไทยสบายใจได้ว่าจะไม่เสียเกาะกูดไป ซึ่งกัมพูชาไม่สนใจเกาะกูดของไทย เพราะไม่ได้อยู่ในการเจรจานี้ จึงขอให้ประชาชนอย่ากังวลเรื่องนี้

ขณะเดียวกันมีข้ออ้างว่า ไทยมีมติ ครม. ยกเลิก MOU 44 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้  ข้อเท็จจริงคือ mou 44 ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่มีการตกลงระหว่างสองประเทศ และเรื่องนี้ต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่มี และเมื่อปี 2552 ไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา และในปี 2557 พลเอกประยุทธ์ ยืนยันเป็นเนื้อเดียวกัน มีมติ ครม.ว่าไม่มีการยกเลิก

ส่วนมีกระแสให้มีการยกเลิก MOU 44  นายกรัฐมนตรี จะดำเนินการแก้ไขอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้ายกเลิกแล้วได้อะไร ซึ่งการยกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศอาจคิดไม่เหมือนกันได้ เมื่อคิดไม่เหมือนกันก็ต้องมีข้อตกลงเพื่อมาพูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ การรักษาความสงบของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นใน MOU นี้ เปิดให้ทั้งสองประเทศพูดคุยกัน ซึ่งหากไทยยกเลิกอาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน ไม่มีประโยชน์ใด ๆ  ซึ่งการหารือในวันนี้ ยืนยันว่าตนเองรับฟังเสียงคัดค้าน จึงมีการมาพูดคุยและทุกคนตกลงในเนื้อหาเดียวกันอย่างง่ายดาย และเข้าใจตามรายละเอียดว่า เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจเพื่อจะอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า  MOU ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด และ MOU เป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ  และไทยยังไม่ได้เสียเปรียบในเรื่องของการตกลงเรื่องนี้ อย่านำเรื่องการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน  ขอให้ทำความเข้าใจต่าง ๆ  ให้ตรงกันตามหลัก และพรรคร่วมรัฐบาล ก็เห็นด้วยในการเดินหน้า MOU ต่อในเรื่องนี้   ขณะนี้กัมพูชารอฝ่ายไทยตั้งคณะกรรมการ เพื่อเป็นตัวแทนไปพูดคุย เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่บานปลายหากทุกคนเข้าใจในหลักการ เพราะคือข้อเท็จจริง ยืนยันว่าไม่มีเบื้องหลังใด ๆ  แต่นี้คือกรอบเป็นไปตามกฎหมาย และเรื่องนี้ไม่เป็นเผือกร้อนในมือของตนเอง

ส่วนแนวทางของรัฐบาลไทยกับข้อตกลงผลประโยชน์ที่ทับซ้อนทางทะเล จะดำเนินการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคุยกันระหว่างประเทศพร้อมศึกษารายละเอียดจะสามารถแบ่งกันอย่างไร เพื่อทั้งสองประเทศได้ผลประโยชน์และเกิดความยุติธรรม เพราะหลายคนรู้ว่ามีก๊าซธรรมชาติ และสามารถลดต้นทุนพลังงานได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้รู้ในรายละเอียดต่าง ๆ ไปศึกษาร่วมกันทั้งสองประเทศ เพื่อให้ได้คำตอบต่อประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งอยู่ในกระบวนการต่อไป

ส่วนจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อพูดคุยกับกัมพูชาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเนคชั่นดี ๆ ได้ เปรียบเหมือนมีเพื่อนสนิท ก็สามารถคุยกับเพื่อนสนิทได้ แต่เรื่องผลประโยชน์แต่ละประเทศต้องใช้คณะกรรมการ เพื่อจะได้ไม่เกิดการต่อต้าน ซึ่งเรื่องของประเทศบางอย่างที่สำคัญต้องใช้กรรมการคุยกัน เพื่อจะเกิดความรู้ รู้ครบ และมีความยุติธรรม เป็นสิ่งสำคัญและยืนยันรัฐบาลนี้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างสูงสุด เพราะตนเองเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์และประเทศไทย คนไทย ต้องมาก่อน ดังนั้นรัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ประชาชนมีความสุขที่สุด นั่นคือสิ่งที่ต้องการ

Advertisement

“นพดล ปัทมะ” ยันเกาะกูดเป็นของไทยมาตลอด MOU 44 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 พฤศจิกายน 2567 รัฐสภา – “นพดล” ยืนยันเกาะกูดเป็นของไทยมาตลอด MOU 44 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด ขอเลิกบิดเบือนจุดกระแส เพื่อหวังผลทางการเมือง

นายนพดล ปัทมะ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกระแสการบิดเบือนว่าไทยจะเสียเกาะกูดและเอ็มโอยู 44 อาจนำไปสู่การเสียเกาะกูดว่า ข้อเท็จจริงคือเกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสมานานแล้ว และไม่มีใครสามารถยกเกาะกูดให้กัมพูชาได้ คนไทยไปเที่ยวได้ตลอด ตนไม่เคยได้ยินว่ากัมพูชาเรียกร้องสิทธิเหนือเกาะกูด จึงขอเรียกร้องให้เลิกปั่นกระแสไทยเสียเกาะกูดในขณะนี้ เพราะเป็นความเท็จ รัฐบาลนี้รักประเทศชาติ ไม่มีใครจะทำให้ไทยเสียดินแดน

ส่วนที่มีการบิดเบือนว่าเอ็มโอยู 44 จะทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น เห็นว่าเอ็มโอยู 44 ที่ลงนามโดยนายสุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด และเป็นกรอบในการเจรจาเรื่องพื้นที่ทางทะเลและพื้นที่พัฒนาร่วม เนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน สองประเทศเลือกวิธีเจรจาทางการทูต จึงเป็นที่มาของ เอ็มโอยู 44 เพื่อวางกรอบในการเจรจา บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้น มีการระบุชัดเจนว่าเนื้อหาของเอ็มโอยู 44 และการเจรจาจะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา อีกทั้งการเจรจานั้นจะต้องกระทำโดยคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) เจทีซี คนอื่นไปเจรจาไม่ได้ แม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น รัฐบาลก่อนนายเศรษฐา ทวีสินเป็น นายกรัฐมนตรี ก็เคยใช้การเจรจาตามกรอบของเอ็มโอยู 44 มาก่อน

นายนพดลกล่าวต่อว่า ตนไม่อยากให้นำเรื่องดินแดนมาบิดเบือนใส่ร้าย อย่างเช่นที่ตนเคยถูกกระทำในอดีต ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตนถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ทั้งๆที่ไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการใส่ร้ายว่า ตนยกเขาพระวิหารให้กัมพูชาจึงเป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง ซึ่งในเรื่องนี้ตนถูกฟ้อง แต่ศาลฎีกาก็ได้พิพากษายกฟ้องตนและในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์ ซึ่งถ้าไม่จุดกระแสคลั่งชาติเพื่อหวังผลการเมืองในขณะนั้น ไทยจะรักษาได้ทั้งดินแดนและความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา แต่เสียดายที่การจุดกระแสด้วยความเท็จ ทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปศาลโลกอีกครั้งหนึ่งเพื่อยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 จนมีคำตัดสินตีความคดีปราสาทพระวิหารเดิมออกมาในปี 2556 ซึ่งในคำพิพากษาก็ระบุชัดเจนว่ากัมพูชา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกรวมพื้นที่ซับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรตามที่ตนปกป้องไว้

“คนไทยไม่ว่าเสื้อสีอะไรรักชาติเท่ากัน อย่านำประเด็นรื่องดินแดนมาทำ เป็นประเด็นการเมืองเพื่อหวังบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลเลย ถ้ารักชาติจริง ต้องเอาความจริงและข้อกฎหมายมาพูดกัน นอกจากนั้นการเจรจาตามกรอบเอ็มโอยู 44 จะต้องกระทำโดยคณะกรรมการ เจทีซี ซึ่งที่ผ่านมาประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน กองทัพ กระทรวงการต่าง เป็นต้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ซึ่งรักชาติและมืออาชีพ เป็นไปได้อย่างไรที่บุคคลเหล่านี้จะทำให้ไทยเสียดินแดน” นายนพดล กล่าว

Advertisement

มหามงคล..คนไทยมีโอกาสสักการะ ”พระเขี้ยวแก้ว” ในรอบ 22 ปี อัญเชิญจากกรุงปักกิ่งให้คนไทยสักการะท้องสนามหลวง 73 วัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 31 ตุลาคม 2567 มหามงคล..คนไทยมีโอกาสสักการะ ”พระเขี้ยวแก้ว” ในรอบ 22 ปี หลังไทย-จีน เห็นพ้อง อัญเชิญจาก กรุงปักกิ่งให้คนไทยได้สักการะที่ท้องสนามหลวง 73 วัน ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนมพรรษา 6 รอบ และโอกาสความสัมพันธ์ มิตรภาพ ไทย-จีนครบ 50 ปี เริ่ม 4 ธันวาคมนี้ไปจนถึง 14 กุมภาพันธ์ปีหน้า

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบกรณีรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เห็นชอบร่วมกัน ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปี 2568  โดยเปิดให้ ประชาชน สักการะระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นเวลา 73 วัน ณ ท้องสนามหลวง และจะอัญเชิญกลับประเทศจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568

“ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เคยอนุญาตให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2545 ณ พุทธมณฑล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ซึ่งถือเป็น 1ใน 6 ครั้งที่ประดิษฐานนอกประเทศจีน  ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นสิริมงคลยิ่งต่อพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและชาวจีนในประเทศไทยที่มีโอกาส เข้าสักการะโดยไม่ต้องเดินทางไป ถึงกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน”

นายจิรายุกล่าวต่อไป ว่า”การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในไทยครั้งนี้ จะสานต่อมิตรภาพอันยาวนานระหว่างไทยกับจีนให้แน่นแฟ้น ผ่านสายสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนา และผลักดันการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างไทย- จีน และให้คำว่า“จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ยิ่งหยั่งรากลงลึกในจิตใจของประชาชนของทั้งสองประเทศ  ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดพิธีบวงสรวงการจัดสร้างมณฑปประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วในวันพรุ่งนี้ พุธที่ 30 ตุลาคม 2567 เวลา 14.00 น. ณ ท้องสนามหลวง โดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี”นายจิรายุ กล่าว

Advertisement

นายกฯต้อนรับเลขาธิการ OECD ย้ำไทยพร้อมเข้าเป็นสมาชิก เร่งปรับปรุงกฎระเบียบสู่มาตรฐานสากล

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 ตุลาคม 2567 รัฐบาล ต้อนรับเลขาธิการ OECD ย้ำไทยพร้อมเข้าเป็นสมาชิก เร่งปรับปรุงกฎระเบียบสู่มาตรฐานสากล ด้าน OECD ชื่นชมบทบาทไทยในอาเซียน พร้อมช่วยพลักดันนโยบายภาครัฐ ยกระดับการลงทุน-แข่งขัน-การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม

วันนี้ (วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567) เวลา 11.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายมาทีอัส คอร์มันน์ (Mr. Mathias Cormann) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเลขาธิการ OECD พร้อมขอบคุณสำหรับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดยยืนยันว่าไทยมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD รวมทั้งย้ำความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดของ OECD อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคผ่านเวทีระหว่างประเทศ เช่น APEC และ ASEAN ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกัน ไทยจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับภาคธุรกิจและการลงทุนจากประเทศสมาชิก OECD และนานาชาติมากขึ้น

ด้านเลขาธิการ OECD ยินดีอย่างยิ่งที่ไทยได้เข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD และชื่นชมประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือกันมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2548 พร้อมยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อสนับสนุนกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น รวมทั้งเชื่อมั่นว่าการเข้าเป็นสมาชิก OECD จะสร้างประโยชน์อย่างมากให้แก่คนไทย ช่วยผลักดันการปฏิรูปประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้น เพื่อให้กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและสอดรับกับเป้าหมายระหว่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกล่าวเชิญและหวังว่า OECD จะพิจารณาเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ขณะที่เลขาธิการ OECD ยินดีที่จะให้คำแนะนำและสนับสนุนกระบวนการปรับปรุงนโยบายภาครัฐของไทย โดยเฉพาะในด้านการลงทุน การแข่งขัน การศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องตามกรอบ OECD

อนึ่ง ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการหารือ (accession discussions) เพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD แล้วเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD มีทั้งหมด 3 ระยะ ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระยะที่ 2 โดยไทยและ OECD อยู่ระหว่างการหารือเพื่อร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินการเพื่อปรับนโยบายและกฎระเบียบ (Initial Memorandum) ให้บรรลุเป้าหมายตามแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ต่อไป

Advertisement

นายกฯ ร่วมงาน “Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024” กระตุ้นท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระชับสัมพันธ์ไทย-อินเดีย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 ตุลาคม 2567 นายกฯ “แพทองธาร” สวมชุดส่าหรีสีชมพู-เขียว ร่วมงาน “Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024” กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระชับความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย สร้าง “เสน่ห์” สร้างมูลค่า สร้างรายได้

วันนี้ (29 ต.ค. 67)  นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เวลา 18.00 น. ณ เวทีกลาง บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพฯ  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานในพิธีเปิดงาน  “Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024”  โดยมี   นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี  นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง   นางสาวธีรรัตน์  สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร   นายนาเคศ สิงห์ (H.E. Mr. Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย  พร้อมด้วยนายกสมาคมไทยอินเดีย ประธานหอการค้าอินเดีย-ไทย พี่น้องชาวไทยเชื้อสายอินเดียเข้าร่วมงาน

นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อสร้างโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์อันดีงาม ทางการทูตและการค้าระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอินเดีย ผ่านการจัดงานเทศกาลเชิงวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิต การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่หลากหลายของผู้คนในพื้นที่ในปี 2568 จะเป็นปี Amazing Thailand Grand Tourism & Sport Year  เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศชาติให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

นายกรัฐมนตรีชมการแสดงเชิงวัฒนธรรมชุดพิเศษจากแดนภารตะ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาร่วมงานเทศกาล Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ที่ได้มาร่วมงาน สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและไมตรีจิตจากทุกคน  รู้สึกว่าสิ่งดี ๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับทุกคน เพราะความสว่างไสวจากเทศกาลนี้ ได้ทำให้ความมืดมิดหมดไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า  เทศกาลดีวาลีเป็นช่วงเวลาให้คนไทยเชื้อสายอินเดียได้ร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัว ญาติพี่น้อง อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าอย่างมีความสุข  เทศกาลดิวาลีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินเดียที่มีร่วมกันมายาวนานถึง 77 ปี รวมถึงตอกย้ำภาพว่า ประเทศไทยคือประเทศแห่งความหลากหลาย แม้ต่างวัฒนธรรมก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

“หวังให้เทศกาลดิวาลีเกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไปทุก ๆ ปี พร้อมทั้งพัฒนาให้ใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น และน่าสนใจมากขึ้น ทำให้คุณค่าและความเชื่อ ที่เรามีกลายเป็น Soft Power ที่มีอยู่กลายเป็น “มูลค่า” เพื่อยกระดับชีวิตและรายได้ สร้าง  “เสน่ห์” ใจกลางเมือง ทำให้ทุกคนหลงรักชุมชนอินเดียในประเทศไทยมากขึ้น อย่างที่นายกฯ ก็หลงเสน่ห์ด้วยเช่นกัน  ขออวยพรให้ทุกคนมีความสุขมีความสว่างไสวถ้าใครเศร้าหมองยังไงก็ขอให้คนข้างๆ เป็นแสงสว่างในชีวิต  Happy Diwali soon” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สวมชุดส่าหรีสีชมพู-เขียวสไตล์อินเดียร่วมงาน “Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024”  โดยนายกฯ ได้สักการะเทพแห่งฮินดู อาทิ พระพิฆเนศ พระลักษมณ์ พระราม และพระแม่สีดา โดยการคล้องพวงมาลัย และถวายอัคคีบูชาไฟ  เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมจุดเทียนชัยร่วมกับคณะผู้บริหาร

รัฐบาลเชิญชวนพี่น้องชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมงาน “Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024” ระหว่างวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม ถึง วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ณ บริเวณคลองโอ่งอ่าง “ย่านลิตเติ้ลอินเดีย” ร่วมงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนเชื้อสายอินเดีย ร่วมสักการะบูชา ขอพรจากองค์พระพิฆเนศและองค์พระแม่ลักษมี ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองจากแดนภารตะ สัมผัสประสบการณ์ แสงสีเสียงสไตล์บอลลีวูด ชิม ช็อป อาหารคาวหวาน และสินค้าอินเดียนานาชนิด รวมถึงยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายตลอดช่วงเวลาจัดงานเทศกาล

Advertisement

รมว.ต่างประเทศ เผย “เลขาฯ UN-ปูติน” ชื่นชมบทบาทไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 ตุลาคม 2567 รัสเซีย – “มาริษ” รมว.ต่างประเทศ เผย “เลขา UN-ปูติน” ชื่นชมบทบาทไทย ในเวที BRICS Plus Summit ย้ำนโยบายต่างประเทศ ยุค “นายกฯอิ๊งค์” กระชับสัมพันธ์รอบด้าน-สมดุล เป็นมิตรทุกประเทศ เผยยังต้องรอทางการ BRICS รับไทยเป็นพันธมิตร ลั่นเป้าหมายไทย เดินหน้าจับมือประเทศกำลังพัฒนา นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยหลังการประชุมระดับผู้นำระหว่างกลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา หรือ BRICS Plus Summit ครั้งที่ 4 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ว่า เป็นการมาเข้าร่วมในฐานะตัวแทนของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ฝากนโยบายที่สำคัญ คือ การส่งเสริมความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาร่วมกัน โดยเน้นบทบาทบนเวทีโลกที่สร้างสรรค์ และผลักดันขับเคลื่อนให้ประเทศกำลังพัฒนา มีส่วนผลักดันในการกำหนดทิศทางของประชาคมโลก

สำหรับการประชุม จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BRICS and the Global South : Building a Better World Together” ซึ่งเป็นธีม และเป้าหมายที่สอดคล้องกัน โดยความสำคัญของกลุ่มประเทศ BRICS ที่ประเทศไทยเห็น คือ เราต้องการมีส่วนร่วม ในการสร้างประชาคมโลกที่ดี และยุติธรรม รวมถึงตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นการที่เราพยายามเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จึงมีความสำคัญ และ ครั้งนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากทุกประเทศที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม ต่างเน้นย้ำถึงแนวทางในการกระชับความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายมาริษ กล่าวว่า นอกเหนือจากหลายประเทศที่ได้รับเชิญแล้ว ครั้งนี้ประเทศรัสเซีย ในฐานะเจ้าภาพ ยังได้เชิญ นายอันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มาร่วมด้วย

“และที่ประชุมเห็นพ้องความร่วมมือประเทศกำลังพัฒนา ที่จะกำหนดทิศทางของโลก ไม่ใช่มาต่อต้านใคร แต่กำหนดทิศทางของโลกใหม่ ให้ประเทศกำลังพัฒนา ได้มีส่วนร่วมวางแนวทางพัฒนาของโลก”

ซึ่งหลังจากที่ตนได้กล่าวถ้อยแถลงไป ทางเลขาธิการสหประชาชาติ ก็ได้เข้ามาแสดงความยินดีและพูดให้ฟังว่า เห็นความตั้งใจของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลก นำมาซึ่งการพัฒนาการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ นายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ตอบหลังรับฟังถ้อยแถลงของไทย โดย “เชื่อมั่นว่าไทยจะมีส่วนสำคัญในการร่วมมือกับประเทศกลุ่ม BRICS และสร้างความยุติธรรมให้ประเทศกลุ่มกำลังพัฒนา ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลง และมีแนวทางที่ชัดเจนต่อไป

“ผมขอเน้นย้ำถึงนโยบายต่างประเทศสำคัญของไทย ภายใต้การนำของนายกฯแพทองธาร ต้องการมีความสัมพันธ์ที่รอบด้าน สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับประชาคมโลก โดยเป็นมิตรต่อทุกประเทศในโลกนี้ ไม่มีการแบ่งข้าง ทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และประชาชนคนไทย มีศักดิ์ศรี มีเกียติภูมิ และสามารถมีส่วนร่วมในการชี้นำทิศทางที่ควรจะเป็นของโลกในอนาคต” นายมาริษ​กล่าว

ส่วนเมื่อถามถึงข่าวที่ออกมาว่า ที่ประชุมผู้นำ BRICS มีมติรับไทย พร้อม 12 ประเทศ เป็นพันธมิตรใหม่นั้น นายมาริษ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับอีก 12 ประเทศ ก็ไม่มีใครได้รับการยืนยัน แต่ทราบเพียงสำนักข่าวเท่านั้น ซึ่งเข้าใจว่ายังมีขั้นตอน จึงขอให้รอความชัดเจนอีกครั้ง

Advertisement

นายกฯ กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 ตุลาคม 2567 นายกฯ กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ เน้นย้ำเจตนารมณ์ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์รอบด้าน ใน 3 เสาหลัก เพื่อโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน เยาวชน และคนรุ่นต่อไปในอนาคต

วันนี้ (24 ตุลาคม 2567) เวลาประมาณ 20.03 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัย เนื่องในวันสหประชาชาติ ประจำปี 2567 ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยนาย จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งโอกาส ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และ “คน” ที่มีศักยภาพ รัฐบาลมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ ด้วยพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาและทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางโอกาส และการสร้างความปลอดภัย ซึ่งเป็นเหตุผลที่สหประชาชาติ หรือ UN มีบทบาทสำคัญสำหรับความร่วมมือในการแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ นี้

วันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบการก่อตั้งของสหประชาชาติ ที่เป็นรากฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญด้วยการส่งบุคลากรเข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์สันติภาพกว่า 20 แห่งทั่วโลก เพื่อช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ความขัดแย้ง (2) การผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยไทยได้เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งมั่นสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และ (3) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โลกที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สำหรับปี 2568-2570 พร้อมให้คำมั่นว่าประเทศไทยจะส่งเสริมและเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของไทย และเป็นสะพานเชื่อมเพื่อเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินงานของ UN เพื่อการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของนโยบายการเป็น “ผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน” ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของ UN ในภูมิภาค ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงาน UN กว่า 40 แห่ง รวมถึง UN ESCAP โดยประเทศไทยยินดีกับความสำเร็จของการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคตเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และมุ่งหน้าผลักดันคำมั่นเพื่ออนาคต (Pact for the Future) ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า การจะทำให้โลกดีขึ้น ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นทางการเมือง การลงมือทำ และการสนับสนุนของทุกประเทศ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ต่อการดำเนินงานของ UN และประชาคมโลก เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนในวันนี้ และเยาวชนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต

Advertisement

 

“แพทองธาร” ขอบคุณออสเตรเลียดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 ตุลาคม 2567 แพทองธาร ขอบคุณออสเตรเลียดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน โดยนายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ปลื้ม “หมูเด้ง” ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับการท่องเที่ยว ชื่นชม พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมของไทย

วานนี้ (11 ตุลาคม 2567) เวลา 12.15 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี อัลบาเนซี  (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ปลื้ม “หมูเด้ง”  ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับการท่องเที่ยว ชื่นชมไทยมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ขณะที่นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่ดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน รวมถึงนักเรียนกว่า 25,000 คน ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการศึกษาในทุกระดับ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยประเด็นการหารือ ดังนี้  ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไทยจะสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ตามแนวทางการทูตทางเศรษฐกิจเชิงรุกของไทยและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย 2583 เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนสองทาง รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการปราบปรามยาเสพติด และความปลอดภัยของมนุษย์

ไทย-ออสเตรเลีย สนใจแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตรระหว่างกัน รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหาร อาหารทางเลือกและฮาลาล เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณการสนับสนุนของออสเตรเลียในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย พร้อมอวยพรนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าด้วย

Advertisement

“แพทองธาร” เผย 12 ประเทศ หนุนการท่องเที่ยวโครงการ 6 countries 1 destination 

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรีพอใจภาพรวมการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนตลอด 3 วันที่ผ่านมา ได้ประชุมและหารือกว่า 20 วาระ

วันนี้ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 14.30 น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยถึงภาพรวมและผลสำเร็จในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้นำอาเซียน ซึ่งไทยและสิงคโปร์ถือเป็นผู้นำใหม่ที่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้  ที่ประชุมได้คุยหารือถึงภาพรวมของความร่วมมือ มุ่งเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ แสวงหายุทธศาสตร์ความร่วมมือเพื่อการลงทุน  โดยในการประชุม 3 วันที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมกว่า 20 การประชุม

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ประเด็นสำคัญที่ได้มีการพูดถึงในเวทีอาเซียนอาทิ ความเชื่อมโยง การท่องเที่ยว โดยได้มีการหารือเพื่อให้เพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างกันมากขึ้น  ฟรีวีซ่า การบริหารจัดการน้ำ ซอฟต์พาวเวอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน-ประชาชน  รวมถึงความมั่นคงของมนุษย์  เช่น  ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานสีเขียว

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ทุกประเทศยังเห็นพ้องถึงการรักษาอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่สงบสุข  สำหรับสถานการณ์ในเมียนมานั้น ไทยพร้อมเป็นพื้นที่ให้ทุกฝ่ายพูดคุยกัน เพื่อความสุขสงบและสันติภาพ ในภูมิภาคอาเซียนรวมกัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี

ในการหารือทวิภาคี 12 ประเทศ ทุกประเทศให้การสนับสนุนการท่องเที่ยว ในโครงการ 6 countries 1 destination  รวมไปถึงการแก้ปัญหา ข้ามพรมแดน  การบริหารจัดการน้ำ  การเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศ โดยได้มีโอกาสหารือกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้พูดคุยการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ไทยอยากเรียนรู้ประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยให้จัดตั้งคณะทำงานต่อไป สำหรับ ในปี 2568 นั้น ไทย-จีนจะครบรอบ 50 ปี โดยประกาศให้เป็น “ปีทอง” และจัดกิจกรรมตลอเทั้งปีเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกันต่อไป

Advertisement

Verified by ExactMetrics