วันที่ 20 เมษายน 2024

ไทยรับมอบวัคซีน Moderna จากสหรัฐฯ 1 ล้านโดส ให้คนไทยฉีดวัคซีนได้อย่างครอบคลุม

People Unity News : ไทยรับมอบวัคซีน Moderna จากสหรัฐฯ 1 ล้านโดส ให้คนไทยฉีดวัคซีนได้อย่างครอบคลุม

23 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีรับมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท Moderna จากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมี นายไมเคิล ฮีต อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ เข้าร่วมพิธี

นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดน และอุปทูตฯ ผ่านการสนับสนุนวัคซีนโควิด-19 เป็นครั้งที่ 2 ของบริษัท Moderna จำนวน 1,000,000 โดส สะท้อนถึงความเป็นมิตรแท้ ช่วยสนับสนุนให้ไทยรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนสถานการณ์ดีขึ้น และสามารถเปิดประเทศได้อีกครั้ง โดยไทยจะนำวัคซีนที่ได้รับครั้งนี้ไปกระจายฉีดอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันและเพื่อความปลอดภัยของคนไทย

ด้านนายไมเคิล ฮีต กล่าวยินดีที่มีส่วนสำคัญและภูมิใจที่ได้ร่วมสนับสนุนการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ไทยกลับมาเปิดประเทศ และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากการสนับสนุนวัคซีนแล้ว สหรัฐฯจะพิจารณาให้การสนับสนุนด้านการรักษาต่อไปด้วย

Advertising

ประยุทธ์ หารือทางโทรศัพท์กับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่

People Unity News : ประยุทธ์ หารือทางโทรศัพท์กับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่

วันนี้ 22 พ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้หารือทางโทรศัพท์กับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ณ ทำเนียบรัฐบาล

รัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – ญี่ปุ่นรอบด้าน พร้อมเชิญ นายคิชิดะ เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นต่อไป

นายคิชิดะ ชื่นชมและเชื่อมั่นวิสัยทัศน์ในการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรี และยินดีในความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นที่เป็นไปอย่างแนบแน่น ราบรื่น พร้อมชื่นชมบทบาทไทยในการเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียน – ญี่ปุ่น

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นต่างๆ เพื่อโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ เช่น การควบคุมโรคโควิด-19 การค้าการลงทุน เป็นต้น

Advertising

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยไทยให้สัตยาบัน RCEP แล้ว ทำให้ได้ประโยชน์ยกเลิกภาษี

People Unity News : อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษี

19 พ.ย.64 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งความตกลง RCEP นี้ เป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับที่ 14 ของประเทศไทย และเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีสมาชิกจาก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากร 2,300 ล้านคน จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยเข้าไปค้าขายในตลาดใหญ่และมีการเปิดกว้าง เมื่อความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2565 จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บจากสินค้าไทยเกือบ 4 หมื่นรายการ และมีการลดภาษีเหลือ 0% ทันทีอีกจำนวน 30,000 รายการ

ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทยเพิ่มเติมจาก FTA  ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ รวมทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่สมาชิก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เตรียมรองรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP  อย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากความตกลงฯ  โดยเปิดศูนย์ RCEP Center เพื่อให้ข้อมูลเรื่องต่างๆ  รวมทั้งการจัดทำอีบุ๊ครายละเอียดของความตกลง  RCEP ทั้งไทยและอังกฤษ ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th

Advertising

ประยุทธ์ เสนอ “วัคซีน – ยารักษาโควิด-19” เป็นสินค้าสาธารณะของโลก

People Unity News : ประยุทธ์ เสนอ “วัคซีน – ยารักษาโควิด-19” เป็นสินค้าสาธารณะของโลก บนเวที Paris Peace Forum ครั้งที่ 4

วันนี้ (11 พ.ย.64) ในพิธีเปิดการประชุม Paris Peace Forum ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “Mind the gaps: Improving global governance after COVID-19” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงผ่านการบันทึกเทป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีเสนอให้วัคซีน – ยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก พร้อมสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

การประชุม Paris Peace Forum มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ในการเสริมสร้างสันติภาพโลกและระบอบพหุภาคีนิยม โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 พ.ย. 64 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

Advertising

ประยุทธ์ หารือคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างกัน

People Unity News : โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ หารือ คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยืนยัน ไทย-สหรัฐฯ พร้อมตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วน เดินหน้าความร่วมมือในทุกมิติ

วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2564) 11.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นาย Amerish “Ami” Bera ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ด้านเอเชีย แปซิฟิก เอเชียกลาง และการไม่แพร่ขยายอาวุธ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หัวหน้าคณะ นำคณะสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับคณะสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ สู่ประเทศไทย โดยถือเป็นคณะแรกที่เยือนไทยนับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น และยาวนานระหว่างกัน ทั้งนี้ ไทยยินดีที่ความสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนการเยือน และความร่วมมือในมิติต่างๆ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกับสหรัฐฯอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างรอบด้าน

ด้านประธานคณะอนุกรรมาธิการ ยินดีที่ได้เดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้ ไทย และสหรัฐฯมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และมีความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์และความท้าทายในปัจจุบัน ความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยคณะ ส.ส. สหรัฐฯพร้อมสนับสนุนรัฐบาลไทย และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

ทั้งสองฝ่ายพร้อมกระชับความร่วมมือระหว่างกัน และยินดีที่รัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดน มีนโยบายสำคัญที่สอดคล้อง และมีท่าทีร่วมกันในประเด็นที่เป็นที่สนใจในเวทีโลกหลายประเด็น อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด- 19 ทั้งในมิติด้านมาตรการทางสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

โอกาสนี้ นายกฯ กล่าวยินดีที่การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงขยายตัว แม้ในช่วงโควิด-19 พร้อมย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ลงทุนในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เป็นประจำทุกปี ในขณะที่ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหาร ก็ยังคงเป็นอีกส่วนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ทั้งนี้ ไทยมุ่งมั่นจะเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือกับสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ ไทยมุ่งหวังที่จะเห็นภูมิภาคนี้มีความมั่งคั่ง มั่นคง และธำรงไว้ซึ่งสันติภาพเช่นเดียวกับสหรัฐฯ โดยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความท้าทายต่างๆ ไทยพร้อมร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะผ่านกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค เช่น อาเซียน ACMECS และ US-Mekong Partnership

Advertising

ประยุทธ์ ประกาศต่อที่ประชุมผู้นำ COP26 ไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือเพียง 0.72%

People Unity News : พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ COP26 ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง ย้ำต้องหยุดทำร้ายธรรมชาติเพราะไม่มีโลกใบที่สองเหมือนโลกนี้อีกแล้ว

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งตรงกับเวลา 23.00 น. ของไทย) ณ ศูนย์การประชุม The Scottish Event Campus พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสาระสำคัญการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมยืนยันไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกเพื่ออนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่ไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 2015 เพราะไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกเพียงร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยจึงอยู่ในกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเป็นภาคีของความตกลงปารีส และไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง แข็งขัน

ในส่วนของไทย ได้กำหนดเป้าหมาย NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Actions) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อย ร้อยละ 7 ภายในปี ค.ศ. 2020 แต่ไทยสามารถทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงกว่า 2 เท่า ก่อนกำหนดเวลาถึง 1 ปี เพราะในปี ค.ศ. 2019 ไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วถึงร้อยละ 17 นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศแรกๆที่จัดส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) และได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำให้กับ UNFCCC รวมถึงได้จัดทำแผนงานต่างๆในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. 2050

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 (ค.ศ. 2022) ว่าไทยได้กำหนดให้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ เป็นวาระหลักในการประชุมฯ

ซึ่งในตอนท้ายของการประชุมนายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันดูแล รักษาโลก เพราะ “เราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องการรักษา เยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี ‘โลกที่สอง’ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว”

ทั้งนี้ ภายหลังนายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมฯ เวลา 19.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งตรงกับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 02.00 น. ของไทย) ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Kelvingrove นายกรัฐมนตรีได้ร่วมงานเลี้ยงรับรองสำหรับผู้นำที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ของสหราชอาณาจักรเข้าร่วมในโอกาสดังกล่าวด้วย

Advertising

ประยุทธ์ ประชุม IMT-GT เสนอพลิกโฉมท่องเที่ยว-เกษตร-ฮาลาล เชื่อมการค้าการลงทุนอนุภูมิภาค

People Unity News : นายกฯ เข้าร่วมการประชุมผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย (IMT-GT) ครั้งที่ 13 มุ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-เกษตร-ฮาลาล เชื่อมโยงการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาค

วันนี้ (28 ตุลาคม 2564) เวลา 10.15 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 13 (IMT-GT Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นายอิซมาอิล ซับรี ยักกบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธาน ADB เข้าร่วม โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานการประชุมเชื่อมั่นว่าประเทศสมาชิกจะสามารถพัฒนาผ่านดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของ IMT-GT ได้อย่างมีศักยภาพภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และเชื่อมั่นว่าจากความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนจะทำให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ ได้รวดเร็วขึ้นและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ขณะเดียวกันปัจจัยอื่นๆที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคนี้จะเป็นประโยชน์

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิดอาจทำให้กระทบต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯบ้าง อินโดนีเซียมีข้อเสนอว่าควร 1. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาถนนและท่าเรือ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับสูงและยั่งยืน เช่น ดิจิทัลทางการเกษตร และ 3. เร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีนี้ว่า ยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงาน IMT-GT ในครั้งนี้ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก รวมถึงอนุภูมิภาค IMT-GT เป็นอย่างมาก แต่การดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในเชิงรุก ควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในทั้ง 3 ประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การให้ความช่วยเหลือประชาชนในหลายรูปแบบ ล้วนมีส่วนประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจของทุกประเทศให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตมาได้ ทั้งนี้ในส่วนของไทย ได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และได้เตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ผ่านโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” ซึ่งความสำเร็จของโครงการถือเป็นเครื่องยืนยันว่า ไทยมีความพร้อมที่จะเปิดประเทศ

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทั้งสามประเทศจะสามารถร่วมมือกันในลักษณะที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ให้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การร่วมกำหนดมาตรฐานด้านการท่องเที่ยววิถีใหม่ ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอย่างรัดกุม

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางความร่วมมือของ IMT-GT เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เร่งพัฒนาและต่อยอดการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงแนวคิด รวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างอุทยานธรณีโลก 3 ประเทศ เน้นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ 2.อุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด 3.อุตสาหกรรมฮาลาล ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก พร้อมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักของ IMT-GT ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.ความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมที่ไร้รอยต่อ สนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันเร่งรัดโครงการที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งพิจารณาโครงการใหม่ๆที่เกิดขึ้น เข้ามาบรรจุไว้ในโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (PCPs)

2.ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ เร่งรัดการลงนามกรอบความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกันโรคพืชและสัตว์ (CIQ) ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีภายในต้นปีหน้า เพื่อให้การข้ามพรมแดนและการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่าง 3 ประเทศมีความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น นำไปสู่การขยายตัวด้านการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาค

3.การเสริมสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินโครงการเมืองสีเขียว และโครงการตามแผนการลงทุนกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ของไทย ผ่านการระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการแล้ว

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อน IMT-GT ในระยะต่อไป ไม่เพียงแต่จะต้องตอบโจทย์วิสัยทัศน์ปี 2036 และเป้าหมายการพัฒนาของประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่จะต้องสอดรับกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลการประชุมในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ

Advertising

ผบ.กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก เยือนไทยกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร

People Unity News : ผบ.กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก เข้าเยี่ยมคำนับ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำสร้างสรรค์ ไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพกัน

11 ต.ค. 64 พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 11.00 น.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้การต้อนรับการเยี่ยมคำนับของ  พล.ร.อ.John C. Aquilino (จอห์น ซี อากีลีโน) ผบ.กกล.สหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก และคณะ  ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกองทัพไทย เพื่อแนะนำตัวและกระชับความสัมพันธ์

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับ พล.ร.อ.จอห์น ที่ได้รับตำแหน่ง ผบ.กกล.สหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก และขอขอบคุณสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนวัคซีน 2.5 ล้านโดส พร้อมตู้เก็บวัคซีน 200 ตู้ให้ไทย ต่อจากนั้น ทั้งสองฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในประเด็นต่างๆร่วมกัน ทั้งด้านความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโควิด 19 ความสัมพันธ์ทางทหาร การฝึกร่วมผสม Cobra Gold 2021 ความร่วมมือด้านการฝึกศึกษา ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งความร่วมมือในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลภายใต้กรอบความร่วมมือ กห.อาเซียน กับประเทศคู่เจรจา

และในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ของพันธมิตรที่เก่าแก่และแน่นแฟ้นระหว่างกัน ในการสนับสนุนและดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพ เสรีภาพและความมั่นคงของภูมิภาคร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจและการเคารพซึ่งกันและกัน

Advertising

ไทยโชว์เทคโนโลยีดิจิทัลประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว-สินค้าไทยในงาน World Expo 2020 Dubai

People Unity News : ไทยโชว์ศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัล ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและสินค้าไทย ในงาน World Expo 2020 Dubai

3 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมผลสำเร็จจากการเปิดต้อนรับผู้เข้าชมทั่วโลกอย่างเป็นทางการของอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” (Mobility for the Future) ในงาน World Expo 2020 Dubai ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้สร้างความเชื่อมั่นผ่านศักยภาพและความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมผ่านนโยบาย Digital Thailand 4.0 รวมถึงวิสัยทัศน์ในการมุ่งเป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาค” ควบคู่กับการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า การลงทุน การเดินทาง การขนส่งและจุดหมายการเดินทางของประชาชนทั่วโลก ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสต่อยอดตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย โอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังได้ชื่นชมโครงการที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนเยาวชนอาสาสมัครไทยมีส่วนร่วมและเป็นตัวแทนประเทศประจำอาคารแสดงประเทศไทย เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับรัฐบาล “พลิกโฉมประเทศไทย” ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อวันนี้และวันข้างหน้าสำหรับคนไทยทุกคน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าการแสดงศักยภาพของไทยในงาน World Expo 2020 Dubai จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้ ตลอดจนจะช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แผนการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ทั้งที่เริ่มดำเนินการแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โครงการสมุยพลัส โครงการส่วนขยายของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวระยะที่ 2 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง กระจายรายได้สู่ชุมชน และรักษาการจ้างงาน ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับ งาน World Expo ถือเป็น 1 ใน 3 ของงานยิ่งใหญ่ระดับโลก จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยงานมหกรรมโลก โดยอาคารแสดงประเทศไทย ประกอบด้วย 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ นิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ แนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต พื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ประกอบไปด้วย ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และ Showcase Thailand 4.0 การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย และเวทีการแสดงวัฒนธรรมประเพณีไทย

Advertising

“จุรินทร์” รุกตลาดกลุ่มประเทศยูเรเซีย เพิ่มการค้า-การลงทุน ผลักดันการเจรจา FTA

People Unity News : รัฐบาลกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย เพิ่มการค้า-การลงทุน ผลักดันสู่เจรจา FTA

23 กันยายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขยายตลาดการค้า การลงทุนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union) ประกอบด้วย ประเทศรัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาเมเนีย และคีกีซสถาน โดยจะมีการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission: EEC) ครั้งที่ 2 แบบทางไกล ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 27 ก.ย.นี้  โดยฝ่ายไทยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

ที่ผ่านมาไทยและกลุ่มประเทศยูเรเซีย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ผ่านกลไกคณะทำงานร่วม โดยในปี 2563 มูลค่าการค้ารวมประมาณกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศ สินค้าหลักที่ไทยนำเข้า คือ น้ำมันดิบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย ยาจำกัดศัตรูพืช สินแร่โลหะ เป็นต้น

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ ท่าทีของประเทศไทย จะมุ่งเน้นไปที่ 1) การหาแนวทางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 2) การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบาย กฏระเบียบด้านการค้าและการลงทุน เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย มาตรการเยียวยาทางการค้า กฎระเบียบด้านศุลกากรและกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรการสุขอนามัย จะผลักดันความร่วมมือในสาขา อาทิ นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล เกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG โมเดล) และความร่วมมือด้านยางพารา และ 3) ติดตามความคืบหน้าเรื่องการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และกระบวนการจัดทำ FTA ของแต่ละฝ่าย

“รัฐบาลอยู่ระหว่างการศึกษา และเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยทุกเรื่องได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วน สำหรับการประชุมกับกลุ่มประเทศยูเรเซียในครั้งนี้ ผลลัพธ์จะนำไปสู่การยกระดับและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง เป็นช่องทางสำคัญในการผลักดันการนำไปสู่การเริ่มต้นเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต” นางสาวรัชดากล่าว

Advertising

Verified by ExactMetrics