วันที่ 1 พฤษภาคม 2025

รมว.ต่างประเทศ เผย “เลขาฯ UN-ปูติน” ชื่นชมบทบาทไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 ตุลาคม 2567 รัสเซีย – “มาริษ” รมว.ต่างประเทศ เผย “เลขา UN-ปูติน” ชื่นชมบทบาทไทย ในเวที BRICS Plus Summit ย้ำนโยบายต่างประเทศ ยุค “นายกฯอิ๊งค์” กระชับสัมพันธ์รอบด้าน-สมดุล เป็นมิตรทุกประเทศ เผยยังต้องรอทางการ BRICS รับไทยเป็นพันธมิตร ลั่นเป้าหมายไทย เดินหน้าจับมือประเทศกำลังพัฒนา นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยหลังการประชุมระดับผู้นำระหว่างกลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา หรือ BRICS Plus Summit ครั้งที่ 4 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ว่า เป็นการมาเข้าร่วมในฐานะตัวแทนของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ฝากนโยบายที่สำคัญ คือ การส่งเสริมความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาร่วมกัน โดยเน้นบทบาทบนเวทีโลกที่สร้างสรรค์ และผลักดันขับเคลื่อนให้ประเทศกำลังพัฒนา มีส่วนผลักดันในการกำหนดทิศทางของประชาคมโลก

สำหรับการประชุม จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BRICS and the Global South : Building a Better World Together” ซึ่งเป็นธีม และเป้าหมายที่สอดคล้องกัน โดยความสำคัญของกลุ่มประเทศ BRICS ที่ประเทศไทยเห็น คือ เราต้องการมีส่วนร่วม ในการสร้างประชาคมโลกที่ดี และยุติธรรม รวมถึงตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นการที่เราพยายามเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จึงมีความสำคัญ และ ครั้งนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากทุกประเทศที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม ต่างเน้นย้ำถึงแนวทางในการกระชับความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายมาริษ กล่าวว่า นอกเหนือจากหลายประเทศที่ได้รับเชิญแล้ว ครั้งนี้ประเทศรัสเซีย ในฐานะเจ้าภาพ ยังได้เชิญ นายอันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มาร่วมด้วย

“และที่ประชุมเห็นพ้องความร่วมมือประเทศกำลังพัฒนา ที่จะกำหนดทิศทางของโลก ไม่ใช่มาต่อต้านใคร แต่กำหนดทิศทางของโลกใหม่ ให้ประเทศกำลังพัฒนา ได้มีส่วนร่วมวางแนวทางพัฒนาของโลก”

ซึ่งหลังจากที่ตนได้กล่าวถ้อยแถลงไป ทางเลขาธิการสหประชาชาติ ก็ได้เข้ามาแสดงความยินดีและพูดให้ฟังว่า เห็นความตั้งใจของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลก นำมาซึ่งการพัฒนาการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ นายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ตอบหลังรับฟังถ้อยแถลงของไทย โดย “เชื่อมั่นว่าไทยจะมีส่วนสำคัญในการร่วมมือกับประเทศกลุ่ม BRICS และสร้างความยุติธรรมให้ประเทศกลุ่มกำลังพัฒนา ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลง และมีแนวทางที่ชัดเจนต่อไป

“ผมขอเน้นย้ำถึงนโยบายต่างประเทศสำคัญของไทย ภายใต้การนำของนายกฯแพทองธาร ต้องการมีความสัมพันธ์ที่รอบด้าน สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับประชาคมโลก โดยเป็นมิตรต่อทุกประเทศในโลกนี้ ไม่มีการแบ่งข้าง ทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และประชาชนคนไทย มีศักดิ์ศรี มีเกียติภูมิ และสามารถมีส่วนร่วมในการชี้นำทิศทางที่ควรจะเป็นของโลกในอนาคต” นายมาริษ​กล่าว

ส่วนเมื่อถามถึงข่าวที่ออกมาว่า ที่ประชุมผู้นำ BRICS มีมติรับไทย พร้อม 12 ประเทศ เป็นพันธมิตรใหม่นั้น นายมาริษ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับอีก 12 ประเทศ ก็ไม่มีใครได้รับการยืนยัน แต่ทราบเพียงสำนักข่าวเท่านั้น ซึ่งเข้าใจว่ายังมีขั้นตอน จึงขอให้รอความชัดเจนอีกครั้ง

Advertisement

รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : ไทยและรัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรองรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมบทบาทของเอกอัครราชทูตฯตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซียเป็นอย่างดี มีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าไทยจะได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนระดับสูงของรัสเซียในปีนี้

เอกอัครราชทูตฯชื่นชมรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาล รับผิดชอบต่อนโยบายของไทยในหลายด้าน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัสเซียในฐานะที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และมีทรัพยากรด้านพลังงาน เชื่อว่ายังมีช่องทางที่เป็นโอกาสอีกหลากหลายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยพร้อมส่งเสริมกลไกที่ให้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่าจะร่วมมือผลักดันให้การค้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าพร้อมผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยฝ่ายไทยขอบคุณที่รัสเซียนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม และขอบคุณที่รัสเซียดูแลนักลงทุนไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และสนับสนุนความร่วมมือผ่านอุตสาหกรรม S-Curves ในสาขาต่างๆที่รัสเซียเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ยินดีจัดการหารือระหว่างรัสเซียและฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางลดข้อจำกัด เพื่อเพิ่มการลงทุนระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ฝ่ายรัสเซียได้ชื่นชมไทยด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยมีชาวรัสเซียที่เดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก จึงขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนการเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเป็นส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอให้ไทยพิจารณาความร่วมมือระหว่างระดับจังหวัดของไทยกับภูมิภาคของรัสเซียเป็นอีกช่องทางความร่วมมือด้วย

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : post 21 สิงหาคม 2562 เวลา 11.30 น.

นายกฯ หารือ ประธานหอแฟชั่นอิตาลีแห่งชาติ ดันแลกเปลี่ยนดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 พฤษภาคม 2567 นายกฯ หารือ ประธานหอแฟชั่นอิตาลีแห่งชาติ ดันแลกเปลี่ยนดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ และ ผู้บริหาร Leitner บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการทำกระเช้าลอยฟ้า

วันนี้ (17 พฤษภาคม 2567) นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงบ่าย เวลา 15.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองมิลาน ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ห้อง Galleria ชั้น 1 โรงแรม Park Hyatt Milan นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนาย Carlo Capasa, ประธานหอแฟชั่นอิตาลีแห่งชาติ (Chairman of the National Chamber of Italian Fashion)  ซึ่งเป็นสมาคมไม่หวังผลกำไรที่ดำเนินการและรณรงค์เกี่ยวกับการพัฒนาแฟชั่นอิตาลี โดยเป็นผู้จัดสัปดาห์แฟชั่นเมืองมิลาน (Milan Fashion Week) ซึ่งเป็นหนึ่งในงานสัปดาห์แฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดของโลก (Big Four Fashion Weeks) ร่วมกับนครนิวยอร์ก กรุงปารีส และกรุงลอนดอน

ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้กับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ชาวไทย เป็นลักษณะโปรแกรมฝึกอบรมที่อิตาลี ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาความร่วมมือร่วมกันด้านการอบรมเพิ่มความรู้ต่อไป

หลังจากนั้น เวลา 15.40 น. นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนาย Thomas Schubert, Export Director, Leitner ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับกระเช้าลอยฟ้า เป็นบริษัทย่อยของบริษัท High Technology Industries (HTI) ผู้นำด้านเทคโนโลยีกีฬาฤดูหนาว การเดินทางสัญจรในเขตเมือง การขนส่งวัสดุ การจัดการหิมะและผลิตผลทางการเกษตรและด้านพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัทสนใจลงทุนโครงการเคเบิลคาร์ในประเทศไทย

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับกระเช้าขึ้นภูกระดึงซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลผลักดัน  การเดินทางมาอิตาลีในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสดีและได้พูดคุยหารือกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างอย่างปลอดภัย และทันสมัย โดยทั้งสองฝ่ายจะได้พิจารณาด้านความร่วมมือกันต่อไป

Advertisement

ประธานสภาที่ปรึกษาซาอุฯ พบนายกรัฐมนตรี

People Unity News : 20 กรกฎาคม 2566 ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ “พล.อ.ประยุทธ์” พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในเขตอีอีซี

ดร.อับดุลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด อิบราฮิม อัล-ชีค ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองฝ่ายยินดีจะสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย มีแนวทางที่จะยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางพิเศษ และสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ

Advertisement

นายกฯ กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 ตุลาคม 2567 นายกฯ กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ เน้นย้ำเจตนารมณ์ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์รอบด้าน ใน 3 เสาหลัก เพื่อโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน เยาวชน และคนรุ่นต่อไปในอนาคต

วันนี้ (24 ตุลาคม 2567) เวลาประมาณ 20.03 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัย เนื่องในวันสหประชาชาติ ประจำปี 2567 ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยนาย จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งโอกาส ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และ “คน” ที่มีศักยภาพ รัฐบาลมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ ด้วยพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาและทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางโอกาส และการสร้างความปลอดภัย ซึ่งเป็นเหตุผลที่สหประชาชาติ หรือ UN มีบทบาทสำคัญสำหรับความร่วมมือในการแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ นี้

วันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบการก่อตั้งของสหประชาชาติ ที่เป็นรากฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญด้วยการส่งบุคลากรเข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์สันติภาพกว่า 20 แห่งทั่วโลก เพื่อช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ความขัดแย้ง (2) การผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยไทยได้เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งมั่นสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และ (3) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โลกที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สำหรับปี 2568-2570 พร้อมให้คำมั่นว่าประเทศไทยจะส่งเสริมและเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของไทย และเป็นสะพานเชื่อมเพื่อเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินงานของ UN เพื่อการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของนโยบายการเป็น “ผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน” ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของ UN ในภูมิภาค ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงาน UN กว่า 40 แห่ง รวมถึง UN ESCAP โดยประเทศไทยยินดีกับความสำเร็จของการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคตเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และมุ่งหน้าผลักดันคำมั่นเพื่ออนาคต (Pact for the Future) ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า การจะทำให้โลกดีขึ้น ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นทางการเมือง การลงมือทำ และการสนับสนุนของทุกประเทศ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ต่อการดำเนินงานของ UN และประชาคมโลก เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนในวันนี้ และเยาวชนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต

Advertisement

 

นายกฯระบุหากไทยยกเลิก MOU 44 อาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 พฤศจิกายน 2567 นายกรัฐมนตรี ยืนยันเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ไม่มีการยกเลิก MOU 44 เตรียมตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทย คุย กัมพูชา ยืนยันรัฐบาล รักษาผลประโยชน์ให้คนไทย

วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2567) เวลา 15.00 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือพรรคร่วมรัฐบาล กรณี MOU 44 บันทึกข้อตกลงไทย – กัมพูชา  เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย – กัมพูชา โดยยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นมาตั้งนานแล้ว ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างรับรู้อยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นไปตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า เกาะกูด ไม่เคยมีปัญหากับทางกัมพูชา และไม่เคยมีข้อสงสัยในเรื่องนี้ อาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันของคนในประเทศไทยเอง  ซึ่งความจริงแล้วขอให้มั่นใจได้ว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย  ส่วน MOU 44 ยังคงอยู่ไม่สามารถมีการยกเลิกได้ หากจะยกเลิกต้องใช้ข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ  หากไทยยกเลิกเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจถูกฟ้องได้ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ

ส่วนรัศมีรอบเกาะกูดในพื้นที่ทะเล มีความชัดเจนอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า MOU ดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกาะกูด เพราะเส้นที่ตีหากไปดูทางกัมพูชาก็ได้ตีเส้นเว้นเกาะกูดไว้ เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกัน ซึ่งในการพูดคุยไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดิน แต่มีการพูดคุยทางทะเลในสัดส่วนที่มีการขีดเส้น ซึ่ง MOU มีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาใน MOU เป็นข้อตกลงจะมีการเจรจากันทั้งสองประเทศ นี้คือความหมายใน MOU 44 ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้น หรือต้องตกลงพูดคุยกันอย่างไร ต้องมีคณะกรรมการ คณะทำงานมาพูดคุยกัน ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการทางกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของไทยเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการด้วย เนื่องจากคณะกรรมการต้องจบไปตามรัฐบาล ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการนี้อยู่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ จะได้คณะกรรมการในเร็วๆ นี้ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการเสร็จสิ้น ก็จะมีการศึกษาและหารือกัน ว่าระหว่างประเทศจะดำเนินการข้อตกลงอย่างไร

ส่วนที่มีการมองว่า หากไม่ยกเลิก MOU 44 จะทำให้ไทยยอมรับเส้นของกัมพูชานั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด ไม่มีการยอมรับเส้นใด ๆ ซึ่ง MOU นี้ คือการที่คิดไม่เหมือนกันแต่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาได้ดำเนินการขีดเส้นมาก่อน เมื่อปี 2516 ประเทศไทยก็ดำเนินการขีดเส้นด้วย เมื่อขีดเหมือนกัน แต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงต้องมี MOU ขึ้นมา แล้วเปิดการเจรจา เป็นความเท่าเทียมกันว่าทั้งสองประเทศ จะต้องพูดคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร  โดย MOU นี้ไม่เกี่ยวข้องกันเกาะกูด และเกาะกูดก็ไม่ได้อยู่การเจรจา จึงขอให้คนไทยสบายใจได้ว่าจะไม่เสียเกาะกูดไป ซึ่งกัมพูชาไม่สนใจเกาะกูดของไทย เพราะไม่ได้อยู่ในการเจรจานี้ จึงขอให้ประชาชนอย่ากังวลเรื่องนี้

ขณะเดียวกันมีข้ออ้างว่า ไทยมีมติ ครม. ยกเลิก MOU 44 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้  ข้อเท็จจริงคือ mou 44 ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่มีการตกลงระหว่างสองประเทศ และเรื่องนี้ต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่มี และเมื่อปี 2552 ไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา และในปี 2557 พลเอกประยุทธ์ ยืนยันเป็นเนื้อเดียวกัน มีมติ ครม.ว่าไม่มีการยกเลิก

ส่วนมีกระแสให้มีการยกเลิก MOU 44  นายกรัฐมนตรี จะดำเนินการแก้ไขอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้ายกเลิกแล้วได้อะไร ซึ่งการยกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศอาจคิดไม่เหมือนกันได้ เมื่อคิดไม่เหมือนกันก็ต้องมีข้อตกลงเพื่อมาพูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ การรักษาความสงบของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นใน MOU นี้ เปิดให้ทั้งสองประเทศพูดคุยกัน ซึ่งหากไทยยกเลิกอาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน ไม่มีประโยชน์ใด ๆ  ซึ่งการหารือในวันนี้ ยืนยันว่าตนเองรับฟังเสียงคัดค้าน จึงมีการมาพูดคุยและทุกคนตกลงในเนื้อหาเดียวกันอย่างง่ายดาย และเข้าใจตามรายละเอียดว่า เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจเพื่อจะอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า  MOU ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด และ MOU เป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ  และไทยยังไม่ได้เสียเปรียบในเรื่องของการตกลงเรื่องนี้ อย่านำเรื่องการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน  ขอให้ทำความเข้าใจต่าง ๆ  ให้ตรงกันตามหลัก และพรรคร่วมรัฐบาล ก็เห็นด้วยในการเดินหน้า MOU ต่อในเรื่องนี้   ขณะนี้กัมพูชารอฝ่ายไทยตั้งคณะกรรมการ เพื่อเป็นตัวแทนไปพูดคุย เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่บานปลายหากทุกคนเข้าใจในหลักการ เพราะคือข้อเท็จจริง ยืนยันว่าไม่มีเบื้องหลังใด ๆ  แต่นี้คือกรอบเป็นไปตามกฎหมาย และเรื่องนี้ไม่เป็นเผือกร้อนในมือของตนเอง

ส่วนแนวทางของรัฐบาลไทยกับข้อตกลงผลประโยชน์ที่ทับซ้อนทางทะเล จะดำเนินการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคุยกันระหว่างประเทศพร้อมศึกษารายละเอียดจะสามารถแบ่งกันอย่างไร เพื่อทั้งสองประเทศได้ผลประโยชน์และเกิดความยุติธรรม เพราะหลายคนรู้ว่ามีก๊าซธรรมชาติ และสามารถลดต้นทุนพลังงานได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้รู้ในรายละเอียดต่าง ๆ ไปศึกษาร่วมกันทั้งสองประเทศ เพื่อให้ได้คำตอบต่อประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งอยู่ในกระบวนการต่อไป

ส่วนจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อพูดคุยกับกัมพูชาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเนคชั่นดี ๆ ได้ เปรียบเหมือนมีเพื่อนสนิท ก็สามารถคุยกับเพื่อนสนิทได้ แต่เรื่องผลประโยชน์แต่ละประเทศต้องใช้คณะกรรมการ เพื่อจะได้ไม่เกิดการต่อต้าน ซึ่งเรื่องของประเทศบางอย่างที่สำคัญต้องใช้กรรมการคุยกัน เพื่อจะเกิดความรู้ รู้ครบ และมีความยุติธรรม เป็นสิ่งสำคัญและยืนยันรัฐบาลนี้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างสูงสุด เพราะตนเองเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์และประเทศไทย คนไทย ต้องมาก่อน ดังนั้นรัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ประชาชนมีความสุขที่สุด นั่นคือสิ่งที่ต้องการ

Advertisement

นายกฯผลักดันความร่วมมือภาคเกษตรไทย-ซาอุฯ เล็งเห็นโอกาสส่งออกข้าวไทยไปซาอุฯ

People Unity News : วันนี้ (8 มิถุนายน 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือทางด้านสินค้าเกษตรระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียให้มีความก้าวหน้า และมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม หลังกรมการข้าวเตรียมต่อยอดจากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปซาอุดีอาระเบีย และเล็งเห็นถึงศักยภาพในการขยายความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทางด้านการเกษตร

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยและซาอุดีฯ อย่างต่อเนื่อง ภายหลังการเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียของคณะผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจของไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินหน้าขยายความร่วมมือด้านการเกษตรกับซาอุดีฯ โดยเน้นความร่วมมือทางด้านการเกษตร การชลประทาน การปศุสัตว์และการประมง ฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตร และเทคโนโลยีเกษตร

นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกรมการข้าว ครั้งที่ 6 ประจำปีงบประมาณ 2565 ได้เล็งเห็นถึงโอกาสของข้าวไทยจากสถานการณ์ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ที่ประเทศไทยสามารถรับมือได้น่าพอใจ เป็นประเทศที่มีความมั่นคง และได้รับผลกระทบจากความขาดแคลนอาหารน้อย พร้อมได้เล็งเห็นโอกาสการส่งออกข้าวไทย ซึ่งซาอุดีฯ มีความต้องการจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของไทยในการขับเคลื่อนนโยบายตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันศึกษาหาช่องทางปลูกข้าวบาสมาติ ซึ่งเคยปลูกในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งหากสามารถรองรับความต้องการส่วนนี้ได้จะเป็นโอกาสในการขยายตลาดของไทยในซาอุดีฯ ที่มีความต้องการข้าว 30 ล้านตัน เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมการปลูกข้าวให้มากขึ้น และเสริมศักยภาพด้านการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกให้มีอำนาจต่อรองยิ่งขึ้น

นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อผลสำเร็จ และขอบคุณทุกฝ่ายในการดำเนินงานทั้งการตอบรับดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์กับประเทศเป็นสำคัญ และดำเนินนโยบายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นในองค์ความรู้ ความสามารถของคนไทย และประสบการณ์ที่ไทยสืบทอดภูมิปัญญาการปลูกข้าวมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังยินดีที่สถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม มีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้น 48.5% อยู่ที่ 1.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ซึ่งไทยยังตั้งเป้าส่งออกข้าวในปีนี้รวมกว่า 7 ล้านตัน

Advertisement

ไทยรับมอบ 4 วัตถุโบราณบ้านเชียง อายุกว่า 3,500 ปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 พฤศจิกายน 2567 ประเทศไทยรับมอบ 4 วัตถุโบราณบ้านเชียง อายุกว่า 3,500 ปี ย้ำความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและสหรัฐ

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรมรับมอบโบราณวัตถุบ้านเชียง 4 ชิ้น จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประกอบด้วย ภาชนะดินเผา กำไลข้อมือ และลูกกลิ้งทรงกระบอกสองชิ้นที่ยังไม่ทราบการใช้งานที่แน่ชัด โดยวัตถุโบราณดังกล่าว มีลวดลายเขียนสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก และได้รับยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีของมนุษย์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่า 3,500 ปี

“พิธีการส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงพิธีครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงการให้ความสำคัญต่อแหล่งที่มาของโบราณวัตถุแล้ว ถือเป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมมาต่อเนื่อง ต่อจากการส่งคืนโบราณวัตถุประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ โกลเด้นบอย เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการนำวัตถุโบราณ ที่ห่างไกลจากประเทศไทย ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะสถานทูตสหรัฐที่ติดต่อและส่งคืนวัตถุโบราณล้ำค่าชิ้นนี้ รวมถึงหน่วยงานทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือโดยเฉพาะองค์การยูเนสโก” นางสาวศศิกานต์ ระบุ

นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุในต่างประเทศ และได้วางแนวทางติดตามวัตถุโบราณคืนสู่ประเทศไทยทุก ๆ สามเดือน และได้รับแจ้งว่าสหรัฐจะส่งคืนโบราณสถานให้ไทยอีก 2 ชิ้น เป็นประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการตรวจพิสูจน์ และภายหลังการรับมอบโบราณวัตถุทั้ง 4 ชิ้น จะมีการจัดแสดงให้ผู้สนใจได้เข้าชมยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่อไป

Advertisement

นายกฯ ร่วมงาน “Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024” กระตุ้นท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระชับสัมพันธ์ไทย-อินเดีย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 ตุลาคม 2567 นายกฯ “แพทองธาร” สวมชุดส่าหรีสีชมพู-เขียว ร่วมงาน “Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024” กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระชับความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย สร้าง “เสน่ห์” สร้างมูลค่า สร้างรายได้

วันนี้ (29 ต.ค. 67)  นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เวลา 18.00 น. ณ เวทีกลาง บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพฯ  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานในพิธีเปิดงาน  “Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024”  โดยมี   นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี  นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง   นางสาวธีรรัตน์  สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร   นายนาเคศ สิงห์ (H.E. Mr. Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย  พร้อมด้วยนายกสมาคมไทยอินเดีย ประธานหอการค้าอินเดีย-ไทย พี่น้องชาวไทยเชื้อสายอินเดียเข้าร่วมงาน

นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อสร้างโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์อันดีงาม ทางการทูตและการค้าระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอินเดีย ผ่านการจัดงานเทศกาลเชิงวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิต การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่หลากหลายของผู้คนในพื้นที่ในปี 2568 จะเป็นปี Amazing Thailand Grand Tourism & Sport Year  เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศชาติให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

นายกรัฐมนตรีชมการแสดงเชิงวัฒนธรรมชุดพิเศษจากแดนภารตะ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาร่วมงานเทศกาล Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ที่ได้มาร่วมงาน สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและไมตรีจิตจากทุกคน  รู้สึกว่าสิ่งดี ๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับทุกคน เพราะความสว่างไสวจากเทศกาลนี้ ได้ทำให้ความมืดมิดหมดไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า  เทศกาลดีวาลีเป็นช่วงเวลาให้คนไทยเชื้อสายอินเดียได้ร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัว ญาติพี่น้อง อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าอย่างมีความสุข  เทศกาลดิวาลีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินเดียที่มีร่วมกันมายาวนานถึง 77 ปี รวมถึงตอกย้ำภาพว่า ประเทศไทยคือประเทศแห่งความหลากหลาย แม้ต่างวัฒนธรรมก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

“หวังให้เทศกาลดิวาลีเกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไปทุก ๆ ปี พร้อมทั้งพัฒนาให้ใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น และน่าสนใจมากขึ้น ทำให้คุณค่าและความเชื่อ ที่เรามีกลายเป็น Soft Power ที่มีอยู่กลายเป็น “มูลค่า” เพื่อยกระดับชีวิตและรายได้ สร้าง  “เสน่ห์” ใจกลางเมือง ทำให้ทุกคนหลงรักชุมชนอินเดียในประเทศไทยมากขึ้น อย่างที่นายกฯ ก็หลงเสน่ห์ด้วยเช่นกัน  ขออวยพรให้ทุกคนมีความสุขมีความสว่างไสวถ้าใครเศร้าหมองยังไงก็ขอให้คนข้างๆ เป็นแสงสว่างในชีวิต  Happy Diwali soon” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สวมชุดส่าหรีสีชมพู-เขียวสไตล์อินเดียร่วมงาน “Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024”  โดยนายกฯ ได้สักการะเทพแห่งฮินดู อาทิ พระพิฆเนศ พระลักษมณ์ พระราม และพระแม่สีดา โดยการคล้องพวงมาลัย และถวายอัคคีบูชาไฟ  เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมจุดเทียนชัยร่วมกับคณะผู้บริหาร

รัฐบาลเชิญชวนพี่น้องชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมงาน “Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024” ระหว่างวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม ถึง วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ณ บริเวณคลองโอ่งอ่าง “ย่านลิตเติ้ลอินเดีย” ร่วมงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนเชื้อสายอินเดีย ร่วมสักการะบูชา ขอพรจากองค์พระพิฆเนศและองค์พระแม่ลักษมี ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองจากแดนภารตะ สัมผัสประสบการณ์ แสงสีเสียงสไตล์บอลลีวูด ชิม ช็อป อาหารคาวหวาน และสินค้าอินเดียนานาชนิด รวมถึงยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายตลอดช่วงเวลาจัดงานเทศกาล

Advertisement

ความร่วมมือการค้าไทย-อินเดียก้าวหน้า จัดประชุม JTC ครั้งแรกในรอบ 20 ปี

People Unity News : 4 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ยินดีความร่วมมือด้านการค้าไทย-อินเดีย ก้าวหน้า รื้อฟื้นการจัดประชุม JTC ร่วมกันในรอบ 20 ปี ผลักดันการแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า เปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย จนมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 13 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับจากการประชุมเมื่อปี 2546

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุม JTC ถือเป็นกลไกสำคัญในการหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งในปี 2563 ไทยและอินเดียตกลงรื้อฟื้นการประชุม JTC ขึ้นใหม่ ภายหลังว่างเว้นมานานเกือบ 2 ทศวรรษ เนื่องจากทั้งสองประเทศเข้าสู่การเจรจา FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย โดยการประชุม JTC ในครั้งนี้ มีวาระการหารือที่สำคัญเกี่ยวกับการลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะใช้การลงนามและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งผลักดันการใช้ QR Code ผ่านการเชื่อมโยงระบบ Unified Payments Interface (UPI) ของอินเดีย กับระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย เพื่อรองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทำภาพยนตร์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นอกจากนี้ไทยได้ขอให้อินเดียพิจารณาคำขอเปิดตลาดสินค้ามะพร้าวอ่อนของไทย พร้อมทั้งพิจารณายกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้ายางล้อและโทรทัศน์สี มาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่มีสารทำความเย็น และการจำกัดด่านนำเข้ายางพาราและไม้ตัดดอก ซึ่งอินเดียพร้อมพิจารณา

ทั้งนี้ ไทยและอินเดียถือเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญของกันและกัน มีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2565 รวมกว่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินเดียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ และถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผลักดันให้มีการประชุม JTC จนเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อีกครั้ง มุ่งหวังว่าการประชุมนี้จะสามารถหารือเพื่อทางออกสู่แนวทางแก้ไขอุปสรรคทางการค้า และเปิดตลาดในส่วนที่มีศักยภาพร่วมกันได้ และมั่นใจว่าการประชุมนี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดียให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น จะช่วยต่อยอดเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งสองประเทศ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics