วันที่ 5 พฤษภาคม 2024

“จุรินทร์”นำทำ MOU ธุรกิจตุรกี-ไทย วันเดียวยอด 3,512 ล้าน

People Unity News : “จุรินทร์”นำทำ MOU ธุรกิจตุรกี-ไทย วันเดียวยอด 3,512 ล้าน สินค้ายางพารา-ข้าว-มันสำปะหลัง-อาหาร

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติภารกิจในการเยือนกรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี โดยเป็นประธานการลงนามข้อตกลง หรือ MOU ในกลุ่มสินค้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ สินค้าอาหาร ระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกี พร้อมกล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ เพราะตุรกีถือเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่มีประชากรมากถึง 80 ล้านคนมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในแต่ละปีมากกว่า 40 ล้านคนและที่สำคัญตุรกีตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าที่มีความสำคัญเป็นประตูสู่ 3 ทวีป คือทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาสามารถเชื่อมต่อการค้าได้ทั้งทางด้านเหนือ-ใต้-ตะวันตก-ตะวันออก

และนอกจากนั้นก็ยังมีความสำคัญทางการค้ากับตะวันออกกลางด้วย ตุรกีจึงเป็นตลาดที่ประเทศไทยเห็นว่ามีศักยภาพ และตุรกีเป็นตลาดที่มีความสำพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยและประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยนั้นก็ถือว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบในภูมิภาคเอเชียนั้นก็คือสามารถที่จะเป็นประตูไปสู่ทวีปเอเชียได้มีเส้นทางการค้าที่สะดวกเชื่อมต่อไปยัง จีนอินเดีย และอาเซียน ซึ่งนักธุรกิจทั้งไทยตุรกีสามารถใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงสภาพภูมิศาสตร์ให้เป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ

เพื่อให้เป็นประตูการค้าระหว่างกันที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งประเทศไทยและตุรกีกำลังมีการเจรจา FTAระหว่างกัน ซึ่งผมได้คุยกับท่านปลัดตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเห็น FTA ไทย ตุรกีเสร็จในกลางปีหน้า ซึ่งการทำ FTA นั้นแม้ว่าทั้งไทยและตุรกีจะมีศักยภาพในอุตสาหกรรมเดียวกันและมีความใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร แต่ว่า FTA จะส่งผลให้การค้าทั้งไทยและตุรกีนั้นมีความเกื้อกูลกันมากกว่าที่จะแข่งขันกันเอง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผลที่คาดหวังหลังจากเอฟทีเอไทยตุรกีเสร็จสิ้นคาดว่าในปี 2565 การค้าระหว่างไทยตุรกีจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับรัฐบาลไทยขอเรียนให้ทราบว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสินค้ายางพาราเป็นอย่างยิ่งเพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกยางพารารายสำคัญของโลกสินค้ายางพาราไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งสอดรับกับที่ตุรกีเป็นประเทศนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางรายสำคัญของโลกจึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือกันยกระดับตัวเลขการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

นอกจากยางพาราแล้วรัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นๆไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง และอาหาร ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดตุรกี ขณะเดียวกันประเทศไทยก็พร้อมที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรของตุรกีเข้าสู่ประเทศไทยเช่นเดียวกันการเยือนธุรกิจครั้งนี้ผมได้นำนักธุรกิจทั้งจากส่วนของนักธุรกิจด้านยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง และอาหาร มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้และมาร่วมลงนาม MOU พร้อมทั้งพบปะทำ Bisiness Networking เพื่อทำธุรกิจการค้าให้ขยายตัวต่อไปอย่างเป็นรูปประธรรมมากยิ่งขึ้น

“หวังว่าการทำกิจกรรมทั้งสองอย่างในวันนี้จะสำเร็จด้วยดีและเกิดประโยชน์กับการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศอย่างที่คาดการณ์ไว้ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณนักธุรกิจชาวตุรกีทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่ามาร่วมงานในวันนี้เชื่อว่างานในวันนี้จะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจของทั้งสองประเทศได้มีโอกาสพบปะทำความรู้จักแสดงศักยภาพของกันและกันเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจและก้าวหน้าไปพร้อมกันอันจะนำไปสู่การขยายโอกาสทางการค้าใหม่ใหม่และยกระดับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่าสำหรับการลงนามข้อตกลง หรือ MOU ในกลุ่มสินค้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ สินค้าอาหาร ระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกี ประกอบด้วย ผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไทย บริษัทไทยฮั้ว จำกัด(มหาชน) กับ บริษัท KOLSAN TYPE ,ผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไทย บริษัทไทยฮั้ว จำกัด(มหาชน) กับ บริษัท Sayeste Kaucak ,การยางแห่งประเทศไทย กับ Turkish Rubber Association การยางแห่งประเทศไทย กับ REP Kaucak ,ผู้ส่งออกข้าวไทย บริษัท โตมี อินเตอร์เทรด จำกัด กับ บริษัท Dervisoglu ,ผู้ส่งออกข้าวไทย บริษัท เอส อินเตอร์ ไรซ์ จำกัด กับ บริษัท Harbiyeli ,ผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย บริษัท SB Premier Product จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific ,ผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย บริษัท Chaiyong Agricultural Silo จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific ,ผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย บริษัท Thong Tapioca (1999)จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific และ ผู้ส่งออกไทย บริษัท สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด กับ บริษัท Dolfin Gida

โดยรวมยอดเฉพาะช่วงเช้าวันนี้ (16พย.2562) ทั้งยางพารา 60,000 ตัน มูลค่า 2,727 ข้าว 6,000 ตัน มูลค่า 85 ล้านบาท และมันสำปะหลัง 150,000 ตัน มูลค่า 650 ล้านบาท ละซอลปรุงรส 10 ล้านบาท รวม มูลค่าเบื้องต้น 3,512 ล้านบาท

จากนั้นเวลา 11.20 – 12.00 น. เวลาท้องถิ่น กรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี (ห่างจากประเทศไทย 4 ชม.) นายจุรินทร์ พบปะภาคเอกชนในกิจกรรม Business Networking อีกกว่า 15 ราย เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทย และอุตสาหกรรมยางพาราและอาหารของไทย และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกี

“ประภัตร”วางแผนเชิงรุกเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ตั้งเป้า เพิ่มผลผลิต 2 แสนตัน

People Unity News : “ประภัตร”วางแผนเชิงรุกเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ตั้งเป้า เพิ่มผลผลิต 2 แสนตันกระจายสู่เกษตรกร ปลูกข้าวคุณภาพ

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2562 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมวางแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว พร้อมด้วย นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับเกษตรกรด้วยการช่วยเหลือและสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรมีคุณภาพดีโดยในภาคการผลิตข้าวนั้น เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญในการผลิตข้าวคุณภาพดี และได้ให้ความสำคัญและติดตามการทำงานของกรมการข้าวมาอย่างต่อเนื่อง

ในการประชุมวันนี้ได้สร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมการข้าว ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงาน โดยได้สั่งการให้กรมการข้าวเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ จากเดิมเป้าหมาย 85,000 ตัน/ปี เป็น 260,000 ตัน/ปี ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร และช่วยเหลือเกษตรกรกรณีเกิดปัญหาภัยพิบัติหรือเกิดโรคในข้าว และให้แต่ละศูนย์สามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย จึงได้ระดมความคิดเห็นร่วมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป้าหมายศักยภาพการผลิต อาทิ ข้าวหอมมะลิ ปทุมธานี ข้าวเจ้า และข้าวเหนียว รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือ รถเกี่ยว เครื่องปักดำ เครื่องคัด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพเพียงพออย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าวมีภารกิจหลักในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ชั้นพันธุ์คัด พันธุ์หลัก พันธุ์ขยาย และพันธุ์จำหน่าย เพื่อเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยมี 1. กองวิจัยและพัฒนาข้าว ซึ่งมีศูนย์วิจัยข้าว 28 แห่ง ผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัด และพันธุ์หลัก ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การผลิต ดูแลหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปข้าววิทยาการเมล็ดพันธุ์และมาตรฐานพันธุ์ โดยมีการบูรณาการทำงานวิจัยร่วมกับ NECTEC ดำเนินโครงการพัฒนาระบบออนไลน์ จัดทำฐานข้อมูลร่วมกัน เพื่อการประเมินสถานการณ์เมล็ดพันธุ์ข้าว และ 2. กองเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 29 แห่ง มีหน้าที่วางแผนและผลิต เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่ายเพื่อสนับสนุนส่งเสริมและกระจายพันธุ์ข้าวตามนโยบายคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ ส่งเสริมเผยแพร่และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร พัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในท้องถิ่น เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชน สนับสนุนการดำเนินธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของเอกชน ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตการใช้และการตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาการเมล็ดพันธุ์ สนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์ข้าวและเกษตรกร

อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ได้เยี่ยมชมแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก พร้อมทั้งชมการสาธิตการใช้โดรนเพื่อการเกษตร ตลอดจนเยี่ยมชมโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ด ชมกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลกด้วย

“สมคิด”เรียกหน่วยงานสังกัดก.คลังถกรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว

People Unity News : “สมคิด”เรียกหน่วยงานสังกัดก.คลังถกรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว โอ่ไทยเนื้อหอมนักลงทุนต่างชาติเตรียมแห่เข้าลงทุนเพียบ ขณะที่”อุตตม”ยันไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคลัง กล่าวว่า นักลงทุนรายใหญ่ทยอยติดต่อเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง (CCPIT) นำกลุ่มนักลงทุนมณฑลกวางตุ้งของจีนเข้ามาขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยังมีกลุ่มผู้บริหารไมโครซอร์ฟและอเมซอน ยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลของสหรัฐ รวมทั้งประธานสภาธุรกิจอังกฤษ-อาเซียน และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ( JBIC) นับว่าต่างชาติแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยสูงมาก

“จึงขอให้กระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกต่อการเข้ามาขยายการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะต่างชาติยังทยอยเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แสดงว่าไทยยังมีโอกาสสูงมาก เพราะความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทย มองเห็นแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ได้กังวลเรื่องปัจจัยเสี่ยง แม้ว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงเตือนระวังการลงทุนในภูมิภาคต่างๆ จากสภาเศรษฐกิจโลก” นายสมคิด กล่าววและว่า

จึงหารือกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง เพื่อประเมินสถานภาพเศรษฐกิจไทยทุกด้านเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมมาตรการออกมารองรับในช่วงเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ยอมรับว่าแรงซื้อสินค้าและการบริโภคด้านต่างๆ ของไทยเริ่มดีขึ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลโครงการชิมช้อปใช้เริ่มส่งผลออกมาในช่วงไตรมาส 3 จึงเป็นสัญญาณที่ดีและน่าพอใจ ยอมรับว่าการส่งออกน่าเป็นห่วง เพราะกำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง จึงหวังรายได้จากการส่งออกยากขึ้น และสั่งเข้มงวดการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมจัดเก็บรายได้หลักให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต แต่ต้องไม่บั่นทอนการบริโภคของประชาชน ส่วนคำสั่งนายกรัฐมนตรีเปิดทางให้นำเงินสำนักงานประกันสังคมออกมาปล่อยกู้เพื่อการลงทุนนั้น เป็นเรื่องพิจารณาในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูว่าเงินกองทุนเหล่านี้ควรนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ต้องนำใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัยไม่กระทบต่อฐานะหรือสมาชิกกองทุน สปสช.

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องดูแลเศรษฐกิจภาพรวม เพื่อพิจารณาว่ามีมาตรการที่เหมาะสม และช่วงเวลาจำเป็น เพื่อออกมาดูแลเศรษฐกิจขณะนี้ การจัดสรรงบประมาณปี 2563 จะเริ่มใช้จ่ายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 มาตรการแต่ละด้านต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าใช้งบประมาณ โดยเริ่มทำมาแล้วไม่ได้รองบปี 63 เพราะได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

การเสนอข่าวช่วงนี้มีความเปราะบาง อยากให้ระมัดระวัง เพราะหากกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศจะไม่เกิด การบริโภคไม่เกิดขึ้น หากเศรษฐกิจไทยไม่ย่ำแย่ตามที่เป็นข่าว แม้ได้รับผลกระทบจากการค้าโลก ต้องช่วยกันฟันฝ่าไปให้ได้ ประเทศอื่นแย่กว่าไทย เพราะข่าวที่ออกไม่ใช่ครบถ้วน ไม่ใช่ข่าวจริง หากข้อมูลใดออกมาไม่ชัดเจน ขออย่าสรุปตามข้อมูลดังกล่าว จึงขอให้ระมัดระวัง เพราะไทยไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่ในระยะสั้น ทั้งปัญหาหนี้เสีย เพราะไทยผ่านปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว ทั้งหนี้เสียสูง ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงเกินจริง เก็งกำไร แต่ปัจจุบันไม่มีสัญญาณดังกล่าว ต่างชาติยังรับรู้ จึงทยอยเข้ามาขยายการลงทุน” นายสมคิด กล่าว

สำหรับข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) จัดอันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจทั่วโลกปี 2562 นั้น เป็นการสอบถามภาคเอกชน เพื่อขอความเป็นต่อการเข้ามาลงทุนในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อประเมินว่าทั้งโลกมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง 30 ปัจจัย จึงสำรวจความเห็นนักธุรกิจแต่ละประเทศ เพื่อให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยง 30 ประการต้องให้ความสำคัญ ในส่วนของไทยเอกชนให้ความเห็น 5 ด้าน ต้องให้ความระวัง คือ เศรษฐกิจฟองสบู่ ไม่ได้หมายความว่าไทยมีความเสี่ยงสูงสุด เพราะคำถาม คือ ในช่วง 10 ปีข้างหน้าควรระมัดระวังปัจจัยอะไร ไม่ใช่ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจมีสภาพอย่างไร

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า การโจมตีทางไซเบอร์ เรื่อง Governance แปลบอกว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งเป็นการแปลความผิดเพี้ยน จึงพาดหัวว่า “สภาธุรกิจไทยระบุว่าไทยมีความเสี่ยงที่สุด” นับว่าเป็นคนละเรื่องกัน ผลจึงเกิดกับประเทศไทยสูงมาก จึงขอให้ระวังการนำเสนอข้อมูล เพราะประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นเจอหนักกว่าไทย ทั้งการว่างงาน เรื่อง Governance เรื่องฟองสบู่ หนักกว่าไทย แต่กลับมาทำให้ไทยดูแย่มากกว่าประเทศอื่น ดังนั้น ในสภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดีต้องเสนอข้อมูลอย่างระมัดระวัง การแถลงข้อมูลต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ควรแปลผิดแปลถูก จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความระมัดระวัง

“ประภัตร” ตามงาน มกอช.ดันสินค้า”GAP-Q”แนะใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง

People Unity News : “ประภัตร” ตามงาน มกอช.เดินเครื่องผลักดันสินค้าเกษตรมาตรฐาน GAP แสดงเครื่องหมาย Q เพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าเกษตร หนุนนำร่อง “เมล่อน ประสิทธิฟาร์ม” เมืองสุพรรณฯผลิตสินค้ามาตรฐานป้อนตลาด กระตุ้นผู้บริโภคเข้าถึงสถานที่จำหน่ายและแหล่งผลิตสินค้า Q

วันนี้ (15 พ.ย.62) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจติดตามการผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันให้มีการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยส่งเสริมการผลิตตั้งแต่ฟาร์มให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) โดยมีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง เหมาะสม และจำกัดตามหลักวิชาการ และมีการให้สัญลักษณ์ Q เพื่อรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายที่จะผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q เพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวสาร ผัก และผลไม้

ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้ มกอช. ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยคัดเลือกเมล่อน ประสิทธิฟาร์ม ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่นำร่อง ในการผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q โดยสนับสนุนการแสดงเครื่องหมาย Q สนับสนุนสินค้าที่ได้มาตรฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งมาตรฐานและข้อมูลของเกษตรกร พร้อมหาตลาดรองรับให้กับเกษตรกร ได้แก่ ตลอดออนไลน์ www.dgtfram.com ร้าน Q4U (ร้านใน มกอช.) องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และห้างโมเดิร์นเทรด อย่างไรก็ตาม นอกจากเกษตรกรจะมีช่องทางการจำหน่าย            มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว เกษตรกรยังมีสินค้าที่ได้มาตรฐานสู่ผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภคเข้าถึงสถานที่จำหน่ายและแหล่งผลิตสินค้า Q อีกด้วย

ขณะที่ นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย Q เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตั้งแต่การผลิตในระดับฟาร์ม ซึ่งต้องปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐาน GAP รวมทั้งโรงคัดบรรจุผักผลไม้ โรงฆ่าสัตว์ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ การผลิตต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติในการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practices : GMPโดยปัจจุบัน    มีเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 297,874 ใบ (190,815 ราย) แบ่งเป็น พืช 144,762 ใบ (127,867 ราย) ปศุสัตว์ 18,309 ใบ (18,307 ราย) ประมง 221 ใบ (221 ราย) และข้าว 134,582 ใบ (44,420 ราย)

“ที่ผ่านมา มกอช. ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น ห้างโมเดิร์นเทรด ตลาดสดต่างๆ ในการสนับสนุนส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรและอาหารที่มีเครื่องหมาย Q โดยเปิดให้มีมุมจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าที่มีคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น และผู้บริโภคสามารถเลือกหาซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยและมีมาตรฐาน ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q จะต้องรักษาคุณภาพ ความปลอดภัย และได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพราะหน่วยงานที่ให้การรับรองจะทำการติดตามตรวจสอบเป็นระยะ หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือไม่รักษาคุณภาพ ความปลอดภัย ตามมาตรฐาน จะถูกยกเลิกการใช้เครื่องหมาย Q ฉะนั้น สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกหาสินค้าคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ต้องเลือกสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เท่านั้น” เลขาธิการ มกอช. กล่าว

“ชวลิต” ยืนยัน กมธ.มุ่งมั่น “เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ”ยกระดับครัวโลก

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยผลการดำเนินงานของ กมธ. และความเห็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.กมธ.ได้รายงานผลการศึกษา ฯ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธาน ฯ ได้สั่งบรรจุในระเบียบวาระการประชุม ในวันพุธที่ 20 พ.ย.62 ขอให้ติดตามผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่จะมีไปถึงรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

2. กมธ.สนับสนุนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการแบน3 สารเคมีอันตรายร้ายแรง คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อสุขอนามัยทึ่ดีของ เกษตรกร ประชาขนผู้บริโภค และเด็กเกิดใหม่

3. กมธ.ไม่สนับสนุนการหาสารเคมีชนิดใดมาทดแทนสารเคมีที่ถูกแบน แต่มุ่งมั่น ส่งเสริม สนับสนุน โครงการเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อยกระดับการเกษตรของไทย เป็น “ครัวของโลก”

4. ขอชื่นชม ดีเอสไอ.ที่ไปตรวจค้น จับกุม ร้านค้าที่จำหน่ายสารชีวภัณฑ์โดยผสมพาราควอต และไกลโฟเซต นับเป็นการทำงานที่ทันกับสถานการณ์ และขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาด ตรงไป ตรงมา เพราะหากินบนความเดือดร้อนของเกษตรกร และประชาชนผู้บริโภค

5. ขอให้หน่วยเฝ้าระวัง สุ่มตรวจสอบ ผัก ผลไม้ และยาปราบศัตรูพืช ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือกับดีเอสไอ.ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง จะส่งผลให้ประชาชนคนไทยโดยรวมมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น

6. เมื่อถึงกำหนดวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ที่มติคณะกรรมการวัตถุอีนตรายมีผลบังคับใช้ในการแบน 3 สารพิษดังกล่าว ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกับ ดีเอสไอ.ดำเนินการกับผู้ที่อาจนำสารต้องห้ามดังกล่าวไปแอบจำหน่ายใต้ดิน โดยขอให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดโดยเฉียบขาด โดยยึดประโยชน์สุขภาพอนามัยประชาชนเป็นที่ตั้ง
ขอยืนยันอีกครั้งในนาม กมธ.ไม่เคยคิดแบนสารพิษชนิดใด เพื่อหาสารตัวอื่นมาทดแทน เป้าหมายสูงสุดของ กมธ. คือ โครงการเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อยกระดับการเกษตรของไทยเป็นครัวของโลก ดังกล่าวข้างต้น

“ศักดิ์สยาม”ร่วมประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 ที่เวียดนาม

People Unity News : “ศักดิ์สยาม”ร่วมประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 ที่เวียดนาม ส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างไร้รอยต่อรวมถึงประเทศคู่เจรจา

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 (ASEAN Transport Ministers Meeting: ATM) ครั้งที่ 25 ในวันที่ 14 และ 15 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐเวียดนาม ซึ่งมี นายเหวียน หว่าน เถ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเวียดนาม เป็นประธานการประชุม และดาโต๊ะ อับดุล มูตาหลิบ ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารสารสนเทศบรูไนดารุสซาลาม ทำหน้าที่รองประธาน โดยมีรัฐมนตรีขนส่งของประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและรองเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุมฯ ในส่วนของคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย นางสาวกอบกุล โมทนา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า นายปรีดา ยังสุขสถาพร รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรือเอก รุจน์ สุขปรีดี รองผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ นายสุทธิพงษ์ คงพูล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้แทนกองการการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมท่าอากาศยาน กรมทางหลวง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การท่าเรือแห่งประเทศไทย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมด้วย

ในพิธีเปิดการประชุมซี่งมีนายตริน ดิน ดึง รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามเป็นประธาน ได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือของอาเซียนด้านการขนส่ง ทั้งการขนส่งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ และการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง เพื่อส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN) และเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน

การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 เป็นการติดตามผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ด้านการขนส่งของอาเซียนหรือ Kuala Lumpur Transport Strategic Plan (KLTSP) ปี 2559-2568 ของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งของอาเซียน คณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนของอาเซียน รวมถึงการดำเนินความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี) เพื่อส่งเสริมการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย การขนส่งที่ยั่งยืน และความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา พร้อมนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและให้การรับรองและลงนามเอกสาร จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมในการเร่งรัดและส่งเสริมการดำเนินการของอาเซียนด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การดำเนินการด้านการขนส่งทางน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเชื่อมโยงด้านการบินในภูมิภาคอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่นๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นตลาดการบินเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Market) และตลาดการขนส่งทางทะเลร่วมอาเซียน (ASEAN Single Shipping Market) ดังนี้

เอกสารที่รับรอง จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย (1) กรอบการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Implementation Framework of the ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport) (2) ปฏิญญาว่าด้วยการรับรองกรอบการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Declaration on the Adoption of the Implementation Framework of the ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport) (3) แผนยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ASEAN Green Ship Strategy) และ (4) พิธีสาร 1 ว่าด้วยเครื่องช่วยฝึกบิน (Protocol 1 on Flight Simulation Training Devices)

เอกสารที่รับรองและลงนาม จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย (1) พิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 11 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (Protocol to Implement the Eleventh Package of Commitments on Air Transport Services under the ASEAN Framework Agreement on Services) และ (2) พิธีสาร 3 ว่าด้วยการขยายสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ระหว่างภาคีคู่สัญญา (Protocol 3 on the Expansion of Fifth Freedom Traffic Rights between Contracting Parties)

“จุรินทร์”แถลงผลสำเร็จลุยส่งออก ทั้งจีน-อเมริกามูลค่าทะลุ 16,780 ล้าน

People Unity News : “จุรินทร์”แถลงผลสำเร็จภารกิจตลาดต่างประเทศเพื่อส่งออกทั้งจีน-อเมริกา งานเดียวมูลค่าทะลุ 16,780 ล้าน ยันประกันรายได้โอนทุกงวดส่วนยางพาราต้องตรวจสอบ

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ แถลงข่าวสรุปภารกิจการเยือนต่างประเทศ โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่จะมานำเสนอในวันนี้ประกอบด้วย 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ ผลการเดินทางเยือนจีน ผลการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา และ กิจกรรมการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรที่กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการเร็วๆนี้ โดยสรุปการเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมงาน China International Import Expo (CIIE) ที่มีประธานธิบดีสี จิ้น ผิง มาเป็นประธานเปิด โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 46 ราย และสามารถขายสินค้าไทยได้รวมมูลค่าถึง 2,000 ล้านบาท และมีโอกาสประชาสัมพันธ์สินค้าไทยผ่านสื่อรายสำคัญๆ เช่น สถานีโทรทัศน์ CCTV, People Daily, Shanghai Daily, Weibo และ Economic Daily และร่วมกับ Bank of China นำผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม Business matching จำนวน 40 ราย

มีการเปิดตัว TOPTHAI Flagship Store บน Tmall Global ของ Alibaba Group เพื่อผลักดันสินค้าแบรนด์ไทย รวมทั้งสินค้าผลไม้ และอาหารไทยเข้าสู่ตลาดจีน ภายใต้ร้าน Thailand Food Country Official Store บน Tmall.com  ตั้งเป้ามีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 100 บริษัท สร้างยอดขายได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาทใน 3 ปี มีการหารือกับตลาดหลงอู๋ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ตลาดนำเข้า ค้าส่ง ค้าปลีก ผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเซี่ยงไฮ้ ในการจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการส่งเสริมผลไม้ทั่วจีน 7 แห่งพร้อมกันในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ซึ่งได้รับความมั่นใจว่าโอกาสผลไม้ไทยในตลาดยังมีอีกมาก โดยเฉพาะ ทุเรียน มะพร้าวสด มังคุด ลำไย มะม่วง โดยในปี 2563 มูลค่าการนำเข้าผลไม้รวมจากไทยจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 20 รวมเป็น 9,291 ล้านบาท การหารือซุปเปอร์มาเก็ตเหอม่า เฟรช – Hema Fresh (หรือ Freshhippo) ในเครือของอาลีบาบา ที่มีระบบบริหารจัดการทั้งหมดเป็นระบบดิจิทัล  โดยทาง Hema ยินดีให้ความร่วมมือผลักดันให้สินค้าไทยเข้าไปวางจำหน่ายในซุปเปอร์ฯ ให้มากขึ้น ดันให้ยอดขายสินค้าไทยใน Hema จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 50 ในปี 2563

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับผลการเยือนสหรัฐอเมริกา ได้ผลักดันภาพยนตร์และบริการไทยในงาน American Film Market (AFM) 2019 ผ่านกิจกรรมเจรจาธุรกิจในงาน AFM ระหว่าง มีผู้ประกอบการไทย เข้าร่วมจำนวน 8 บริษัท เกิดผลเจรจาธุรกิจ รวม 281 ครั้ง เป็นมูลค่าถึง 2,000 ล้านบาท รวมถึงยังได้ขยายตลาดไปยังแพลตฟอร์มใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งยืนยันได้ว่าภาพยนตร์และบริการไทยได้รับความนิยมสูงทั่วโลก มีโอกาสอีกมาในแพล็ตฟอร์มภาพยนตร์ต่างๆ และยังหารือความร่วมมือในการจัดกิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมไทยกับ  Nickelodeon Animation Studio และ Walt Disney studio และ Animator คนไทยรุ่นใหม่ 8 ราย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การ์ตูนที่ผสมผสานวัฒนธรรมเอเชีย และหาแนวทางที่จะพัฒนาส่งเสริมคนไทยที่มีศักยภาพให้ได้มีโอกาสมาพัฒนาฝีมือ และสร้างสรรค์งานร่วมกับบริษัทระดับโลก ทั้งนี้ ในปี 2563 หลังจากนี้จะได้มีการจัดกิจกรรมพบปะผู้ผลิตแอนิเมชั่นระดับโลกเพื่อส่งเสริมเวทีการทำงานของคนไทยมากขึ้น

การหารือผู้นำเข้าข้าวและอาหารแปรรูปรายสำคัญของสหรัฐฯ 8 บริษัท (รวมสัดส่วนการนำเข้าจากทั้ง 8 บริษัทคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่านำเข้าข้าวจากไทยทั้งหมด) เพื่อตอกย้ำความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในฐานะพันธมิตรอย่างใกล้ชิด และกระทรวงพาณิชย์ยังมีโครงการแนะนำสินค้าและผู้ประกอบการไทยในงานแสดงสินค้าสำคัญในพื้นที่ อาทิ NPEW (Natural Product Expo West) 3 – 7 มี.ค. 2563 NRA (National Restaurant Association Show) 16 – 19 พ.ค. 2563 เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายข้าวไทยและข้าวหอมมะลิไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในช่วงการจัดกิจกรรม และเพิ่มยอดการส่งออกข้าวไทยมาสหรัฐฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5

นายจุรินทร์ กล่าวว่า อีกเรื่องคือการเข้าร่วมงาน Thai Night 2019 (8 พ.ย. 2019) โดยมีทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในพิธี มีผู้เข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 550 ราย จากประเทศต่างๆ มากกว่า 16 ประเทศ ซึ่งรวมถึงนักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์ชั้นนำ เพื่อเป็นเวทีที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้แสดงความสามารถและศักยภาพ รวมทั้งการใช้โลเคชั่นประเทศไทยในอุตสาหกรรมนี้

นอกจากนั้น ยังจะมีกิจกรรมการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรที่กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการเร็วๆนี้ จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าว สินค้านวัตกรรมที่ทำจากผลไม้ และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาค Bio Plastic ในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562 โดยดึงผู้นำเข้า ผู้ซื้อ และตัวแทนจำหน่ายจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก กว่า 130 บริษัท อาทิ ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป อเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยกว่า 200 บริษัท พร้อมตั้งเป้าสร้างมูลค่าการเจรจาซื้อขายได้สูงถึง 2,800 ล้านบาท และยังมีพิธีลงนามความตกลงทางการค้า (MOU) กว่า 8 ฉบับ และการนำผู้นำเข้าต่างประเทศเยี่ยมชมสถานประกอบการที่มีศักยภาพ และการจัดนิทรรศการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูป

ส่วนที่จะทำต่อไปในเวลาอันใกล้นี้ คือ ตนจะนำคณะนักธุรกิจเดินทางเยือนตุรกีและเยอรมัน ระหว่าง 15 – 19 พ.ย. 2562 โดยตั้งเป้าหมายจะไปขายยางพารา ผลิตภัณฑ์อาหาร อื่นๆ จะมีการลงนาม MOU ระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกีในกลุ่มสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ข้าว มันสำปะหลัง และซอสปรุงรส และ MOU ระหว่างนักธุรกิจไทยและเยอรมัน และนำผู้ส่งออกไทยที่ผลิตยางที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน MEDICA 2019 ในระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2562 ณ เมืองดึสเซลดอร์ฟ เพื่อผลักดันการส่งออกผลผลิตยางพาราไปยังต่างประเทศอีกด้วย

ยันประกันรายได้โอนทุกงวดส่วนยางพาราต้องตรวจสอบ

นายจุรินทร์ กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้ว่า ขอแจ้งตัวเลขว่าจากการเริ่มดำเนินการตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบ ทั้งปาล์ม ข้าว และยางพารา 3 ตัวนี้มาถึงวันนี้มีการโอนเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรแล้วดังนี้ โดยปาล์มน้ำมันโอนเงินให้กับเกษตรกรแล้วจำนวน 295,880 รายคิดเป็นเงิน 3,360 ล้านบาท ส่วนข้าวโอนแล้ว 440,000 รายคิดเป็นเงิน 11,400 ล้านบาท และยางพาราได้มีการโอนไปแล้ว 503,800 ราย คิดเป็นเงิน 2,868 ล้านบาท

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับยางพารานั้นจะปัญหาทางปฏิบัติอยู่บ้าง คือกำหนดวันโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรตั้งแต่ 1-15 พฤศจิกายน แต่การยางแห่งประเทศไทยต้องไปตรวจสวนยางด้วยว่ายังทำสวนอยู่หรือไม่และผลิตยางชนิดใดยางแผ่น น้ำยางสด หรือยางก้อนถ้วย จึงจะให้ ธ.ก.ส.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร เนื่องจากมีบุคลากรจำกัดและต้องใช้เวลาจึงทำให้วันที่ 15 พฤศจิกายน การยางต้องตรวจสวนให้ครบถ้วน ซึ่ง รมว.กระทรวงเกษตรและตนจะให้ดำเนินการให้เร็วที่สุดเพราะเกษตรกรจำนวนมากยังรอเงินส่วนต่างโอนเข้าบัญชีอยู่

อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าหลังวันที่ 1 – 15 จะไม่ได้รับเงินส่วนต่างแต่จะโอนให้ต่อเนื่องจนกว่าจะครบบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ และยางนั้นจะโอน 3 งวดต่อปีทุก 2 เดือน เดือนนี้โอน 1 ถึง 15 พฤศจิกายน 2572 งวดหน้าโอนวันที่ 1 มกรารม 2563 สำหรับ 1 มกราคม 2573 นั้นจะไม่ได้ช้ามากเหมือนงวดแรกเนื่องจากมีการตรวจส่วนครบถ้วนแล้วสามารถโอนเงินได้ทันทีภายในวันเดียวคือวันที่ 1 มกราคมงวดต่อไปก็โอนได้ครบถ้วนภายในวันเดียวกันช่วงการโอนเงินงวดแรกก็ปุบปับเพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีประเทศไทยมาที่มีการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางจึงมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่บ้าง

ภาครัฐจับมือเอกชนสร้างแอปฯ ส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ

People Unity News : ภาครัฐจับมือเอกชนกว่า 40 หน่วยงาน ร่วมเปิดโครงการ Digital Tourism Platform เน้นการสร้าง Platform การท่องเที่ยวแห่งชาติ
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมงานแถลงข่าวโครงการ “Digital Tourism Platform ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนกว่า 40 หน่วยงาน โดยนายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันดิจิทัลมีความสำคัญและเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจแล้ว ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีการปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ธุรกิจอาจจะดำเนินไปด้วยความยากลำบาก จนอาจถึงขั้นต้องยุติการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก แต่ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ช่วยประคองภาวะเศรษฐกิจของไทย ไม่ให้ชะลอตัวลงไปมากนัก ดังนั้น หากเราสามารถดึงดูดเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศจะยังคงเดินหน้าและเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้

“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน หากมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงฯ เห็นว่า เครื่องมือดิจิทัลจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาการท่องเที่ยวให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนจึงพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนผลักดันโครงการความร่วมมือนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย    ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการ “Digital Tourism Platform” กล่าวว่า โครงการ Digital Tourism Platform เป็นการสร้าง Platform การท่องเที่ยวแห่งชาติ ภายใต้ชื่อ Application TAGTHAi (ทักทาย)        ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนกว่า 40 หน่วยงาน ที่มีการลงนามความร่วมมือกัน โดยดำเนินการผ่านบริษัท ไทย ดิจิทัล แพลตฟอร์ม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ทั้งนี้ Platform กลางดังกล่าว จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลการท่องเที่ยว สินค้าและบริการของผู้ประกอบการในตลอดทั้ง Value Chain ด้านการท่องเที่ยว ยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบครบวงจร ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล    มาเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง

นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจของประเทศไทยให้มีช่องทางดิจิทัลในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้ว  จะเกิดประโยชน์ในด้านการกระจายรายได้ และการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งตอบรับกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยเช่นกัน

“วีรศักดิ์”ปลุกร้านเสริมสวยรายย่อยคึกคักปลายปี

People Unity News : “วีรศักดิ์”ปลุกร้านเสริมสวยรายย่อยคึกคักปลายปี เปิดตัวโครงการเพิ่มศักยภาพการบริหารธุรกิจเสริมสวยอย่างมืออาชีพ หวังเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจร้าน เสริมสวยรายย่อย สามารถยืนหยัดในธุรกิจบริการไทยได้อย่างเข้มแข็ง

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2562 กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสมาคมวิชาชีพช่างผมไทย เปิดอบรมธุรกิจและบุคคลในวิชาชีพเสริมความงาม ดึงกูรูช่างผมชื่อดังของเมืองไทยร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการสร้างธุรกิจให้เป็นมืออาชีพ พร้อมการันตีเรียนจบกลับไปพัฒนาธุรกิจบิวตี้ในชุมชน ให้แข่งขันกันเติบโตได้แน่ คาดกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นธุรกิจบริการเสริมสวยให้กลับมาคึกคักสร้างเม็ดเงินสะพัดได้ในช่วงปลายปี

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรพิเศษ “การบริหารธุรกิจเสริมสวยอย่างมืออาชีพ” ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่ากิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายการเร่งรัดพัฒนาธุรกิจบริการไทยให้เข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยในวันนี้ได้จัดการอบรมร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสมาคมวิชาชีพช่างผมไทย สำหรับหลักสูตรนี้ได้แบ่งการอบรมเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 เป็นเจ้าของธุรกิจเสริมสวยมาที่เปิดกิจการแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือต้องการขยายสาขา อบรมระหว่างวันที่ 13, 20-21 พฤศจิกายน 2562 และรุ่นที่ 2 สำหรับช่างและนักศึกษาที่กำลังศึกษาหลักสูตรช่างทำผม แต่งหน้า ทำเล็บ และเสริมความงาม อบรมระหว่างวันที่ 13, 27-28 พฤศจิกายน 2562

รมช.พณ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในวันนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม การบริหารธุรกิจร้านเสริมสวย และช่างทำผมมืออาชีพชื่อดังของเมืองไทย อาทิ ดร.สมศักดิ์ ชลาชล นายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย, คุณไกรวิทย์ พุ่มสุโข ผู้บริหาร Sukho Salon, คุณสมเพชร ศรีชัยโย ผู้อำนวยการสถาบัน Anthony Hair, คุณวรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาเรื่องเสริมสวยมืออาชีพ บทเรียนสำหรับประกอบการยุคใหม่, เทรนด์ผมสมัยใหม่ มืออาชีพต้องตามทัน, และเทคนิคการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จเคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับช่างเสริมสวยมืออาชีพ อีกทั้ง กระทรวงฯยังได้ขอความร่วมมือจากผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับธุรกิจทำผมชั้นนำเพื่อมาจำหน่ายในราคาพิเศษ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านวัตถุดิบหลักที่ใช้ให้บริการและสร้างรายได้เสริมแก่ธุรกิจที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

“มากไปกว่านั้น ธุรกิจที่ผ่านการอบรมจะสามารถนำความรู้กลับไปปิดจุดอ่อน (Pain Point) ร้านเสริมสวยของตนเอง ด้วยการใช้เทคนิคด้านการตลาดมาช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน การเลือกทำเลทอง ในการลงทุน การครองใจลูกค้าให้กลับมาใช้บริการซ้ำและการซื้อใจพนักงานให้เต็มใจในงานบริการ การปักหมุดร้านให้เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ การบริหารเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับภาพลักษณ์ร้านเสริมสวยให้น่ามอง”

“ร้านเสริมสวยเป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีเสน่ห์ในการเข้าถึงคนในชุมชนได้ทุกเพศทุกวัย หากพิจารณาให้ดีจะถือว่าเป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น แม้ธุรกิจนี้จะมีจำนวนมากเพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน งบลงทุนไม่มากส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง แต่ถ้าสามารถพัฒนาตนเองเข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพได้ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถแยกความแตกต่างระหว่างร้านเสริมสวยทั่วไปกับร้านที่มีความเป็นมืออาชีพได้ ซึ่งแน่นอนลูกค้าจะต้องเลือกเข้าร้านที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า อีกทั้งถ้าธุรกิจสามารถรวมกลุ่มกันภายใต้วิชาชีพเดียวกันได้ ก็จะเพิ่มความสามารถในการพัฒนาวิชาชีพและเพิ่มอำนาจการต่อรองทางธุรกิจได้ ช่วยประหยัดต้นทุนในการบริหารธุรกิจได้อีกทาง” รมช.พณ. กล่าวในท้ายที่สุด

จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2559 พบว่า มีธุรกิจเสริมสวยที่จัดตั้งในอยู่ในประเทศไทย จำนวน 121,296 ราย และมีมูลค่าทางการตลาดรวมกันทั้งประเทศกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ข้อมูลจากของกรมการจัดหางาน ยังพบว่า อัตราการเติบโตของธุรกิจเสริมสวยในประเทศไทยระหว่างปี 2558-2562 อยู่ที่ร้อยละ 3.4

“จุรินทร์”เคาะประกันรายได้มันสำปะหลัง กก.ละ 2.50 บาท

People Unity News : “จุรินทร์” นำกรรมการนโยบายมันสำปะหลังเคาะ “1 ธันวาคม ” จ่ายส่วนต่างประกันรายได้มันสำปะหลัง กก.ละ 2.50บาท ครัวละไม่เกิน100ตัน อนุมัติวันนี้ และพรุ่งนี้นำเข้าครม.ด่วน

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10.30 น. -13.20 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง ที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ภายหลังหลังการประชุม นายจุรินทร์สรุปแถลงว่า ที่ประชุมอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/2563 วงเงิน 9,671 ล้านบาท โดยจะประกันรายได้ผลผลิตหัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน

โดยเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 30 พฤศจิกายน 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 540,000 ราย และจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนได้ต่อเนื่อง โดยเกษตรกรสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป และโดยรัฐบาลจะโอนเงินงวดแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 62 – 30 พฤศจิกายน 2562 (ประมาณร้อยละ 20 ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน) และจะโอนเงินทุกวันทำการแรกของเดือนให้กับเกษตรกรที่เหลือ ที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ถึง 31 เม ย 63 (ประมาณร้อยละ 80) และจะโอนเงินครั้งสุดท้ายวันที่ 1 พค 63 รวมทั้งมีการเก็บเกษตรกรที่ตกหล่นจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 63

โดยเกษตรกรหนึ่งรายสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียว และเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวหลังจากนั้น สามารถขึ้นทะเบียนใหม่สำหรับโครงการระยะที่ 2 และธกส จะโอนเงินชดเชยส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระในการเข้าร่วม โครงการฯ เกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. โดยภายใต้โครงการนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินทุกวันที่หนึ่งของเดือน จำนวน 12 ครั้งต่อปี

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ในการสร้างมาตรฐานของมันสำปะหลังและเข้มงวดการกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง รายละไม่เกิน 350,000 บาท นำไปใช้ เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดหาเครื่องร่อนดิน และสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น เพื่อจำหน่ายต่อ และหรือแปรรูปเพื่อ สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์

และที่ประชุมเรับทราบกับแนวทางการขยายตลาดมันสำปะหลังต่างประเทศ ตามกลยุทธ์รักษาตลาดเดิม ฟื้นฟูตลาดเก่า และขยายไปยังตลาดใหม่ การรักษาตลาดเดิม ได้แก่จีน โดยการเร่งรัดการจัดกิจกรรมในมณฑลสำคัญ เพื่อเพิ่มยอดส่งออก และการขยายตลาดใหม่ใน ตุรกี นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และอินเดีย และฟื้นฟูตลาดเก่า คือ EU โดยการเจรจากับสหภาพยุโรปให้เพิ่มการจัดสรรปริมาณโควตาภาษีสินค้าแป้งดิบ จากปัจจุบันไม่เกินปีละ 10,000 ตัน ให้ไทยได้รับโควตาสินค้าแป้งมันสำปะหลังในปริมาณเป้าหมายที่ 20000 ตัน ซึ่งน่าจะเจรจาเสร็จสิ้นกลางปีหน้า

“และยังให้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการศึกษาแนวทางการจัดการกับโรคใบด่าง ให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ให้ กระทรวงเกษตรรับไปดำเนินการ ภายใน 1 สัปดาห์ และการกำจัดโรคใบด่างทั้งในที่ดินที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์ด้วย ” นายจุรินทร์ กล่าว

รายงานข่าวกรมการค้าภายในแจ้งด้วยว่า ที่ประชุมยัง มีมาตรการอื่นเพิ่มเติม เช่น เห็นชอบที่จะส่งเสริมการใช้เอทานอลให้เป็นไปตามแผนพลังงานทดแทนฯ ที่กำหนดการใช้เป็น 11.3 ล้านลิตร ต่อวัน ในปี 2579 (ปัจจุบันมีการใช้อยู่ที่ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน) และแก้ไขพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ให้โรงงานสุรากลั่นแห่งอื่น นอกเหนือจากองค์การสุราฯ ผลิตสุราสามทับออกจำหน่ายภายในประเทศได้ และลดการนำเข้าเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม โดยให้โรงงานเอทานอลในประเทศไทย สามารถผลิตและจำหน่ายให้แก่อุตสาหกรรมอื่นได้ หรือเป็นผู้รับจ้างผลิต (Outsource) ให้แก่องค์การสุราได้ด้วยการใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศ

“ประภัตร”ปลื้มกลุ่มเกษตรกรข้าวอินทรีย์สุพรรณ นำร่องใช้ปุ๋ยธรรมชาติ

People Unity News : “ประภัตร”ปลื้มกลุ่มเกษตรกรข้าวอินทรีย์สุพรรณ นำร่องใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ได้ผลตามเป้าคาดขยายวงกว้างได้รวดเร็ว

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จ.สุพรรณบุรี โดยตรวจเยี่ยมกลุ่มข้าวอินทรีย์ศรีสุพรรณ บ้านวังพลับใต้ ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีการผลิตข้าวอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด ซึ่งทำให้ข้าวมีผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนโดยมีพื้นที่ 136 ไร่ สมาชิก 14 ราย ปริมาณผลผลิตรวมของกลุ่ม 90,700 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่ ข้าวอินทรีย์ที่สมาชิกผลิตได้นำไปสีเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นข้าวอินทรีย์แก่ผู้บริโภคในชุมชนและร้านค้าที่รับไปจำหน่าย

จากนี้ไปมีการคาดการณ์ว่า การใช้ปุ๋ยไร้สารเคมี จะนิยมกว้างขึ้นเรื่อยๆในหมู่เกษตรไทยอย่างรวดเร็ว ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ

Verified by ExactMetrics