People Unity News : “ประภัตร” ตามงาน มกอช.เดินเครื่องผลักดันสินค้าเกษตรมาตรฐาน GAP แสดงเครื่องหมาย Q เพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าเกษตร หนุนนำร่อง “เมล่อน ประสิทธิฟาร์ม” เมืองสุพรรณฯผลิตสินค้ามาตรฐานป้อนตลาด กระตุ้นผู้บริโภคเข้าถึงสถานที่จำหน่ายและแหล่งผลิตสินค้า Q

วันนี้ (15 พ.ย.62) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจติดตามการผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันให้มีการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยส่งเสริมการผลิตตั้งแต่ฟาร์มให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) โดยมีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง เหมาะสม และจำกัดตามหลักวิชาการ และมีการให้สัญลักษณ์ Q เพื่อรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายที่จะผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q เพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวสาร ผัก และผลไม้

ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้ มกอช. ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยคัดเลือกเมล่อน ประสิทธิฟาร์ม ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่นำร่อง ในการผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q โดยสนับสนุนการแสดงเครื่องหมาย Q สนับสนุนสินค้าที่ได้มาตรฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งมาตรฐานและข้อมูลของเกษตรกร พร้อมหาตลาดรองรับให้กับเกษตรกร ได้แก่ ตลอดออนไลน์ www.dgtfram.com ร้าน Q4U (ร้านใน มกอช.) องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และห้างโมเดิร์นเทรด อย่างไรก็ตาม นอกจากเกษตรกรจะมีช่องทางการจำหน่าย            มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว เกษตรกรยังมีสินค้าที่ได้มาตรฐานสู่ผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภคเข้าถึงสถานที่จำหน่ายและแหล่งผลิตสินค้า Q อีกด้วย

ขณะที่ นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย Q เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตั้งแต่การผลิตในระดับฟาร์ม ซึ่งต้องปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐาน GAP รวมทั้งโรงคัดบรรจุผักผลไม้ โรงฆ่าสัตว์ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ การผลิตต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติในการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practices : GMPโดยปัจจุบัน    มีเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 297,874 ใบ (190,815 ราย) แบ่งเป็น พืช 144,762 ใบ (127,867 ราย) ปศุสัตว์ 18,309 ใบ (18,307 ราย) ประมง 221 ใบ (221 ราย) และข้าว 134,582 ใบ (44,420 ราย)

“ที่ผ่านมา มกอช. ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น ห้างโมเดิร์นเทรด ตลาดสดต่างๆ ในการสนับสนุนส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรและอาหารที่มีเครื่องหมาย Q โดยเปิดให้มีมุมจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าที่มีคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น และผู้บริโภคสามารถเลือกหาซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยและมีมาตรฐาน ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q จะต้องรักษาคุณภาพ ความปลอดภัย และได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพราะหน่วยงานที่ให้การรับรองจะทำการติดตามตรวจสอบเป็นระยะ หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือไม่รักษาคุณภาพ ความปลอดภัย ตามมาตรฐาน จะถูกยกเลิกการใช้เครื่องหมาย Q ฉะนั้น สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกหาสินค้าคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ต้องเลือกสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เท่านั้น” เลขาธิการ มกอช. กล่าว

“ชวลิต” ยืนยัน กมธ.มุ่งมั่น “เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ”ยกระดับครัวโลก

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยผลการดำเนินงานของ กมธ. และความเห็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.กมธ.ได้รายงานผลการศึกษา ฯ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธาน ฯ ได้สั่งบรรจุในระเบียบวาระการประชุม ในวันพุธที่ 20 พ.ย.62 ขอให้ติดตามผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่จะมีไปถึงรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

2. กมธ.สนับสนุนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการแบน3 สารเคมีอันตรายร้ายแรง คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อสุขอนามัยทึ่ดีของ เกษตรกร ประชาขนผู้บริโภค และเด็กเกิดใหม่

3. กมธ.ไม่สนับสนุนการหาสารเคมีชนิดใดมาทดแทนสารเคมีที่ถูกแบน แต่มุ่งมั่น ส่งเสริม สนับสนุน โครงการเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อยกระดับการเกษตรของไทย เป็น “ครัวของโลก”

4. ขอชื่นชม ดีเอสไอ.ที่ไปตรวจค้น จับกุม ร้านค้าที่จำหน่ายสารชีวภัณฑ์โดยผสมพาราควอต และไกลโฟเซต นับเป็นการทำงานที่ทันกับสถานการณ์ และขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาด ตรงไป ตรงมา เพราะหากินบนความเดือดร้อนของเกษตรกร และประชาชนผู้บริโภค

5. ขอให้หน่วยเฝ้าระวัง สุ่มตรวจสอบ ผัก ผลไม้ และยาปราบศัตรูพืช ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือกับดีเอสไอ.ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง จะส่งผลให้ประชาชนคนไทยโดยรวมมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น

6. เมื่อถึงกำหนดวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ที่มติคณะกรรมการวัตถุอีนตรายมีผลบังคับใช้ในการแบน 3 สารพิษดังกล่าว ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกับ ดีเอสไอ.ดำเนินการกับผู้ที่อาจนำสารต้องห้ามดังกล่าวไปแอบจำหน่ายใต้ดิน โดยขอให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดโดยเฉียบขาด โดยยึดประโยชน์สุขภาพอนามัยประชาชนเป็นที่ตั้ง
ขอยืนยันอีกครั้งในนาม กมธ.ไม่เคยคิดแบนสารพิษชนิดใด เพื่อหาสารตัวอื่นมาทดแทน เป้าหมายสูงสุดของ กมธ. คือ โครงการเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อยกระดับการเกษตรของไทยเป็นครัวของโลก ดังกล่าวข้างต้น