วันที่ 7 พฤษภาคม 2024

“จุรินทร์”เปิดยิ่งใหญ่! มหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 36 หนุนธุรกิจยานยนต์ให้เข้มแข็ง

People Unity News : “จุรินทร์”เปิดยิ่งใหญ่! มหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 36 ที่ห้องรอยัล จูบิลี ชาเรนเจอร์ อิมแพ็คเมืองทองธานี หนุนธุรกิจยานยนต์ให้เข้มแข็ง

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 เวลา 8.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน”มหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 36″ ณ ห้องรอยัล จูบิลี ชาเรนเจอร์ อิมแพ็คเมืองทองธานี โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้มาเป็นมาเป็นประธานพิธีเปิด งาน “มหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 36” ซึ่งจัดโดย บริษัท สื่อสากล จำกัด ในวันนี้ ตามที่ปัจจุบัน “ยานยนต์” ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่รถยนต์ แต่ยังรวมถึงยานพาหนะทุกชนิด ทุกประเภทที่สามารถรองรับวิถีชีวิต รสนิยม และตอบสนองความต้องการใช้งานที่แตกต่างกันของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงนั้น ดังนั้นตลาดยานยนต์จึงเป็นตลาดที่กว้างขวาง และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในปีที่ผ่านมา ไทยมียอดผลิตรถยนต์และจักรยานยนต์ ทั้งเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกยังตลาดต่างประเทศรวมกันกว่า 5 ล้านคัน โดยเฉพาะรถยนต์ ที่มียอดผลิตกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งนับเป็น สถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การเจริญเติบโตของตลาดยานยนต์ในเขตอาเซียน ซึ่งมีไทยเป็นศูนย์กลางเป็นสิ่งที่รัฐบาลเล็งเห็น และให้การส่งเสริมมาโดยตลอดเมื่อผนวกกับการจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 36” ภายใต้แนวคิด “โลดแล่นทันใด ทะยานไปด้วยกัน”รวมถึงมีโครงการแสดงสินค้าแบบ B to B(บีทูบี) จึงเป็น เสมือนแรงสนับสนุนให้ธุรกิจยานยนต์ไทยมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้ เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ และเชื่อมต่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้

“ผมได้รับทราบว่าบริษัท สื่อสากล จำกัด ได้ก่อตั้ง “มูลนิธิลม หายใจไร้มลทิน” มาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อรณรงค์แก้ปัญหามลพิษในอากาศที่เกิดจากยานยนต์ และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตให้แก่เยาวชน ซึ่งกิจกรรมทั้งสองด้านล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง จึงขอแสดงความชื่นชมบริษัท สื่อสากล จำกัด (นิตยสารฟอร์มูลา) ที่ได้ผลิตสื่อพร้อมดำเนิน กิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อวงการยานยนต์ และสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะการ จัดงาน “มหกรรมยานยนต์” ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรมของยานยนต์ไทย มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ” นายจุรินทร์ กล่าว

รายงานแจ้งว่า การจัดงานในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จมา 35 ครั้งวันนี้เป็นครั้งที่ 36 และเป็นมหกรรมยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี โดยจัดแสดงนับจากวันนี้ที่อิมแพค เมืองทองธานีไป 12 วัน มีบริษัทรถยนต์และที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 300 รายจากทั่วโลก และในงานนี้เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้ยางพาราในการผลิตยางรถยนต์สนโอกาสต่อไปตามนโยบายด้วย

“อุตตม”ร่ายมนต์! ความเชื่อมั่นต้องเกิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

People Unity News : “อุตตม”ร่ายมนต์! ความเชื่อมั่นต้องเกิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังร่วมงานฉลองครบรอบ 20 ปี การดำเนินกิจการในประเทศไทยของธนาคารยูโอบี

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความว่า ความเชื่อมั่นต้องเกิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วันก่อน ผมได้ไปร่วมงานฉลองครบรอบ 20 ปี การดำเนินกิจการในประเทศไทย ของธนาคารยูโอบี ซึ่งธนาคารแห่งนี้มีรากฐานจากประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นธนาคารต่างประเทศ ที่ยืนหยัดเติบโตอยู่คู่กับระบบเศรษฐกิจไทยมายาวนานพอสมควร

ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารธนาคารยูโอบี โดยได้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย แม้เรากำลังเผชิญกับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส

นอกจากนี้ การรวมตัวกันของชาติอาเซียน ก็ยังทำให้ภูมิภาคนี้มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2573 อาเซียนจะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก

ทั้งนี้ขอเรียนว่า วันนี้ประเทศไทยมุ่งมั่นในความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอาเซียนในทุกๆด้าน ทั้งระดับนโยบาย ระดับนักลงทุน หรือกลุ่มธุรกิจต่างๆ ขณะเดียวกันเราก็เร่งสร้างความแข็งแกร่งในประเทศตัวเอง ซึ่งวันนี้ผมมั่นใจว่าเราจะผ่านพ้นสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไปได้

หากพูดถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ผมเพิ่งได้รับรายงาน ว่า ณ เดือน ต.ค. 62 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 241,822 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,946 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 45,431 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.1

ขณะที่ฐานะการคลัง ตามระบบกระแสเงินสดเดือน ต.ค. 62 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 นั้น หน่วยงานด้านจัดหารายได้ มีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 255,924 ล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 368,209 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนต.ค.62 มีจำนวนทั้งสิ้น 385,292 ล้านบาท

ด้วยสถานะเงินคงคลังในขณะนี้ ผนวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงท้ายของปี ทำให้ผมมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้อย่างแน่นอนและความเชื่อมั่น คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่วางไว้

“วีรศักดิ์”เล็งปลุกตลาดงานหัตถศิลป์แดนอีสานชูผ้าไหมเป็นพระเอก

People Unity News : “วีรศักดิ์”เตรียมลงพื้นที่ขอนแก่นปลายเดือนนี้ ลุยปลุกตลาดงานหัตถศิลป์แดนอีสาน ชูผ้าไหมเป็นพระเอก ลั่นต้องต่อยอดจดลิขสิทธิ์ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย เร่งนำรายได้กลับสู่ชุมชนสร้างความเข้มแข็งจากท้องถิ่นเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศจากความผันผวนของการค้าโลก

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เร่งดำเนินงานเก็บรวบรวม งานอนุรักษ์ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ด้านหัตถศิลป์ไทย เพื่อต่อยอดนำความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์ไทยนั้น ล่าสุดทาง SACICT เตรียมจัดกิจกรรมประชุมสมาชิก SACICT Craft Network ครั้งที่ 3 ในกลุ่มผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมอวานี

เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายงานหัตถศิลป์ ในกลุ่มผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ต้องเร่งดำเนินงานทั้งสิ้น 424 ราย แบ่งเป็นประเภท งานผ้า งานจักสาน งานโลหะ เครื่องกระดาษ และอื่นๆ ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการงานผ้ามากที่สุด ซึ่งงานผ้าทอของภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่าเป็นศิลปหัตถกรรมไทยที่สร้างชื่อเชียงให้กับประเทศไทยมากที่สุด ทั้งนี้ นอกเหนือจากกิจกรรมประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ตนยังจะลงพื้นที่งานหัตถกรรมผ้าไหมมัดหมี่ชนบท ไปเยี่ยมชมผลงานของครูสงคราม งามยิ่ง ครูศิลป์ของแผ่นดิน ที่กวาดรางวัลจากการประกวดทั้งในและต่างประเทศมาแล้วนับไม่ถ้วน รวมถึงยังจะเดินทางไปเยี่ยมชมนวัตกรรมเส้นไหมอินทรีย์ นวัตกรรมผ้าไหมแต้มหมี่ และจะไปพบปะครูช่าง และทายาทในชุมชนเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการผลักดันต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมจะเน้นประเด็นสร้างความตระหนักและเห็นคุณค่าของการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทางการค้าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม มุ่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด ทั้งยังเป็นการติดอาวุธทางปัญญาด้วยองค์ความรู้ทางเทคนิค ตลอดจนการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ที่ผสานอัตลักษณ์แห่งภูมิปัญญา ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแปรรูปสินค้าให้ตรงกับยุคสมัยและความนิยมของผู้บริโภค มีการเชื่อมประสานไปยังผู้ซื้อ ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงตลาดออนไลน์ เพื่อจะสร้างพันธมิตรด้านการค้าใหม่ๆ ต่อไปได้อย่างไม่จำกัดอีกด้วย” นายวีรศักดิ์ กล่าว

นายวีรศักดิ์ กล่าวย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเร่งเชื่อมกลไกการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายในประเทศรองรับความผันผวนของการค้าโลก ซึ่งขณะนี้ทุกองคาพยพของกระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นไปที่การปลุกเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy)เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแกร่ง ทำให้พี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคได้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของ SACICT ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร และเน้นการปรับกระบวนการคิด สร้างมุมมองใหม่ให้กับช่างผู้ผลิตให้สามารถผลิตงานศิลปหัตถกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงสามารถต่อยอดเกิดเป็นอาชีพและขายได้จริงในตลาด ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่มีความมั่งคั่งด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะอันโดดเด่น สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อสินค้าไทยกลับไปเป็นของที่ระลึก สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง สินค้าที่นักท่องเที่ยวที่ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของที่ระลึกนั้น นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมแล้ว ยังเป็นการสืบสาน ต่อยอด เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้ผลงานอันทรงคุณค่าจากฝีมืออันประณีตยังคงอยู่สืบไปด้วย

“สนธิรัตน์”เผยปี 63 เริ่มคิกออฟลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน

People Unity News : “สนธิรัตน์”เผยนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนได้รับความสนใจจากผู้ประกอบและท้องถิ่นทั่วประเทศอย่างคึกคัก เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์ลงทุนและเริ่มคิกออฟ ปี ’63 ตั้งเป้าหมาย 1,000 MW ดันเศรษฐกิจไทยเงินสะพัดกว่า 1 แสนล้านบาท

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ยกร่างหลักเกณฑ์และแนวทางการร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเสร็จแล้ว โดยจัดทำรายละเอียดที่ครบสมบูรณ์และได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับจากเวทีรับฟังความความคิดเห็นมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและประชาชน

หลังจากนี้ พพ.เตรียมนำเสนอร่างหลักเกณฑ์ฯ นี้ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563

“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเป็นเจ้าของพลังงานได้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ยกระดับชุมชนสู่การเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้จำหน่ายไฟฟ้า ขณะนี้จึงได้รับความสนใจอย่างมากมาย มีองค์กรท้องถิ่นและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพลงทุน สอบถามเข้ามายังกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ร่างหลักเกณฑ์ฯ ที่กำลังจะออกมานี้จึงถือเป็นการสร้างความชัดเจนให้ทุกฝ่ายได้ดำเนินงานขั้นต่อไป”

นายสนธิรัตน์ เชื่อมั่นว่า โรงไฟฟ้าชุมชนถือเป็นการพลิกมิติด้านพลังงานครั้งสำคัญ จากที่เคยถูกมองว่าอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ มาสู่มือของประชาชนคนเล็ก คนน้อยสามารถมีสิทธิ์ มีเสียง มีส่วนร่วมกับชุมชนของตนเองได้ โดยอาศัยวัตถุดิบทางการเกษตร พืชผลพลังงานตามบริบทของท้องถิ่น และทรัพยากรหมุนเวียนตามธรรมชาติ เช่น แสงแดด นับว่าสอดคล้องกับทิศทางด้านพลังงานสะอาดและกระแสอนุรักษ์ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังก้าวไปอีกด้วย

สำหรับขนาดของโรงไฟฟ้าชุมชนแต่ละแห่งนั้น จะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (vspp) ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์/โรง มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ซึ่งนโยบายของกระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายจะส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทนี้และเข้าระบบได้ในปี 2565 ที่สำคัญ โครงการประเภท Quick Win จะสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายใน 6 เดือนหลังจากการได้ผลการคัดเลือก

ในส่วนรูปแบบการขายไฟฟ้าคืนกลับมายังภาครัฐนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมข้อมูลปริมาณความต้องการไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคไว้แล้วว่าในแต่ละพื้นที่มีมากน้อยอย่างไร พร้อมวางระบบสายส่งที่มีศักยภาพ ส่วนการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจะเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน กกพ.เตรียมความพร้อมเบื้องต้นไว้ระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะมีความพร้อมดำเนินการ สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างเป็นระบบ

ครั้งแรก!”เฉลิมชัย”เปิดตลาดใหญ่จีน ส่งออกรำข้าวสกัดน้ำมันและกากเนื้อเมล็ดปาล์ม

People Unity News : “เฉลิมชัย”ลุยเปิดตลาดใหญ่ส่งออกรำข้าวสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มไปจีนเป็นครั้งแรก พร้อมร่วมลงนามพิธีสารด้านมาตรการสุขอนามัยฯ กับผู้แทนรัฐบาลจีน หวังโกยรายได้มหาศาลเข้าประเทศ

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมในพิธีลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยฯ กับผู้บริหารของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังจีน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ณ สำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายเฉลิมชัย และนายจาง จี้ เหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการสำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ( Mr. ZHANG Jiwen, Vice Minister and CPC Committee Member of the General Administration of Customs of China (GACC)) ได้ร่วมลงนาม ในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในการนำเข้ารำสกัดน้ำมันและ กากเนื้อในเมล็ดปาล์มจากประเทศไทย ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกรำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์ม ซึ่งเป็นกากที่เหลือจากการสกัดน้ำมันพืชไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนได้

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า พิธีสารดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อเปิดตลาดการส่งออกสินค้ารำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มไปยังประเทศจีนเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของไทย เป็นการเพิ่มโอกาสและสร้างมูลค่าให้กับสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตร โดยไทยมีศักยภาพในการผลิตกากรำข้าวราว 280,000 ตันต่อปี และกากเนื้อในเมล็ดปาล์มราว 250,000 ตันต่อปี พิธีสารมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการกำจัดศัตรูพืช การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับผลิตภัณฑ์รำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มของไทย โดยการลงนามในพิธีสารฯ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้

ทั้งนี้ จีนได้กำหนดให้ผู้ส่งออกที่ประสงค์จะส่งออกรำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมวิชาการเกษตรและได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนกับ GACC โดยสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และคำขอเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนได้ในเว็บไซต์ของกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร ที่ www.doa.go.th โทร. 029407422 หรือ เว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่ https://www.acfs.go.th/

“จุรินทร์”เปิดถกนักธุรกิจไทย-จีนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม-การค้า

People Unity News : “จุรินทร์”เป็นประธานประชุม “แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม -การค้า” หาญตระกูลมูลนิธิโลก ครั้งที่ 8 ชม สร้างความสัมพันธ์ที่ดี -เพิ่มโอกาเจรจาการค้า สอดคล้องนโยบาย ปชป. และภารกิจ ก.พาณิชย์

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 เวลา 11.00 น. ที่หาญตระกูลมูลนิธิประเทศไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม”แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม -การค้า” หาญตระกูลมูลนิธิโลก ครั้งที่ 8 โดยมีนักธุรกิจไทย-จีน เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน

พร้อมกันนี้ นายจุรินทร์ ในฐานะประธานในงานฯ กล่าวว่านับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่หาญตระกูลมูลนิธิประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม – การค้า หาญตระกูลทั่วโลกในปีนี้ ในนามของ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ตนขอชื่นชมการจัดงานในครั้งนี้ที่ได้เชื่อมโยงผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับตระกูลหาญทั่วโลก ที่จะนำไปสู่เวทีการเจรจาแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศให้เติบโตขึ้น

รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์มีภารกิจหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าทั้งในและต่างประเทศ สำหรับด้านการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงฯมุ่งเน้นในการผลักดันการส่งออกของไทยทั้งในตลาดเดิม การเปิดตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่า โดยสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในมาตรฐานสินค้าและบริการ ตลอดจนส่งเสริมการตลาดและการส่งออกสินค้าของไทยผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและอํานวยความสะดวกในการทําธุรกิจและเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทย

โดยเฉพาะ 2 เดือนที่ผ่านมาตน และคณะได้นำภาคเอกชนไทย เดินทางไปหลายประเทศเพื่อเปิดตลาดใหม่ ทั้งอินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา ตุรกี เยอรมัน สามารถทำ MOU ขายสินค้าไทย ได้มูลค่า กว่า 65,000 ล้านบาท

“การจัดงานในวันนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของตระกูลหาญทั่วโลกที่ได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ตลอดจนการเพิ่มโอกาสในการเจรจาทางธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายและภารกิจของ พรรคประชาธิปัตย์ และกระทรวงพาณิชย์ด้วย ในโอกาสนี้ จึงขออวยพรให้การจัดงานในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของคณะผู้จัดงานทุกประการ” นายจุรินทร์ กล่าว

“อุตตม สาวนายน”ยันความเชื่อมั่นช่วยพ้นสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ได้

People Unity News : “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยันความเชื่อมั่นช่วยพ้นสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ได้

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ผมได้กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในไตรมาสสุดท้ายของปีไปแล้ว ซึ่งได้แก่ มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชน และมาตรการประกันรายได้เกษตรกร รวมทั้งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้โครงการ”บ้านในฝัน รับปีใหม่” สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าของ มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งขณะนี้อยู่ในเฟส 3 มียอดการจ่ายใช้รวมทั้งหมด 13,922.7 ล้านบาท โดยเป็นยอดการใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 1 จำนวน 11,580.2 ล้านบาท และผ่านกระเป๋า 2 ที่จะได้รับเงิน Cash Back คืน เป็นจำนวน 2,342.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นโดยลำดับ โดย “ชิมช้อปใช้” มียอดการใช้จ่ายผ่านร้านค้า ได้แก่ ร้านชิม จำนวน 1,832.5 ล้านบาท ร้านช้อป จำนวน 8,648.5 ล้านบาท ร้านใช้ จำนวน 160.9 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 3,258.3 ล้านบาท และโรงแรม ที่พัก จำนวน 21.3 ล้านบาท

ด้านมาตรการประกันรายได้เกษตรกร จากข้อมูลของ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 21 พ.ย.62 มีการจ่ายเงินให้กับเกษตรกร ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 รอบที่ 1 แล้ว 542,853 ราย เป็นจำนวนเงิน 13,050 ล้านบาท

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-63 จำนวน 286,003 ราย เป็นเงิน 2,595 ล้านบาท

และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 จ่ายไปแล้ว จำนวน 590,322 ราย เป็นเงิน 3,348 ล้านบาท

ในส่วนของโครงการ”บ้านในฝัน รับปีใหม่” ที่ต้องการให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการมีบ้านในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ในวงเงินสินเชื่อ ธอส.ประชารัฐ 5 หมื่นล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี ซึ่งเปิดให้มีการยื่นขอสินเชื่อตั้งแต่ 24 ต.ค. 62 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ยื่นขอกู้แล้วรวม 5,441 ราย วงเงิน 11,110 ล้านบาท และ ธอส.ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 2,140 ราย วงเงิน 3,931 ล้านบาท โดยคาดว่าวงเงินรวมทั้งหมดจะมีผู้ยื่นกู้เต็มในช่วงเดือน ก.พ. 63

ด้าน ธ.ออมสิน ยังได้เตรียมออกมาตรการสินเชื่อเคหะตัวใหม่ ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) โดยเบื้องต้นได้เตรียมวงเงินปล่อยสินเชื่อไว้ประมาณ 25,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยราว 2.7-2.9% ต่อปี และตั้งเป้าจะเริ่มโครงการได้ในเดือน ธ.ค.62 โดยปรับให้มีเงื่อนไขพิเศษ อาทิ การผ่อนชำระ 10 บาทต่อเดือนในระยะแรก รวมถึงไม่จำกัดเพดานราคาบ้าน เพื่อเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “สินเชื่อประชาชน 555” ที่จะเปิดโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อยในระดับเศรษฐกิจฐานรากกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ โดยคิดดอกเบี้ย 0.5% ต่อเดือน ผ่อนชำระ 5 ปี ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังก็ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด โดยข้อมูลการส่งออกและนำเข้า 10 เดือนของปี 2562 พบว่ามีการส่งออกรวม 2.07 แสนล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีก่อน 2.4% การนำเข้าอยู่ที่ 1.99 แสนล้านดอลลาร์ลดลง 4.1%

โดยพบว่าการส่งออกสินค้าในเดือนต.ค. มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการที่สินค้าบางรายการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ สามารถกลับมาขยายตัวได้เป็นบวกในรอบ 13 เดือน

ในส่วนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักของไทยที่ในภาพรวมหดตัวเพียง 0.6% แต่ในตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ 4.8% ญี่ปุ่นขยายตัวได้ 0.5% และตลาดตะวันออกกลาง การส่งออกขยายตัวได้ 3.7% ส่วนตลาดการส่งออกสำคัญที่หดตัวได้แก่ อินเดียที่หดตัว 17.2% จากนโยบายการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง ตลาด CLMV หดตัว 9.9%ตลาดจีนหดตัว 4.2% เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ก.พาณิชย์ คาดว่าในเดือน พ.ย.การส่งออกจะยังคงหดตัวต่อไปอีก 1 เดือน และจะขยายตัวได้อีกครั้งในเดือน ธ.ค.โดยการส่งออกทั้งปี 62 คาดว่าจะติดลบประมาณ 1.5 – 2%

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าผมมีนัดหารือกับ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (Fetco) ถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนรวมรูปแบบใหม่ที่จะมาทดแทนกองทุนรวมLTF โดยจะต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับให้มากที่สุด

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนสุดท้ายของปีเพื่อดูแลเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็ง และจับตาสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด ขณะนี้เศรษฐกิจไทยต้องการ “ความเชื่อมั่น” เป็นสิ่งสำคัญ ผมเชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เราจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ในขณะนี้ไปได้

“สนธิรัตน์”เร่งขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ

People Unity News : “สนธิรัตน์”เร่งขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ ทั้งสถานีบริการและแบตเตอรี่เก็บประจุไฟฟ้า พร้อมกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนเชื่อเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เผย 5 ปีที่ผ่านมาคนไทยนิยมใช้รถยนต์ EV เพิ่มตลอด โดยปี 2562 จดทะเบียนพุ่งแล้วกว่า 2.4 หมื่นคัน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับทิศทางของเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและกระแสลดการใช้น้ำมันที่ก่อมลพิษ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ทั้งสถานีให้บริการและอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ

ทั้งนี้ตามข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ณ เดือนกันยายน 2562 มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนแล้วสูงถึง 24,380 คัน ขณะที่ในปี 2561 มีจำนวน 20,484 คันและปี 2557 จำนวน 9,585 คัน

สำหรับโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับภาครัฐและเอกชน เป็นแนวทางสำคัญได้เริ่มตั้งแต่ปี 2559-2563 นำร่องการใช้งานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าและเตรียมพร้อมสู่รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล โดยในปี 2564 จะขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการการอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ การพัฒนาระบบบริหารความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ร่วมกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (Vihicle to Grid)

“เราได้เร่งพัฒนาระบบต่างๆ รองรับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่และต้องใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ โดยเชื่อว่าหากปริมาณคนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้น เมืองจะพัฒนาสู่การเป็น Smart City สร้างความสะดวกในการใช้ชีวิต ประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษด้วย”

ทั้งนี้ ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) กระทรวงมีเป้าหมายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2579 รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ทั้งในรูปแบบยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดและยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่กระทรวงพลังงานจะต้องเร่งพัฒนาต่อไปคือการยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้นจากภาคขนส่งและรถ EV พร้อมส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนา เช่นขณะนี้ ปตท. โดยสถาบันวิทยสิริเมธี ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและลิเธียมซัลเฟอร์ (กำลังผลิต 500 ก้อนต่อวัน) และนำแบตเตอรี่ไปทดสอบกับรถยนต์และเรือไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า แล้ว

นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงาน ประเภทแบตเตอรี่เป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ ซึ่งสะท้อนจากปริมาณการความนิยมใช้รถยนต์ EV ที่สูงขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งได้ตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นของการหาแนวทางในการจัดการกับแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว สอดคล้องกับทิศทางประเทศไทยที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง

“สมคิด”ถกขุนคลังลั่นรักษาศก.ไม่ให้ชะลอไปมากกว่านี้

People Unity News : “สมคิด”ถกขุนคลังหาแนวทางสร้างแรงส่งเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้ถึงปีหน้า ลั่นต้องไม่ให้ชะลอไปมากกว่านี้ ครม.เศรษฐกิจ เร่งขับเคลื่อนโค้งสุดท้ายดัน GDP ทั้งปีโตในกรอบ 2.7-3.2%,เล็งออกมาตรการกระตุ้นเพิ่ม-จี้ รสก.ลงทุนกว่าแสนล้าน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลเพื่อให้เกิดแรงส่งทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ประเทศเติบโต โดยปีนี้ต้องรักษาระดับการโตของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอไปมากกว่านี้ โดยไตรมาส 4 ของปี 2562 ต้องทำให้ได้ดี เพื่อสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องไปปีหน้า เพราะขณะนี้คนไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ปีหน้าจะเป็นอย่างไร ขณะที่กระทรวงการคลังรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร และกำลังคิดว่าควรมีมาตรการอะไรออกมา โดยสิ่งที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยนอกจากการส่งออกแล้ว ยังมีเรื่องการเชื่อมั่นที่ยังไม่ฟื้นตัว ที่ต้องนำมาพิจารณาควบคู่กัน

ครม.เศรษฐกิจ เร่งขับเคลื่อนโค้งสุดท้ายดัน GDP ทั้งปีโตในกรอบ 2.7-3.2%

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรี (ครม.เศรษฐกิจ) เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมฯ รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3/62 ที่ขยายตัว 2.4% และคาดว่าในไตรมาส 4/62 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นราว 2.8% และทั้งปี 62 คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.6% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วพบว่าไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่การเติบโตยังขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องขับเคลื่อนให้มีการเติบโตต่อเนื่องไป เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น การลงทุน การจับจ่ายใช้สอย

“รัฐบาลพยายามเร่งเครื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้าย ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมีวงรอบอย่างน้อย 2-3 ปี ตอนนี้ผ่านไปปีครึ่งแล้ว ยังมีปัญหาเรื่อง Trade War และ Brexit ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เราคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้จึงต้องมาเน้นกระตุ้นภายในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุน…ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3/62 เริ่มหยุดเซแล้ว ตัวเลขไตรมาส 4/62 น่าจะสะท้อนว่าค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่รัฐบาลไม่ได้รอ จะมีมาตรการเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่เหลือ”นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้เติบโตได้ดีขึ้นเพื่อเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจในปีหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจทั้งปีนี้เติบโตในกรอบ 2.7-3.2% ด้วยการเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายการลงทุนกว่า 1.15 แสนล้านบาทในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ และเตรียมที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดเน้นที่เศรษฐกิจในประเทศ

พร้อมทั้ง ปลดล็อคปัญหาและอุปสรรคของโครงการลงทุนต่าง ๆ ที่เป็นขั้นตอนของกฎหมาย เช่น กำหนดสกุลเงินกู้โครงการรถไฟไทย-จีนเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน, ข้อกำหนดเรื่อง Roadside Station โครงการทางพิเศษบางปะอิน-นครราชสีมา, โครงการรถไฟรางคู่ นครปฐม-ชุมพร, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, ทางด่วนพิเศษพระราม 3 เป็นต้น โดยขณะนี้มาตรการต่างๆ ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งที่ประชุมฯ จะได้ติดตามผลว่าเป็นอย่างไร และในช่วงปลายปีที่เป็นโค้งสุดท้ายจะมีมาตรการเสริมอีกหรือไม่

“งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจกว่า 1 แสนล้านบาทนี้มีคำยืนยันจากหน่วยงานแล้วว่าได้รับอนุมัติให้ดำเนินการลงทุนภายในปีนี้”นายกอบศักดิ์ กล่าว

สำหรับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นยังมีข้อจำกัดเรื่องชนเพดานงบ ทำให้เหลืองบที่จะนำมาใช้ได้ราว 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

นายกอบศักดิ์ ยังชี้แจงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมวพาณิชย์ มักไม่ได้เข้าร่วมประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า เกิดจากความผิดพลาดในการจัดตารางงานของตนเอง เนื่องจาดไปตรงกับที่นายจุรินทร์ติดภารกิจต้องประชุมอาเซียน และเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเรื่องการส่งออกอย่างเข้มข้น โดยคาดหวังที่จะให้มีการส่งออกได้จริง ถ้าเป็นไปได้น่าจะมีออเดอร์สินค้าเกษตรจากจีนเข้ามาในช่วงเดือน ธ.ค.62

สำหรับในปี 63 ได้กำหนด 5 แนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจ คือ 1.การดูแลเกษตรกร แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย SMEs เศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนปัญหาภัยแล้ง 2.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 3.การขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% 4.ส่งเสริมการท่องเที่ยว ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 41.8 ล้านคน รายได้ 2.22 ล้านล้านบาท และ 5.ตั้งเป้าส่งเสริมการลงทุนกว่า 3 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.9% จากปีนี้

เกษตรกรเตรียมเฮ! “เฉลิมชัย”ซื้อขายน้ำยางข้นกับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่จีน

People Unity News : เกษตรกรเตรียมเฮ! “เฉลิมชัย” บุกหนัก นำทัพกระทรวงเกษตรฯ พา กยท. ลงนาม MOU ซื้อขายน้ำยางข้น กับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ และการยางแห่งประเทศไทย บุกตลาดจีน จับมือ 3 บริษัทน้ำยางข้นยักษ์ใหญ่จีน ลงนามความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านธุรกิจระหว่างการยางแห่งประเทศไทย กับ 3 บริษัทน้ำยางข้นจีน ได้แก่ 1. บ. GOAMI ZHENGFENG TRADING (บ. นำเข้าน้ำยางข้น อันดับ1 ของจีน) 2. บ. NINGBO CHANGHKEN (บ.นำเข้าน้ำยางข้นจากไทยเป็นอันดับ1) 3. บ. SANGDONG XINGYU (บ. ใช้น้ำยางข้นผลิตถึงมือยางอันดับ 1 ของจีน) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชาจีน

การลงนาม MOU ครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพปริมาณการส่งออกน้ำยางข้นไปจีนได้เพิ่มขึ้นกว่า 60,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ซึ่งไทยส่งออกน้ำยางข้นไปจีน ปีละกว่า 420,000 ตัน (37.8% ของการส่งออกทั่วโลก) เป็นมูลค่ากว่า 15,500 ล้านบาทต่อปี

ปี 2561 อุตสาหกรรมน้ำยางข้นไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก ไทยส่งออกน้ำยางข้นลดลง 14 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะตลาดจีนลดลงกว่า 23 เปอร์เซนต์ ซึ่งการลงนามในวันนี้ จะเป็นการรักษาฐานลูกค้าจากประเทศผู้ซื้อยางเดิม เพิ่มมูลค่าทางการค้าให้สินค้ายางพาราของไทย เป็นการเพิ่มช่องทางหาตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางของไทย

“นับเป็นนิมิตหมายอันดี ในการตอกย้ำถึงคุณภาพน้ำยางข้นของไทยที่ดีที่สุดในโลกให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งฝ่ายไทยมีศักยภาพส่งออกน้ำยางคุณภาพสูง และพร้อมจะเป็นคู่ค้าที่ดีกับจีนและทุกประเทศทั่วโลก” นายเฉลิมชัยกล่าว

Verified by ExactMetrics