วันที่ 29 เมษายน 2024

กรมบัญชีกลางพร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ เริ่มจ่าย 19 ก.ค. 65

People Unity News : 12 กรกฎาคม 2565 นางสาววารี แว่นแก้ว รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 อนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือนร้อนเสียหายในบางกรณี การจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ จำนวน 10.94 ล้านคน วงเงิน 8,382.20 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ 100 – 250 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน (เมษายน – กันยายน 2565) กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าว เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินโดยตรงแทนกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“โดยจะจ่ายเงินรอบแรกในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 รวม 4 เดือน (เมษายน – กรกฎาคม 2565) รอบถัดไปในวันที่ 19 สิงหาคม 2565 และ 19 กันยายน 2565 ตามลำดับ ซึ่งผู้มีสิทธิที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ (ตาราง) ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 0 2270 6400 ในวัน เวลาราชการ” โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าว

Advertisement

“พาณิชย์” จัด 703 จุดทั่วไทย ขายข้าวสารราคาประหยัดกว่า 1.5 ล้านกิโล ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ก.ค.

People Unity News : 8 กรกฎาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์ เปิดโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน (ข้าวถุงราคาประหยัด) Lot 19” ร่วมกับสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และผู้ให้บริการปั๊มน้ำมัน จัดจำหน่ายข้าวถุงในราคาถูก 703 จุดทั่วประเทศ ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมผสม ข้าวขาว และข้าวเหนียว ขนาด 1 กก. 5 กก. และ 48 กก. รวม 228 ยี่ห้อ คิดเป็นปริมาณกว่า 1.5 ล้านกิโลกรัม (1,500 ตัน)

สถานที่จำหน่ายข้าวถุงมีดังนี้

– 3 บริษัทปั๊มน้ำมันที่ร่วมโครงการ (PTT Station 244 จุด/ ปั๊มพีที 193 จุด/ ปั๊มบางจาก 43 จุด)

– กลุ่มโรงสีโกดังและร้านค้าของโรงสีทั่วประเทศ 46 จุด

– จุดที่พาณิชย์จังหวัดไปจัดในชุมชน 77 จุดทั่วประเทศ

– รถโมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ประชาชนสามารถติดตามจุดจำหน่ายได้ที่เว็บไซต์ https://mobilepanich.com หรือเว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th

Advertisement

ข่าวดี ธอส. ปลดล็อกให้ลูกค้ากลุ่ม LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมได้แล้ว

People Unity News : 27 มิถุนายน 65 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย สนับสนุนให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้นตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” เพื่อความสุข ความมั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเองและคนในครอบครัว ล่าสุด ธอส. จึงได้ปรับปรุงเงื่อนไขในการให้สินเชื่อของธนาคาร โดยกำหนดให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สามารถกู้ร่วมกันได้แล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เช่นเดียวกับกรณีกู้ร่วมกับคู่สมรส พี่-น้อง และบิดา-มารดา ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มทางเลือกในด้านสินเชื่อ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ สินเชื่อบ้าน MY PRIDE อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกเท่ากับ MRR-2.40% ต่อปี ปัจจุบันเท่ากับ 3.75% ต่อปี (คิดจากอัตราดอกเบี้ย MRR ตามประกาศธนาคาร ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.150% ต่อปี) ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ให้กู้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้าที่มีสวัสดิการเงินกู้กับธนาคารเพื่อซื้อบ้าน ห้องชุด(คอนโดมิเนียม) หรือที่ดินเปล่าที่เป็นทรัพย์มือสองของธนาคาร ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้แล้วถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2565 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ GHBank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ Application : GHB ALL

Advertisement

นายกฯ สั่งบอร์ด สสว. ต่อยอด SME One ID เพราะทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรมีความเข้มแข็งมากขึ้น

People Unity News : 23 มิถุนายน 65 วันนี้ (23 มิ.ย.65) เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 2/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชม สสว. ที่ได้มีการเริ่มต้นดำเนินการโครงการหนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID) ซึ่งตรงกับที่นายกรัฐมนตรีคาดหวังไว้ว่า จะทำอย่างไรให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME มีความเข้มแข็งขึ้น โดยการดำเนินการ SME One ID ทำให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลประโยชน์มากขึ้น มีกำไรมากขึ้น มีความเข้มแข็งมากขึ้น จึงขอให้ สสว. ได้ต่อยอดการดำเนินโครงการและร่วมดำเนินงานกับหลายๆหน่วยงานต่อไป เพื่อช่วยเหลือสนับสนุน SME ให้เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ ทั้งนี้ สิ่งที่ SME ต้องการในวันนี้คือความรู้ในการนำไปพัฒนาปรับปรุงตัวเอง และต้องการเข้าถึงการบริการภาครัฐ รวมถึงมาตรการส่งเสริม แหล่งเงินทุน ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อทำให้ SME อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง และยั่งยืน ด้วยการเสริมความรู้ เพิ่มประสิทธิภาพความเข้มแข็งต่างๆ ให้กับ SME เพราะ SME มีผลต่อการลงทุนและเศรษฐกิจฐานรากอย่างมาก

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า หลักการของนายกรัฐมนตรีคือในการทำงานใดๆก็ตาม เป็นการทำงานตามภารกิจหน้าที่จะต้องทำให้เกิดประโยชน์โดยอ้อมด้วย ซึ่งการทำงานของบอร์ด สสว. ประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกอบการ และควรมีการเสริมมาตรการที่เป็นประโยชน์โดยอ้อม เช่น การลดโลกร้อน สังคมคาร์บอนต่ำ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น จึงขอให้มีการบูรณาการงานร่วมกัน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะกรรมการทุกคนที่ร่วมกันดำเนินงานเรื่อง SME และ MSME ซึ่งเป็นประเด็นวาระโลก ที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปให้ประสบความสำเร็จ เพื่อการมีบทบาทในเวทีโลกต่อไปในอนาคต

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานต่อเนื่องของโครงการ “หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID) ของ สสว. ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงาน และให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคในการขอรับอนุญาตและการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ MSME ที่มีมากกว่า 3 ล้านราย และเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยหลังจาก สสว. ได้ลงนาม MOU กับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เมื่อ 28 กันยายน 2564 แล้ว ได้ดำเนินการโครงการนำร่อง SME One ID และเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลสมาชิก สสว. เพื่อรับการบริการจากภาครัฐปี 2564 และในปีนี้ สสว. ได้ดำเนินโครงการงานพัฒนาระบบเพื่อขอรับบริการภาครัฐ ปี 2565 ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลและช่องทางการขึ้นทะเบียน SME One ID สำหรับผู้ประกอบการ MSME ซึ่งจะใช้ช่องทางหลักคือระบบศูนย์กลางข้อมูลให้ธุรกิจติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ Biz Portal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมข้อมูลและงานบริการต่างๆ เพื่อภาคธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย DGA ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน ภายใต้เว็บไซต์ www.bizportal.go.th และปรับใช้ระบบ Digital ID ของ DGA เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลสำหรับเข้าใช้บริการของส่วนราชการ รวมถึงการประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐเพื่อการใช้ SME One ID ของผู้ประกอบการ MSME ที่เข้ารับการบริการกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ

ปัจจุบัน สสว. ได้ประสานกับองค์การอาหารและยา (อย.) กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่เข้ารับการบริการที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ขณะที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อขยายผลและอำนวยความสะดวกในการใช้งานเพื่อผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานหลักที่ให้บริการ MSME อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง สสว. ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ประกอบการ MSME ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมาขึ้นทะเบียนระบบ SME One ID (ทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน) ไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย ภายในสิ้นปี 2565 โดยภาพรวมความร่วมมือกับ 16 หน่วยงาน ณ พฤษภาคม 2565 มีผู้ประกอบการ MSME ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ จากหน่วยงานพันธมิตรแล้ว รวม 2,045 ราย ซึ่งล่าสุด สสว. ยังได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ MSME ในด้านการขยายช่องทางการตลาดร่วมกับ Shopee โดยจัดทำ Microsite เพื่อให้ผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสขายสินค้าในช่องทางออนไลน์ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ MSME ดังนี้

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจของ MSME ปี 2564 GDP MSME Q4/2564 ขยายตัว 3.5% ส่งผลให้ทั้งปี 2564 GDP MSME ขยายตัว 3.0% สูงกว่าที่ สสว. ประมาณการไว้ที่ 2.4% โดยมีสัดส่วนส่วน GDP รวมเท่ากับ 34.6% ขณะที่ GDP ไทยปี 2564 ขยายตัว 1.6% มากกว่าที่สภาพัฒน์ประมาณการไว้ที่ 1.2% เช่นเดียวกัน สำหรับสถานการณ์ MSME ในปี 2564 พบว่า GDP ธุรกิจรายย่อยหรือ micro ยังคงขยายตัวได้ดี เท่ากับ 11.0% ธุรกิจขนาดกลางขยายตัว 4.9% ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อม แม้ว่า GDP จะลดลง 0.9% แต่เมื่อเทียบกับการลดลง 10.2% ในปีก่อน จะพบว่าธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ทั้งนี้ เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศเป็นสำคัญในช่วงไตรมาสสุดท้าย โครงการภาครัฐทั้งคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวโดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกของ MSME ในปี 2564 ยังเติบโตถึง 18.3% ซึ่งกลับมาเติบโตได้สูงกว่าในปี 2562 หรือก่อนสถานการณ์โควิด-19 สำหรับการจ้างงานของ MSME พบว่ากลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ ต.ค. 2564 เป็นต้นมา
  2. การประมาณการเศรษฐกิจของ MSME ปี 2565 สสว. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของ MSME หรือ GDP MSME ปี 2565 ณ วันที่ 27 เม.ย. 2565 ขยายตัวระหว่าง 3.4%-4.5% ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 ซึ่งประมาณการไว้ที่ 3.5%-4.9%
  3. ภาพรวมสถานการณ์และเศรษฐกิจ MSME ไตรมาสแรกของปี 2565 GDP MSME Q1/2565 ขยายตัว 3.8% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.5% โดยมีมูลค่า 1.52 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวม เท่ากับ 35.3% ขณะที่ GDP ไทยไตรมาสแรกโต 2.2% เมื่อพิจารณาตามขนาดธุรกิจ พบว่า GDP ธุรกิจรายย่อยหรือ micro ยังคงขยายตัวได้เท่ากับ 12.5% ธุรกิจขนาดกลางขยายตัว 4.3% ขณะที่ GDP ธุรกิจขนาดย่อมกลับมาขยายตัวได้ 1.0% หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 โครงการภาครัฐ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟสที่ 4 มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวของธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดย่อม โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการค้าและการบริการ

สำหรับมูลค่าการส่งออกของ MSME ในไตรมาสแรกของปี 2565 ยังเติบโตได้ถึง 27.6% ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวและ MSME มีสัดส่วนในการส่งออกสูง ได้แก่ ผลไม้สด และไม้แปรรูป และ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ด้านการจ้างงานของ MSME (ในระบบประกันสังคมมาตรา 33) ยังคงขยายตัวต่อเนื่องหลังจากธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกลับมาดำเนินกิจการเป็นปกติตั้งแต่ ต.ค. 2564 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกต่อเนื่องจน ณ ปัจจุบัน ส่งผลต่อราคาน้ำมันและราคาสินค้าวัตถุดิบหลายประเภท ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกรวมทั้งในประเทศ ซึ่งกระทบกำลังซื้อและต้นทุนการผลิตของ MSME อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นจนถึงสิ้นปีภายหลัง

ธนาคารกลางสหรัฐประกาศเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ จะยิ่งกระทบต่อราคาของสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ MSME ต้องนำเข้ามาผลิตสินค้าและบริการ ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนหลักที่จะช่วยให้ GDP MSME ขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ จะมาจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการยกเลิกมาตรการ Test & Go รวมทั้งการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยที่กำลังกลับสู่ภาวะปกติทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดำเนินมาตรการภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการบริโภคไปพร้อมๆกับการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน การลดต้นทุนให้แก่ MSME และการรักษาระดับการจ้างงาน ว่าจะสามารถช่วยลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อได้เพียงใด ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ และของ MSME ในช่วงไตรมาสแรกของปีจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่จากปัจจัยเสี่ยงหลายๆด้านดังกล่าว สสว. จึงปรับประมาณการ GDP MSME ปี 2565 จะขยายตัวอยู่ระหว่าง 3.4% – 4.5% ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้เมื่อ 7 ก.พ. 2565 เท่ากับ 3.5% – 4.9%

Advertisement

ชาวอุดรร่วมใจเตรียมเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก

People Unity News : 19 มิถุนายน 2565 นายกฯ ปลื้มชาวอุดรทุกฝ่าย ร่วมใจเตรียมเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก รมต.เฉลิมชัย ลงตรวจพื้นที่ ยืนยันรัฐบาลสนับสนุนเต็มที่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569-14 มีนาคม 2570 (134 วัน) ที่ ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งรัฐบาลได้เห็นชอบในการสนับสนุนงบประมาณในขั้นต้น 2,500 ล้านบาท มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆใน จ.อุดรธานี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ประธานสภาหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทราบถึงความตื่นตัวและความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย เพราะประชาชนทราบดีว่างานนี้เป็นการสร้างชื่อเสียงและนำเสนออัตลักษณ์ของจังหวัด อีกทั้งจะสร้างเงินสะพัดในช่วงระหว่างการจัดงานที่อาจมากถึง 32,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้เข้าชมงานที่จะมากถึง 3.6 ล้านคน เป็นชาวไทยร้อยละ 70 และชาวต่างชาติร้อยละ 30 และเกิดการจ้างงานประมาณ 81,000 อัตรา

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการลำเลียงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง-หนองสำโรง-หนองแด และการปรับพื้นที่ให้มีพื้นที่ราบเพิ่มขึ้น ในส่วนของจังหวัดและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ได้ร่วมมือกันวางแผนการเป็นเจ้าภาพ สร้างความเข้าใจโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เมื่อจบสิ้นการจัดงาน ทางจังหวัดมีแผนจะอนุรักษ์พื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ ประเพณีวัฒนธรรม และศูนย์กลางกีฬานานาชาติ ของกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขงและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

“นายกรัฐมนตรี ดีใจที่ได้รับทราบว่าทุกภาคส่วนมีความยินดีและตื่นตัวกับการที่ จ.อุดรจะได้เป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก จับมือกันสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย และนายกฯยังได้ให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้งานนี้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และเป็นที่ประทับใจของแขกผู้มาเยือน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้แก่ชาวบ้านในจังหวัดและจังหวัดข้างเคียง ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

ครม. อนุมัติ 3.5 พันล้าน จ้างงานบัณฑิตจบใหม่ – ปชช. 7,435 ตำบล เริ่ม ก.ค. – ก.ย. 65

People Unity News : 16 มิ.ย. 65 ที่ประชุม ครม. เมื่อ 14 มิ.ย. 65 เห็นชอบให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และ นวัตกรรม (อว.) ดำเนิน “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ  BCG (U2T for BCG and Regional Development) ใน 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,566.28 ล้านบาท โดยเกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไปและบัณฑิตจบใหม่ จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350 คน  เศรษฐกิจในพื้นที่หมุนเวียนระหว่างดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 600ล้านบาท/เดือน โดยจะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ อว. ไปขับเคลื่อนภาคการผลิตและบริการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรักษาระดับการจ้างงาน

โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ  BCG (U2T for BCG and Regional Development) มีวัตถุประสงค์ คือ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาและประชาชนในพื้นที่พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อทักษะการทำงานในปัจจุบันและที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG รวมทั้ง พัฒนาฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่  (Thailand Community Big Data :TCD)  ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในพื้นที่ของประเทศ

กลุ่มเป้าหมาย คือ บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ประชาชนในพื้นที่สถาบันอุดมศึกษาภาคประชาชนภาคสังคมและภาคส่วนต่างๆ โดยมีการจัดกิจกรรมไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม ในพื้นที่ 7,435 ตำบล ทั่วประเทศ 77 จังหวัด  เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและบริการ เพื่อเพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุน การจัดการตลาด การจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาบรรจุการขนส่งและการกระจายสินค้าและบริการ เป็นต้น  โดยสถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ (ตำบล) ทำหน้าที่เป็นผู้บูรณาการ ระบบ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูล TCD ในการวางแผนและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

การจ้างงาน  – พื้นที่ 3,000 ตำบล ต่อยอดจากโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย  จำนวน 8 คน/ตำบล ประกอบด้วยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามาไม่เกิน 5 ปีจำนวน  4 คน/ตำบล และผู้ที่ถูกเลิกจ้างและประชาชนในพื้นที่จำนวน 4 คน/ตำบล

-พื้นที่ 4,435 ตำบลใหม่ จำนวน 10 คน/ตำบล ประกอบด้วยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 5 ปี  5 คน/ตำบล และผู้ที่ถูกเลิกจ้างประชาชนในพื้นที่ 5 คน/ตำบล

ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย. 65

ประโยชน์ที่จะคาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการ คือ เกิดกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG ไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10  ในผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนไม่น้อยกว่า 4,500 รายการ เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป และบัณฑิตจบใหม่จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350  คน เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระหว่างการดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท/เดือน  มีการ Upskill/Reskill พัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG  รวมทั้งการใช้สามารถจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูล TCD ในการวิเคราะห์การจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ครบทุกพื้นที่

Advertisement

สำนักงานสลากฯ ชี้แจงวิธีการขึ้นเงินรางวัล ‘สลากดิจิทัล’

People Unity News : วันนี้ (วันที่ 3 มิถุนายน 2565) พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า กรณีถูกรางวัล ระบบจะแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง ภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ออกรางวัล โดยให้เลือกรับรางวัลได้ 2 ช่องทางคือ เลือกรับโดยการโอนเงิน ซึ่งจะโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยที่ผูกไว้กับแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งในอนาคตจะปรับเปลี่ยนให้สามารถผูกบัญชีธนาคารอื่นๆได้ เพื่อความสะดวกของผู้ซื้อ วิธีนี้จะเสียค่าธรรมเนียม 1% และ ค่าภาษีอากรแสตมป์ 0.5% ส่วนวิธีที่สอง สามารถเลือกมารับเงินรางวัลที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ โดยต้องกำหนด วัน เวลา ที่ต้องการเข้ามารับเงินรางวัลเพื่อที่สำนักงานสลากฯ จะจัดเตรียมสลากแบบใบตัวจริง เพื่อส่งคืนให้กับผู้ซื้อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการขึ้นเงินรางวัล วิธีนี้จะเสียเฉพาะค่าภาษีอากรแสตมป์ 0.5% ทั้งนี้ ยืนยันว่าการกำหนดค่าธรรมเนียม และค่าอากรแสตมป์ดำเนินการเช่นเดียวกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการนำสลากไปขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลาก หรือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารกรุงไทย

ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ถูกรางวัลสลากที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มฯ จะต้องแจ้งในระบบว่า จะเลือกรับเงินรางวัลผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งภายในกำหนด จะต้องมาขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลากภายใน 2 ปี โดยสลากที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม หรือดิจิทัล ที่ซื้อไว้จะแสดงอยู่ในประวัติข้อมูลการซื้อ 1 ปี ทั้งนี้ หากเลือกรับเงินรางวัลผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีที่ผูกไว้ จะได้รับเงินโอนหลังจากที่แจ้ง ภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมง ซึ่งยืนยันว่าจากที่ทดสอบระบบ การโอนเงินรางวัลไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ขอให้ผู้ซื้อสลากทุกคนไม่ต้องกังวล

พันโท หนุน ศันสนาคม กล่าวว่า การจำหน่ายสลากผ่านแพลตฟอร์มหรือสลากดิจิทัลนั้น สลากทุกใบเป็นของตัวแทนจำหน่ายรายย่อย สำนักงานสลากฯ เป็นแต่เพียงสนับสนุน จัดหาช่องทางการจำหน่ายในราคา 80 บาท ที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและส่งเสริมตัวแทนรายย่อยผู้ขาย ให้สามารถวางขายในแพลตฟอร์ม ซึ่งมีผู้เข้ามาซื้อเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องเสียค่าใช้ในการเร่ขาย ขณะเดียวกัน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการมอมเมา เพราะปัจจุบันประชาชนที่ซื้อสลากตามแผงจำหน่ายก็สามารถซื้อได้แบบไม่จำกัดจำนวนอยู่แล้ว และขอย้ำว่า สลากทุกใบเป็นของพ่อแม่พี่น้องตัวแทนรายย่อย ดังนั้น การจำหน่ายสลากดิจิทัล นอกจากประชาชนผู้ซื้อจะสามารถซื้อสลากได้ในราคาที่กำหนด คือ 80 บาทแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมรายได้ให้กับพ่อแม่พี่น้องที่เป็นตัวแทนรายย่อยอีกด้วย

Advertisement

ประยุทธ์ หารือ JBIC ความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

People Unity News : 20 พฤษภาคม 2565 นายกฯ หารือ JBIC ติดตามความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย

นายทาดาชิ มาเอดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Governor of Japan’s Bank of International Cooperation: JBIC) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนไทย โดยการพบหารือกันครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2562 ซึ่งไทยและญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีความร่วมมือที่ใกล้ชิด และนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในไทย

ทั้งสองฝ่ายหารือถึงความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบินในพื้นที่ EEC โดยนายกฯ ขอบคุณ JBIC ที่มีบทบาทสำคัญในโครงการฯ โดยไทยให้ความสำคัญกับหลักการ 5 ข้อ สำหรับการดำเนินการตามมาตรฐานโลก ได้แก่ ความโปร่งใส ความยั่งยืน ความครอบคลุม ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และการใช้บังคับกฎหมาย

โดย JBIC ยินดีสนับสนุนภาคเอกชนญี่ปุ่นให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการผลิตตู้รถไฟและระบบอาณัติสัญญาณที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ พร้อมชื่นชมบทบาทของไทยในการส่งเสริมและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

Advertisement

กรมศุลกากร หาทางช่วยประชาชน ดึงราคา Car Seat เตรียมเสนอ ครม. ลดอากรขาเข้า

People Unity News : 14 พฤษภาคม 2565 นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากรในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 กำหนดให้ผู้โดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์ และผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย ทำให้ประชาชนให้ความสนใจในภาษีอากรขาเข้าที่อาจส่งผลต่อราคาของสินค้าดังกล่าว

กรมศุลกากร ขอชี้แจงให้ประชาชนทราบว่า ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) จัดเป็นของในประเภทพิกัด 9401.80.00 โดยมีอัตราอากรขาเข้า อยู่ที่ร้อยละ 20 แต่หากนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ประเทศไทยมีอยู่ก็จะสามารถใช้สิทธิพิเศษยกเว้นอากรขาเข้าได้สำหรับทุกความตกลง อย่างไรก็ตาม การลดอัตราอากรขาเข้าเป็นการทั่วไปให้ต่ำกว่าร้อยละ 20 นั้น เป็นเรื่องนโยบายซึ่งกรมศุลกากรอยู่ระหว่างการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้เพื่อให้อัตราอากรของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศต่อไป

Advertisement

จัดกิจกรรม “Unfolding Bangkok” ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย – ต่างชาติ เริ่ม มิ.ย. 65 – ม.ค. 66

People Unity News : 12 พฤษภาคม 2565 เตรียมพบ 4 กิจกรรม “Unfolding Bangkok” ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย – ต่างชาติตามนโยบายเปิดประเทศ เริ่ม มิ.ย. 65 – ม.ค. 66

รัฐบาลนำร่องกรุงเทพฯ จัดกิจกรรมนำสนอประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยในมิติที่แตกต่าง เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวตามนโยบายการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 เป็นต้นมา หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วย 4 กิจกรรม ภายใต้โครงการ Unfolding Bangkok เน้นเล่าประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยว

คาดว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยได้วันละ 20,000 คน รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และกลุ่มผู้สูงอายุกำลังซื้อสูงที่มองหากิจกรรมเชิงวัฒนธรรม

Advertisement

Verified by ExactMetrics