People Unity News : 23 มิถุนายน 65 วันนี้ (23 มิ.ย.65) เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 2/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชม สสว. ที่ได้มีการเริ่มต้นดำเนินการโครงการหนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID) ซึ่งตรงกับที่นายกรัฐมนตรีคาดหวังไว้ว่า จะทำอย่างไรให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME มีความเข้มแข็งขึ้น โดยการดำเนินการ SME One ID ทำให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลประโยชน์มากขึ้น มีกำไรมากขึ้น มีความเข้มแข็งมากขึ้น จึงขอให้ สสว. ได้ต่อยอดการดำเนินโครงการและร่วมดำเนินงานกับหลายๆหน่วยงานต่อไป เพื่อช่วยเหลือสนับสนุน SME ให้เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ ทั้งนี้ สิ่งที่ SME ต้องการในวันนี้คือความรู้ในการนำไปพัฒนาปรับปรุงตัวเอง และต้องการเข้าถึงการบริการภาครัฐ รวมถึงมาตรการส่งเสริม แหล่งเงินทุน ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อทำให้ SME อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง และยั่งยืน ด้วยการเสริมความรู้ เพิ่มประสิทธิภาพความเข้มแข็งต่างๆ ให้กับ SME เพราะ SME มีผลต่อการลงทุนและเศรษฐกิจฐานรากอย่างมาก

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า หลักการของนายกรัฐมนตรีคือในการทำงานใดๆก็ตาม เป็นการทำงานตามภารกิจหน้าที่จะต้องทำให้เกิดประโยชน์โดยอ้อมด้วย ซึ่งการทำงานของบอร์ด สสว. ประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกอบการ และควรมีการเสริมมาตรการที่เป็นประโยชน์โดยอ้อม เช่น การลดโลกร้อน สังคมคาร์บอนต่ำ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น จึงขอให้มีการบูรณาการงานร่วมกัน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะกรรมการทุกคนที่ร่วมกันดำเนินงานเรื่อง SME และ MSME ซึ่งเป็นประเด็นวาระโลก ที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปให้ประสบความสำเร็จ เพื่อการมีบทบาทในเวทีโลกต่อไปในอนาคต

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานต่อเนื่องของโครงการ “หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID) ของ สสว. ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงาน และให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคในการขอรับอนุญาตและการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ MSME ที่มีมากกว่า 3 ล้านราย และเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยหลังจาก สสว. ได้ลงนาม MOU กับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เมื่อ 28 กันยายน 2564 แล้ว ได้ดำเนินการโครงการนำร่อง SME One ID และเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลสมาชิก สสว. เพื่อรับการบริการจากภาครัฐปี 2564 และในปีนี้ สสว. ได้ดำเนินโครงการงานพัฒนาระบบเพื่อขอรับบริการภาครัฐ ปี 2565 ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลและช่องทางการขึ้นทะเบียน SME One ID สำหรับผู้ประกอบการ MSME ซึ่งจะใช้ช่องทางหลักคือระบบศูนย์กลางข้อมูลให้ธุรกิจติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ Biz Portal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมข้อมูลและงานบริการต่างๆ เพื่อภาคธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย DGA ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน ภายใต้เว็บไซต์ www.bizportal.go.th และปรับใช้ระบบ Digital ID ของ DGA เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลสำหรับเข้าใช้บริการของส่วนราชการ รวมถึงการประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐเพื่อการใช้ SME One ID ของผู้ประกอบการ MSME ที่เข้ารับการบริการกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ

ปัจจุบัน สสว. ได้ประสานกับองค์การอาหารและยา (อย.) กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่เข้ารับการบริการที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ขณะที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อขยายผลและอำนวยความสะดวกในการใช้งานเพื่อผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานหลักที่ให้บริการ MSME อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง สสว. ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ประกอบการ MSME ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมาขึ้นทะเบียนระบบ SME One ID (ทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน) ไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย ภายในสิ้นปี 2565 โดยภาพรวมความร่วมมือกับ 16 หน่วยงาน ณ พฤษภาคม 2565 มีผู้ประกอบการ MSME ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ จากหน่วยงานพันธมิตรแล้ว รวม 2,045 ราย ซึ่งล่าสุด สสว. ยังได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ MSME ในด้านการขยายช่องทางการตลาดร่วมกับ Shopee โดยจัดทำ Microsite เพื่อให้ผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสขายสินค้าในช่องทางออนไลน์ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ MSME ดังนี้

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจของ MSME ปี 2564 GDP MSME Q4/2564 ขยายตัว 3.5% ส่งผลให้ทั้งปี 2564 GDP MSME ขยายตัว 3.0% สูงกว่าที่ สสว. ประมาณการไว้ที่ 2.4% โดยมีสัดส่วนส่วน GDP รวมเท่ากับ 34.6% ขณะที่ GDP ไทยปี 2564 ขยายตัว 1.6% มากกว่าที่สภาพัฒน์ประมาณการไว้ที่ 1.2% เช่นเดียวกัน สำหรับสถานการณ์ MSME ในปี 2564 พบว่า GDP ธุรกิจรายย่อยหรือ micro ยังคงขยายตัวได้ดี เท่ากับ 11.0% ธุรกิจขนาดกลางขยายตัว 4.9% ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อม แม้ว่า GDP จะลดลง 0.9% แต่เมื่อเทียบกับการลดลง 10.2% ในปีก่อน จะพบว่าธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ทั้งนี้ เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศเป็นสำคัญในช่วงไตรมาสสุดท้าย โครงการภาครัฐทั้งคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวโดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกของ MSME ในปี 2564 ยังเติบโตถึง 18.3% ซึ่งกลับมาเติบโตได้สูงกว่าในปี 2562 หรือก่อนสถานการณ์โควิด-19 สำหรับการจ้างงานของ MSME พบว่ากลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ ต.ค. 2564 เป็นต้นมา
  2. การประมาณการเศรษฐกิจของ MSME ปี 2565 สสว. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของ MSME หรือ GDP MSME ปี 2565 ณ วันที่ 27 เม.ย. 2565 ขยายตัวระหว่าง 3.4%-4.5% ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 ซึ่งประมาณการไว้ที่ 3.5%-4.9%
  3. ภาพรวมสถานการณ์และเศรษฐกิจ MSME ไตรมาสแรกของปี 2565 GDP MSME Q1/2565 ขยายตัว 3.8% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.5% โดยมีมูลค่า 1.52 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวม เท่ากับ 35.3% ขณะที่ GDP ไทยไตรมาสแรกโต 2.2% เมื่อพิจารณาตามขนาดธุรกิจ พบว่า GDP ธุรกิจรายย่อยหรือ micro ยังคงขยายตัวได้เท่ากับ 12.5% ธุรกิจขนาดกลางขยายตัว 4.3% ขณะที่ GDP ธุรกิจขนาดย่อมกลับมาขยายตัวได้ 1.0% หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 โครงการภาครัฐ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟสที่ 4 มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวของธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดย่อม โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการค้าและการบริการ

สำหรับมูลค่าการส่งออกของ MSME ในไตรมาสแรกของปี 2565 ยังเติบโตได้ถึง 27.6% ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวและ MSME มีสัดส่วนในการส่งออกสูง ได้แก่ ผลไม้สด และไม้แปรรูป และ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ด้านการจ้างงานของ MSME (ในระบบประกันสังคมมาตรา 33) ยังคงขยายตัวต่อเนื่องหลังจากธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกลับมาดำเนินกิจการเป็นปกติตั้งแต่ ต.ค. 2564 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกต่อเนื่องจน ณ ปัจจุบัน ส่งผลต่อราคาน้ำมันและราคาสินค้าวัตถุดิบหลายประเภท ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกรวมทั้งในประเทศ ซึ่งกระทบกำลังซื้อและต้นทุนการผลิตของ MSME อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นจนถึงสิ้นปีภายหลัง

ธนาคารกลางสหรัฐประกาศเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ จะยิ่งกระทบต่อราคาของสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ MSME ต้องนำเข้ามาผลิตสินค้าและบริการ ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนหลักที่จะช่วยให้ GDP MSME ขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ จะมาจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการยกเลิกมาตรการ Test & Go รวมทั้งการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยที่กำลังกลับสู่ภาวะปกติทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดำเนินมาตรการภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการบริโภคไปพร้อมๆกับการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน การลดต้นทุนให้แก่ MSME และการรักษาระดับการจ้างงาน ว่าจะสามารถช่วยลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อได้เพียงใด ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ และของ MSME ในช่วงไตรมาสแรกของปีจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่จากปัจจัยเสี่ยงหลายๆด้านดังกล่าว สสว. จึงปรับประมาณการ GDP MSME ปี 2565 จะขยายตัวอยู่ระหว่าง 3.4% – 4.5% ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้เมื่อ 7 ก.พ. 2565 เท่ากับ 3.5% – 4.9%

Advertisement