วันที่ 19 พฤษภาคม 2024

เตือน 6-8 ม.ค. ภาคใต้ตอนล่างฝนตกหนัก

People Unity News : 5 มกราคม 2566 กรมอุตุฯ เตือน 6-8 ม.ค.65 ภาคใต้ตอนล่างฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ขณะที่อ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูง 2-4 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นมีกำลังอ่อนลงแต่ยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และหนาวเย็นไว้ด้วย รวมถึงระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่เกิดจากสภาพอากาศแห้งในระยะนี้ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุม อ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 8 มกราคม 2566 รวมทั้งระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 6-8 มกราคม 2566 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงใกล้เกาะบอร์เนียวบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ปลายแหลมญวณ ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

กทม.-ปริมณฑล : มีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคเหนือ : อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอย อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-17 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง : มีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออก : มีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) : มีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นไป : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) : เมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

Advertisement

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเตือนภัยระวังถูกหลอกให้กู้ยืมเงินผ่านสื่อดิจิทัลและช่องทางออนไลน์

People Unity News : สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเตือนภัย ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลที่เป็นมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน โดยใช้ชื่อนิติบุคคลและสถานที่ตั้งสำนักงานที่ได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือผ่านสื่อดิจิทัลหรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ

27 พ.ค.64 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลที่เป็นมิจฉาชีพได้แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน โดยใช้ชื่อนิติบุคคลและสถานที่ตั้งสำนักงานที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือผ่านสื่อดิจิทัลหรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลที่เป็นมิจฉาชีพเหล่านี้จะหลอกลวงประชาชนที่ประสงค์จะขอกู้ยืมเงินให้ทำสัญญากู้ยืมเงินและแจ้งว่าเงินกู้ที่ทำสัญญากู้ยืมเงินได้รับการอนุมัติแล้วขอให้โอนเงินตามจำนวนที่กลุ่มบุคคลที่เป็นมิจฉาชีพแจ้งเพื่อเป็นค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมเข้าบัญชีผู้ให้กู้ (บุคคลธรรมดา) ก่อนหลังจากนั้นจะโอนเงินตามสัญญาเงินกู้ให้กับผู้กู้ในภายหลัง ทำให้มีประชาชนหลายรายหลงเชื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลและโอนเงินค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมไปให้ผู้แอบอ้างและไม่ได้รับเงินกู้ตามความประสงค์ที่จะขอกู้ยืมเงิน

ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่ประสงค์จะขอกู้ยืมเงิน โปรดอย่าหลงเชื่อกลุ่มบุคคลที่เป็นมิจฉาชีพที่มีการแอบอ้างในลักษณะดังกล่าว และโอนเงินไปก่อนที่จะได้รับเงินกู้ตามที่ต้องการ โดยหากมีการขอให้โอนเงินค่าดำเนินการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าค้ำประกันการกู้เงิน ขอให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นการถูกหลอกลวงรวมทั้งขอเตือนให้ประชาชนที่ประสงค์จะกู้ยืมเงินจากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non – bank) ตรวจสอบรายชื่อและรายละเอียดของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้การกำกับที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ถูกต้องตามกฎหมาย (รายชื่อ ที่อยู่สำนักงาน และเบอร์โทรศัพท์ของผู้ประกอบธุรกิจ) ได้ดังนี้

1.สำหรับกรณีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ได้ที่เว็บไซต์ www.1359.go.thหรือ http://164.115.61.50/picofinance/public/

2.สำหรับกรณีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ได้ที่เว็บไซต์ https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/WebsiteFI/pages/instlist.aspx

โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 ก่อนที่จะดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมกู้ยืมเงิน เช่น การทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นต้น เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงและการฉ้อโกงทรัพย์สินหรือ ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดได้รับความเสียหายจากพฤติการณ์ดังกล่าวหรือพบเบาะแสบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างสามารถแจ้งความร้องทุกข์โดยตรงได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติสายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. สายด่วน 1359

Advertising

“ประวิตร” สั่ง ก.แรงงานเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกด้านโดยเร็ว

People Unity News : รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง ในวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เวลา 10.00 น. วันแรงงานแห่งชาติ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการให้ ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยมี หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทูร  ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

พลเอก ประวิตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 รัฐบาลได้ระดมสรรพกำลังในการดูแลช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ซึ่งแรงงานเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และขอขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงานต่างด้าว รวมถึงขอเน้นย้ำการทำงานเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ได้แก่

(1) การรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้สนับสนุนบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไวรัสโควิด – 19 ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว

(2) มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ว่างงาน ขอให้เร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วน ไม่ตกหล่น รวมทั้งให้มีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องของการฝึกอาชีพเพื่อยกระดับทักษะฝีมือและหางานให้ทำอย่างรวดเร็วที่สุด

(3) การเฝ้าระวังและการป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ขอให้ดำเนินการให้ครอบคลุมและรอบคอบ รวมทั้งขอให้ชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าวทุกขั้นตอน จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยให้ประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ จะต้องมีแผนรองรับหลังจากที่สถานการณ์ผ่อนคลายลง

(4) แรงงานในภาคประมง ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง  รวมทั้งการดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้น โดยขอให้บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและติดตามข่าวสารในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยงานภาคประชาสังคม

(5) ในส่วนของการร่างพระราชบัญญัติธนาคารประกันสังคมและพระราชบัญญัติแรงงานนอกระบบ ขอให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ รับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มและคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ขอให้กำหนดมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน การพัฒนาทักษะ และการประกอบอาชีพในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งส่งเสริมการรับงานไปทำงานที่บ้าน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมถึงบรรเทาภาระหนี้สินและค่าครองชีพของประชาชน

พลเอก ประวิตร กล่าวต่ออีกว่า ขอเป็นกำลังใจในการร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ขอให้กลุ่มแรงงาน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานปลอดภัยจากไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พลเอก ประวิตร กล่าวตอนท้าย

โฆษณา

โฆษกรัฐบาลเผยหลักเกณฑ์เปิดรับผู้เดินทางเข้าไทยโดยไม่กักตัว-ไม่จำกัดพื้นที่ เริ่ม 1 พ.ย.

People Unity News : โฆษกรัฐบาลเผย การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว/ไม่จำกัดพื้นที่เริ่ม 1 พ.ย. นี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 3 ประเภท ยึดหลักคนไทยปลอดภัย ต่างชาติมั่นใจ

23 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การเปิดรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นการทยอยเปิดตามห้วงเวลาที่ชัดเจน ด้วยกลยุทธ์การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย (Smart Entry) เน้นเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ เบื้องต้นเพื่อสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแก่ภาคธุรกิจ เอกชน ประชาชน ควบคู่กับการกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยมีมาตรการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.คนไทยและต่างชาติที่เดินทางจาก 45 ประเทศ + 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องมีการกักตัว และสามารถเดินทางได้ทุกจังหวัด  เงื่อนไขคือผู้ที่จะเดินทางจะต้องพำนักในประเทศที่กำหนดนั้นๆต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ยกเว้นคนไทยหรือเดินทางออกจากประเทศไทย ซึ่งต้องมีการจองโรงแรม AQ 1 คืนระหว่างรอผลตรวจ RT-PCR

2.ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศไหนก็ได้ (กรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ในกลุ่มที่แรก) โดยใช้หลักการเดียวกับโปรแกรมแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) และต้องเดินทางเข้ามาในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) คือ ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มมีการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงด้วยวิธี RT-PCR และมีประกันสุขภาพอย่างน้อย 50,000 ยูเอสดอลลาร์ จองที่พัก 7 คืน ตามมาตรฐานและต้องเป็นโรงแรมที่อยู่ใน Sandbox area  มีการตรวจหาเชื้อซ้ำในวันที่ 6 หรือ 7 สามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ และเมื่อครบ 7 วันแล้ว จึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้

3.กรณีกลุ่มคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ประเภท เช่น คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย หรือได้รับแล้วยังไม่ครบ สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ภายใต้เงื่อนไขการกักกัน ในสถานที่ที่ทางราชการกำหนด ทั้งสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (SQ) สถานกักกันโรคทางเลือก (AHQ) ที่จัดการโดยเอกชน สถานกักกันโรคของหน่วยงานหรือองค์กร (OQ)  และสถานที่กักกันในส่วนของโรงพยาบาล (HQ) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งแต่ละกรณีจำเป็นต้องเข้ารับการกักตัวโดยจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน บางกลุ่มจะมีการกักตัว 7 -10 วัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า รัฐบาลและ ศบค. กำหนดโครงการเปิดประเทศแบบไม่กักตัว เริ่ม 1 พ.ย. นี้ สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยและสถานการณ์ทั่วโลกมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น โดยแบ่งออก เป็น 3 ช่วงระยะเวลาที่ชัดเจน คือ ระยะที่1 ช่วงวัน 1 – 30 พฤศจิกายน 64 (พื้นที่ 17 จังหวัดนำร่อง) ระยะที่ 2 ช่วงวัน 1 – 31 ธันวาคม (เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดและเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน) และระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 65 (พื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน) ในแต่ละช่วงเวลาจะมีการปรับหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศและประเทศต้นทาง รวมทั้งยังมีการประเมินผลการเข้าราชอาณาจักรทุก 1-2 สัปดาห์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในของประเทศนั้นๆ เพื่อเป็นการพิจารณาความเหมาะสมของประเทศต้นทางด้วย

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญสูงสุดในการเปิดประเทศ คือ การดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนในประเทศ โดยเน้นกำหนดประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ มีเกณฑ์การฉีดวัคซีนสูง นักท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนและมีผลตรวจ RT-PCR  ขณะเดียวกัน ก็ขอคนไทยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยการปฏิบัติตนเองตามมาตรการสาธารณสุข ดูแลตนเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) และทุกกิจการ/กิจกรรม ต้องยึดหลัก COVID-19 Free Setting เพราะขณะนี้ได้ผ่อนคลายมาตรการและไม่จำกัดการเดินทางแล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการกลับมาใช้มาตรการควบคุมหรือล็อกดาวน์ เพราะจะทำให้พี่น้องประชาชนและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอีก มั่นใจทุกคนร่วมมือร่วมใจร่วมกันเดินหน้าประเทศไทย เพราะความสำเร็จในการเปิดประเทศขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน” นายธนกร กล่าว

Advertising

กระทรวงดีอีเอสแจก “เน็ตอยู่บ้าน” ฟรี 3 เดือน

People Unity News : “ดีอีเอส” เพิ่มมาตรการเน็ตบ้านฟรี เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนช่วงโควิด-19

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงข่าวเกี่ยวกับการเพิ่มมาตรการเน็ตบ้านฟรีช่วยประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายช่วงโควิด-19 ภายใต้กิจกรรม “ดีอีเอสช่วยประชาชนสู้ภัยโควิด-19” โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) แพ็กเกจ “เน็ตอยู่บ้าน” ความเร็ว 100/50 Mbps ให้กับประชาชนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยจะติดตั้งและให้บริการแก่ประชาชนฟรีเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับแพ็กเกจ “เน็ตอยู่บ้าน” ความเร็วสูงสุด 100/50 Mbps ระยะเวลาสัญญาใช้บริการ 12 เดือน ได้จัดเตรียมรองรับประชาชนจำนวน 100,000 ราย ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนใช้งานฟรี 3 เดือน โดยฟรีค่าใช้จ่ายแรกเข้าและค่าติดตั้งสำหรับผู้ใช้บริการต่อเนื่องจนครบตามระยะเวลาในอัตรา 390.- บาท/เดือน ประชาชนที่สนใจสามารถสมัครรับสิทธิ์แพ็กเกจดังกล่าวได้ตั้งแต่ 15 พ.ค. – 31 ก.ค.63  ณ สำนักงานบริการลูกค้า CAT และ TOT, ช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ www.CinternetBYCAT.com  Facebook : CinternetBYCAT  และ www.tot.co.th หรือสอบถามที่ CAT Contact Center 1322 และ TOT Contact Center 1100

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอสคำนึงถึงการรองรับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง โดยประชาชนที่ยังคงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบ้านจึงมีความจำเป็นโดยนอกจากรองรับการทำงานที่บ้าน (WFH) ยังรวมถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเรียนตามปกติจะต้องเรียนออนไลน์เพิ่มขึ้น

โฆษณา

จ่ายแน่! กรกฎาคมนี้ เงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ จ่ายย้อนหลัง เม.ย. – ก.ค. 65

People Unity News : วันนี้ 24 มิถุนายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงผู้สื่อข่าวต่อประเด็นการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพ กรอบวงเงิน 8.38 พันล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุ 10.9 ล้านคน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2565 เฉลี่ยรายละ 100-250 บาท ตามช่วงอายุ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการไปแล้วนั้น โดยให้ความชัดเจนว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นการเสนอขออนุมัติงบกลาง ปี 2565 จากคณะรัฐมนตรี ทางกรมบัญชีกลางคาดว่าจะสามารถโอนเงินช่วยเหลือถึงมือผู้สูงอายุในช่วงกรกฎาคมนี้  ที่จะครอบคลุมเงินช่วยเหลือย้อนหลังตั้งแต่เดือน เมษายน-กรกฎาคม และจะทยอยอีกสองงวดที่เหลือในรอบเดือนต่อๆไป

สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพในครั้งนี้ จะจ่ายเพิ่มจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือนตามช่วงอายุ เป็นระยะเวลา 6 เดือน กล่าวคือ

(1) อายุ 60 -69 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บ./เดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 100 บ./เดือน รวมเป็น 700 บ./เดือน

(2) อายุ 70 -79 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 700 บ./เดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 150 บ./เดือน รวมเป็น 850 บ./เดือน

(3) อายุ 80 -89 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 800 บ./เดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 200 บ./เดือน รวมเป็น 1,000 บ./เดือน

และ (4) อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บ./เดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 250 บาท/เดือน รวมเป็น 1,250 บ./เดือน

Advertisement

ปภ.ย้ำ 40 จังหวัด ระวังฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง 13-16 ม.ค.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 มกราคม 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เน้นย้ำพื้นที่ 40 จังหวัดภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 13-16 ม.ค.67

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 4 (4/2567) ลงวันที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในช่วงวันที่ 13-16 มกราคม 2567 ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าในช่วงแรก บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 13-16 มกราคม 2567 แยกเป็น

ภาคเหนือ ทุกจังหวัด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา

ภาคกลาง 13 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 40 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยติดตามสภาพอากาศและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย

สุดท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

น้ำท่วม​คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด​ เฝ้าระวัง 17 จังหวัด​

People Unity News : น้ำท่วม​คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด​ เฝ้าระวัง 17 จังหวัด​ ปภ.เร่งประสานช่วยเหลือผู้ประสบภัย

2 ต.ค. 64 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ในช่วงวันที่ 23 กันยายน – ปัจจุบัน (2 ต.ค.64) ว่า

เกิดอุทกภัยใน 31 จังหวัด ได้แก่

เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม

รวม 195 อำเภอ 1,001 ตำบล 6,909 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 264,210 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 8 ราย สูญหาย 1 ราย

สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี กำแพงเพชร)

ยังคงมีสถานการณ์อีก 17 จังหวัดมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ขณะที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

แจ้งเหตุ/ขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertising

แนะแม่ตั้งครรภ์ ระวังยุงลายกัดแพร่เชื้อไวรัสซิกา

People Unity News : 20 สิงหาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผยสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในไทย สัปดาห์ที่ 31/66 พบผู้ป่วยครบทุกภาค กรมควบคุมโรคแนะแม่ตั้งครรภ์ ระวังยุงลายกัดแพร่เชื้อไวรัสซิกา ทารกเสี่ยงพัฒนาการช้า

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรณีสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ในสัปดาห์ที่ 31 คือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 9 สิงหาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 172 ราย อัตราป่วย 0.26 ต่อประชากรแสนคน ไม่พบผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยครบทุกภาค กระจายใน 21 จังหวัด โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในภาคกลาง รองลงมา คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกคำเตือนในช่วงนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลาย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ก่อให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งโรคติดเชื้อไวรัสซิกานี้ สามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ เป็นโรคที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด เพราะหากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว อาจส่งผลให้เด็กที่คลอดออกมามีความผิดปกติ

นางสาวรัชดา กล่าวถึงข้อมูลกรมควบคุมโรคระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง และสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ ทารกเกิดความพิการทางสมองและระบบประสาท ส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น โดยกรมควบคุมโรคแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด ไปฝากครรภ์ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์จนกว่าจะคลอด หากตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกาต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูตินรีแพทย์

“นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคย้ำขอให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและในชุมชน โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือ 1) เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 2) เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและชุมชน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 3) เก็บน้ำ เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดด้วยการทายากันยุง และนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ได้แก่ แอสไพริน และไอบูโพรเฟนมารับประทาน และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

ย้ำอีกครั้ง! ภาษีที่ดินปี 65-66 จัดเก็บอัตราเดิม แต่ไม่ลด 90% บ้านและที่ดินเกษตรได้บรรเทา

People Unity News : รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำอีกครั้ง! ภาษีที่ดินปี 65-66 จัดเก็บอัตราคงเดิม แต่ไม่ลด 90% บ้านและพื้นที่เกษตรยังได้บรรเทา

4 มี.ค. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีการแชร์ข้อมูลคลาดเคลื่อนในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการจัดเก็บภาษี จึงขอแจ้งให้ทราบอีกครั้งว่า รัฐบาลได้ประกาศคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีภาษี 2565-2566 ในอัตราเช่นเดียวกับปี 2563-2564 แต่ไม่มีการปรับลดการจัดเก็บลง 90% เหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ผู้เสียภาษียังคงได้รับการบรรเทาภาระภาษีในหลายกรณี อาทิ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประกอบเกษตรกรรมจะได้รับยกเว้นภาษี

ทั้งนี้ การจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 เมื่อคำนวณได้เท่าไร จะต้องจ่ายเต็มจำนวน เนื่องจากกระทรวงการคลังมองว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้หลักที่นำเข้าสู่ท้องถิ่น ซึ่งจากที่มีการลดภาษีที่ดินฯลง 90% ในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ขาดรายได้ไปพัฒนาพื้นที่

นางสาวรัชดา ยังเผยว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ต้องประกาศอัตราภาษีที่จะใช้จัดเก็บในปี 2565 เนื่องจากอัตราภาษีเดิมที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะปี 2563 – 2564 แต่ด้วยความเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลจึงคงอัตราภาษีที่ดินฯแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563-2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้กับผู้เสียภาษี และเพื่อให้ผู้เสียภาษีได้มีระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการชำระภาษีในอัตราที่แท้จริง

ซึ่งในปี 2565 นี้ ผู้เสียภาษียังคงได้รับการบรรเทาภาระภาษีหลายกรณี ได้แก่ 1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประกอบเกษตรกรรมได้รับยกเว้นภาษี 2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา และมีชื่อในทะเบียนบ้านในวันที่  1 มกราคม จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท 3) กรณีที่เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง ก็จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีสำหรับสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือไม่เกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท หรือเกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี จะเสียภาษีเต็มอัตราเฉพาะส่วนที่เกินเท่านั้น 4) การผ่อนปรนภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีกรณีมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สูงกว่าค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่เคยชำระในปี 2562 จะบรรเทาภาระให้โดยเสียภาษีเท่ากับค่าภาษีปี 2562 บวกกับร้อยละ 75 ของส่วนต่างค่าภาษีปี 2565 กับปี 2562

Advertising

Verified by ExactMetrics