People Unity News : ครม.ออกมาตรการเยียวยาท่องเที่ยว แรงงาน ก.พาณิชย์ยืนยันไข่ไก่เพียงพอ ไม่ต้องกักตุน

วันนี้ (24 มี.ค.2563) ณ ศูนย์แถลงข่าวฯ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายประโยชน์ เพ็ญสุต รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ร่วมแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 และมาตรการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า จากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพียงที่เดียวเท่านั้น พร้อมกล่าวประชาสัมพันธ์การเจริญพระพุทธมนต์บทรัตนสูตร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 25 มี.ค. 63 เวลา 16.00 น. เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลและเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 วัดและเมืองหลักๆ 3 วัดในแต่ละภาค ซึ่งจะไม่มีเปิดให้ประชาชนเข้าไปร่วมฟังที่พระอุโบสถ แต่จะถ่ายทอดสดทางวิทยุกระจายเสียง และทางสถานีโทรทัศน์ NBT โดยพระทุกรูปจะนั่งห่างกันเกิน 1 เมตร ล้างมือและการทำความสะอาดพระอุโบสถ ก่อนการปฏิบัติกิจสงฆ์ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

จากนั้น  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ได้มีการอนุมัติหลักการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีการประกาศใช้ในวันมะรืนนี้คือ 26 มีนาคม เนื่องจากต้องมีระยะเวลาเตรียมการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน ให้เข้าใจถึงหลักการและเหตุผลและความจำเป็นในขนาดนี้ รวมทั้งเตรียมการจัดโครงสร้างศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน เมื่อประกาศใช้แล้วจะมีการประชุมศูนย์อำนวยการฉุกเฉินฯ ณ ทำเนียบรัฐบาลทุกเช้า ทั้งนี้ ขอให้รอความชัดเจนโดยนายกรัฐมนตรีจะได้ชี้แจงรายละเอียดมาตรการต่างๆต่อไป โดยจะเป็นการแถลงข่าวผ่านศูนย์แถลงข่าวโควิด-19 ทำเนียบ ช่องทางนี้เพียงที่เดียว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยมติคณะรัฐมนตรีมีเห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประสบผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เสนอโดยกระทรวงการคลังเป็นมาตรการระยะที่สองเพิ่มเติมจากมาตรระยะที่หนึ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม และคงจะมีมาตรการระยะอื่นๆตามมาเพื่อดูแลพี่น้องให้ครบทุกกลุ่มทุกภาคส่วนของไทย

สำหรับหน่วยงานราชการอื่นๆที่เสนอเพิ่มเติม โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง กำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. 2555  โดยผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียน ในวันที่มารับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลางหรือสาขาที่มีอำนาจหน้าที่ มีรายละเอียดของหลักประกันมี ดังนี้ 1) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท  2) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทภายในประเทศ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท 3) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท และ 4) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท  ซึ่งเป็นการบางเบาภาระให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562 – 2563 ให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และไม่สามารถดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนด รวมถึงผู้ติดตามให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  ในส่วนของกระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  แต่หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

อีกฉบับหนึ่งที่จะรองรับมาตรการโควิด-19 คือ ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. ซึ่งมีการกำหนดบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จึงมีการแก้ไข คำนิยาม “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า อัคคีภัย  วาตภัย อุทกภัย  ธรณีพิบิติภัย หรือภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ตลอดจนภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยดังกล่าว  ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน  และกำหนดให้กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค  ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกินหกสิบวัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชดเชยกำลังซื้อที่ลดลงจากการไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างการหยุดการประกอบกิจการ  และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. ….  ให้นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้ ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงเงินนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563 (2) ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 วรรคสาม ดังนี้ เงินสมทบงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563

ในช่วงท้าย นายประโยชน์ เพ็ญสุต รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้กล่าวถึงการมาตรการรองรับสินค้าอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะไข่ไก่ที่ว่า สถานการณ์ในการผลิตสินค้าของประเทศไทยขณะนี้นั้น มีวัตถุดิบและกำลังการผลิตอย่างเพียงพอ แต่เมื่อประชาชนเริ่มซื้อสินค้าสำรองเนื่องจากการปิดห้างสรรพสินค้า อาจทำให้สินค้าบางชนิดขาดหายจากการวางตลาดไป โดยทางกรมการค้าภายในสั่งให้ผู้ตรวจราชการลงพื้นที่โรงงานเพื่อตรวจสอบว่ายังมีสินค้าอยู่เพียงพอ ขอยืนยันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าด้านอุปโภคและบริโภคของประเทศไทย ทั้งยังขอความร่วมมือกับบริษัทผู้ค้าที่บริการส่งสินค้าด้วยตนเองหรือบริษัทขนส่งสินค้าให้เตรียมความพร้อม หากประชาชนไม่สะดวกไปซื้อด้วยตนเอง หรือจำเป็นจะต้องเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน สำหรับไข่ไก่  มีปริมาณการผลิตไข่ไก่ในปีนี้ยังคงเพียงพอ แต่ด้วยความต้องการซื้อที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อสำรองไว้ อาจทำขาดตลาดได้บางเวลา จึงอยากขอความร่วมมือของประชาชนอย่ากักตุนไข่ สำหรับราคาไข่ไก่นั้น ทางกรมการค้าภายในนั้นยืนยันว่าหากผู้ใดที่จำหน่ายไข่ไก่เกินราคา จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

โฆษณา