วันที่ 3 พฤษภาคม 2024

ธอส.ประกาศตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด ช่วยลูกค้าให้มีเวลาปรับตัว ไม่ต้องแบกค่าครองชีพ

People Unity News : 22 กรกฎาคม 2565 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ปล่อยสินเชื่อใหม่ทำให้คนไทยได้มีบ้านจำนวนถึง 134,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 27.08% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ดันยอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,526,414 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,581,652 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 4.41% ของยอดสินเชื่อรวม ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพื่อความมั่นคงและเตรียมพร้อมรับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวน 121,066 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL ที่ระดับ 180.02% คาดสิ้นปีสินเชื่อใหม่ปล่อยได้ไม่น้อยกว่า 2.8 แสนล้านบาท มุ่งสู่ Digital Bank เต็มรูปแบบ ชูเทคโนโลยี-นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และบริการทางด้านสินเชื่อ เงินฝาก และสลากออมทรัพย์ ขึ้นบนอากาศ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าประชาชนเข้าถึงบริการของธนาคาร พร้อมประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด เพื่อให้ลูกค้ามีเวลาปรับตัวรับกับอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ว่า หลังจากที่ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของประชาชนปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญให้ประชาชนที่มีการปรับตัวจากผลกระทบด้านรายได้ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้จำนวน 134,998 ล้านบาท 106,067 บัญชี เพิ่มขึ้น 27.08% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็น 59.62% ของเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2565 ที่ 226,423 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจำนวน 58,448 ราย ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,526,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.65% มีสินทรัพย์รวม 1,581,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.00% เงินฝากรวม 1,345,830 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.57% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน  67,251 ล้านบาท คิดเป็น 4.41% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่มี NPL อยู่ที่ 4.00% ของสินเชื่อรวม ซึ่งธนาคารได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ 121,066 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 180.02% สะท้อนความมั่นคงและพร้อมรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ในอนาคต โดยมีกำไรสุทธิ 6,069 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 14.73% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

ทั้งนี้ การที่ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาลจากการผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือประเภทละ 0.01% สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงจากการแข่งขันของผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ทำให้มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคาร ทำให้กลุ่มลูกค้าที่มีการปรับตัวจากผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเร็วขึ้น โดยสินเชื่อปล่อยใหม่ที่มีลูกค้าเลือกใช้บริการสูงสุดได้แก่ โครงการบ้าน ธอส. เพื่อคุณ อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 3.15% ต่อปี มียอดอนุมัติสะสมสูงถึง 34,658 ล้านบาท ส่วนโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่เพียง 1.99% ต่อปี นานถึง 4 ปีแรก ล่าสุด ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 99,760 ราย ยื่นขอสินเชื่อแล้ว 20,311 ราย วงเงินสินเชื่อ 18,358 ล้านบาท และได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 18,707 ราย วงเงินสินเชื่อ 16,322 ล้านบาท

ขณะที่ด้านดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ปัจจุบัน  ธอส. ยังขยายระยะเวลาความช่วยเหลือ ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ปี 2565 ด้วยการแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้า ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยและเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ เพื่อลดเงินงวดให้กับลูกค้า และมุ่งรักษาบ้านให้ยังเป็นของลูกค้าได้ต่อไป โดย ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 มีลูกค้าอยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 72,496 บัญชี วงเงินต้นคงเหลือ 74,176 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้พบว่ามีลูกค้าที่ชำระเงินงวดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการหรือชำระบางส่วนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 96%

“จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 2565 เช่นเดียวกับธนาคารกลางหลายประเทศที่ปรับขึ้นตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไปแล้ว ทำให้ประชาชนเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ จึงมั่นใจว่า ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงกว่า 280,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ธอส. พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารไว้ให้ได้นานที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีเวลาในการปรับตัวและไม่ต้องรับภาระด้านค่าครองชีพ แต่พร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามตลาดเพื่อป้องกันการไหลออกของเงินฝากและให้มีเงินทุนเพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่ต้องการมีบ้าน และด้วยต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้คาดว่าธนาคารจะได้รับผลกระทบในปี 2565 ไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท” นายฉัตรชัยกล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง ธอส. เตรียมนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ มายกระดับการให้บริการลูกค้าตามเป้าหมายสู่การเป็น Digital Bank เต็มรูปแบบ (Fully Digitized) อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริการดิจิทัล (DSC) เพื่อรองรับลูกค้าที่ต้องการเข้าถึงบริการทางด้านสินเชื่อและเงินฝากผ่านช่องทาง Digital Channel เป็นการเฉพาะ อาทิ Mobile Application GHB ALL รวมถึงสื่อ Social Media ต่างๆของธนาคาร โดยมีพนักงานสินเชื่อ Virtual Branch ทำหน้าที่ติดต่อลูกค้าเพื่อรองรับการให้บริการได้ทันทีโดยไม่ต้องมีสาขา โครงการจัดเก็บ Electronic File แทนเอกสารสิทธิ์ต้นฉบับ (ไม่เก็บโฉนด) โดยธนาคารจะจัดเก็บในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์แทนการจัดเก็บโฉนดตัวจริง ทำให้ลูกค้าจะได้รับโฉนดฉบับจริงกลับบ้านในวันทำนิติกรรมได้ทันที ซึ่งปัจจุบันเริ่มให้บริการกับลูกค้ากลุ่มสวัสดิการแล้วและจะขยายสู่ลูกค้ากลุ่มกู้ใหม่ได้ทั้งหมดภายในไตรมาสที่ 3 โครงการลงนามสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) การทำสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารกับลูกค้าในรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มให้บริการลูกค้าแล้วตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2565 โดยหลังลงนามสัญญาลูกค้าจะได้รับเอกสารสัญญาเงินกู้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Email

นอกจากนี้ ธนาคารยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขายที่อยู่อาศัยหรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ขายที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้า ธอส. จะได้รับการโอนเงินกู้ค่าซื้อที่อยู่อาศัยเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ขาย/ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แทนการจัดทำแคชเชียร์เช็ค ทำให้ผู้ขายไม่ต้องเสียเวลาและขั้นตอนนำแคชเชียร์เช็คที่ได้รับจากผู้ซื้อไปขึ้นเงินเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริการใหม่ดังกล่าวจะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2565 และพร้อมเดินหน้าจัดทำโครงการ GHB AI Virtual Agent เพื่อเสริมทัพความแข็งแกร่งและยกระดับการบริหารจัดการ Call Center ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยี AI Voice Bot มาช่วยให้บริการเปรียบเสมือนผู้ช่วยบริการทางการเงินให้ลูกค้า ธอส.  ซึ่ง AI จะช่วยรับสายตอบคำถามลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอสายนาน หรือโทรแจ้งเตือนบริการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า เช่น ครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 หรือโทรแจ้งการเปลี่ยนแปลงเงินงวดสินเชื่อบ้าน เป็นต้น

Advertisement

“สมาคมธนาคารไทย” หนุน “กทม.” ขับเคลื่อนสู่เมืองเศรษฐกิจสีเขียว สร้างการเติบโตยั่งยืน

People Unity News : 18 กรกฎาคม 65 สมาคมธนาคารไทย พร้อมขับเคลื่อน “กรุงเทพมหานคร” สู่เมืองเศรษฐกิจสีเขียว ชูนโยบายสนับสนุน BCG สินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำโครงสร้างพื้นฐานด้าน “ดิจิทัล” ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับการให้บริการของ กทม. เสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมฯ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ว่า การประชุมในวันนี้ มีหลายประเด็นที่เน้นแนวทางความร่วมมือในหลายด้าน ซึ่งสมาคมธนาคารไทย เป็นหน่วยงานที่ 3 ที่ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร หลังจากเข้าพบสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดเป็น 3 เสาหลักเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในอนาคตจะรีบผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมฯ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนหารือความคิดเห็นและความร่วมมือร่วมกันทุกเดือนระหว่าง กทม.กับภาคธุรกิจ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งวันนี้ทางสมาคมธนาคารไทยได้รับทราบเป้าประสงค์ แนวคิดของ กทม.แล้ว และอยากร่วมผลักดันกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองหลักของการสร้างงาน สามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก สร้างความสุขให้คนไทยและเป็นเมืองหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยการตั้งคณะกรรมการฯ คาดว่าจะสำเร็จภายใน 1 เดือน เนื่องจากการพัฒนาเมืองต้องมีความร่วมมือกันเพราะเมืองคือแหล่งงาน แหล่งอาชีพ เมืองจะอยู่ได้ต้องมีการสร้างงานสร้างเศรษฐกิจที่มีคุณภาพขึ้น

โดย กทม.จะอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจเอกชน ด้วยการลดขั้นตอนต่างๆ ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยทำควบคู่กับเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีนำมาปรับปรุงคุณภาพชีวิต โดยในปัจจุบันธนาคารก้าวหน้ามากในเรื่องของ Application การให้บริการ เทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตน ซึ่ง กทม.อาจจะนำบางส่วนมาใช้งานกับ Application ของ กทม.ด้วย เช่น การให้ความรู้กับประชาชนในชุมชนเรื่องการใช้ Application รวมถึงการให้ข้อมูลให้ชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย โดยจัดทำฐานข้อมูลและ Open Data

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม. ดูแลชุมชนกว่า 2,000 ชุมชน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลมหาศาล คนจำนวนมากในชุมชนต้องการแหล่งเงินทุน แหล่งเงินกู้ หากสามารถทำการเชื่อมฐานข้อมูลให้รู้หลักแหล่งที่อยู่อาศัยและตัวตนของผู้กู้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Application ต่างๆ เพื่อทำให้ธนาคารเข้าถึงลูกค้า และลูกค้าก็เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น ก็จะแก้ปัญหาในปัจจุบันที่ประชาชนต้องไปกู้หนี้นอกระบบได้ เนื่องจาก กทม.มีข้อมูลชุมชนมากมายหากพัฒนาเป็นฐานข้อมูล และธนาคารสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ก็จะทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น เพราะหัวใจของการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือการเข้าถึงแหล่งเงิน หากประชาชนประกอบธุรกิจได้ดีขึ้น ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะแหล่งเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ เบื้องต้นอาจจะเริ่มพัฒนาจาก 1 ชุมชน หรือ 1 อาชีพก่อน เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเนื่องจากมีหลักแหล่งตัวตนชัดเจนเพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบแหล่งเงินทุนได้ หากประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นต้นแบบที่จะขยายความสำเร็จนี้ต่อไป

“ปัจจุบันหลายชุมชน ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แนวคิดที่จะตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน ซึ่งอาจเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อจะแนะนำเทคโนโลยีต่างๆนี้ให้คนในชุมชน รวมถึงรวบรวมฐานข้อมูลของชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งเราเริ่มอบรมอาสาสมัครเทคโนโลยีไปบางส่วนบ้างแล้วก็คือคนกวาดถนนของ กทม.ที่สามารถใช้เทคโนโลยี Traffy Fondue ได้ ประมาณ 10,000 คน เนื่องจากอาศัยอยู่ในทุกเขตและทุกชุมชน ซึ่งอนาคตอาจจะเป็นผู้แนะนำเทคโนโลยีทางธนาคารเพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกทม.ได้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลในรูปธรรมได้ ภายใน 6 เดือน” นายชัชชาติกล่าว

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ และธนาคารสมาชิกพร้อมสนับสนุนการพัฒนากรุงเทพมหานคร ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของ กทม. สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมฯที่มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน และเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับสังคมและประเทศ

ทั้งนี้ สมาคมฯ จะร่วมผลักดันภาคธุรกิจปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และ BCG Economy หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเดินหน้าให้ความรู้ทางการเงินและดิจิทัล สร้างกลไกในการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเพื่อการเกษียณอายุ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงบริการการเงินขั้นพื้นฐานของภาคธนาคาร

นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาช่วยในการพัฒนา กทม. และผลักดันให้เกิด Digital Transformation โดยส่งเสริมการนำระบบ Digital มาใช้ในกระบวนการทำงาน ทั้งการชำระเงิน การเก็บค่าธรรมเนียม การชำระค่าปรับ การออกใบเสร็จแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสนับสนุนให้นำระบบ Digital Payment มาใช้ทุกเขตและทุกหน่วยงานของกทม. และสนับสนุนให้นำระบบ Digital Supply Chain Finance Platform มาใช้การจัดซื้อจัดจ้างของกทม.และบริษัทในเครือข่ายของ กทม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และยังช่วยให้ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการจัดซื้อจัดจ้างของกทม.สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น อีกทั้ง พร้อมร่วมมือพัฒนาทรัพยากรบุคคลในรูปแบบ Knowledge Sharing หรือ Capacity Building เพื่อให้เกิดการประสานประโยชน์ (Synergy) ร่วมกัน

สมาคมฯ ยังสนับสนุนการพัฒนา กทม. เป็นเมืองนำร่องในการเชื่อมโยงระบบชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาค เมื่อเดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามแผนงาน Regional Championing ของสมาคมฯในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนและประชาชน สามารถทำกิจกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ

“สมาคมธนาคารไทย พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนา กทม.ให้แข็งแกร่งในทุกด้าน เป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นศูนย์กลางในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน” นายผยง กล่าว

Advertisement

เริ่มวันนี้! น้ำมันปาล์มขวด ลด 4-5 บาท ซูเปอร์/ค้าปลีกขนาดใหญ่นำร่อง อาทิตย์หน้าลดอีก

People Unity News : 14 กรกฎาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามการปรับระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือการค้ากำไรเกินควร ในช่วงที่คนไทยเช่นเดียวกับคนทั่วโลกที่กำลังเผชิญปัญหาภาวะเงินเฟ้อ โดยมีการติดตามต้นทุนการผลิต ปริมาณสต๊อกสินค้า เพื่อให้การกำหนดราคาเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ส่งผลให้สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันหลายชนิดชะลอการปรับเพิ่มราคา และล่าสุด นายจุรินทร์ ได้สั่งการให้เร่งรัดการปรับลดราคาน้ำมันปาล์มขวดตามต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง โดยร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า จะเริ่มปรับลดราคาน้ำมันปาล์มขวดลง 4-5 บาท จากราคาขายปัจจุบันที่ขวดละ 69-70 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้มีราคาสะท้อนตามต้นทุนที่แท้จริง

นางสาวรัชดา กล่าวว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานผลการประชุมร่วมกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือ แต่การลดราคาอาจจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับต้นทุนและสต๊อกเก่าที่มีค้างอยู่ของแต่ละผู้ประกอบการ แต่ยืนยันได้ว่าน้ำมันปาล์มขวดจะต้องขายตามต้นทุนที่แท้จริง หากผลปาล์มดิบลดราคา น้ำมันปาล์มขวดก็ต้องปรับลดด้วยเป็นไปตามโครงสร้างการคำนวณราคาประมาณการของผลปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มขวด ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้เป็นราคาแนะนำให้ปฏิบัติ ซึ่งสัปดาห์นี้ผูประกอบการรายใหญ่จะเริ่มต้นลดราคา 4-5 บาทก่อน และสัปดาห์หน้าจะทยอยลดอีก ซึ่งการคำนวณราคาจะต้องดูต้นทุนสต๊อกช่วงก่อนหน้าที่สั่งสินค้าเข้ามาประกอบด้วย โดยกรมการค้าภายในจะติดตามการปรับลดราคาอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามข้อสั่งการรองนายกฯ จุรินทร์

“สำหรับสินค้าทั่วไป สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ยังได้ติดตามกำกับดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้ร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายสินค้าให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาหรือจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร ตัวเลข ณ วันที่ 12 ก.ค. มีการสำรวจรวม 299 แห่ง จากห้างสรรพสินค้า 105 แห่ง ร้านค้าปลีก – ส่ง 129 แห่ง และตลาดสด 65 แห่ง โดยยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย.65 รวมทั้งสิ้น 4,635 แห่ง จากห้างสรรพสินค้า 1,613 แห่ง ร้านค้าปลีก – ส่ง 2,139 แห่ง และตลาดสด 883 แห่ง พบว่าขณะนี้สินค้ามีเพียงพอกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ หากประชาชนพบการทำผิดกฎหมาย รวมทั้งการกระทำผิดในร้านค้าออนไลน์ สามารถโทรแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือทางอีเมล์ 1569@dit.go.th.” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

กรมบัญชีกลางพร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ เริ่มจ่าย 19 ก.ค. 65

People Unity News : 12 กรกฎาคม 2565 นางสาววารี แว่นแก้ว รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 อนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือนร้อนเสียหายในบางกรณี การจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ จำนวน 10.94 ล้านคน วงเงิน 8,382.20 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ 100 – 250 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน (เมษายน – กันยายน 2565) กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าว เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินโดยตรงแทนกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“โดยจะจ่ายเงินรอบแรกในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 รวม 4 เดือน (เมษายน – กรกฎาคม 2565) รอบถัดไปในวันที่ 19 สิงหาคม 2565 และ 19 กันยายน 2565 ตามลำดับ ซึ่งผู้มีสิทธิที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ (ตาราง) ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 0 2270 6400 ในวัน เวลาราชการ” โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าว

Advertisement

“พาณิชย์” จัด 703 จุดทั่วไทย ขายข้าวสารราคาประหยัดกว่า 1.5 ล้านกิโล ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ก.ค.

People Unity News : 8 กรกฎาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์ เปิดโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน (ข้าวถุงราคาประหยัด) Lot 19” ร่วมกับสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และผู้ให้บริการปั๊มน้ำมัน จัดจำหน่ายข้าวถุงในราคาถูก 703 จุดทั่วประเทศ ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมผสม ข้าวขาว และข้าวเหนียว ขนาด 1 กก. 5 กก. และ 48 กก. รวม 228 ยี่ห้อ คิดเป็นปริมาณกว่า 1.5 ล้านกิโลกรัม (1,500 ตัน)

สถานที่จำหน่ายข้าวถุงมีดังนี้

– 3 บริษัทปั๊มน้ำมันที่ร่วมโครงการ (PTT Station 244 จุด/ ปั๊มพีที 193 จุด/ ปั๊มบางจาก 43 จุด)

– กลุ่มโรงสีโกดังและร้านค้าของโรงสีทั่วประเทศ 46 จุด

– จุดที่พาณิชย์จังหวัดไปจัดในชุมชน 77 จุดทั่วประเทศ

– รถโมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ประชาชนสามารถติดตามจุดจำหน่ายได้ที่เว็บไซต์ https://mobilepanich.com หรือเว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th

Advertisement

ข่าวดี ธอส. ปลดล็อกให้ลูกค้ากลุ่ม LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมได้แล้ว

People Unity News : 27 มิถุนายน 65 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย สนับสนุนให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้นตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” เพื่อความสุข ความมั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเองและคนในครอบครัว ล่าสุด ธอส. จึงได้ปรับปรุงเงื่อนไขในการให้สินเชื่อของธนาคาร โดยกำหนดให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สามารถกู้ร่วมกันได้แล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เช่นเดียวกับกรณีกู้ร่วมกับคู่สมรส พี่-น้อง และบิดา-มารดา ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มทางเลือกในด้านสินเชื่อ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ สินเชื่อบ้าน MY PRIDE อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกเท่ากับ MRR-2.40% ต่อปี ปัจจุบันเท่ากับ 3.75% ต่อปี (คิดจากอัตราดอกเบี้ย MRR ตามประกาศธนาคาร ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.150% ต่อปี) ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ให้กู้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้าที่มีสวัสดิการเงินกู้กับธนาคารเพื่อซื้อบ้าน ห้องชุด(คอนโดมิเนียม) หรือที่ดินเปล่าที่เป็นทรัพย์มือสองของธนาคาร ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้แล้วถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2565 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ GHBank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ Application : GHB ALL

Advertisement

นายกฯ สั่งบอร์ด สสว. ต่อยอด SME One ID เพราะทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรมีความเข้มแข็งมากขึ้น

People Unity News : 23 มิถุนายน 65 วันนี้ (23 มิ.ย.65) เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 2/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชม สสว. ที่ได้มีการเริ่มต้นดำเนินการโครงการหนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID) ซึ่งตรงกับที่นายกรัฐมนตรีคาดหวังไว้ว่า จะทำอย่างไรให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME มีความเข้มแข็งขึ้น โดยการดำเนินการ SME One ID ทำให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลประโยชน์มากขึ้น มีกำไรมากขึ้น มีความเข้มแข็งมากขึ้น จึงขอให้ สสว. ได้ต่อยอดการดำเนินโครงการและร่วมดำเนินงานกับหลายๆหน่วยงานต่อไป เพื่อช่วยเหลือสนับสนุน SME ให้เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ ทั้งนี้ สิ่งที่ SME ต้องการในวันนี้คือความรู้ในการนำไปพัฒนาปรับปรุงตัวเอง และต้องการเข้าถึงการบริการภาครัฐ รวมถึงมาตรการส่งเสริม แหล่งเงินทุน ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อทำให้ SME อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง และยั่งยืน ด้วยการเสริมความรู้ เพิ่มประสิทธิภาพความเข้มแข็งต่างๆ ให้กับ SME เพราะ SME มีผลต่อการลงทุนและเศรษฐกิจฐานรากอย่างมาก

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า หลักการของนายกรัฐมนตรีคือในการทำงานใดๆก็ตาม เป็นการทำงานตามภารกิจหน้าที่จะต้องทำให้เกิดประโยชน์โดยอ้อมด้วย ซึ่งการทำงานของบอร์ด สสว. ประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกอบการ และควรมีการเสริมมาตรการที่เป็นประโยชน์โดยอ้อม เช่น การลดโลกร้อน สังคมคาร์บอนต่ำ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น จึงขอให้มีการบูรณาการงานร่วมกัน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะกรรมการทุกคนที่ร่วมกันดำเนินงานเรื่อง SME และ MSME ซึ่งเป็นประเด็นวาระโลก ที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปให้ประสบความสำเร็จ เพื่อการมีบทบาทในเวทีโลกต่อไปในอนาคต

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานต่อเนื่องของโครงการ “หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID) ของ สสว. ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงาน และให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคในการขอรับอนุญาตและการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ MSME ที่มีมากกว่า 3 ล้านราย และเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยหลังจาก สสว. ได้ลงนาม MOU กับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เมื่อ 28 กันยายน 2564 แล้ว ได้ดำเนินการโครงการนำร่อง SME One ID และเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลสมาชิก สสว. เพื่อรับการบริการจากภาครัฐปี 2564 และในปีนี้ สสว. ได้ดำเนินโครงการงานพัฒนาระบบเพื่อขอรับบริการภาครัฐ ปี 2565 ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลและช่องทางการขึ้นทะเบียน SME One ID สำหรับผู้ประกอบการ MSME ซึ่งจะใช้ช่องทางหลักคือระบบศูนย์กลางข้อมูลให้ธุรกิจติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ Biz Portal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมข้อมูลและงานบริการต่างๆ เพื่อภาคธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย DGA ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน ภายใต้เว็บไซต์ www.bizportal.go.th และปรับใช้ระบบ Digital ID ของ DGA เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลสำหรับเข้าใช้บริการของส่วนราชการ รวมถึงการประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐเพื่อการใช้ SME One ID ของผู้ประกอบการ MSME ที่เข้ารับการบริการกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ

ปัจจุบัน สสว. ได้ประสานกับองค์การอาหารและยา (อย.) กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่เข้ารับการบริการที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ขณะที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อขยายผลและอำนวยความสะดวกในการใช้งานเพื่อผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานหลักที่ให้บริการ MSME อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง สสว. ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ประกอบการ MSME ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมาขึ้นทะเบียนระบบ SME One ID (ทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน) ไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย ภายในสิ้นปี 2565 โดยภาพรวมความร่วมมือกับ 16 หน่วยงาน ณ พฤษภาคม 2565 มีผู้ประกอบการ MSME ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ จากหน่วยงานพันธมิตรแล้ว รวม 2,045 ราย ซึ่งล่าสุด สสว. ยังได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ MSME ในด้านการขยายช่องทางการตลาดร่วมกับ Shopee โดยจัดทำ Microsite เพื่อให้ผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสขายสินค้าในช่องทางออนไลน์ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ MSME ดังนี้

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจของ MSME ปี 2564 GDP MSME Q4/2564 ขยายตัว 3.5% ส่งผลให้ทั้งปี 2564 GDP MSME ขยายตัว 3.0% สูงกว่าที่ สสว. ประมาณการไว้ที่ 2.4% โดยมีสัดส่วนส่วน GDP รวมเท่ากับ 34.6% ขณะที่ GDP ไทยปี 2564 ขยายตัว 1.6% มากกว่าที่สภาพัฒน์ประมาณการไว้ที่ 1.2% เช่นเดียวกัน สำหรับสถานการณ์ MSME ในปี 2564 พบว่า GDP ธุรกิจรายย่อยหรือ micro ยังคงขยายตัวได้ดี เท่ากับ 11.0% ธุรกิจขนาดกลางขยายตัว 4.9% ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อม แม้ว่า GDP จะลดลง 0.9% แต่เมื่อเทียบกับการลดลง 10.2% ในปีก่อน จะพบว่าธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ทั้งนี้ เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศเป็นสำคัญในช่วงไตรมาสสุดท้าย โครงการภาครัฐทั้งคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวโดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกของ MSME ในปี 2564 ยังเติบโตถึง 18.3% ซึ่งกลับมาเติบโตได้สูงกว่าในปี 2562 หรือก่อนสถานการณ์โควิด-19 สำหรับการจ้างงานของ MSME พบว่ากลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ ต.ค. 2564 เป็นต้นมา
  2. การประมาณการเศรษฐกิจของ MSME ปี 2565 สสว. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของ MSME หรือ GDP MSME ปี 2565 ณ วันที่ 27 เม.ย. 2565 ขยายตัวระหว่าง 3.4%-4.5% ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 ซึ่งประมาณการไว้ที่ 3.5%-4.9%
  3. ภาพรวมสถานการณ์และเศรษฐกิจ MSME ไตรมาสแรกของปี 2565 GDP MSME Q1/2565 ขยายตัว 3.8% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.5% โดยมีมูลค่า 1.52 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวม เท่ากับ 35.3% ขณะที่ GDP ไทยไตรมาสแรกโต 2.2% เมื่อพิจารณาตามขนาดธุรกิจ พบว่า GDP ธุรกิจรายย่อยหรือ micro ยังคงขยายตัวได้เท่ากับ 12.5% ธุรกิจขนาดกลางขยายตัว 4.3% ขณะที่ GDP ธุรกิจขนาดย่อมกลับมาขยายตัวได้ 1.0% หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 โครงการภาครัฐ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟสที่ 4 มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวของธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดย่อม โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการค้าและการบริการ

สำหรับมูลค่าการส่งออกของ MSME ในไตรมาสแรกของปี 2565 ยังเติบโตได้ถึง 27.6% ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวและ MSME มีสัดส่วนในการส่งออกสูง ได้แก่ ผลไม้สด และไม้แปรรูป และ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ด้านการจ้างงานของ MSME (ในระบบประกันสังคมมาตรา 33) ยังคงขยายตัวต่อเนื่องหลังจากธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกลับมาดำเนินกิจการเป็นปกติตั้งแต่ ต.ค. 2564 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกต่อเนื่องจน ณ ปัจจุบัน ส่งผลต่อราคาน้ำมันและราคาสินค้าวัตถุดิบหลายประเภท ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกรวมทั้งในประเทศ ซึ่งกระทบกำลังซื้อและต้นทุนการผลิตของ MSME อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นจนถึงสิ้นปีภายหลัง

ธนาคารกลางสหรัฐประกาศเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ จะยิ่งกระทบต่อราคาของสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ MSME ต้องนำเข้ามาผลิตสินค้าและบริการ ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนหลักที่จะช่วยให้ GDP MSME ขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ จะมาจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการยกเลิกมาตรการ Test & Go รวมทั้งการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยที่กำลังกลับสู่ภาวะปกติทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดำเนินมาตรการภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการบริโภคไปพร้อมๆกับการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน การลดต้นทุนให้แก่ MSME และการรักษาระดับการจ้างงาน ว่าจะสามารถช่วยลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อได้เพียงใด ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ และของ MSME ในช่วงไตรมาสแรกของปีจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่จากปัจจัยเสี่ยงหลายๆด้านดังกล่าว สสว. จึงปรับประมาณการ GDP MSME ปี 2565 จะขยายตัวอยู่ระหว่าง 3.4% – 4.5% ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้เมื่อ 7 ก.พ. 2565 เท่ากับ 3.5% – 4.9%

Advertisement

ชาวอุดรร่วมใจเตรียมเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก

People Unity News : 19 มิถุนายน 2565 นายกฯ ปลื้มชาวอุดรทุกฝ่าย ร่วมใจเตรียมเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก รมต.เฉลิมชัย ลงตรวจพื้นที่ ยืนยันรัฐบาลสนับสนุนเต็มที่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569-14 มีนาคม 2570 (134 วัน) ที่ ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งรัฐบาลได้เห็นชอบในการสนับสนุนงบประมาณในขั้นต้น 2,500 ล้านบาท มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆใน จ.อุดรธานี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ประธานสภาหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทราบถึงความตื่นตัวและความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย เพราะประชาชนทราบดีว่างานนี้เป็นการสร้างชื่อเสียงและนำเสนออัตลักษณ์ของจังหวัด อีกทั้งจะสร้างเงินสะพัดในช่วงระหว่างการจัดงานที่อาจมากถึง 32,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้เข้าชมงานที่จะมากถึง 3.6 ล้านคน เป็นชาวไทยร้อยละ 70 และชาวต่างชาติร้อยละ 30 และเกิดการจ้างงานประมาณ 81,000 อัตรา

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการลำเลียงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง-หนองสำโรง-หนองแด และการปรับพื้นที่ให้มีพื้นที่ราบเพิ่มขึ้น ในส่วนของจังหวัดและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ได้ร่วมมือกันวางแผนการเป็นเจ้าภาพ สร้างความเข้าใจโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เมื่อจบสิ้นการจัดงาน ทางจังหวัดมีแผนจะอนุรักษ์พื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ ประเพณีวัฒนธรรม และศูนย์กลางกีฬานานาชาติ ของกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขงและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

“นายกรัฐมนตรี ดีใจที่ได้รับทราบว่าทุกภาคส่วนมีความยินดีและตื่นตัวกับการที่ จ.อุดรจะได้เป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก จับมือกันสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย และนายกฯยังได้ให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้งานนี้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และเป็นที่ประทับใจของแขกผู้มาเยือน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้แก่ชาวบ้านในจังหวัดและจังหวัดข้างเคียง ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

ครม. อนุมัติ 3.5 พันล้าน จ้างงานบัณฑิตจบใหม่ – ปชช. 7,435 ตำบล เริ่ม ก.ค. – ก.ย. 65

People Unity News : 16 มิ.ย. 65 ที่ประชุม ครม. เมื่อ 14 มิ.ย. 65 เห็นชอบให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และ นวัตกรรม (อว.) ดำเนิน “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ  BCG (U2T for BCG and Regional Development) ใน 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,566.28 ล้านบาท โดยเกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไปและบัณฑิตจบใหม่ จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350 คน  เศรษฐกิจในพื้นที่หมุนเวียนระหว่างดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 600ล้านบาท/เดือน โดยจะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ อว. ไปขับเคลื่อนภาคการผลิตและบริการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรักษาระดับการจ้างงาน

โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ  BCG (U2T for BCG and Regional Development) มีวัตถุประสงค์ คือ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาและประชาชนในพื้นที่พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อทักษะการทำงานในปัจจุบันและที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG รวมทั้ง พัฒนาฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่  (Thailand Community Big Data :TCD)  ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในพื้นที่ของประเทศ

กลุ่มเป้าหมาย คือ บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ประชาชนในพื้นที่สถาบันอุดมศึกษาภาคประชาชนภาคสังคมและภาคส่วนต่างๆ โดยมีการจัดกิจกรรมไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม ในพื้นที่ 7,435 ตำบล ทั่วประเทศ 77 จังหวัด  เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและบริการ เพื่อเพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุน การจัดการตลาด การจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาบรรจุการขนส่งและการกระจายสินค้าและบริการ เป็นต้น  โดยสถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ (ตำบล) ทำหน้าที่เป็นผู้บูรณาการ ระบบ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูล TCD ในการวางแผนและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

การจ้างงาน  – พื้นที่ 3,000 ตำบล ต่อยอดจากโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย  จำนวน 8 คน/ตำบล ประกอบด้วยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามาไม่เกิน 5 ปีจำนวน  4 คน/ตำบล และผู้ที่ถูกเลิกจ้างและประชาชนในพื้นที่จำนวน 4 คน/ตำบล

-พื้นที่ 4,435 ตำบลใหม่ จำนวน 10 คน/ตำบล ประกอบด้วยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 5 ปี  5 คน/ตำบล และผู้ที่ถูกเลิกจ้างประชาชนในพื้นที่ 5 คน/ตำบล

ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย. 65

ประโยชน์ที่จะคาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการ คือ เกิดกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG ไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10  ในผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนไม่น้อยกว่า 4,500 รายการ เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป และบัณฑิตจบใหม่จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350  คน เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระหว่างการดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท/เดือน  มีการ Upskill/Reskill พัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG  รวมทั้งการใช้สามารถจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูล TCD ในการวิเคราะห์การจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ครบทุกพื้นที่

Advertisement

สำนักงานสลากฯ ชี้แจงวิธีการขึ้นเงินรางวัล ‘สลากดิจิทัล’

People Unity News : วันนี้ (วันที่ 3 มิถุนายน 2565) พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า กรณีถูกรางวัล ระบบจะแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง ภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ออกรางวัล โดยให้เลือกรับรางวัลได้ 2 ช่องทางคือ เลือกรับโดยการโอนเงิน ซึ่งจะโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยที่ผูกไว้กับแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งในอนาคตจะปรับเปลี่ยนให้สามารถผูกบัญชีธนาคารอื่นๆได้ เพื่อความสะดวกของผู้ซื้อ วิธีนี้จะเสียค่าธรรมเนียม 1% และ ค่าภาษีอากรแสตมป์ 0.5% ส่วนวิธีที่สอง สามารถเลือกมารับเงินรางวัลที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ โดยต้องกำหนด วัน เวลา ที่ต้องการเข้ามารับเงินรางวัลเพื่อที่สำนักงานสลากฯ จะจัดเตรียมสลากแบบใบตัวจริง เพื่อส่งคืนให้กับผู้ซื้อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการขึ้นเงินรางวัล วิธีนี้จะเสียเฉพาะค่าภาษีอากรแสตมป์ 0.5% ทั้งนี้ ยืนยันว่าการกำหนดค่าธรรมเนียม และค่าอากรแสตมป์ดำเนินการเช่นเดียวกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการนำสลากไปขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลาก หรือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารกรุงไทย

ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ถูกรางวัลสลากที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มฯ จะต้องแจ้งในระบบว่า จะเลือกรับเงินรางวัลผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งภายในกำหนด จะต้องมาขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลากภายใน 2 ปี โดยสลากที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม หรือดิจิทัล ที่ซื้อไว้จะแสดงอยู่ในประวัติข้อมูลการซื้อ 1 ปี ทั้งนี้ หากเลือกรับเงินรางวัลผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีที่ผูกไว้ จะได้รับเงินโอนหลังจากที่แจ้ง ภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมง ซึ่งยืนยันว่าจากที่ทดสอบระบบ การโอนเงินรางวัลไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ขอให้ผู้ซื้อสลากทุกคนไม่ต้องกังวล

พันโท หนุน ศันสนาคม กล่าวว่า การจำหน่ายสลากผ่านแพลตฟอร์มหรือสลากดิจิทัลนั้น สลากทุกใบเป็นของตัวแทนจำหน่ายรายย่อย สำนักงานสลากฯ เป็นแต่เพียงสนับสนุน จัดหาช่องทางการจำหน่ายในราคา 80 บาท ที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและส่งเสริมตัวแทนรายย่อยผู้ขาย ให้สามารถวางขายในแพลตฟอร์ม ซึ่งมีผู้เข้ามาซื้อเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องเสียค่าใช้ในการเร่ขาย ขณะเดียวกัน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการมอมเมา เพราะปัจจุบันประชาชนที่ซื้อสลากตามแผงจำหน่ายก็สามารถซื้อได้แบบไม่จำกัดจำนวนอยู่แล้ว และขอย้ำว่า สลากทุกใบเป็นของพ่อแม่พี่น้องตัวแทนรายย่อย ดังนั้น การจำหน่ายสลากดิจิทัล นอกจากประชาชนผู้ซื้อจะสามารถซื้อสลากได้ในราคาที่กำหนด คือ 80 บาทแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมรายได้ให้กับพ่อแม่พี่น้องที่เป็นตัวแทนรายย่อยอีกด้วย

Advertisement

Verified by ExactMetrics