วันที่ 13 พฤษภาคม 2024

“จุรินทร์”โชว์ 13 ความสำเร็จของไทยบนเวทีรมต.ศก.อาเซียน

People Unity News : “จุรินทร์”นำสรุป 13 เรื่อง เป็นผลความสำเร็จประเทศไทย ในฐานะประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน มั่นใจคืบหน้าและสำเร็จทั้งหมด

วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนฐานะประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 เปิดเผยผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 ว่า ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันในฐานะประธานอาเซียน (Priority Economic Deliverables) ในคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยินดีกับความสำเร็จและรับทราบความคืบหน้า Priority Economic Deliverables โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นถือเป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดสุดท้ายที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งตนทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ถัดจากนี้ก็เป็นการประชุม ASEAN SUMMIT ที่ท่านนายกฯ(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ) จะต้องเป็นประธานแล้ว

การประชุมครั้งสุดท้ายสำหรับที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปผลความสำเร็จของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ สำหรับด้านเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามเสาหลัก 1 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการที่จะผลักดันประเด็นสำคัญใน 3 หัวข้อใหญ่ คือ หัวข้อที่ 1 ก็คือในเรื่องของการเตรียมการรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หัวข้อที่ 2 การเชื่อมโยง หัวข้อที่ 3 การเดินหน้าไปด้วยกันไปสู่ความยั่งยืน ซึ่ง 3 หัวข้อนี้เป็นหัวข้อใหญ่และภายใต้ 3 หัวข้อนี้จะแปลงออกไปเป็นประเด็นสำคัญสำคัญทั้งหมด 13 ประเด็นด้วยกัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ซึ่งทั้ง 13 ประเด็นนั้นขอเรียนให้ได้รับทราบว่ามีความคืบหน้าและมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จครบทั้ง 13 ประเด็นภายในสิ้นปีนี้ในขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานที่ประชุมอาเซียน สำหรับปีต่อไปเป็นหน้าที่ของประเทศเวียดนามและต้องรอดูต่อไปว่าเวียดนามจะกำหนดประเด็นในการผลักดันเรื่องอะไรต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับ 13 ประเด็นในรายละเอียดนั้นขออนุญาตเรียนให้ทราบว่าประกอบด้วย
1 .แผนงานด้านดิจิตอลของอาเซียน
2 .แผนงานในการส่งเสริมนวัตกรรมอาเซียน
3 .การเตรียมการสำหรับการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือเรื่องของการใช้แรงงานพัฒนาแรงงานคนเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรการใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต
4.การเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
5 .การเตรียมการที่จะนำ SME ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เช่น การค้าออนไลน์ เป็นต้น
6 .การดำเนินการในเรื่อง ASEAN Single Window การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันที่ต้องมี อำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์ และไม่ซ้ำซ้อนทำให้การส่งออกระหว่างการคล่องตัวยิ่งขึ้น
7.เรื่องการผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วอย่างน้อยสามคู่ คือ ระหว่างไทยฟิลิปปินส์ ระหว่างไทยอินโดนีเซีย และระหว่างไทยกับมาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือของแบงค์ชาติของเรากับธนาคารพาณิชย์ของสามประเทศ
8.ก็คือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบที่เรียกว่า PPP
9 .การร่วมมือกันระหว่างอาเซียนในการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การใช้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว
10 .คือการแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันผลักดันให้ RCEP ซึ่งอาเซียนเป็นศูนย์กลางของ RCEPจบภายในสิ้นปีนี้
11 .ในเรื่องของการผลักดันเครือข่าย IUU ของอาเซียน คือ การทำประมงอาเซียนที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน
12 .เรื่องการส่งเสริมตลาดทุนของอาเซียนในประเทศต่างๆเพื่อเมื่อจะรับบริษัทเข้าไปจดทะเบียนโดยคำนึงถึงเป้าหมายของบริษัทนั้นนั้นที่มุ่งเน้นความยังยืนเช่น สิ่งแวดล้อมเป็นต้น
13 .ประเด็นสุดท้าย คือ การผลักดันให้มีการลงนาม ศูนย์พลังงานอาเซียนระหว่าง มหาวิทยาลัยต่างๆในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพ

ทั้ง 13 ประเด็นใน 13 หัวข้อใหญ่ที่ประเทศไทยได้กำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกันในฐานะประธานอาเซียนนี้ขอเรียนว่าเรามั่นใจว่าสิ้นปีนี้ จะสามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จครบทั้ง 13 หัวข้อ

ส่วนการลงนามวันนี้ (พิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน) เป็นการลงนามในพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งเป็นการปรับปรุงกลไกระงับข้อผิดพลาดที่เราใช้มา 10 กว่าปีมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทเที่ยวนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนกระบวนการต่างๆเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกอาเซียนเช่นการระบุชัดเจน ในเรื่องขั้นตอนระยะเวลาฟ้องร้องว่าใช้ระยะเวลากี่วันการพิจารณาคดีจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงระยะเวลาเท่าไร อย่างไร และมีการเพิ่มกลไกทางเลือกให้คู่พิพาทเลือกได้ เช่น อาจไม่ต้องไปสู่คณะลูกขุนแต่ใช้อนุญาโตตุลาการได้เป็นต้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้พิพาทรวมทั้งประเทศที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องข้อกฎหมายแนวทางการปฏิบัติต่างๆนี่คือพิธีสารที่จะมีการลงนามในเรื่องของกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนหลักใหญ่จะล้อกับหลักการของ WTO ที่ใช้กัน

ตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค. +41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี สินค้าเกษตร-อาหารดีต่อเนื่อง

People Unity News : “จุรินทร์“ ประกาศตัวเลขส่งออก พ.ค. +41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี สินค้าเกษตร-อาหาร ดีต่อเนื่อง “สั่งพาณิชย์ลุยต่อ 5 แผนบุกตลาด”

24 มิถุนายน 2564 เวลา 9.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคณะ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจําเดือนพฤษภาคม 2564 ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 714,885.27 ล้านบาท ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี หากหักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 45.87% คิดเป็นมูลค่ารวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.64) ขยายตัวรวมกัน 10.78% หากหักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 17.13% เหตุผลสำคัญมี 2 ข้อ คือ 1.เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น และ 2.เพราะแผนการส่งออกและภาคปฏิบัติจริงที่กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนมาโดยต่อเนื่องและใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมาในรูป กรอ.พาณิชย์ ทำให้สามารถแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆได้รวดเร็วทันท่วงทีและมีการจัดทำแผนเชิงรุกร่วมกันในปี 2564 ที่มีเป้าหมายและรายละเอียดชัดเจนแต่ต้นทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ค่อยๆเป็นบวกตามลำดับ สำหรับตลาดสำคัญนั้นประกอบด้วย จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เอเชียใต้ อาเซียน เป็นต้น สินค้าที่สำคัญประกอบด้วยสินค้าเกษตรและอาหาร สำหรับอาหารเฉพาะผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งซึ่งกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคบริเวณด่านชายแดนและด่านข้ามแดนเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งเป็นบวกถึง 31.9% โดยเฉพาะทุเรียนบวกถึง 95% และสินค้า Work from Home ผลิตภัณฑ์ป้องกันโควิด เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อาหารสัตว์เลี้ยงและรถยนต์ เป็นต้น

“สำหรับรถยนต์หลังจากที่ผมและกระทรวงพาณิชย์พยายามเจรจากับเวียดนามมาหลายครั้งตั้งแต่การประชุม RCEP และส่งผลให้ต่อมาเวียดนามปรับปรุงกฎระเบียบในการนำเข้ารถยนต์จากที่ต้องตรวจรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยทุกล็อตที่ตรวจทั้งสองฝั่งเวียดนามยอมเปลี่ยนเป็นตรวจฝั่งใดฝั่งหนึ่งและสุ่มตรวจเท่านั้น ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามขยายตัวถึง  922% และส่งออกไปทั่วโลกขยายตัวถึง 170%” นายจุรินทร์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า แผนงานที่กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าต่อไปประกอบด้วย 1.เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา 2.รุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต่อเนื่องต่อไปโดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่านที่ปัจจุบันเปิดได้แค่ 45 ด่านให้เปิดด่านเพิ่มขึ้นเป้าหมายระยะสั้นเร่งเปิดให้ได้อย่างน้อยเพิ่มอีก 11 ด่าน วันที่ 9-11 กรกฎาคมนี้ตนจะเดินทางไปดูด่านบริเวณชายแดนลาวซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะทะลุไปเวียดนามและไปจีน เช่น ด่านปากแซง นาตาล ท่าเทียบเรือมุกดาหาร ท่าเทียบเรือนครพนม และท่าเทียบเรือหนองคาย เป็นต้น ที่จะเร่งรัดให้เปิดด่านเร็วขึ้น 3.เร่งส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้ารวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ต่อไป และเมื่อไหร่ที่ทำระบบออฟไลน์เพิ่มขึ้นได้จะเร่งดำเนินการให้ผสมผสานในรูปแบบไฮบริด 4.เร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงสิงหาคม 5.เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทยเพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปในเรื่องโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าสร้างได้ครบ 12,000 คนทั่วประเทศแน่นอน

ด้านนายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า  นโยบายกระทรวงพาณิชย์ผลักดันในทุกทางช่องทางสำคัญทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นรูปธรรมและจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและภาพรวมตลาดสำคัญมีการขยายตัวในหลายประเทศ ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 39.9 โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 44.9 ร้อยละ 25.5 ร้อยละ 27.4 ตามลำดับ ตลาดสหภาพยุโรปและ CLMV ขยายตัวเร่งขึ้น ร้อยละ 54.9 และร้อยละ 46.8 ตามลำดับ ส่วนตลาดอาเซียนกลับมาขยายตัวร้อยละ 51.0 ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกนั้นคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายประเทศเริ่มมีอัตราลดลงราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว เช่น ยางพารา ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สิ่งปรุงอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็งและแปรรูป รถยนต์อุปกรณ์กับส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์และทีม กรอ.พณ.จะได้กำหนดวันประชุมหารือร่วมภาครัฐกับเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากต้องเดินหน้าผลักดันการส่งออกโดยแก้ไขปัญหาตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติมและผลักดันการลงนามความตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ MRA ของอาเซียนตามนโยบายต่อไป

Advertising

พาณิชย์-เกษตร จัดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ หวังกู้วิกฤติข้าวไทยสู่ตลาดโลก

People Unity News : พาณิชย์-เกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อนประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ หวังกู้วิกฤติข้าวไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อวาน (5 พฤศจิกายน 2564) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย โดยมี นายชาตรี บุญนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว คณะผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเกษตรกรจากจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ ณ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท พร้อมคณะทูตพาณิชย์จาก 25 ประเทศ และพาณิชย์จังหวัดใน 27 แหล่งเพาะปลูกของประเทศ ร่วมกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์

นายชาตรี กล่าวว่า สำหรับการประกวดข้าวในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้นักวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ส่งผลงานเข้าประกวดในข้าว 3 ประเภท ได้แก่ ข้าวหอมไทย ข้าวขาวพื้นนุ่ม และข้าวขาวพื้นแข็ง ซึ่งมีพันธุ์ข้าวที่ส่งประกวดทั้งสิ้นจำนวน 48 พันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวจำนวน 31 พันธุ์ โดยไดันำพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวด มาทดลองปลูกในแปลงปลูกของศูนย์วิจัยข้าว 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก และศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ซึ่งจะดำเนินการตัดสินผลการประกวดในช่วงเดือนธันวาคม

ด้าน นางสาวนนทิชา เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการตัดสิน คณะกรรมการจะเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดกับข้าวพันธุ์เดิมที่โดดเด่นในแต่ละประเภท ทั้งด้านการเพาะปลูกในแปลง การขัดสี คุณภาพทางกายภาพของเมล็ด คุณภาพทางเคมี และคุณภาพการหุงต้ม ซึ่งเชื่อมั่นว่าการประกวดดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่ออนาคตข้าวไทยให้กับชาวนา ผู้ประกอบการค้าข้าว ตลอดจนผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ภายหลังได้นำประธานและคณะ เยี่ยมชมแปลงนาพันธุ์ข้าวจากการประกวดในพื้นที่ของศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ตลอดจนการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว

Advertising

ก.อุตสาหกรรมรับรองคุณภาพสินค้า “เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ” จากผู้ผลิตชุมชน 2 รายแรก

People Unity News : กระทรวงอุตสาหกรรม การันตี “เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ” สินค้าจากชุมชน สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ 100% หลัง สมอ. ให้การรับรองคุณภาพสินค้าแก่ผู้ผลิตชุมชน 2 รายแรกของไทย ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ที่ปรับแก้ไขใหม่ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ชวนประชาชนอุดหนุนสินค้าไทย รับวิถีปกติใหม่ (New normal)

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ได้แก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน  มผช.907/2563 ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ ซึ่งรวมถึงเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อให้สอดคล้องตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข โดยแก้ไขเกณฑ์กำหนดส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ70 เพื่อให้สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 นั้น เป็นที่น่ายินดีว่า มีผู้ผลิตชุมชน 2 รายแรกของไทย ได้รับการรับรองคุณภาพสินค้าตามมาตรฐานดังกล่าวจาก สมอ. แล้ว ได้แก่ ดีดีดี แอลกอฮอล์เจล ของนางสาวเรณู แก้วตา ผู้ผลิตชุมชนจังหวัดลำพูน ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 และนางสาววรรณภัสสร สันติธรรมสุททิ์ ผู้ผลิตชุมชนจังหวัดชุมพร ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

“การได้รับการรับรองในครั้งนี้ เป็นเครื่องการันตีว่า สินค้ามีคุณภาพตามมาตรฐาน สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ 100 % ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เป็นหนึ่งในมาตรการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถพัฒนาสินค้าได้ตามมาตรฐาน สร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มยอดขายสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์โควิด 19″ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าสถานการณ์โควิด 19 จะคลี่คลาย แต่ประชาชนก็ยังต้องป้องกันตนเอง ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และฉีดพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสดังกล่าว เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่จำเป็นสำหรับประชาชนที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันตามวิถีปกติใหม่ หรือ New normal จึงขอฝากถึงประชาชนให้อุดหนุนสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าจากผู้ผลิตชุมชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้สู่ชุมชน และที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 สำหรับผู้ผลิตชุมชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถนำมาตรฐาน มผช.907/2563 ไปเป็นแนวทางในการผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ที่ได้มาตรฐาน โดยขอให้ท่านยื่นจดแจ้งกับกระทรวงสาธารณสุขตามกฎหมายก่อน หลังจากนั้นให้มายื่นขอการรับรองที่ สมอ. หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tisi.go.th หรือสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 3345-46 กองบริหารมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

Advertising

BOI เผยลงทุนไตรมาสแรกปี 64 กว่า 1.2 แสนล้านบาท “การแพทย์ – อิเล็กทรอนิกส์” มาแรง

People Unity News : บีโอไอเผยภาวะการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ยอดขอรับส่งเสริมรวมกว่า  1.2 แสนล้านบาท เติบโตจากไตรมาสแรกปีก่อนมากถึงร้อยละ 80 พบกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์เติบโตท่ามกลางสถานการณ์โควิด ขณะที่ EEC ยังคงเนื้อหอมเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของนักลงทุน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า การลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ปี 2564 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 401 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 123,360 ล้านบาท มีอัตราเติบโตทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยจำนวนโครงการเติบโตร้อยละ 14 และมูลค่าเติบโตร้อยละ 80

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 74,830ล้านบาท โดย 2 อันดับแรกที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่า 18,430 ล้านบาท เติบโตขึ้นมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 17,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าในหมวดการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve ขยายตัวต่อเนื่องจากผลของ Work From Home ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานในยุคเชื้อโควิดระบาด และการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 191 โครงการ มูลค่าลงทุน 61,979 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 143 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอันดับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดการลงทุนใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การลงทุนของเกาหลีใต้ปรับสูงขึ้นในไตรมาสนี้เนื่องจากมีการร่วมทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์

สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า 64,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น จังหวัดระยอง มูลค่าลงทุน 29,430 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี 24,970 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 10,010 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 5,630 ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 16 โครงการ เงินลงทุน 2,470 ล้านบาท และมาตรการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 300 ล้านบาท

Advertising

ปิดลงทะเบียนแจ้งหนี้นอกระบบ  ประชาชนร่วมแก้หนี้ 151,175 ราย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 กุมภาพันธ์ 2567 ปลัด มท. เผยสิ้นสุดการเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ประชาชนลงทะเบียนรวม 151,175 ราย มูลหนี้ 11,732 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 18,509 ราย มูลหนี้ลดลง 771 ล้านบาท เดินหน้าไกล่เกลี่ยให้ครบ 100% ควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

วันนี้ (29 ก.พ. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 91 โดยสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียนพบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 151,175 ราย มูลหนี้รวม 11,732.506 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 125,081 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 27,348 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 125,302 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้ 1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 10,091 ราย เจ้าหนี้ 9,047 ราย มูลหนี้ 1,065.464 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 6,115 ราย เจ้าหนี้ 5,887 ราย มูลหนี้ 425.187 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,570 ราย เจ้าหนี้ 4,589 ราย มูลหนี้ 383.455 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 5,273 ราย เจ้าหนี้ 4,443 ราย มูลหนี้ 489.563 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 4,412 ราย เจ้าหนี้ 3,364 ราย มูลหนี้ 438.838 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 250 ราย เจ้าหนี้ 251 ราย มูลหนี้ 16.274 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 351 ราย เจ้าหนี้ 267 ราย มูลหนี้ 24.415 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 406 ราย เจ้าหนี้ 316 ราย มูลหนี้ 18.819 ล้านบาท 4. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 474 ราย เจ้าหนี้ 383 ราย มูลหนี้ 28.483 ล้านบาท และ 5. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 479 ราย เจ้าหนี้ 364 ราย มูลหนี้ 21.487 ล้านบาท

“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 28,725 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 18,509 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 2,626.784 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,855.474 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 771.309 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,373 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 518 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 287.587 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 53.511 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 234.076 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหนี้และลูกหนี้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่แล้ว 310 คดี ใน 43 จังหวัด” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในเรื่อง “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนอยู่ในปัจจุบัน โดยให้คำจำกัดความว่าคนที่เป็นหนี้นอกระบบเปรียบเสมือนเป็น “ทาสยุคใหม่” จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง เราจึงได้มีช่องทางในการรวบรวมข้อมูลโดยการเปิดรับลงทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 จนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการรับลงทะเบียนแล้ว ข้อมูลของประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนจะเป็นฐานข้อมูลของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ในฐานะหัวหน้าศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจังหวัด/อำเภอ จะได้บูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งอัยการ ทหาร ตำรวจ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือในเรื่องหนี้นอกระบบ อำนวยความสะดวกทำให้ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ในอัตราที่เป็นธรรม และเข้าสู่ระบบของสถาบันการเงินของรัฐ โดยมีการชำระเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้พี่น้องประชาชนได้มีแหล่งเงินทุนในการชำระหนี้ และได้มีเงินไปเลี้ยงดูครอบครัวได้

“ในส่วนของกระบวนการไกล่เกลี่ย จากการดำเนินการมาตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งมาตรการในระยะสั้นเราได้เชิญลูกหนี้และเจ้าหนี้มาพูดคุยตกลงกัน สามารถลดต้นลดดอกของหนี้ได้ ทำให้เราสามารถช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบกลุ่มแรกได้สำเร็จ ในส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการต่อไป อาจต้องใช้เวลาในการนำลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้ง 2 ฝ่ายมาพูดคุยกัน ในส่วนของข้อมูลเจ้าหนี้ที่มีพฤติการใช้ความรุนแรง ข่มขู่ ในการทวงหนี้ จำนวนกว่า 5 หมื่นราย ทางกระทรวงมหาดไทยได้ส่งข้อมูลให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีต่อไป สำหรับมาตรการระยะยาว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายในการช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับลูกหนี้นอกระบบ ส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ โดยบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมแนวทางให้ลูกหนี้สามารถลดรายจ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวและการเลี้ยงสัตย์เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ตลอดจนส่งเสริมแนวทางจัดทำบัญชีครัวเรือน ลดความฟุ่มเฟือย หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การเล่นพนัน และรวมไปถึงการขยายโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันสิ้นสุดการรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ แต่เป็นวันเริ่มต้นในการสะสางปัญหาหนี้ให้กับผู้ที่มาลงทะเบียน เพราะกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบยังไม่สิ้นสุด และเราจะเดินหน้าต่อจนกว่าจะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยครบ 100% อย่างไรก็ตามประชาชนยังคงลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ https://debt.dopa.go.th ภายในเวลา 24.00 น. ของวันนี้ โดยหลังจากที่ปิดรับลงทะเบียนแล้วหากมีประชาชนผู้ที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบประสงค์จะขอความช่วยเหลือ สามารถโทรสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถเดินทางไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ เพื่อให้ทางราชการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเราไม่ได้ช่วยเหลือแค่หนี้นอกระบบแต่ยังเป็นการช่วยเหลือในทุกด้าน อาทิ การศึกษา ยาเสพติด ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค หรือปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ที่พี่น้องประชาชนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เพราะทุกปัญหามีทางออก จึงขอให้ทุกท่านอย่าได้ลังเลใจที่จะขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางของรัฐ ผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย ที่จะเป็นช่องทางที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีไว้เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน

Advertisement

ก.คลัง แจง ทำไมต้องแจกเงิน 10,000 บาท เป็นสกุลเงินดิจิทัล Token ยันบริษัทไม่ได้ประโยชน์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 เมษายน 2567 คลังเตือนอย่าเชื่อ อย่าแชร์ ข่าว Digital wallet

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ application “LINE” ว่ารัฐบาลจะดำเนินการโครงการเติมเงิน 10000 บาท ผ่าน Digital wallet ให้ประชาชนด้วยเงินดิจิทัล สกุลเงิน Token  โดยตนขอให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

ประเด็นที่ 1  ทำไมไม่โอนเงินเข้าบัญชีของทุกคนโดยตรงเลย ? เพื่อให้ง่าย และไม่โดนกล่าวหาว่ามีวาระซ้อนเร้น

ข้อเท็จจริง  : วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น แม้การแจกเงินสดจะสะดวก และง่ายต่อการดำเนินการ แต่ก็มีข้อเสียที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ การแจกเป็นเงินสดจะสุ่มเสี่ยงที่จะมีประชาชนบางส่วนนำไปเก็บออม โดยไม่ได้เอาไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งไม่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ

ประเด็นที่ 2  หากมีการแจกจ่ายผ่านสกุลเงินดิจิทัล Token ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์

ข้อเท็จจริง  : โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ ซึ่งเป็นการดำเนินงานจัดทำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีการจัดทำ Token แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3  มีการตั้งคำถามว่า เหตุใดต้องแจกเงินในโครงการเติมเงิน 10000 บาทผ่าน Digital wallet ด้วยเงินดิจิทัล

ข้อเท็จจริง  : ประเด็นดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการเติมเงินในโครงการดังกล่าวไม่สามารถอยู่ในรูปเงินดิจิทัลตามที่อ้างได้ เพราะขัดต่อกฏหมายว่าด้วยเงินตรา

“ขณะนี้ ประเด็นข้อทักทวงดังกล่าวตามที่อ้าง คณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital wallet รับทราบและได้นำประเด็นต่าง ๆ มาพิจารณาแล้ว โดยจะมีการประชุมเพื่อสรุปรูปแบบของโครงการ ในวันพุธที่ 10 เมษายน 2567 ต่อไป ดังนั้นจึงอยากเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ หรือ แชร์  ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะได้เร่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโครงการดังกล่าวทันทีที่ได้ข้อสรุป เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชนได้”

Advertisement

รัฐบาลทุ่มงบ 1.9 พันล้านบาท ตั้งเป้าเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน

People Unity News : รัฐบาลทุ่มงบ 1.9 พันล้านบาท ตั้งเป้าเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ เกษตรกร 8 หมื่นราย ในปี 2565

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงเป็นสินค้าเกษตรที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกอย่างมาก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงแสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ และที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมากคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทย มีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2560 – 2565 ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกัน 7 กระทรวง ประกอบไปด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นการมุ่งเป้าภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ  1) ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 2) พัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการเกษตรอินทรีย์ และ 3) พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรองรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับชุมชน ประเทศ และภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนได้ตกลงที่จะจัดทำมาตรฐานกลางของอาเซียน หรือชื่อทางการว่า Mutual Recognition Arrangement for Organic Agriculture โดยในปีงบประมาณ 2564 จะมีโครงการ รวมทั้งสิ้น 209 โครงการ งบประมาณรวม 1.9 พันล้านบาท

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมการบริโภคเกษตรอินทรีย์ ในกลุ่มโรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม และร้านอาหาร และสนับสนุนการปลูกในที่ดินเกษตรกร ที่ดินภายใต้การจัดสรรที่ดินแห่งชาติ และ ส.ป.ก. ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือโครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการผลิต องค์ความรู้ และการตลาด โดยสามารถหาข้อมูลได้ที่เกษตรอำเภอใกล้บ้าน

“รัฐบาลขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังจะเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้อย่างมาก โดยภาครัฐมีแผนให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ระดับต้นทาง เช่น การพัฒนาสารชีวภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มห้องปฏิบัติการตรวจรับรองผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ระดับกลางทาง เช่น การแปรรูปผลผลิต ปรับระบบโลจิสติกส์สินค้า และระดับปลายทาง เชื่อมโยงตลาดตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ส่งเสริมผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เน้นการขายทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มสากล และแพลตฟอร์มกลางให้ผู้ซื้อมั่นใจในมาตรฐาน การขายออฟไลน์ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าระดับจังหวัด และเอ็กซ์โประดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการจับคู่ผู้ผลิตและผู้ซื้อ” รองโฆษกฯ กล่าว

Advertising

“จุรินทร์”โชว์ศก.ไทยสร้างสรรค์ เวทีPIMผู้แทนจากม.ชั้นนำทั่วโลก

People Unity : “จุรินทร์” เป็นประธานเปิดงานสัมนา PIM Annual Conference 2019 on Creative Economy เชื่อมั่นเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะขยายตัวต่อเนื่องในตลาดโลก พร้อมการแข่งขันที่รุนแรงและไทยคือผู้เล่นสำคัญ

วันที่ 24 ตุลาคม 2562 เวลา 9.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมนา PIM Annual Conference 2019 on Creative Economy โดยหัวข้อสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์นี้มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาจากมหาวิทยาลัยชั้นนําจากทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 25 ตุลาคม 2562 โดยนายจุรินทร์กล่าวเปิดในเวลา 9.00 น. วันนี้ ที่โรงแรมเพนนินซูล่า

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีส่วนในการสร้างเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในระยะยาว หลอมรวมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นของสินค้าและบริการ ยกระดับค่าจ้าง พัฒนาทักษะแรงงาน เพิ่มเวลาว่างสำหรับพักผ่อน และที่สำคัญที่สุดคือ การขยายตัวและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากจินตนาการและนวัตกรรมเป็นสิ่งเสริมสร้างเอกลักษณ์และความแปลกใหม่ให้กับสินค้าและบริการ

ในขณะที่เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ การมีส่วนร่วมทางสังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงมีส่วนช่วยในการสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างมากมายให้กับ SMEs ได้อย่างอัตโนมัติ แนวโน้มนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศสำคัญหลายประเทศได้ประกาศตนเองว่าจะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลก

และจากรายงานล่าสุดของ UNCTAD ขนาดตลาดสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของโลกขยายตัวขึ้นกว่าเท่าตัว จาก 2.08 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2002 เป็น 5.09 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่สูงกว่าร้อยละ 7 ถึงแม้ว่าโลกจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ ในขณะที่ทวีปยุโรปเป็นผู้ส่งออกสินค้าเชิงสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุด แต่กลุ่มประเทศในเอเชียกำลังมีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นโดยแค่จีนประเทศเดียวก็มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์สูงถึงร้อยละ 14 ระหว่างปี พ.ศ. 2002 ถึง 2015 ปรากฏการณ์นี้เครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ากลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกตั้งอยู่ที่เอเชีย

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่โดดเด่นในตลาดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลก ด้วยมูลค่าถึง 6.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบสองแสนล้านบาท มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ของไทยสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และเป็นอันดับที่ 17 เมื่อเทียบกับทุกประเทศในโลก และได้ขยายตัวด้วยอัตราที่ก้าวกระโดดที่ร้อยละ 6.6 ต่อปี ระหว่างปี 2005 และ 2014 และเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีสัดส่วนถึงร้อยละ 10-12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย ที่สำคัญไปกว่านั้น ประเทศไทยของเราเป็นที่รู้จักดีในเวทีโลกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ดังนั้น เศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงถือเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสำหรับประเทศเป็นอย่างยิ่ง และในการส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประเทศไทยจึงใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อาทิ อาหารไทย และหัตถกรรมไทย รวมทั้ง งานศิลปะ สื่อสร้างสรรค์ และงานออกแบบ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศ โดยสำหรับไทย สินค้าส่งออกเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายใน และสินค้าแฟชั่น เป็นต้น

“ผมมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดโลกที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ที่การทำให้สินค้าและบริการมีความแปลกใหม่และโดดเด่น ได้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดและขยายตัวของธุรกิจ” นายจุรินทร์ กล่าว

สรรพากรขยายเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ ต่อต้านการเลี่ยงภาษีข้ามชาติ

People Unity News : ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงแบบพหุภาคี Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters หรือ MAC กับกว่า 130 ประเทศ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสทางภาษี สร้างความเป็นธรรมในการบริหารจัดเก็บภาษี และต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ  ซึ่งเป็นไปตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในฐานะผู้รับมอบอำนาจเต็มเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมพิธีลงนาม

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “MAC นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยจัดเก็บภาษีทั่วโลกบูรณาการความร่วมมือกันตามกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และกลุ่ม G20 เรื่อง Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (Inclusive Framework on BEPS) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการโยกย้ายฐานภาษีของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ และกรอบความร่วมมือ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) ที่กำหนดมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศทุกรูปแบบ เพื่อให้หน่วยจัดเก็บภาษีได้ใช้ประโยชน์สูงสุด จากข้อมูลที่ผ่านช่องทางการแลกเปลี่ยนภายใต้ความตกลง MAC ทั้งนี้ การเข้าร่วม MAC ของประเทศไทยเป็นการขยายเครือข่ายคู่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษี จากเดิม 60  คู่สัญญาภายใต้ความตกลงแบบทวิภาคี เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Tax Agreement : DTA) เป็นกว่า 130 ประเทศภายใต้ความตกลง MAC และแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับนานาประเทศ”

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างนำร่างความตกลง MAC ที่ได้ลงนามแล้วเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับต่อไป โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้ความตกลง MAC จะส่งผลให้กรมสรรพากรมีข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความเสี่ยงทางภาษีของผู้ประกอบการข้ามชาติ สนับสนุนการใช้บังคับกฎหมายของกรมสรรพากรในการส่งเสริมความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เช่น กฎหมาย e-Service ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ และขยายฐานภาษีที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

Advertising

Verified by ExactMetrics